แม้กระทั่งพันธกิจในการตอบสนองและรองรับยุทธศาสตร์และเป้าหมายในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศชาติไปอย่างครบครัน ภายใต้โจทย์ท้าทายบนความคาดหวังอันหลากหลาย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หรือ มทร.ธัญบุรี โดย ผศ.ดร.นาถรพี ชัยมงคล คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มทร.ธัญบุรี ได้เปิดโอกาสที่จะมาบอกเล่าต่อ นิตยสาร MBA ถึงที่มาและแนวนโยบาย เป้าหมาย ตลอดจนกลยุทธ์ในการออกแบบและกำหนดหลักสูตร ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนของทางคณะฯ อันนำมาซึ่งความสำเร็จต่อการจัดการที่เกิดขึ้น
Hands–On Education
บนมุมมองของการเล็งเห็นและตระหนักว่า การพัฒนาบัณฑิตในยุคปัจจุบัน ต้องเน้นหนักในภาคปฏิบัติ (Hands – On) จากอดีตที่เคยเน้นย้ำความสำคัญในด้านภาคทฤษฎี แต่วันนี้คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มทร.ธัญบุรี ได้ชี้ให้เห็นว่าแนวการศึกษาแบบเดิมไม่เพียงพอต่อการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เปลี่ยนไปและยังเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบไม่หยุดยั้ง โดย ผศ.ดร.นาถรพี ได้อธิบายว่า “วันนี้การเรียนการสอน ทั้งหมดของเราได้ปรับเป็น Hands–On (เน้นการปฏิบัติ) โดยทางคณะฯ จะทำหน้าที่สนับสนุนการเรียนรู้ ทั้งในด้านทรัพยากร และปัจจัยส่งเสริมการเรียนรู้ที่ทันสมัย ตัวอย่างเช่น ห้องปฏิบัติการหลักทรัพย์เป็นห้องปฏิบัติการแบบ Real Time ที่ใช้วิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อการตัดสินใจในการลงทุน พร้อมโปรแกรม Bisnews ที่ใช้วิเคราะห์หุ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน เพื่อให้นักศึกษามีสมรรถนะในการซื้อขาย และวิเคราะห์หลักทรัพย์ ห้องปฏิบัติการทางโปรแกรม SAP เป็นห้องที่นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจทุกสาขาต้องใช้เนื่องจากโปรแกรม SAP เป็นโปรแกรมการใช้งานที่แพร่หลายทั่วโลก ซึ่งมีอยู่หลายโมดุล (Module) ที่สอดประสานกันได้แก่ โปรแกรมเกี่ยวกับการบันทึกการขาย และการให้บริการโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสินค้าคงคลัง การสั่งซื้อสินค้า โปรแกรมเกี่ยวกับการบันทึกตัวเลขทางบัญชี การทำงบประมาณ รายงานการเงินต่างๆ และโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับรายงานต่างๆ ในการดำเนินงาน ตลอดจนข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ และการตัดสินใจทางธุรกิจ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ปัจจุบันนักศึกษาที่จบการศึกษาออกไปอาจจะต้องไปทำงานกับบริษัทข้ามชาติ หรือบริษัทที่เป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ห้องเรียน Smart Classroom เป็นห้องเรียนที่ทันสมัยเพื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้นักศึกษาสามารถพัฒนาทักษะและความสามารถได้จริง เรียนจบไปทำงานได้เลย โดยไม่ต้องรอการฝึกหรืออบรมจากทางบริษัทที่รับเข้าทำงาน เหมือนในอดีตที่เรียนจบไปแล้วได้แต่ทฤษฎี แต่ทุกวันนี้ บัณฑิตของ มทร.ธัญบุรี สามารถสร้างให้ผู้เรียนมีทักษะที่พร้อมใช้ จากการวางรูปแบบการเรียนรู้แนวใหม่นี้”
On-Demand Education
เพราะต้องการให้นักศึกษาที่เรียนจบเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพสามารถที่จะนำความรู้ความสามารถไปช่วยพัฒนาสังคมและประเทศชาติ เป็นที่ยอมรับถึงความรู้ ความสามารถ คณบดี คณะบริหารธุรกิจ ของ มทร.ธัญบุรี บอกเล่าเพิ่มเติมว่า “เราหาวิธีเสริมความแกร่งให้กับนักศึกษาโดยเสริมให้นักศึกษาของคณะฯ ชั้นปีที่ 1 จะต้องมีความรู้ในเรื่องการบริหารการเงิน โดยเริ่มจากตัวนักศึกษาเองก่อน เพราะเป็นพื้นฐานที่สําคัญทั้งเพื่อการใช้ชีวิต และใช้ในการทํางาน โดยเฉพาะถ้าบัณฑิตคิดจะเป็นผู้ประกอบการ ความรู้ในด้านการเงินยิ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้” ส่วน นักศึกษาปีที่ 2 ทางคณะฯ จัดให้เรียนภาษาที่ 3 ซึ่งเน้นภาษาจีน ผศ.ดร.นาถรพี เล่าว่า “เราเน้นภาษาจีน เพราะเรามีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน อาจารย์ที่นี่รวมทั้งตัวอาจารย์เองไปศึกษาและดูงานที่ประเทศจีนหลายครั้ง และทุกครั้งที่ไป แม้จะห่างกันไม่เท่าไหร่ แต่เราจะเห็นเลยว่า ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาในทุกๆ ครั้งที่ไปพบเห็น ประเทศจีนมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและธุรกิจเร็วมาก อย่างที่เรารับรู้กันตลอดเวลาว่าผู้ประกอบการของจีนได้ขยายตัวออกไปซื้อกิจการ โรงงานและลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก การที่เราวางให้เด็กของเรา รู้ภาษาจีน ย่อมเป็นโอกาสที่เด็กอาจจะร่วมงาน หรือทําการค้าขายกับกิจการของประเทศจีนได้ในอนาคต ส่วนเมื่อนักศึกษาขึ้นเรียนในปีที่ 3 ต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนในตลาดทุน มีความสามารถในการวิเคราะห์หุ้นได้ ประเด็นนี้เราสะท้อนภาพของเศรษฐีและนักธุรกิจอเมริกันที่ประสบความสําเร็จและรํ่ารวยขึ้นมาจากการลงทุนในหุ้นหรือตลาดทุน ซึ่งมีอยู่มากมาย บางรายอายุก็ยังน้อยและเมื่อนักศึกษาเรียนปี 4 เราก็คาดหวังว่า เมื่อนักศึกษาสําเร็จออกไปจะสามารถสร้างตัวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการได้เราจึงพยายามเปิดโอกาสและสนับสนุนให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ในมิติที่เปิดกว้าง”
โลกทัศน์ที่เปิดกว้าง ด้วยโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ
บนพื้นฐานของการมีพันธมิตรที่เข้มแข็งของ มทร.ธัญบุรี ทั้งใน-ต่างประเทศ เช่นที่ เยอรมนี จีน และอีกหลายๆ ประเทศที่กำลังขยายฐานของความร่วมมือ ทำให้มทร.ธัญบุรี สามารถจัดทำโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษานานาชาติ (International Student Exchange Program) กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดย ผศ.ดร.นาถรพี เล่าว่า “คณะบริหารธุรกิจมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น อเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น ออสเตรีย จีน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ (Knowledge Sharing) ที่ทันสมัยระหว่างกัน ซึ่งตอนนี้นักศึกษาของเราได้ไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศสิงคโปร์มา 2 ปีแล้ว และจะยังคงต่อเนื่องต่อไป โดยที่ผ่านมาเราเสริมการสอนเพิ่ม ทั้ง TOEIC (การสอบความรู้ทางภาษาอังกฤษ) เพื่อช่วยผลักดัน นอกจากนั้น ทางคณะฯ ยังมีโครงการสหกิจศึกษา (Cooperative Education) กับเครือข่ายผู้ประกอบการ ทั้งในและต่างประเทศ นักศึกษาที่สามารถไปฝึกงานที่ต่างประเทศ ทางคณะฯ ได้ตั้งงบประมาณขึ้นมาเป็นทุนให้ถึง 50,000 บาทต่อคน ส่วนการดูงานระยะสั้น ประมาณ 2 สัปดาห์ ทางคณะฯ ก็มีทุนสนับสนุนให้ถึง 20,000 บาทต่อคน ที่ผ่านมา นักศึกษาเราไปฝึกงานที่ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และเยอรมนี และกำลังจะขยับขยายไปในประเทศอื่นๆ”
Center of Excellence
ผศ.ดร.นาถรพี บอกเล่าถึง Center of Excellence หรือ COE เป็นศูนย์ที่ก่อตั้งและทำโปรเจ็คเรื่อง ผู้ประกอบการ หรือ SMEs โดยเป็นเหมือนงานบริการวิชาการสู่ภายนอก โดยที่ผ่านมาเป็นการทำงานภายใต้นโยบายเพื่อส่งเสริมแผนงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ภายใต้กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลฯ ทั้ง 9 แห่ง และทาง มทร.ธัญบุรี ก็ได้มีโอกาสรับหน้าที่ เข้าไปช่วยส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ซึ่งประกอบไปด้วยทุกกลุ่มประเภท ทั้ง SMEs เริ่มใหม่ (Startup) SMEs พลิกฟื้น-ปรับกลยุทธ์ (Turnaround) และด้วยโครงการนี้ สิ่งที่ได้คือการที่ทำให้เหล่าคณาจารย์มีโอกาสนำความรู้ที่เคยอยู่ในตำรา ออกมาประยุกต์และ ใช้กับกรณีจริง มาแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการต่างๆ ทั้งที่มีปัญหาจริงๆ หรือแม้แต่ที่เพิ่งเริ่มต้น ภายใต้ความ Win Win ของทุกฝ่าย ได้กลายเป็นการบูรณาการ อันเป็นประโยชน์ เพราะโลกทุกวันนี้ เป็น Dynamic นักวิชาการเองก็ต้องการประสบการณ์จากภายนอกเข้าผสมผสานด้วยเช่นกัน และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นใน COE ยังเป็นเสมือนศูนย์ส่งเสริม SMEs สำหรับนักศึกษาของ มทร.ธัญบุรีที่อยากเป็น Startup ได้เป็นอย่างดี
Strong & Strength ของ MBA @ มทร.ธัญบุรี
ภายใต้องค์ประกอบและบรรยากาศของความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมทั้งวิชาการ และการเรียนรู้ที่ทันการณ์ต่อโลกธุรกิจและการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ผศ.ดร. นาถรพี ยังเล่าให้ฟังว่า “ณ วันนี้ คณะบริหารเราแบ่งเป็น 6 สาขา 8 หลักสูตร ซึ่งประกอบด้วย บัญชี, การตลาด, การเงิน, เศรษฐศาสตร์, การบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ, ระบบสารสนเทศ, การจัดการ และปีนี้เราเพิ่มหลักสูตรทางด้าน โลจิสติกส์ (Logistics) ทั้งระดับปริญญาตรี และโท เพื่อตอบโจทย์ นโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 เป็นสำคัญ” นอกเหนือไปจากหลักสูตรที่กำหนดรองรับความต้องการภายใต้โครงการเศรษฐกิจของประเทศ เราก็มาเน้นย้ำความสำคัญในเรื่อง “ความชำนาญเฉพาะด้าน” โดย หลักสูตร MBA ที่นี่ เราจะมีการแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ และเป็นกลุ่มสาขาวิชา เช่น ด้านการเงิน, บัญชี, สารสนเทศ, การจัดการทั่วไป, การจัดการวิศวกรรมธุรกิจ, การตลาด, ธุรกิจระหว่างประเทศ และการจัดการโลจิสติกส์ และนักศึกษาของเราจะได้เรียนในกลุ่มวิชาที่สนใจจริงๆ ให้นักศึกษาเลือกเรียนในสาขาที่ต้องการจะ Focus เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการจะนำไปต่อยอด เช่น วิศวกรรมธุรกิจ เป็นด้านบริหารของพวกวิศวกร โดยกลุ่มนี้ก็จะเป็นหลักสูตรที่จัดวางสำหรับ วิศวกรที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นผู้บริหาร บางคนได้รับทุนจากบริษัทให้มาเรียนต่อ ซึ่งแนวคิดสำหรับหลักสูตรนี้เราได้ไอเดียมาจากประเทศเยอรมนี เพราะวิศวกรเป็นสายงานในสาขาวิชาชีพ แต่พอถึงระดับหนึ่งที่จะต้องขึ้นสายงานบริหาร จะต้องเติมความรู้เรื่องการบริหารต่างๆ เช่น การบริหารการเงิน การบริหารจัดการ งานบุคคล ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นผู้บริหาร ซึ่งหลักสูตรนี้เราได้รับการพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยในเยอรมนี ซึ่ง หลักสูตรนี้มีผู้เรียนสนใจเป็นจำนวนมากนอกจากนี้ ผศ.ดร.นาถรพี ยังเล่าเสริมถึงความสำเร็จของหลักสูตร MBA ที่ มทร.ธัญบุรี ว่า “เราได้เกณฑ์มาตรฐานด้านหลักสูตรในระดับปริญญาโท โดยคณาจารย์ของที่นี่มีร้อยกว่าท่าน อาจารย์ส่วนใหญ่มีวุฒิปริญญาเอกจากทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก และสำหรับระดับปริญญาโท (MBA) ที่นี่เราเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 15 คนต่อห้อง เน้นเป็นรายสาขา ซึ่งถือเป็น จุดเด่น แตกต่างจากทั่วๆไป ที่เรียนทุกอย่างรวมกัน ด้วยรูปแบบการเรียนขนาดเล็กนี้ ทำให้สามารถพูดคุยซักถามได้อย่างทั่วถึง เป็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะที่นี่ผู้เรียนอยากเรียนอะไรจะได้เรียนสิ่งนั้น ได้ทั้งสิ่งที่ใช่ ได้ทั้งความใกล้ชิดจากผู้สอนอย่างเข้มข้น”
ตอบโจทย์ ไทยแลนด์ 4.0
คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มทร .ธัญบุรี ให้ความเห็นต่อแนวทางการตอบโจทย์นโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ว่า “อย่างแรกที่เราปรับตัวและรองรับ คือเราเพิ่มกลุ่มวิชา โลจิสติกส์ S-Curve และ New S-Curve เรารู้ว่ายังมีความต้องการกำลังคนในด้านนี้อีกเยอะ เราต้องเพิ่มวิชาให้รองรับกับทิศทางของนโยบายของประเทศ ให้เท่าทัน ขณะเดียวกันต้องพยายามเน้นการสร้างให้เกิดความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัล เราจะพูดถึง Digital Marketing, E-payment, Block Chain, Mobile banking, Internet banking ที่สำคัญคือเราเน้นการบรรจุแนวคิดที่ต้องมีนวัตกรรมเข้าไปผสมผสานในทุกด้าน ทั้งการตลาด การจัดการ แม้แต่หลักสูตรวิศวกรรมทางธุรกิจที่ได้แนวคิดจากเยอรมนี เพราะเราตั้งเป้าว่าคนที่เรียนต้องสามารถเอาไปใช้ได้จริง และ ทุกวันนี้เราไม่ได้อยู่ประเทศเดียวในโลก แต่ธุรกิจต่างๆ ขยายไปทั่วโลก และเชื่อมโยงกัน ผู้ประกอบการหรือคนรุ่นใหม่จะต้องเรียนรู้ในความต่างของวัฒนธรรมของประเทศอื่นด้วย สิ่งนี้จำเป็นเพราะเมื่อเทคโนโลยีเข้ามา โลกก็เหมือนเล็กลงเพราะการสื่อสารของคนเชื่อมไปได้หมด ผู้บริหารยุคใหม่จำเป็นจะต้องเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมต่างชาติ รู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะแนวคิดเรื่องนวัตกรรมที่สามารถทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง
ตอบโจทย์ ความเปลี่ยนแปลง (Change)
“ภายใต้หน้าที่ของเราในการผลิตบุคลากรในระดับบัณฑิตศึกษา ที่ผู้มาเรียนมีทั้งผู้ประกอบการ มีทั้งนักวิชาการ เรามีเป้าหมายว่า ถ้าจบจากเราไปแล้วต้องสามารถที่จะเอาความรู้เหล่านั้นไปปรับตัว หรือพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถ เป็น Smart SMEs หรือถ้าเป็นนักบริหารหรือนักวิชาการ เหล่านั้นก็จะต้องได้ความรู้ไปพัฒนาองค์กร มีความรู้ความสามารถในการคิดและวิเคราะห์ ที่จะสามารถนำพาองค์กรก้าวข้ามความเปลี่ยนของโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ภายใต้ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ไม่หยุดยั้ง และท่ามกลางปัจจัยของความท้าทายในโลกอันเป็น Globalization และเชื่อมกันไปหมดทั่วทั้งโลก แต่เหนือสิ่งอื่นใด ภายใต้ความพยายามของคณาจารย์หลักสูตร MBA ที่ มทร.ธัญบุรี แห่งนี้ นอกจากการมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถ แต่ที่สำคัญคือ การผลิตมหาบัณฑิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ และความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญยิ่งของการเป็นผู้บริหาร” ผศ.ดร.นาถรพีกล่าว
วันนี้ที่เข้มแข็ง
“กว่าจะถึงวันนี้ คณะบริหารธุรกิจ มทร.ธัญบุรี เรามีการเตรียมพร้อม ทั้งเรื่องพัฒนาบุคลากร ทุกวันนี้ เรามีอาจารย์จบปริญญาโทและปริญญาเอกจากทั้งในและต่างประเทศ และมีตำแหน่งทางวิชาการ เกือบ 50% ไล่เรียงกันมาเกือบครึ่งแล้ว เราส่งบุคลากรไปพัฒนาทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอื่นๆ ไป ในสาขาวิทยาการเฉพาะด้าน ในขณะเดียวกันเรายังมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่สามารถเชิญมา เป็น วิทยากรและร่วมสอนจาก เยอรมนี, อังกฤษ, ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ในขณะเดียวกันตัวอาจารย์เองก็มีการพัฒนาตลอดเวลา ทั้งด้านงานวิจัยและการมีผลงานเผยแพร่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ โดยคณะบริหาร ธุรกิจ ยังมีการทำวารสารวิชาการ ถึง 3 เล่ม” ผศ.ดร.นาถรพี สรุปในตอนท้ายว่า “วันนี้ มทร.ธัญบุรี มีอายุครบ 42 ปีแล้ว ในด้านชื่อเสียงและการยอมรับ เราถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะในหลายปีที่ผ่านมา จำนวนผู้เรียนและนักศึกษาของเราเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จากหลักสูตรที่เรานำเสนอ ทั้งระดับปริญญาตรี โทและเอก เรามีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง ทั้งหลักสูตร และทรัพยากรที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ทั้งห้องฝึกปฏิบัติการ ตลอดจนสิ่งอำนวยการเรียนการสอน ทั้งอาคารสถานที่ห้องสมุดที่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ และอีกหลายสิ่งที่เห็นได้ชัดถึงความทันสมัยที่ช่วยตอบโจทย์ และสร้างความมั่นใจต่อผู้เรียนได้ว่า จะได้รับการศึกษาและพัฒนาความรู้และทักษะที่เท่าทันกับความต้องการของโลกยุคใหม่”