×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 810

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 840

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

 

ดร.สุกิจ นิตินัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ สถาบันที่มุ่งเน้นการผลิตบุคลกรด้านวิชาชีพป้อนตลาดแรงงานของประเทศ มองความท้าทายของการจัดการการศึกษาโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษายุคปัจจุบันว่า จำนวนนักศึกษาที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน โดยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด บางแห่งต้องปิดหลักสูตรลงไป ขณะที่มหาวิทยาลัยของรัฐอาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อปรับตัวตามกลไกที่มีอยู่ 

 โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปของประเทศไทย ทำให้เห็นว่า ผู้เรียนคือปัจจัยขับเคลื่อนการศึกษาในปัจจุบัน สิ่งที่สะท้อนให้เห็นคือหลักสูตรที่เปิดสอนในปัจจุบันบางหลักสูตรไม่ตรงตามความต้องการของผู้เรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาบันและคณาจารย์จะต้องนำไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อสนองความต้องการของผู้เรียนรุ่นใหม่  

สมัยก่อนอาจจะพูดว่า อาจารย์อยากสอน มหาวิทยาลัยก็จะเปิดหลักสูตรตามที่อาจารย์อยากจะสอน สมัยก่อนทำได้เพราะนักศึกษามีจำนวนมาก สถาบันการศึกษามีจำนวนน้อย แต่ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมีมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยเอกชน และจำนวนนักศึกษาลดลงเนื่องมาจากประชากรและนโยบายของรัฐบาลที่คุมกำเนิดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ส่งผลกระทบถึงปัจจุบันที่จำนวนนักศึกษาที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยลดลงไปอย่างเป็นนัยสำคัญ เราจะทำอย่างไร นักศึกษาเป็นคนเลือกสถานที่ที่จะเรียน เลือกวิชาที่เขาต้องการเรียน ความรู้ที่เขาต้องการรู้ มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวตรงนี้จะทำอย่างไร 

ดร.สุกิจ มองในมุมของมหาวิทยาลัยราชมงคลว่า เป็นมหาวิทยาลัยด้านวิชาชีพซึ่งมีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ จากตัวเลขการมีงานทำของบัณฑิตที่เรียนจบไปกว่า 85-90 เปอร์เซ็นต์ บ่งบอกได้ว่า กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคลสามารถตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามมีบางกลุ่มวิชาที่ได้รับผลกระทบเรื่องจำนวนนักศึกษาที่ลดลง เนื่องจากผู้เรียนให้ความสนใจในบางวิชาชีพลดลง 

“เพราะเขาไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นในสื่อ ในชีวิตประจำวัน วิชาชีพบางวิชาชีพเขาไม่รู้จัก เช่น วิชาชีพทางด้าน เทคโนโลยีเครื่องเรือน ชื่อเดิมคือ เคหะภัณฑ์ วิชาชีพนี้มีมาแต่แรก ซึ่งถ้าใช้คำว่าเคหะภัณฑ์กับนักศึกษาทุกวันนี้บอกได้เลยว่าไม่รู้จัก คืออะไร ไม่เลือกแน่นอน จนเราปรับเป็นเทคโนโลยีเครื่องเรือน เด็กรุ่นใหม่บางคนคำว่าเครื่องเรือนก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน บางคนคิดว่าเป็นหม้อหุงข้าว จาน ชาม ผมยังบอกไปว่า แล้วจะสื่ออย่างไร จริงๆ ก็คือเฟอร์นิเจอร์นั่นเอง พอบอกเฟอร์นิเจอร์เขาเข้าใจ เพราะทุกวันเขาต้องใช้อยู่แล้ว โต๊ะ เตียงตู้ เป็นสิ่งที่ผู้บริหารสถานศึกษาและอาจารย์ที่ดูแลต้องทำให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่จะเข้ามาเรียน วิชาชีพนี้มีอยู่ มหาวิทยาลัยของเรามี 52 หลักสูตร 52 วิชาชีพ เป็นวิชาชีพที่เขาต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่เขาต้องเกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากนักศึกษาไม่รู้ว่า วิชาชีพนี้เกี่ยวกับเขาตรงไหน ชื่ออาจจะไม่สื่อ เขาอาจจะไม่เห็น ตรงนี้ผมจึงมีนโยบายบอกไปยังผู้บริหารทุกหลักสูตรว่า ท่านจะต้องประชาสัมพันธ์ รวมถึงมหาวิทยาลัยจะช่วยด้วย ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อให้เกิดความเข้าใจกับคนยุคใหม่ ท่านก็ต้องทำ มิฉะนั้นแล้วหลักสูตรของท่านก็จะต้องหายไป วิชาชีพไม่ได้หายไป เพียงแต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาวิชาชีพให้ตามทันเทคโนโลยีสมัยปัจจุบัน” 

อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพยกตัวอย่างการพัฒนาการเรียนการสอนในด้านหลักสูตร โดยยกเรื่องเฟอร์นิเจอร์ที่ปัจจุบันการใช้งานมีรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนไป เช่นเครื่องเรือนไม่เพียงแต่มีประโยชน์ใช้งานตามหน้าที่เดิมหากยังต้องมาช่วยเสริมการใช้ชีวิตของผู้ที่ใช้งาน การที่เก้าอี้ตัวหนึ่งมีราคาตั้งแต่ 500 บาทถึง 50,000 บาท เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความต้องการที่มีหลากหลายของมนุษย์ โต๊ะทำงานในยุคปัจจุบันก็ต้องปรับเปลี่ยนเป็นโต๊ะที่สามารถวางอุปกรณ์สนับสนุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น  

อีกตัวอย่างคือวิชาชีพการพิมพ์ ที่หลายคนมองว่า เป็นอาชีพที่ตายไปแล้วเพราะคนเลิกอ่านหนังสือในกระดาษ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การพิมพ์ยังคงอยู่กับการใช้ชีวิตของมนุษย์ ตราบเท่าที่ยังมีการใช้สิ่งของที่จับต้องได้ การพิมพ์ยังอยู่กับบรรจุภัณฑ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัว แสดงให้เห็นว่าวิชาชีพการพิมพ์ไม่ได้หายไปเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ 

ที่มหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพจึงเร่งพัฒนาคณาจารย์ให้เข้าใจและพัฒนาความคิดด้านการพัฒนาวิชาชีพที่สอนให้เหมาะสมกับยุคสมัย ปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป 

“อย่าไปคิดว่าวิชาชีพของเราเปลี่ยนไม่ได้ สักวันหนึ่งจะช้าหรือเร็ว ท่านไม่รีบเปลี่ยนท่านถูกบังคับให้เปลี่ยนท่านจะต้องตามหลัง ท่านจะเปลี่ยนเป็นคนสุดท้ายหรือ นี่คือที่ราชมงคลกรุงเทพเราพยายาม ขณะนี้ก็เร่งพัฒนาอาจารย์ และพัฒนาผู้บริหารทุกระดับให้เข้าใจจุดนี้ว่ามหาวิทยาลัยจะพัฒนาและให้ความสนใจกับนักศึกษารุ่นใหม่ที่จะเข้ามา ว่าวิชาชีพไม่ได้ตายไปไหนเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ รวมถึงการจัดการเรียนการสอนที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันเทคโนโลยี” ดร.สุกิจกล่าว  

อีกทางหนึ่งความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย นักศึกษามีความสนใจทำงานอิสระมากขึ้น หลักสูตรจึงต้องช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถเป็นผู้ประกอบการอิสระมากยิ่งขึ้น โดยมีรายวิชาที่เกี่ยวข้องในทุกหลักสูตร ซึ่งตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเสริมสร้างผู้ประกอบการอิสระให้เกิดขึ้นในประเทศ 

ดร.สุกิจ นิตินัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

วิชาใหม่สนองโลกใหม่ 

โลกที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อการศึกษาไม่เพียงหลักสูตรเดิมที่มีอยู่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยของเทคโนโลยี แต่ยังรวมถึงการเตรียมพร้อมสร้างบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมใหม่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในยุคต่อไป 

ดร.สุกิจให้ข้อมูลว่า อุตสาหกรรมใหม่ที่ราชมงคลกรุงเทพตอบสนองนโยบายรัฐบาลอยู่ คือ หนึ่ง อุตสาหกรรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน หลักสูตรของเราได้รับการรับรองมาตรฐาน EASA มาตรฐานความปลอดภัยของยุโรป และเรายังมีความร่วมมือจัดการเรียนการสอนหลักสูตรเฉพาะทางด้านการบำรุงอากาศยานกับไทยแอร์เอเชียด้วย ซึ่งขณะนี้จะเปิดรุ่นที่ 2 หลักสูตรช่างซ่อมบำรุงมาตรฐาน EASA ขณะนี้เราดำเนินการถึงรุ่นที่ 4 แล้ว กำลังจะเปิดรับรุ่นใหม่ มีผู้สมัครเข้ามาจำนวนมากแต่เรารับได้ไม่มากเพราะในเรื่องของมาตรฐาน EASA เขากำหนดสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาไม่เกิน 25 คน  เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่จะทำฮับการบิน แต่ราชมงคลกรุงเทพที่เดียวคงไม่มีศักยภาพทำได้ทั้งหมด เรายังต้องการเพื่อนร่วมวิชาชีพมาทำให้มากๆ ซึ่งตอนนี้ในกลุ่มราชมงคลก็พยายามจะเสริมสร้างกันอยู่ เพราะตามมาตรฐานปีหนึ่งผลิตได้อย่างมากไม่เกิน 200 คน ซึ่งความต้องการของรัฐบาลใน 5 ปี 6,000 คนซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เราจะผลิตทัน  

“อีกหลักสูตรคือการท่องเที่ยวขณะนี้เราก็มีโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ นักศึกษารุ่นใหม่เรามีวิชาการท่องเที่ยวอยู่ นักศึกษาจะต้องเข้าใจในบริบทนี้ ท่องเที่ยวแล้วจะต้องทำให้เกิดคุณภาพที่ดี ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือหนึ่งท่องเที่ยวแล้ว ต้องทำให้สิ่งแวดล้อมคงสภาพเดิม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สองผู้ที่ท่องเที่ยวได้รับผลประโยชน์อื่นตามมา เช่นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คือเข้ามาดูแลรักษาสุขภาพตัวเองและท่องเที่ยวไปด้วย ง่ายๆ คือยกระดับกลุ่มผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวให้เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้น นั่นก็จะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศมากขึ้นนั่นเอง”  

อีกหลักสูตรที่น่าสนใจมากสำหรับการจะก้าวสู่ยุค 4.0 คือ หลักสูตรวิศวกรรมการผลิตความแม่นยำสูง  

“นี่คือต้นกำเนิดอุตสาหกรรม 4.0 เลย เพราะอุตสาหกรรมทุกอย่างถ้าไม่มีความแม่นยำสูงชิ้นส่วนเล็กๆ มากๆ ระดับไมครอน ระดับนาโน ทำอย่างไร เรื่องนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วจะปกปิดเทคโนโลยีอย่างมาก ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนหุ่นยนต์ตัวเล็กๆ ทั้งหลาย เราจะพยายามถ่ายทอดจะหาเทคโนโลยีมาให้ประเทศของเราพัฒนา ให้เรียนรู้ จะเป็นต้นกำเนิดอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งรัฐบาลก็ได้ให้การสนับสนุน ให้งบประมาณมาส่วนหนึ่งพัฒนาหลักสูตรและอุปกรณ์เพื่อถ่ายทอดให้นักศึกษาที่จะจบไปเป็นวิศวกรการผลิตความแม่นยำสูง เรื่องนี้จำเป็นมาก ว่าต้องใช้เครื่องมือประเภทไหนทำอย่างไร ในปีนี้จะเข้าปีที่ 2 ที่จัดทำหลักสูตรนี้ขึ้นมา” 

อีกหลักสูตรที่อยู่ระหว่างการพัฒนาคือ หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ ที่จะเป็นที่ต้องการทั้งในและต่างประเทศ โดยหลักสูตรอยู่ระหว่างการพัฒนาตามความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมุ่งเป้าหมายการผลิตบุคลากรที่สามารถปฏิบัติงานได้จริง สามารถทำงานได้ทันทีตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ 

  

ว่าด้วยความเป็นผู้นำ 

อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพ มองว่าการจะรักษาความเป็นผู้นำด้านการศึกษา การบริหารบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งบุคลากรในสายสอนและหน่วยงานสนับสนุน ที่จะต้องทำให้เข้าใจเป้าหมายขององค์กรในการผลิตคนที่มีวิชาชีพติตตัว สามารถออกไปประกอบอาชีพให้กับสังคมและประเทศชาติ  

การพัฒนาคนต้องมีจิตวิญญาณในการอุทิศตน ให้กับการพัฒนาการศึกษา ซึ่งแน่นอนผลกระทบเหล่านี้จะตกไปสู่นักศึกษาซึ่งคือลูกหลานของเรา เราอยากให้ลูกหลานเรามีความรู้ความสามารถอย่างไร ก็ทำให้นักศึกษาอย่างนั้น 

ในส่วนของสังคมไทย ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดี บางครั้งเป็นเรื่องการตัดสินใจที่ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และอนาคตขององค์กรเป็นสิ่งแรก   

 

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำนวนคนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาตามปกติลดลง ขณะเดียวกันเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตและวิธีคิดของคนในสังคมธุรกิจ บางองค์กรสนใจรับบุคลากรโดยพิจารณาจากทักษะความชำนาญในงานต่างๆ มากกว่าวุฒิการศึกษาที่ผู้สมัครมีอยู่ นี่คือโจทย์ใหญ่ของสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับมหาวิทยาลัยที่เริ่มได้รับผลกระทบ

“หน้าที่สถาบันการศึกษาคือ ให้ความรู้กับเพื่อให้คนมีความพร้อมออกไปใช้ชีวิตไปทำงานในโลกภายนอกได้ ในเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปถ้าสถาบันการศึกษาไม่เปลี่ยนแปลงหลักสูตร วิธีการสอนเราจะไม่สามารถผลิตคนออกไปทำงานได้ในอนาคต

     “...การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล หากสังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนในทุกๆ ด้านแล้ว สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ สามารถดำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปโดยตลอด...”

 “ถามว่าวอลมาร์ตรู้หรือไม่ว่าจะมีการขายของออนไลน์ ถ้าเทียบกับอเมซอนทำไมอเมซอนประสบความสำเร็จ เป็นเพราะวอลมาร์ต มีเงินน้อยกว่า ไม่เก่งกว่าหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ วอลมาร์ต เก่ง รวยมีทุกอย่างที่เหนือกว่าอเมซอน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือทำไมวอลมาร์ตไม่สามารถทำออนไลน์ประสบความสำเร็จเท่ากับอเมซอน คำตอบที่น่าสนใจคือแผนธุรกิจ (Business Model) เนื่องจากกำไรของวอลมาร์ตมาจากการขายออฟไลน์”

 

“อเมซอนไม่มีสาขา ไม่ยึดติดกับสาขา นี่คือ Business Model ที่ให้ประสบการณ์ผู้บริโภคดีกว่า ลองนึกภาพอเมซอนไม่มีสาขาแลกเปลี่ยนสินค้าไม่ได้ แสดงว่า ผมต้องแน่ใจว่าเวลาสั่งอะไรจากออนไลน์ สินค้าที่ไปส่งต้องได้ในสิ่งที่เขาคาดหวัง แต่ถ้าเป็นวอลมาร์ตไม่ได้ก็เอาไปเปลี่ยนที่สาขาก็ได้ คำถามคือแล้วผมจะสั่งออนไลน์ไปทำไม ก็เดินไปซื้อที่สาขาก็ได้ นั่นคือวอลมาร์ตยังมีความสุขกับการมีสาขา

อเมซอนที่ประสบความสำเร็จเพราะเขาใช้ Central Warehouse สต็อกทุกอย่างรวมตรงกลาง แต่วอลมาร์ตกำลังจะบอกว่าออนไลน์ของเราจะต้องใช้ประโยชน์จากออฟไลน์คือให้ไปเอาสต็อกที่สาขา นึกภาพลูกค้าสั่งสัก 10 รายการ แล้วเวลาส่งของต้องไปเอาสต็อกจากสาขา ปรากฏว่าสาขาที่ 1 มีแค่ 8 รายการ ที่เหลือต้องไปเอาที่สาขาอื่น ต้นทุนก็มหาศาลแล้ว เผลอๆ ส่งได้ 9 ชิ้น แล้วอีกชิ้นหนึ่งละ ให้รอไปก่อนหรือไม่อยากรอเอาใบที่พรินต์จากออนไลน์ไปรับของที่สาขา ถ้าต้องไปสาขาผมก็ไปสาขาซื้อครั้งเดียวก็จบหรือไม่

Business Model แบบนี้ ลูกค้าไม่เคยประทับใจทำให้วอลมาร์ตไม่ประสบความสำเร็จ สองต้นทุนคุณมีสองด้าน สาขาก็มี ออนไลน์ก็มี จึงเป็นที่มาว่าองค์กรที่มี Business Model ที่เป็นออฟไลน์แล้วประสบความสำเร็จ

ซึ่งตอนหลังวอลมาร์ตเริ่มเข้าใจและปรับตัว แต่ใช้เวลาเกือบ 8-9 ปี อเมซอนก็ปรับตัวมีสาขา เพราะวอล-มาร์ทสามารถสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีในออนไลน์”

 

ผศ.ดร.วิพุธ อ่องสกุล คณบดี คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA BUSINESS SCHOOL) ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่จะใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษาของคณะ ในยุคปัจจุบันโดยจะเลือกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ Digital Transformation สอดแทรกให้กับนักศึกษาในวิชาต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมผู้เรียนให้สามารถรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค รวมถึงกลไกวิธีการทำงานในอุตสาหกรรมที่กำลังปรับเปลี่ยน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีด้านต่างๆ ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตและรูปแบบการทำงานของคนในแทบทุกอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษาในฐานะแหล่งพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงก็จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับการผลิตบุคลากรป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมต่างๆ แม้ประเทศไทยจะยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนจากกระแสดิจิทัลในแวดวงการศึกษามากนัก เห็นได้จากรูปแบบการเรียนการสอนที่ยังเน้นการใช้ห้องเรียน ตำราวิธีการสอนยังคงไม่แตกต่างจากที่เคยเป็นมาเท่าใดนัก แต่จากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่สามารถค้นหาองค์ความรู้ที่สนใจจากสื่อออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง แรงกระเพื่อมนี้อาจส่งผลต่อผู้เรียนในยุคต่อไป 

ปรับบทบาทสถานศึกษา

หากมองจากบทบาทของสถาบันการศึกษา 3 ประการที่สำคัญ ประกอบด้วย Creation of Knowledge การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ผ่านกระบวนการวิจัย Disseminate of Knowledge คือการเผยแพร่ความรู้ และ Authority Granted Degree เป็นผู้มีอำนาจในการให้ปริญญา

ผศ.ดร.วิพุธ มองผลกระทบต่อสถาบันอุดมศึกษาจากความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมา และการเตรียมพร้อมรับมือโดยแบ่งไปตามแต่ละบทบาทว่า

“เพราะพฤติกรรมของคนเปลี่ยน เรื่องการเรียนรู้ของคนก็เปลี่ยน จากเดิม หนึ่งมาในห้องเรียน สองซื้อหนังสืออ่าน ปัจจุบันแหล่งการเรียนรู้ของมนุษย์เปลี่ยนรูปแบบเช่นเดียวกับการเสพสื่อ เราก็จะเห็นคนเปลี่ยนพฤติกรรมไป เราก็เห็นว่าเทรนด์เหล่านี้เป็นเทรนด์ที่สำคัญ อะไรที่จะเป็นสิ่งสำคัญในเทรนด์ที่กำลังจะเปลี่ยน หากดูจากบทบาททั้งสามของเรา บทบาท Disseminate of Knowledge เราจะเห็นว่าแหล่งการเรียนรู้ในปัจจุบัน มีแหล่งเรียนรู้ได้หลากหลายอย่าง เช่น ผ่านระบบ MOOC Massive Online Learning, You Tube แม้แต่ฟรีแวร์ต่างๆ ที่เป็นระบบการเรียนรู้ที่เรียกว่า LMS Learning Management System 

แสดงว่าในเชิงของการเผยแพร่ความรู้เราต้องเปลี่ยนวิธีการ เนื่องจากการเรียนรู้ของคนเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนวิธีการสอน การเผยแพร่ความรู้ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ที่มาเรียนหนังสือ ดังนั้น ต่อไปนี้การเรียนรู้จะเป็นรูปแบบที่มหาวิทยาลัยควรต้องเปลี่ยนคือเป็น Interactive Learning เป็นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกันเอง ซึ่งโดยขอบเขตในอดีตจะอยู่ในห้องเรียน ปัจจุบันคือ สามารถเรียนรู้ได้ Anywhere Any Platform Anytime 

ทางคณะบริหารธุรกิจก็ต้องเริ่มสอนทางออนไลน์ บางคนอาจจะมองออนไลน์เป็นการเรียนการสอนทางไกล แต่ไม่ใช่ การเรียนรู้ออนไลน์จะมาช่วยให้ Interactive Learning ดียิ่งขึ้น เขาสามารถถามคำถามอาจารย์ เดิมกว่าจะถามคำถามอาจารย์ได้ต้องถามในห้องเรียน ปัจจุบันนึกขึ้นมาได้ก็ยกมือถือมากด หน้าที่อาจารย์ที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น คือต้องตอบสนองต่อคำถามเหล่านั้น และถ้ามีคำถามมาคล้ายๆ กันจากนักศึกษาหลายคน อาจารย์อาจจะหาทางตอบคำถามนั้นในเชิง Mass ได้เช่นอาจจะอัดคลิป พวกนี้เป็นระบบที่รองรับการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ เพราะการเรียนรู้จะไม่ใช่เวลาเจาะจงแล้ว ขึ้นกับว่าช่วงนั้นเขาว่าง เขาอยากเรียนรู้ ก็จะกลายเป็นมีเวลาในการเรียนต่างกัน ภายใต้ Platform เดียวกัน สมัยก่อนต้องมา 18.00-21.00 เท่านั้น ปัจจุบันเราอาจจะไม่ว่าง 6 โมงเย็น เราว่างเที่ยงคืนเราก็สามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ คือดูคลิปอาจารย์ สงสัยก็อาจจะไปดูเว็บบอร์ด ทิ้งคำถาม ดูว่ามีเพื่อนตอบไหม ซึ่งอาจจะมีเพื่อนช่วยตอบตอนนั้นก็ได้ อาจจะมีเพื่อนบางคนเรียนมาแล้วตอน 6 โมงเย็น

Creation of Knowledge เราก็มองถึง R to R คือ Routine to Research หรือ Project to Research หมายถึงว่างานที่อาจารย์ทั้งหลายได้ไปให้คำปรึกษาน่าจะสามารถนำมาเขียนเป็น Action Research ได้ คือสามารถนำมาสรุปผลเพื่อทำให้การเอาผลจากที่เราไปศึกษาเชิงลึกมาใช้พัฒนาหรือใช้ปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับองค์กร เช่น เราไปช่วยองค์กรหนึ่งในการปรับปรุงเรื่องอัตราการลาออก เราได้ข้อสรุปจากการเข้าไปเกี่ยวข้อง ได้โมเดลมา เราก็สามารถนำโมเดลนั้นมาใช้ในการแก้ปัญหา หรือเผยแพร่ให้องค์กรอื่นสามารถนำวิธีการที่ประสบความสำเร็จมาใช้ได้ ซึ่งนักวิจัยเป็นคีย์สำคัญในการเชื่อมเรื่องเหล่านี้ เพราะถ้าเราไปดู Best Practice ถ้าไม่มีนักวิจัยจะเห็นแค่ผล แต่ไม่เห็นวิธีการ ในเชิงลึกๆ ซึ่งนักวิจัยเขาสามารถสรุปข้อดี สรุปผล และเชื่อมโยงระหว่างผลกับวิธีการให้เห็นความสัมพันธ์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นี่คือบทบาทที่ต้องเปลี่ยนไปของมหาวิทยาลัย 

เราสังเกตดู เรื่อง Disruptive ไม่ได้เปลี่ยน What แต่เปลี่ยน How เช่น เราพูดถึง Uber คำถามคือ Uber เปลี่ยน What หรือ How คำตอบคือเปลี่ยน How วิธีการเรียกแท็กซี่ อย่างไรสุดท้ายเรายังต้องเอาตัวเราไปขึ้นแท็กซี่และรถต้องพาเราไปอยู่ดี การเรียนการสอน การเผยแพร่ความรู้ก็ยังคงต้องมี แต่ว่าเปลี่ยนวิธีการในการสอนให้เป็น Interactive Learning  เรื่อง Authority Granted Degree สถาบันการศึกษาจะหมดความหมายหมดความสำคัญทันที ถ้าต่อไปนี้องค์กรเน้น Competency (สมรรถนะ ความสามารถ) ไม่เน้นใบดีกรี หมายถึงองค์กรอาจจะมีวิธีการคัดเลือกคนที่มี Competency เหมาะกับเขา เช่น Google ในสหรัฐอเมริกา เขาก็เริ่มจะไม่สนใจดีกรี ใน 3 บทบาท Disrupt ที่เรากลัวที่สุดคือ ตัวอุตสาหกรรม รับคนในรูปแบบของ Competency และพัฒนาคนเอง 

ผมว่าเรื่องนี้ยากที่สุด เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยเองต้องเริ่มมองถึงตัวหลักสูตรให้ตรงกับอุตสาหกรรมมากขึ้น สมัยก่อน ตรงบ้างไม่ตรงบ้างเขาก็ยังยอมถูๆ ไถๆ กันไป อุตสาหกรรมชอบมาบ่น สอนอะไรมา สมัยก่อนยังมีช่องว่าง มหา-วิทยาลัยไม่ต้องปรับตัวมาก อุตสาหกรรมก็ยังยอมรับ แต่ปัจจุบันถ้าเรายังไม่ปรับตัว ไม่ฟังเสียงอุตสาหกรรมอยากสอนอะไรก็ไม่รู้ ผมการันตีว่าตายแน่”

 

ภารกิจต้องเปลี่ยน

เพื่อรองรับกับการปรับบทบาทของสถาบันการศึกษา ภารกิจอาจารย์นิด้าจึงต้องเปลี่ยนตามไปด้วยสูตร 1/3+1/3+1/3 คือ การออกไปให้คำปรึกษา สอน และเขียนงานวิจัย อย่างละ 1 ใน 3 เพื่อตอบโจทย์การหาองค์ความรู้ใหม่ที่ตรงกับความความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน การเรียนการสอนออนไลน์ก็เป็นอีกเรื่องที่ ผศ.ดร.วิพุธ ให้ความสำคัญ เขาเล่าแนวคิดที่มีว่า หากการเรียนออนไลน์แล้วยังต้องให้ผู้เรียนมาที่สถาบันการศึกษาอีกก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ของคณะบริหารธุรกิจ ที่เตรียมไว้ต่อไปจะต้องเป็นออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ หากเลือกทำแบบครึ่งหนึ่งออนไลน์ ครึ่งหนึ่งออฟไลน์ ก็จะไม่สามารถเห็นผลได้อย่างชัดเจน

“เราจะแยกอาจารย์เป็น 2 กลุ่ม คุณสอนออนไลน์คุณจะไม่มีสิทธิเจอนักศึกษา ไม่ต้องเข้ามา ดังนั้นตอนนำไปปฏิบัติ (Implement) แยก แต่ตอนใช้งานจริง ผมอาจจะให้นักศึกษาเลือกได้ ครึ่งหนึ่งเรียนออนไลน์ อีกครึ่งขอมาเจอหน้า อาจารย์เพื่อนๆ ตอนนั้นทำได้ แต่ตอน Implement แยกกัน ไม่เช่นนั้นจะไม่มีวันสำเร็จ คุณจะทำแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ให้ประสบการณ์ที่ดีกับเด็กที่ไม่เจอหน้า ที่เขาสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น”  ผศ.ดร.วิพุธกล่าวและอธิบายต่อว่า

แม้รูปแบบการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไป แต่ภาระหน้าที่ทั้งของผู้เรียนและผู้สอนยังคงมีมากเช่นเดิม โดยเฉพาะในฝั่งอาจารย์ ที่ต้องปรับให้เหมาะกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ เช่น เนื้อหาที่ใช้สอนจะต้องสั้นกระชับ มีการปรับเปลี่ยนการนำเสนอ ลำดับขั้นเนื้อหาให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ อาจารย์ที่เข้าร่วมการสอนออนไลน์จะต้องคอยปรับปรุงเนื้อหาการเรียนการสอนจนกว่าสิ่งที่ทำไปนั้นลงตัวซึ่งถือว่าเป็นการเรียนรู้ของคณาจารย์ไปพร้อมกัน
 

ผศ.ดร.วิพุธ ให้ความเห็นว่า การเริ่มต้นก่อนเป็นเรื่องที่ดี เพราะผู้ที่เริ่มก่อนมีโอกาสทดลองทำในสิ่งต่างๆ ได้มากกว่า ในช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวเองอย่างรวดเร็วย่อมดีกว่าไปเปลี่ยนตอนที่อุตสาหกรรมปรับไปหมดแล้ว ซึ่งอาจจะไม่ทันกาล เพราะมีตัวอย่างให้ผู้บริโภคเห็นสามารถนำมาเปรียบเทียบได้ ในส่วนของเนื้อหาวิชาการยังคงเป็นวิชาทางด้านบริหารธุรกิจที่เป็นแกน แต่จะสอดแทรกแนวคิดเรื่อง Digital Transformation ไปตามรายวิชาต่างๆ เพื่อให้นักศึกษากล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เพราะการทดลองในห้องเรียนมีข้อดีคือ ยังไม่มีต้นทุน ทำให้นักศึกษาสามารถหลุดจากกรอบสิ่งแวดล้อมเดิมๆ สามารถนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ โดยอาจารย์แต่ละวิชาจะให้ผู้เรียนคิดภายใต้นิเวศใหม่เพื่อรับการเปลี่ยนแปลง เพราะระบบนิเวศใหม่บนโลกใบนี้ที่ดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น รูปแบบหรือ How ที่เปลี่ยนไปในเกือบทุกอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเลือกใช้ความรู้ความชำนาญที่มี ผสมผสานกับแนวคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อนำ What หรือสิ่งที่องค์กรนำเสนอไปสู่ผู้บริโภค ตราบที่องค์กรธุรกิจยังต้องมีการบริหารการจัดการ เนื้อหาวิชาจากโรงเรียนธุรกิจ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ รองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยได้อย่างดีที่สุด

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ 
ภาพ : วันเฉลิม สุทธิรักษ์

 

Page 3 of 4
X

Right Click

No right click