×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 800

จุดกำเนิด TBFA คอมมูนิตี้ฟุตบอลเยาวชน

March 05, 2017 7043

บนพื้นที่ 11 ไร่ ในซอยประชาอุทิศ 23 ย่านเหม่งจ๋าย เป็นที่ตั้งของ ไทยเบฟ ฟุตบอล อคาเดมี (ThaiBev Football Academy) หรือ TBFA สนามฟุตบอลที่เปิดกว้างให้เด็กๆ จากทั่วสารทิศได้มาฝึกซ้อมฟุตบอลร่วมกันทุกวันเสาร์อาทิตย์พื้นที่นี้มีเด็กๆ มาร่วมกิจกรรมวันละประมาณ 500-600 คน โดยจุดเริ่มต้นของการทำสนามฟุตบอลเกิดจากความตั้งใจของ โค้ชโต้ง - กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่ประเทศไทย อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลชาติไทย ซึ่งมีแนวคิดว่า อยากให้เด็กที่มีฐานะยากจนแต่สนใจหรือรักกีฬาฟุตบอลมีพื้นที่ฝึกซ้อมกีฬาฟุตบอลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

โค้ชอาสาหาสนาม

เมื่อโค้ชโต้งไปเจอ โค้ชจุ่น - ดร.จตุพร ประมลบาล อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย และผู้ฝึกสอนที่พัฒนานักฟุตบอลทีมชาติชุดปัจจุบันมาตั้งแต่เยาวชน โค้ชจุ่นก็ขอมาร่วมฝึกสอนเด็กด้วย โดยมีแนวคิดว่า ถ้าจะให้เด็กเล่นฟุตบอลเป็น จะปล่อยให้เล่นมั่วๆ ไม่ได้

ช่วงที่โค้ชโต้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2548 ได้เปิดพื้นที่ลานจอดรถที่เป็นพื้นปูนของอาคารสำนักงานตลาดหลัก-ทรัพย์แห่งประเทศไทย (SETTRADE) ตรงคลองเตย ให้เด็กๆ ใช้สำหรับฝึกซ้อมในวันเสาร์อาทิตย์ โดยไปมองหาเด็กๆ ในสลัมคลองเตยมาซ้อมก่อน 20 คน

เราพัฒนามาจากลานจอดรถ ตามแนวคิดโครงการสอนฟุตบอลวันอาทิตย์ของ พล..สำเริง ไชยยงค์ ผู้ก่อตั้งสโมสรราชวิถี ซึ่งหยุดทำไป” โค้ชโต้งกล่าว

จากนั้นโค้ชโต้งและโค้ชจุ่นก็แท็กทีมอาสาเป็นผู้ฝึกสอนให้เยาวชนเล่นฟุตบอลอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล โดยโค้ชจุ่นมีบทบาทเป็นผู้ออกแบบ ควบคุมการฝึกในโครงการไทยเบฟ ฟุตบอล อคาเดมี เนื่องจากเคยไปศึกษาดูงานที่สโมสรเอฟเวอร์ตัน ประเทศอังกฤษ และนำหลักสูตรจากที่นั่นมาใช้สอนเยาวชนกลุ่มนี้

ผ่านไป 6 เดือน เด็กเพิ่มขึ้นมาเป็น 50-60 คน โค้ชโต้งหมดวาระการทำงานในตลาดหลักทรัพย์ บวกกับความในใจของเด็กคนหนึ่ง จึงนำไปสู่การเลือกสนามฝึกซ้อมแห่งใหม่

มีเด็กคนนึงมากระตุกมือ ลุงโต้ง… อยากเห็นสนามฟุตบอลที่มีหญ้าเหมือนในทีวี” โค้ชโต้งเล่า

เนื่องจากสนามฟุตบอลที่เป็นสนามหญ้าในบริเวณใกล้เคียงเก็บค่าใช้บริการและไม่เปิดให้เด็กเล่น สองโค้ชจึงตระเวนหาสนามฟุตบอลให้เช่าในกรุงเทพฯ และไปได้สนามหญ้าที่รังสิต จึงจัดรถตู้รับส่งเด็กๆ ไปฝึกซ้อมที่รังสิตอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งเด็กๆ ก็รู้สึกดีที่ได้สัมผัสหญ้าจริงจนต้องขอลงไปนอนกลิ้งในสนาม

ความอยู่รอดของ TBFA

ต่อมาสองโค้ชก็ได้ไปดูสนามฟุตบอล มีสุวรรณ ในซอยประชาอุทิศ 23 ค่าเช่าสนามเดือนเดือนหนึ่งก็หลายแสน แต่โค้ชโต้งเห็นว่าที่นี่ดี เหมาะจะเป็นสถานที่ที่จะใช้ได้ในระยะยาวจึงตัดสินใจเช่า

หลังจากใช้สนามไม่นานก็สู้ค่าเช่าสนามไม่ไหว โค้ชโต้งมีโอกาสคุยกับ ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเครื่องดื่มตราช้าง แล้วฐาปนเห็นว่าสนามนี้มีประโยชน์ต่อเด็กๆ และชุมชน ไทยเบฟจึงเข้ามาเป็นสปอน-เซอร์ ดูแลค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และทำเป็นโครงการ ไทยเบฟ ฟุตบอล อคาเดมี ตั้งแต่ตอนนั้น

เราเป็น Public Academy ไม่คัดคนเข้ามา ต้องยอมรับว่าบางคนอาจจะไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพที่เก่งมาก แต่เขามีสิทธิ์รักฟุตบอลไหม คุณจะรู้ได้ยังไง วันหนึ่งอาจจะไปเป็นสปอนเซอร์ของทีมไหน หรือรู้จักแพ้ชนะ ทำให้สังคมดีขึ้นก็ได้ เรามีฟุตบอล 600 ลูก แต่วันนี้เรามีไม่พอ ก็ต้องจัดกลุ่ม รองรับได้เป็นพัน ผมว่าคนที่ได้มาทำงานที่ได้องค์ความรู้ และเราก็ไม่ได้หยุดที่จะเรียนรู้ ออกไปดูไปรับคำแนะนำเพิ่ม โค้ชจุ่นก็ไปเรียน Pro-Licence เพิ่ม” โค้ชโต้งเล่า

 

รอบสนาม TBFA

TBFA รับฝึกสอนเด็กและเยาวชนอายุ 6-18 ปี ในวันเสาร์อาทิตย์ เฉพาะช่วงเช้า ถ้าสัปดาห์ไหนหยุด เด็กก็จะไม่มีที่ไป สนามแห่งนี้จึงไม่เคยหยุด ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์

ในส่วนของสนาม แบ่งพื้นที่ออกเป็นสนามเด็กเล็ก เด็กโต เด็กที่เล่นเก่งและพัฒนาเป็นสเต็ป โดยจะมีการแบ่งเด็กๆ ออกเป็นกลุ่มๆ รวมแล้วมีมากกว่า 20 กลุ่ม มีโค้ชอาสาที่ฝึกสอนฟุตบอลกันในระดับ A Licence, B Licence และ C Licence และมีเด็กผ่านโครงการ TBFA นี้มาแล้วมากกว่า 35,000 คน

โค้ชจุ่นบอกว่า TBFA เป็นศูนย์ฝึกซ้อมที่มีการเกื้อกูลกันในหลายๆ ด้าน ซึ่งสิ่งที่ทำให้คอมมูนิตีแห่งนี้ประสบความสำเร็จ

คือ การได้สปอนเซอร์ใหญ่จากไทยเบฟต่อเนื่องมาถึงปีที่ 12 การมีโค้ชอาสา และมีผู้ปกครองที่มีจิตอาสาช่วยดูแลสนาม

นี่เป็นศูนย์ฝึกที่มีการจัดการไม่ง่าย มีเด็กเข้ามาใหม่ คนเก่าอยู่ ก็ต้องจัดกลุ่มตามอายุ ตามความสามารถ ต้องเฉลี่ยกัน ซึ่งที่นี่เป็นศูนย์ฝึกที่เน้นเรื่องเทคนิค ซึ่งก่อนที่จะมาเล่นในสนามนี้ เด็กบางคนฝึกเล่นฟุตบอลตั้งแต่อายุ 10 ขวบ บางคนที่เคยมาฝึกที่นี่ก็มีความสามารถไปถึงระดับไทยลีก ดิวิชัน 1 ดิวิชัน 2 บางคนได้ทุนไปศึกษาต่อเมืองนอก แต่วันว่างก็จะกลับมาช่วยสอนฟุตบอลให้น้องๆ บางคนได้เข้าร่วมสโมสรดังๆ เช่น เมืองทองยูไนเต็ด แบงค็อก ยูไนเต็ด ไปเป็นนักเตะอาชีพ” โค้ชจุ่นอธิบายความเกื้อกูลที่ทำให้เกิดโอกาสต่างๆ

คำว่า อคาเดมี ปกติแล้วเป็นการคัดเลือกผู้เล่นเข้ามา แต่ที่นี่ให้เด็กๆ เข้ามาก่อนแล้วค่อยคัดเลือก 50 คนที่มีความสามารถเข้าร่วมทีมฟุตบอลเยาวชน ช้างจูเนียร์ (อายุ 10-18 ปี) ตามแนวคิดของ ชาลี จิตจรุงพร อดีตรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งโครงการช้างจูเนียร์นั้นเป็นความตั้งใจและพยายามของโค้ชและไทยเบฟที่อยากจะทำให้เด็กมีความสามารถมากขึ้น และถ้าสโมสรไหนเห็นจุดเด่นของเด็กก็ชักชวนไปร่วมสโมสรได้โดยไม่มีเงื่อนไข

นอกจากนี้ TBFA ยังเป็นสนามตัวอย่าง ซึ่งโค้ชโต้งกล่าวปิดท้ายว่า

ไม่ใช่แค่ฟุตบอลอย่างเดียวนะครับ พอดีผมถนัดฟุตบอลก็เลยทำฟุตบอล กิจกรรมแบบนี้สร้างความเข้าใจว่า ทำที่ไหนก็ได้ กีฬาอื่นๆ ก็ทำได้ มีหลายอคาเดมีเกิดขึ้นจากการมาเรียนรู้ที่นี่ โค้ชหลายคนก็ไปช่วยที่ศูนย์อื่นๆ อคาเดมีที่เป็นกลุ่มเดียวกันก็มีหลายๆ ไซซ์ แต่เราก็น่าจะเป็นฟรี อคาเดมีที่ใหญ่ที่สุด”

 

ปาฏิหาริย์ สวนอนันต์ : เข้ามาเล่นฟุตบอลตอนอายุ 9 ปี เวลาผ่านไป 9 ปี ได้รับคัดเลือกให้เข้าทีมช้างจูเนียร์มาแล้ว 7 ปี

 

วทัญญู ชูทิตย์ : บอกว่ามาจากสลัมคลองเตย ผ่านการซ้อมที่สนาม SETTRADE มาก่อน พออายุ 19 ปี ก็ก้าวขึ้นมาเป็นโค้ชเยาวชน เปลี่ยนจากผู้รับมาเป็นผู้ให้

 

ธนกฤต บรรจงแก้ว : กองกลางอายุ 12 ปี ชอบฟุตบอลเพราะเห็นพี่ชายเล่นและพ่อชอบดูฟุตบอล และมีนักฟุตบอลที่ชื่นชอบคือ สารัช อยู่เย็น ตำแหน่งกองกลาง

 

ชัยรัตน์ กลิ่นเพ็ง : พ่อเห็นว่าติดเกมก็เลยให้ไปฝึกฟุตบอลตั้งแต่สนามยังอยู่ที่ SETTRADE จนถึงตอนนี้ก็ฝึกมา 11 ปีแล้ว มีความฝันว่าอยากจะเข้าทีมชาติ

 

 

 

 

 

 

X

Right Click

No right click