นิติศาสตร์ฯ มธบ. ปั้น “นักกม.ยุคใหม่” เชี่ยวนวัตกรรม เก่งธุรกิจ เข้าใจผู้ประกอบการ

April 24, 2020 2871

“อาชีพนักกฎหมาย” เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ติดโผ “ไม่ตกงาน” โดยเฉพาะ “นักกฎหมายด้านธุรกิจหรือด้านเทคโนโลยี”

ดูจะไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลย ยิ่งยุคดิจิตอล เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานการใช้ชีวิตของผู้คน ตลอดจนการทำธุรกิจ ในช่วงไวรัสโควิด 19 ระบาด เรายิ่งเห็นบทบาทและความสำคัญของการค้าขายในระบบออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผลักให้ “นักกฎหมาย” เป็นที่ต้องการมากขึ้น เป็นเพื่อนคู่คิดของนักธุรกิจ ช่วยให้การทำธุรกิจเดินหน้าไปอย่างมั่นคง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น...

ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เกิดกิจกรรมทางธุรกิจหลากหลายที่กฎหมายเดิมนำมาปรับใช้ไม่ได้ เช่น การล้วงข้อมูลของผู้บริโภคเพื่อใช้ในทำการตลาด หรือบางครั้งกฎหมายกลับสร้างปัญหาให้กับการทำธุรกิจ เช่น กรณี Grab Car เมื่อเราปฏิเสธความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไม่ได้ กฎหมายในยุคใหม่จึงต้องปรับให้มีมิติที่เชื่อมโยงทั้งส่งเสริมและกำกับธุรกิจรูปแบบใหม่นั้น จึงเป็นกฎหมายเทคนิคที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงทั้งแนวคิดธุรกิจ เทคโนโลยี สังคมและกฎหมายเข้าด้วยกัน ความซับซ้อนเช่นนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ที่คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ต้องคิดสร้างนักกฎหมายพันธุ์ใหม่ เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงข้างต้น

โลกในศตวรรตที่ 21 เป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสารขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นทรัพยากร ดิจิตัลที่เคลื่อนย้ายแพร่กระจายได้ในพริบตา โอกาสของโลกยุคใหม่จึงขึ้นอยู่กับความเร็วในการเห็นช่องทางใหม่ ๆ  บนพื้นฐานของการสังเคราะห์ข้อมูลนั้น ถึงกับมีผู้กล่าวว่า “Information is the King” คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ตระหนักดีถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคใหม่ จึงได้ออกแบบหลักสูตรเน้นสร้างนักกฎหมายพันธุ์ใหม่ที่สร้างทักษะ เสริมความเชี่ยวชาญ เติมวิธีคิดแบบผู้ประกอบการ และเสริมความถนัดใน 3 ด้าน คือ ด้านกฎหมายธุรกิจ นวัตกรรม และการสร้างสรรค์ ด้านวิชาชีพกระบวนการยุติธรรม และด้านนักกฎหมายภาครัฐ กล่าวคือ นอกจากนักศึกษาทุกคนจะต้องศึกษากฎหมายพื้นฐานที่จำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพทนายความ เนติบัณฑิต ผู้พิพากษาหรืออัยการแล้ว แต่การติดอาวุธเพิ่มในด้านที่นักศึกษาแต่ละคนถนัดจะเพิ่มศักยภาพแก่นักศึกษาให้ช่วงชิงพื้นที่และได้เปรียบในการทำงาน หรือประกอบวิชาชีพเหนือนักกฎหมายอื่นทั่วไป” ผศ.ดร.สมชาย กล่าว

คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ DPU กล่าวด้วยว่า ในยุคนี้เทคโนโลยีล้ำสมัยทำให้เกิดกิจกรรมหรือธุรกิจใหม่ ๆ เช่น สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) บนเครือข่ายบล็อคเชน การซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราหรือสินทรัพย์เสมือน (Cryptocurrency) การตลาดแบบเฉพาะเจาะจง (Individual Marketing) รถยนต์ที่ไร้คนขับ รายงานทางธุรกิจ เพลง หรือภาพวาดที่ปัญญาประดิษฐ์เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น ผลผลิตจากโลกอัจฉริยะเหล่านี้ต้องการกฎหมายที่วางอยู่บนฐานคิดใหม่ที่มีมิติซับซ้อนขึ้น รวมทั้งต้องการนักกฎหมายที่มีดีเอ็นเอแบบใหม่ที่เข้าใจและปรับใช้กฎหมายแบบใหม่ได้อย่างคล่องแคล่ว มีประสิทธิภาพ อย่างคนที่รู้จริงและรู้ลึก โดยยังคงรักษาอัตลักษณ์การสร้างความเป็นธรรมในสังคมอันเป็นเป้าหมายสำคัญของการเป็นนักกฎหมาย นี่จะเป็น DNA ที่ฝังในนักศึกษานิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ทุกคนที่ต้องรู้และเข้าใจมิติที่หลากหลายของกฎหมายในยุคใหม่นี้

"หลักสูตรปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ นอกจากจะติดอาวุธเสริมความถนัดเฉพาะด้านแล้ว ยังเน้นให้นักศึกษาของเรา “ทำงานเป็น ทำงานได้ ไม่เสียเวลาเรียนรู้งาน” ซึ่งเป็นทักษะที่พึงประสงค์และจำเป็นของศตวรรตที่ 21 โดยนอกจากหลักสูตรจะเสริมทักษะด้านภาษาทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาที่สาม การคิดวิเคราะห์ และวิธีคิดแบบผู้ประกอบการแล้ว ในแต่ละวิชาจะมีผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อในวิชานั้นมาเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนเพิ่มพูนประสบการณ์ เสริมโลกทัศน์ให้กับนักศึกษา ที่สำคัญก่อนจบการศึกษานักศึกษาทุกคนต้องออกไปปฏิบัติงานจริงในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนตามความถนัดของตนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ภาคการศึกษา และต้องผ่านการประเมิน อีกทั้งต้องทำ Mini Thesis เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่พบในการปฏิบัติงาน นี่ถือเป็นการติดอาวุธให้กับบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ให้พร้อมรับกับการทำงานในศตวรรษที่ 21" ผศ.ดร.สมชาย กล่าว

ผศ.ดร.สมชาย กล่าวเสริมว่า “มีผู้สงสัยว่า ความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็น DNA สำคัญอย่างหนึ่งของ DPU จะใช้กับนักศึกษากฎหมายได้อย่างไร จะสร้างนักกฎหมายให้ออกไปเป็นพ่อค้าหรืออย่างไร อันนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเราเน้นให้นักศึกษาของเรามีทักษะ “วิธีคิด” แบบผู้ประกอบการไม่ได้เน้นให้ต้องไปเป็นผู้ประกอบการ แต่ต้องการให้เป็นผู้ที่เห็นปัญหาคือความท้าทาย คิดวิเคราะห์หาทางออกด้วยการสร้างสรรค์แนวทาง หรือวิธีการใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวให้ได้ ทักษะเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งใน โลกแคบลง ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน ธุรกิจแปลกใหม่เกิดขึ้นทุกวัน นักกฎหมายยุคใหม่จึงไม่อาจรู้หรือเชี่ยวชาญเฉพาะกฎหมายอีกต่อไป แต่ยังต้องรอบรู้มิติอื่น ๆ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับกฎหมาย เป็นความรู้นอกตำรากฎหมายที่ไขว่คว้าได้ง่ายในโลกอินเตอร์เน็ต”

ทั้งนี้ สำหรับหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต ศ.ดร.ดร.สุนทร มณีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต  มธบ. อธิบายว่ามีการจัดการเรียนการสอนในนักศึกษาเลือก 6 สาขา ได้แก่

  1. สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
  2. สาขากฎหมายเอกชน
  3. สาขากฎหมายมหาชน
  4. สาขากฎหมายธุรกิจและนวัตกรรม
  5. สาขากฎหมายการเกษตรทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
  6. กฎหมายสาขาการแพทย์

ซึ่งทุกหลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอนจะเป็นการเพิ่มทักษะ หรือ UPSKILL เพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาชีพที่คนจำนวนมากมุ่งหวัง เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมว่ามีความมั่นคงและเงินเดือนสูง

“การมาเรียนปริญญาโทด้านกฎหมายจะทำให้ทุกคนมีโอกาสมากขึ้น เพราะนอกจากจะสอบแข่งขันในสนามสอบสำหรับผู้จบปริญญาตรีที่เรียกกันว่า สนามใหญ่ แล้วยังมีโอกาสสอบแข่งขันในสนามสอบอีกสนามหนึ่งที่มีผู้แข่งขันน้อยกว่าหรือสนามสอบเล็กอีกด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาและอัยการมากขึ้น  นอกจากนี้ หลักสูตรของเรายังมีการปรับปรุงใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง การผลิตบัณฑิตของหลักสูตรจึงมุ่งที่จะสร้างนักกฎหมายที่มีความทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านธุรกิจ ด้านวิชาการอื่นๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย ซึ่งการมีนักกฎหมายที่ทันสมัยจะทำให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างดี จะทำให้เป็นที่ต้องการองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนและมีประโยชน์ต่อองค์กรนั้นๆ เดินหน้าทันโลกทันเหตุการณ์ด้วย” ศ.ดร.ดร.สุนทร กล่าว

อย่างไรก็ตาม โลกซับซ้อนขึ้น กฎหมายยิ่งซับซ้อนขึ้น โลกขยับเร็วขึ้นนักกฎหมายจะอ้อยอิ่งแบบเดิมได้อย่างไร?

“ความเป็นธรรมจะเกิดในสังคมได้อย่างไร ถ้านักกฎหมายล้าหลังไม่ทันโลก แต่ที่นี่...คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ เราไม่ได้สร้างนักกฎหมายแบบนั้น แต่เรามุ่งมั่นที่จะสร้างนักกฎหมายที่สร้างสรรค์สังคม ทันสมัย รอบรู้และเป็นผู้นำในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน” ผศ.ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย

Last modified on Monday, 25 April 2022 17:27
X

Right Click

No right click