เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้ชัดเจน และไม่หลงทาง โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา ที่ต้องปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงที่รุกคืบเข้ามาในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตโรคระบาดที่ยังไม่ผ่านพ้นไป การดิสรัปของเทคโนโลยี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีส่วนทำให้ความคาดหวังของทางฝั่งผู้ประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ใช้บัณฑิตเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. นับเป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษา ที่มีชื่อเสียงในแนวทางการผลิตบัณฑิตที่ชัดเจนมาโดยตลอด นั่นคือ บัณฑิตผู้มีความรู้ความสามารถที่วางอยู่บนฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ต่อยอดไปสู่การเป็นกำลังคนคุณภาพที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศชาติ โดยมีอัตลักษณ์สำคัญ คือ “ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ สู้งาน”
ทว่า ในยุคแห่งการดิสรัปนี้ สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาเป็นอีกหนึ่งพันธกิจสำคัญของ สจล. นั่นคือ การติดอาวุธให้บัณฑิต สจล.ทุกคนมีทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 ครบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นทักษะดิจิทัล ทักษะด้านภาษาในการสื่อสาร รวมถึง ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneurship นี่จึงเป็นอีกภารกิจที่ท้าทายของ สจล. ภายใต้ Motto ใหม่ ‘KMITL FIGHT!’ ซึ่ง รศ.ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะได้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงพันธกิจสำคัญในทุกมิติที่ต้องขับเคลื่อนผ่าน ค่านิยมของสถาบันในยุคนี้
‘KMITL FIGHT!’ กับแนวคิดสำคัญ สื่อถึงค่านิยมองค์กร และ อัตลักษณ์ นักศึกษา สจล. ยุคดิสรัป
คำว่า FIGHT นอกจากมีความหมายตรงตัวว่า สู้! แล้ว สจล. ยังเลือกเอาคำนี้มาเป็น Motto หรือแนวทางการขับเคลื่อนองค์กร โดยใช้ทุกตัวอักษรในคำว่า F-I-G-H-T สื่อถึงค่านิยมองค์กรและอัตลักษณ์ของ “นักศึกษา สจล.” อีกด้วย โดย รศ.ดร.อนุวัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่าตัวอักษรแต่ละตัวหมายความว่าอย่างไรบ้าง
F : Futurist มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และกล้าแตกต่าง
I : Ignite พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมนำการเปลี่ยนแปลง
G : Greatness มุ่งเน้นความเป็นเลิศ และสหวิชาชีพ
H : Honor ยึดหลักธรรมาภิบาล และสร้างความยั่งยืน
T : Team Spirit ทำงานเป็นทีม และผสานประโยชน์จากความหลากหลาย
ค่านิยม F-I-G-H-T เป็นวัฒนธรรมองค์กรของ สจล. ที่ได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ระดับผู้บริหาร จนกระทั่งถึงพนักงานปฏิบัติการทุกระดับ เพื่อให้สามารถทำงานประสานกันได้อย่างต่อเนื่อง และด้วยค่านิยมนี้เองที่มีส่วนพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้ก้าวข้ามจากผู้ปฏิบัติการขึ้นมาเป็นระดับผู้บริหารในสักวันนึง ด้วยการพัฒนาการทำงานของตัวเองให้มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ค่านิยม F-I-G-H-T ให้ได้นั่นเอง
“นอกจากนั้น ในส่วนของอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของนักศึกษาที่เราผลิตนั้น เรายังมีความโดดเด่นในด้านของการเป็นสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งบุคลากรด้านนี้ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก บัณฑิตที่ผลิตออกไปจึงตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานส่วนใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
“โดยดีเอ็นเอความเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้เอง ทำให้บัณฑิตของเรามีเอกลักษณ์แตกต่างจากที่อื่น ซึ่งนอกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร หรือคณะวิทยาศาสตร์ ที่เป็นคณะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว เรายังเปิดสอนในด้านสังคมศาสตร์อย่าง คณะบริหารธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์ ที่ได้รับการถ่ายทอดจุดแข็งในทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจได้อย่างตรงจุด”
“ในทางกลับกัน เราได้บูรณาการศาสตร์และองค์ความรู้ในรายวิชาสังคมศาสตร์เข้าไปให้ผู้เรียนในคณะสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย ทำให้นักศึกษา สจล. ได้พัฒนาทักษะเพิ่มเติม เช่น ทักษะด้านภาษาจากทางคณะศิลปศาสตร์ หรือ เทคนิคการบริหารธุรกิจ ความเป็นผู้ประกอบการ จากคณะบริหารธุรกิจด้วย”
“ดังนั้น การได้เรียนทักษะที่ครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสังคมศาสตร์ จึงเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของ นักศึกษา สจล. ที่สอดคล้องกันอย่างยิ่งกับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ในยุคดิสรัปเทคโนโลยี ที่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจยุคนี้ต้องการ”
ส่องแผนเดินหน้า ปรับหลักสูตร สจล. สวนกระแสขาลงของ “มหาวิทยาลัยไทย”
รศ.ดร.อนุวัฒน์ ยืนยันตามที่ได้เกริ่นไปว่า บัณฑิตของ สจล. มีเปอร์เซ็นต์การได้งานที่น่าพึงพอใจ ส่วนหนึ่งเพราะการปรับหลักสูตรล่าสุด ที่ต้องการผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงมีการปรับหลักสูตร โดยกำหนดให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกงานและเรียนรู้ทักษะจำเป็นเร็วขึ้น
“นอกจากนักศึกษา ปี 3-ปี4 ที่ต้องฝึกงานตามหลักสูตรเดิมแล้ว ที่ผ่านมา เรายังพยายามส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กปี 2 ขึ้นปี 3 สามารถฝึกงานช่วงซัมเมอร์ได้ ขณะเดียวกันในแต่ละชั้นปี อย่างปี 1 ปี 2 เราก็เน้นปลูกฝังประสบการณ์ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกฝน ทักษะ ที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21”
“ขณะเดียวกันเรามองในภาพรวมทั้งหมดว่าเมื่อนักศึกษาจบไปแล้ว พวกเขาต้องมีทักษะที่สามารถไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้ใหม่ ดังนั้นเราจึงบ่มเพาะทุกทักษะที่จำเป็นทั้งในวิชาชีพที่พวกเขาจะไปทำงาน อย่าง Hard skill ทุกด้านให้เข้มแข็ง และเสริมในส่วนของ Soft skill ที่จำเป็นที่จะทำให้เขาปรับตัวเข้ากับโลกการทำงานยุคใหม่ได้เร็วขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีฟีดแบกจากสถานประกอบการที่ใช้บัณฑิตของเรา ที่ตอบกลับมาว่าบัณฑิตจาก สจล. สามารถทำงานได้เลย เรียนรู้เร็ว ซึ่งช่วยร่นระยะเวลาของผู้ประกอบการ ไม่จำเป็นต้องมาสอนงานใหม่ได้”
“นอกจากนั้น วิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น เป็นเหมือนบทเรียนที่มาสอนให้สถาบันการศึกษาได้เรียนรู้จากสถานการณ์ที่มีเด็กจบใหม่ตกงานจำนวนไม่น้อย เพราะอัตราการจ้างงานในช่วงนี้ก็ลดลง นำมาซึ่งการคิดใหม่ทำใหม่ ทั้งปรับหลักสูตรให้ตอบสนองกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตลาดแรงงานต้องการ ไม่ว่าจะเป็น ในเรื่องของ AI ระบบอัตโนมัติ IoT ทักษะทางด้านไอที ดิจิทัล หรือ Digital literacy ที่นักศึกษาทุกคณะต้องมี”
“หรือในยุคนี้ สิ่งที่ห้ามพลาดเลยก็คือ การสร้างการเรียนรู้ในเรื่องของเทรนด์ เมตาเวิร์ส หรือ Metaverse หรือเทคโนโลยีในโลกเสมือนจริงที่ต่อไปจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนยุคนี้มากขึ้น ดังนั้น บัณฑิต สจล. ที่จบไปจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักการโลกเสมือนจริงและนำไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในโลกแห่งความเป็นจริงและการอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสมด้วย”
“และเมื่อ สจล. มั่นใจว่าหลักสูตรและทุกองคาพยพของสถาบันฯ ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันเช่นนี้ ทำให้เราไม่ได้ตื่นตระหนกกับกระแสที่ว่า มหาวิทยาลัยกำลังอยู่ในช่วงขาลง เพราะถึงตอนนี้ในทุกคณะ เราก็มีนักศึกษาสมัครเข้ามาเรียนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รวมถึง สจล.ก็ยังดำเนินงานได้บรรลุตามพันธกิจของเราทั้งในด้าน การทำงานวิจัย งานบริการวิชาการ ที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนด้วย”
ชี้ความแตกต่างที่ตอบโจทย์ของ คณะบริหารธุรกิจ สจล. และทักษะความเป็นผู้ประกอบการที่ต้องมีในบัณฑิต สจล. ทุกคน
เพื่อให้เห็นภาพการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกัน รศ.ดร.อนุวัฒน์ ได้ยกตัวอย่าง แนวทางการขับเคลื่อน คณะบริหารธุรกิจ ใน สจล. ที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมว่า
“ยกตัวอย่าง คณะบริหารธุรกิจ ของ สจล. ในภาคการศึกษานี้ เราได้รับแจ้งมาจาก คณบดีของคณะบริหารธุรกิจ สจล. ว่า มีนักศึกษาสมัครเรียนเกินเกณฑ์ที่ประกาศรับหลายเท่า นี่น่าจะเป็นสิ่งยืนยันได้ว่ามาตรฐานของการเรียนการสอนและคุณภาพของนักศึกษาที่เราผลิตออกไปได้รับการยอมรับ จนเป็น Word of mouth หรือการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก”
“โดยในตอนนี้ ทาง สจล. ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ คณะบริหารธุรกิจมีเครื่องไม้ เครื่องมือ บุคลากรผู้สอน ไปจนถึง Infrastructure ที่เพียบพร้อมสำหรับทำการเรียนการสอนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างอาคารใหม่ที่พร้อมเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ และยังมีการสนับสนุนให้เพิ่มจำนวนคณาจารย์ของทางคณะฯ เพื่อให้สัดส่วนของอาจารย์กับนักศึกษามีความเหมาะสม ซึ่งจะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพให้การเรียนการสอนมากขึ้นอย่างแน่นอน”
“และในปัจจุบันคณะบริหารธุรกิจมีทิศทางการขับเคลื่อนที่ชัดเจนว่าจะมุ่งเน้นสู่ความเป็นสากลหรือนานาชาติมากขึ้น จะเห็นได้ว่าตอนนี้คณะบริหารธุรกิจได้ปรับเป็นหลักสูตรนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนได้ปรับหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ที่อยากเรียนรู้ในมุมของการเป็นผู้ประกอบการ อยากรู้เรื่อง Entrepreneurship เพื่อก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมากขึ้นด้วย”
“โดยการสอดแทรกองค์ความรู้ เทคนิค ในการเป็นผู้ประกอบการนี้ไม่ได้อยู่แค่ในการเรียนคณะบริหารธุรกิจเท่านั้น แต่ในคณะอื่นเราก็ได้ปรับให้มีการปลูกฝังทักษะความเป็นผู้ประกอบการเข้าไปด้วย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะช่วยเติมเต็มให้บัณฑิต สจล. มีความเพียบพร้อมและแตกต่างอย่างชัดเจน”
เปิดนโยบายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
นอกเหนือจากพันธกิจด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนคุณภาพแล้ว เมื่อเอ่ยชื่อ สจล. หลายคนยังนึกถึงสถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้คนทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะสำหรับการมา Upskill & Reskill ทักษะจำเป็นในแต่ละวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในภารกิจนี้ รศ.ดร.อนุวัฒน์ ได้เน้นย้ำว่า เป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ สจล. ยังคงให้ความสำคัญอย่างมาก
“การจัดหลักสูตรอบรมเพื่อ Upskill & Reskill บุคลากรที่ทำงานอยู่ในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม เป็นงานที่ทาง สจล. ได้ให้ความสำคัญและดำเนินการมาตลอด ยิ่งในยุคที่เกิดการดิสรัปเทคโนโลยี หลักสูตรอบรมต่างๆ ก็มีการปรับให้ทันสมัยตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนและภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น”
“สำหรับ สจล. ต้องบอกว่า เรามีจุดแข็งสำคัญ ที่ทางคณาจารย์ของเรามีการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด ทั้งในการส่งนักศึกษาไปฝึกงานและทำงานวิจัยร่วมกับสถานประกอบการ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีองค์ความรู้ที่พร้อมจะเผยแพร่ให้กับทั้งบุคลากรและศิษย์เก่าที่เลือกมาอัปเดตความรู้ ทักษะต่างๆ เพิ่มเติม Skillset ให้สูงขึ้น สามารถเจริญเติบโตและก้าวหน้าไปในสายงานที่ทำอยู่ได้”
“นอกจากนั้น ดังที่กล่าวว่าเรามีเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมที่พร้อมให้ความช่วยเหลือกับทางสถาบันฯ ซึ่งที่ผ่านมา ทางภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้สนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักรต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอน โดยส่วนหนึ่งทางภาคอุตสาหกรรมก็จะทำความร่วมมือกับทาง สจล. ส่งพนักงานของบริษัทเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติมในหลักสูตรอบรมที่ สจล.ด้วย”
“ขณะที่ สถานที่ตั้งของ สจล. ก็อยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ทำให้หลากหลายบริษัทที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC สามารถส่งพนักงานเข้ามาเรียนรู้ที่ สจล.ได้ไม่ยาก นอกจากนั้น ด้วยความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมที่ใกล้ชิดนี่เองที่ทำให้สถาบันฯได้มีโอกาสเชิญกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการวิพากษ์ ปรับหลักสูตรให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ New S-curve ใน EEC มากขึ้นด้วย”
มาถึงในส่วนของนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนางานวิจัย ที่ รศ.ดร.อนุวัฒน์ เน้นย้ำว่า สจล. ให้ความสำคัญกับการทำ “งานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง” คือ สามารถแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรมและพัฒนาไปในเชิงพาณิชย์ได้จริง
“วิสัยทัศน์ของ สจล. มีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้น คือการเป็น The World Master of Innovation มหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับการคิดค้น สร้างสรรค์ นวัตกรรมที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ซึ่งเรามีความพร้อม เนื่องจาก สจล. เปิดทำการเรียนการสอนในคณะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก”
“โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ เรามีการเปิดสอนทั้ง คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทำให้ที่ผ่านมา เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาด ทาง สจล. ได้มีบทบาทนำเสนอนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ ช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์หลากหลายชิ้น เช่น อาทิ เครื่องช่วยหายใจแบบฉุกเฉิน ระบบคัดกรองบุคคลด้วย AI ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) ความดันบวก ความดันลบ ซึ่งในการสร้างนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ เรามีความตั้งใจที่จะผลิตออกมาให้ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ได้จริง”
“เหตุผลหลัก คือ เราต้องการให้นวัตกรรมเหล่านี้เป็นต้นแบบที่ยืนยันว่า ประเทศไทย มีความพร้อมเป็นชาติที่ผลิตนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์เอง เพราะที่ผ่านมา เรามักนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ ซึ่งถ้าเราเปลี่ยนมาเป็นชาติผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ได้ ย่อมช่วยลดต้นทุนในภาคการผลิตและลดต้นทุนการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ของประเทศได้อย่างมหาศาล”
“โดยที่ผ่านมา ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด เราพบว่าจากการส่งเครื่องไม้เครื่องมือไปให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วไทย จะมีเครื่องมือแพทย์ 2 อย่างที่เป็นที่ต้องการ นั่นคือ เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งที่เราผลิตเองแม้จะมีฟังก์ชันที่แตกต่างจากเครื่องที่ผลิตจากต่างประเทศ แต่ก็ถือว่าฟังก์ชันจำเป็นครบและราคาถูกกว่า ส่วนอีกเครื่องหนึ่ง คือ Oxygen High Flow ซึ่งนวัตกรรมที่เราผลิตสามารถควบคุมทางไกลได้และควบคุมผ่านมือถือได้ ดังนั้น จึงถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ได้มากทีเดียว”
เป้าหมายต่อไปของ สจล. จึงเป็นการเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ฝีมือคนไทย ให้ได้มาตรฐานและได้รับการยอมรับเริ่มจากในประเทศ ซึ่งถ้าทำได้ก็จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ของภูมิภาคนี้ด้วย
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: จิรภัทร หอวัฒนาพาณิชย์