ด้วยสถานการณ์หลากหลายที่เข้ามา disruption พฤติกรรมคน ประกอบกับจำนวนประชากรโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษามีจำนวนลดลงด้วย ดังนั้น การปรับตัวของสถาบันการศึกษาจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงและก้าวให้ทันกับยุคที่เทคโนโลยีมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ
รศ.ดร.ศศิวิมล มีอำพล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เล่าให้ฟังถึงการปรับตัวของคณะบริหารธุรกิจในการก้าวเข้าสู่ปี 2568 ว่า เดิมคณะบริหารธุรกิจเป็นสาขาหนึ่งของคณะเศรษฐศาสตร์และได้แยกออกมาตั้งเป็นคณะบริหารธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อความต้องการการพัฒนาของสังคมไทยเมื่อ 32 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคณะฯ เองไม่มีความกังวลเนื่องจากมีความเข้มแข็งทั้งเรื่องวิชาการ เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับนิสิตและศิษย์เก่าของคณะ ฯ อย่าง ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้อง e-learning ห้องวิจัย เป็นต้น
ด้านการปรับปรุงหลักสูตร ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญและส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภครวมถึงลักษณะความต้องการที่หลากหลายในการเรียนการสอน ที่นิสิตต้องการความยืดหยุ่นให้อยู่ที่ใดก็ต้องเรียนได้ ดังนั้น บางหลักสูตรจะถูกเสริมด้วยการเรียนระบบออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตามการเรียน MBA นั้นมีความพิเศษมากกว่า เนื่องจากจะต้องมีการ discuss กันเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และให้ตามทันกระแสของโลก
“ผู้เรียนของเรามีความหลากหลายประสบการณ์ บางท่านทำงานในระดับผู้บริหาร หรือเป็นพนักงานในส่วนต่างๆ ขององค์กรทั้งรัฐและเอกชน อาจารย์ของเราก็จบจากสถาบันชั้นนำระดับโลกและยังเป็นที่ปรึกษาให้กับหลากหลายองค์กร ดังนั้น การ discuss กันในห้องเรียนจะทำนิสิตเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ รู้การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ของโลกพร้อมรับมือ รวมทั้งเข้าใจโลกของการทำงาน การทำธุรกิจมากขึ้น” ซึ่งการเรียนการสอนในคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีลักษณะเหมือนกับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ที่ผู้มาเรียนจะมีประสบการณ์การทำงาน เพื่อนำเอาประสบการณ์นั้น ๆ มาเชื่อมโยงกับแนวคิดที่เรียนในห้องเรียน เพื่อสามารถนำมาประยุกต์ใช้ก่อให้เกิดความเข้าใจในความซับซ้อนของการบริหารธุรกิจมากขึ้น ยกเว้นโครงการ MBA ภาคปกติที่รับผู้สมัครที่ยังไม่มีประสบการณ์เพื่อฝึกความสามารถในการทำงานวิจัย ดังจะเห็นได้ว่านิสิต MBA ภาคปกติจะสำเร็จการศึกษาได้ด้วยการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งแตกต่างจาก MBA โครงการอื่น ๆ ที่จะเป็นการทำการศึกษาค้นคว้าอิสระ
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้เสริมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับนิสิต อย่าง Data Analytics, Digital Marketing, AI ฯลฯ เทคโนโลยีเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการช่วยในด้านการบริหารธุรกิจอย่างมาก คณะจึงต้องเสริมองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับนิสิต โดยประธานโครงการของแต่ละหลักสูตรจะต้องมองหาองค์ความรู้ใหม่ๆ มาเสริม อาทิเช่น การสัมมนาในหัวข้อที่เป็นกระแสปัจจุบัน การเปิดอบรมระยะสั้น การเชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีความเชี่ยวชาญด้านนั้นๆ มาสอน
“ศิษย์เก่าของเราก็สามารถเข้ามาแบ่งปันความรู้ใหม่ๆ ที่เราจัดสอนให้กับนิสิตปัจจุบันได้ด้วย ทำให้ศิษย์เก่ากับนิสิตปัจจุบันได้มีโอกาสเจอกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ซึ่งเราจัดอบรมบ่อยมากที่ผ่านมาจัดอบรมหลักสูตรการใช้ Open AI เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียน สำหรับนิสิตโครงการปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร (Ex-MBA) รุ่น 36 – 37 และศิษย์เก่าที่ต้องการพัฒนาผู้ช่วยส่วนตัว AI สำหรับการใช้ชีวิตที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในยุคดิจิตอล และหลักสูตร Better Life By AI เพื่อเรียนรู้การใช้ AI Tools ครบจบในวันเดียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงาน 2 - 5 เท่าด้วย AI Assistant ส่วนตัว ฝึกปฎิบัติจริง สร้าง Workflow ส่วนตัวที่เหมาะกับงาน การอบรมเหล่านี้ทำให้คนที่มาเรียนกับเราจบไปมีทักษะในหลายๆ เรื่อง ทั้งความเป็นผู้นำ การเจรจาต่อรอง ทักษะด้านไอที ซึ่งทักษะเหล่านี้จะช่วยให้บัณฑิตของเราถูกเลือกรับเข้าทำงานหรือโปรโมตเป็นผู้บริหารได้ง่ายขึ้น”
รศ.ดร.ศศิวิมล กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างการเรียน MBA ในไทยกับต่างประเทศว่า MBA ในต่างประเทศที่นักศึกษามาจากหลากหลายเชื้อชาติ เช่นเดียวกับอาจารย์ และมีการสนับสนุนทุนทุนวิจัยจำนวนมาก แม้ MBA ในไทยจะตามหลังอยู่บ้าง ในฐานะคณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวด้วยการเปิดโครงการแลกเปลี่ยนนิสิต นักศึกษาโดยทำ MOU กับหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก สนับสนุนคณาจารย์และบุคลากรให้ได้อบรม ศึกษาต่อหรือไปสัมมนาในประเทศ ต่างประเทศ พร้อมสนับสนุนให้คณาจารย์ทำงานวิจัยเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่ทำ MOU ด้วยมาให้ความรู้กับนิสิต
“ถ้าเทียบกับประเทศทางยุโรป อเมริกา เราอาจจะยังสู้ไม่ได้ในมุมมองชื่อเสียง แต่ในระดับอาเซียนด้วยกัน มหาวิทยาลัยในประเทศไทยน่าจะเป็นรองแค่สิงคโปร์และมาเลเซีย ดิฉันจึงเชื่อมั่นว่าเราไม่เป็นรองใครคณาจารย์ของเราเกือบ 100% จบการศึกษาในระดับปริญญาเอก และมีประสบการณ์ที่เท่าเทียมเทียบได้กับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับต้น ๆ ของโลก และเราก็พยายามสร้างความแข็งแกร่งทั้งด้านวิชาการ ด้านงานวิจัย ประสบการณ์ในการทำงานเป็นที่ปรึกษา การเป็นกรรมการภาครัฐของคณาจารย์ หรือแม้แต่บุคลากรฝ่ายสนับสนุนคณะเองก็สนับสนุนส่งให้ไปเพิ่มประสบการณ์ เรียนรู้งานที่มหาวิทยาลัยในประเทศฟินแลนด์เป็นเวลา 1 ปี เมื่อเขากลับมาก็พร้อมที่จะมาสนับสนุนร่วมกับสายวิชาการในการพัฒนาคณะ”
รศ.ดร.ศศิวิมล กล่าวถึงแนวโน้มและลักษณะของผู้นำในอนาคตว่า ต้องมีความรอบรู้ทุกด้าน ไม่ใช่แค่ศาสตร์เดียวและต้องยืดหยุ่น ปรับตัวเองไปตามสถานการณ์ต่างๆ ต้องวิเคราะห์ข้อมูลได้ มีความเข้าใจเทคโนโลยีและใช้เทคโนโลยีให้เป็นและนอกจากนั้นยังต้องรักที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพร้อมจะปรับตัวเองในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งในบางรายวิชาจะมีกรณีศึกษาเพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้ในการทำงานร่วมกันเพื่อเรียนรู้การทำงานเป็นทีม สร้างความคิดสร้างสรรค์ วิเคราะห์ธุรกิจเป็น
แม้จำนวนผู้เรียนในปัจจุบันจะมีปริมาณที่ลดลง เนื่องจากจำนวนประชากรลดลง แต่สำหรับคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่ได้มองว่าเป็นอุปสรรคและไม่ได้มองว่าต้องแข่งขันกับสถาบันอื่น เรามองว่าวันนี้สถาบันต่างๆ คือช่องทางของความร่วมมือ โดยดิฉันเชื่อว่าความโดดเด่นของความเชี่ยวชาญของอาจารย์ในคณะ รวมถึงการนำเอาโจทย์จากสภาวการณ์ธุรกิจจริงในปัจจุบัน มาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อให้นิสิตเห็นปัญหาและอุปสรรคจริง จะช่วยให้นิสิตได้ใช้ความสามารถจากประสบการณ์และการเรียนการสอนพิจารณาปัญหาได้ดีมากขึ้น รวมถึงมุ่งหวังความร่วมมือกันระหว่างสถาบันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแต่ละสถาบันมีความเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน การจับมือกันและร่วมมือกันทั้งในการเรียนการสอน การวิจัย และกิจกรรมอื่น ๆ จะช่วยให้การศึกษาของไทยพัฒนาขึ้น
สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะได้ให้เห็นในปี 2568 ภายใต้การบริหารของ “รศ.ดร ศศิวิมล มีอำพล” คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ การสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาให้มากขึ้น ความคิดตรงนี้เริ่มมากจากความประสงค์ให้การพัฒนานั้นมาจากความต้องการพัฒนาชุมชนพื้นเพของเมืองไทย เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้ด้วยธุรกิจเล็กน้อยที่ทำขึ้นในครัวเรือน โครงการสร้างอาคารใหม่ที่คณะมีกำหนดในการก่อสร้างจะที่มีพื้นที่ให้นิสิตทุกระดับได้เข้ามานั่งทำงานกลุ่ม อ่านหนังสือ discuss กัน โดยจะทำเป็นลักษณะ co-working space ที่ทันสมัย นิสิตจะใช้เวลาอยู่ในคณะได้มากขึ้น สร้าง idea ในการพัฒนาสังคมได้ดีขึ้น นอกจากนี้ะมีการเสริมทักษะในการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจผ่านการไปดูงานในบริษัทที่โดดเด่นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้นิสิตคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ รู้สึกถึงความเป็นสากลและเปิดโลกธุรกิจของเขาให้กว้างขึ้น เพื่อพร้อมจะเปิดโลกการบริหารธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใด ด้วยกำลังและศักยภาพของนิสิตเกษตรศาสตร์ไปด้วยกัน
บทความ/รูปภาพ: กองบรรณาธิการ