September 08, 2024

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าระดับสากล เผยผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก ปี 2567 เป็นที่น่าพอใจ โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,659 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 4,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 995 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน* พร้อมเริ่มต้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ponder Solar มีกำหนดเริ่มดำเนินการเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งยังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ Gemeng International Energy เพื่อขยายการเติบโตของพลังงานสะอาดในจีน

 

นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า “โรงไฟฟ้าของ BPP สามารถรักษาเสถียรภาพการผลิตและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนการผลิต จึงสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่การเป็นบริษัทผู้ผลิตพลังงานที่ยั่งยืน ผ่านการขยายพอร์ตให้ครอบคลุมมากไปกว่าการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า ตามแนวทาง ‘Beyond Megawatts Portfolio’ ทั้งการขยายกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน (Energy Infrastructure) และการพัฒนาธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System: BESS)”

ภาพรวมครึ่งปีแรก BPP มีผลการดำเนินงานที่ดี ส่วนสำคัญเกิดจากปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นของโรงไฟฟ้าแฝด Temple l และ Temple ll ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการรับรู้รายได้จากการเดินเครื่องที่มีประสิทธิภาพและมีค่าความพร้อมจ่ายไฟ (Equivalent Availability Factor: EAF) ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องของโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย อีกทั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในจีนยังรายงานผลการดำเนินงานที่ดีจากการบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ

*หมายเหตุ: เทียบกับ EBITDA ที่ไม่รวมกำไรจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนใหม่ในปี 2566

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้ติดตั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ponder Solar ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติ บาร์เนตต์ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา มีกำหนดเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2567 นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของ BPP ในสหรัฐฯ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ BPP ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Gemeng International Energy ในการร่วมพัฒนาธุรกิจพลังงานในรูปแบบใหม่ ธุรกิจระบบจัดเก็บพลังงาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เพื่อขยายโอกาสการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศจีน

 

ด้านธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานซึ่ง BPP ได้ลงทุนผ่านบ้านปู เน็กซ์ ในสัดส่วนร้อยละ 50 มีความคืบหน้าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ได้ลงนามสัญญาเพื่อผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับพันธมิตรในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 100 เมกะวัตต์ ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน เริ่มสายการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของโรงงาน SVOLT Thailand และส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (NMC) ชุดแรกให้กับผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย ขณะที่โครงการแบตเตอรี่ฟาร์มอิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) ในญี่ปุ่น มีความคืบหน้าในการก่อสร้างถึง 97% ธุรกิจอีโมบิลิตี้ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MuvMi เดินหน้าขยายเส้นทางการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ให้บริการรับส่งแล้วมากกว่า 13 ล้านเที่ยว ธุรกิจการบริหารจัดการพลังงาน ได้ลงนามในสัญญาบริการจำนวน 25 สัญญาให้แก่ SB Design Square ในจังหวัดภูเก็ต และ SB Design Square CDC ในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ หน่วยงาน Corporate Venture Capital ยังได้ลงทุนใน enspired ผู้นำในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการซื้อ-ขายพลังงานไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี AI ที่จะยกระดับการดำเนินงานในธุรกิจแบตเตอรี่และการซื้อขายพลังงานของบ้านปู เน็กซ์

“BPP จะยังคงเดินหน้าขยายกำลังผลิตไฟฟ้าคุณภาพจากโรงไฟฟ้าที่มีก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงในการผลิตและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคง และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต สะท้อนให้เห็นว่า เราคือพันธมิตรที่แข็งแกร่งในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจโดยยึดหลัก ESG ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ ที่มุ่งส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม” นายอิศรา กล่าวปิดท้าย

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจ BPP ได้ที่ www.banpupower.com

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ประกาศผลประกอบการครึ่งปีแรก 2567 ด้วยรายได้จากการขายรวม 2,441 ล้านเหรียญสหรัฐ (*ประมาณ 88,425 ล้านบาท) กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 650 ล้านเหรียญสหรัฐ (*ประมาณ 23,547 ล้านบาท) และกำไรสุทธิ 69 ล้านเหรียญสหรัฐ (*ประมาณ 2,489 ล้านบาท) บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและมาตรการควบคุมต้นทุน เดินหน้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ยกระดับการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งจัดสรรงบประมาณการลงทุนอย่างรอบคอบเพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาว

นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) มีความคืบหน้าจากโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Sequestration: CCUS) ในสหรัฐฯ ที่ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon Sequestered Gas: CSG) ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งใน Scope 1 2 และ 3 ในขณะเดียวกัน เรายังผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาใช้ยกระดับการดำเนินงานในทุกกลุ่มธุรกิจ (Digitalization) เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบนิเวศภายในบ้านปู รวมทั้งมีการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายโอกาสด้านการขายและการตลาด เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงานในอินโดนีเซีย และสหรัฐฯ”

ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทย่อยของบ้านปูในสหรัฐฯ BKV Corporation (BKV) ได้ขายสินทรัพย์ในธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำบางส่วนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักในแหล่งก๊าซธรรมชาติมาร์เซลลัส (Marcellus) ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 132 ล้านเหรียญสหรัฐ การขายสินทรัพย์ในครั้งนี้ทำให้ BKV ยังคงวินัยทางการเงินที่ดีและสามารถมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทรัพย์สินที่มีผลตอบแทนสูงกว่า ส่วนโครงการ Ponder Solar โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ในแหล่งก๊าซบาร์เนตต์ รัฐเท็กซัส มีกำหนดเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2567 โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ BKV จะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 2 จากธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำในธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการเอง ทั้งนี้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของ BKV จะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโดยตรงและทางอ้อม ลดการพึ่งพาการซื้อไฟฟ้าจากภายนอก และใช้พลังงานที่ผลิตเองจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการ Ponder Solar และการดำเนินโครงการ CCUS เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งของบริษัทและของบริษัทอื่นๆ

สำหรับผลการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ในช่วงครึ่งปีแรก 2567 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน มุ่งควบคุมประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด โดยตั้งเป้าลดต้นทุนในธุรกิจเหมืองที่ 5 - 3.0 เหรียญสหรัฐต่อตัน และในธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่ 0.06 - 0.07 เหรียญสหรัฐต่อพันลูกบาศก์ฟุต ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ BKV ได้ลงนามในข้อตกลงซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลางกับ ENGIE Energy Marketing NA, Inc. และ Kiewit Infrastructure South Co. โดยคาร์บอนเครดิตที่ได้มาพร้อมกับก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลางของ BKV มาจากการดำเนินโครงการ CCUS และเมื่อได้รับการรับรองจาก American Carbon Registry แล้ว คาดว่าจะสามารถส่งมอบก๊าซดังกล่าวได้ภายในสิ้นปี 2567

  • กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงานยังคงสร้างผลกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง โดยในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ II ในสหรัฐฯ มีรายได้จากการขายไฟฟ้า 288 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีปริมาณขายไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นจากการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ Temple II ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 สำหรับธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และออสเตรเลีย ยังสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ

  • กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานในครึ่งแรกของปี 2567 ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ได้ลงนามสัญญาใหม่เพื่อผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับพันธมิตรในประเทศไทยในหลากหลายอุตสาหกรรม กำลังผลิตรวม 9 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตที่ดำเนินการแล้วเพิ่มขึ้น 4.1 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 100 เมกะวัตต์ ขณะที่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop PPA) ในอินโดนีเซีย จำนวน 10 เมกะวัตต์ ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน เริ่มเดินหน้าสายการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของโรงงาน SVOLT Thailand และส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (NMC) ชุดแรกให้กับผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย ขณะที่การก่อสร้างโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มอิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) ในญี่ปุ่น มีความคืบหน้าตามแผนถึง 97% สำหรับธุรกิจอีโมบิลิตี้ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MuvMi ได้เข้าร่วมโครงการเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและเดินหน้าขยายเส้นทางการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ให้บริการรับส่งแล้วมากกว่า 13 ล้านเที่ยว ในขณะที่ธุรกิจการบริหารจัดการพลังงาน เดินหน้าเพื่อการขยายระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลางในเฟส 2 ของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี และยังได้ลงนามในสัญญาบริการจำนวน 25 สัญญาให้แก่ SB Design Square ในจังหวัดภูเก็ตด้วย นอกจากนั้น หน่วยงาน Corporate Venture Capital ยังได้เข้าลงทุนใน enspired ผู้นำในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการซื้อ-ขายพลังงานไฟฟ้า เป็นระบบข้อมูลที่มีการซื้อ-ขายเรียลไทม์ผ่านแพลตฟอร์มและระบบอัตโนมัติที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี AI เพื่อยกระดับการดำเนินงานในธุรกิจแบตเตอรี่และการซื้อขายพลังงานของบ้านปู เน็กซ์

“ด้วยพอร์ตพลังงานที่ครบวงจรและผสมผสานทั้งพลังงานรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่อย่างสมดุลของบ้านปูในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เราตั้งเป้าให้แต่ละกลุ่มธุรกิจสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้อย่างแข็งแกร่งเพื่อผลตอบแทนที่มั่นคง สร้างคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียและร่วมขับเคลื่อนโลกให้ดีขึ้นในทุก ๆ วัน” นายสินนท์ กล่าวปิดท้าย


*หมายเหตุ: คำนวณโดยอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ที่ USD 1: THB 35.6601 และ ไตรมาส 2 ปี 2567 ที่ USD 1: THB 36.7083

จาก “ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ” ในสหรัฐอเมริกาที่ “บ้านปู” บุกเบิกมาตั้งแต่ปี 2558 บ้านปูเติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านการบริหารงานของ BKV-BPP Power, LLC (BKV-BPP Power) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในสหรัฐฯ ระหว่างบริษัทย่อยของบริษัท Banpu Power US Corporation (BPPUS) และ BKV Corporation (BKV) และคืบหน้าเข้าสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าในปี 2565 และธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้าในรัฐเท็กซัสในปี 2566 เดินหน้ากลยุทธ์ทางการตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าค้าปลีกเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรม และครัวเรือน พร้อมกันนี้ ยังต่อยอดสู่ “โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” (Carbon Capture, Utilization and Sequestration: CCUS) ผ่านกระบวนการกักเก็บคาร์บอนเพื่อการนำไปใช้ต่อในเชิงพาณิชย์ ภายใต้ชื่อโครงการ Barnett Zero ดำเนินการครั้งแรกโดย BKV ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ภายใต้การบริหารจัดการของ BKV-BPP Power พร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคมนี้

แน่นอนว่า การมีธุรกิจครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าส่งผลให้แต่ละหน่วยธุรกิจของบ้านปูดำเนินงานได้อย่างเชื่อมโยงและมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการส่งมอบพลังงานไฟฟ้า สามารถบริหารจัดการทรัพยากร ลดต้นทุน ควบคุมความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการสร้างผลกำไร โดยเป้าหมายที่เหนือกว่าการแสวงหาผลกำไร นั่นคือการมุ่งสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม (Stakeholder) แสดงถึงความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานที่มีการดำเนินงานครบวงจรด้วยรากฐานแข็งแกร่งอย่างแท้จริง

จุดแข็งทางธุรกิจ ที่สร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน

บ้านปูได้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างแข็งแกร่งหลายปัจจัย เริ่มต้นจากการมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ คุณภาพภายใต้การบริหารงานของ BKV ทั้งแหล่งก๊าซบาร์เนตต์ (Barnett) ในรัฐเท็กซัส และแหล่งก๊าซมาร์เซลลัส (Marcellus) ในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งมีกำลังผลิตรวมกันถึง 860 ล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าต่อวัน ส่งผลให้ BKV ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติ 20 อันดับแรกของสหรัฐฯ ทั้งนี้ BKV ยังดูแลระบบท่อส่งรวม การแยกก๊าซ และการขนส่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรและลดต้นทุนการดำเนินงาน อีกทั้งยังสามารถบริหารเวลา ปรับปรุงพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างเต็มที่

ด้วยการสั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจ และการแสวงหาโอกาสพัฒนาธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด บริษัทร่วมทุน BKV-BPP จึงได้ขยายพอร์ตธุรกิจสู่การลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าผ่านการเข้าซื้อกิจการของ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ Temple II ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Cycle Gas Turbines: CCGT) ตั้งอยู่ในตลาดไฟฟ้าเสรี ERCOT (Electric Reliability Council of Texas) เขตเหนือ ในเมืองเทมเพิล รัฐเท็กซัส กลยุทธ์การลงทุนในครั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ รวมทั้งบริหารต้นทุนจากแหล่งผลิตจนถึงกระบวนการผลิตไฟฟ้า ทำให้สามารถบริหารต้นทุนต่อหน่วยได้ต่ำลง และสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้น (Economies of Scale: EOS) โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งมีกำลังการผลิตรวมกัน 1,499 เมกะวัตต์ และที่สำคัญ มีทำเลที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เอื้อต่อการใช้พื้นที่ส่วนกลางเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ

กระบวนการผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ เกิดขึ้นได้ด้วยการมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยี CCGT ที่ทันสมัยผสมผสานกระบวนการทำงานของกังหันก๊าซ (Gas Turbine) กับกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) เพื่อตอบสนองสภาพตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบเรียลไทม์ ทำให้โรงไฟฟ้ามีความพร้อมในการจ่ายไฟในช่วงเวลาที่มีความต้องการสูง เช่น ในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อน  โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ Temple II จึงตอบโจทย์ความต้องการในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีของ ERCOT และด้วยความพร้อมสู่การเติบโต บ้านปูยังได้เข้าสู่ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Power Trading) และธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้า (Power Retail) เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าโดยตรงให้แก่ผู้บริโภครายย่อย โดยนับตั้งแต่บริษัทร่วมทุน BKV-BPP Power เริ่มกิจการธุรกิจไฟฟ้าค้าปลีกในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ภายใต้ชื่อ BKV Energy ปัจจุบัน มีลูกค้ารายย่อยกว่า 58,000 ราย

ต่อยอดธุรกิจเดิม สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อผลตอบแทนระยะยาว 

จากต้นทุนแหล่งก๊าซธรรมชาติเดิมที่มีอยู่ บ้านปูต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่แข็งแกร่ง โดยมี BKV dCarbon Ventures, LLC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BKV โดยลงทุนใน โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) อีกหนึ่งความสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นผลพลอยได้ (Byproduct) จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ โครงการ CCUS ยังช่วยให้เกิดธุรกิจขายก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon-Sequestered Gas: CSG)1 ซึ่งเป็นก๊าซธรรมชาติที่สามารถนำไปจำหน่ายในตลาดด้วยคุณภาพระดับพรีเมียม ทั้งนี้ BKV ได้ทำสัญญากับ ENGIE Energy Marketing NA, Inc ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทสาธารณูปโภคด้านพลังงานระดับโลก ENGIE S.A. ในเดือนสิงหาคม 2566 และ Kiewit Infrastructure South Co. บริษัทในเครือของ Kiewit Corporation ในเดือนมิถุนายน 2567 สำหรับการขายและการซื้อ CSG หลังจากบรรลุข้อตกลงนี้แล้ว คาดว่าการส่งมอบ CSG จะเริ่มในปลายปี 2567 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ บ้านปูยังมองเห็นโอกาสจากการจัดสรรพื้นที่ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่แหล่งก๊าซบาร์เนตต์ รัฐเท็กซัส ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Ponder Solar) ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทร่วมทุน BKV-BPP Power ซึ่งพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนสิงหาคม 2567 BKV-BPP Power ยังพิจารณาโอกาสที่จะเข้าซื้อกิจการเพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจพลังงาน เช่น การขยายธุรกิจสู่โครงการแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System: BESS) หากประสบความสำเร็จ ธุรกิจนี้จะรองรับความต้องการการใช้พลังงานทางเลือกในอนาคต ช่วยให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมุ่งสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ของบ้านปู โดยเฉพาะกับกลุ่มลูกค้าองค์กรธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในสหรัฐฯ

นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บ้านปูขยายและปรับพอร์ตธุรกิจในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เรามองสหรัฐฯ เป็นประเทศยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ดังนั้น การพัฒนาห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานที่ครอบคลุม และการแสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน จะเอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตทางธุรกิจพลังงานของบ้านปู ทั้งนี้ เรามีการจัดสรรงบฯ ลงทุนธุรกิจในสหรัฐฯ กว่าร้อยละ 50 ของงบลงทุนในปีนี้ พร้อมความมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณค่าในเชิงพาณิชย์ให้กับห่วงโซ่ธุรกิจพลังงาน และคุณค่าในเชิงประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตอบโจทย์เป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมและการต่อยอดทางธุรกิจอย่างยั่งยืน”

จากความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น เทคโนโลยีที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นการผลิตพลังงานที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ภายใต้การนำของ นายอิศรา นิโรภาส ซีอีโอ BPP ผู้มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานกว่า 30 ปี จึงมองหาโอกาสที่จะเดินหน้าเติบโตท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ โดยประกาศแนวทางการดำเนินธุรกิจ “Beyond Megawatts Portfolio” เพื่อขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจโดยเพิ่มการลงทุนในโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ การต่อยอดธุรกิจไฟฟ้าที่มีอยู่ รวมทั้งการผลิตพลังงานในรูปแบบอื่น ๆ  

 

นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพ ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา BPP มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานไฟฟ้าที่มีความสมดุลทั้ง 3 ด้าน คือ สามารถเข้าถึงได้ด้วยราคาที่เหมาะสม (Affordable) สามารถส่งมอบได้อย่างต่อเนื่อง (Reliable) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly) จากนี้ต่อไป นอกจากจะรักษาจุดยืนนี้แล้ว BPP ยังพร้อมขยายขอบเขตของธุรกิจให้กว้างขวางขึ้นไปกว่าการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า ตามแนวทาง ‘Beyond Megawatts Portfolio’ เพื่อเปิดประตูสู่โอกาสเติบโตจากธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะมีส่วนพัฒนาโซลูชันพลังงานที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อมั่นในจุดแข็งที่จะทำให้ BPP เดินทางตามแนวทางใหม่นี้ได้” 

จุดแข็งเพื่อขับเคลื่อนให้ BPP ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตพลังงานตามแนวทาง Beyond Megawatts Portfolio 

  • ความเชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก BPP มีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้ากว่า 41 แห่ง/โครงการ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ใน 8 ประเทศ จึงมีความเข้าใจในกฎระเบียบภาครัฐและบริบทเศรษฐกิจที่หลากหลาย รวมถึงมีความชำนาญในการบริหารธุรกิจไฟฟ้าภายใต้รูปแบบสัญญาซื้อขายระยะยาว (Power Purchase Agreement: PPA) และแบบตลาดแข่งขันเสรี (Merchant Market) ทำให้สามารถนำข้อได้เปรียบของรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าแต่ละประเภทมาก่อให้เกิดโอกาสในการสร้างรายได้สูงสุดจากการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา 
  • ความสามารถในการผสานพลังร่วมกับกลุ่มบ้านปู (Synergy within the Banpu Ecosystem) BPP ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงานของบ้านปู สามารถเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจโดยอาศัยพลังร่วมจากกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน เช่น 1) การต่อยอดธุรกิจผลิตไฟฟ้าโดยลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I & II ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา หลังจากที่บ้านปูได้ดำเนินธุรกิจแหล่งก๊าซธรรมชาติ 
    บาร์เนตต์ที่ตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัส ผ่านบริษัท BKV ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบ้านปู 2) การที่ BPP ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ponder Solar ที่ตั้งอยู่ในแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ นับเป็นการเริ่มต้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ของ BPP เป็นครั้งแรก 3) การร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Sequestration: CCUS) “Cotton Cove” ในสหรัฐฯ ร่วมกับ BKV ทำให้ BPP เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีความก้าวหน้าในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) และ 4) การแบ่งปันองค์ความรู้กับบ้านปูซึ่งมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานเพื่อพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานสะอาด เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System: BESS) ในพื้นที่โรงไฟฟ้า Temple I & II และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานอื่น ๆ ในอนาคต 
  • สถานะการเงินที่แข็งแกร่งรองรับการขยายการลงทุน เป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้บริษัทฯ สามารถสร้างพอร์ต Beyond Megawatts Portfolio ที่มีคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาวได้อย่างมั่นคง สะท้อนผ่านตัวเลขต่าง ๆ อาทิ สินทรัพย์รวมมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยสินทรัพย์ที่มีคุณภาพให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่อง มีอัตราส่วนสินทรัพย์หมุนเวียนต่อหนี้สินหมุนเวียน (อัตราส่วนสภาพคล่อง) มากกว่า 1 เท่า แสดงถึงสภาพคล่องที่ดีและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net debt to equity) ในระดับต่ำ (0.48 เท่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567) แสดงถึงความเสี่ยงทางการเงินต่ำ รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาโครงการที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ BPP สามารถลงทุนในโครงการใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยให้มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับกับความ 
    ท้าทายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 
  • ทีมงานที่ไม่หยุดพัฒนาและพร้อมปรับตัวสู่โลกอนาคต (Innovative & Resilient) ทีมงาน BPP ผสมผสานคนมากประสบการณ์ในธุรกิจพลังงานและคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมขับเคลื่อนความคิดเชิงนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าด้วยกัน โดยให้โอกาสและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของพนักงานทุกคน และมีพื้นที่สำหรับการนำเสนอไอเดียสร้างสรรค์ตลอดเวลา ทีมงานของ BPP จึงมีความโดดเด่นด้วยทัศนคติที่เป็นสากล (Global mindset) พร้อมเรียนรู้ มีความยืดหยุ่นพร้อมปรับตัว มีความเป็นเจ้าของงานร่วมกัน (Sense of ownership) ตลอดจนมีความสามารถในการแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อผลักดันการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต 

“การดำเนินธุรกิจตามแนวทาง Beyond Megawatts Portfolio จะทำให้ BPP เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน โดยตั้งเป้าว่าในปี 2030 (พ.ศ. 2573) เราจะได้เห็นพอร์ตธุรกิจของ BPP ที่ยังคงความเชี่ยวชาญในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า และมีความคืบหน้าในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานอื่น ๆ ที่สอดรับกับเทรนด์ของพลังงานแห่งอนาคต ในฐานะบริษัทผู้ผลิตพลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy Generation Company) เหนือสิ่งอื่นใด BPP ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก ESG ที่คำนึงถึงทั้งการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสังคมและชุมชน รวมถึงการกำกับดูแลกิจการให้มี 
ความเป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ เช่น การได้รับการต่ออายุเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC) และการสื่อสารนโยบายการกำกับดูแลกิจการไปยังพนักงานในองค์กรทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ” นายอิศรา กล่าวสรุป 

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เข้ารับโล่เกียรติยศ “คนดี รักษ์โลก” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมี นายจิรเมธ อัชชะ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – บริหารและพัฒนาองค์กร (ซ้ายสุด) เป็นตัวแทนรับมอบโล่เกียรติยศฯ จากศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ที่ 2 จากซ้าย) ซึ่งมอบให้กับองค์กรที่มีแนวปฏิบัติที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและมีส่วนอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG  (Environmental, Social and Governance) เพื่อส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ที่ดำเนินธุรกิจ­

โล่เกียรติยศ “คนดี รักษ์โลก” จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา เพื่อเชิดชูเกียรติองค์กรที่มีหลักการและแนวปฏิบัติที่ดีในการขับเคลื่อนและตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งมีการดำเนินงานที่มีหลักการและแนวปฏิบัติที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม

Page 1 of 19
X

Right Click

No right click