มีองค์กรในไทยเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มี ‘ความพร้อมเต็มที่’ (Mature) ในการรับมือกับความเสี่ยงด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ยุคใหม่ ตามที่ระบุไว้ในรายงานดัชนี “ความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ (Cybersecurity Readiness Index) ประจำปี 2567” ของซิสโก้

รายงานดัชนี “ความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประจำปี 2567” ของซิสโก้ ได้รับการจัดทำขึ้นในยุคที่มีการเชื่อมต่อถึงกันอย่างหลากหลาย (hyperconnectivity) และสถานการณ์ภัยคุกคามมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้ บริษัทต่างๆ ยังคงตกเป็นเป้าหมายการโจมตีด้วยเทคนิคที่แตกต่างมากมาย ตั้งแต่ฟิชชิ่งและแรนซัมแวร์ ไปจนถึงการโจมตีจากซัพพลายเชนและโซเชียล เอนจิเนียริ่ง ถึงแม้ว่าองค์กรต่างๆ จะมีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันการโจมตีเหล่านี้ แต่ก็ยังคงประสบปัญหาในการป้องกันภัยคุกคามอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีความซับซ้อนมากจนเกินไป เนื่องจากมีการติดตั้งโซลูชั่นเฉพาะจุดจำนวนมาก ก็ส่งผลให้องค์กรประสบความยากลำบาก ปัญหาท้าทายเหล่านี้เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบกระจายในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลสามารถแพร่กระจายไปยังการให้บริการ อุปกรณ์ แอปพลิเคชั่น และผู้ใช้จำนวนมากอย่างไม่จำกัด อย่างไรก็ตาม 89% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามยังคงรู้สึกมั่นใจใน ‘ระดับปานกลางถึงระดับสูงมาก’ เกี่ยวกับความสามารถในการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ความแตกต่างระหว่าง ‘ความเชื่อมั่น’ และ ‘ความพร้อม’ นี้ชี้ให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ อาจมีความมั่นใจที่ผิดเกี่ยวกับความสามารถของตนเองในการรับมือกับภัยคุกคาม และอาจไม่สามารถประเมินความรุนแรงที่แท้จริงของปัญหาท้าทายกำลังเผชิญอยู่ได้อย่างถูกต้อง

รายงานดัชนี “ความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประจำปี 2567” ของซิสโก้: บริษัทที่ ‘ไม่เตรียมพร้อมและมีความมั่นใจมากเกินไป’ ต้องเผชิญและรับมือกับภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

รายงานดัชนีนี้ประเมินความพร้อมของบริษัทใน 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ระบบอัจฉริยะด้านข้อมูลบุคคล, ความยืดหยุ่นของเครือข่าย, ความน่าเชื่อถือของแมชชีน, ความแข็งแกร่งของคลาวด์ และการเสริมกำลังด้วย AI ซึ่งประกอบด้วยโซลูชั่นและฟีเจอร์ที่เกี่ยวข้อง 31 รายการ โดยอิงจากการสำรวจความคิดเห็นแบบปกปิดสองทาง (Double-Blind) ของผู้บริหารฝ่ายรักษาความปลอดภัยและฝ่ายธุรกิจขององค์กรเอกชนมากกว่า 8,000 คนใน 30 ประเทศทั่วโลก โดยการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ดำเนินการโดยองค์กรอิสระ ผู้ตอบแบบสอบถามถูกขอให้ระบุว่ามีโซลูชั่นและฟีเจอร์ใดบ้างที่พวกเขาได้ติดตั้งใช้งาน รวมถึงระดับของการใช้งาน จากนั้นบริษัทต่างๆ ถูกแบ่งกลุ่มตามระดับความพร้อม 4 ระดับ ได้แก่ ระดับ Beginner (ระดับเริ่มต้น), Formative (ระดับสร้างฐานความพร้อม), Progressive (ระดับก้าวหน้า) และ Mature (ระดับพร้อมเต็มที่)

จีทู พาเทล, รองประธานบริหารและผู้จัดการทั่วไปฝ่ายระบบรักษาความปลอดภัยและการทำงานร่วมกันของซิสโก้ กล่าวว่า “เราไม่ควรละเลยความเสี่ยงจากภัยคุกคามที่เกิดจากความมั่นใจเกินไปของเรา องค์กรในปัจจุบันจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในแพลตฟอร์มแบบครบวงจร และนำ AI มาใช้เพื่อการดำเนินการของแมชชีน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะช่วยให้องค์กรมีความได้เปรียบในการป้องกันมากขึ้น”

 

ข้อมูลที่พบจากผลการศึกษาโดยรวมแล้ว จากผลการศึกษาพบว่า บริษัทในไทยมีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่พร้อมรับมือกับภัยคุกคามในปัจจุบัน โดยองค์กรมากกว่าครึ่งหนึ่ง (54%) มีความพร้อมในระดับเริ่มต้น หรือระดับสร้างฐานของความพร้อม ขณะที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลก 3% มีระดับความพร้อมเต็มที่ นอกจากนั้น:

· เหตุการณ์ทางไซเบอร์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต: 65% ของผู้ตอบแบบสอบถาม คาดการณ์ว่า เหตุการณ์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้จะทำให้ธุรกิจของพวกเขาหยุดชะงักใน 12 ถึง 24 เดือนข้างหน้า การที่องค์กรขาดความพร้อมอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายที่มีมูลค่าสูงมาก โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 51% กล่าวว่าพวกเขาประสบกับเหตุการณ์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และ 69% ขององค์กรที่ได้รับผลกระทบระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายอย่างน้อย 300,000 ดอลลาร์

· การติดตั้งโซลูชั่นเฉพาะจุดมากเกินไป: แนวทางแบบเดิมๆ ในการติดตั้งโซลูชั่นเฉพาะจุดจำนวนมากสำหรับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ โดย 92% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าการมีโซลูชั่นเฉพาะจุดจำนวนมากส่งผลให้ทีมทำงานได้ช้าลงในการตรวจจับการโจมตี การตอบสนอง และการกู้คืนระบบ ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลใจเป็นอย่างมาก โดย 75% ขององค์กรกล่าวว่าพวกเขาได้ติดตั้งโซลูชั่นด้านการรักษาความปลอดภัยแบบเฉพาะจุด 10 โซลูชั่นขึ้นไป ขณะที่ 35% มีอย่างน้อย 30 โซลูชั่น

· อุปกรณ์ที่ ‘ไม่ปลอดภัย’ และ ‘ไม่มีการจัดการ’ สร้างความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น: 94% ของบริษัทกล่าวว่าพนักงานของตนเข้าถึงแพลตฟอร์มของบริษัทจากอุปกรณ์ที่ไม่มีการจัดการ และ 42% ของบริษัทเหล่านั้นใช้เวลาหนึ่งในห้า (20%) ในการล็อกออนเข้าสู่ระบบเครือข่ายของบริษัทจากอุปกรณ์ที่ไม่มีการจัดการ นอกจากนี้ 26% รายงานว่าพนักงานมีการสลับไปมาระหว่างเครือข่ายต่างๆ อย่างน้อยหกเครือข่ายในหนึ่งสัปดาห์

· การขาดแคลนบุคลากรทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง: องค์กรต่างๆ ไม่สามารถพัฒนาด้านความปลอดภัยอย่างเต็มศักยภาพเนื่องจากขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ โดยบริษัท 91% เน้นย้ำว่าปัญหานี้นับเป็นเรื่องสำคัญ และที่จริงแล้ว บริษัท 43% พบว่าพวกเขายังคงขาดแคลนบุคลากรในตำแหน่งงานที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์มากกว่า 10 อัตราในช่วงที่มีการสำรวจความคิดเห็น

· การลงทุนด้านไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต: บริษัทต่างๆ ตระหนักถึงปัญหาท้าทายดังกล่าว และกำลังดำเนินการเพื่อยกระดับการป้องกัน โดย 65% มีแผนที่จะอัปเกรดโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีครั้งใหญ่ใน 12 ถึง 24 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจาก 47% ที่วางแผนจะทำเช่นนั้นในปีที่แล้ว โดยองค์กรต่างๆ วางแผนที่จะอัปเกรดโซลูชั่นที่มีอยู่ (70%) ปรับใช้โซลูชั่นใหม่ (53%) และลงทุนในเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI (61%) นอกจากนี้ เกือบทั้งหมด (99%) ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะเพิ่มงบประมาณด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ใน 12 เดือนข้างหน้า และ 94% กล่าวว่างบประมาณของพวกเขาจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10%

 เพื่อเอาชนะปัญหาท้าทายเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยคุกคามในปัจจุบัน บริษัทต่างๆ ต้องเร่งดำเนินการลงทุนที่สำคัญในระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เป็นนวัตกรรมใหม่, การปรับใช้แนวทางแพลตฟอร์มการรักษาความปลอดภัย, การเสริมความยืดหยุ่นของเครือข่าย, การใช้งาน Gen AI อย่างเหมาะสม และเพิ่มบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อลดช่องว่างของทักษะด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้

วีระ อารีรัตนศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย และเมียนมาร์ กล่าวว่า “สถานการณ์ภัยคุกคามในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ยังไม่มีการเตรียมความพร้อมอย่างเพียงพอ รายงานดัชนีความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ล่าสุดของเราเปิดเผยว่า บริษัทในไทยเพียง 9% เท่านั้นที่มี ‘ความพร้อมอย่างเต็มที่’ ในการรับมือกับความเสี่ยงด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ยุคใหม่ ซึ่งลดลงจากปี 2566 ที่องค์กรมีความพร้อมอยู่ที่ 27% องค์กรธุรกิจในไทยจึงจำเป็นที่จะต้องปรับใช้แนวทางแพลตฟอร์มแบบหลายทาง (multi-pronged platform approach) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ตั้งแต่การลงทุนในมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ไปจนถึงการใช้ประโยชน์จาก Gen AI เพื่อปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัย ลดช่องว่างด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และวางรากฐานสำหรับการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ส่วนทั่วทั้งองค์กร”

มัลแวร์ที่ขโมยข้อมูล และข้อมูลส่วนบุคคลเป็นภัยคุกคามสองอันดับแรกต่อธุรกิจ SMB ในปี 2023 ซึ่งคิดเป็นเกือบ 50% ของมัลแวร์ทั้งหมดที่ Sophos ตรวจพบในธุรกิจนี้ แรนซัมแวร์ยังคงเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดสำหรับธุรกิจ SMB การโจมตีผ่านอีเมลธุรกิจมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น พร้อมด้วยเทคนิคการหลอกลวง (Social Engineering) ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

โซฟอส (Sophos) องค์กรด้านนวัตกรรม และการให้บริการความปลอดภัยไซเบอร์ เปิดรายงานสำรวจภัยคุกคามจากแรนซัมแวร์ ปี 2024 โดยรายงานในปีนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับ “Cybercrime on Main Street” และภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดที่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMBs*) กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งตามรายงานในปี 2023 พบว่าการตรวจจับมัลแวร์เกือบ 50% สำหรับธุรกิจ SMB นั้นเกิดขึ้นในรูปแบบคีย์ล็อกเกอร์ สปายแวร์ และสตีลเลอร์ ซึ่งเป็นมัลแวร์ที่ผู้โจมตีใช้เพื่อขโมยข้อมูล และข้อมูลส่วนบุคคล โดยผู้โจมตีจะใช้ข้อมูลที่ขโมยมานี้เพื่อเข้าถึงจากระยะไกลโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อขู่กรรโชกเหยื่อ ปล่อยแรนซัมแวร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย

รายงานของโซฟอส ยังวิเคราะห์ Initial Access Brokers (IABs) ซึ่งเป็นอาชญากรที่เชี่ยวชาญในการเจาะเข้าสู่เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งรายงานพบว่า เหล่า IABs กำลังใช้ดาร์กเว็บ (Dark Web) เพื่อโฆษณาความสามารถ และการบริการของพวกเขาในการเจาะเข้าสู่เครือข่ายของธุรกิจ SMB โดยเฉพาะ หรือขายการเข้าถึง SMBs ที่พวกเขาได้เจาะระบบเรียบร้อยแล้ว

 

 Sophos X-Ops พบตัวอย่างการโพสต์โฆษณาในดาร์กเว็บที่สามารถเข้าถึงบริษัทบัญชีขนาดเล็กในสหรัฐฯ รวมถึงตัวอย่างเพิ่มเติมของโฆษณาในฟอรัมอาชญากรทางไซเบอร์ที่กำหนดเป้าหมายธุรกิจ SMB ตามกลุ่มอุตสาหกรรม และประเทศ จากรายงานภัยคุกคามของโซฟอส ประจำปี 2024

คริสโตเฟอร์ บัดด์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย Sophos X-Ops ของ โซฟอส กล่าวว่า “มูลค่าของ 'ข้อมูล' เป็นเหมือนเงินที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณในหมู่อาชญากรไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจ SMB ซึ่งมักใช้หนึ่งเซอร์วิส หรือแอปพลิเคชันต่อหนึ่งฟังก์ชันสำหรับการดำเนินการทั้งหมด ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าผู้โจมตีใช้การขโมยข้อมูล (infostealer) บนเครือข่ายของเป้าหมายเพื่อขโมยข้อมูลประจำตัว และนำรหัสผ่านที่ได้ไปใช้เข้าถึงบริษัทซอฟต์แวร์บัญชี ผู้โจมตีสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของบริษัทเป้าหมาย และส่งโอนเงินเข้าสู่บัญชีของตนเอง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมว่า 90% ของการโจมตีทางไซเบอร์ทั้งหมดในรายงานของโซฟอส ปี 2023 ถึงเกี่ยวข้องกับการขโมยข้อมูล หรือข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะผ่านการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ การขู่กรรโชกข้อมูล การเข้าถึงระยะไกลโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการขโมยข้อมูลทั่วไป”

แรนซัมแวร์ ยังคงเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ใหญ่ที่สุดสำหรับธุรกิจ SMB

แม้ว่าจำนวนการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ต่อธุรกิจ SMB นั้นค่อนข้างคงที่ แต่แรนซัมแวร์ยังคงเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ใหญ่ที่สุดสำหรับธุรกิจ SMB ที่ไม่ควรมองข้าม ตัวอย่างเคสของธุรกิจ SMB ที่จัดการโดยหน่วยงานการตรวจจับ และวิเคราะห์ภัยคุกคามของโซฟอส (Sophos Incident Response: IR) ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือองค์กรในขณะที่การโจมตีที่เกิดขึ้น พบว่า LockBit ถือเป็นแก๊งแรนซัมแวร์อันดับต้นๆ ที่สร้างความหายนะให้แก่ธุรกิจ ตามมาด้วย Akira และ BlackCat เป็นอันดับสองและสามตามลำดับ จากรายงานพบว่าธุรกิจ SMB ยังเผชิญกับการโจมตีจากแรนซัมแวร์รุ่นเก่า และที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก เช่น BitLocker และ Crytox อีกด้วย

จากรายงานยังพบอีกว่าผู้ใช้แรนซัมแวร์ยังคงเปลี่ยนเทคนิคใช้แรนซัมแวร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงจากการเข้ารหัสระยะไกล และกำหนดเป้าหมายไปที่ผู้ให้บริการการจัดการ (Managed Service Providers: MSP) โดยระหว่างปี 2022 ถึง 2023 จำนวนการโจมตีแรนซัมแวร์ที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสระยะไกล ในรูปแบบที่ผู้โจมตีใช้อุปกรณ์ที่ไม่มีการควบคุม ทำการเข้ารหัสไฟล์บนระบบอื่นๆ ในเครือข่ายเพิ่มขึ้นถึง 62%

นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมา ทีมตรวจจับและตอบสนองต่อการโจมตีทางไซเบอร์ (Managed Detection and Response: MDR) ของ โซฟอส ได้เข้าไปจัดการดูแล 5 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจขนาดเล็กโดยถูกโจมตีผ่านช่องโหว่ของ MSP ที่ใช้ซอฟต์แวร์การตรวจสอบ และการจัดการระยะไกล (Remote Monitoring and Management: RMM) มีการโจมตีโดยวิธีการหลอกลวง (Social Engineering) รวมทั้งทางอีเมลธุรกิจ (BEC) เพิ่มมากขึ้น

นอกจากแรนซัมแวร์แล้ว การโจมตีโดยการหลอกลวงผ่านทางอีเมลธุรกิจ (BEC) ถือเป็นการโจมตีที่สูงเป็นอันดับสองที่ Sophos IR รับมือในปี 2566 ตามรายงานของโซฟอส +การโจมตีแบบ BEC และการหลอกลวงต่างๆ มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น แทนที่จะส่งอีเมลพร้อมไฟล์แนบที่เป็นอันตราย ผู้โจมตีมีแนวโน้มที่จะมีปฎิสัมพันธ์กับเป้าหมายมากขึ้นโดยการส่งอีเมลสนทนาตอบกลับไปมา หรือแม้แต่โทรหาเหยื่อ ผู้โจมตีมีความพยายามที่จะหลบเลี่ยงการตรวจจับด้วยเครื่องมือป้องกันสแปมแบบดั้งเดิม โดยปัจจุบันผู้โจมตีกำลังทดลองใช้การโจมตีรูปแบบใหม่ ๆ ที่ประกอบด้วยเนื้อหาที่เป็นอันตราย การฝังรูปภาพที่มีโค้ดที่เป็นอันตราย หรือการส่งไฟล์แนบที่เป็นอันตรายใน OneNote หรือ archive formats ต่างๆ ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่โซฟอสเข้าตรวจสอบ ผู้โจมตีได้ส่งเอกสาร PDF พร้อมภาพขนาดย่อของ “ใบแจ้งหนี้” ที่เบลอ และไม่สามารถอ่านได้ พร้อมปุ่มดาวน์โหลดโดยลิงก์ไปยังเว็บไซต์ที่เป็นอันตราย เป็นต้น

สำหรับรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่มุ่งเป้าไปยังธุรกิจ SMB เพิ่มเติม โปรดอ่านรายงานภัยคุกคามของโซฟอสปี 2024: Cybercrime on Main Street บนเว็บไซต์ Sophos.com

 

สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ หรือ CIPAT (Cyber Innovation Promotion Association of Thailand) ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ร่วมกับ ฟอร์ติเน็ต ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชันการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์แบบอัตโนมัติและครบวงจร เพื่อความร่วมมือด้านการฝึกอบรมทักษะไซเบอร์ซีเคียวริตี้แก่หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ของภาครัฐ ด้วยวัตถุประสงค์ในการผลิตและเพิ่มจำนวนบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ในระดับมืออาชีพ ด้วยหลักสูตรการอบรมระดับนานาชาติอันเข้มข้นของฟอร์ติเน็ต

อดิศร นิลวิสุทธิ์ นายกสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ หรือ CIPAT (Cyber Innovation Promotion Association of Thailand) กล่าวว่า ในความร่วมมือกับฟอร์ติเน็ต ทาง CIPAT มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและให้การสนับสนุนการพัฒนากำลังคนทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อทั้งองค์กรและบุคลากรได้รู้เท่าทันทั้งในด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านการป้องกันการโจมตีบนไซเบอร์ร่วมกับฟอร์ติเน็ต ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าด้านการป้องกันการโจมตีบนไซเบอร์ และมีสถาบันการการฝึกอบรมด้านการป้องกันในระดับโลก

“ในการฝึกอบรม เราวางแผนที่จะมีทั้งการฝึกอบรมทั้งในแบบหลักสูตรพื้นฐานทั่วไปและแบบเจาะลึก ซึ่งในส่วนของการเจาะลึก เราอาจจะมีการทำหลักสูตรในการผลิตกำลังคนทางไซเบอร์ร่วมมือกับทางฟอร์ติเน็ต อีกทั้งอาจเป็นการร่วมภาคี

เครือข่ายกับภาครัฐ และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในอนาคต ในการทำงาน CIPAT ยังมองถึงความร่วมมือกับหน่วยงานหรือกระทรวงที่มีหน้าที่ในการพัฒนาคนของประเทศเป็นหลัก เช่น กระทรวงแรงงาน หรือภาคมหาวิทยาลัยที่มีการเปิดหลักสูตรด้านไซเบอร์ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างบุคลากรด้านการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนการทำงานในประเทศ” อดิศร กล่าว

ทั้งนี้ สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ หรือ CIPAT จัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบกิจการและกลุ่มนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อีกทั้งยังสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการฝึกอบรม ค้นคว้าแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือด้านการใช้งานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยบนไซเบอร์ รวมถึงใช้ไอซีทีเสริมภาพลักษณ์ประเทศที่เป็นมาตรฐานระดับสากล

ภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า ฟอร์ติเน็ตตระหนักถึงทั้งปัญหาภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างรวดเร็วด้านเทคโนโลยี และปัญหาปริมาณความต้องการบุคลากรที่มีพื้นฐานความรู้ความสามารถด้านการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้น ฟอร์ติเน็ตจึงร่วมมือกับสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ (CIPAT) เพื่อร่วมกันให้การฝึกอบรมเพื่อสร้างจำนวนคนที่มีความรู้ ความสามารถด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นแรงสนับสนุนและแนวป้องกันความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพให้กับการทำงานและการดำเนินธุรกิจของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนถึงภาคอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินงานได้อย่างปลอดภัย

“หลักสูตรการฝึกอบรมของฟอร์ติเน็ตมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มทักษะและความสามารถในด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ทั้งเพื่อเป็นการ Upskills ให้กับผู้เข้าอบรม และเพื่อเป็นการลดช่องว่างด้านทักษะ (Skill Gap) ด้านการรักษาความปลอดภัยให้น้อยลง ซึ่งการฝึกอบรมสามารถเป็นไปในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเรียนกับผู้ให้การอบรม การฝึกอบรมผ่านเวอร์ชวล รวมถึงการเรียนผ่านห้องปฏิบัติการ (Labs) ด้านต่างๆ อีกด้วย” ภัคธภา กล่าว จากรายงานผลการวิจัย 2023 Global Cybersecurity Skills Gap Report ของฟอร์ติเน็ต พบว่า ผลของการขาดผู้ดูแลตำแหน่งงานไอทีเนื่องมาจากการขาดแคลนทักษะด้านไซเบอร์ ทำให้องค์กรกว่า 68% ทั่วโลก ต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ซิสโก้เปิดตัว “เครื่องมือสำหรับการประเมินผลไซเบอร์ซีเคียวริตี้” เพื่อช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับสถานะความปลอดภัยโดยรวมขององค์กร โดยไซเบอร์ซีเคียวริตี้เป็นหนึ่งในโฟกัสที่สำคัญสำหรับองค์กรต่าง ๆ ที่มีรูปแบบการทำงานไฮบริด เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยจากทุกที่ผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลาย การทำงานรูปแบบใหม่นี้ส่งผลให้เกิดช่องทางการโจมตีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ก็เพิ่มสูงขึ้น เพราะอยู่นอกขอบเขตเครือข่ายที่องค์กรสร้างขึ้นเพื่อปกป้องธุรกิจของตนเอง 

เครื่องมือใหม่สำหรับการประเมินผลออนไลน์นี้จะทำหน้าที่ประเมิน “ความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้” ของแต่ละองค์กรผ่านกลยุทธ์ “Zero Trust” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่มีการอนุญาตให้เข้าถึงสถาปัตยกรรมเครือข่ายขององค์กรในทุกกรณีจนกว่าจะผ่านการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ กล่าวคือ เมื่อผู้ใช้เข้าถึงแอปพลิเคชันโดยใช้อุปกรณ์ ทั้งผู้ใช้และอุปกรณ์ก็จะถูกตรวจสอบ โดยการตรวจสอบความน่าเชื่อถือจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  วิธีนี้ช่วยปกป้องแอปพลิเคชันและสภาพแวดล้อมขององค์กรให้ปลอดภัยจากผู้ใช้ อุปกรณ์ และตำแหน่งที่ตั้งใดๆ ก็ตาม 

เครื่องมือดังกล่าวจะประเมินระดับความพร้อมขององค์กรใน 6 ด้านตามแนวทางของ Zero Trust ซึ่งได้แก่ ผู้ใช้และการระบุอัตลักษณ์, อุปกรณ์, เครือข่าย, เวิร์กโหลด (แอปพลิเคชัน), ข้อมูล และการดำเนินการด้านความปลอดภัย  หลังจากที่องค์กรป้อนข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับความสามารถและนโยบายด้านการรักษาความปลอดภัยขององค์กร เครื่องมือนี้ก็จะประเมินสถานะความปลอดภัยโดยรวมขององค์กร โดยอ้างอิงเบนช์มาร์กของอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ 

เครื่องมือดังกล่าวจะสร้างรายงานเฉพาะสำหรับแต่ละองค์กร พร้อมทั้งระบุระดับความพร้อม ความท้าทาย และโอกาสในด้านต่าง ๆ ทั้ง 6 ด้านตามแนวทาง Zero Trust  และในกรณีที่จำเป็น ก็จะแนะนำเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างสถานะความปลอดภัยโดยรวมและความพร้อมขององค์กรในการทำงานแบบไฮบริด 

อย่างไรก็ดีพบว่าธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยมีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในปัจจุบัน และมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นเพื่อปรับปรุงความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์  รายงานผลการศึกษาของซิสโก้เกี่ยวกับไซเบอร์ซีเคียวริตี้สำหรับเอสเอ็มอี: การเตรียมความพร้อมขององค์กรธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิกสำหรับการป้องกันภัยทางดิจิทัล (Cybersecurity for SMBs: Asia Pacific Businesses Prepare for Digital Defense) ระบุว่า ในปัจจุบัน กว่าสามในสี่ (76%) ของเอสเอ็มอีในไทยมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เมื่อเทียบกับ 12 เดือนที่แล้ว 

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังเผยว่า สองในสาม (65%) ของเอสเอ็มอีในไทยพบเจอภัยคุกคามทางไซเบอร์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และราวครึ่งหนึ่ง (46%) ระบุว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์ดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อธุรกิจคิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพราะว่าโซลูชั่นไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่ใช้อยู่ไม่เพียงพอที่จะตรวจจับหรือป้องกันการโจมตี  และการโจมตีเหล่านี้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อเอสเอ็มอี เช่น ทำให้การดำเนินงานหยุดชะงัก และ สูญเสียรายได้ รวมถึงทำลายชื่อเสียงขององค์กร 

ขณะที่หลาย ๆ องค์กรต้องปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการทำงานไฮบริด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ส่งผลให้มีพนักงานจำนวนมากที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายขององค์กรและเข้าถึงข้อมูลจากภายนอกสำนักงาน โดยที่หลาย ๆ คนใช้อุปกรณ์ส่วนตัวในการดำเนินการดังกล่าว เอสเอ็มอีไทยที่ตอบแบบสอบถามสำหรับการศึกษานี้ระบุถึงภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดต่อสถานะความปลอดภัยโดยรวมขององค์กร ซึ่งได้แก่ แล็ปท็อปที่ไม่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเหมาะสม การโจมตีแบบเจาะจงเป้าหมาย และการใช้อุปกรณ์ส่วนตัว 

นายทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า “การปรับใช้เทคโนโลยีอย่างกว้างขวางหมายถึงความเสี่ยงด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เพื่อนำเสนอแอปพลิเคชันและนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับการทำงานแบบไฮบริด ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าองค์กรได้รับการปกป้องอย่างรอบด้านเช่นกัน” 

“สำหรับขั้นตอนแรกของการปรับใช้แนวทางนี้ เอสเอ็มอีสามารถใช้เครื่องมือออนไลน์ของซิสโก้ในการประเมินความพร้อม โดยเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยให้องค์กรธุรกิจมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความพร้อมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ขององค์กร รวมถึงโอกาสและปัญหาช่องว่างที่จะต้องแก้ไข ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้องค์กรสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับระบบรักษาความปลอดภัยได้ดีขึ้น” 

ลิงก์ไปยังเครื่องมือสำหรับการประเมิน: www.cisco.com/go/ztat

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.cisco.com/c/en_sg/products/security/cybersecurity-for-smbs-in-asia-pacific

X

Right Click

No right click