×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

รวิวร มะหะสิทธิ์ สร้าง MEB สู่สังเวียน e-book Market Place

December 11, 2017 5963

จากแรงบันดาลใจของ รวิวร มะหะสิทธิ์ ในการสร้าง MEB ที่โดยแบคกราวน์แล้วเป็นคนในสายวิศวกร จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ด้วยความที่เป็นวิศวกรที่รักหนังสือมาก และในช่วงหนึ่งเคยเปิดสำนักพิมพ์ขึ้นมา ทำให้เห็นปัญหาและข้อจำกัดของวงการหนังสือ และรูปแบบการขายในขณะนั้น เมื่อถึงจังหวะที่ลงตัวของเทคโนโลยีและธุรกิจในปี 2554 จึงได้เปิดตัว MEB eBook Market Place ที่ติดอันดับ 1 ในใจของนักอ่านเมืองไทยมาจนถึงวันนี้

รวิวร เล่าถึงสถานการณ์ ในช่วงแรก ต้องถือว่า eBook ยังเป็นสิ่งที่ใหม่มาก และคนไทยยังติดกับการอ่านหนังสือในกระดาษ ยังมีคำถามว่าเราจะอ่านหนังสือจากหน้าจอได้อย่างไร การเริ่มต้นจึงมีการผลักดันค่อนข้างมาก ทั้งในส่วนของนักอ่านที่ต้องสร้างความเข้าใจถึงความสะดวกในการอ่าน รวมทั้งในด้านนักเขียนว่าจะมีคนซื้ออ่านหรือเปล่า อย่างที่กล่าวว่า ก่อนที่จะมี eBook ผลงานเล่มหนึ่งของนักเขียน จะไปสู่มือนักอ่านตามแผงหนังสือได้นั้น มีกระบวนการที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การพิจารณาจากกองบก. ของสำนักพิมพ์ การจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม ส่งผ่านสายส่ง ไปยังร้านหนังสือ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ นักเขียนไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ถือเป็นห่วงโซ่ที่ยาว เมื่อมาเป็น eBook แล้ว เจ้าของผลงานสามารถส่งหนังสือขึ้นมาในระบบของ MEB ไปถึงมือนักอ่านที่สามารถ Load ซื้ออ่านได้ทันที

วาทกรรมนักเขียนไส้แห้ง ใช้ไม่ได้แล้วในวันนี้ วันที่เครื่องมือและเทคโนโลยีเข้าถึง มีรูปแบบและอุปกรณ์ให้อ่าน มีร้าน eBook ผู้ที่ใช้เครื่องมือเป็นและถูกวิธีสามารถทำประโยชน์จากสิ่งนี้ได้ ในอดีตต้องมีการตีพิมพ์เป็นเล่ม การแบ่งรายได้จึงเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง แต่เมื่อเป็น eBook นักเขียนหรือสำนักพิมพ์สามารถต่อตรงกับนักอ่านได้ และไม่มีต้นทุนของค่าการจัดพิมพ์ และค่าสายส่ง เจ้าของผลงานจะมีรายได้ประมาณ 70-80% ของราคาขายเลยทีเดียว นักเขียนที่ทำการตลาดถูกต้อง สื่อสารกับนักอ่านได้ดี มีผลงานอย่างต่อเนื่อง จึงเรียกว่าอยู่ได้อย่างสบายๆ

 

 รวิวร มะหะสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

 

ปัจจุบันนักเขียนใน MEB มีอยู่ถึง 4-5 พันราย และมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะนักอยากเขียนก็สามารถเขียนได้และ ถ้าไม่หยุดเขียน วันหนึ่งเขาก็สามารถกลายเป็นนักเขียนตัวจริง ใน MEB วันนี้เราไม่ได้จำกัดรูปแบบแต่การขายเฉพาะเป็นรูปเล่ม เราพัฒนาระบบเพื่อให้นักเขียนขายเป็นรายตอนได้ นักเขียนจึงสามารถทำรายได้จากงานที่กำลังเขียนอยู่ และเรื่องราคาเป็นการตั้งราคาจากคุณค่าที่นักเขียนคิดกับราคาที่นักอ่านตอบรับ ขณะเดียวกันจำนวนหนังสือที่มีจำหน่าย เรามีหนังสือประมาณกว่า 60,000 เล่มและมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนนักอ่านจะถึงประมาณ 12 ล้านรายภายในปีหน้า

สำหรับคนที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชม MEB และยังไม่รู้จักเรามีหนังสือฟรีให้อ่านถึงกว่า 5,000 เล่ม หรือแม้แต่หนังสือขาย ทุกเล่มก็มีตัวอย่างให้ทดลองอ่าน หลายเล่มให้ทดลองอ่านถึงกว่า 60% -70% ของทั้งหมด สามารถตัดสินใจซื้อเพื่ออ่านตอนคลายปมก็ยังได้ หนังสือที่จำหน่ายใน eBook จะมีทั้งหนังสือประเภทเดียวกันกับร้านหนังสือ และบางส่วนที่มากกว่าในร้าน สำหรับธุรกิจหนังสือระยะนี้จะเห็นว่า ในหมวดข่าว และ non-Fiction จะได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากหาอ่านได้จากโซเชียลมีเดียต่างๆ แต่ส่วนที่เป็น Fiction ยังคงได้รับสนใจจากนักอ่าน ทำรายได้เป็นอย่างดี และหนังสือที่เป็น eBook มีแนวโน้มราคาที่ถูกกว่าหนังสือที่เป็นเล่มประมาณ 15% ขึ้นไป เพราะการเป็น eBook ไม่มีค่าจัดจำหน่าย เจ้าของผลงานจึงสามารถนำมาเป็นส่วนลดให้ผู้บริโภคได้

อยากจะเสริมว่า เราจะไม่พูดว่าหนังสือเล่มหรือ eBook ดีกว่ากัน แต่เราจะพูดว่า eBook มีคุณค่าในรูปแบบของมัน ซึ่งแตกต่างจากหนังสือเล่มที่มีคุณค่าในอีกแง่มุมหนึ่ง ในมิติของ eBook คุณสามารถนำติดตัวไปได้ทุกที่ที่มีอุปกรณ์ และในอุปกรณ์เครื่องหนึ่งสามารถจุหนังสือได้เป็นพันเล่ม eBook สามารถปรับขนาดตัวหนังสือในระดับที่สบายตา ไม่เปลืองพื้นที่จัดเก็บในบ้าน นักอ่านในต่างประเทศสามารถซื้อได้ในราคาเดียวกัน และได้รับในเวลาเดียวกันอีกด้วย

สำหรับ MEB ตั้งแต่จุดเริ่มที่ไม่ได้มีเงินทุนมหาศาล นั่นเพราะรูปแบบการทำธุรกิจของแต่ละคนจะแตกต่างกันตามสไตล์ของผู้บริหาร ดังนั้นการทำอะไรจึงต้องเริ่มจากพื้นฐาน และรากฐานของธุรกิจหนังสือก็คือผู้สร้างสรรค์ผลงานนั่นเอง การที่เราทำงานร่วมกันกับทั้งสำนักพิมพ์ และนักเขียนให้ดีที่สุดแล้วนั้น สุดท้ายคนเหล่านั้นจะเป็นกระบอกเสียงให้เราสู่นักอ่านเป็นจำนวนล้านคนได้เอง สิ่งนี้ผมมองว่าเป็นหัวใจของการทำธุรกิจอีกแบบหนึ่ง การที่เราเริ่มจากโลว์โพรไฟล์ ไม่มีทุนมาก ไม่ใช่ข้ออ้างที่เราจะทำอะไรไม่ได้ แต่มันกลับบอกว่าคุณไม่สามารถใช้วิธีปกติที่ทุนเยอะๆ ทำได้ คุณต้องกลับไปที่รากฐานของมัน แล้วเดินจากรากฐานไปที่ปลายทาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางที่ MEB เดินมาโดยตลอด และเรายังจับมือกับแอพฯ ของร้านหนังสือต่างๆ ที่มีแฟนคลับของตัวเอง เราเข้าไปช่วยเติมเต็มในส่วนที่ขาดทางด้านเทคโนโลยี เรียกว่าเราเดินทางไกลแบบไม่เดินคนเดียว เราเดินไปกับเพื่อนๆ

การทำ eBook เราทำลายข้อจำกัด เราแก้ไขปัญหาให้หลายคน เราพานักเขียนและสำนักพิมพ์มาพบนักอ่านได้ ทำให้หลายคนสร้างสรรค์ผลงานได้โดยไม่ต้องติดกรอบกับรูปแบบเดิมๆ ในกระแสหลัก สามารถทำงานแนวทดลอง ทำงานให้นักอ่านที่เป็นแฟนประจำ เราภูมิใจที่ตอบสนองเขาได้ ที่สำคัญเรายังได้ตอบแทนสังคม เพราะหนังสือเป็นพื้นฐานของการสร้างชาติ MEB ร่วมมือกับเซ็นทรัลทำโครงการ “The 1 Book E-Library” เป็นแอปพลิเคชันห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ให้นักศึกษา และนักเรียน เข้ามาใช้บริการอ่านหนังสือหลายพันเล่มได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ปัจจุบันนี้มีใช้อยู่หลายพันโรงเรียน และมีการใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง

รวิวร ทิ้งท้ายไว้ว่า จินตนาการเป็นสิ่งที่อยู่กับเราทุกคน แต่บางครั้งเราไม่ได้เผยแพร่ออกมา เพราะเรากังวลว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร อันที่จริงเราต้องให้ความสำคัญกับจินตนาการ เพราะมันเป็นรากฐานของจิตใจ รวมทั้งเป็นพื้นฐานในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในอนาคต นักเขียนอาจจะสร้างสรรค์ออกมาเป็นงานเขียน ในฐานะของคนเล่าเรื่อง อาจจะออกมาเป็นนักพูด ในฐานะที่เป็นโปรแกรมเมอร์ วิศวกร อาจจะเผยจินตนาการออกมาเป็นการสร้างสรรค์ชิ้นงานต่างๆ จินตนาการจึงเป็นเหมือนเด็กน้อยในใจที่เราต้องให้เวลาฟูมฟักให้มันเติบโต อย่าปล่อยให้มันตายจากเราไป

MEB มาถึงจุดนี้ เราเป็นสตาร์ตอัพที่ไม่ค่อยเหมือนใคร เราอยู่กับตัวของเราเอง มีความเชื่อของตัวเองค่อนข้างมาก เราไม่ได้เข้าไปที่เวทีปกติของแนวสตาร์ตอัพ ไม่เคยพิชชิ่ง เราไปในแนวของเราที่เราเชื่อว่าสิ่งนี้ดี และดีกับคนรอบข้าง เราจึงเดินไปตามความเชื่อของเรา ระหว่างที่เราเดินทางไป อาจจะมีคนที่คิดคล้ายเรา แต่สุดท้ายวิธีการเดินก็แตกต่างผลลัพธ์ก็แตกต่างกัน เราหาจุดแข็งของเราให้เจอ แล้วเราเดินไปตามจุดแข็งของเราอย่างแน่วแน่ และระหว่างการเดินมีสิ่งรอบข้างอะไร ก็ให้มันเข้ามากระทบใจเราให้น้อย เราจะเดินไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Tuesday, 15 March 2022 18:07
X

Right Click

No right click