การนำสินค้าเข้าตลาดโมเดิร์นเทรด อาจดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับชุมชนทั่วไป แต่ไม่ใช่สำหรับ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านแคว จ.เชียงใหม่” ที่รวมพลังแม่บ้านในชุมชน เชื่อมโยงระบบนิเวศหรืออีโคซิสเท็มเข้ากับผู้ประกอบการและช่องทางขายอย่างร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จนสามารถพลิกโฉมสินค้าพื้นถิ่นอย่าง “กล้วยอบ” ให้กลายเป็น “กล้วยหนึบ” สร้างรายได้กลับสู่ชุมชนปีละนับ 10 ล้าน

ป้าแดง-ทองเพียร ศรีสว่าง วัย 63 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านแคว จ.เชียงใหม่ เล่าว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านแคว เริ่มต้นจากการรวมตัวกันของแม่บ้านในชุมชนเมื่อปี 2538 เพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นรายได้เสริมกับครอบครัว และค่อยๆ เติบโตขึ้นเป็นลำดับ จนสินค้าผลไม้อบของกลุ่มได้รับการยกระดับเป็นสินค้า OTOP และมีช่องทางการขายทั้งริมปิง ซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง และตามสถานที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงห้างดังในกรุงเทพฯ

จุดเปลี่ยนสำคัญของกลุ่ม เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 สินค้าของกลุ่มได้รับผลกระทบ ไม่สามารถจำหน่ายได้ ทางบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีสำนักงานหลักอยู่ที่เชียงใหม่ ได้เข้ามาพูดคุยกับกลุ่มถึงความเป็นอยู่ พบว่ากลุ่มประสบปัญหาด้านช่องทางขาย ทำให้คณะผู้บริหารเข้าปรึกษากับทางเซเว่นฯ ซึ่งซันสวีท เป็นคู่ค้ากับทางเซเว่นฯ ภายใต้แบรนด์ KC อยู่แล้ว หลังจากนั้นไม่นานทีมบริหารผลิตภัณฑ์และจัดซื้อของทางเซเว่นฯ ก็เข้ามาที่กลุ่มเพื่อดูสินค้าและเห็นโอกาสการเติบโตของกล้วยอบ

“กล้วยหนึบ” สร้างรายได้ปีละกว่า 10 ล้าน

แต่สินค้ากล้วยอบมีจำหน่ายในตลาดเป็นจำนวนมาก จึงแนะนำให้ทางกลุ่มหาวิธีการสร้างความต่างให้กับสินค้า ด้วยการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ ว่าจะทำอย่างไรให้กล้วยสามารถทานแบบอุ่นร้อนได้ เพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อยมากยิ่งขึ้น และยังคงความหนึบไว้ได้ โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญจากทางเซเว่นฯและซันสวีทคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด จนได้ออกมาเป็น กล้วยหนึบ วางจำหน่ายช่วงกลางปี 2565

ป้าแดง เล่าเพิ่มเติมว่า “กล้วยหนึบ” ที่ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯผลิตมาจากกล้วยน้ำว้าสายพันธุ์มะลิอ่อง ซึ่งเป็นกล้วยสายพันธุ์ที่ปลูกมากใน จ.เชียงใหม่ เมื่อนำมาแปรรูปจะมีความเหนียวนุ่มและมีกลิ่นหอมมากกว่าสายพันธุ์อื่น โดยทางกลุ่มจะรับซื้อกล้วยจากชุมชนในท้องถิ่นและพื้นที่ต่างๆ บนดอยของ จ.เชียงใหม่  และ จ.เชียงราย ในราคา 12-20 บาทต่อกิโลกรัม โดยทางกลุ่มจะรับซื้อกล้วยสดในปริมาณ 4,000 กิโลกรัมต่อครั้ง เพื่อนำมาแปรรูปผ่านกระบวนการอบแห้ง 6 ชั่วโมง จะได้ปริมาณกล้วยหนึบประมาณ 400 กิโลกรัม

ในช่วงที่กลุ่มมียอดขายดีๆ มีออร์เดอร์กล้วยหนึบสูงถึงเดือนละ 3,000-4,000 กิโลกรัม ทำให้กลุ่มต้องรับซื้อกล้วยสดอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 กิโลกรัม เพื่อนำมาแปรรูปจำหน่ายในราคา 120-150 บาทต่อกิโลกรัม สร้างความมั่นคงกลับสู่กลุ่มสมาชิกที่มีกว่า 60 ครัวเรือน ด้วยรายได้เดือนละประมาณ 1-2 ล้านบาท หรือปีละกว่า 10 ล้านบาท

“การได้รับโอกาสและการสนับสนุนจากเซเว่นฯและซันสวีท ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้กลุ่มฯสามารถกลับมามีรายได้และสร้างความมั่นคงให้กับสมาชิกอีกครั้ง ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจทุกกลุ่มก็สามารถเป็นอย่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านแคว จ.เชียงใหม่ ได้เช่นกัน ทุกพื้นที่มีของดีของตัวเอง และมีองค์กรภาครัฐและเอกชนมากมายที่พร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริม ขอเพียงแค่อย่าหยุดที่จะเรียนรู้ และต้องกล้าที่จะออกจากความคิดเดิมๆ”

“ซันสวีท” โซ่ข้อกลางเชื่อมชุมชนสู่โมเดิร์นเทรด

เน็ต-วณิชชา ณ ลำปาง ผู้จัดการฝ่ายภายในประเทศและพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรพร้อมทาน ภายใต้แบรนด์ KC กล่าวว่า ด้วยความคุ้นเคยและใกล้ชิดกว่า 20 ปีระหว่างผู้บริหาร คุณองอาจ กิตติคุณชัย ประธานกรรมการบริหาร กับชุมชนในพื้นที่ ทำให้มองเห็นและรับรู้ถึงผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านแควเป็นอย่างดี จึงได้นำมาปรึกษากับทีมบริหารถึงแนวทางการช่วยเหลือ ซึ่งในขณะนั้นบริษัทมีโครงการสินค้าเพื่อสุขภาพกับทางเซเว่นฯ พอดี ประกอบกับมีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มเกษตรกร สอดคล้องกับนโยบายของทางเซเว่นฯ จึงร่วมปรึกษากับทางทีมเซเว่นฯ ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำและได้รับการสนับสนุนอย่างดีในทุกขั้นตอน

“ซันสวีทเปรียบเสมือนโซ่ข้อกลางระหว่างชุมชนกับเซเว่นฯ ที่มีความเข้าใจในมุมมองด้านการตลาด สามารถช่วยถ่ายทอดมุมมองในส่วนนี้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจได้ นอกจากนี้บริษัทยังเข้าไปช่วยเรื่องระบบหลังบ้าน ช่วยควบคุมการผลิตให้ได้คุณภาพตรงตามมาตรฐาน รวมทั้งเข้าไปช่วยพัฒนาแพ็กเก็จจิ้ง ที่สื่อให้เห็นถึงความเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ทันสมัย รวมทั้งช่วยสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคถึงความแตกต่างของสินค้า เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน”

ปัจจุบันบริษัทสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้วยการรับซื้อกล้วยหนึบเดือนละ 5,000 กิโลกรัม เพื่อจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ KC และมียอดขายอยู่ที่ 7-8 แสนซองต่อปี หรือประมาณ 2,000-3,000 ซองต่อวัน คิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี จากความมุ่งมั่นและตั้งใจของกลุ่มวิสาหกิจและบริษัทที่ต้องการยกระดับความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อพัฒนาสินค้าพื้นถิ่นสู่ระดับประเทศ ทำให้ “กล้วยหนึบ” ได้รับรางวัล Inventor Awards (สุดยอดนักประดิษฐ์) ประเภทรางวัลนวัตกรรมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม จากเวที “7 Innovation Awards 2023” 

“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านแคว จ.เชียงใหม่” ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่สามารถสร้างการเติบโตได้ด้วยตัวเอง ขอเพียงแค่อย่างปิดกั้นโอกาส และต้องแสวงหาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

“โอกาสก็เหมือนอากาศ มันมีอยู่ทุกที่ เราจึงต้องพร้อมอยู่เสมอ” เป็นคำกล่าวของ เจน-ชัชณี พฤกษ์ศลานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัท ครอสแม็กซ์ รีเทล จำกัด หนึ่งในผู้ที่ร่วมนำทัพสร้างนวัตกรรมเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ Hooray! (ฮูเร่!) ให้เป็นที่รู้จัก ในฐานะผลิตภัณฑ์นมโปรตีนสูงพร้อมดื่มเจ้าแรกของประเทศที่ปราศจากน้ำตาลแลคโตส

ปัจจุบัน Hooray! มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นสินค้าในกลุ่มนมโปรตีนสูงที่มียอดขายสูงสุดในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น โดยคาดว่าในปี 2566 บริษัทจะมีรายได้รวมทุกช่องทางขายทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 600 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าก้าวสู่การเป็นแบรนด์ Protein of Asia ในอีก 5 ปีข้างหน้า

“โอกาส” สร้างจุดเปลี่ยน

เจน เล่าย้อนความให้ฟังถึงที่มาของ Hooray! ว่า นับย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558) Hooray! เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะปลดล็อกทุกข้อจำกัดของการทานเวย์โปรตีน ทั้งเรื่องรสชาติไม่ถูกปาก รสชาติไม่หลากหลาย ความยุ่งยากในการรับประทาน ต้องนำมาผสมน้ำเอง ตนและสามี (ต้น-วงษ์เดช เอี่ยวสานุรักษ์) จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์นมโปรตีนสูงพร้อมดื่มขึ้น โดยใช้เวลากว่า 1 ปีในการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล ควบคู่กับการทำวิจัย จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกคือ Hooray! Better Shake ผลิตภัณฑ์ที่นำไปสู่การพัฒนาเป็นสินค้าอื่นๆ ของบริษัท

 

เราทำการตลาดผ่านช่องทางต่างๆ ทั้ง offline และ online อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าที่ควร เนื่องจากเราเป็น SME แบรนด์น้องใหม่ในตลาด กระทั่งได้มีโอกาสไปร่วมงาน THAIFEX ในปี 2560 ทำให้ได้มีโอกาสพบกับทีมบริหารผลิตภัณฑ์และจัดซื้อของทางเซเว่นฯ ที่มองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจสุขภาพในขณะนั้น ทางบริษัทจึงได้ร่วมพัฒนาสินค้ากับทางเซเว่นฯอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าสุขภาพ ที่มีคุณภาพ รสชาติอร่อย และหาซื้อได้ง่าย ในราคาที่ทุกคนสามารถหาซื้อรับประทานได้ จนได้มาเป็นผลิตภัณฑ์ Hooray! Protein Shake สินค้าขายดีของแบรนด์ในปัจจุบัน

การที่ Hooray! ได้รับโอกาสให้นำสินค้าเข้าจำหน่ายในร้านเซเว่นฯ ในปี 2564 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญแบบก้าวกระโดดของธุรกิจ ส่งผลให้รายได้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมมีรายได้อยู่ที่หลักสิบล้านบาทต่อปี ก็ปรับเพิ่มเป็นหลัก 100 ล้านบาทต่อปี โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้รวมของทั้งบริษัทอยู่ที่ 450 ล้านบาท

“นวัตกรรม” สร้างความต่าง

จากความมุ่งมั่นและตั้งใจของผู้ประกอบการคือต้องการให้ Hooray! เป็น Protein Expert” แบรนด์ที่มีความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค ไม่จำกัดเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีคุณภาพ หาซื้อง่าย ในราคาที่จับต้องได้ และสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไปสู่สิ่งนั้นได้คือ “นวัตกรรม” ที่นอกจากจะช่วยทำให้แบรนด์ก้าวสู่สิ่งที่หวังแล้ว ยังช่วยสร้างความต่างให้กับสินค้าอีกด้วย เพราะการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่โดยตรงอาจเป็นเรื่องยาก โดย Hooray! 1 ขวด จะมีโปรตีนเทียบเท่านมธรรมดา 5 แก้ว จากการพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อนำสารอาหารที่ไม่จำเป็นอย่างเช่น ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ออก ทำให้ได้รับโปรตีนเต็มที่

บริษัทยังได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยตลาด เพื่อให้ได้ข้อมูลในการนำมาพัฒนาสินค้าอื่นๆ เช่น คนไทยกว่า 98% มีโอกาสแพ้น้ำตาล Lactose ในนม ทำให้เกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้อง ผายลมบ่อย คลื่นไส้ ท้องเสีย หรือเกิดสิว จึงได้คิดค้นและผลิต Hooray! Protein Shake Lactose Free ขึ้น ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่สามารถผลิตนมโปรตีนสูงที่ปราศจากน้ำตาล Lactose โดยใช้กระบวนการทางเทคโนโลยี Enzymatic เพื่อสกัดน้ำตาล Lactose ออกมา และมีโปรตีนสูง 29-31 กรัมต่อขวด ใน 4 รสชาติ ได้แก่ รสช็อกโกแลต, รสสตรอเบอร์รี, รสจืด, รสซอลท์เท็ด คาราเมล

แม้ Hooray! Protein Shake Lactose Free จะได้รับการตอบรับที่ดี จนก้าวสู่ผู้นำสินค้าในกลุ่มนมโปรตีนสูงที่มียอดขายสูงสุดในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น แต่บริษัทก็ไม่ได้หยุดพัฒนาเพียงเท่านี้ ล่าสุด เทรนด์การบริโภคโปรตีนที่ได้จากพืชมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงได้คิดค้น Hooray! Complete Plant Protein ช่วยเพิ่มทางเลือกและตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคที่มองหาสินค้ากลุ่มนมพืชโปรตีนสูง ที่มีโปรตีนเฉลี่ยอยู่ที่ 27-30 กรัมต่อขวด โดยโปรตีนพืชที่นำมาใช้ได้รับการรับรองจากห้องทดลองมาตรฐานระดับสากลว่าเป็น Complete Protein คือมีกรดอะมิโนที่จำเป็นครบทั้ง 9 ชนิด (Histidine, Leucine, Methionine, Threonine, Valine, Isoleucine, Lysine, Phenylalanine และ Tryptophan) มีส่วนผสมของ MCT Oil ที่ได้จากการสกัดจากน้ำมันมะพร้าว  ซึ่งเป็นไขมันดี มีรสชาติอร่อย ด้วยเทคโนโลยี การผลิตขั้นสูง ช่วยให้ได้รสชาติที่ทานง่าย ไม่เหม็นเขียว ลื่นคอ เหมาะกับคนที่ไม่ต้องการบริโภคสินค้าที่ทำมาจากสัตว์

“เปิดรับไอเดียคนรุ่นใหม่” สร้างการเติบโต

ต้องยอมรับว่า “กลุ่มคนรุ่นใหม่” ถือเป็นพลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนองค์กรและธุรกิจให้เติบโต บริษัทจึงไม่ปิดกั้นความคิดของกลุ่มคนรุ่นใหม่ สินค้าทุกตัวของบริษัท ตลอดจนกิจกรรมทางการตลาดที่หลายตัวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งก็มาจากความคิดกลุ่มคนรุ่นใหม่

ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานประมาณ 50-60 คน มีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 35 ปี พนักงานทั้งหมดมีสิทธิ์ที่จะแสดงความสามารถและศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ บริษัทจึงไม่ปิดกั้นความคิดของพนักงาน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีความคิดและมุมมองที่น่าสนใจ อย่างเช่น กิจกรรมล่าสุด “Hooray! Good Vibes Only” ส่งต่อความสุขและรอยยิ้มให้กับลูกค้าผ่านฝาฟอยล์บนขวด โดยการส่งมอบข้อความดีๆไปยังผู้บริโภค ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่ได้จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ พวกเขาไม่ได้คิดแค่ว่าบริษัทจะต้องโตเพียงฝ่ายเดียว แต่บริษัทควรที่จะมีส่วนในการช่วยส่งต่อพลังบวกกลับสู่สังคมด้วยเช่นกัน ให้สังคมยิ้มได้อย่างมีความสุข สอดคล้องกับ DNA ของแบรนด์ Hooray

จากเรื่องราวของ Hooray! ผ่านการบอกเล่าของเจน-ชัชณี พฤกษ์ศลานันท์ คงทำให้เห็นแล้วว่า การที่ผู้ประกอบการ SME จะยืนหยัดเคียงข้างผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดโมเดิร์นเทรดที่มีการแข่งขันสูงได้อย่างภาคภูมินั้น สินค้าต้องมีความต่าง และเครื่องมือในการสร้างความต่างที่ดีที่สุดคือการใช้ “นวัตกรรม” ควบคู่กับพลังของคนรุ่นใหม่มาเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อน เมื่อผู้ประกอบการมีความพร้อมในทุกด้านแล้ว เมื่อใดที่โอกาสมาถึงก็จะสามารถคว้าไว้ได้ทันที เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต

ธุรกิจห้าดาว ผู้นำธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร เปิดตัว The Elevator Pitch

เส้นไข่ขาว “นิ่มนิ่ม” – แพลตฟอร์มยกระดับอาชีพผู้พิการ “Vulcan”

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าโครงการ “Partner to Grow…เติบโต เคียงข้าง อย่างยั่งยืน” นำศักยภาพขององค์กร ร่วมพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของคู่ค้าในการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ ล่าสุด จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพคู่ค้า SMEs ด้านการจัดซื้อสินค้าอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง ESG เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุน และระบบโลจิสติกส์ ตอบสนองความท้าทายด้านเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

นางสาวธิดารัตน์ เดชายนต์บัญชา ผู้บริหารสูงสุด สายงานจัดซื้อกลาง กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการ พัฒนาและสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันระหว่างบริษัท พันธมิตรทางการค้า และเกษตรกรในห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลกที่ยั่งยืน” เดินหน้าพัฒนาศักยภาพของคู่ค้าในด้านต่างๆ ยกระดับกระบวนการจัดหาที่รับผิดชอบได้มาตรฐานสากล ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการที่ดี (Environmental & Economic, Social and Governance) ด้วยการดำเนินโครงการ “Partner to Grow…เติบโต เคียงข้าง อย่างยั่งยืน” ซึ่งเน้นช่วยกลุ่ม SMEs เป็นลำดับแรก ภายใต้โครงการ SMEs PLUS  นำศักยภาพขององค์กรมาช่วยปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานต่างๆ รวมถึงการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ Value Chain Optimization for SMEs เพื่อนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การจัดหาวัตถุดิบตลอดห่วงโซ่คุณค่าจากผู้เชี่ยวชาญของซีพีเอฟ ช่วยผู้ประกอบการ SMEs มีกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า สามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในสถานการณ์การค้าที่มีการแข่งขันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“โครงการ Partner to Grow เป็นแนวทางที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของคู่ค้าของซีพีเอฟในทุกด้าน รวมถึงการอบรมวันนี้ที่จะช่วยให้คู่ค้าสามารถบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อผลิตและจัดหาสินค้าที่มีคุณภาพในต้นทุนที่แข่งขันได้  ซึ่งต่อยอดจากโครงการ CPF x BBL เคียงข้างคู่ค้า เติบโตอย่างยั่งยืน” ที่บริษัทฯ ร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพช่วยคู่ค้าธุรกิจมีโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำมากขึ้น ช่วยเพิ่มแต้มต่อในการทำธุรกิจของ ผู้ประกอบการ SMEs และสามารถเติบโตก้าวสู่ระดับสากลได้อย่างเข้มแข็ง” นางสาวธิดารัตน์กล่าว

 

ซีพีเอฟตั้งเป้าหมายว่าในปีนี้ จะมีคู่ค้า SMEs กว่า 500 รายเข้าร่วมโครงการ SMEs PLUS ประกอบด้วย 1)ร่วมกับสำนักวิศวกรรม จัดทำโครงการ CPF SMEx ต้นทุนต่ำ นำรักษ์โลก สนับสนุนให้ SMEs ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการจัดการทรัพยากรเพื่อลดต้นทุนการผลิต  2)ร่วมกับสำนักระบบมาตรฐานสากล และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำ  3)จัดโดยสำนักจัดซื้อกลางซีพีเอฟ จัดสัมมาเชิงปฏิบัตการด้านการบริหารจัดการลดต้นทุนการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า 4)ร่วมกับสำนักกฏหมาย การส่งเสริมการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานตามมาตรฐานสากล  5)ร่วมกับสำนักประกันคุณภาพกลาง ถ่ายทอดความเชี่ยวชาญในการลดการสูญเสียสินค้า เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs มีความได้เปรียบทางการแข่งขันทางธุรกิจ เติบโตอย่างยั่งยืนสามารถตอบรับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังสนับสนุนให้คู่ค้าดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม โปร่งใส ตรวจสอบย้อนกลับได้ ช่วยสนับสนุนซีพีเอฟบรรลุเป้าหมายการจัดหาอย่างรับผิดชอบต่อโลก (Sustainable Sourcing) ตามหลัก ESG เพิ่มความเชื่อมั่นว่าต้นทางของผลิตภัณฑ์อาหารของซีพีเอฟมาจากแหล่งที่ปราศจากการบุกรุกทำลายป่า มีการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงาน ตลอดจนมีส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกอน ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

X

Right Click

No right click