×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 810

อิศราดร หะริณสุต CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง บ.โอมิเซะ จำกัด ผู้ให้บริการระบบรับชำระเงินออนไลน์ และเป็นผู้ออก ICO ที่ฮือฮาเมื่อปีที่ผ่านมา ในชื่อ Omise Go (OMG) ให้ความเห็นว่า ปีที่ผ่านมามีการพูดถึง Cryptocurrency กันในวงกว้าง และคิดว่าปีนี้ตลาดน่าจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น รัฐบาลหลายแห่งเริ่มสนใจทำให้เรื่องนี้ถูกกฎหมาย มีตลาดแลกเปลี่ยนที่ได้รับการรับรอง ขณะที่ในประเทศไทยหน่วยงานกำกับดูแลก็ให้ความสนใจติดตามเรื่องนี้อย่างค่อนข้างใกล้ชิด เพราะโลกของ Cryptocurrency มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาก  

ในส่วนของโอมิเซะ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการจะรุกเข้าธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แต่เมื่อเห็นความต้องการด้านระบบชำระเงิน เพราะการทำอีคอมเมิร์ซ ปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งคือการชำระเงินของลูกค้า หากมีขั้นตอนที่มากมายก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะเปลี่ยนใจไม่ซื้อสินค้าได้ กลายเป็นที่มาของการทำธุรกิจเพย์เมนต์เกตเวย์ของโอมิเซะ และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง 

แต่เนื่องจากปัจจุบันนี้มูลค่า (Value) ที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตไม่ใช่แค่เงินอย่างเดียว อาจจะเป็นคะแนนสะสม ไอเท็มในเกม ไมล์สะสม มีเยอะแยะไปหมด แต่มีข้อจำกัดคือมูลค่าต่างๆ ใช้ได้ในแพลตฟอร์มของตัวเองเท่านั้น จะมีวิธีอย่างไรในการที่จะทำให้สามารถนำมาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ หรือใช้ข้ามกันได้ เป็นที่มาที่เราไปโยงกับบล็อกเชนแล็ปที่เราตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2015 เราไม่ได้หยุดแค่การทำเพย์เมนต์เกตเวย์ แต่เรามองว่าในอนาคตเราสามารถมีอะไรที่ดีขึ้นได้”  

ตัว Omise Go ที่มีการ ICO ไปเมื่อปีที่แล้ว เป็นผลพวงของความต้องการพัฒนาระบบบันทึกบัญชีให้มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน และจะมาช่วยแลกมูลค่าที่มีอยู่มากมายในโลกดิจิทัลสามารถข้ามกันไปมาได้  

“Omise Go เหมือนเรากำลังสร้างอินเทอร์เน็ตของ payment ที่ใครก็สามารถมาใช้ได้ เป้าหมายคือการให้ผู้ประกอบการต่างๆ สามารถมี Interoperability การแลกมูลค่าข้ามกัน เป้าหมายแรกที่เราตั้งไว้คือผู้ประกอบการที่เป็นกระเป๋าวอลเล็ต ส่วนใหญ่จะส่งเงินได้แค่ในเครือข่ายของตัวเองไม่สามารถส่งไปที่อื่นได้ เราสร้างเน็ตเวิร์กให้วอลเล็ตต่างๆ สามารถส่งมูลค่าข้ามกันได้ 

อิศราดรเล่าแผนงานที่วางไว้ว่า ในไตรมาสแรกคาดว่าตัวเน็ตเวิร์กที่เป็นแบบ Limited Mode จะแล้วเสร็จและภายใน 8-12 เดือน Decentralized Exchange Network (DEX) ก็จะเปิดตัวเป็นเครือข่ายสาธารณะ ความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ เราก็จะเป็นบริษัทแรกในโลกที่จะไปถึงสปีดนี้ได้ คือไม่มีใครเคยทำมาก่อน เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ต้องมีการวิจัยเยอะ และเราได้รับความช่วยเหลือค่อนข้างเยอะจากชุมชนทั้ง Ethereum Community เอง หรือ Vitalik Buterin, Joseph Poon ที่เป็นท็อปในวงการ ทำให้ตัวโปรเจกต์ Omise Go ได้รับเสียงตอบรับดีมาก เกินที่เราตั้งไว้”  

ในฐานะผู้ประกอบการที่ออก ICO และได้รับความสนใจอย่างมาก อิศราดรเล่าถึงเรื่องนี้ว่า ตอนที่เราระดมทุน เรากำหนดไว้ที่ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ภายในเดือนเดียวหรือเดือนครึ่ง มูลค่ารวมเกิน 1 พันล้านเหรียญ ก็ทำให้เห็นได้ชัดว่าโปรเจกต์ที่เราทำ คนให้ความหวังมาก เราจึงมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการส่งมอบสิ่งที่เราได้สัญญากับผู้คน และเราเชื่ออย่างยิ่งว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่จะเปลี่ยนฉากอุตสาหกรรมทางการเงินทั่วโลกได้ 

 

การเงินโลกจะเปลี่ยนไป 

สิ่งที่โอมิเซะตั้งใจจะพลิกวงการการเงินโลก คือการลดตัวกลางทางการเงินลงไป เพื่อให้คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้โดยง่าย  พลิกการจับจ่ายด้วยเงินสดสู่สังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริงด้วยเครือข่าย Omise Go ที่กำลังพัฒนาอยู่ 

“เนื่องจากบล็อกเชนมี Smart Contract การมี Smart Contract สามารถที่จะเอาตัวกลางออกไปได้ เพราะโดย Smart Contract โกงกันไม่ได้อยู่แล้ว ต้องทำตามเงื่อนไขอะไรบางอย่างถึงจะมีผล สิ่งที่เรากำลังทำคือ เราสามารถลดตัวกลางลงไปได้มากเลย ต่อไปในอนาคตการทำธุรกรรม บางเรื่องธนาคารอาจจะไม่มีบทบาทแล้ว หรือธนาคารอาจจะผันตัวเองมาเป็นดิจิทัลแบงก์ได้อย่างเต็มตัว เงินสดอาจจะหายไปเลย  

จริงๆ แล้วบางทีคนเราลืมไปว่า เงินที่เรามีถูกสมมติขึ้นมา เวลาเราเอาเงินไปธนาคารก็เป็นตัวเลข ธนบัตรที่เราถือเป็นแค่ตัวแทน เงินไทยเอาไปใช้ประเทศอื่นก็ไม่ได้มีค่าอะไร จริงๆ แล้วทุกอย่างถูก Tokenize เป็น Digital Form อยู่แล้ว แทนที่จะต้องพิมพ์แบงก์ออกมา ก็อยู่ในโทรศัพท์ อยู่ในฟอร์มอะไรก็ได้ และเงินสดก็มีต้นทุนเยอะ (เช่นค่าขนส่ง ค่ารักษาความปลอดภัย) และบิ๊กเดต้าก็มองไม่เห็น ระบบแบบนี้สามารถสร้างความโปร่งใสได้ โดยเฉพาะในบล็อกเชน รู้ที่มาที่ไปหมดเลย ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ 

เขาบอกต่อว่า การจะทำเช่นนี้ยังต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลคอยควบคุม เพราะโอมิเซะก็ไม่อยากจะเป็นช่องทางให้กับธุรกิจผิดกฎหมาย ดังนั้นบริษัทจึงสนับสนุนการพิสูจน์ตัวตนโดยกำลังผลักดันการพิสูจน์ตัวตนในรูปแบบดิจิทัลเช่นเดียวกับที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ โดยจะมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามา เช่น ไบโอเมทริก ระบบจดจำใบหน้า การสแกนนิ้ว นำมาใช้ร่วมกันเพื่อความมั่นใจ โดย Omise Go ในฐานะเน็ตเวิร์กเพื่อส่งมอบมูลค่าต่างๆ จะเป็นเสมือนอินเทอร์เน็ตของเพย์เมนต์ 

อิศราดรมองต่อว่าในประเทศไทยที่ยังมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนในบางกลุ่มอยู่ เทคโนโลยีนี้จะสามารถช่วยให้ทุกคนเข้าถึงได้  

คนปัจจุบันที่บ้านอาจจะไม่มีทีวีไม่มีอะไร แต่มีมือถือแน่นอน เราอยากจะทำให้คนสามารถเข้าถึงการให้บริการทางการเงินโดยไม่ต้องไปธนาคารหรือตัวแทน อยู่บ้านก็สามารถเปิดบัญชีได้ เงินที่ไปเข้าอาจจะต้องมีตัวแทน แต่พอเข้าแล้วก็ไปอยู่ในนั้น Tokenize ไปเลย จะใช้บัตร จะใช้มือถือ คิวอาร์โค้ด ใช้ Face Recognition ไปตัวแทนสแกนหน้า อาจจะใช้โทรศัพท์ธรรมดา ไปจ่ายแล้วมีเอสเอ็มเอสวิ่งมา นี่คือสิ่งที่โอมิเซะมองอยากให้เกิดขึ้น เรามองว่ามูลค่าต่างๆ สามารถเดินทางไปไหนก็ได้ ลองคิดดูต่อไป ไปเที่ยวญี่ปุ่นไม่ต้องเอาเงินไทยไปซื้อเงินเยนแล้ว ไปแล้วใช้แอป คือสิ่งที่เราอยากทำให้เกิดขึ้น”  

อีกข้อดีที่อิศราดรมองคือ เมื่อการจับจ่ายเป็นดิจิทัล จะทำให้เราสามารถเห็นข้อมูลจำนวนมาก ที่การใช้เงินสดอาจไม่เห็น ขณะเดียวกับก็ช่วยลดการหลอกลวงทางการเงิน การจี้ปล้น และเป็นช่องทางที่จะช่วยกระจายการลงทุนไปยังกลุ่มรากหญ้าได้ สิ่งที่เราทำกันอยู่คือการต้องการคืนอำนาจให้กับทุกคน จะเป็นคนไหนก็ได้ในสังคม 

อิศราดร หะริณสุต CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง บ.โอมิเซะ จำกัด

ทำความเข้าใจ ICO  

อิศราดรให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำ ICO (Initial Coin Offering) ที่ Omise Go ทำไปเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมาว่า หลายองค์กรอาจจะมองว่าเป็นช่องทางในการะดมทุนแทนที่จะไประดมทุนตามปกติที่ต้องเสียหุ้นไป ซึ่งนั่นเป็นเพียงบางส่วนของ ICO  

“เพราะการทำ ICO ก็ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราจะนำเสนอ และเกี่ยวข้องกับบล็อกเชนด้วย ซึ่งมีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกันอยู่ บางคนผมก็งงว่าโปรเจกต์แบบนี้ทำ ICO คือเขาคิดว่าการทำ ICO คือ Easy Money แต่จริงๆ ไม่ใช่ การทำ ICO คือการที่คนจะมาเชื่อถือเราได้มีหลายปัจจัยมากๆ ทั้งความน่าสนใจของโปรเจกต์ ความเป็นไปได้ของโปรเจกต์ ความมั่นคงของโปรเจกต์ ทีมที่จะมาทำ และเทคโนโลยีนี้บอกเลยว่า คนในโลกมีที่เป็นมืออาชีพไม่กี่คน ไม่ใช่สิ่งที่ใครนึกอยากจะทำก็ทำได้ คือปัจจุบันใช้คำว่าบล็อกเชนพร่ำเพรื่อเกินไป กลายเป็นว่า บางธุรกิจไม่จำเป็นต้องมีบล็อกเชนก็ได้ แต่พอบอกแล้วดูดี หรือสิ่งที่เขาพยายาม จะปรับใช้จริงๆ แล้วอาจจะไม่สามารถทำได้ก็ได้ คือผมบอกได้ว่าโปรเจกต์ ICO ส่วนใหญ่ก็เป็น Proof of Concept โพรดักส์จริงๆ ยังไม่มี ซึ่งก็เป็นช่องทางให้มิจฉาชีพออกมา มีการทำ ICO แบบหลอกเงินคน ทำให้คนทำ ICO จริงๆ มีโปรเจกต์จริงๆ ก็ลำบาก  

ฉะนั้น ก็คล้ายๆ เวลามี IPO ต้องอ่านเอกสารดีๆ ลักษณะเดียวกัน การจะลงทุนในตลาดนี้ก็ต้องหาความรู้พอสมควร ไม่ใช่ว่าพอบอก ICO นี่ได้เงินคืนแน่ๆ

โอมิเซะก็มีกลุ่มที่เราปรึกษาหารือ ว่าจะทำอย่างไรให้คอมมูนิตี้ของเราเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และพยายามปกป้องคอมมูนิตี้จากคนที่คิดไม่ดี ทำให้เราเสียภาพพจน์ เราทำงานร่วมกับ Ethereum Foundation ค่อนข้างใกล้ชิด เพื่อปกป้องชุมชนหรือมีอะไรให้ชุมชน เพราะบล็อกเชน เราไม่สามารถยืนกระต่ายขาเดียวทำ ต้องมีเพื่อน บล็อกเชน หรือ Decentralized ยิ่งเราให้มากเรายิ่งได้มาก ถ้าเราคิดจะรวบคนเดียวไม่โต จะแตกต่างจากโลกธุรกิจที่ผ่านมา”  

  

ว่าด้วยความเป็นผู้นำ 

อิศราดรอธิบายวิธีการรักษาความเป็นผู้นำของบริษัทที่ตนเองและเพื่อนผู้ก่อตั้งโอมิเซะ (จุน ฮาเซกาวา)  ชอบคือความท้าทายทำในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ เมื่อเผชิญกับปัญหาต่างๆ การที่ไม่หยุดเรียนรู้ การรับฟังมุมมองจากคนในหลากหลายแวดวง การมีทีมที่เข้มแข็ง มีวัฒนธรรมและเป้าหมายในการทำงานแบบเดียวกัน มีความเชื่อในเป้าหมายของบริษัท  

ปัจจุบันเราเชื่อว่า ปลาที่เร็วกว่า กินปลาช้า ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก  ถ้าเราไม่พยายามสร้างนวัตกรรม หรือทำอะไรที่บ้าๆ ที่คนอื่นไม่คิดว่าจะทำได้  ถ้าเราชะล่าใจไปว่าฉันเจ๋งกว่าคนอื่น แล้วหยุดอยู่ที่เดิม เวลาเราวางแผน เราไม่ได้มองแค่ 1-2-3 step เราคิดไป step 20 เลยครับ ว่าจากตรงนี้จะพาเราไปถึง step 20 อย่างไรบ้าง นี่คือวิธีที่เราวางมาตลอด ระหว่างทางที่เราวางแผนไว้อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ แต่เราพร้อมไหมที่จะเปลี่ยน บางทีเดี๋ยวก็เจออะไร  คนที่ออฟฟิศนี้จะตกใจบ่อย อะไรวะ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วยังคุยอย่างนี้อยู่เลย  แต่ไม่ใช่เราเปลี่ยนเป้า แต่วิธีในการไปหาระหว่างทางเราอาจเปลี่ยนได้ตลอด เป็นสิ่งที่ทำให้เราเติบโตมาอย่างก้าวกระโดด นอกจากนั้น เรายังมีผู้ใหญ่ และคนในวงการให้การสนับสนุน ต้องบอกเลย ถ้าไม่มีคนให้การสนับสนุน วีซี และ คอนเนกชันต่างๆ เราก็คงไม่มาถึงจุดนี้” 

X

Right Click

No right click