January 22, 2025

Industrial Linkage

November 15, 2019 3329

ท่ามกลางกระแสการแข่งขันทางอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ด้านต่างๆ ทั้งภายในประเทศและนานาชาติ คำถามสำคัญอันหนึ่งที่มักถูกตั้งคำถามขึ้นคือ “บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นมีความสำคัญขนาดไหน”

ประสบการณ์จากนานาประเทศในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นตัวบ่งชี้บทบาทของมหาวิทยาลัยในหลายแง่มุม

ประการแรกสถานศึกษาเป็นผู้กำหนดระดับของการศึกษาและประเภทของการศึกษา โดยแบ่งออกเป็นสามระดับคือ ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ประการที่สองสถานศึกษาเป็นผู้คัดเลือกคัดกรองบุคลากรให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรม และประการที่สาม บทบาทของมหาวิทยาลัยนั้นเป็นได้ทั้งการเผยแพร่องค์ความรู้เน้นการประยุกต์ใช้และบทบาทของการผลิตองค์ความรู้ใหม่ และประการสุดท้ายคือมหาวิทยาลัยนั้นมหาวิทยาลัยผลิตองค์ความรู้ได้ทั้งในระดับพื้นฐานและระดับที่นำองค์ความรู้พื้นฐานมาใช้งาน

มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกในประเทศที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงนั้นสามารถมีบทบาทได้หลากหลาย ในสี่ประการที่กล่าวมารวมถึงสามารถปรับเปลี่ยนบทบาทหลักให้เข้ากับบริบทการพัฒนาของอุตสาหกรรมในประเทศตนเองได้

บทบาทแรกของมหาวิทยาลัยคือการให้การศึกษา ซึ่งไม่ได้สำคัญที่ระดับการศึกษาตรี โท หรือเอก แต่เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งที่สอนให้นิสิตนักศึกษารู้​

หน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีแบบแรกคือ “ผลิตบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์” โดยเน้นความรู้ทั่วไปทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มากกว่าที่จะต้องเน้นเจาะไปเฉพาะทาง ดังเช่นประเทศญี่ปุ่น หรืออินเดีย ความต้องการจำนวนมากของบริษัทที่จ้างงานบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ จะเน้นที่ทักษะและองค์ความรู้พื้นฐานที่ถูกต้องและแม่นยำ โดยอุตสาหกรรมจะนำไปฝึกอบรมต่อยอดเองเป็นส่วนใหญ่

ในขณะที่บางมหาวิทยาลัยเลือกที่จะผลิตบัณฑิตรองรับสาขาวิชาใหม่ๆ ซึ่งในบางประเทศมีความต้องการการผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถเฉพาะทาง ถูกปรับให้เข้ากับความต้องการของอุตสาหกรรมโดยตรง ซึ่งเหมาะกับ ประเทศที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ที่ใช้องค์ความรู้ใหม่ที่มีอัตราการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงของศาสตร์สูง อย่างเช่น คอมพิวเตอร์เป็นต้น โดยเฉพาะในประเทศที่จะหันมาจับอุตสาหกรรมลักษณะนี้เป็นหลักอย่างประเทศไอร์แลนด์เป็นต้น มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมไอทีที่ก้าวกระโดดเป็นลำดับ

บทบาทอีกรูปแบบของมหาวิทยาลัยคือเน้นการอบรมทักษะในการทำวิจัย (ปริญญาโทและเอก) ซึ่งปัจจัยหลักของการประสบความสำเร็จของอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีคือ องค์ความรู้จากการวิจัยคือหัวใจของความสำเร็จ ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนคือประเทศสหรัฐอเมริกามีสถาบันการศึกษาที่สามารถผลิตนักวิจัยให้กับอุตสาหกรรมไอทีอย่างซิลิคอนวัลเลย์ และมีภาพสะท้อนชัดเจนถึงอัตราการผลิตผลงานวิจัยในสาขาที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และอัตราการผลิตมหาบัณฑิตที่สามารถวิจัยในสาขาเดียวกันกับอุตสาหกรรมหลักของประเทศ อย่างไรก็ตามในบางประเทศอย่างญี่ปุ่น ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า อัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นของงานวิจัย กับ ความสามารถในการผลิตงานวิจัยนั้นเติบโตไปด้วยกัน เพราะงานวิจัยสามารถผลิตจากสถาบันวิจัย ในขณะที่จำนวนนักวิจัยนั้นขึ้นกับความสามารถในการสร้างมหาบัณฑิตที่ทำวิจัยได้ของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก

ประการที่สองของบทบาทของมหาวิทยาลัยคือการคัดเลือกบุคลากรเข้าสู้อุตสาหกรรม กระบวนการคัดเลือกคัดกรองบุคลากรเข้าสู้มหาวิทยาลัยในสาขาวิชาที่สัมพันธ์กับอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีย่อมเป็นต้นน้ำที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการรับสมัครบุคลากรเข้าทำงานในองค์กร ประเทศที่ถือว่าประสบความสำเร็จในการคัดเลือกคนเข้าสู้การศึกษาและอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีคือญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งแม้ระบบการแข่งขันสอบเข้านี้จะประสบความสำเร็จในสองประเทศ แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมาเช่นปัญหาสมองไหล เนื่องจากการแข่งขันที่สูง เช่นประเทศไต้หวัน อินเดีย หรือจีน ที่มีคนย้ายงานไปทำต่างประเทศจากค่านิยมที่เกิดจากการแข่งขันเข้าศึกษาในสาขาที่คะแนนสูง ทำให้สิ่งที่ตามมาเกิดลักษณะของธุรกิจที่เกิดจากผู้ประกอบการใหม่ขนาดย่อมและการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน ทำให้การเกิดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทางเทคโนโลยีนั้นเป็นไปได้ยาก

ประการต่อมามหาวิทยาลัยมีบทบาทในวิจัยประยุกต์หรือเผยแพร่งานวิจัยเดิมในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ไทย มหาวิทยาลัยมักเน้นที่การสอนเป็นหลักโดยมีการพัฒนาส่งเสริมให้มีการทำวิจัยควบคู่กันไป โดยงานวิจัยมักไม่ใช่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการนำองค์ความรู้ทางงานวิจัยไปต่อยอดเผยแพร่

บางสถาบันหรือมหาวิทยาลัยเน้นงานวิจัยประยุกต์ โดยเน้นการสร้างคิดค้นใช้งานงานวิจัยหรือเทคโนโลยีก่อนหน้า เช่นในประเทศไต้หวัน มีการสร้างอุตสาหกรรมจากสถาบันวิจัยเฉพาะทางซึ่งมีหน้าที่ช่วยอัปเกรดความสามารถทางเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมเฉพาะด้านนั้นโดยตรง โดยจัดให้เป็นพันธกิจหลักของสถาบันวิจัยของรัฐที่จะต้องทำวิจัยประยุกต์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมของประเทศ ในขณะที่มหาวิทยาลัยจะทำวิจัยทั้งสองรูปแบบคือแนวประยุกต์หรือผลิตองค์ความรู้ก็ได้ ขึ้นกับบริบทหรือความพร้อมของแต่ละมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับ เกาหลีและอินเดีย สถาบันวิจัย มีบทบาทสำคัญในการผลิตงานวิจัยประยุกต์เพื่ออุตสาหกรรมในประเทศ ในขณะที่มหาวิทยาลัยในจีนซึ่งมีความเข้มแข็งด้านงานวิจัยประยุกต์สำหรับท้องถิ่นอยู่แล้ว กลับมีความพยายามเพิ่มงานวิจัยพื้นฐานขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สำหรับมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นงานวิจัยจะเน้นด้านการเผยแพร่หรือถ่ายทอดงานวิจัยเชิงลึกทางด้านวิทยาศาสตร์ ให้กับบริษัทหรืออุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูงสามารถนำไป ใช้งานได้

บทบาทที่สี่ในด้านผลิตองค์ความรู้หรือทำวิจัยพื้นฐาน จะพบมากในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ที่พัฒนาควบคู่กับการเกิดของอุตสาหกรรมไฮเทคด้านหนึ่งด้านใดโดยเฉพาะ โดยการผลิตงานวิจัยพื้นฐานในอเมริกามักมีความเกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรมในขณะเดียวกัน ต่างจากมหาวิทยาลัยที่ผลิตงานวิจัยพื้นฐานที่อื่นในโลก เช่นในวงการไบโอเทคโนโลยีของอเมริกา มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากในระดับสุดยอดด้านงานวิจัยพื้นฐานที่ยังคงคำนึงถึงหัวข้อวิจัยที่สามารถประยุกต์ไปใช้งานได้จริง โดยมีการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมในประเทศในการสร้างโจทย์วิจัยตลอดจนเผยแพร่ผลงานวิจัยองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับอุตสาหกรรมนำไปสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ โดยมีทั้งมหาวิทยาลัยที่เน้นด้านงานวิจัยพื้นฐาน ต่างกับในบางประเทศที่มีการสนับสนุนงานวิจัยทั้งสองรูปแบบคือพื้นฐานและประยุกต์ในอัตราส่วนเท่าๆ กัน

​​

นอกเหนือจากนั้นลักษณะความร่วมมือของมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรมสามารถเป็นได้หลายรูปแบบเช่น นำผลงานวิจัยไปสร้างนวัตกรรมใหม่, มีการจ้างทำวิจัย, การขายลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตร, การบริการที่ปรึกษาด้านงานวิจัย, การประชุมสัมมนา, การสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละรูปแบบจะเป็นตัวผลักดันบทบาทของมหาวิทยาลัย ทางด้านงานวิจัยที่ต่างกัน เช่น มหาวิทยาลัยที่มี การนำผลงานวิจัยไปให้อุตสาหกรรมสร้างนวัตกรรมในลักษณะ ที่เรียกว่าสปินออฟ หรือแยกออกไปสร้างภายนอกมหาวิทยาลัย มักจะเกิดจากสภาพที่อุตสาหกรรมมีเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ที่ต่างกัน มีช่องว่างทางองค์ความรู้ที่อุตสาหกรรมต้องพึ่งพาจากมหาวิทยาลัย เช่น อุตสาหกรรมไอทีในจีน หรือ อุตสาหกรรมด้านไบโอเทคโนโลยีในอเมริกา โดยเฉพาะช่วงเริ่มก่อนตั้งอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะมีผลจากการขาดแคลนแรงงานเฉพาะด้านจากการแข่งขันไปกระจุกตัวของบุคลากรที่มีความสามารถสูงในบางมหาวิทยาลัย

ในขณะที่การถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือการซื้อขายสิทธิบัตรเป็นอีกความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรมที่เกิดในหลายประเทศ ซึ่งปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่ความสามารถในการผลักดันให้อุตสาหกรรมนำ องค์ความรู้ที่จดลิขสิทธิ์ได้ไปต่อยอดได้หรือไม่ ในกรณีของอเมริกา รัฐบาลมีการลงทุนให้มหาวิทยาลัย จดลิขสิทธิ์จำนวนมากโดยควบคุมทิศทางให้อุตสาหกรรมสามารถนำสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์นี้นำไปต่อยอดได้จนก่อเกิดรายได้ส่งคืนสู่รัฐในที่สุด

ซึ่งเรื่องของลิขสิทธิ์นี้เองกลับเป็นดาบสองคมในประเทศกำลังพัฒนาที่มักมองการจดจองไอเดียว่าเป็นการปิดกั้น และมักมองข้ามการพัฒนาองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นจริง สามารถลอกเลียนหรือพัฒนาขึ้นเองในบริษัท ทำให้เกิดปัญหาระยะยาวของสิ่งที่เรียกว่าสมองไหลของนักวิจัยที่มีความสามารถ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมไฮเทคทั้งหลายจนกลายเป็นเพียงแค่ตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมไฮเทคที่ขาดแคลนบุคลากรระดับสูงไปโดยปริยาย เช่น อุตสาหกรรมไอทีในประเทศที่กำลังพัฒนา เป็นต้น


เรื่อง : ดร.พิษณุ คนองชัยยศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 182 November - December 2014

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Friday, 15 November 2019 10:24
X

Right Click

No right click