January 22, 2025

รวิวร มะหะสิทธิ์ กับ MEB ที่ภาคภูมิใจสู่ Pixipe ที่ตั้งความหวัง

December 06, 2017 1714

หลายคนคงไม่คาดคิดว่า App MEB สำหรับอ่านอีบุ๊ค ที่รู้จักกันดีในตลาดหนังสือออนไลน์นั้น มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มคนที่มีใจรักการอ่าน พร้อมด้วยวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกลว่า วงการหนังสือไทย ต้องเตรียมรับมือกับการเข้ามาของดิจิทัล เช่นเดียวกับหลายอุตสาหกรรม ที่พยายามทางออกกับการเปลี่ยนแปลงนี้

 

ซึ่งดูเหมือนว่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง ที่มีเส้นทางจากบริษัท IT Start Up กระทั่งปัจจุบันที่ได้การตอบรับจากนักอ่านเป็นอย่างดี จนผลงานเข้าตาร้านขายหนังสือและเครื่องเขียน B2S ของกลุ่มเซ็นทรัล ส่งผลทำให้ บ.เมพคอร์ปอเรชั่น ได้พันธมิตรที่สำคัญเข้าร่วมลงทุนเข้าซื้อหุ้น MEB ถึงจำนวน 75% 

 

ผู้บริหารบริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น “รวิวร มะหะสิทธิ์” เปิดใจกับนิตยสาร MBA ว่า MEB เริ่มมาจาก Engineer ซึ่งตนเป็น Engineer ที่รักในหนังสือ และการเป็นคนในวงการไอที ที่เรียนจบมาทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งมีช่วงหนึ่งได้เป็นเบื้องหลังของการพัฒนาระบบนั้น ส่วนหนึ่งจึงเป็นความได้เปรียบที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุด คือต้องอาศัยความสนใจส่วนตัว เพราะไม่ได้หมายความว่าคนที่จบ Engineer ทุกคนจะมาทำอีบุ๊คได้ ถ้าไม่มีความเข้าใจในธุรกิจหนังสือ แต่เป็นความลงตัวของ Engineer ที่รักหนังสือ จึงทำสิ่งนี้ออกมาได้ และเมื่อมาถึงปัจจุบัน MEB ก็เข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว ช่วงหนึ่งในชีวิต เราเคยมีโอกาสทำสำนักพิมพ์มาด้วยซ้ำ เป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ ในเวลานั้น เราได้เห็นข้อจำกัดของคนที่พิมพ์หนังสือหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของร้านหนังสือ การจัดส่งหนังสือ สายส่ง กระบวนการทั้งหมดนี้ ทำให้เราเห็นปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อมาถึงจุดที่คิดจะทำร้านอีบุ๊คของตัวเองขึ้นมา จึงต้องคิดถึงปัญหาต่างๆ ที่เคยเจอ 

 

ซึ่งปัญหาทั้งหลายที่กล่าวมานั้น เมื่อเป็นร้านอีบุ๊คจะสามารถตัดปัญหาทั้งหมดที่ร้านหนังสือมี นับตั้งแต่ไม่มีต้นทุนค่าวางจำหน่าย นักเขียน ได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่เหมาะสม ไม่มีการรับหนังสือที่กว้าง ไม่จำกัดแนว นอกจากนี้ ในอดีตที่ขายหนังสือ จะมีปัญหาเรื่องการรู้ยอดขายช้า บางครั้งใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะรู้ว่าขายได้จำนวนกี่เล่ม ซึ่งเป็นข้อจำกัดทำให้การวางแผนธุรกิจทำได้ยาก ในขณะที่ระบบของอีบุ๊ค จะทำให้เจ้าของผลงานสามารถเช็คยอดขายได้ทันทีที่หนังสือวางขาย หรือในมิติของการเงิน ก็จะมีอัตราการรีเทิร์นที่เร็วมาก เพราะในอัตราขั้นต่ำเพียง 100 บาทก็มีการจ่ายค่าเรื่องให้นักเขียนแล้ว นั่นหมายความว่า เป็นการเปิดช่องให้นักเขียนรายย่อย มีผลงานสามารถทำเงินสร้างรายได้ ไม่ต้องระดับเงินหมื่นเงินแสนถึงจะวางบิล เงินจะโอนเข้าบัญชีให้โดยอัตโนมัติ 

 

“สิ่งเหล่านี้ คือการตอบโจทย์ธุรกิจ ตอบโจทย์คนทำหนังสือโดยตรง” และไม่เพียง MEB เท่านั้นที่โต ยังทำให้ตลาดอีบุ๊คเติบโตไปด้วย เพราะเป็นคนที่ทำหนังสือมาก่อน ทุกอย่างทำไปบนพื้นฐานของความเข้าใจ คนที่เข้ามาร่วมงานด้วยรู้ว่า เราเข้ามาในธุรกิจนี้เพราะเรารักหนังสือ และอยากให้คนที่ทำหนังสือมีโอกาส มีทางออก รุ่งเรืองขึ้น ดีขึ้น”

 

 

Pixipe ครีเอทีฟมาร์เก็ตเพลสออนดีมานด์

รวิวร เล่าต่อว่า ทุกวันนี้ MEB เป็นอีบุ๊คมาร์เก็ต เพลส ที่ได้รับการตอบรับเป็นผู้นำอันดับต้นๆ ของตลาด e-Book Reader เป็นที่มาของการขยายมาสู่การสร้างมาร์เก็ตเพลส ในหลักการของการนำ Content อีกแบบหนึ่ง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานและแนวคิดที่ว่า จะสามารถสร้างมาร์เก็ตเพลส จาก Content อื่นได้หรือไม่ และรูปแบบไหนที่ยังไม่มีใครเข้ามา แต่มีตลาดรองรับอยู่ เช่น “เพลง” ที่ไม่ทำเพราะมีผู้เล่นรายอื่นทำแล้ว และตลาดมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง หรือ “หนัง” มีแต่จะล้มหายตายจาก ไม่ค่อยมีตลาด” ส่วน Rising Star คือ ทุกวันนี้ที่เราเล่นโซเชียลฯ กัน จะเห็นว่ามี Creator หน้าใหม่เกิดขึ้นในวงการอย่างมากมาย ทั้งคนที่วาดรูป คนสร้างสรรค์ต่างๆ จะเห็นว่ามี Content ดีๆ จำนวนมหาศาล จึงเป็นที่มาของการนำ Content ของ Creator มาทำ Pixipe ซึ่งเป็นมาร์เก็ตเพลส และที่สำคัญคือไม่ใช่เป็นเพียงแค่ ครีเอทีฟมาร์เก็ตเพลสทั่วไป แต่เป็นครีเอทีฟมาร์เก็ตเพลส ออนดีมานด์ โดยปกติแล้ว รูปแบบของรีเทล จะต้องมีการผลิตสินค้า รวมถึงมีสต๊อกสินค้ามารอไว้ ทำให้สินค้าที่วางขายไม่มีความหลากหลาย เพราะติดเรื่องของการสต๊อก แต่หากเป็น Pixipe เราผลิตสินค้าให้ลูกค้าตามออร์เดอร์ ทำให้มีคอลเลกชั่นเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้ามาก ไม่ได้มีเฉพาะของที่ขายได้ แต่มีทั้งของที่ขายได้ ของที่ได้รับความสนใจ ของที่มาเป็นกระแส ของที่มีการเคลื่อนไหว สิ่งเหล่านี้จะมีพื้นที่บน Pixipe ทุกวัน

 

มองโอกาสใหม่ที่มากับดิจิทัลในอนาคต

ธุรกิจในวันนี้ยังคงโฟกัสที่ MEB และโฟกัสไปที่ Pixipe เพราะเป็นมาร์เก็ตเพลสเปิดใหม่ของเรา ที่เชื่อมั่นว่ามีศักยภาพเต็มเปี่ยม เพราะถ้าจะเปรียบเทียบจากมูลค่าตลาดหนังสือที่ประมาณ 1 – 1.2 พันล้านบาท แต่ธุรกิจแฟชั่นรีเทลนั้นมีมูลค่าตลาดสูงถึงหลักแสนล้านบาท นั่นหมายถึงเรากำลังรุกคืบไปสู่ตลาดซึ่งแชร์มากกว่า และมีมาร์เก็ตไซซ์ที่ใหญ่กว่า

 

 

MEB เป็น Cash Cow ที่มั่นคงและเรายังไม่เปิดมุมใหม่ในวันนี้ ถึงแม้ว่าบางคนอาจนิยามว่า เราไม่ใช่สตาร์ทอัพ เพราะเรารุ่งไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงเราไม่ได้ยึดติดว่าจะไม่ทำอะไรอื่นต่อไปอีก เราเลือกที่จะถอยกลับมาเป็นสตาร์ทอัพเพื่อที่จะแข่งขัน การนับหนึ่งใหม่ในโปรเจค Pixipe ถือว่ามีความท้าทายใหม่ โอกาสใหม่ มีความยากแบบใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่กลัว ตรงนี้เองที่จะนิยามได้อย่างชัดเจนว่าเป็นสตาร์ทอัพตัวจริง

 

เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการ 

Last modified on Wednesday, 06 December 2017 03:48
X

Right Click

No right click