“คุณเชื่อในรักแรกพบ และรู้สึกเหมือนว่ามันอยู่กับเราตลอดไปไหม” เพราะการทำงานออกแบบก็เช่นเดียวกับความรัก เมื่อคุณพบสินค้าที่ผ่านการออกแบบมาอย่างดี คุณจะรู้สึกตกหลุมรักและอยากใช้สินค้านั้นขึ้นมาทันที
เมื่อเร็วๆ นี้ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ได้จัดงาน “Design Talks 2018” กิจกรรมสัมมนาเสริมการเรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ให้กับนักออกแบบและผู้ที่สนใจมาอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยครั้งที่ 4 นี้ ได้รับเกียรติจาก คุณปุ้ม (Ms.Pum Lefebure) นักออกแบบไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Design Army บริษัทออกแบบที่มีชื่อเสียงในวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐฯ อเมริกา และมีผลงานออกแบบให้กับแบรนด์ระดับโลกมาแล้วมากมาย อาทิ Academy Awards, Adobe, GE และ Disney เป็นต้น รวมทั้งได้รับการยกย่องจาก Washington Business Journal ให้เป็นนักธุรกิจหญิงที่น่าจับตามอง และเป็นหนึ่งใน Adweek’s Creative 100 ในปี 2016 มาร่วมถ่ายทอดวิธีคิดและกระบวนการออกแบบ ที่เป็นเบื้องหลังแห่งความสำเร็จของแบรนด์สินค้า ผ่านมุมมองและประสบการณ์ตรง ณ เอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ
“I am not a Designer. I am a Seducer” คือคำจำกัดความใหม่ของอาชีพนักออกแบบที่คุณปุ้มได้ให้ไว้อย่างน่าสนใจ ก่อนจะชวนให้ทุกคนคิดต่อว่า ถ้าอยากจะให้คนตกหลุมรักแบรนด์หรือสินค้าสักชิ้นต้องทำอย่างไรบ้าง ในยุคที่ความสวยงามอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียว เหล่านักออกแบบรุ่นใหม่ต้องมีความคิดและวางแผนเพื่อสร้างเสน่ห์ให้กับโจทย์ที่เราได้รับ เพราะเสน่ห์ไม่เพียงแต่จะทำให้งานออกมาโดดเด่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับคุณค่าของตัวนักออกแบบเองด้วย
โดยหลัก 3 ข้อที่หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Design Army ใช้สร้างสรรค์งานมาโดยตลอดคือ เกี้ยวพาราสี (Flirt) ความดื่มด่ำ (Romance) และยั่วยวน (Seduce) ซึ่งคุณปุ้มเปรียบเทียบกับขั้นตอนการเดต โดยเริ่มจากการกวาดตามองหาบุคคลที่เราสนใจศึกษาความชอบของเป้าหมาย และวิธีการเข้าหา จากนั้นจึงเข้าไปแนะนำตัวทำความรู้จักตามวิธีที่เหมาะสม ก่อนจะโปรยเสน่ห์ในแบบที่คาดไม่ถึง ด้วยหลักการเหล่านี้ก็จะทำให้บุคคลนั้นหันมาสนใจและตกหลุมรักคุณได้
และเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น คุณปุ้มได้หยิบเอาผลงานก่อนหน้านี้มายกตัวอย่างให้เห็นความสำคัญของเสน่ห์แห่งการสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนบัลเลต์ที่ดูเป็นศิลปะเฉพาะกลุ่มให้กลายเป็นศิลปะร่วมสมัย ด้วยการถ่ายภาพนางแบบและนายแบบใส่เสื้อผ้าที่ดูสปอร์ตและทันสมัย ภายใต้แรงบันดาลใจจากแลนด์มาร์คในแต่ละประเทศ หรือการทำให้บริษัทแว่นตาที่ไม่น่าสนใจกลายเป็นแบรนด์ที่ดูทันสมัยมากขึ้น จากโฆษณาที่เล่าเรื่องราวจากรุ่นสู่รุ่นที่ส่งต่อความรักในเรื่องแว่นตาอย่างมีสไตล์ รวมไปถึงตัวอย่างการแก้ปัญหาช็อกโกแลตที่ขายไม่ดีในช่วงหน้าร้อน โดยนำความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อพรรคการเมืองในประเทศ มาเปรียบเป็นรสชาติต่างๆ ของทางแบรนด์ พร้อมออกแบบแพคเกจจิ้งจากสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกัน
ส่งผลให้ช็อกโกแลตซีรี่ส์การเมืองที่เธอออกแบบมียอดขายสูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
อีกเคล็ดลับที่คุณปุ้มได้เล่าให้ฟัง คือ อยากให้นักออกแบบได้ลองร่างแบบ (Sketch) ด้วยมือ แทนการใช้เฉพาะเทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์ โดยให้เหตุผลว่า หากไม่ลองวาดหรือเขียนลงไปจริงๆ เราจะไม่สามารถเห็นภาพที่จะเกิดขึ้นได้เลย และนั่นจะทำให้การทำงานยากทั้งกับตัวเองและการอธิบายคนอื่นต่อด้วย นอกจากนี้การร่างแบบด้วยมือยังเป็นสไตล์ส่วนตัวที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ เพราะน้ำหนักมือของแต่ละคนไม่เท่ากัน จึงเป็นอีกเสน่ห์ที่จะสร้างความพิเศษให้กับงานได้
ตลอดการสัมมนาเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คนได้เป็นอย่างดี ภายใต้ความมุ่งมั่นตั้งใจของเอสซีจี ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจสู่ความสำเร็จ พร้อมผลักดันพัฒนาวงการออกแบบของไทย และช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของบรรจุภัณฑ์ให้เติบโตและยั่งยืนต่อไป ทั้งในประเทศไทยจนก้าวไปสู่ระดับโลก
ก่อนจะจบการสัมมนาในครั้งนี้ คุณปุ้ม (Ms.Pum Lefebure) ได้ฝากข้อคิดไว้ให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ว่า “การออกแบบให้ตอบโจทย์แบรนด์ได้ดีนั้น สิ่งสำคัญมากกว่าแค่การออกแบบให้สวยงาม คือ ทัศนคติ และความเข้าใจในธุรกิจนั้นๆ ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกด้วยใจ ให้ลูกค้าสัมผัสและตกหลุมรักด้วยการมองเห็น พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง และไม่ว่าจะทำอะไร หาตัวเองให้เจอว่าอยากเป็นอะไร จากนั้นก็พาตัวเองไปสู่พื้นที่ที่คุณจะได้แสดงฝีมือ”
“ต้นทางป่าไม้ ปลายทางประมง ระหว่างทางเกษตรกรรม” เป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงวางแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ดินและน้ำของประเทศไทยให้อุดมสมบูรณ์ รวมถึงส่งเสริมชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำ ตลอดจนพื้นที่ปลายน้ำที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติให้ดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ นับเป็นแนวคิดที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถสร้างความความยั่งยืนให้กับผืนป่าและชุมชนได้อย่างแท้จริง ... พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ต้นน้ำ และเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชไร่ที่สำคัญของประเทศ แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา หลายพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรี จะประสบปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ทั้งจากภัยธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์ แต่ด้วยแนวคิดการสร้าง “ฝายชะลอน้ำ” ตามแนวพระราชดำริ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูผืนป่าได้อีกครั้ง และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีป่า ชุมชนก็มีรายได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งภายในชุมชน
เมื่อป่าอยู่รอด ชุมชนจึงอยู่ได้
ชุมชนบ้านยางโทน อำเภอไทรโยค เป็นอีกหนึ่งชุมชนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่ประสบปัญหาพื้นที่แห้งแล้งจากการแผ้วถางป่าสำหรับขยายพื้นที่ทำกิน ชุมชนจึงได้ร่วมกับกรมป่าไม้ และเอสซีจี สร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อแก้ปัญหา และหวังคืนความชุ่มชื่นให้ผืนดิน จนปัจจุบัน เห็นผลแล้วว่า นอกจากความสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่กลับคืนมา ฝายยังช่วยฟื้นสภาพพื้นที่ให้เป็นแหล่งอาหาร และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ผลิตผลทั้งหน่อไม้ ไผ่รวก เห็ดโคน และผักหวาน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ชุมชน
“ชุมชนได้เข้าไปร่วมกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเอสซีจี ตั้งแต่ปี 2552 เพียงไม่กี่ปีก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพื้นที่ ฝายช่วยคืนความสมดุลให้กับป่า และป่ายังเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตที่ชุมชนสามารถเข้าไปหาของป่าสำหรับนำมาใช้ทำอาหารให้ครอบครัว และแบ่งขายสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น แค่คนในชุมชน 1 คน เดินเข้าป่าไปเก็บหน่อไม้เพียง 2 กระสอบปุ๋ย สามารถสร้างรายได้ให้ถึง 300 บาทต่อวัน หรือประมาณ 5,000 – 6,000 บาทต่อเดือน ส่วนรายได้ของชุมชนที่มาจากการขายหน่อไม้ เห็ดโคน พืชสมุนไพร ไม้ใช้สอยในครัวเรือน มากถึง 4,000,000 บาทต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าเพราะการที่ชุมชนช่วยกันลงแรง ร่วมใจกันสร้างฝายชะลอน้ำ จะทำให้ชุมชนบ้านยางโทนของเรามีโอกาสพูดคุยกัน เข้าใจกัน และรักสามัคคีกันมากขึ้น” ผู้ใหญ่ครุฑ นายเต้นยิ้ว วชิรพันธ์วิชาญ ประธานป่าชุมชนบ้านบ้านยางโทน กล่าว
ไม่หยุดแค่งานชุมชน มุ่งมั่นยกระดับความรู้สู่งานวิชาการ
นอกจากชุมชนแล้ว พื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อำเภอไทรโยค ยังเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่อยู่ในเขตมหาวิทยาลัย เมื่อฝนตกหนักหน้าดินจะถูกชะล้างลงไปยังพื้นที่ด้านล่าง สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชน มหาวิทยาลัยฯ จึงเริ่มสร้างฝายชะลอน้ำร่วมกับเอสซีจีตั้งแต่ปี 2553 เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จากจุดเริ่มต้นเพียง 10 ฝาย ได้ขยายเพิ่มเป็น 100 ฝาย จนปัจจุบันนักศึกษาและจิตอาสาได้ร่วมกันสร้างไปแล้ว 354 ฝาย
“ระหว่างการสร้างฝาย มหาวิทยาลัยฯ และเอสซีจี ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นในพื้นที่ จึงได้ร่วมมือกันทำงานวิจัยเชิงวิชาการ ภายใต้โครงการ การติดตามตรวจสอบทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการจัดการฝายอย่างยั่งยืน เพื่อศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และความหลากหลายของสัตว์ รวมถึงประโยชน์จากฝายที่เกิดขึ้นกับชุมชน ผลจากงานวิจัยได้พบ ชาฤาษีไทรโยค ที่เป็นดัชนีชี้วัดสิ่งแวดล้อมที่สำคัญทางระบบนิเวศ ซึ่งพบแหล่งเดียวในโลก พืชชนิดนี้จะขึ้นในป่าที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์เท่านั้น อีกทั้ง ยังพบการกลับมาของเสือลายเมฆซึ่งเป็นสัตว์ที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์ สะท้อนให้เห็นว่า การสร้างฝายมีส่วนสำคัญที่ช่วยฟื้นให้ระบบนิเวศของป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง รวมถึงฝายยังทำหน้าที่ช่วยดักตะกอนดินไม่ให้ไหลลงไปสร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนเช่นที่ผ่านมาได้อีกด้วย ต่อจากนี้ มหาวิทยาลัยฯ และเอสซีจี ได้ร่วมกันจัดตั้ง “สถานีเรียนรู้ฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ” เพื่อรวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการทำฝายและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้แก่ชุมชน และผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป และมีเป้าหมายจะสร้างฝายให้ครบ 500 ฝายในปี 2561 นี้” ผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยให้เห็นผลประจักษ์เชิงวิชาการที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นจากฝายชะลอน้ำ
เครือข่ายพลังคนรุ่นใหม่ หัวใจรักษ์สื่งแวดล้อม
ด้วยความเชื่อที่ว่า การรักษาและดูแลน้ำเป็นหน้าที่ของคนทุกคน ไม่เฉพาะแค่ชุมชนต้นน้ำเท่านั้น น้องแนน นางสาวช่อผกา พจนาสุคนธ์ กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ปี 4 หนึ่งในเยาวชนจิตอาสาคนรุ่นใหม่ ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook SCG โดยหวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้กับเพื่อนๆ และพี่ๆ ชุมชน รวมถึงหวังว่าการร่วมกิจกรรมจะช่วยปลุกพลังที่จะส่งต่อแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรม กล่าวว่า
“ปกติชอบธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสและลองลงมือทำงานร่วมกับพี่ๆ ชุมชนแบบนี้มาก่อน ครั้งแรกสำหรับการสร้างฝายไม่เหนื่อยอย่างที่คิด เพราะได้แรงจากพี่ๆ ชุมชน และพี่ๆ พนักงานเอสซีจีช่วยกัน เมื่อก่อนเคยได้ยินแต่คนพูดถึงฝาย แต่การมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ได้มีโอกาสมาเรียนรู้วิธีการสร้างฝายที่ถูกต้อง ทำให้เห็นว่า ฝายช่วยชะลอน้ำสามารถช่วย
แผ่กระจายความชุ่มชื้นไปสู่พื้นที่โดยรอบได้มากกว่าแค่เก็บน้ำตามที่เราเคยคิดไว้ และไม่น่าเชื่อว่า การเริ่มต้นทำฝายจากจุดเล็กๆ ด้วยหัวใจของพี่ๆ ชุมชน และแรงของเพื่อนๆ นักศึกษาจิตอาสาของมหาวิทยาลัยมหิดลฯ กลับส่งผลให้ป่าทั้งป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง นึกภาพไม่ออกเลยว่าสภาพพื้นที่ที่เคยแห้งแล้งและมีปัญหาน้ำท่วมเป็นอย่างไร ถ้าครั้งหน้ามีกิจกรรมประเภทนี้อีก จะขอเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะลงมือช่วยเพื่อประเทศไทยของเรา”
สืบสานศาสตร์พระราชา เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ต่อยอดและขยายผลให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน
เอสซีจีให้ความสำคัญเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้เติบโตไปพร้อมกันในทุกพื้นที่ที่เอสซีจีเข้าไปดำเนินธุรกิจ โดยได้น้อมนำและสืบสานพระราชดำริ “จากภูผา สู่มหานที” มาเป็นแนวทางในการรักษาดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ที่เอสซีจีเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ 20 จังหวัดทั่วประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
“เอสซีจีมีเครือข่ายชุมชนในโครงการเอสซีจี รักษ์น้ำ มากกว่า 170 ชุมชน เครือข่ายเยาวชน Young รักษ์น้ำ กว่า 80 คน และมีจิตอาสาเข้าร่วมโครงการมากกว่า 89,400 คน ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำสำเร็จไปแล้วกว่า 79,300 ฝาย ความสำเร็จจากการดูแลพื้นที่ต้นน้ำด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำของทั้งชุมชนบ้านเขามุสิ และชุมชนบ้านยางโทน จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงผลงานวิจัยทางวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดลฯ วิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นบทเรียนและต้นแบบความร่วมมือที่แสดงให้เห็นถึงพลังของชุมชน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาคล้ายกัน ได้นำแนวคิดไปปรับใช้แก้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ด้วยตนเองให้ประสบผลสำเร็จ และขยายผลต่อไป จนเกิดการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนในอนาคต จากนี้ไป เอสซีจีมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้ชุมชนสามารถต่อยอดพัฒนา และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตจากฝาย เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ได้ตลอดทั้งปี” นายแสงชัย วิริยะอำไพวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี กล่าว
เอสซีจี จะยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที” ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมกันสร้างต้นน้ำที่ยั่งยืน สู่ปลายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดเป็นความสมดุลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในทุกพื้นที่ พร้อมถ่ายทอดและต่อยอดแนวความคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนสำคัญของทุกชีวิตนี้ให้คงอยู่ต่อไป
เอสซีจีลงนามบันทึกความเข้าใจการอุทิศที่ดินบึงบางซื่อใน “โครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ” ร่วมกับกรมธนารักษ์ มุ่งพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนกว่า 800 ชีวิต พร้อมผลักดันสู่ต้นแบบที่อยู่อาศัยชุมชนเมือง และแหล่งพักผ่อนของคนกรุงเทพฯ คาดบ้านใหม่โครงการแรกพร้อมเข้าอยู่ปี 2562 บึงน้ำสาธารณะต้องใช้เวลาพัฒนาร่วมกับกทม. โดยมีผู้บริหารจากกรุงเทพมหานคร และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พร้อมด้วยคณะกรรมการสหกรณ์เคหสถาน บ่อฝรั่งริมน้ำพัฒนา จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ เอสซีจี สำนักงานใหญ่
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “การดำเนินงานในโครงการฯ เป็นไปตามแนวทางที่ตั้งเป้าหมายไว้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของชุมชนบึงบางซื่อกว่า 800 ชีวิต ทั้งด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนที่จะก่อสร้างที่พักอาศัยจำนวน 197 ยูนิต แบ่งเป็นบ้านทาวน์เฮ้าส์ 60 ยูนิต อาคารชุดพักอาศัย 4 ชั้น 3 อาคาร รวม 133 ยูนิต และบ้านกลางสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแลอีก 4 ยูนิต สำหรับงานก่อสร้างทาวน์เฮ้าส์และบ้านกลางได้รับใบอนุญาตก่อสร้างแล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้คือภายในปี 2562 จากนั้น จะเริ่มก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment Report) คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ปลายปี 2562 และจะแล้วเสร็จพร้อมเข้าอยู่ภายในปี 2563 สำหรับการพัฒนาบึงน้ำสาธารณะ จะเริ่มดำเนินการพัฒนาหลังจากชุมชนได้ย้ายเข้าที่อยู่อาศัยใหม่ครบหมดแล้ว ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาร่วมกับกรุงเทพมหานครไม่น้อยกว่า 1 ปี
ส่วนความคืบหน้าความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ นั้น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้พิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพื่อสร้างบ้านสำหรับชุมชนจำนวน 48 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทยได้พิจารณาอนุญาตให้เช่าที่ดินเพื่อพัฒนาเป็นทางเข้า – ออก และที่จอดรถ และสำนักงานเขตจตุจักรได้พิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างทาวน์เฮ้าส์ ระหว่างนี้ เอสซีจียังคงลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างสหกรณ์ พัฒนาศักยภาพคณะกรรมการและคณะทำงาน รวมถึงจัดตั้งกลุ่มออมสัจจะสะสมทรัพย์ ดูแลเยาวชนและผู้สูงอายุ”
ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า “หลังจากที่ได้รับมอบที่ดินจากเอสซีจีแล้ว สำหรับพื้นที่อยู่อาศัยชุมชนกรมธนารักษ์จะให้สหกรณ์เคหสถานบ่อฝรั่งริมน้ำพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็น
นิติบุคคลที่เกิดจากการรวมกลุ่มก่อตั้งของชุมชนในพื้นที่บ่อฝรั่ง เช่าระยะยาว 30 ปี โดยกรรมสิทธิ์ของบ้านพัก
อาศัยจะเป็นของชุมชนผู้เข้าร่วมโครงการ และกรมธนารักษ์จะคิดค่าเช่าที่ดินในอัตราเดียวกับโครงการบ้านมั่นคงในที่ราชพัสดุ สำหรับพื้นที่สวนสาธารณะ กรมธนารักษ์มอบให้กรุงเทพมหานครร่วมกับเอสซีจี และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ร่วมกันพัฒนาเป็นบึงน้ำสาธารณะ โดยกรมธนารักษ์จะพิจารณาให้สิทธิ์แก่องค์กร หรือนิติบุคคลอื่นๆ ทำหน้าที่บริหารจัดการ ดูแลรักษาพื้นที่ในส่วนนี้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบึงน้ำสาธารณะ โดยมีกรุงเทพมหานครทำหน้าที่ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยแทนกรมธนารักษ์”
โครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ เป็นความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และชุมชน ได้แก่ เอสซีจี สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานเขตจตุจักร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรุงเทพมหานคร และกรมธนารักษ์ มุ่งเป็นต้นแบบการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน 4 ด้าน ได้แก่ หนึ่งในต้นแบบโครงการสานพลังประชารัฐ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ต้นแบบที่อยู่อาศัยชุมชนเมือง จัดสรรพื้นที่อย่างคุ้มค่า มีพื้นที่ส่วนกลางใช้ประโยชน์ร่วมกัน ต้นแบบการมีส่วนร่วมของชุมชน เปิดโอกาสร่วมกันออกแบบที่อยู่อาศัยที่ลงตัวกับทุกวิถีชีวิต กระตุ้นให้เกิดการออมในชุมชน และต้นแบบบึงน้ำสวนสาธารณะ เพื่อเป็นแก้มลิงและแหล่งพักผ่อนของคนกรุงเทพฯ
ปัจจุบันปัญหาขยะถือเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องเผชิญ เนื่องจากส่งผลต่อระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผู้คนอย่างมาก ซึ่งในส่วนของประเทศไทย มีรายงานสถานการณ์มลพิษประจำปี 2559 โดยกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศถึง 27.04 ล้านตัน หรือคิดเป็น 74,073 ตันต่อวัน แต่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีเพียง 9.59 ล้านตันเท่านั้น ที่เหลือเป็นการเผาและนำไปเทกองรวม ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างมหาศาล
ดังนั้น เพื่อเป็นการหาทางออกให้กับการจัดการปัญหาขยะของประเทศ ในงาน “SD Symposium 2018 (Sustainable Development Symposium 2018)” ภายใต้แนวคิด “Circular Economy: The future we create” เอสซีจีจึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ “Circular Waste Value Chain” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องร่วมพูดคุยหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ได้แก่ “ธนา ยันตรโกวิท” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย, “สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง” รองปลัดกรุงเทพมหานคร, “สินชัย เทียนศิริ” ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, “ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ” Vice President - Polyolefins and Vinyl Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และ “เพชร มโนปวิตร” องค์กรสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN)
ชู 3Rs ต้นทางการจัดการขยะ สร้างพฤติกรรมใหม่ให้ประชาชน
“ธนา” กล่าวว่า แม้จะมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะหลายฉบับ และเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย แต่ไม่ได้มีใครเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการเก็บขยะ ดังนั้น สถ. จึงเป็นหน่วยงานหลัก เนื่องจากมีองค์กรปกครองส่วนถิ่น (อปท.) อยู่กว่า 7,851 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพแตกต่างกันไป แต่กว่าร้อยละ 70 ของ อปท. มีรายได้น้อยและไม่ได้รับเงินอุดหนุนที่เพียงพอ
“จากการสำรวจพบว่า อปท. กว่า 3,000 แห่ง ไม่มีรถเก็บขยะและมีสถานที่กำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องอีกกว่า 2,810 กอง ซึ่งหลังจากรัฐบาลประกาศปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ จึงมีการวางแผนจัดการขยะแบบองค์รวม ทั้งขยะเก่าที่มีอยู่หรือขยะใหม่ที่จะเกิดขึ้น และการใช้มาตรการทางกฎหมายให้ครอบคลุม รวมถึงการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน”
“ปัญหาขยะที่เกิดขึ้น วงจรสำคัญคือต้นทางที่เป็นผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมา สถ. ได้รณรงค์ “ใช้น้อย ใช้ซ้ำ ใช้ใหม่” ที่แปลงมาจาก 3Rs โดยให้ อปท. และชุมชน เชื่อมโยงชาวบ้านให้เกิดการคัดแยกขยะ และมีกิจกรรมต่างๆ ทั้งตลาดนัดขยะและผ้าป่าขยะ ทำให้เกิดกลไกการจัดการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเพื่อการรีไซเคิล อีกทั้ง สถ. ยังจัดทำโครงการ “From Bin to Bag” หรือการเปลี่ยนจากถังขยะมาเป็นถุงขยะ เพื่อให้มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ตลอดจนโครงการ “Fast track to zero waste” เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบในการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ ด้วยการคัดแยกและกำหนดวันจัดเก็บขยะ”
“อย่างไรก็ตาม การจะทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมนั้น ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบและมีแนวทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะการสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ปัญหาปลายทางที่เป็นการกำจัดขยะหมดไป ทั้งยังจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ได้อีกทางด้วย”
ด้าน “สุวรรณา” กล่าวเสริมว่า การจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเฉพาะการจัดการของเสียเพื่อนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบอีกครั้งนั้น แนวทาง 3Rs ถือว่าสำคัญ เนื่องจากเป็นการรักษาต้นทุนทางธรรมชาติ การจัดการทรัพยากรอย่างเป็นระบบ รวมถึงการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะผู้ผลิตที่ต้องใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติให้น้อยที่สุดและทำให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขณะที่ผู้บริโภคก็ต้องเลือกใช้สินค้าและบริการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้
“การจัดการขยะของ กทม. เน้นดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการลดการฝังกลบให้เหลือน้อยที่สุดและให้เป็นแนวทางสุดท้าย เนื่องจากเราพยายามลดขยะที่ต้นกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นการนำเศษอาหารและพืชผักผลไม้ไปทำปุ๋ย การส่งเสริมการคัดแยกขยะด้วยหลัก 3Rs ให้ครอบคลุม และการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลดปริมาณขยะไปได้อย่างมาก”
“แม้ว่าการจัดการขยะของ กทม. จะมีหลายชุมชนประสบความสำเร็จ แต่โมเดลเหล่านั้นกลับไม่ได้ขยายออกไปเพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันส่งเสริมให้คนตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ที่สำคัญภาครัฐต้องมีแนวทางดำเนินงานที่ชัดเจน ตลอดจนการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเชื่อมโยงให้การจัดการขยะเกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่ง กทม. จะร่วมทำงานอย่างบูรณาการ เพื่อสร้างโมเดลต้นแบบการจัดการขยะที่ต่อเนื่องระดับชาติต่อไป”
สร้างศูนย์กลางรับซื้อบรรจุภัณฑ์เก่าและใช้นวัตกรรมการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ “สินชัย” มองว่า การจัดการบรรจุภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ แก้ว พลาสติก หรือโลหะ ต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทาง และส่งต่อให้สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินงานของ TIPMSE เป็นความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ผู้แยกขยะ/รับซื้อของเก่า และโรงงานรีไซเคิล ในการสนับสนุน สร้างความรู้ความเข้าใจ และเชื่อมโยงให้เกิดวงจร CLP (Closed Loop Packaging) เพื่อให้การกำจัดขยะไม่ได้เป็นเพียงการทำลาย แต่เป็นการจัดการปัญหาที่ได้ผลตอบแทน
“การจะทำให้ CLP เกิดขึ้นจริงนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนด้วยโมเดลทางธุรกิจ ซึ่งอาจเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise - SE) ที่ให้ผู้สูงอายุเข้ามาร่วมดำเนินงาน โดยต้องมีศูนย์กลางรับบรรจุภัณฑ์หรือของที่ไม่ใช้แล้ว และต้องมีการเก็บข้อมูลปริมาณขยะทุกประเภทก่อน เพื่อหาความคุ้มทุนและแนวทางการขนส่ง จากนั้นควรหาพันธมิตรมาร่วมดำเนินการ โดยเฉพาะภาคเอกชนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้เริ่มทดลองในลพบุรีและนนทบุรีไปแล้ว”
“วิธีการนี้เป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาขยะได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญคือต้องมีพันธมิตรหลายภาคส่วนมาร่วมกัน โดยเปลี่ยนความคิดจาก “ภาระ” ให้เป็น “ภารกิจ” สร้างความตระหนักให้ประชาชน ด้วยการสร้างแรงจูงใจในการจัดการขยะ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปพร้อมกัน”
สอดคล้องกับ “ศักดิ์ชัย” ที่มองว่า เศษบรรจุภัณฑ์หรือพลาสติกมีคุณค่าทางเศษฐกิจอย่างมาก แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีการคัดแยกอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดการปนเปื้อนในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น โมเดลศูนย์กลางการรับซื้อขยะแบบซาเล้งจึงควรเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถนำพลาสติกเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่ได้
“พลาสติกอยู่ในบรรจุภัณฑ์เกือบทุกส่วนและยังจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของคน แต่เราควรลดการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-Use Plastic) ที่ก่อให้เกิดขยะจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา เอสซีจีในฐานะผู้ผลิตก็ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้พยายามคิดค้น วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับหลายหน่วยงานในการนำพลาสติกกลับไปรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด”
“ไม่เพียงเท่านี้ ในการผลิตสินค้าพลาสติกของเอสซีจี ยังได้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีความแข็งแรงทนทาน มีความบางแต่เหนียว สามารถทดแทนวัสดุธรรมชาติ ทั้งยังสามารถรีไซเคิลได้ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการลดปัญหาขยะจากต้นกำเนิด แต่สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ต้องตระหนักและเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย”
แนะใช้มาตรการเศรษฐศาสตร์รวมต้นทุนค่าจัดการสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ “เพชร” กล่าวว่า แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนสอดคล้องกับการจัดการปัญหาขยะ แต่จะทำอย่างไรให้ขยะลดลง เกิดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีขยะพลาสติกกว่า 8,000 ล้านตัน แต่สามารถนำมารีไซเคิลหรือใช้ใหม่ได้ไม่ถึง 10% ทำให้มีตกค้างในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก โดยเฉพาะในท้องทะเล จากการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ เน้นเทกองจนไหลลงทะเล ทำให้สัตว์ทะเลกว่า 700 ชนิดและปะการังได้รับผลกระทบ
“ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ปัจจุบันร่างกายมนุษย์มีไมโครพลาสติก (Micro Plastic) ที่เกิดจากการแตกตัวของพลาสติกในเสื้อผ้า ใยสังเคราะห์ ยางรถยนต์ หรือพลาสติกอื่นๆ ทำให้ปนเปื้อนในน้ำประปา รวมถึงเกลือสมุทร เบียร์ และน้ำดื่มบรรจุขวดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปัญหาพลาสติกเป็นวาระของโลก เนื่องจากส่งผลต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างน้อยปีละกว่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ”
“ดังนั้น การใช้พลาสติกโดยเฉพาะการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งจึงต้องมีการลดหรือเลิกใช้ ซึ่งจะต้องมีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาจัดการ และภาคส่วนต่างๆ ต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะผู้ผลิตต้องมีส่วนรับผิดชอบ และประชาชนทุกคนต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งอาจจะนำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาช่วย โดยเฉพาะการรวมต้นทุนการจัดการสิ่งแวดล้อมไปในผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการลดละตั้งแต่ต้นทาง และจะเป็นโอกาสให้ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมได้คิดค้นนวัตกรรมและออกแบบวัสดุใหม่ๆ ในอีกทางหนึ่งด้วย”
การจัดการขยะจึงไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะการจัดการที่ต้นทางและสร้างจิตสำนึกให้ผู้บริโภค เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและมีจิตสาธารณะร่วมกันในการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ได้ต่อไป
ด้วยความเชื่อว่า ไม่มีการสร้างใด จะยั่งยืนไปกว่าการสร้าง ‘คน’ มูลนิธิเอสซีจี จึงส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดทั้งด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ ต้นกล้าชุมชน ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เพื่อมุ่งสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญในการดูแล และพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิเอสซีจีได้สนับสนุนเบี้ยยังชีพ และค่าดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ให้แก่ต้นกล้าเป็นระยะเวลา 3 ปี และเชิญเครือข่ายนักพัฒนารุ่นพี่ผู้มากประสบการณ์ในพื้นที่ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะแนวทางการทำงาน ซึ่งปัจจุบันมีต้นกล้าชุมชนกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนั้น มูลนิธิฯ ยังได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพต้นกล้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขามาถ่ายทอดความรู้ให้กับต้นกล้า และจัดกิจกรรมศึกษาการทำงานชุมชนในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมประสบการณ์ พร้อมสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกัน
สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ มูลนิธิฯ ได้นำต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 2 และพี่เลี้ยง รวม 44 คน ลงพื้นที่ชุมชนศึกษาพื้นที่จังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ร่วมกับ Mr. Tadashi Uchida, President of International OVOP Exchange Committee และทีมงานจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งต้นกล้าและพี่เลี้ยง รวมถึงชุมชนต่างได้รับคำแนะนำ และแนวทางทางการแก้ไขปัญหา และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนจาก Mr. Tadashi Uchida ที่สามารถนำไปปรับใช้ด้วยการนำเสนอจุดแข็งของสินค้าผ่านการเล่าเรื่องที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างจุดเด่น อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสที่ต้นกล้าได้เชื่อมโยงเครือข่าย และเสริมสร้างการทำงานภาคสังคมที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ต้นกล้าชุมชนยังได้ศึกษาดูงานจากชุมชนบ้านใต้ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง และชุมชนโหล่งฮิมคาว อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงเยี่ยมชมตลาดประชารัฐของดีจังหวัด ณ ลานพุทธามหาชัย อ.แม่ทา จ.ลำพูน ที่เริ่มต้นขึ้นจากแรงผลักดันของพฤติพร จินา ต้นกล้าชุมชนหญิงรุ่นที่ 2 ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากครั้งที่มูลนิธิฯ พาไปเรียนรู้ที่โอย่าม่าแลนด์ ประเทศญี่ปุ่น
สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพต้นกล้าชุมชนว่า “มูลนิธิเอสซีจีตระหนักดีว่า ต้นกล้าชุมชนจะเติบโตและแข็งแรงได้นั้น ต้องได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม การจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพให้น้องๆ ต้นกล้า ทั้งการดูงานที่เมืองฮอกไกโด และเมืองโออิตะ เพื่อศึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OVOP (One Village One Product) หรือโอทอป และการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เช่น Mr. Tadashi Uchida และทีมงาน ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการขับเคลื่อนพัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนจากประเทศญี่ปุ่น มายังประเทศไทยเพื่อให้ความรู้กับน้องๆ ทำให้ต้นกล้าได้เปิดประสบการณ์ แนวคิด และมุมมองใหม่ๆ เพราะเราเชื่อว่าการได้สัมผัสประสบการณ์จริงย่อมมีคุณค่าและสร้างแรงแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ ต้นกล้า ตลอดจนพี่เลี้ยงได้นำกลับไปปรับใช้ตามความเหมาะสมของชุมชนตนเอง ถือเป็นเครื่องมือในการเสริมศักยภาพความเข้มแข็งอย่างสมดุลและยั่งยืน”
ด้าน Mr. Tadashi Uchida, President of International OVOP Exchange Committee กล่าวถึงการเดินทางมาในครั้งนี้ว่า “หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OVOP มีความใกล้เคียงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อย่างมาก คือ เริ่มจากการทำสิ่งเล็กๆ ง่ายๆ ที่สามารถทำด้วยตนเอง แล้วใส่พลังความคิดสร้างสรรค์และความพยายามอย่างต่อเนื่อง ทำงานอย่างกระตือรือร้น กล้าหาญ และมุ่งมั่น ผมเชื่อว่าน้องๆ ต้นกล้าสามารถทำได้แน่นอน ดังนั้น ภารกิจของพวกเราคือ ให้คำแนะนำ ความมั่นใจ และความหวังแก่น้องๆ ต้นกล้า พี่เลี้ยง และชุมชนที่เราไปเยี่ยมชม เพื่อให้เขาสามารถพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ โดยให้ความสำคัญกับคุณค่าของจิตใจมากกว่าคุณค่าของเงิน และเมื่อพวกเขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้ มีความภาคภูมิใจ และมีเกียรติ ก็จะส่งผลให้ชุมชนมีเสถียรภาพและความยั่งยืน ทำให้คนหนุ่มสาวไม่อยากละทิ้งบ้านไปทำงานในเมือง และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในชุมชน”
ต้นกล้าหญิง พฤติพร จินา ต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 2 เจ้าของโครงการสืบสานพันธุกรรมท้องถิ่นเพื่อความมั่นคงทางอาหาร จ.ลำพูน กล่าวถึงความประทับใจว่า “ได้พลังอย่างมากจากคำแนะนำของคุณอูชิดะ และพี่เลี้ยง ทุกคำติชมช่วยยืนยัน และเพิ่มความมั่นใจให้กับเราทุกคน ความทรงจำแบบนี้ให้แรงบันดาลใจมากกว่าการดูจากภาพ หรือการเล่าให้ฟัง การพาไปเจอและได้สัมผัสทำให้เราได้คิดทบทวนแล้วนำกลับไปปรับใช้ ถือเป็นโอกาสที่ดี ขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีมาก นับเป็นบันไดขั้นแรกในการต่อยอดสู่ความสำเร็จสำหรับการเริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์พัฒนาชุมชนต่อไป”
ด้านบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย นักพัฒนารุ่นพี่กล่าวเสริมว่า “ครั้งนี้ พี่ว่ามีความสมบูรณ์ คือเราได้ดูงานในพื้นที่จริง ทั้งร้านอาหาร กิ๊ฟท์ช้อป ร้านผักอินทรีย์ ทำให้น้องๆ ต้นกล้าที่ยังไม่เห็นภาพการทำงาน ยังมีความลังเล ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เธอทำได้ ฉันก็ต้องทำได้ การดูงานในพื้นที่จริง ทำให้เห็น ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ส่วนวิทยากรที่เดินทางมาจากญี่ปุ่น ช่วยให้พวกเราได้รับคำแนะนำดีๆ หลายเรื่อง อย่างเรื่องสินค้าที่ดีและมีคุณภาพต้องมีอะไรบ้าง การอธิบายเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบที่ตลาดต้องการ หลักการตลาด สิ่งที่พี่ชอบมาก คือ การตลาดที่ดีที่สุด คือ ปากต่อปาก บางทีเราละเลยไป ทำอย่างไรให้คนมาเห็นแล้วพูดถึง คิดถึง พี่ว่ากิจกรรมครั้งนี้มีประโยชน์ ถือเป็นคุณูปการแก่นักพัฒนารุ่นใหม่อย่างแท้จริง”
มูลนิธิเอสซีจีภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ เพราะไม่ใช่เพียงต้นกล้าเหล่านี้จะมีอาชีพเป็นของตัวเอง แต่ยังสามารถสร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้คนในชุมชน ได้ทำงานในบ้านเกิด ส่งผลให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่ละทิ้งรากเหง้าและวิถีชีวิตอันงดงามของตัวเอง มูลนิธิฯ หวังว่าโครงการต้นกล้าชุมชนจะจุดประกายให้เมล็ดพันธุ์นักพัฒนารุ่นใหม่ได้เติบโต หยั่งราก และตั้งมั่น รับใช้บ้านเกิดของตนเองต่อไป
มูลนิธิเอสซีจี “เชื่อมั่นในคุณค่าของคน”