มูลนิธิเอสซีจี มุ่งมั่นสนับสนุนเยาวชนไทยในการพัฒนาทักษะและประสบการณ์ในสายอาชีพ เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในโลกยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ได้ร่วมสนับสนุนการแข่งขันฝีมือแรงงานระดับนานาชาติ 3 สาขา คือสาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย สาขาการประกอบอาหาร และสาขาบริการอาหารและเครื่องดื่ม โดยทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดส่งผู้แทนเยาวชนไทยจำนวนทั้งสิ้น 22 คนไปร่วมแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานนานาชาติ 19 ทักษะฝีมือในการแข่งขัน WorldSkills Lyon 2024 ณ เมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 10-15 กันยายน ที่ผ่านมานั้น ผลปรากฎว่า นางสาวอริยพร ลิ้มกมลทิพย์ หรือน้องแก้ม พยาบาลวิชาชีพจากโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้เข้าแข่งขันในสาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย (Health and Social Care) สามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) เหรียญเดียวของไทยปีนี้ และรางวัล Best of Nation หลังจากทำคะแนนรวมได้เป็นลำดับที่ 1 ของโลกจาก 19 ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน
พร้อมกันนี้ นางสาวกนกวรรณ อินทะ นักศึกษาชั้นปี 3 วิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี ผู้เข้าแข่งขันสาขาการประกอบอาหาร ได้รับรางวัลเหรียญฝีมือยอดเยี่ยม และ นายธนกร ช่วงรัตนาวรรณ นักศึกษาชั้นปี 2 วิทยาลัยดุสิตธานี ผู้เข้าแข่งขันสาขาบริการอาหารและเครื่องดื่ม ได้รับรางวัลเหรียญความทุ่มเทเสียสละ ซึ่งทั้งหมดนี้คือความภูมิใจของมูลนิธิเอสซีจี และประเทศไทย
นอกจากที่ มูลนิธิฯ ได้สนับสนุนเยาวชนทั้ง 3 สาขา ในการเก็บตัวฝึกซ้อม ดูแลจิตใจของน้องๆ โดยผู้เชี่ยวชาญ พร้อมมอบทุนการศึกษาจนจบปริญญาตรี มูลค่ารวม 3,000,000 บาท ไปแล้วนั้น ยังมีการพิจารณาจัดมอบเงินรางวัลพิเศษ จำนวน 100,000 บาท แก่ผู้ที่ได้รับเหรียญทอง เงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท แก่ผู้ได้รับเหรียญฝีมือยอดเยี่ยม และเงินจำนวน 5,000 บาท แก่ผู้ที่ได้รับเหรียญความทุ่มเทเสียสละ กลับมาในครั้งนี้อีกด้วย
นอกจากการสนับสนุนทุนการศึกษาและการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมแล้ว มูลนิธิเอสซีจี ยังมุ่งสร้างโอกาสและมุ่งแสวงหาเวทีให้เด็กและเยาวชนไทยได้มีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นทักษะเชิง Hard Skill หรือ Soft Skill ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการสั่งสมความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ตามแนวคิด LEARN TO EARN เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด นำมาพัฒนาทักษะของตนเองให้ดียิ่งขึ้นเพื่อต่อยอดสู่ความเป็นเลิศในสายวิชาชีพต่อไป
เอสซีจี เผยแผนรุก Future Forward เร่งปรับตัว เสริมแกร่งธุรกิจ คล่องตัว ลดคาร์บอน ตามแนวทาง Inclusive Green Growth สร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาว รับวัฏจักรปิโตรเคมีผันผวนยาว เตรียมเพิ่มออปชันวัตถุดิบปิโตรเคมีเวียดนาม LSP ด้วยก๊าซอีเทน ดันปูนคาร์บอนต่ำส่งนอก คว้าโอกาสจากนโยบายหนุนนวัตกรรมกรีน ดึงเทคโนโลยียกระดับการอยู่อาศัย สร้างชีวิตกรีน&สมาร์ท ขยายธุรกิจพลังงานสะอาดสู่อาเซียน สร้าง New S-curve พร้อมเดินหน้า ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เข้มข้น ดันเศรษฐกิจเติบโตแบบโลว์คาร์บอน
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เมื่อมองสถานการณ์โลกปัจจุบันและทิศทางอนาคต ในระยะ 2-5 ปี จะมีความผันผวนมากขึ้น ทั้งความท้าทายจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ พร้อมทั้งกฎเกณฑ์และโอกาสใหม่ ๆ จากเทรนด์รักษ์โลก ทุกธุรกิจของเอสซีจีจึงเดินหน้าปรับกลยุทธ์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมลดคาร์บอนไดออกไซด์ ตามแนวทาง Inclusive Green Growth เพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันระยะยาว
สำหรับ เอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ ร้อยละ 39 ของรายได้รวมเอสซีจี เร่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลกอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบอยู่ในระดับสูง ธุรกิจจึงเตรียมแผนเพิ่มศักยภาพโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) ให้มีความยืนหยุ่นด้านต้นทุนการผลิตมากขึ้น จากการเพิ่มทางเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิต เพื่อให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้เหมาะสมกับจังหวะตลาดและลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติอีเทน (Ethane) เป็นวัตถุดิบเพิ่มเติมจากการใช้แนฟทา (Naphtha) และก๊าซธรรมชาติโพรเพน (Propane) เนื่องจากราคาเฉลี่ยอีเทนต่ำกว่า ร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยราคาของแนฟทาและโพรเพนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ การปรับเพิ่มการใช้ก๊าซอีเทนยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการเกิดผลิตภัณฑ์พลอยได้ (By-product)
การเสริมแกร่งครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจุดแข็งของ LSP ที่ถูกออกแบบให้สามารถรองรับวัตถุดิบประเภทก๊าซอยู่แล้ว โดยมีระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางที่มีความพร้อมในการติดตั้งถังเก็บวัตถุดิบและท่อนำส่งก๊าซอีเทน คาดการณ์ใช้ระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 3 ปี เพื่อเดินหน้าการผลิตโอเลฟินส์ และพอลิโอเลฟินส์ อย่างพอลิเอทิลีน และพอลิโพรพิลีน ตอบโจทย์ความต้องการพลาสติกสำหรับผลิตสินค้าอุปโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันในตลาดเวียดนาม ซึ่งมีความต้องการสูง ภายใต้การบริหารต้นทุนที่เหมาะสม ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ LSP จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2567
นอกจากนี้ ความพร้อมของ LSP ยังสามารถรองรับการผลิตนวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก SCGC GREEN POLYMERTM ในอนาคต ซึ่งเป็นนวัตกรรมมูลค่าเพิ่มสูงที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอบรับเทรนด์รักษ์โลก ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั้งในประเทศเวียดนามและภูมิภาคอาเซียนต่อไป
ด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและที่อยู่อาศัย เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน มุ่งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้มาตรการภาษีคาร์บอนที่เริ่มบังคับใช้ในหลายประเทศ โดยธุรกิจได้ดำเนินการลดคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดกระบวนการของธุรกิจล่วงหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองกับทิศทางธุรกิจ และยังเป็นโอกาสสร้างการเติบโตจากนโยบายสนับสนุนการใช้ปูนคาร์บอนต่ำเป็นหลักในหลายโครงการทั้งของภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมา เอสซีจีสามารถส่งออกปูนคาร์บอนต่ำไปสหรัฐอเมริกาได้แล้วมากกว่า 1 ล้านตัน รวมทั้งยังสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ ทั้งในอาเซียน ออสเตรเลีย และแคนาดา จึงเร่งผลักดันด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ต่อเนื่อง ปัจจุบันกำลังพัฒนาปูนคาร์บอนต่ำ เจเนอเรชัน 3 ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มสัดส่วนการทดแทนปูนเม็ดในการผลิต ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ร้อยละ 40-50 เมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์ประเภทเดิม เพื่อตอบสนองความต้องการปูนคาร์บอนต่ำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเร่งขยายกำลังการผลิตปูนคาร์บอนต่ำในเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและสามารถเป็นฐานการส่งออกในอนาคต
ทิศทางของ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า สินค้าหลักอย่างกลุ่มวัสดุก่อสร้างจะมุ่งพัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำมากขึ้น ตอบโจทย์ตลาดรักษ์โลก เน้นการลดคาร์บอน พร้อมมีดีไซน์สวยและแข็งแรงทนทาน นอกจากนี้มีแผนใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ออกแบบผลิตภัณฑ์ เพิ่มความรวดเร็วและปรับได้ตามความต้องการลูกค้า ควบคู่กับพัฒนากระบวนการผลิต เพิ่มหุ่นยนต์ เพื่อลดของเสีย บริหารต้นทุนให้แข่งขันได้กับผู้เล่นรายใหม่ ๆ ที่เข้ามา เช่น จีน และเตรียมขยายตลาดวัสดุก่อสร้างไปยังตลาดอินเดีย และตะวันออกกลางซึ่งเติบโตสูงมากขึ้น นอกจากนี้ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนสินค้างานระบบ ตอบโจทย์การก่อสร้างเร็วและใช้งานดีขึ้น โดยเฉพาะระบบผนังที่มีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย ช่วยกันร้อนและกันเสียง รวมไปถึงระบบหลังคา ดีไซน์หลากหลาย ปรับได้ตามความต้องการและแบบบ้าน พร้อมฟังก์ชันกันร้อน และช่วยประหยัดพลังงาน
เดินหน้าสมาร์ทโซลูชัน New S-curve จากแบรนด์ ‘ออนเนกซ์ (ONNEX)’ ที่ผสานความเชี่ยวชาญของเอสซีจีและเทคโนโลยีล้ำสมัย ยกระดับการอยู่อาศัยทุกมิติ ทั้งประหยัดพลังงาน ด้วยระบบบำบัดอากาศเสีย ‘Air Scrubber’ และโซลูชันพลังงานสะอาด ‘Solar Hybrid Solutions’ ดูแลคุณภาพอากาศในบ้านและอาคาร ‘Bi-on’ ในอนาคตจะเพิ่มโซลูชันดูแลผู้สูงอายุ ตอบเทรนด์สังคมผู้สูงอายุ พร้อมเตรียมเชื่อมต่อกับทุกโซลูชันของออนเนกซ์ให้สามารถบริหารจัดการได้ในแพลตฟอร์มเดียว ผ่าน ระบบปฏิบัติการดิจิทัล ‘Trinity’ เพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้งานมากขึ้น
เอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มและ AI ยกระดับระบบจัดจำหน่ายสินค้าให้ลูกค้าและคู่ค้าเข้าถึงสะดวกขึ้น ช่วยลดระยะเวลาการเก็บสินค้าคงคลัง และสามารถคาดการณ์ความต้องการสินค้าในอนาคต ช่วยให้ธุรกิจแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นภายใต้ตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น แอปพลิเคชัน ‘Prompt Plus’ สำหรับระบบค้าส่ง สามารถช่วยวิเคราะห์และนำเสนอสินค้าตามความต้องการ (Personalized Recommendations) เพื่อการบริหารจัดการสินค้าคงคลังของผู้แทนจำหน่ายและร้านค้ารายย่อยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกัน ขยายการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยรักษ์โลกสู่ตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูง อาทิ นำเสนอคอนกรีตผสมแบบพร้อมใช้ ‘CPAC Ready Mix’ และ ‘CPAC 3D Printing Solution’ เข้าสู่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำในการก่อสร้าง ลดของเสียหน้างาน
ธุรกิจ New S-Curve เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ เดินหน้าขยายสู่อาเซียน ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มุ่งสู่เป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 3,500 เมกะวัตต์ในปี 2573 ด้วยจุดแข็งด้านนวัตกรรมและโซลูชันพลังงานสะอาดครบวงจรระดับโลก ทั้งระบบบริหารจัดการ การผลิต การจัดเก็บ (Energy Storage System) และจำหน่ายไฟฟ้าจากแพลตฟอร์มพลังงานสะอาด ‘Smart Micro Grid’ ตลอดจน ‘แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานความร้อนจากพลังงานสะอาด (Heat Battery)’ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างยูนิตแรกของโลกสำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ที่โรงงานปูนซีเมนต์ เอสซีจี จ.สระบุรี นอกจากนี้ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยการลงทุนในบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง 'นวัตกรรมการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์แบบ Tandem Perovskite' โดยบริษัทนี้มีจำนวนสิทธิบัตรอันดับต้น ๆ ของโลก เพื่อช่วยผลิตเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 30 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเข้าถึงพลังงานสะอาดได้สะดวกยิ่งขึ้น
แผนรุกครั้งนี้ เอสซีจีเดินหน้าบนมาตรการคุมเข้มทางการเงิน โดยจะพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ ภายใต้งบประมาณการลงทุนปีละ 40,000 ล้านบาท และมุ่งลดเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ ร้อยละ 10-15 จากการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งโฟกัสในธุรกิจที่มีศักยภาพ ปิดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร โดยหมุนทรัพยากรและกำลังคนมาโฟกัสในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต ครึ่งแรกของปี มีเงินสดคงเหลือ 78,907 ล้านบาท
นายธรรมศักดิ์ เสริมถึงทิศทางติดปีกธุรกิจต่อไปว่า เอสซีจีกำลังเร่งขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี นำ AI มาขับเคลื่อนธุรกิจทุกมิติ สนับสนุนให้พนักงานทุกคนทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างเข้าใจ ทำจริง และขยายผลต่อยอด เพื่อปูทางสู่ศักยภาพธุรกิจระยะยาว วันนี้มีหลายโครงการเริ่มเดินหน้าและอยู่ในแผนพัฒนา เช่น การดึง AI เป็นเพื่อนคู่คิดลูกค้าช้อปปิ้งเรื่องบ้านโดนใจ หรือ AI ดูแลเครื่องจักรและซ่อมบำรุงเพื่อการทำงานอย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เอสซีจี ร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ขับเคลื่อน ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5 ด้าน ได้แก่ 1) เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดจากศักยภาพพื้นที่และสายส่งด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) 2) มุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ผลิตสินค้ารักษ์โลกและคาร์บอนต่ำ 3) สร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือใช้ 4) การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ลดใช้น้ำ ลดคาร์บอน 5) เพิ่มพื้นที่สีเขียว ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมทั้งหาทุนสีเขียว (Green Funding) จากต่างประเทศมาพัฒนานวัตกรรมคาร์บอนต่ำ อาทิ เทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) เพื่อมุ่งสร้างเศรษฐกิจเติบโตแบบโลว์คาร์บอน ตั้งเป้าปี 2573 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจังหวัดสระบุรี 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์บรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593
“เอสซีจี ติดตามสถานการณ์ไทยและโลกทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม เพราะต่างส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันยังนำมาวิเคราะห์ล่วงหน้า จัดทำแผนที่เหมาะสมกับแต่ละจังหวะ และนำมาใช้ปรับตัวอย่างทันท่วงทีให้ธุรกิจดำเนินต่อเนื่องและมั่นคง นอกจากจะสร้างความสามารถทางการแข่งขันที่เข้มแข็งทั้งในระยะสั้น-กลาง-ยาว ยังรักษาเสถียรภาพทางการเงิน พร้อมขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูง ตอบทุกโอกาสและความท้าทายที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง" กรรมการผู้จัดการใหญ่ สรุปปิดท้าย
การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดภาวะโลกร้อนและแก้ไขปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ตลอดจนสร้างความยั่งยืนแก่โลกใบนี้ กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ภาคธุรกิจทั่วโลกกำลังตื่นตัว ล่าสุด บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ได้จัดสัมมนา “Sustainable Synergy for Decarbonization” เพื่อเปิดพื้นที่แห่งความร่วมมือทั้ง ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ SMEs และสถาบันการเงิน ในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ มาแลกเปลี่ยนมุมมองความท้าทายและแนวทางการปฏิบัติ เพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
Carbon Footprint ปัจจัยสำคัญสู่ความยั่งยืน
“วิชาญ จิตร์ภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดประเด็นว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากธุรกิจไม่ปรับตัวจะไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่ง SCGP ได้ปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Sustainability Transformation ถือเป็นดีเอ็นเอของเอสซีจี โดย SCGP ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 25% ภายในปี 2030 และ Net Zero ภายในปี 2050 ผ่านการดำเนินงานใน 2 ด้านหลัก ได้แก่ การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรหรือ CFO (Carbon Footprint for Organization) หันมาใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ โดยติดตั้งโซลาร์รูฟ และใช้พลังงานชีวมวลแทนพลังงานถ่านหิน นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อใช้พลังงานน้อยลงและสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตัน ปลูกต้นไม้สะสมจำนวน 2.3 ล้านต้น นำขยะพลาสติกมาหลอมเป็นเมล็ดพลาสติกใหม่ นำเศษเยื่อกระดาษจากกระบวนการผลิตไปทำสารปรับปรุงดิน 24,000 ตันต่อปี เพื่อนำไปปลูกต้นยูคาลิปตัสสำหรับผลิตกระดาษต่อไป
อีกด้านคือ การได้รับการรับรอง Carbon Footprint of Product (CFP) 128 ผลิตภัณฑ์ จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ที่สามารถระบุจำนวนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นได้ และได้รับการรับรอง Carbon Footprint จากกระบวนการพิมพ์และขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์กระดาษรวม 16 กระบวนการ ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้ากระดาษบรรจุภัณฑ์ โดยลูกค้าสามารถนำ CFP ไปใช้ต่อยอดคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดได้ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนา “ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ที่ออกโดย SCGP (Private Declaration Label)” เพื่อแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบรรจุภัณฑ์ และได้พัฒนา “ซอฟต์แวร์คาร์บอนฟุตพริ้นท์” ของผลิตภัณฑ์ พร้อมเอกสารรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้า ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าขอการรับรอง CFP ในกลุ่มสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย 100% ภายในปี 2027 ด้วย
“CFP จะช่วยให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้สอดคล้องกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐที่มีการบังคับใช้มากขึ้นในหลายประเทศ ช่วยเพิ่มโอกาสการขาย การเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ให้ลูกค้าส่งออกกลุ่มต่าง ๆ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาและเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ นับเป็นการช่วยเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทยให้มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมด้วย” วิชาญ กล่าว
ร่วมมือธุรกิจขับเคลื่อนความยั่งยืน
ตัวอย่างขององค์กรที่ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น “สุทธิพงค์ ลิ่มศิลา” Head of Corporate Strategy บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า คาโอได้กำหนดกลยุทธ์ทางด้านความยั่งยืน หรือ Kirei Lifestyle Plan ไว้จำนวน 19 แนวทางปฏิบัติด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับปรุงคุณภาพชีวิต และการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อทุก ๆ คน และอื่น ๆ คาโอใส่ใจในการพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะดวกต่อการใช้งาน มุ่งใช้นวัตกรรมเพื่อให้ผู้บริโภคมีชีวิตที่ง่ายขึ้น ทางด้านสิ่งแวดล้อมเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญในยุคปัจจุบัน คาโอพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน โดยเลือกใช้ Bio PET และวัสดุที่เป็น Mono Material รวมถึงเพิ่มการใช้ Flexible Packaging (บรรจุภัณฑ์ชนิดถุงหรือฟิล์ม) แทน Rigid Packaging (บรรจุภัณฑ์ชนิดขวด) เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกลง 50-70% เพิ่มสัดส่วนการใช้ Green Carton by SCGP เป็น 100% ภายในปีนี้ หรือแม้แต่การคัดเลือกแหล่งวัตถุดิบที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและบุกรุกป่า โดยคาโอมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 100% ภายในปี 2025 และลดการปล่อยคาร์บอนใน Scope 1 (การปล่อยคาร์บอนทางตรง) และ Scope 2 (การปล่อยคาร์บอนทางอ้อม) ให้ได้ 55% และลด CFP ในผลิตภัณฑ์คาโอ ทั้งหมดให้ได้ 22% ภายในปี 2030 นอกจากนี้ได้ตั้งเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2040 และ Carbon Negative ภายในปี 2050
เสริมเอสเอ็มอีสู่แนวทางลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ตัวแทนหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย “ยุทธนา เจียมตระการ” ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม เผยว่า หอการค้าไทยมีสมาชิกกว่า 1.4 แสนรายทั่วประเทศ จากผลสำรวจเมื่อ 4 ปีก่อนพบว่า มีสมาชิกเพียง 30% ที่ตระหนักถึง ESG ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย มาจากปัจจัยหลายอย่าง เพื่อให้เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน SME ควรเริ่มหาข้อมูล พรบ.การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่มีทั้งหมด 14 หมวด 177 มาตรา เพื่อทำความคุ้นเคย ซึ่งจะเป็นทั้งเครื่องมือและกลไกสำคัญในการพาผู้ประกอบการไปสู่จุดหมาย Net Zero รวมถึงมาตรฐานการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Taxonomy ระบบการซื้อขายสิทธิคาร์บอนเครดิต (Emission Trading System) เป็นต้น
ธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าปรับตัว ลดปล่อยคาร์บอน
“เชวง เศรษฐพร” Head of Credit Product Development ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารสามารถเป็นได้มากกว่าผู้สนับสนุนด้านสินเชื่อ โดยมุ่งให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่ม SME แบบจูงมือไปด้วยกัน มีการจัดเตรียม “สินเชื่อธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน” (Krungsri SME Transition Loan) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ ให้วงเงินกู้สูงสุด 100% ของมูลค่าโครงการ ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 10 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรกที่ 3.50% ต่อปี ปีที่ 3-5 อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่ำสุด 4.75% พร้อมสิทธิ์เข้าสมัครโครงการ Krungsri ESG Academy ให้ลูกค้าได้เรียนรู้และสนับสนุนธุรกิจเปลี่ยนผ่านได้อย่างรู้ลึก ทำได้จริง นอกจากนี้ ธนาคารยังมีกลไกสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ โครงการ Krungsri ESG Awards มอบรางวัลให้ผู้ประกอบการที่มีโครงการเพื่อความยั่งยืนที่โดดเด่น สร้างการมีส่วนร่วมเพิ่มเติม รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรใน ESG ecosystem ของกรุงศรีด้วย
ด้าน “สายชล อนุกูล” ผู้จัดการโรงไฟฟ้าและไบโอแก๊ส บริษัทโชคยืนยงอุตสาหกรรม จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการได้ยกตัวอย่างการปรับแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนกล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโรงงานแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งต้องใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและมีน้ำเสีย จึงจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อนำ “น้ำเสีย” มาผลิตเป็น “ก๊าซชีวภาพ” เพื่อนำกลับไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าภายในโรงงาน คิดเป็นสัดส่วน 60% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด โดยน้ำเสียส่วนหนึ่งจะถูกนำไปบำบัดและใช้ปลูกหญ้าเนเปียร์ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยผลผลิตที่ได้ 60% จะแบ่งให้ชุมชนโดยรอบ และอีก 40% บริษัทฯ นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงาน นอกจากนี้ ได้ร่วมกับ SCGP ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มขนาด 5 เมกะวัตต์ คิดเป็น 20% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ในอนาคตมีเป้าหมายให้เป็นโรงงานที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% โดยจะลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพ หรือติดตั้งโซลาร์ฟาร์มหรือโซลาร์ลอยน้ำเพิ่ม
ส่วน “ธเนศ เมฆินทรางกูร” Commercial Director บริษัทไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE มองว่า ESG เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืน หากไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้จะสูญเสียความสามารถการแข่งขันเนื่องจากมีกฎหมายเตรียมบังคับใช้ โดยการลดคาร์บอนในธุรกิจโลจิสติกส์ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนมาใช้รถ EV เท่านั้น แต่รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่งให้ดียิ่งขึ้น เช่น การจัดเส้นทางขนส่งใหม่ ใช้เรือขนส่งที่ใช้เชื้อเพลิงกำมะถันต่ำ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยปัจจุบัน WICE อยู่ในระหว่างเตรียมการให้บริการขนส่งเชื้อเพลิงวูดเพลเลท (wood pellets) จาก สปป.ลาว มายังประเทศไทย และส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิต Green Energy
ถือเป็นงานสัมมนาที่ส่งต่อความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในการเตรียมรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการเพิ่มมุมมองการดำเนินงานด้าน ESG จะมาช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ และเร่งพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน หรือสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้เติบโตอย่างมั่นคง
เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ผู้นำธุรกิจพอลิเมอร์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน ร่วมกับ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและเคมีภัณฑ์ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์สินค้า อาทิ แอทแทค บิโอเร ไฮเตอร์ มาจิคลีน ลอรีเอะ แฟซ่า ฯลฯ พัฒนาบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลรักษ์โลกสำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม “แฟซ่า” (Feather) ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง SCGC GREEN POLYMERTM ด้วยเทคโนโลยีรีไซเคิลจาก SCGC เพื่อผลิตเป็น บรรจุภัณฑ์ที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำ และสามารถรีไซเคิลได้ 100% มุ่งใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่วิถีสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม โดยยังคงรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายในและให้ความสะดวกกับผู้บริโภคได้เช่นเดิม
นายยูจิ ชิมิซึ ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “หากพูดถึงคาโอ หนึ่งในสินค้าที่ทุกคนต้องรู้จักคือ แชมพูแบรนด์ “แฟซ่า” ที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 60 ปี ซึ่งแฟซ่าเป็นสินค้าแรกที่คาโอจำหน่ายในประเทศไทย โดยมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่แฟซ่าแบบซองซึ่งอยู่ในรูปแบบผง และได้พัฒนามาตามยุคสมัยจนกลายมาเป็นรูปแบบปัจจุบัน ซึ่งนอกจากการพัฒนาสูตรเองแล้ว คาโอยังไม่หยุดยั้งในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2024 นี้ คาโอได้ปรับโฉมบรรจุภัณฑ์ใหม่โดยร่วมมือกับ SCGC ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลาสติกรีไซเคิลครบวงจร เพื่อพัฒนาขวดบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกสำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม “แฟซ่า” โดยเลือกใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลประเภทพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (High Quality PCR HDPE Resin) นับเป็นการชุบชีวิตพลาสติกใช้แล้วให้กลับมามีคุณค่าใหม่อีกครั้ง”
นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGC กล่าวว่า “SCGC มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีรีไซเคิล และมีโซลูชันด้าน Green Polymer ที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดย SCGC จะพัฒนาสูตรการผลิตและเทคโนโลยีให้เหมาะกับความต้องการโดยคำนึงถึงคุณภาพและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน สำหรับความร่วมมือกับคาโอนั้น SCGC ได้พัฒนาสูตรเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงประเภทพอลิเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (High Quality PCR HDPE Resin) จาก SCGC GREEN POLYMERTM ให้กับขวดแชมพูแฟซ่า เพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำ สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% และมีความปลอดภัย สามารถสัมผัสกับเนื้อผลิตภัณฑ์ภายในได้โดยไม่ส่งผลต่อคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์”
ทั้งนี้ “ขวดแชมพูรักษ์โลกของแฟซ่า” เป็นดีไซน์ซึ่งสอดคล้องกับวิถีสังคมคาร์บอนต่ำ สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ทุกชิ้นส่วน 100% เนื่องจากไม่มีการเติมแต่งสีในเนื้อพลาสติก นอกจากนี้ ในส่วนของฉลากยังออกแบบให้สามารถฉีกแยกออกได้ง่ายตามรอยประ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายยิ่งขึ้น ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ