อุตสาหกรรม และรวมไปถึงการให้บริการของรัฐด้วย หลายคนสับสนว่า Bitcoin คือ Blockchain หรือ Blockchain คือ Bitcoin เราสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง Blockchain กับ Bitcoin ได้ว่ามันคือความแตกต่างระหว่าง Internet กับ email นั่นเอง นั่นคือ Blockchain เป็นเทคโนโลยี ขณะที่ Bitcoin เป็นหนึ่งใน Applications ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain ณ เวลาที่เขียนบทความในปี 2019 ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมองว่าน่าจะเป็นขาลงของ Bitcoin แต่สำหรับเทคโนโลยี Blockchain นั้นผมมองว่าเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น
Blockchain คืออะไร Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ Peer to Peer Network โดยข้อมูลจะถูกจัดเก็บในรูปแบบ Block ในแต่ละเครื่องในเครือข่าย
ข้อมูลจากถูกเข้ารหัสและแปลงเป็น Hash สำหรับ Hash อาจเปรียบได้เหมือนลายนิ้วมือของแต่ละคนที่แตกต่างกัน จากตัวอย่างดังกล่าวข้อความ “Hello World” ถูกเข้ารหัสเป็น Hash รหัส 4D56E1F05 ถ้าสมมุติว่าเราเปลี่ยนข้อมูลจาก “Hello World” เป็น “Hello Worlds” ค่า Hash ก็จะเปลี่ยนไปด้วย (เช่นอาจเปลี่ยนไปเป็น 3F33320E เป็นต้น) โดยเราสามารถคำนวณข้อมูลแปลงเป็น Hash แต่เราไม่สามารถคำนวณ Hash กลับมาเป็นข้อมูลได้ สำหรับ Blockchain คือการเชื่อมโยงของ Blockต่างๆ เข้าด้วยกันเหมือนโซ่
โดยในแต่ละ Block ถูกเชื่อมโยงด้วย Hash ก่อนหน้านั้น ถ้ามีการแก้ไขข้อมูลก็จะทำให้ค่าของ Hash เปลี่ยนไปด้วย ถ้าค่าของ Hash มีการเปลี่ยนแปลงก็จะส่งผลให้ Block ต่อๆ ไปต้องมีการเปลี่ยนแปลงค่า Hash ด้วย
นั่นคือถ้ามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งใน Blockchain เครือข่ายก็จะทำการตรวจสอบไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ต่างๆ ในเครือข่ายว่าตรงกับ Blockchain ของเครื่องส่วนใหญ่หรือไม่ ถ้าไม่ตรงข้อมูลนั้นก็จะถูกเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง กฎเกณฑ์นี้เรียกว่า Consensus Protocol นั่นคือถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลใน Blockchain อาชญากรต้องเปลี่ยน Blockchain ในทุกๆ เครื่องในระบบเครือข่ายนั่นเอง สำหรับการทำเหมือง (Mining) คือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย Blockchain เพื่อทำการประมวลผลข้อมูลให้เข้าไปใน Blockchain
อะไรคือสิ่งที่ทำให้หลายคนค่อนข้างตื่นเต้นกับเทคโนโลยี Blockchain เป็นอย่างมาก เพราะ Blockchain จะเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ตัดธุรกิจหรือหน่วยงานที่เคยเป็นตัวกลางออกไป ไม่ว่าตัวกลางเหล่านั้นจะเป็นองค์กรธุรกิจ หน่วยงานของรัฐบาล หรือ Platform ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีการเกิดขึ้นของ Cryptocurrency ที่เข้าไปทำการตัดตัวกลางคือธนาคาร ส่งผลให้มีต้นทุนที่ต่ำ อันมาจากค่าใช้จ่ายที่เราเคยต้องจ่ายให้กับตัวกลางหายไปนั่นเอง
ถามว่าต้นทุนในการทำธุรกิจอะไรบ้างที่ Blockchain สามารถลดได้ คำตอบคือมีสองประเภทของต้นทุนที่ลดได้อย่างมากคือ 1. ต้นทุนในการตรวจสอบ (Cost of Verification) และ 2. ต้นทุนของระบบเครือข่าย (Cost of Networking)
ต้นทุนในการตรวจสอบ (Cost of Verification) คือต้นทุนที่ตัวกลาง (middleman) ต้องใช้ไปในการตรวจสอบการทำธุรกรรม เช่นเวลาที่ต้องมีการโอนเงินระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ผู้ซื้อกับผู้ขายจะไม่ทำธุรกรรมกันโดยตรงเพราะไม่เชื่อใจกันและกัน แต่ต้องการทำผ่านทางธนาคาร ทางธนาคารที่เป็นตัวกลางต้องมีการตรวจสอบบัญชีธนาคารของผู้ซื้อว่ามีเงินเพียงพอหรือไม่ การโอนเงินจะทำผ่านตัวกลางคือธนาคารและสถาบันการเงินเช่นบริษัทเครดิตการ์ดเป็นต้น หรือกรณีของ Airbnb ที่เป็นตัวกลางระหว่าง Host (เจ้าของบ้าน) และ Guest (แขกที่มาพัก) Airbnb ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการบริหารการทำธุรกรรมระหว่าง Host และ Guest รวมถึงการบริหารชื่อเสียง (Reputation) ผ่านทางระบบ Review ค่าใช้จ่ายที่ตัวกลางใช้ในการตรวจสอบ ส่งผลต่อต้นทุนที่ลูกค้าต้องจ่ายให้กับตัวกลางในรูปแบบค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม (Commission Fee) ค่าใช้จ่ายนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ซื้อและผู้ขายต้องจ่ายให้กับตัวกลาง ไม่ว่าตัวกลางจะเป็น ธนาคาร สถาบันการเงิน Uber Airbnb Agoda Expedia Ebay และ อื่นๆ นอกจากนี้การทำธุรกรรมผ่านตัวกลางยังส่งผลต่อความปลอดภัยในข้อมูลอีกด้วย เพราะผู้ซื้อและผู้ขายต้องส่งข้อมูลของตนเองให้กับตัวกลาง ข้อมูลบางอย่างอาจไม่จำเป็นต้องใช้ในการทำธุรกรรม เช่น วันเดือนปีเกิด หมายเลขบัตรประชาชน ที่อยู่ ข้อมูลเหล่านี้ผู้ซื้อและขายยังจำเป็นต้องเปิดเผยให้กับตัวกลางด้วย เทคโนโลยี Blockchain ทำให้ข้อมูลแทนที่จะเก็บที่ตัวกลางแต่กระจายข้อมูลเหล่านั้นไปยังเครื่องต่างๆ ในเครือข่าย ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด โดยเปิดเผยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อการทำธุรกรรมเท่านั้น ค่าใช้จ่ายจากเดิมที่ต้องจ่ายให้กับตัวกลางในการตรวจสอบก็หมดไป เพราะการตรวจสอบเป็นการตรวจสอบกันเองระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ (nodes) ต่างๆ ในเครือข่าย นอกจากนี้กระบวนการตรวจสอบยังสามารถทำได้โดยอัตโนมัติผ่านทาง Smart Contract โดยไม่ต้องมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องนอกจากนี้ Blockchain ยังส่งผลต่อความปลอดภัยที่สูงขึ้นเพราะแทนที่ข้อมูลจะถูกจัดเก็บในที่ใดที่หนึ่ง แต่ข้อมูลนั้นๆ ถูกกระจายไปจัดเก็บในทุกๆ เครื่อง (node) ในระบบเครือข่าย ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บใน Blockchain ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อใดก็ตามที่ข้อมูลถูกบันทึกลงไปใน Blockchain ถ้าข้อมูลนั้น ๆ ถูกเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้ข้อมูลที่อยู่ใน Block ต่อๆ ไปถูกเปลี่ยนแปลงและนอกจากนี้ทำให้ข้อมูลไม่ตรงกับข้อมูลใน Blockchain ในเครื่องอื่น ๆ ในเครือข่าย จึงทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะข้อมูลจากทุกๆ เครื่อง (nodes) ในเครือข่ายมีการเชื่อมต่อและตรวจเช็กกันตลอดเวลา
ต้นทุนของระบบเครือข่าย (Cost of Networking) ซึ่งเป็นต้นทุนในการติดตั้งและบริหารระบบเครือข่าย ในการทำธุรกรรมแบบดั้งเดิมคือเป็นการประมวลผลจากตัวกลาง ตัวกลางต้องเป็นการลงทุนเครือข่ายที่ใช้ในการให้บริการและการตรวจสอบ ข้อจำกัดในระบบที่มีตัวกลางคือประสิทธิภาพของเครือข่ายขึ้นอยู่กับตัวกลางที่ต้องมีการบริหารจัดการควบคุมเครือข่ายเองทั้งหมด ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ทุกๆ คนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลและประมวลผล แทนที่จะให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งบริหารระบบเครือข่าย ใน Blockchain ทุกๆ คนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายได้ อย่างไรก็ตาม เครือข่าย Blockchain มีอยู่สองประเภทคือ 1. Permisionless หรือ Public Blockchains และ 2. Permissioned หรือ Private Blockchains สำหรับ Permisionless Blockchain เป็นเครือข่าย Blockchain ที่ทุกๆ คนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายได้ ตัวอย่างเช่น Bitcoin แต่ Permissioned Blockchain เป็นเครือข่าย Blockchain ที่ปิด หรือบุคคลอื่นๆ ไม่สามารถเข้าร่วมเครือข่ายได้ ต้นทุนของระบบเครือข่าย (Cost of Networking) ที่ผมได้กล่าวถึงสามารถลดได้เฉพาะ Permisionless หรือ Public Blockchains เท่านั้น สำหรับ Permissioned Blockchain จะลดได้เฉพาะ Cost of Verification เท่านั้น
ถ้าถามว่าธุรกิจอะไรบ้างที่ Blockchain จะเข้าไปเปลี่ยนแปลง ผมมองว่าธุรกิจที่มีตัวกลางอาทิเช่น การเงินการธนาคาร ธุรกิจสื่อ ธุรกิจท่องเที่ยว การศึกษา โรงพยาบาล เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ระบบการทำงานของรัฐบาล หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้ง ตัวอย่างเช่นประเทศเอสโตเนียได้นำ Blockchain มาใช้ในกระบวนการเลือกตั้ง ที่นอกจากทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยังส่งผลต่อความโปร่งใสที่ดีขึ้น เพราะทุกๆ คนสามารถตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ ได้ใน Blockchain
บรรณานุกรม
- Catalini, C. and J. S. Gans (2016) . Some simple economics of the blockchain, National Bureau of Economic Research.
- Ponteves, H. d. and K. Eremenko (2019) . Blockchain A-Z, udemy.com.
เรื่อง : รองศาสตราจารย์ พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)