การที่ประเทศไทยจะเป็น Global Medical Hub ของโลกได้นั้น ใช่ว่าเพียงการเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (Andaman Wellness Corridor) นั้นจะเพียงพอ แต่การเข้าใกล้เป้าหมายของความสำเร็จยังต้องประกอบไปด้วยการจัดองค์ประกอบอีกหลายประการ และหนึ่งในผู้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดสรรและจัดวางเส้นทางสู่ความสำเร็จในเรื่องนี้ คือ ผศ.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง ผู้อำนวยการหลักสูตร WHB (Wellness & Healthcare Business Opportunity for Executives)

ผศ.ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง ผู้อำนวยการ หลักสูตร WHB ซึ่งยังเป็นผู้ก่อตั้งโครงการ ได้เล่ากับ MBA ถึงที่มาของการจัดตั้งหลักสูตร WHB นี้ว่า “เริ่มแรกทางอาจารย์ได้เห็นและติดตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ระดับนานาชาติ อาจารย์ก็คิดว่าแนวคิดนี้จะสำเร็จได้จะมีหลายๆ หน่วยงานเข้ามาผนึกกำลังและร่วมกันขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยว และหน่วยงานอื่นๆ เพราะเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับ Medical Tourism อีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมา แม้มีการตระหนักรู้ในหลายๆ ภาคส่วน แต่เราก็ยังไม่เห็นความร่วมมือในเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นจริง

และด้วยความที่เราเองเป็นนักวิชาการอยู่แล้ว จึงคิดว่าเราสามารถที่จะเป็นตัวกลางเชื่อมองค์กรเหล่านี้ซึ่งเป็นภาครัฐ และนักธุรกิจในภาคเอกชนให้ได้มาพบกันใน ด้วยตัวอาจารย์เองมีเพื่อนเป็นนักธุรกิจค่อนข้างมากและหลากหลายวงการ อีกทั้งส่วนตัวเองก็มีประสบการณ์เคยก่อตั้งและบริหารสถานบริหารร่างกาย World Health Club เป็นทุนเดิม

ซึ่งเรามองว่า ถ้านักธุรกิจไม่ได้พบกับ Regulator ในกระทรวงสาธารณสุข อาทิ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเองก็ดูแลรับรองหลายธุรกิจบริการสุขภาพไม่ว่าจะเป็นร้านนวด คลินิก โรงพยาบาลทุกประเภท และสถานดูแลผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ยังต้องมีความเกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว เรียกได้ว่าเครือข่ายและความสัมพันธ์มันกว้าง ซึ่งเราเห็นว่ามีความจำเป็นและเราก็สามารถทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างหน่วยงานเหล่านี้ ทั้งนักธุรกิจ และงานวิชาการให้ได้มาเจอกันเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สามารถต่อยอดไปสู่นวัตกรรมและโครงการที่ทำได้จริง

5 ภาคีความแข็งแกร่ง ของ WHB

ผศ.จันทร์จิรา ผู้อำนวยการหลักสูตร WHB ยังได้เผยถึง ความเข้มแข็งของหลักสูตรที่เน้นการรวมศักยภาพของบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิและประสบการณ์ เริ่มตั้งแต่ประธานหลักสูตร คือ ศ.นายแพทย์ สมอาจ วงษ์ขมทอง ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานคณะผู้บริหาร รพ.กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งท่านเคยเป็นอดีต ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งท่านเห็นร่วมกันว่า ‘จะต้องขับเคลื่อนสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น

ด้วยแนวคิดของการก่อตั้งหลักสูตรเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายให้ได้นั้น ยังได้รับความเห็นชอบจาก อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลในขณะนั้น (ตอนริเริ่มโครงการในปี 2020) คือ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ซึ่งท่านเองเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วย ท่านมีความคิดเห็นว่า 'เป็นโครงการที่ดี มหาวิทยาลัยมหิดลเองเป็นสถาบันวิชาการที่ต้องเป็นเครื่องมือของรัฐเพื่อส่งเสริมภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้อยู่ด้วย'

ผู้อำนวยการ WHB ยังเผยต่อว่า เพื่อให้ในนิเวศน์ของหลักสูตรมีความครบพร้อม จะต้องมีเรื่องของ Digital Hospital เข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงจับมือกับทาง Huawei Technologies (Thailand) ซึ่งเขามี Ping An Technology เป็นแบล็กอัปและทำเกี่ยวกับ Internet Hospital เจ้าใหญ่ที่สุดในจีน และคณะผู้บริหารเราได้เข้าไปเห็นมาว่าเขาเติบโตอย่างก้าวกระโดดและใช้ได้ผลจริง”

ผู้ใช้งานเดินเข้าไปในบูธ ไม่ต้องพบหรือมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวกับแพทย์ แต่จะมีโปรแกรมและเครื่องมือต่างๆ ให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ เราเห็นตัวอย่างตรงนั้นจึงจับมือกับเขาให้มาเป็นภาคีในความร่วมมือกับเราในโครงการนี้ ซึ่งหากไม่ติดข้อจำกัดในเรื่องการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทั้งคณะของหลักสูตรทั้งผู้เรียนและผู้สอน จะต้องเดินทางไป Visit และดูงานเหล่านี้ในประเทศจีนก่อนจบการอบรมหลักสูตรโครงการ 1 ผ่านมา

ภายใต้ภาคีพันธมิตรของโครงการ WHB ยังได้รับความร่วมมือจาก Department of Community and Global Health, The University of Tokyo ซึ่งทางศาสตราจารย์สมอาจ สำเร็จการศึกษา อีกทั้งยังเคยร่วมสอนเป็นเวลาหลายปี เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งนับเป็นความเข้มแข็งที่สำคัญประการหนึ่ง เพราะประเทศญี่ปุ่นเป็นที่มีความก้าวหน้าในเรื่องการดูแลสุขภาวะของประชาชนในระดับชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็นภายในบ้าน ในครอบครัว หรือคอมมูนิตี้ และเช่นกันที่แผนการดำเนินโครงการของหลักสูตรได้กำหนดไว้ว่าจะไปดูงานในประเทศญี่ปุ่น แต่เนื่องจากข้อจำกัดจากโรคระบาดโควิดเลยทำให้ต้องชะงักไป

นอกจากภาคีพันธมิตรที่เข้มแข็งในต่างประเทศ ในประเทศไทยเองหลักสูตรยังได้รับความร่วมมือจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และบริษัท ไทยพัฒนาสุขภาพ มาเข้าร่วมด้วย

ด้วยภาคีทั้ง 5 ส่วนนี้เองที่ทำให้หลักสูตร Wellness&Healthcare Business Opportunity for Executives หรือ WHB มีความแข็งแกร่งและตอบโจทย์เป้าหมายได้อย่างเป็นอย่างดี

Knowledge Hub to Medical Hub

ทั้งนี้ ผศ.ดร.จันทร์จิรา ยังได้เผยถึงจุดแข็งและจุดขายสำคัญของหลักสูตรที่ประกอบไปด้วยผู้ที่มีประสบการณ์หรือเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมในเรื่องนี้ที่เข้ามาร่วมส่งต่อและแบ่งปันความรู้ในโลกความเป็นจริงให้ผู้เรียน อาทิ คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทดุสิตธานี ที่ทำในเรื่องของ Health Food มีการปรับห้องพักสำหรับรองรับ Senior Citizens ที่ต้องการมา Retreat หรือ Detox หรือมีความสนใจในการดูแลสุขภาพตัวเองในประเทศไทย มีการไปจัดการสัมมนาในหลายๆ โรงแรม ซึ่งมีกลุ่มโรงแรมที่เขาสนใจหรือทำเรื่องนี้อยู่แล้วส่งคนมาเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ว่าทีมเขาทำอย่างไร เขามองอนาคตผู้สูงอายุอย่างไร และยังมองถึงการดูแล ส่งเสริมและป้องกันสุขภาวะของคนรุ่นใหม่ด้วย เป็นต้น

นอกจากนั้น WHB 1 ยังมีนายแพทย์ ตนุพล วิรุฬหการุญ (หมอแอมป์) . ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก มาลงเรียนกับเราและยังเป็นวิทยากรให้ด้วย ทำให้เกิดมีการพูดคุยเสวนากลุ่ม เกิดเป็นสตาร์ทอัพขึ้นมาสามสี่กลุ่ม รวมถึง CSR ที่เป็นโครงการหลักสูตรอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุสำหรับเด็กๆ ที่จบมัธยมปลายแล้วอยากหางานทำทันทีจำนวนห้าพันคน โดยมีทางมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นจับมือกับมูลนิธิชิน โสภณพนิช เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลัก”

นอกจากนั้นยังมีผู้นำขององค์กรต่างๆ เข้ามาร่วม ทั้งเป็นผู้ร่วมโครงการและเป็นวิทยากรด้วย หลักสูตรนี้ไม่ใช่แค่ให้ผู้เรียนมานั่งฟัง แต่เป็นการแลกเปลี่ยน ข้อเสนอแนะที่จะต้องส่งต่อภาครัฐ รวมไปถึงการได้เปิดโอกาสได้พอเจอพาร์เนอร์หรือ คู่ค้าใหม่ๆ ทางธุรกิจซึ่งสามารถที่จะมีความร่วมมือ หรือ แม้แต่สตาร์ทอัพธุรกิจใหม่ร่วมกันได้ เพราะหลายท่านก็มีโครงการที่ริเริ่มกันอยู่ก่อนแล้ว อย่างเช่น กรณี Hospitel ที่พยายามจะให้บริการทรีตเม้นต์ที่ไม่ใช่แค่สปา แต่มีการวินิจฉัย การป้องกันและลดอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น อย่างโรคเบาหวาน เหล่านี้เรียกว่าเป็น Wellness ซึ่งต่างจาก Health Care โดยจะไปเน้นเรื่องสุขภาวะอันเป็นการดูแลจากภายในสู่ภายนอก มีการศึกษาลึกลงไปในระดับยีน ตรวจหาโอกาสหรือแนวโน้มโรคต่างๆ มีวิทยาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะจากสิงคโปร์ จากศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดีมาให้ความรู้ในเรื่องนี้

หลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูง (WHB) จะยังดำเนินต่อไปโดยจะมีการปรับขัดเกลาให้ทันต่อเหตุการณ์โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ผศ.ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง กล่าวในตอนท้ายว่า “เราพยายามผลักดันให้สิ่งนี้เกิดขึ้นและทำให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีในการป้องกันรักษาโรคได้ง่ายขึ้นในราคาไม่สูงมาก เพื่อที่ตัวเขาเองและรัฐจะไม่ต้องเสียงบประมาณจำนวนมากไปในกระบวนการรักษาซึ่งเป็นปลายเหตุ เราพยายามที่จะทำให้คนเข้าใจว่าสุขภาพดีของเราจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในระดับปัจเจก ในระดับหน่วยงานที่จะต้องดูแลรับผิดชอบ ในระดับธุรกิจที่จะต้องบริการ แต่ยังไม่มีนิยามที่ชัดเจน เราต้องการจะนิยามให้คนรู้”

X

Right Click

No right click