January 22, 2025

ผ่าประสบการณ์ในบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกของ “ภรรททิยา โตธนะเกษม” นักกลยุทธ์หญิงสายเทคฯ แห่ง True Digital Group

April 17, 2024 2135

ในโลกเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง Women in Tech เป็นอีกหนึ่งหัวข้อสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้หญิงมีส่วนร่วมในวงการเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงการขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงที่มีอำนาจในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม บทบาทของผู้หญิงสายเทคสำหรับบางองค์กรก็ยังไม่มากเท่าที่ควร

แต่นั่นไม่ใช่ที่ “ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป” (True Digital Group: TDG) หน่วยธุรกิจซึ่งรับผิดชอบพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มีคนเก่งหลายคนรวมทั้ง ภรรททิยา โตธนะเกษม ร่วมนับหนึ่งตั้งแต่วันแรก และวันนี้ เธอยังคงทำหน้าที่เป็น “มันสมอง” ให้ TDG ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย Digital Growth Strategy

ค้นหาสิ่งที่ชอบ

ภรรททิยาเกิดและเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบข้ามวัฒนธรรม (Cross Culture) ในช่วงวัยเด็ก เธอได้รับทุน ASEAN Scholarship ของรัฐบาลสิงคโปร์ให้ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาต้นที่โรงเรียนชั้นนำของสิงคโปร์ ระบบการศึกษาที่นั่นมีการแข่งขันสูงแต่เธอก็ผ่านมาได้ด้วยความพยายาม หลังจากนั้น ภรรททิยามีโอกาสไปศึกษาต่อมัธยมตอนปลายเป็นเวลาสั้นๆ ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

แต่ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของครอบครัว เพื่อที่จะได้กลับมาใช้เวลากับครอบครัวและน้องสาวที่ตอนนั้นยังเล็ก ภรรททิยาจึงตัดสินใจกลับมาศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทย ในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (BBA) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้น เธอมีอายุเพียง 16 ปี การเลือกเรียนในสายบริหารธุรกิจนี้ ภรรททิยามีคุณพ่อคุณแม่ ศ.ดร.วรภัทร-กิตติยา โตธนะเกษม นักบริหารเลื่องชื่อของไทย เป็นแรงบันดาลใจ

ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากรั้วจามจุรีด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในวัยเพียง 20 ปี ภรรททิยาสมัครและได้รับคัดเลือกทุนการศึกษาระดับปริญญาโทจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง และได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่นั่นเป็นเวลาประมาณ 1 ปีกว่า แต่นั่นกลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งของชีวิต เพราะทำให้รู้ตัวว่าไม่ค่อยอินกับธุรกิจธนาคารเท่าใดนัก หลังจากได้คิดไตร่ตรองแล้วเธอจึงตัดสินใจสละสิทธิทุนการศึกษา เพื่อให้โอกาสตนเองได้ไปค้นพบประสบการณ์ด้านอื่น

ถึงแม้ภรรททิยายังไม่มีชั่วโมงทำงานที่มากพอ แต่ก็ได้ทดลองสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา และได้รับการคัดเลือกเข้าหลักสูตรปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (MBA) ที่ Harvard Business School

ภายในคลาสที่มีผู้เรียนราว 900 คนจากทั่วทุกมุมโลก วิธีการเรียนการสอนที่เน้นการอภิปราย และถกเถียงในชั้นเรียนแบบที่ต้องแย่งกันยกมือพูด เพราะถ้าไม่พูดก็อาจจะสอบตกวิชานั้น กลายเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับภรรททิยา ที่มีวัยวุฒิเด็กที่สุดและประสบการณ์ทำงานน้อยที่สุดในห้อง ในช่วงแรก เธอไม่กล้าพูด แต่ก็พยายามปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ จนมีส่วนร่วมในการอภิปรายในชั้นเรียนได้ ทำให้ได้เรียนรู้โลกธุรกิจของจริง จากทั้งอาจารย์และเพื่อนร่วมห้อง ที่อาจหาไม่ได้จากตำรา

 

จุดเริ่มต้นนักกลยุทธ์หญิงสายเทค

ช่วงที่เธอเรียนนั้น เป็นยุคที่บริษัทเทคโนโลยีกำลังเริ่มบูม บวกกับความชอบที่เธอมีต่อ gadgets อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่วัยเยาว์ เป็นจุดที่ทำให้เธอเริ่มรู้ตัวว่าสนใจในวงการนี้ ระหว่างเรียนปีสองที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลีใต้อย่าง Samsung ได้ไปสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในยุโรปและอเมริกาเพื่อรับพนักงานใหม่ ในรุ่นนั้น Samsung รับ MBA graduates เกือบ 40 คน เป็นฝรั่งเกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย มีผู้หญิงเพียง 6 คน ภรรททิยาเป็นผู้หญิงเอเชียเพียงคนเดียวและเด็กที่สุด นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการได้เข้าสู่วงการเทคโนโลยีในตำแหน่ง Global Strategist (Internal Consultant) แผนก Global Strategy Group ของบริษัท Samsung Electronics

ที่ Samsung ได้ปลดล็อกให้เธอได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มความสามารถ ด้วยบทบาทหน้าที่ของ In-House Think Tank ประจำอยู่ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ต้องเดินทางอยู่บ่อยครั้ง ทำงานร่วมกับ C-suite ของ Samsung ในประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย รัสเซีย อังกฤษ ออสเตรเลีย เพื่อแก้ไขปัญหาทางธุรกิจในหลายด้าน เช่น การบริหารทรัพยากรบุคคล การตลาด การพัฒนาธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งเธอถือว่าเป็นประสบการณ์อันล้ำค่า เปิดให้เห็นโลกกว้างของเทคโนโลยี วิธีการคิดเชิงกลยุทธ์ และฝึกให้เข้าใจและตีโจทย์ธุรกิจของลูกค้าในเวลาสั้นๆ การทำงานแบบเกาหลีเองก็มีความท้าทาย เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมในที่ทำงานเป็นผู้ชายโดยส่วนใหญ่ ทั้งในระดับผู้จัดการ และ C-suite สื่อสารด้วยภาษาเกาหลีเป็นหลัก

ในปี 2558 ภรรททิยาได้รับการติดต่อจาก Apple Inc  เพื่อให้ดูแลธุรกิจ App Store ของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นทีมใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นและเธอเป็นคนไทยคนแรกของทีม ในตำแหน่ง App Store Business Manager ประจำที่สิงคโปร์ ในเวลานั้น ระบบนิเวศน์ของโมบายแอปพลิเคชันในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเริ่มบูม เป็นยุคก่อตัวของแอปฯ ยูนิคอร์นต่างๆ เช่น Grab, Garena งานที่ Apple ทำให้ได้เข้าใจโมเดลธุรกิจของแอปฯ และได้พบกับ startups มากมาย ทั้งนักพัฒนาแอปฯ และเกมขนาดเล็กแบบทำคนเดียว ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ที่สำคัญได้เห็นการทำงานของบริษัทระดับโลกอย่าง Apple ซึ่งให้ความใส่ใจลูกค้าในระดับที่เรียกว่า Customer Obsession มีวิธีคิดแบบ Outside-In ทุกอย่างทุกดีไซน์ล้วนแต่ถูกคิดอย่างละเอียด ทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่านับร้อยนับพันครั้ง เพื่อประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า

ผ่านไปหลายปี ภรรททิยาตระหนักว่า เธอใช้ชีวิตในต่างแดนถึง 1 ใน 3 ของชีวิตเลยทีเดียว และน่าจะถึงเวลา “กลับบ้าน” เสียทีเพื่อให้เวลากับสิ่งที่เธอให้ความสำคัญมาโดยตลอด นั่นคือครอบครัวและการได้ดูแลคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น

ขณะนั้น เป็นช่วงเดียวกับที่ทรู กำลังก่อร่างสร้าง TDG เพื่อต่อยอด-สร้างมูลค่าเพิ่มจากบริการโทรคมนาคม ในปี 2560 เป็นยุคที่ดิจิทัลกำลังบูมสุดขีด TDG ถูกสร้างขึ้นโดยมีวิสัยทัศน์แห่งการเป็น Digital Enabler เป็น North Star เปลี่ยนจาก traditional telco สู่ digital services ดึงดูดคนเก่งที่มีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งภรรททิยาก็เป็นหนึ่งในนั้น

จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นระยะเวลาราว 7 ปีที่ภรรททิยาได้มีโอกาสทำงาน ในหลายหน้าที่ใน TDG ไม่ว่าจะเป็น Strategy, Investments, Digital Transformation จนปัจจุบันได้รับความไว้วางใจทำหน้าที่ Head of Digital Growth Strategy เพื่อสร้างอิมแพคให้กับผู้บริโภค พาร์ทเนอร์ และสังคม ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

 

ผู้หญิงในสายงานเทค

ภรรททิยา ให้มุมมองถึงประเด็น Women in Tech ว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในภาคเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราเห็นผู้หญิงเป็นนักพัฒนาแอปฯ มากขึ้น เป็น data scientist มากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของผู้นำหญิง (Female Leadership) อาจมีสัดส่วนที่น้อยอยู่ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่ได้มีโอกาสไปแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ที่ Tech Forum แห่งหนึ่ง จากวิทยากรกว่า 10 คน มีผู้หญิงที่ขึ้นพูดเพียง 2 คนเท่านั้น ซึ่งนี่อาจสะท้อนถึงการเติบโตในหน้าที่การงานของผู้หญิงในระดับบริหาร

จากการสำรวจของ Tech Talent Charter ในปี 2566 ระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่ทำงานสายเทค มีแผนที่จะออกจากงาน เพราะเผชิญกับภาวะหมดไฟจากการทำหน้าที่ทั้งแม่และพนักงาน ซึ่งสาเหตุคงเป็นเพราะข้อจำกัดในเรื่องการบริหารการทำงานไปพร้อมๆกับการมีครอบครัว

เธอยกตัวอย่างสิ่งที่เธอเห็นจากบริษัทเทคหลายแห่ง ที่มีแนวทางสนับสนุนผู้หญิงให้สามารถสร้างสมดุลชีวิตทั้งหน้าที่การงานและชีวิตครอบครัว โดยไม่ต้อง “เสียสละ” ความก้าวหน้าในอาชีพเพื่อความเป็นแม่ เช่น สนับสนุนเงินทุนให้ผู้หญิงฝากไข่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนครอบครัว หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ห้องให้นมบุตร ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือแห่งการสร้างความเท่าเทียม

 

ชีวิตคือการส่งต่อ

จากโอกาสชีวิตที่ได้รับมา ภรรททิยา เห็นความสำคัญของการส่งต่อประสบการณ์ให้กับผู้อื่น ล่าสุด เธอกำลังทำหน้าที่ Mentor แบ่งปันความรู้ ให้คำปรึกษาแก่น้องๆ นิสิตจุฬาฯ เช่นเดียวกับที่เคยได้ทำให้น้องๆ วัยมัธยมตอนช่วงทำงานอยู่ที่สิงคโปร์ ภรรททิยาเห็นว่าเด็กไทยมีศักยภาพที่จะไปโลดแล่นในระดับภูมิภาคหรือแม้กระทั่งระดับโลก พวกเขามีไอเดียที่ดี แต่อาจต้องการคนรับฟังและชี้แนะเพื่อช่วยให้เขาเดินทางไปสู่เป้าหมาย

นอกจากการส่งต่อ “ความรู้” แล้ว ภรรททิยา มองว่า “ความสุข” ก็ส่งต่อได้ด้วย ยามว่างเธอชอบร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การเล่นดนตรี ร้องเพลงให้กับผู้สูงอายุและผู้ต้องขังในเรือนจำ

ทีมบรรณาธิการถามคำถามสุดท้ายว่า ภรรททิยาได้รับโอกาสดีๆหลายอย่าง อยากจะฝากอะไรกับผู้ที่อาจไม่ได้รับโอกาสเช่นนี้ ภรรททิยาตอบว่า มนุษย์เลือกเกิดไม่ได้ และควบคุมปัจจัยภายนอกไม่ได้ เช่น สังคมแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ แต่สิ่งที่เราทุกคนจัดการได้คือ ตัวเราเอง ซึ่งต้องใช้ความพยายาม ความมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ทำในสิ่งที่เราถนัดและชอบ ก็จะทำให้เรามีโอกาสเปล่งประกายในแบบของเรา ส่วนคนที่โชคดีเกิดมาได้รับโอกาสมากกว่าผู้อื่น การแบ่งปันและเกื้อกูลกัน ก็จะช่วยให้สังคมนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Wednesday, 17 April 2024 09:08
X

Right Click

No right click