ไม่ว่าจะเป็นการคิดวิเคราะห์ การวางแผนธุรกิจให้มีความพร้อมในด้านต่างๆ การเลือกสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้ในการทำธุรกิจ ไปจนถึงการสื่อสารการตลาดที่สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันได้
หากจะเลือกหลักสูตรที่สามารถตอบสนองความต้องการข้างต้นได้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีการเปิดสอนในสาขาวิชาต่างๆ อย่างครอบคลุม ก็มีการบูรณาการองค์ความรู้จากหลากหลายคณะวิชามาร่วมกันเปิดเป็นหลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม (CUTIP) เป็นหลักสูตรสหสาขาวิชาภายใต้ความรับผิดชอบของบัณฑิตวิทยาลัย จากการร่วมมือกันของคณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์
รศ.ดร.ธาตรี ใต้ฟ้าพูล รองผู้อำนวยการหลักสูตรฯ เล่าความเป็นมาของหลักสูตรว่า เกิดจากการมองเห็นศักยภาพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การออกแบบ การบริหารจัดการ ขณะเดียวกันภายในมหาวิทยาลัยก็มีผลงานวิจัยอยู่เป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง จึงเปิดหลักสูตรนี้ขึ้นมาเพื่อตอนสนองการพัฒนานวัตกรผู้สามารถสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่อย่างครบวงจร
นวัตกรรมเป็นได้ทั้งสินค้า บริการ หรือกระบวนการก็ได้ การปรับปรุงวิธีการทำงาน จากเดิมมีกระบวนการทำงานแบบนี้ ถ้าเรานำนวัตกรรมไปใส่ เปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ อาจจะทำให้เขาลดต้นทุน ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือบางกรณีอาจจะสร้างรายได้ สร้างธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาได้อีก นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาในโลก อาจจะมีอยู่แล้วพัฒนาให้ดีขึ้นก็ได้
รศ.ดร.ธาตรี มองว่า ในการนำเอาผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น งานของคณะวิทยาศาสตร์ และคณะ วิศวกรรมศาสตร์ มาทำให้เกิดเป็นรูปธรรมสามารถสร้างรายได้ จุดเริ่มต้นอยู่ที่วิธีคิดในการนำไปใช้ ดังนั้นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จะเข้ามาช่วยสอนกระบวนการคิดต่างๆ ขณะที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจะมาให้ความรู้ในเรื่องของแผนธุรกิจ ด้านการตลาดขณะที่คณะนิเทศศาสตร์จะมาเสริมด้านการสื่อสารกับผู้บริโภค ทำการสื่อสารการตลาด จึงจะเป็นการสร้างนวัตกรรมที่จับต้องได้อย่างครบวงจรในเบื้องต้น ยังมีองค์ความรู้ที่สะสมในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของทุกคณะก็สามารถดึงมาใช้งานได้อีกมาก
ผู้ที่มาเรียนในหลักสูตรนี้ จะได้เรียนวิชาแกน ที่จะเริ่มจากการคิดสร้างสรรค์ การจัดการเทคโนโลยี การสังเคราะห์นวัตกรรม การวางแผนธุรกิจและการตลาด การเป็นผู้ประกอบการ และวิชาเลือกที่มีให้เลือกอีกมากมาย
“กระบวนการที่เรียนมาจากการแก้ปัญหา หาเทคโนโลยีมา มีแผนการตลาด และต้องขายของได้ด้วย” รศ.ดร.ธาตรีกล่าวพร้อมยกกรณีศึกษาในเรื่องของ iPod Shuffle ที่เป็นเครื่องเล่นเพลงรุ่นเล็กราคาถูก แต่ไม่มีหน้าจอ การจะเลือกกลุ่มเป้าหมายบริษัทจึงเลือกไปที่กลุ่มวัยรุ่นที่กำลังซื้อยังน้อย แต่ชอบเทคโนโลยี และชอบฟังเพลง โดยมีมุมมองในการขายว่า หากคุณเป็นคนที่ชอบความท้าทาย คุณเลือก iPod Shuffle ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาด ซึ่งเป็นตัวอย่างการนำเอาสินค้านวัตกรรมมาทำตลาดจนประสบความสำเร็จด้วยมุมมองใหม่ในการขาย
บูรณาการทั้งหลักสูตร
การจะสร้างหลักสูตรที่มีความเป็นสหสาขาวิชาเช่นนี้ได้ ต้องอาศัยการผสานพลังของคณาจารย์จากหลากหลายคณะ โดยดึงคณาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญชำนาญรวมถึงมีประสบการณ์ตรงในแต่ละด้านมาร่วมกันวางแผนการเรียนการสอน รศ.ดร.ธาตรียกตัวอย่างประสบการณ์ของตนเองว่า “ผมเองก็ทำงานกับเอกชนมาครึ่งชีวิต อยู่มาหลายบริษัทมาก และพอมาสอนเรื่องการสื่อสารการตลาดทางด้านการขาย ก็หยิบจากเคสจริง เพราะเรารู้ว่าทฤษฎีในหนังสือเขียนแบบหนึ่งแต่โลกความจริงเป็นอีกแบบหนึ่ง เอาเบื้องหลังที่เราเจอจริงๆ มาสอน”
ด้วยความหลากหลายของสาขาวิชา คณาจารย์จึงต้องร่วมบูรณาการกันเพื่อสร้างสรรค์หลักสูตรที่สามารถบูรณาการความรู้สู่นิสิตได้ด้วย รศ.ดร.ธาตรี เล่าว่า “ตอนแรกๆ เราก็มานั่งเข้าคอร์สวิชาที่อาจารย์ท่านอื่นสอน เพื่อทำความเข้าใจไปด้วยกัน ถึงจะบูรณาการได้อย่างแท้จริง ถ้าทุกคนต่างคนต่างมาแล้วเราก็ไม่รู้คนอื่นคิดอย่างไร ดังนั้นเราต้องไปนั่ง Sit In วิชาเพื่อนอาจารย์จนเราเข้าใจเราจะได้ทำงานร่วมกัน เพราะต้องส่งไม้ต่อ โจทย์นี้จะส่งต่อในแต่ละขั้นตอน เราจะรับลูกต่อกันได้ ทุกคนต้องมานั่งฟังกันหมด แล้วมาประชุม มาดูแต่ละเคส ว่าพัฒนาไปถึงไหนแล้ว และจะส่งไม้ต่อกันอย่างไร”
ในส่วนของผู้ที่มาเรียนในหลักสูตรนี้ก็มีความหลากหลาย ทั้งด้านอายุ อาชีพ บางคนเป็นผู้ประกอบการ ทายาทธุรกิจ และบางคนเป็นผู้บริหารระดับกลางถึงระดับสูงในองค์กรต่างๆ โดยมีพื้นฐานการศึกษาที่หลากหลายทั้งทางสายสังคมศาสตร์และสายวิทยาศาสตร์ก็สามารถเข้ามาเรียนได้
รองผู้อำนวยการหลักสูตรสรุปว่า การที่คณาจารย์สามารถทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เป็นการมองทั้งกระบวนการ ทำให้การส่งต่อความรู้และแนวคิดแบบบูรณาการในแต่ละศาสตร์สู่ผู้เรียนในหลักสูตรเกิดขึ้นได้อย่างลื่นไหล
เรียนรู้ผ่านโจทย์
จากภูมิหลังของผู้เรียนที่มาจากหลากหลายองค์กรซึ่งมีปัญหาแตกต่างกัน การเรียนรู้ในหลักสูตรจึงมีขอบเขตของปัญหาที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามปัญหาที่ผู้เรียนสนใจ โดยปรับให้สอดคล้องกับโจทย์ที่มี รศ.ดร.ธาตรี ยกตัวอย่างการเรียนการสอนการสื่อสารการตลาดว่า “เราเอาโจทย์เป็นตัวตั้ง อันดับแรกก็ต้องบอกเลยว่า ถ้าเราจะคุยกับใครเราต้องรู้ก่อนว่าคนนั้นเป็นอย่างไร ปัญหาที่ผ่านมาคือฉันมีของชิ้นนี้จะขายยังไง คุณต้องเปลี่ยนวิธีการคิด คุณต้องคิดก่อนว่าใครกินน้ำของคุณ และคนคนนั้นเขาคิดอย่างไรกับน้ำของคุณ นั่นคือการศึกษาผู้บริโภคหรือในทางนิเทศศาสตร์ก็คือศึกษาคนฟัง ถ้าเรารู้จักเขาทุกแง่มุมคุณจะขายอะไรคุณก็ขายได้แต่ถ้าคุณไม่รู้จักเขาต่อให้สินค้าคุณดียังไงคนก็ไม่ซื้อ เราอย่าไปคิดแทนผู้บริโภคด้วยอย่าคิดว่าเรารู้บางคนอาจจะไม่รู้อะไรเลยก็ได้”
ผมจะถามว่า สมมุติว่าผมจะต้องขายมันฝรั่งให้เด็กประถมผมต้องคุยกับใครบ้าง หลายคนก็บอกว่าขายเด็กก็คุยกับเด็ก พอไหม ปรากฏว่าไม่พอ ถ้าเป็นเด็กคุณจะคุยอะไรกับเด็ก เด็กต้องคุยเรื่องความอร่อยถูกหรือไม่ เพราะเด็กกินขนมต้องการความอร่อย แต่ไปคุยกับพ่อแม่คุยเรื่องความอร่อยได้หรือไม่ พ่อแม่ไม่สนใจเรื่องความอร่อยสนใจเรื่องความฉลาดของลูก พอหรือยัง พ่อแม่ปัจจุบันการศึกษาเยอะ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไปคุยกับหมอไหมหรือนักโภชนาการ เอางานวิจัยให้หมอดู ถ้าแม่ไปถามหมอ ว่านี่กินดีหรือเปล่าหมอบอกว่าดี เห็นไหมว่าขายมันฝรั่งอย่างเดียวต้องคุยกับคน 3 คนและ 3 คนคุยคนละเรื่องเลยแต่สุดท้ายก็เพื่อขายของให้ได้
การที่หลักสูตรนี้มีทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเพื่อเปิดกว้างรับผู้จบการศึกษาในหลากหลายสาขาเข้ามาเพิ่มพูนความรู้เตรียมตัวสำหรับการออกไปสร้างธุรกิจหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับองค์กรของตนเอง การเป็นหลักสูตรที่บูรณาการแบบสหวิชา ช่วยทำให้ผู้เรียนจะได้รับการปรับพื้นฐานเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่เคยเรียนรู้มาก่อน เพื่อบูรณาการความรู้นั้นในการทำงานจริงได้
รศ.ดร.ธาตรี ยกตัวอย่างนิสิตที่เรียนจบมาทางด้านอักษรศาสตร์ท่านหนึ่งว่า มาเรียนแล้วก็คิดค้นนวัตกรรมด้านการแปลภาษา “เขามาเรียนหลักสูตรนี้ เขามองเห็นปัญหาหยิบปัญหาเป็นตัวตั้งและไปหาเทคโนโลยีซึ่งเขาก็ไปคุยกับอาจารย์วิศวะคอมพิวเตอร์ อาจารย์ก็ช่วย ตอนที่เขาทำเขามองถึงอาเซียนด้วย จะไปคุยกับคนในอาเซียนแล้วเขาพูดภาษาพื้นเมืองของเขา ถ้ามีเครื่องแปลภาษาจะช่วยในการสื่อสารให้ดีขึ้น เขาก็ทำเป็นต้นแบบมา แต่ถ้าจะใช้จริงต้องใช้เวลา ขึ้นกับการสอนเครื่องจักรให้เรียนรู้ เขาเรียนปริญญาโทแล้วเขาก็ทำต้นแบบ และทำสาธิตตัวอย่างมา”
อีกรายหนึ่งเป็นนิสิตปริญญาโท ระหว่างเรียนอยู่แล้วเลิกกับแฟน จึงทำแอปพลิเคชันเพื่อช่วยเหลือคนอกหัก เพราะคนอกหักมีแนวโน้มจะซึมเศร้า โดยมีอาจารย์สายจิตวิทยามาช่วยในเรื่องเนื้อหาที่นำเสนอ
นิสิตปริญญาโทอีกท่านก็คิดช่วยผู้เป็นโรคพาร์กินสัน ที่มีปัญหาการทรงตัว โดยคิดเครื่องที่จะช่วยคนเป็นโรคนี้ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่คนเดียวได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นต่อการทำวิจัยร่วมกับอาจารย์แพทย์ผู้เป็นที่ปรึกษาหลัก โดยมี รศ.ดร.ธาตรี เป็นที่ปรึกษาร่วม ตามแนวทางการทำงานวิจัยของหลักสูตรที่จะต้องมีที่ปรึกษาให้ครบ 3 ด้าน คือ ด้าน นวัตกรรม เทคโนโลยี และ การจัดการ
“นั่นคือการบูรณาการทั้งจุฬา ถึงเวลาไปได้ทั่วจุฬาเลย” รศ.ดร.ธาตรีกล่าว
เตรียมพบ Open House 14 มี.ค.
สำหรับผู้ที่สนใจการเรียนการสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม (CUTIP) สามารถเข้าร่วมงาน Open House ซึ่งในปีนี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 14 มี.ค. ณ สำนักงานหลักสูตรฯ ชั้น 14 อาคารจัตุรัสจามจุรี
รศ.ดร.ธาตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เราอยากให้คนที่สนใจมาเรียนได้มารู้ว่าเราสอนอย่างไร จะมีเคสของนิสิตที่เรียนอยู่และจบไปแล้วมาแสดงให้ดูก็สามารถซักถามได้ ขณะเดียวกันจะบอกโครงสร้างหลักสูตรเมื่อเข้ามาแล้วต้องเรียนอะไรบ้าง เจออะไรบ้าง อีกส่วนคือให้เขามาสังเกตการณ์การเรียนการสอน เขาจะได้รู้ว่าการเรียนการสอนเป็นอย่างไร จะได้เห็นเป็นรูปธรรม และมีการเชิญคนมาพูดในหัวข้อที่น่าสนใจในช่วงเวลานั้น ถึงไม่ได้สนใจมาเรียนก็มาร่วมรับฟังได้ เราอยากให้คนที่มาร่วมมั่นใจ มาเห็นของจริงว่าการเรียนการสอนเป็น”
รองผู้อำนวยการหลักสูตร CUTIP กล่าวปิดท้ายว่า “ถ้าอยากได้ความรู้ และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง หลักสูตรนี้น่าจะตอบโจทย์เขา คนที่มาเรียนหลักสูตรนี้จะได้เรียนรู้ทั้งกระบวนการ สามารถไปทำธุรกิจของตัวเองได้ และธุรกิจนั้นต้องผ่านการพิสูจน์ด้วยว่าเป็นไปได้จริง คุณจะได้ทั้งปริญญาและแผนธุรกิจกลับไปด้วย และผมเชื่อว่าเป็นหลักสูตรเดียวที่อาจารย์ก็บูรณาการ และผู้เรียนก็บูรณาการด้วย”
เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ