×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

1. บทนำ ในยุคเทคโนโลยี 5G ที่มีความเร็วในการส่งข้อมูลสูงกว่า 4G ถึง 10 เท่าเป็นอย่างต่ำ โดยจะใช้แถบความกว้างของความถี่ในระดับ 50 - 100 MHz ซึ่งจะทำให้หุ่นยนต์และมนุษย์ทำงานร่วมกันในโรงงาน และในโรงงานจะทำหน้าที่เหมือนวง ดนตรีที่เล่นเพลงเดียวกันอย่างไพเราะด้วยเครื่องดนตรีที่หลากหลาย นอกจากนี้หุ่นยนต์จะเชื่อมต่อเข้ากับระบบคลาวด์ (Cloud robotics) ได้แบบเรียลไทม์ เพื่อความปลอดภัยและสั่งการควบคุมกระบวนการ ซึ่ง 5G ไม่ได้มีการก้าวกระโดดแค่เรื่องความเร็ว   แต่จะมีการเพิ่มจำนวนเครือข่ายที่สามารถเชื่อมต่อกันได้มากขึ้นและ สามารถรองรับการใช้งานผ่านอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ได้ถึงล้านล้านชิ้น อุปกรณ์ทั่วโลกซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน 5G ที่มีการวางไว้แล้ว

ทั้งนี้การวิเคราะห์และการคาดการณ์จากสำนักวิจัยหลายสำนักสามารถสรุปได้ว่า อุตสาหกรรมสื่อและโทรคมนาคมจะถูกพลิกโฉมอย่างที่ไม่เหลือรูปแบบเดิมๆ ประมาณช่วงปี 2023-2025 (หลังจากการประกอบร่างของ AI และ Big data สำเร็จ) ตามมาด้วยอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารและค้าปลีกในช่วงปี  2025  (หลังจากการประกอบร่างระหว่าง AI, Big data และ Blockchain สำเร็จ) ไปจนถึงอุตสาหกรรมพลังงานในปี  2030  (หลังจากการประกอบร่างระหว่าง  AI,  Big data, Blockchain และ Energy storage สำเร็จ)  ซึ่งหลังจากปี  2030  จะเป็นภาพจริงของการอพยพจากอุตสาหกรรมเก่าเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) อย่างสมบูรณ์แบบ

การให้บริการ Mobile broadband กำลังก้าวไปสู่ระบบ 5G โดยมีแผนที่จะวางโครงข่ายครั้งแรกในหลายประเทศไม่เกินปีนี้ (ปี 2018) ซึ่งถือได้ว่าเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ถึง 2 ปี ทั้งนี้เป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรง ในความพยายามที่จะผลักดันให้การบริการ Mobile broadband ที่สามารถให้บริการ Digital platform ในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก

ความต้องการเพิ่มความเร็วเครือข่ายในระดับ Gbps และการมีแอพพลิเคชั่นที่ หลากหลาย ส่งผลทำให้ 5G มีผลกระทบต่อบทบาทและขอบเขตของการให้บริการ โทรคมนาคมอย่างมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาในการให้บริการทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การเงินการธนาคาร, ประกันภัย, การขนส่ง, ค้าปลีก บันเทิง ไปจนถึง พลังงาน

เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้กลายเป็นเครื่องมือหลักของการเข้าถึงการเชื่อมต่อระหว่างคนด้วยกันเอง   และระหว่างคนกับอุปกรณ์หรือเครื่องจักร   และจะส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงระบบเมืองอัจฉริยะด้วยการเชื่อมโยงของ Internet of Things  (IoT), รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง,  หุ่นยนต์,  Virtual Reality (VR), Big Data เป็นต้น โดยจุดเด่นของ 5G ที่สำคัญได้แก่

(1) เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G จะกลายเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงเครือข่ายสำหรับเชื่อมต่อระหว่างคนด้วยกันเอง และระหว่างคนกับอุปกรณ์หรือเครื่องจักร โดยเครือข่ายเหล่านี้จำเป็นจะต้องพัฒนาปรับปรุงเครือข่าย ทั้งในแง่ของคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัย

(2) 5G  จะผลักดันให้วิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ตมุ่งเน้นไปที่พื้นฐานสำคัญ 2 ประการ นั่นคือความจุเครือข่าย (ความเร็วในการส่งข้อมูล) และความสามารถในการเชื่อมต่อที่หนาแน่น เพื่อลดปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นคอขวดจากการเพิ่ม ขึ้นของ real-time videos

(3)  ความสามารถในการรับส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็วของ  5G  ในระดับ  Gbps  จะทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันในเมืองอัจฉริยะทำได้แบบ real time ส่งผลให้สภาพแวดล้อมภายในเมืองมีประสิทธิภาพในการบริหาร ทรัพยากรมากขึ้น  เช่น  การควบคุมจราจร  จะพัฒนาได้มากเมื่อสามารถวิเคราะห์ สภาพถนนได้แบบ real time โดยการใช้กล้อง IP ที่ชาญฉลาด

(4) การสำรวจของอีริคสันพบว่าร้อยละ 95 ของผู้นำด้านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เชื่อว่า 5G จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการใช้ข้อมูลปริมาณมหาศาลจากอุปกรณ์ IoT ซึ่งผลสำรวจยังกล่าวถึงการนำ 5G มาใช้ โดยร้อยละ 64 จะใช้เครือข่ายโทรศัพท์ เคลื่อนที่ในการส่งผ่านข้อมูลไปยังอุปกรณ์ต่างๆ โดยใช้เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แทนการเชื่อมต่อ WiFi, ร้อยละ 38 ใช้ดำเนินการด้านสุขภาพ เช่น บริษัท เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพสามารถใช้อุปกรณ์  IoT ในการเชื่อมต่อ 5G เพื่อตรวจสอบผู้ป่วยที่กำลังฟื้นตัวจากการรักษา, ร้อยละ 36 ใช้ในการควบคุมระยะไกลแบบ real time เช่น  บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใช้การเชื่อมต่อ 5G เพื่อสำรวจและ ตรวจสอบความพร้อมและความผิดปกติของระบบต่างๆ

สำหรับมุมมองของโนเกียเชื่อว่าเครือข่าย 5G จะทำให้ผู้ใช้งานระบบเสมือนจริง สามารถทำงานร่วมกันได้ราวกับว่าอยู่ใกล้กัน ซึ่งอาจจะดูเหมือนวิดีโอเกมยุคใหม่ และการทำงานร่วมกันจากระยะไกลโดย 5G จะทำให้เกิดความเป็นไปได้ใน การนำระบบอัตโนมัติมาใช้กับทุกสิ่งทุกอย่าง โดย 5G จะสร้างแพลตฟอร์มเพื่อ บริหารจัดการด้วยการเชื่อมโยงสู่ Cloud robotics

Facebook ประกาศว่าโครงการ Telecom Infra Project เป็นความคิดริเริ่มในการออกแบบเพื่อปรับปรุงโครงสร้างเครือข่ายโทรคมนาคมใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับ ความต้องการใช้งานข้อมูลที่มีเพิ่มขึ้นของโลก อีกทั้งบริษัทเครือข่ายทางสังคม (Social media)ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และผู้จำหน่ายอุปกรณ์ เช่น Nokia, Intel และ Deutsche Telekom เพื่อให้สามารถดำเนินการรับมือกับการใช้งานข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นระบบ VR และการ ดูวิดีโอออนไลน์ เป็นต้น

หนึ่งในจุดเด่นของ 5G คือความสามารถในการลดความหน่วงเวลาได้อย่างมาก (Ultra-low latency) เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับรถยนต์ได้อย่างต่อเนื่องแบบ Real time ซึ่งสามารถพัฒนาความปลอดภัยของยานพาหนะได้อย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น ความหน่วงเวลาที่ต่ำของ 5G จะช่วยให้เครือข่ายหุ่นยนต์สามารถดำเนินงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้

นอกจากนี้เทคโนโลยีเครือข่าย 5G ยังเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จสำหรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ยุคใหม่ ที่มีการควบคุมแบบไร้สายมากกว่าการสื่อสารแบบมีสายและการจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ (Cloud robotics) ด้วยความสามารถเหล่านี้  ทำให้หุ่นยนต์สามารถถูกควบคุมการเคลื่อนที่ ได้อย่างแม่นยำและ real time มากที่สุด และสามารถเชื่อมได้กับทั้งคน เครื่องจักร อุปกรณ์ทั้งในประเทศและทั่วโลก

ความท้าทายที่สำคัญของผู้ให้บริการเครือข่าย 5G ในอนาคต ได้แก่ มาตรฐาน การให้บริการ การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งความ ท้าทายของเทคโนโลยีเครือข่าย 5G จะต้องมุ่งเน้นการเชื่อมต่อของสังคมดิจิทัล (Digital Society) ในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยมีปัจจัยสำคัญประกอบด้วย

  • ระบบเครือข่ายที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นทำให้เครือข่ายเคลื่อนที่และอุปกรณ์ สามารถเชื่อมต่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งในอดีตที่ผู้ให้บริการต้องพบกับข้อจำกัดต่างๆ
  • สามารถเชื่อมต่อองค์ความรู้ที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเติบโตของอินเทอร์เน็ต การให้บริการคลาวด์ และการวิเคราะห์ Big Data
  • การขับเคลื่อนนวัตกรรม 5G โดยการเปลี่ยนผ่านและหลอมรวมทางเทคโนโลยี (Technology convergence)และโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT จะผลักดันให้เกิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการในทุกอุตสาหกรรม

ในอนาคตข้างหน้า 5G จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในการใช้ ในชีวิตประจำวัน การทำงาน และบันเทิง ซึ่งถือว่าเทคโนโลยี 5G จะเป็นหนึ่งในผู้เปลี่ยนเกมการให้บริการและ Business model ในอุตสาหกรรมทุกอุตสาหกรรมและ ทุก Digital platform และแน่นอนความเสี่ยงด้านไซเบอร์ก็จะทวีคูณขึ้นเป็นเงาตาม ตัวด้วยความเร็วในระดับ 5G เช่นกัน

มีการคาดการณ์จากนักอนาคตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ไว้ว่า TV ในอนาคต อาจจะเป็นเพียงพลาสติกใสบางๆ และในที่สุดจะเป็นภาพลอยขึ้นมาแบบสามมิติ ด้วย content ที่ผลิตผ่าน social media ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 10 ปีจากนี้

อย่างไรก็ตามรูปแบบอนาคตของ TV ณ ขณะนี้ยังเป็นการต่อสู้ระหว่าง 5G และ social media เช่น Facebook, Google, Youtube และ social media อื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นความสั่นสะเทือนวงการ TV ดั้งเดิมเป็นอย่างมาก

หลังจากการวางเคเบิ้ลไฟเบอร์ออฟติกใต้น้ำ (submarine optical cable) ตั้งแต่ปี 2000 ที่มีการแข่งขันกันกันสูงมากจนทำให้โลกถูกเชื่อมโยงด้วยทางด่วนข้อมูลใต้น้ำอย่างสมบูรณ์ จึงเป็นผลทำให้ราคาค่าเชื่อมโยงผ่านเคเบิ้ลใต้น้ำมีราคาถูกกว่า การเชื่อมโยงด้วยดาวเทียม และยังมีความเร็วสูงกว่าการส่งข้อมูลด้วยดาวเทียมอีกด้วย ผลกระทบดังกล่าวจึงทำให้ระบบ Mobile broadband มีต้นทุนในการส่ง content ถูกกว่าด้วยการส่ง content ผ่านระบบดาวเทียมเป็นอันมาก ยิ่งไปกว่านั้น ขีดความสามารถของโครงข่าย Mobile broadband มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด พร้อมทั้งการเข้าถึงของประชากรโลกมีความง่ายดายด้วย smart devices ที่มีราคาที่ ทุกคนสามารถหาซื้อได้ โดย GSMA คาดการณ์ว่ากว่า 70% ของประชากรโลกจะมี smartphone ใช้ภายในปี 2020 (ณ ขณะนี้ปี 2018 มีถึง 66%)

การให้บริการ Mobile broadband 5G ทำให้ผู้ให้บริการโครงข่าย (Network operators) จะต้องหาวิธีการรับมือกับปริมาณข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการใช้งานของ เทคโนโลยีไร้สายยุคใหม่ ที่มีการใช้งานเครือข่ายที่หนาแน่นมาก โดยขณะนี้ AT&T ได้ทดลองการให้บริการเครือข่าย 5G เพื่อแพร่ภาพโทรทัศน์ที่มีชื่อ โครงการว่า DirecTV Now  ซึ่งให้บริการวิดีโอออนดีมานด์ (VDO on demand) ในรูปแบบสตีมมิ่ง และได้เริ่มทดลองแพร่ภาพในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2017 ใน เมืองออสติน รัฐเท็กซัส  ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว

AT&T ทำการทดลองแพร่ภาพสตรีมมิ่งเป็นครั้งแรกผ่านโครงข่าย 5G โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อ "ทำให้เครือข่าย 5G สามารถให้บริการแทนระบบสายเคเบิ้ล" ซึ่งขีดความสามารถตามมาตรฐานของเทคโนโลยี 5G ได้ถูกกำหนดไว้โดย สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)  เพื่อสามารถรองรับการใช้งานรับส่ง ข้อมูลปริมาณมากๆ เช่น วิดีโอ  ได้อย่างมีประสิทธิภาพแบบ real time อีกทั้งยัง สามารถรองรับการให้บริการด้านบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ในอนาคตได้อีกด้วย

ซึ่งการให้บริการเช่นนี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการอวสานของ “เคเบิ้ลทีวี” ที่ กำลังจะมาถึงเร็วๆนี้ ด้วยบริการเครือข่ายไร้สาย 5G ที่มีราคาถูกกว่า,   มีประสิทธิภาพดีกว่าและเข้าถึงผู้ชมได้ง่ายกว่าด้วย smartphone ที่มีขีดความ สามารถสูงและราคาถูก

5G ถือเป็นเทคโนโลยีเครือข่ายไร้ที่มีเป้าหมายให้สามารถบริการด้วยความเร็วที่ สูงกว่าเครือข่าย 4G ถึง 100 เท่า โดยสามารถดาวน์โหลดด้วยความเร็วถึง 14 Gbps ซึ่งหากเทียบกับความเร็วสูงสุดที่ AT&T ให้บริการบนเครือข่าย 4G ใน ประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ ณ ขณะนี้ ที่มีความเร็วสูงสุดในการดาวน์โหลดอยู่ที่ 14 Mbps เท่านั้น

ผู้ให้บริการโครงข่าย (Network operators) หลายรายในสหรัฐฯ ต่างมุ่งผลักดัน เพื่อการให้บริการแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็น Verizon Wireless, AT&T, Sprint และ T-Mobile ต่างก็เริ่มมีการทดสอบการให้บริการเครือข่าย 5G กันไปบ้างแล้ว ซึ่งใน ปี 2017 ที่ผ่านมาเป็นปีแห่งการทดสอบเครือข่าย 5G ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่ง จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการภายในปี   2018

อย่างไรก็ตามในขณะที่ผู้ให้บริการโครงข่าย 5G (Network operators) พยายาม แย่งชิงเพื่อที่จะเป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรม TV แต่ Facebook ก็ได้ประกาศไปแล้วว่า กำลังจะเริ่มให้บริการแพร่ภาพแบบสตรีมมิ่ง (Streaming videos) ผ่านแพลตฟอร์ม หลักของ Facebook โดยสามารถแสดงผลบนจอ TV แบบปกติโดยผ่านอุปกรณ์ เช่น Apple TV หรือ Google Chrome-cast ซึ่งการให้บริการดังกล่าวจะทำให้ สามารถรับชม Facebook videos บนจอขนาดใหญ่ได้ ซึ่งจะทำให้ social media เพิ่มความสามารถในการให้บริการเสมือนเป็นสถานีโทรทัศน์

นับจากนี้ไปสงครามชิงดำเพื่อยึด Landscape ใหม่ของ TV คงจะระอุอย่างยิ่ง ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ยากในการคาดการณ์ว่าจะจบลงในรูปแบบใด

 


บทความ โดย : พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ “Next-Gen. Leaders & Next-Gen. Mobile Tech” โดย พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กสทช. จากงาน Thailand MBA Forum 2018 ได้ที่นี่

 

 

 

 

รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่าก.ล.ต. ได้ออกประกาศที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลด้วยกระบวนการไอซีโอ และการให้ความเห็นชอบไอซีโอพอร์ทัล ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก.) แล้ว โดยจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 16 กรกฎาคม 2561

เนื่องจาก พ.ร.ก. กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะออกไอซีโอต้องผ่านการคัดกรองจากไอซีโอพอร์ทัล  ในชั้นแรกภายหลังประกาศที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับ ก.ล.ต. จึงจะพิจารณาให้ความเห็นชอบไอซีโอพอร์ทัลก่อน  โดยผู้ยื่นขอความเห็นชอบเป็นไอซีโอพอร์ทัลจะต้องเป็นบริษัทไทย มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน ตลอดจนบุคลากรที่เหมาะสมเพียงพอต่อการประกอบธุรกิจ และมีความพร้อมในการทำหน้าที่คัดกรองผู้ระดมทุน ประเมินแผนธุรกิจและโครงสร้างการกระจายโทเคนดิจิทัล ตรวจสอบชุดรหัสทางคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในกระบวนการไอซีโอ (ซอร์สโค้ด) ให้ตรงกับข้อมูลที่เปิดเผยทำความรู้จักตัวตนและสถานะของผู้ลงทุน ตลอดจนประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน เมื่อมีไอซีโอพอร์ทัลที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว ก.ล.ต.จะเริ่มพิจารณาคำขออนุญาตออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลของผู้ประสงค์ออกไอซีโอ  

ผู้ที่ประสงค์จะออกไอซีโอต้องเป็นบริษัทที่จัดตั้งภายใต้กฎหมายไทยที่มีแผนธุรกิจและข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือโทเคนดิจิทัลที่ชัดเจน มีการเปิดเผยซอร์สโค้ด แบบแสดงรายการข้อมูล ร่างหนังสือชี้ชวน และงบการเงินที่เป็นไปตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. 

โดยการออกไอซีโอแต่ละครั้งสามารถเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (ultra high net worth investors) นิติบุคคลร่วมลงทุน (venture capital) กิจการเงินร่วมลงทุน (private equity) ได้โดยไม่จำกัดวงเงิน  ส่วนการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายย่อยในแต่ละครั้งจะจำกัดวงเงินที่รายละไม่เกิน 300,000 บาท  นอกจากนี้ วงเงินรวมที่ขายผู้ลงทุนรายย่อย ต้องไม่เกิน 4 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าที่เสนอขายทั้งหมด  โดยผู้ออกไอซีโอสามารถรับชำระค่าโทเคนดิจิทัลเป็นเงินบาทหรือคริปโทเคอร์เรนซี ได้แก่ Bitcoin, Bitcoin Cash, Ethereum, Ethereum Classic, Litecoin, Ripple และ Stellar

เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. ยินดีให้ผู้ประสงค์จะขอความเห็นชอบเป็นไอซีโอพอร์ทัล เข้ามาหารือกับ ก.ล.ต. ในรายละเอียดได้ทันที เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการยื่นขอความเห็นชอบเมื่อประกาศมีผลบังคับใช้  และเมื่อมีไอซีโอพอร์ทัลที่ ก.ล.ต. เห็นชอบแล้ว ก.ล.ต. ก็พร้อมจะพิจารณาอนุญาตการออกไอซีโอต่อไป

ทั้งนี้ แม้เกณฑ์ที่ออกมาจะช่วยสร้างมาตรฐานในการออกไอซีโอ และเพิ่มกระบวนการคัดกรองเพื่อป้องกันผู้ลงทุนจากการถูกหลอกลวง  แต่การได้รับอนุญาตการเสนอขายโทเคนดิจิทัลจาก ก.ล.ต. ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันความสำเร็จของโครงการที่ระดมทุน ราคา หรือผลตอบแทน  ผู้ลงทุนยังมีโอกาสขาดทุน หรืออาจมีช่องทางการเปลี่ยนมือโทเคนดิจิทัลที่จำกัด  ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนและแน่ใจว่า สามารถยอมรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้ก่อนตัดสินใจลงทุน”

ผู้สนใจและผู้ประสงค์จะขอความเห็นชอบเป็นไอซีโอพอร์ทัล หรือสนใจออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลผ่านไอซีโอ สามารถดาวน์โหลดประกาศที่เกี่ยวข้องได้ที่ https://www.sec.or.th/digitalasset

ท่ามกลางการการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัล (Digital Disruption) ที่โลกต้องเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนผ่าน (Digital transformation) และการเข้ามาของบล็อกเชน และสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) นั้น จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กรุ๊ป ซีอีโอ บล็อกเชนแคปิตัล และอดีตผู้ก่อตั้ง Coins.co.th เผยความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ 

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จัดการประชุมเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมาพิจารณาเห็นชอบแนวทางกำกับดูแลการออกไอซีโอและการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล โดยคาดว่าจะออกประกาศที่เกี่ยวข้องได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้

                รายละเอียดโดยสรุปของเกณฑ์ที่จะออกมามีดังนี้

ผู้จะออกไอซีโอ Isuuer

ผู้ลงทุน Invester

ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล  ICO Portal ,ExChange, Broker, Dealer

-เป็นบริษัทตามกฎหมายไทย

-มีแผนธุรกิจชัดเจน

-มีงบการเงินผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด

-ข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือโทเคนชัดเจน

-เปิดเผยชุดรหัสคอมพิวเตอร์ (Source Code)

-เสนอขายผ่าน ICO Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. โดย ICO Portal ทำหน้าที่คัดกรอง โครงการและทำ KYC ผู้ลงทุน

-ผู้ลงทุนสถาบัน ลงทุนได้ไม่จำกัด

-ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ(Ultra High Net Worth) ลงทุนได้ไม่จำกัด

-กิจการร่วมทุน (Private Equity, Venture Capital)  ลงทุนได้ไม่จำกัด

-ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนได้ไม่เกิน 300,000 บาท

-วงเงินรวมที่ขายผู้ลงทุนรายย่อยไม่เกิน 4 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น หรือไม่เกิน 70% ของมูลค่าที่เสนอขายทั้งหมด

-ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี

-มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่าที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด

-สินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายเป็นไปตามข้อบังคับของศูนย์ซึ่งได้รับความเห็นขอบจาก ก.ล.ต.

 ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นชอบในการยกเว้นโทเคนดิจิทัลที่กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง (Utility Token) ซึ่งผู้ถือสามารถใช้ประโยชน็ได้ทันทีออกจากการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน นอกจากนี้ผู้ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่เทียบกับเงินบาท หรือให้บริการแลกเปลี่ยนระหว่าง Utiliy Token ด้วยกันที่ให้สิทธิประโยชน์เฉพาะในลักษณะเดียวกัน เช่น ระหว่างเหรียญในเกมส์ หรือแต้มสะสมคะแนนแลกสินค้าหรือบริการไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก.นี้

 ทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. บอกว่า หลักเกณฑ์ที่ออกมานี้พยายามหาจุดสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรม และการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยได้นำความเห็นจากทุกฝ่ายมาพิจารณา เกณฑ์ที่ออกมา อาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ไปด้วยกันระหว่างทางการและธุรกิจ

X

Right Click

No right click