SCB WEALTH เปิดสินทรัพย์การลงทุน แม้ปีนี้เต็มไปด้วยความท้าทายจากเศรษฐกิจที่ผันผวนด้วยปัจจัยต่างๆที่กดดันตลาด สินทรัพย์ด้านการลงทุนของ SCB WEALTH ยังเติบโตกว่า 7% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมที่โต 4% ด้านสินเชี่อ Wealth Lending เติบโตกว่า 70% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตั้งเป้าหมายใน3 ปีข้างหน้า มุ่งครองอันดับหนึ่งใน3แกนหลัก ได้แก่ 1) เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า 2) ผู้นำด้านสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการ และ 3) ผู้นำการบริหารภาพรวมพอร์ตโฟลิโอสร้างผลตอบแทนให้ยั่งยืนแก่ลูกค้าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้าน SCB CIO แนะปีหน้าให้ระมัดระวังการลงทุน ควรแบ่งเงินลงทุนในต่างประเทศ จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าไทย เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง ทยอยลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ Investment Grade ส่วนตลาดหุ้น ทยอยสะสมหุ้นกลุ่ม Quality Growth เช่น 7 บริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปมากที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐ ญี่ปุ่น และ อินเดีย หุ้นไทย มีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่ได้แรงหนุนจากการส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นภาครัฐฯ ท่ามกลาง Valuation ที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมนำAIวิเคราะห์ข้อมูลเสนอผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าและยกระดับ WPlan แพลตฟอร์มดูแลความมั่งคั่งแบบครบวงจร InnovestXมองเศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัว3-4% ดัชนีหุ้นไทยพุ่งแตะ1,750 จุด

ดร. ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ WEALTH ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่มีความท้าทายท่ามกลางภาวะการลงทุนในตลาดโลกที่มีความผันผวนตลอดปี ทั้งในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งสงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะลุกลามหรือยืดเยื้อนานเท่าใด แต่ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง SCB WEATH ยังคงมุ่งมั่นปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อตอบโจทย์การลงทุนให้แก่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้า Wealth และลูกค้าที่มีศักยภาพที่จะเป็น Wealth อยู่มากกว่า 1 ล้านคน ด้วยความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำตลาด ได้มีการคัดสรรและนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบ

โจทย์ตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา ที่มีทั้งโอกาสและความท้าทาย เช่น ผลิตภัณฑ์การลงทุนในสกุลเงินดอลล่าร์ ในกลุ่มตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำระยะสั้นหรือกองทุนกลุ่มตราสารตลาดเงิน (Money Market) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ Capped Floored Floater Note หรือ Callable Note เป็นต้น สำหรับผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนและสามารถรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือ ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ไม่ผันผวนจนเกินไปและให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจในภาวะดอกเบี้ยสูง เช่น กองทุนตราสารหนี้ประเภทกำหนดอายุโครงการ (Term Fund) ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ทำให้สินทรัพย์การลงทุนภายใต้การบริหารจัดการของกลุ่มลูกค้า SCB WEALTH เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 7% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 4%

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีความพร้อมในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกัน และสินเชื่อเพื่อต่อยอดความมั่งคั่ง (Wealth Lending ประเภท Property Backed Loan และ Lombard Loan) ที่มียอดสินเชื่อเติบโตขึ้นมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน Regular Unit-linked ยังครองอันดับ 1 ในตลาดประกันผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) เป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% ในปีนี้ และธนาคารยังคงมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนในการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งผลการดำเนินงานที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่า รายได้จากกลุ่มธุรกิจ Wealth ในปี2566 จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ในปีนี้ SCB WEALTH ยังคว้ารางวัลได้สูงถึง 11 รางวัลระดับโลก เป็นรางวัลที่โดดเด่นในการเป็น Digital Banking ที่มีความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม และแพลตฟอร์มอัจฉริยะ มีการนำData มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลการลงทุน และดูแลพอร์ตลูกค้าที่ออกแบบเป็นพิเศษให้เฉพาะลูกค้าแต่ละราย ซึ่งสามารถการันตีความเป็น "Digital Wealth with Human Touch" ได้อย่างแท้จริง

SCB Wealth มีเป้าหมายที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า และธนาคารวางเป้าหมายในการเป็น “ดิจิทัลแบงก์อันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง” จะเป็น Thought partners ที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าและจะอยู่กับลูกค้าทุกช่วงจังหวะการลงทุนอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ได้ตั้งเป้าหมายในการสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า ใน 3 ปีข้างหน้าไว้ดังนี้ คือ 1) เป็นอันดับหนึ่งในใจลูกค้าด้วยการส่งมอบประสบการณ์การบริหารความมั่งคั่ง ภายใต้กลยุทธ์ Digital Wealth with Human Touch 2) ผู้นำอันดับหนึ่งสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการในเชิงของผู้ให้คำปรึกษา (Advisory) เพื่อนำมาซึ่งการได้รับความไว้วางใจและเพื่อเป็น Main Wealth Bank ของลูกค้า และ 3) ผู้นำในการบริหารภาพรวมพอร์ตโฟลิโอเพื่อก้าวข้ามทุกความท้าทายและสร้างผลลัพธ์ด้านผลตอบแทนให้แก่ลูกค้าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2566 นี้เป็นปีแห่งความผันผวน เริ่มต้นปีด้วยความกังวลเศรษฐกิจถดถอย มาสู่ปลายปีด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวแบบจัดการได้ ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงและค้างนาน (Higher for longer) กำลังนำไปสู่ความคาดหวังว่าธนาคารกลางหลักจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย (Rate pause expectation) ส่วนประเด็นสงคราม ก็ยังมีทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ขณะที่การไหลออกของเงินทุนจากตลาดไทยไปต่างประเทศยังคงมีอยู่และความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งส่งผลให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ชัดเจน และล่าช้าออกไป

ปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่เศรษฐกิจปี2567ที่มีแนวโน้มชะลอตัวไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ (Uneven slowdown) ทำให้นักลงทุนคาดหวังเห็นการปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ส่วนความเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ ภาวะ Stagflation หรือ เศรษฐกิจเติบโตช้า แต่เงินเฟ้อสูง, ธุรกิจที่มีหนี้ใกล้ครบกำหนดจำนวนมาก อาจมีความเสี่ยงที่ต้องกู้ยืมใหม่ (rollover) ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาก, ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งในประเทศหลักๆ ที่จะทำให้ตลาดการลงทุนมีความผันผวน และสภาพคล่องทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงจากการใช้นโยบายดูดเงินในระบบกลับออกมา (Quantitative Tightening : QT)

ด้วยเหตุผลนี้ เราแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุน แบ่งเงินลงทุนในต่างประเทศ ที่มีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าไทย โดยควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็น การทยอยลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้คุณภาพสูง (Investment Grade) หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (High Yield) ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้น ควรทยอยสะสมหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่มีงบดุลที่แข็งแกร่ง มีกำไรเติบโตสม่ำเสมอ สามารถรองรับธุรกิจชะลอตัว และรักษาอัตรากำไรได้ดี เช่น 7 บริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) มากที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนตลาดหุ้นอื่นที่แนะนำ ได้แก่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และ อินเดีย ขณะที่ ตลาดหุ้นไทย มีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่ได้แรงหนุนจากการส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นภาครัฐฯ ท่ามกลาง Valuation ที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม

พอร์ตลงทุนที่แนะนำเพื่อคาดหวังผลตอบแทน 7-10% กรณีเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealth) รับความเสี่ยงได้สูง เข้าใจผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน คือ แบ่งเงิน 15% ไว้ในบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (FCD) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือเลือกรับผลตอบแทนระหว่างรอแลกอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องการ ด้วยผลิตภัณฑ์ Dual Currency Note Pricing (DCI) ที่ให้ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนที่ลูกค้าต้องการ เลือกลงทุนตราสารหนี้ 15% เน้นตราสารหนี้ระยะยาว ลงทุนในหุ้น 30% ทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่เป็นกลุ่มคุณภาพ เติบโตสูง โดยควรมีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสร้างผลบวกด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในพอร์ตด้วย พร้อมกันนี้ควรลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ Capped Floored Floater Noted ที่จำกัดผลตอบแทนต่ำสุด แลกกับการจำกัดผลตอบแทนสูงสุด 10% หุ้นกู้อนุพันธ์อื่นๆ 10% สินทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Asset) 10% และสินค้าโภคภัณฑ์อีก 10% เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนต่างๆ

ด้านการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการลงทุนให้ลูกค้า ในส่วนของ SCB Easy เราได้นำเสนอบริการ Wealth4U โดยมีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI)มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์กองทุนที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าแต่ละบุคคล พร้อมเปรียบเทียบทางเลือกการลงทุนที่ลูกค้าสนใจ เพื่อแนะนำทางเลือกที่ดีที่สุดให้ลูกค้า นอกจากนี้ เรายังพัฒนาบัญชีหุ้นกู้ SCB Easy-D ซึ่งสามารถเสนอขายครั้งแรก (IPO) ให้บุคคลธรรมดาบนสมาร์ทโฟน และรับฝากหุ้นกู้ผ่านช่องทางดิจิทัลแบบ 100% พร้อมกันนี้ เรายังเป็นธนาคารที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สามารถเสนอขายพันธบัตรรัฐบาลกับนักลงทุนผ่านแพลตฟอร์ม และสามารถซื้อขายกองทุนรวมจากหลากหลาย บลจ. ได้

ไม่เพียงเท่านี้เรายังมีแผนยกระดับ wPlan แพลตฟอร์มสำหรับให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลลูกค้าใช้งาน ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) การนำเสนอโซลูชันดูแลความมั่งคั่งของลูกค้าแบบครบวงจรในแบบเฉพาะบุคคล เช่น การทำ Portfolio Allocation ออกแบบการจัดสรรสัดส่วนสินทรัพย์ในพอร์ตลงทุนตามแต่ระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล 2) การพัฒนาความสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละบุคคลมากขึ้น 3) การเพิ่มขีดความสามารถในการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนจากช่องทางการลงทุนที่หลากหลาย (Omni-Channel) ให้ลูกค้าแบบไร้รอยต่อ และ 4) การยกระดับควบคุมระดับความเสี่ยงให้เหมาะสมกับลูกค้า ควบคู่กับการมี 2 ช่องทางดิจิทัล ให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลการลงทุนได้สะดวกและง่าย ในการเรียกดู Statement การลงทุนได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านแพลตฟอร์ม WealthDIY และ Line โดย SCB WEALTH ซึ่งในอนาคตจะมีการยกระดับขีดความสามารถของ Line SCB WEALTH ให้ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละท่านมากขึ้นและสามารถรับสิทธิพิเศษเหนือระดับต่างๆ สำหรับลูกค้า Wealth ของธนาคารได้ผ่านช่องทางนี้

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (INVX) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในปี 2024 ยังคงมีความผันผวนแต่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าปี 2023 เนื่องจากระดับ SET Index ในปัจจุบัน ถือว่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน (undervalue) โดยคาดว่า ตลาดยังมีความผันผวนสูงในช่วงครึ่งปีแรก และ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยประเมินเป้าหมาย SET Index ณ สิ้นปี 2024 อยู่ที่ประมาณ 1,750 จุด

ปัจจัยที่คาดว่าจะสร้างความผันผวนให้กับตลาด ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่รุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะปี 2024 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันและ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึง ความรุนแรงที่

เกิดขึ้นในรัสเซีย-ยูเครน และ อิสราเอล-ฮามาส ซึ่งมีความเสี่ยงกระทบต่อราคาอาหารและพลังงานให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ความแปรปรวนของภูมิอากาศโลกและปรากฏการณ์เอลนีโญในประเทศไทยมีโอกาสสร้างผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ในขณะที่ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอย เป็นปัจจัยที่ตลาดมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบไม่รุนแรงมากเป็นเพียง Soft Landing หรือ Mild Recession ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯมีโอกาสปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังปี 2024 ช่วยสร้างโอกาสให้เงินทุนต่างชาติไหลกลับมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ จากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่า

ส่วนปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทย มาจากปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน เนื่องจาก คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นและกลับมาลงทุนเพิ่ม แม้ว่าจะยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน Digital wallet อยู่บ้างก็ตาม เนื่องจากโดยภาพรวมคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3-4% สูงกว่าปี 2023 ที่ขยายตัวต่ำกว่า 3% ในขณะเดียวกัน คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนจะขยายตัวได้ 10-15% ซึ่งถือว่าดีกว่าปี 2023 ที่ชะลอตัว 10%

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนในปี 2024 แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) กลุ่มที่ผลการดำเนินงานเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มการแพทย์ กลุ่มขนส่ง 2) กลุ่มที่ราคาลดลงจากการที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่ง ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้า และ REIT/IFF 3) หุ้นที่ได้ ESG Score สูง ระดับ AAA จาก SET แต่ราคาลดลงมามาก

นอกจากนี้ INVX มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาให้บริการนักลงทุนบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความสะดวก รวดเร็ว ในการเข้าถึงบริการด้านการลงทุนแบบครบวงจร เช่น การสร้าง Application ที่สามารถลงทุนได้ครบทุกสินทรัพย์เพียงแอปเดียวหรือตัวช่วยแจ้งข้อมูลข่าวสาร (Personalized Wealth Alert) ผ่านแอป InnovestX และ Streaming สำหรับการลงทุนในหุ้นไทย และทาง INVX research ได้มีการนำเทคโนโลยี ChatGPT- Open AI มาช่วยพัฒนาการทำงานวิจัยทั้งในเชิงคุณภาพและเพิ่มปริมาณให้ครอบคลุมจำนวนหุ้นได้มากขึ้น โดยใช้ระยะเวลาจัดทำลดลง ล่าสุดประสบความสำเร็จในการจัดทำบทวิเคราะหุ้นต่างประเทศโดยใช้ ChatGPT ช่วยเขียนบทวิเคราะห์

นายอิษฎา หิรัญวิวัฒน์กุล กรรมการและหุ้นส่วนอาวุโส บริษัท บอสตันคอนซัลติ้ง กรุ๊ป (BCG) กล่าวว่า จากการศึกษาของ BCG พบว่าตลาด Wealth Management ของประเทศไทยทั้ง onshore และ offshore จะมีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 4.5% ต่อปีในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า เราพบว่ามี 4 เทรนด์หลักในธุรกิจ Wealth Management ที่พบในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทย ได้แก่ 1) ลูกค้ากลุ่ม High Net Worth (HNW) มีความต้องการที่จะได้รับคำปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนส่งต่อมรดกให้ทายาทรุ่นถัดไปและการวางแผนเพื่อเตรียมการเกษียณ 2) สถาบันการเงินข้ามชาติ ทั้ง ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และบริษัทFintech ต่างๆเข้ามาประกอบการในธุรกิจนี้ส่งผลให้การแข่งขัน ในธุรกิจนี้ร้อนแรงขึ้นมาก 3) ลูกค้าต้องการคำแนะนำ ที่ครบถ้วนและหลากหลายมากขึ้นรวมไปถึง การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ ที่เมื่อก่อนเข้าถึงได้แต่เฉพาะกลุ่มลูกค้า Ultra High Net Worth (UHNW) เท่านั้น และ4) ลูกค้าต้องการประสบการณ์ในการใช้บริการการบริหารความ มั่งคั่งแบบไร้รอยต่อ (seamless experience) เช่น การจัดพอร์ตการลงทุน การค้นหาข้อมูลอัพเดทเกี่ยวกับการตลาดและผลิตภัณฑ์หรือหรือการทำรายการซื้อขายและมอนิเตอร์พอร์ตการลงทุน

ทั้งนี้ BCG ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารความมั่งคั่ง มีการทำงานร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำทั่วโลกและทำการวิจัยกับผู้บริโภคในหลายประเทศ ซึ่งพบว่า เทคโนโลยีจะมีบทบาท มากขึ้นในการบริหารความมั่งคั่ง ทั้งนี้ เครื่องจักรหรือสมองกลจะไม่ได้มาแทนที่คนทั้งหมด ลูกค้า High Net Worth ต้องการการผสมผสานกันระหว่างการใช้เทคโนโลยีและการได้รับความดูแลจากคนอย่างเช่น relationship manager (RM) ซึ่งเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยใน 5 เรื่องใหญ่ดังต่อไปนี้

1. ทำให้ลูกค้าและผู้ใช้สามารถใช้บริการ wealth managementได้อย่างง่ายที่สุด (effortless) เช่น การทำ digital KYC, การประเมินความเสี่ยงของลูกค้า

2. สร้างความโปร่งใส (transparent) เช่น wealth dashboard, family wealth view, benchmarks

3. ทำให้การบริหารความมั่งคั่งตรงใจและเฉพาะเจาะจง กับลูกค้าแต่ละท่าน (personalized) เช่นการสร้างเป้าหมายในการบริหารความมั่งคั่งการจัดวางพอร์ตการลงทุน

4. ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในเชิงรุก (proactive) เช่น การส่ง alert และข้อความต่างๆ ให้ตรงกับลูกค้าแต่ละท่าน (personalized content)

5. ทำให้การใช้งาน ง่ายและสนุก (delightful) เช่น dynamic scenario planning, และเครื่องมือต่างๆที่ใช้ในการคำนวณ เป็นต้น

ดร. สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Wealth Planning and Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า เทรนด์กฎหมายในปีหน้า ยังคงต้องติดตามกฎหมายต่างๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น การเก็บภาษีการรับมรดกที่อาจมีการปรับปรุงกฎหมายและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้การจัดเก็บภาษีสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ส่วนกฎหมายภาษีการลงทุนต่างประเทศ ตามที่กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 เมื่อเดือนกันยายน 2566 และ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.162/2566 ซึ่งมีผลให้นักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย 180 วันขึ้นไป หากมีเงินได้จากต่างประเทศ เช่น เงินปันผล กำไรจากการขายหุ้น ดอกเบี้ย และได้นำเงินเข้ามาในประเทศไทยไม่ว่าจะนำเข้ามาในปีใดก็ตาม จะต้องนำมารวมเสียภาษีในประเทศไทยในปีนั้น ซึ่งตามหลักแล้วจะต้องเสียภาษีตามอัตราภาษีก้าวหน้า โดยหลักเกณฑ์ใหม่นี้จะใช้สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์นี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่ได้ไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้ Wealth Planning and Family office จึงขอแนะนำนักลงทุนไทยที่ลงทุนต่างประเทศ อาจจะพิจารณาลงทุนผ่านกองทุนรวมไทยที่ไปซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศหรือกองทุนไทยที่ไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ข้อดีคือผู้ลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหากได้กำไรจากการลงทุน แต่หากมีปันผลจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10

ในปีนี้ลูกค้ากลุ่มHNWให้ความสนใจเรื่องการสร้างความมั่งคั่งผ่าน Family Holding Company เพราะช่วยในการเก็บรวบรวมทรัพย์สินของครอบครัวเพื่อการส่งต่อความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนรวมทั้งยังช่วยแก้หรือลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจโดยสมาชิกครอบครัว การจัดโครงสร้าง Family Holding Company ที่ดีก็เหมือนการวางรากฐานของบ้านให้แข็งแกร่ง หากในอนาคตธุรกิจครอบครัวเจริญเติบโตขึ้น และวางอยู่บนฐานของโครงสร้างที่ดีก็จะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวมีความแข็งแกร่ง

รัฐบาลไทยและไมโครซอฟท์ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้วิสัยทัศน์ในการยกระดับประเทศไทยให้มุ่งสู่ก้าวต่อไปกับนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยข้อตกลงฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะนำเทคโนโลยีคลาวด์และ AI ที่เปี่ยมประสิทธิภาพจากไมโครซอฟท์มาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างโอกาสใหม่ๆ ในการจ้างงานที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และปูทางให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ทั้งในด้านนวัตกรรมดิจิทัลและความยั่งยืน

ในโอกาสนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์ ได้ร่วมพบปะหารือกันที่เมือง ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมพูดคุยถึงจุดประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

· ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัล

ไมโครซอฟท์จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายด้านรัฐบาลดิจิทัลและการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ Cloud First ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนภาคการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการศึกษา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังจะร่วมพิจารณาแผนการลงทุนก่อสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย เพื่อยกระดับการใช้งานคลาวด์และ AI ต่อไปในอนาคต และพร้อมกันนี้ ไมโครซอฟท์จะให้การสนับสนุนกับรัฐบาลไทยในด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยการนำเสนอแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด พร้อมด้วยความเชี่ยวชาญจากบุคลากรชั้นนำของบริษัท

 · ปูทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI

ไมโครซอฟท์จะทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาและผสมผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับโครงการด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) และบริการสาธารณะต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่คนไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีแผนที่จะร่วมกันจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเชิงกลยุทธ์ด้าน AI (AI Center of Excellence) เพื่อยกระดับโครงการที่ใช้เทคโนโลยี AI ของภาครัฐ จัดทำโรดแมปที่จะช่วยให้การนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานเกิดขึ้นได้จริง และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในภาคส่วนและอุตสาหกรรมต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังจะร่วมหารือกับไมโครซอฟท์เกี่ยวกับการกำหนดทิศทางนโยบายและกรอบการกำกับดูแล เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำ AI มาใช้งานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

· เสริมทักษะคนไทยเพื่อชีวิตในยุคหน้า

ไมโครซอฟท์จะสานต่อพันธกิจในการยกระดับทักษะแห่งอนาคตสำหรับคนไทยกว่า 10 ล้านคน ผ่านทางความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและหน่วยงานอื่นๆ โดยครอบคลุมทักษะสำคัญในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่สองเพื่อการสื่อสารหรือความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการฝึกฝนนักพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ในทุกสายอาชีพ (Citizen Developers) ในรูปแบบที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น

· ยกระดับประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

หน่วยงานภาครัฐของไทยจะทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 ผ่านทางการสร้างพื้นที่ทดสอบสำหรับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Sandbox) เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน นับตั้งแต่ภาครัฐ องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมีแผนที่จะนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้งานเต็ม 100% ในโครงการและแผนการลงทุนในอนาคตอีกด้วย

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “พันธกิจของประเทศไทย นับตั้งแต่ด้านการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนไปจนถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน นับว่ามีทิศทางที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างทั้งความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและศักยภาพเชิงดิจิทัลของประเทศไทยไปพร้อมกัน”

นายอาเหม็ด มาซารี ประธาน ไมโครซอฟท์ เอเชีย กล่าวเสริมอีกว่า “เทคโนโลยี AI มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางและวิธีการทำงานของทั้งผู้คนและองค์กรทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนั้น แผนปฏิบัติการของรัฐบาลได้วางเป้าหมายในการนำ AI มาขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนเป็นมูลค่ากว่า 48,000 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 25701 และเราก็มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับรัฐบาลไทยเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่มี AI เป็นนวัตกรรมคู่คิดของประเทศไทย”

ผลการศึกษาของซิสโก้ชี้ องค์กรในไทยเพียง 20% มีความพร้อมในการปรับใช้และใช้ประโยชน์จาก AI โดย 74% เป็นกังวลอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบต่อธุรกิจหากไม่เตรียมพร้อมในอีก 12 เดือนข้างหน้า

 

ประเด็นข่าว:

· องค์กรเกือบทั้งหมดในไทย (99%) ระบุว่าความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับใช้เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI ได้เพิ่มสูงขึ้นช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

· มีช่องว่างที่สำคัญใน 6 เสาหลักของธุรกิจ ซึ่งได้แก่ กลยุทธ์ โครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูล การกำกับดูแล บุคลากร และวัฒนธรรมองค์กร โดยบริษัท 80% กล่าวว่าพวกเขายังไม่พร้อมอย่างเต็มที่ในการบูรณาการ AI เข้ากับธุรกิจของตน

· บริษัทต่างๆ กำลังแข่งกับเวลา โดย 74% กล่าวว่าพวกเขามีเวลาสูงสุดแค่ “หนึ่งปี” ในการปรับใช้กลยุทธ์ AI มิฉะนั้นจะส่งผลเสียต่อธุรกิจ

 

กรุงเทพฯ, 16 พฤศจิกายน 2566 — มีเพียง 20% ขององค์กรในประเทศไทยเท่านั้นที่มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการปรับใช้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI ตามรายงานฉบับแรกเกี่ยวกับดัชนีความพร้อมด้าน AI (AI Readiness Index) ของซิสโก้ (NASDAQ: CSCO) ซึ่งได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวันนี้ ดัชนีดังกล่าวซึ่งเป็นการสำรวจข้อมูลจากบริษัททั่วโลกมากกว่า 8,000 แห่ง ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อการปรับใช้ AI อย่างรวดเร็ว ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและชีวิตประจำวันในเกือบทุกแง่มุม รายงานดังกล่าวเน้นย้ำถึงความพร้อมของบริษัทต่างๆ ในการปรับใช้และใช้ประโยชน์จาก AI โดยแสดงให้เห็น “ช่องว่างที่สำคัญ” ในเสาหลักของธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างร้ายแรงในอนาคตอันใกล้นี้

 

ผลการศึกษาล่าสุดชี้ว่า ถึงแม้การปรับใช้ AI จะมีความคืบหน้าอย่างช้าๆ มานานหลายทศวรรษ แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี Generative AI ประกอบกับการเปิดให้ใช้งานอย่างกว้างขวางสำหรับผู้ใช้ทั่วไปในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีความสนใจเพิ่มมากขึ้น รวมถึงความท้าทาย ความเปลี่ยนแปลง และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เกิดจากเทคโนโลยีนี้ ขณะที่ 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า AI จะมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจของพวกเขา และอาจก่อให้เกิดประเด็นใหม่ๆ เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความปลอดภัย รายงานดัชนีดังกล่าวพบว่า บริษัทต่างๆ เผชิญกับความท้าทายมากที่สุดเมื่อใช้ประโยชน์จาก AI ควบคู่ไปกับข้อมูลของพวกเขา ที่จริงแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถาม 75% ยอมรับว่าสาเหตุเป็นเพราะข้อมูลถูกจัดเก็บอย่างกระจัดกระจายไว้ในระบบต่างๆ ทั่วทั้งองค์กร

อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็คือ รายงานดัชนีดังกล่าวเปิดเผยว่า บริษัทต่างๆ ในไทยกำลังใช้มาตรการเชิงรุกในหลายๆ ด้านเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่มุ่งเน้น AI เป็นหลัก เมื่อพูดถึงการกำหนดกลยุทธ์ด้าน AI องค์กร 97% มีกลยุทธ์ด้าน AI ที่แข็งแกร่งอยู่แล้วหรืออยู่ระหว่างการพัฒนา องค์กรมากกว่า 8 ใน 10 (81%) ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Pacesetters (มีความพร้อมอย่างเต็มที่) หรือ Chasers (มีความพร้อมปานกลาง) โดยมีเพียง 1% เท่านั้นที่จัดอยู่ในกลุ่ม Laggards (ไม่ได้เตรียมพร้อม) ซึ่งนับเป็นการบ่งบอกว่าผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารฝ่ายไอทีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ตอบแบบสอบถามเกือบทุกคน (99%) กล่าวว่าความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับใช้เทคโนโลยี AI ในองค์กรของพวกเขาเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยมีการรายงานว่า ‘โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีและการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์’ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการปรับใช้ AI

 

ลิซ เซนโทนี่ รองประธานบริหารและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายแอปพลิเคชั่น และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของซิสโก้ กล่าวว่า “ขณะที่บริษัทต่างๆ เร่งการปรับใช้โซลูชั่น AI ก็จะต้องมีการประเมินว่าควรจะลงทุนในส่วนใดบ้างเพื่อให้แน่ใจว่าโครงสร้างพื้นฐานของพวกเขาจะสามารถรองรับความต้องการของเวิร์กโหลด AI ได้ดีที่สุด นอกจากนี้ องค์กรยังต้องสามารถตรวจสอบว่า AI ถูกใช้งานอย่างไร เพื่อให้แน่ใจเกี่ยวกับ ROI, ความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ความรับผิดชอบ’ ”

 

ข้อมูลสำคัญที่พบในผลการศึกษา

ผลการศึกษาพบว่า โดยรวมแล้วมีบริษัทเพียง 20% เท่านั้นที่จัดอยู่ในกลุ่ม Pacesetters (มีความพร้อมอย่างเต็มที่) โดยที่ 36% ของบริษัทในไทยจัดอยู่ในกลุ่ม Laggards (ไม่ได้เตรียมพร้อม) ที่ 1% และกลุ่ม Followers (มีความพร้อมอย่างจำกัด) ที่ 35% นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลที่สำคัญที่สุดได้แก่:

· ความเร่งด่วน: สูงสุด “หนึ่งปี” ก่อนที่บริษัทต่างๆ จะเริ่มเห็นผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจ โดย 74% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทยเชื่อว่าพวกเขามีเวลาสูงสุดไม่เกินหนึ่งปีในการปรับใช้กลยุทธ์ AI ก่อนที่องค์กรของพวกเขาจะเริ่มได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ

· กลยุทธ์ : ขั้นตอนแรกคือการกำหนดกลยุทธ์ และองค์กรต่างๆ ดำเนินการได้ด้วยดี โดย 81% ขององค์กรในไทยจัดอยู่ในกลุ่ม Pacesetters หรือ Chasers โดยมีเพียง 1% เท่านั้นที่จัดอยู่ในกลุ่ม Laggards นอกจากนี้ 97% ขององค์กรมีกลยุทธ์ AI ที่ชัดเจนอยู่แล้วหรืออยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งนับเป็นสัญญาณเชิงบวก แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก

· โครงสร้างพื้นฐาน: เครือข่ายยังไม่มีความพร้อมที่จะรองรับเวิร์กโหลด AI โดย 95% ขององค์กรธุรกิจทั่วโลกตระหนักดีว่า AI จะก่อให้เกิดเวิร์กโหลดเพิ่มมากขึ้นต่อโครงสร้างพื้นฐาน แต่ในประเทศไทย มีองค์กรเพียง 29% เท่านั้นที่มองว่าโครงสร้างพื้นฐานของตนสามารถปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่น ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (56%) ระบุว่าพวกเขามีความสามารถในการปรับขนาดอย่างจำกัด หรือไม่มีเลยเมื่อต้องรับมือกับปัญหาหรือความท้าทายด้าน AI ใหม่ๆ ภายในโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ เพื่อรองรับความต้องการด้านพลังงานและการประมวลผลที่เพิ่มสูงขึ้นของ AI บริษัทมากกว่าสองในสาม (71%) จะต้องใช้หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์มากขึ้น เพื่อรองรับเวิร์กโหลด AI ในอนาคต

· ข้อมูล: องค์กรไม่สามารถละเลยความสำคัญของการมี ‘ข้อมูลที่พร้อมสำหรับ AI’ แม้ว่าข้อมูลจะทำหน้าที่เป็นแกนหลักที่สำคัญสำหรับการดำเนินการของ AI แต่กลับเป็นส่วนที่มีความพร้อมน้อยที่สุด โดยมีจำนวน Laggards มากที่สุด (10%) เมื่อเทียบกับเสาหลักอื่นๆ ทั้งนี้ 75% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดระบุว่า ข้อมูลต่างๆ ถูกแยกส่วนหรือกระจัดกระจายอยู่ในองค์กรของตน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาท้าทายที่สำคัญ เพราะความยุ่งยากซับซ้อนในการบูรณาการข้อมูลที่อยู่ในระบบต่างๆ และการทำให้ข้อมูลดังกล่าวพร้อมใช้งานสำหรับแอปพลิเคชัน AI สามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันเหล่านี้

· บุคลากร: ความต้องการทักษะด้าน AI เผยให้เห็นถึงช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในยุคใหม่ คณะกรรมการ (93%) และผู้บริหาร (91%) มีแนวโน้มที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก AI มากที่สุด โดยมีการตอบรับในระดับสูงหรือปานกลาง อย่างไรก็ตาม ยังมีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อดึงดูดผู้บริหารระดับกลาง โดย 19% ยอมรับ AI อย่างมีข้อจำกัดหรือไม่ยอมรับเลย และในส่วนของพนักงาน องค์กรเกือบหนึ่งในห้า (22%) รายงานว่าพนักงานไม่ค่อยเต็มใจที่จะปรับใช้ AI หรือต่อต้านการใช้ AI ความต้องการทักษะด้าน AI เผยถึงช่องว่างทางดิจิทัลยุคใหม่ ผู้ตอบแบบสอบถาม 95% กล่าวว่าพวกเขาได้ลงทุนเพื่อยกระดับทักษะของพนักงานที่มีอยู่ ขณะที่ 10% เห็นถึงความเหลื่อมล้ำด้าน AI ที่กำลังเกิดขึ้น โดยตั้งข้อสงสัยว่าจะมีบุคลากรเพียงพอต่อการยกระดับทักษะหรือไม่

· การกำกับดูแล: การปรับใช้นโยบาย AI เริ่มต้นช้า 57% ขององค์กรไม่มีนโยบาย AI ที่ครอบคลุม ซึ่งนับเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ขณะที่บริษัทต่างๆ พิจารณาและกำกับดูแลปัจจัยทั้งหมดที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการทำลายความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ ปัจจัยที่ว่านี้ได้แก่ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล อธิปไตยด้านข้อมูล หรือสิทธิของการเป็นเจ้าของข้อมูล (Data Sovereignty) และความเข้าใจต่อการปฏิบัติตามกฎระเบียบโลก นอกจากนั้น จะต้องให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องอคติ ความยุติธรรม และความโปร่งใส ทั้งในส่วนของข้อมูลและอัลกอริธึม

· วัฒนธรรมองค์กร: มีการเตรียมการน้อยมาก แต่มีแรงจูงใจสูงในการให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เสาหลักนี้มีจำนวน Pacesetters ต่ำที่สุด (13%) เมื่อเทียบกับหมวดหมู่อื่นๆ โดยส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากข้อเท็จจริงที่ว่า 3.4% ของบริษัทยังไม่ได้จัดทำแผนการจัดการการเปลี่ยนแปลง (Change Management Plans) และสำหรับบริษัทที่ทำแผนไว้แล้ว 76% ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการ ผู้บริหารระดับสูงเปิดรับการเปลี่ยนแปลงด้าน AI ภายในองค์กรมากที่สุด และจะต้องเป็นผู้นำในการจัดทำแผนงานที่ครอบคลุมและมีการสื่อสารอย่างชัดเจนไปยังผู้บริหารระดับกลางและพนักงานที่มีอัตราการยอมรับ AI ค่อนข้างต่ำ ข่าวดีก็คือ พนักงานมีแรงจูงใจอยู่ในระดับสูง โดยมากกว่า 8 ใน 10 (81%) กล่าวว่าองค์กรของพวกเขากำลังเปิดรับ AI โดยมีความเร่งด่วนในระดับปานกลางถึงระดับสูง

 

ดัชนีความพร้อมด้าน AI ของซิสโก้

ดัชนีความพร้อมด้าน AI ของซิสโก้ (Cisco AI Readiness Index) อ้างอิงการสำรวจความคิดเห็นแบบปกปิดสองทาง (Double Blind) สำหรับผู้บริหารฝ่ายธุรกิจและฝ่ายไอทีภาคเอกชนจำนวน 8,161 คนใน 30 ประเทศ ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระ และเป็นการสอบถามความเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามจากบริษัทที่มีพนักงาน 500 คนขึ้นไป ดัชนีดังกล่าวประเมินความพร้อมด้าน AI ของผู้ตอบแบบสอบถาม ใน 6 เสาหลักที่สำคัญ ได้แก่ กลยุทธ์ โครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูล บุคลากร การกำกับดูแล และวัฒนธรรมองค์กร

บริษัทต่างๆ ได้รับการตรวจสอบโดยใช้เกณฑ์ชี้วัดที่แตกต่างกัน 49 รายการ ครอบคลุมเสาหลักทั้งหก เพื่อกำหนดคะแนนความพร้อมสำหรับแต่ละด้าน รวมถึงคะแนนความพร้อมโดยรวมสำหรับองค์กรของผู้ตอบแบบสอบถาม ตัวบ่งชี้แต่ละรายการได้รับการถ่วงน้ำหนักตามความสำคัญสำหรับความพร้อมในส่วนของเสาหลักที่เกี่ยวข้อง และจากคะแนนโดยรวม ซิสโก้ได้จำแนกองค์กรเป็น 4 กลุ่มตามระดับความพร้อมที่แตกต่างกัน ได้แก่ Pacesetters (มีความพร้อมอย่างเต็มที่), Chasers (มีความพร้อมปานกลาง), Followers (มีความพร้อมอย่างจำกัด) และ Laggards (ไม่ได้เตรียมพร้อม)

 

ไมโครซอฟท์ และ ซีเมนส์ ผนึกความร่วมมือต่อเนื่อง นำประสิทธิภาพ Generative AI มาสู่ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยทั้งสองบริษัทฯ เตรียมเปิดตัว Siemens Industrial Copilot ซึ่งเป็นผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่พัฒนาร่วมกัน มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรในภาคการผลิต

นอกจากนี้การผนวกซอฟต์แวร์ Teamcenter ของซีเมนส์ที่ใช้สำหรับการบริหารจัดการวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (หรือ PLM) เข้ากับ Microsoft Teams ยังสนับสนุนการสร้างเมตาเวิร์สในภาคอุตสาหกรรม ลดความซับซ้อนในการทำงานร่วมกันแบบเสมือนจริงให้แก่วิศวกรออกแบบ ผู้ปฏิบัติงานหน้างานและทีมอื่น ๆ ตลอดสายงานธุรกิจ

สัตยา นาเดลลา ประธานและซีอีโอของไมโครซอฟท์ กล่าวว่า “ด้วยศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ยุคใหม่นี้ เรามีโอกาสพิเศษในการเร่งสร้างนวัตกรรมให้กับภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด เรากำลังพัฒนาต่อยอดจากความร่วมมือที่ยาวนานกับซีเมนส์ รวบรวมความก้าวหน้าด้าน AI ใน Microsoft Cloud มาผนวกรวมกับความเชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมของซีเมนส์ เพื่อเสริมศักยภาพให้แก่ผู้ปฏิบัติงานหน้างานและพนักงานที่มีทักษะเฉพาะทาง ด้วยเครื่องมือใหม่ ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังปัญญาประดิษฐ์ โดยเริ่มต้นด้วยโครงการ Siemens Industrial Copilot

 

โรแลนด์ บุช ซีอีโอของซีเมนส์ กล่าวว่า “เราและไมโครซอฟท์มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการส่งเสริมศักยภาพของลูกค้าด้วยการนำ Generative AI มาใช้งาน เทคโนโลยีนี้มีศักยภาพมหาศาลที่จะปฏิวัติวิธีการที่บริษัทต่าง ๆ ใช้ออกแบบ พัฒนา ผลิตและดำเนินการ ด้วยการส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรที่เชื่อมต่อกันในวงกว้างมากขึ้น ช่วยให้เหล่าวิศวกรสามารถเร่งพัฒนาโค้ด เพิ่มนวัตกรรม และรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะได้

ยุคใหม่ของการทำงานร่วมกันของมนุษย์และเครื่องจักร

Siemens Industrial Copilot จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพ และแก้ไขโค้ดอัตโนมัติที่ซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว พร้อมลดระยะเวลาการจำลองสถานการณ์ลงอย่างมาก ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยลดงานที่ก่อนหน้านี้ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ให้เหลือเป็นหน่วยนาที โดย Copilot จะนำข้อมูลของระบบอัตโนมัติและกระบวนการการจำลองจากแพลตฟอร์ม Siemens Xcelerator ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มธุรกิจดิจิทัลแบบเปิดของซีเมนส์ และเพิ่มประสิทธิภาพด้วย Azure OpenAI Service ของไมโครซอฟท์ โดยลูกค้ายังคงควบคุมข้อมูลตนเองได้ทั้งหมด ระบบจะไม่มีการนำข้อมูลไปใช้กับการฝึกโมเดล AI พื้นฐาน

Siemens Industrial Copilot มีความสามารถเพิ่มผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพครบวงจรในอุตสาหกรรม โดยเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงจะได้รับคำแนะนำการซ่อมแซมอย่างละเอียดด้วยภาษาปกติอย่างเป็นธรรมชาติ ขณะที่วิศวกรจะสามารถเข้าถึงเครื่องมือแบบจำลองได้อย่างรวดเร็ว

Copilots สำหรับทุกอุตสาหกรรม

ทั้งซีเมนส์และไมโครซอฟท์ต่างเล็งเห็นว่า AI Copilots มีความสามารถในการช่วยเหลือผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการดูแลสุขภาพ โดย Copilot จำนวนมากกำลังถูกวางแผนที่จะนำมาใช้ในภาคการผลิต เช่น ยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค และการผลิตเครื่องจักร Schaeffler AG ซัพพลายเออร์ยานยนต์ชั้นนำเป็นหนึ่งในบริษัทรายแรก ๆ ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่นำ Generative AI ไปใช้ในงานด้านวิศวกรรม ช่วยให้ทีมวิศวกรสามารถพัฒนาโค้ดที่มีความน่าเชื่อถือสำหรับการโปรแกรมระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์ นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียมนำ Siemens Industrial Copilot มาใช้ในระบบการดำเนินงาน โดยวางเป้าหมายเพื่อลดการหยุดชะงักของ

การทำงาน (Downtime) ของเครื่องจักรอย่างมีนัยสำคัญ และเตรียมพัฒนาขั้นต่อไปสำหรับลูกค้าในภายหลัง

เคลาส์ โรเซนเฟลด์ ซีอีโอของกลุ่มแชฟฟ์เลอร์ กล่าวว่า “เรากำลังก้าวสู่ยุคใหม่ของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและนวัตกรรมในโครงการนำร่องร่วมกันนี้ ซึ่ง Siemens Industrial Copilot จะช่วยให้ทีมงานของเราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังลดภาระงานซ้ำซ้อน และเพิ่มไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้ร่วมมือกับซีเมนส์และไมโครซอฟท์ในโครงการนี้”

Generative AI เพิ่มความสะดวกการทำงานร่วมกันในแบบเสมือน

เพื่อยกระดับการทำงานร่วมกันแบบเสมือนระหว่างทีม ซอฟต์แวร์ Teamcenter ของซีเมนส์ สำหรับ Microsoft Teams พร้อมเปิดให้ใช้งานได้โดยทั่วไปตั้งแต่เดือนธันวาคมปีนี้ โดยแอปพลิเคชันนี้จะใช้ศักยภาพล่าสุดของ Generative AI เชื่อมต่อฟังก์ชั่นการทำงานต่าง ๆ ของวงจรการออกแบบผลิตภัณฑ์และวงจรการผลิต ตั้งแต่ผู้ปฏิบัติงานหน้างานไปจนถึงทีมวิศวกร โดยจะเชื่อมต่อซอฟต์แวร์ Teamcenter ของซีเมนส์ที่ใช้สำหรับการบริหารจัดการวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (หรือ PLM) เข้ากับ Microsoft Teams ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกันของไมโครซอฟท์ เพื่อให้พนักงานในโรงงานและพนักงานภาคสนามสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ สิ่งนี้จะช่วยให้พนักงานหลายล้านคนที่เข้าไม่ถึงเครื่องมือ PLM ในปัจจุบันสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบและผลิตได้ง่ายยิ่งขึ้นเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของงานประจำวัน

ซีเมนส์จะแบ่งปันรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Siemens Industrial Copilot ที่งาน SPS expo ที่จะจัดขึ้น ณ เมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2566

โดย แซม เบิร์ด

3 ปีที่ผ่านมา เดลล์ได้พูดถึงยุคแห่งการฟื้นฟูและการกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งของพีซี (Renaissance of the PC) ในขณะที่พีซี ยังคงเป็นผู้ช่วยที่ดีในการเชื่อมต่อและประสานการทำงานร่วมกันอย่างที่เคยเป็นมา ช่วงปี 2020 ณ จุดสูงสุดของการเรียนรู้ผ่านระบบเสมือน และการทำงานงานจากที่บ้าน เราได้เห็นบทบาทสำคัญของพีซีในทุกแง่มุมของการใช้ชีวิต และนี่คือช่วงเวลาที่เราได้ก่อร่างสร้างวิสัยทัศน์สำหรับอนาคต มีการกำหนดว่าที่ผ่านมามีการลงทุนไปในทิศทางใด พร้อมคาดการณ์ว่าประสบการณ์การใช้พีซีของผู้คนจะพัฒนาต่อไปในรูปแบบใด

ปัจจุบัน ช่วงเวลาสำคัญอีกอย่างกำลังมารออยู่แล้วที่ปลายนิ้วสัมผัส นี่คือช่วงเวลาของ GenAI คือความก้าวหน้าที่เราจะได้รับจาก GenAI ที่เทียบได้กับความก้าวหน้าในช่วงที่มีการเปิดตัวพีซีเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ที่นำพาประสิทธิภาพอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนสู่โลกนี้ แต่สิ่งนี้มีความหมายอย่างไรต่ออนาคตของพีซี แล้ว GenAI จะเข้ามากำหนดรูปแบบประสบการณ์การทำงานระหว่างพีซีและมนุษย์หรือไม่อย่างไร

อย่างแรก จงมองที่ปัจจุบัน

เพื่อให้เข้าใจถึงโอกาสในอนาคตของ AI ให้ลองพิจารณาว่าเราได้ผ่านอะไรมาบ้างในอดีตและเรากำลังอยู่ในจุดไหนของปัจจุบัน สิ่งที่น่าจะเป็นก็คือโอกาสสูงที่คุณอาจจะได้ใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบหนึ่งในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว (อย่าลืมว่าปัญญาประดิษฐ์ และแมชชีน เลิร์นนิ่งเกิดแล้วมาสักพัก) เราได้เห็นโอกาสที่พีซีช่วยขับเคลื่อนประสิทธิภาพให้กับผู้คน และทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นผู้ใช้งาน AI ในยุคแรกๆ ทำให้พีซีมีความฉลาดมากขึ้น เรียนรู้สิ่งต่างๆ และรู้จักผู้ใช้งานมากขึ้น

โอกาสของ GenAI ในระยะเวลาอันใกล้

GenAI จะมีอิทธิพลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้คน ในขณะที่ยังมีสิ่งอีกมากมายที่ต้องใช้จินตนาการ พีซีที่ใช้ความสามารถของ AI กำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งในการถกประเด็นมากขึ้น เราเห็นว่า GenAI จะช่วยปลดล็อกศักยภาพไปสู่ระดับใหม่ๆ ได้อย่างไรบ้างกับการเปิดตัว Microsoft Copilot ในช่วงที่ผ่านมาก เราได้สังเกตการณ์การสาธิตการใช้งานหลายต่อหลายครั้ง ที่แสดงให้เห็นว่าพีซีจะทำการเก็บรวบรวมและสร้างข้อมูลได้รวดเร็วมากขึ้นกว่าที่ผ่านมามาก โดยใช้แนวคิดเป็นศูนย์กลาง และช่วยให้ผู้คนใช้เวลากับการสร้างสรรค์ แก้ปัญหาและสร้างนวัตกรรม

เดลล์กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับไมโครซอฟท์ ในช่วงที่มีการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ของ Copilot (และผู้ใช้ Windows 11 เริ่มเข้าใจถึงประโยชน์ต่างๆ แล้วในตอนนี้) แต่เราจะไม่หยุดแค่นี้ เพราะเดลล์มุ่งเน้นการเป็นผู้ให้บริการพีซีชั้นนำในยุคของ AI ด้วยการลงทุนเพิ่มและมุ่งเน้นศูนย์กลางที่การสร้างความฉลาด ความปลอดภัยและการเป็นที่ปรึกษาด้าน AI อย่างครบวงจรที่ให้ความมั่นใจได้)

เดลล์ ต้องการให้อุปกรณ์ทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งจะต้องใช้พีซีที่มีการสร้างแบบจำลองด้านภาษา (language modeling) การประมวลผลด้านภาษา และความสามารถด้านแมชชีน เลิร์นนิ่ง เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้ให้ดีขึ้น การใช้แอปพลิเคชัน AI

เหล่านี้บนพีซี จะนำมาซึ่งประสิทธิภาพมากมาย เช่นประสิทธิภาพเรื่องความคุ้มค่า ปรับปรุงความเป็นส่วนตัวได้ดีขึ้น รักษาความปลอดภัยดีขึ้น ช่วยลด latency และให้ประโยชน์เรื่องความยั่งยืน นอกจากนี้ ยังต้องใช้สถาปัตยกรรมใหม่ในการประมวลผลที่ไม่ได้อาศัย CPU หรือ GPU ซึ่งเดลล์กำลังทำงานอย่างจริงจังร่วมกับพันธมิตรทั่วทั้งอุตสาหกรรมเพื่อทำให้สถาปัตยกรรมใหม่ดังกล่าวเป็นจริงภายในปี 2024

ความเป็นไปได้ของ GenAI ในระยะยาว

เมื่อมองไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะเห็นอนาคตพีซีเป็นเสมือนพันธมิตรดิจิทัลที่แท้จริง โดย พีซี จะพัฒนาบทบาทไปไกลกว่าการขับเคลื่อนผลลัพธ์ในการทำงานของมนุษย์ แต่จะก้าวสู่การขับเคลื่อนความสามารถของมนุษย์ ประเด็นนี้ จะทำให้ผู้ใช้งานต้องหันมาทบทวนการใช้งานแล็ปท็อปและเดสก์ท็อปที่คุ้นเคยกันใหม่ในปัจจุบัน

ตัวอย่างเช่น แทนที่ส่วนใหญ่จะใช้การพิมพ์บนคีย์บอร์ด เพื่อโต้ตอบการทำงานผ่าน command-and-control ก็จะเพิ่มเติมแนวทางการทำงานที่ไม่ต้องใช้ข้อความ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เทคโนโลยีสามารถทำงานโต้ตอบสองทางระหว่างมนุษย์และพีซี ลองนึกภาพอนาคตที่เราสามารถประสานการทำงานหรือร่วมสร้างสรรค์ผลงานด้วยเสียง สั่งงานผ่านรูปภาพ และท่าทาง ให้จินตนาการว่าพีซีจะตีความโดยอาศัยการจับอารมณ์ของคุณ สีหน้าการแสดงออก น้ำเสียงหรือกระทั่งการเปลี่ยนวิธีการพิมพ์เพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่สมบูรณ์มากขึ้น ในการสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดได้ตามที่คุณต้องการ ประสบการณ์การใช้งานพีซี จะเปลี่ยนจากการเสิร์ชเป็นการพร้อมท์คำสั่ง เปลี่ยนจากการอ่านไปสู่ความเข้าใจ จากการแก้ไขเป็นการชี้แนวทาง

เป็นความน่าตื่นเต้นเมื่อคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของอุปกรณ์ แต่เป็นระบบนิเวศพีซีทั้งหมด เพราะเดลล์นำประสบการณ์ของมนุษย์มาใช้ในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของมนุษย์ และสายผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมของเรา ทั้งโซลูชันและบริการจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเป็นขุมพลังขับเคลื่อนอนาคต

เราอยู่ในจุดของการเปลี่ยนผัน

เราอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมา 30 ปี มีทั้งเรื่องน่าตื่นเต้นและสิ่งที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา แต่โอกาสที่รออยู่ข้างหน้าก็ไม่เหมือนที่เคยเห็นตอนเปิดตัวพีซีเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา คงจะเป็นการโกหกหากบอกว่าเรามีคำตอบสำหรับทุกเรื่อง เพราะมันไม่มี แค่ประโยชน์ที่ตามมาก็มากมายมหาศาล แต่เราสามารถบอกได้ว่ามนุษย์จะยังคงเป็นศูนย์กลางของความก้าวหน้า ระหว่างที่มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ สถาปัตยกรรมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ความสามารถด้านการบริการใหม่ๆ และการคิดค้นอย่างต่อเนื่องโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่การเชื่อมต่อและประสบการณ์ของผู้คน เราอยู่ในจุดของการเปลี่ยนผัน ซึ่งประสบการณ์ของผู้ใช้จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นและเร็วขึ้นกว่าที่เคยมีมา เราได้รับโอกาส ในการปฏิวัติประสบการณ์การใช้งานพีซี และเรามุ่งเน้นทุกอย่างเพื่อเรื่องนี้

X

Right Click

No right click