ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี โดยมีผลเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 นั้น เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและแนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้น ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันในปี 2567 ธนาคารไทยพาณิชย์จึงประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราสูงสุด 0.30% ต่อปี เพื่อช่วยส่งเสริมการออมเงินและช่วยให้ผู้ฝากเงินมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น พร้อมกับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR MLR และ MOR 0.25% ต่อปี เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งผ่านการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงเป็นการปรับให้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวม ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อแม้คาดว่าจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ก็น่าจะปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้าจากปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน และเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. รวมถึงเป้าหมายของธนาคารที่จะเป็น Digital Bank with Human Touch ทางธนาคารจึงได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ดิจิทัลและเงินฝากประเภทไม่มีสมุด รวมถึงเงินฝากประจำ โดยปรับเพิ่มขึ้น 0.10% - 0.30% ต่อปี และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อสะท้อนต้นทุนทางการเงินในระบบที่สูงขึ้น โดยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.05% เป็น 7.30% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.80% เป็น 7.05% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.325% เป็น 7.575% ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

ธนาคารพร้อมให้การสนับสนุนลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือด้านต่างๆ สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีความเปราะบาง พร้อมคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกค้าในอนาคต สำหรับลูกค้าที่ประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาสามารถติดต่อธนาคารได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์ SCB Call Center 02-777-7777

“บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด” (SCB Julius Baer) เดินหน้าปูพรมเสริมแกร่งความรู้กลยุทธ์บริหารความมั่งคั่งให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (UHNWIs และ HNWIs) ของเมืองไทยอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ล่าสุด สานต่อซีรีส์สัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ SCB Julius Baer Advisory Series ภายใต้หัวข้อ "Solutions to Manage Dynamic Markets" โดยได้รับเกียรติจาก นางเจียจือ เฉิน ไซเลอร์ หัวหน้าฝ่ายการจัดการการลงทุนยุคใหม่ ธนาคารจูเลียส แบร์ สวิตเซอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าผู้จัดการกองทุน Julius Baer Next Generation ร่วมแชร์หลักปรัชญาด้านการลงทุน โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มลูกค้าคนพิเศษสามารถแลกเปลี่ยนมุมมอง และพูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับหัวหน้าผู้จัดการกองทุนอย่างใกล้ชิด ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับการลงทุนยุคใหม่ภายใต้ธีม Next Generation ที่มุ่งเน้นลงทุนในเทรนด์ที่เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว และเป็นเมกะเทรนด์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอันรวดเร็ว รวมถึงการใช้พลังงาน ประชากรศาสตร์ และการเพิ่มขึ้นของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังช่วยเพิ่มโอกาสสำหรับบริษัทต่างๆ ในการขยายผลกำไร โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเมกะเทรนด์เหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ รวมถึงยังคงเป็นโอกาสในการลงทุนระยะยาวที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ลูกค้ามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสในการลงทุนยุคใหม่เพื่อสร้างการเติบโตของพอร์ตฟอลิโออย่างยั่งยืน

การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ในการนำเสนอโซลูชันและบริการที่หลากหลาย ซึ่งครอบคลุมถึงการปูพื้นฐานความรู้ด้านการลงทุนแบบครบวงจรให้แก่ลูกค้าคนสำคัญ ด้วยสิทธิพิเศษในการมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดและสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนระดับสากลได้โดยตรง เพื่อให้ลูกค้าไม่พลาดทุกจังหวะการลงทุน โดยมี นางเจียจือ เฉิน ไซเลอร์ หัวหน้าฝ่ายการจัดการการลงทุนยุคใหม่ ธนาคารจูเลียส แบร์ สวิตเซอร์แลนด์ (กลาง) และ มร.เอเดรียน แมซสินาวเออร์ กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารฝ่ายบริหารความมั่งคั่ง บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด (ที่ 2 จากขวา) และคณะผู้บริหารระดับสูง ร่วมงานสัมมนา เมื่อเร็วๆ นี้

ภาพผู้บริหาร ซ้ายไปขวา

· มร.คีน ตัน (Mr. Kean Tan) หัวหน้าฝ่ายแนะนำการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด

· มร.แอนดรูว์ ลี (Mr. Andrew Lee) Vice Chairman South East Asia ธนาคารจูเลียส แบร์ สิงคโปร์

· นางเจียจือ เฉิน ไซเลอร์ (Mrs. Jiazhi Chen Seiler) หัวหน้าฝ่ายการจัดการการลงทุนยุคใหม่ ธนาคารจูเลียส แบร์ สวิตเซอร์แลนด์

· มร.เอเดรียน แมซสินาวเออร์ (Mr. Adrian Mazenauer) กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารฝ่ายบริหารความมั่งคั่ง บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด

· นางสาววิมลรัตน์ วชิรัคศศวกุล ผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด

SCB CIO มองเฟดส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง อาจปรับลดลงไตรมาส 3/2567 ส่งผลกดดันกลุ่มประเทศหรือธุรกิจที่มีหนี้สูง อาจมีปัญหาสภาพคล่องหรือถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2567 โต 1.5% ชะลอลงจากปีนี้ ที่คาดว่าจะเติบโต 2.1%แนะหลีกเลี่ยงลงทุนในหุ้นกู้หรือหุ้นกลุ่มนื้ เน้นลงทุนผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ ซึ่งออกโดยสถาบันการเงินในไทย รวมถึงลงทุนหุ้นกู้ Investment grade เนื่องจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและไทย ยังกว้าง หลีกเลี่ยงหุ้นกู้ High yield กลุ่มธุรกิจที่ก่อหนี้สูง เช่น กลุ่มอสังหาฯ จีน พร้อมปรับมุมมองหุ้นจีน A-share และ EM REITs เป็น Neutral (ถือ) และแนะรอจังหวะสะสมหุ้นสหรัฐฯ

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ครั้งล่าสุด ได้ส่งสัญญาณการคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง และปรับลดลงช้า โดยอาจจะต้องรอจนถึงไตรมาส 3 ปี 2567 ขณะที่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2567 ยังมีแนวโน้มชะลอตัว แต่น่าจะเป็นแบบจัดการได้ (Soft Landing) โดยล่าสุด Fedคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2567 จะเติบโต 1.5% ชะลอลงจากปี 2566 ที่คาดว่าจะเติบโต 2.1% ส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย รวมถึงเศรษฐกิจในอาเซียน และไทย ที่พึ่งพาอุปสงค์ต่างประเทศ ในด้านการส่งออกและการท่องเที่ยว ค่อนข้างมาก ขณะที่ เศรษฐกิจยุโรปแม้มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ก็มาจากฐานต่ำ จึงทำให้เศรษฐกิจโลกในปี 2567 ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ จากแนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่คงอยู่ในระดับสูงและลดลงช้า ขณะที่ดอกเบี้ยในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) มีแนวโน้มลดลงได้เร็วมากกว่า ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย (Rate differentials) มีแนวโน้มดำเนินต่อไป และเป็นแรงกดดันทำให้ค่าเงิน Emerging markets อาจอ่อนค่า โดยเฉพาะประเทศที่ดุลบัญชีเดินสะพัดฟื้นตัวช้า และยังมีแนวโน้มขาดดุลการคลังเพิ่มสูงขึ้น เช่น ไทย โดย SCB CIO เชื่อว่า ค่าเงินบาทจะยังมีแรงกดดันอ่อนค่าในช่วงที่ยังมีความกังวลเรื่องการขาดดุลการคลังในระยะข้างหน้า แต่ค่าเงินบาทน่าจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยช่วงปลายปี ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (high season) โดยเราปรับมุมมองค่าเงินบาทเป็น 34.5-35.5 บาท/ดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นปี 2566

ขณะที่เรายังคงแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนในกลุ่มประเทศ/ธุรกิจที่มีหนี้สูง ซึ่งอาจเกิดปัญหาสภาพคล่องในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสูง และเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงอาจถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ลดอันดับลง(downgrade) ได้ โดยประเทศส่วนใหญ่ยังมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับสูงและลดลงช้า เป็นผลจากการออกมาตรการประคับประคองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในช่วง COVID-19 ขณะที่เมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนต่อ GDP พบว่า จีน อยู่ที่ 64% และไทย 91% ซึ่งเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะไทย ที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน สำหรับหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP พบว่า จีน อยู่ที่ 132% และ เวียดนาม 128% โดยหนี้ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นเร็วและอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ขณะที่หนี้ภาคธุรกิจของไทย อยู่ที่ 80% เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากที่เคยเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤต COVID-19

นอกจากนี้ จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และไทย ที่ยังมีแนวโน้มสูงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า เรายังคงแนะนำการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ หรืออัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ สรอ.- บาท ซึ่งออกโดยสถาบันการเงินในไทย เนื่องจากในช่วงที่ตลาดยังมีความผันผวนจากการลดดอกเบี้ยช้าของ Fed เราเชื่อว่าสินทรัพย์เสี่ยงยังคงมีความผันผวนสูง ในขณะที่ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และไทย ยังมีแนวโน้มอยู่ในลักษณะกว้างต่อไป

ในส่วนของการลงทุนในพันธบัตร/หุ้นกู้ เรายังคงเน้นการลงทุนในหุ้นกู้คุณภาพสูง (Investment grade) และเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงบวกกับท่าทีของ Fed ในการหยุดขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งระยะสั้นและยาว ทยอยลดลงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ค้างในระดับสูงในช่วงที่เหลือของปี มีแนวโน้มทำให้ความเสี่ยงด้านเครดิตของหุ้นกู้กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงแต่มีความเสี่ยงสูง (High yield) ยังมีโอกาสขยับสูงขึ้นอีก จึงแนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นกู้ High yield ในกลุ่มธุรกิจที่มีการก่อหนี้สูง เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในจีน

อย่างไรก็ตาม เราได้ปรับมุมมองการลงทุนบนหุ้นจีน A-share เป็น Neutral โดยเรามองว่า ถึงแม้ดัชนีหุ้น A-share จะมีมูลค่า (Valuation) ค่อนข้างถูก (forward P/E อยู่ที่ 10.9x, -1 s.d. เมื่อเทียบค่าเฉลี่ย 5 ปี) และมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการฝั่งการเงิน การคลัง ภาคอสังหาฯ และค่าเงินหยวน แต่ดัชนีมีแนวโน้มเคลื่อนไหวกรอบจำกัด ในระยะ 3-6 เดือนค่อนข้างจำกัด จาก sentiment ของนักลงทุนจีนที่ยังซบเซา และแรงขายสุทธิหุ้นจีนของต่างชาติ ประกอบกับความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ ทั้งกับสหรัฐฯ และยุโรป โดยเราประเมินว่าหุ้นจีน A-share มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ฟื้นตัวได้ในกรอบจำกัด จนกว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

นอกจากนี้ ยังปรับมุมมอง ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ในตลาดเกิดใหม่ หรือ EM REITs เป็น Neutral เช่นกัน โดยแนะนำให้เลือกลงทุนรายตัว (selective buy) เป็นหลัก เนื่องจากกลุ่ม REITs เอเชีย หรือ Asian REITs เผชิญแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) ที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับ REITs ไทยยังเผชิญแรงขายจากกองทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Fund of property funds) อย่างไรก็ดี Valuation ยังอยู่ในระดับน่าสนใจทั้งในแง่ของ ราคาต่อมูลค่าหุ้นตามบัญชี (PBV), อัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend yield) และส่วนต่างของผลตอบแทนเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล (Yield Spread) ด้าน REITs ของ สิงคโปร์ พบว่า Yield Spread อยู่ในระดับที่ไม่น่าสนใจ

SCB CIO แนะนำให้รอจังหวะสะสมหุ้นสหรัฐฯ โดย หุ้น Big-Tech ขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (market cap) มากที่สุด 7 ตัวแรกในดัชนี S&P 500 และเป็นตัวชี้นำผลตอบแทนการลงทุนในปี 2566 เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% นับตั้งแต่ต้นปี ขณะที่หุ้นที่เหลือของดัชนีเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 5% เท่านั้น เราจึงมองว่า Valuation ของหุ้น Big-Tech 7 ตัว ได้สะท้อนกำไรที่ดีกว่าคาดไปพอสมควรแล้ว และมีโอกาสที่จะปรับฐานเข้าสู่ค่าเฉลี่ยของตลาด โดยล่าสุด Trailing P/E และ Forward P/E ของ Big Tech 7 ตัว อยู่ที่ 60.1x และ 36.1x ขณะที Trailing P/E และ Forward P/E ของ S&P500 อยู่ที่ 24.7x และ 19.5x ตามลำดับ โดยเราประเมินว่าแม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในระดับที่ Valuation ค่อนข้างตึงตัว จึงแนะนำให้รอ Valuation ถูกลงมากกว่านี้ค่อยเข้าทยอยสะสม

ศูนย์วิจัย SCB EIC ชี้อสังหาฯ ปี66 ฟื้นตัวอย่างช้าๆ เหตุภาวะเศรษฐกิจ ต้นทุน ฉุดราคาสูงเกินกำลังซื้อของลูกค้า

X

Right Click

No right click