October 13, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

ดร.ศิริเดช  คำสุพรหม  คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี

“พณชิต กิตติปัญญางาม” ผอ. DPU X  เผย รัฐ-เอกชน ตื่นตัวเทคโนโลยีใหม่ เตรียมเปิดหลักสูตร  “Geeks on The Block Chain”  ปลุกวงการ Developer แต่งตัวให้พร้อมช่วยองค์กรพัฒนาธุรกิจ 

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการสถาบัน DPU X โดย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และนายกสมาคม Thailand Tech Startup Association (สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่) เปิดเผยว่า ปัจจุบันหลายองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มมีการตื่นตัวกันมากในการนำเทคโนโลยี BlockChain มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการจัดการข้อมูล โดยเฉพาะภายในระยะเวลา อีก 5 ปีนับจากนี้จะเห็นคุณค่าของ BlockChain เพิ่มมากขึ้นเหมือนกับในอดีตที่เริ่มมีอินเตอร์เน็ต ทุกคนมองคุณค่าของอินเตอร์เน็ตไม่ออก ต่อมาเมื่อมีคนเริ่มสร้างแอพพลิเคชั่นต่างๆ มีการส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกคนเริ่มเห็นพลังของอินเตอร์เน็ต  เช่นเดียวกันวันนี้ผู้คนกำลังอยู่บนโลกของดิจิตอลกันมากขึ้น Block Chain ที่ทำหน้าที่ส่งผ่านมากกว่าเพียงข้อมูล แต่ส่ง "คุณค่า" ไปด้วย  จะทำให้เกิดฝาแฝดของสิ่งต่างๆในโลกดิจิตอล ช่วยให้ Interaction หรือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันบนโลกดิจิตอลมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น 

ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนในเทคโนโลยี BlockChain มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่แสดงความสนใจทั้งด้านการวิจัยพัฒนาระบบและการร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ เนื่องจากธุรกรรมต่างๆที่ต้องใช้ตัวกลาง (บุคคลที่สาม) จะได้รับผลกระทบค่อนข้างชัดเจนหลังเทคโนโลยี Block Chain เข้ามาจัดการการแลกเปลี่ยนต่างๆ  ยิ่งไปกว่านั้น จากการสำรวจของ World Economic Forum (WEF) คาดว่า ภาครัฐของประเทศต่างๆ จะนำร่องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ก่อนภายในปี 2023 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า และจะนำมาใช้อย่างแพร่หลายภายในปี 2027 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า

ดังนั้นช่วงเวลาของการเตรียมพร้อมรับมือกับการมาของ เทคโนโลยี BlockChain จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากขององค์กรต่างๆ หลายองค์กรเริ่มมองเห็นคุณค่า ของ BlockChain ที่มีระบบเข้ามาช่วยจัดการข้อมูล จึงนำมาซึ่งการตื่นตัวและเริ่มนำ  Block chain มาใช้กันเพิ่มมากขึ้น  นับเป็นสัญญาณที่ดีให้กับวงการ Developer เพราะผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจการทำงานบนระบบ Decentralized จะสามารถมองเห็นภาพและพัฒนา Application ในอนาคตได้ เนื่องจากโครงสร้างและสถาปัตยกรรมจะเปลี่ยนไป เป็นแบบ Decentralized ด้วย Blockchain  เช่น แนวคิด World Computer ของ Ethereum

ล่าสุด ทาง DPU X สถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต ได้ร่วมมือกับ Smart Contract Thailand พร้อมด้วยวิทยากรรับเชิญจาก KBTG ได้จัดหลักสูตร “Geeks on The Block(Chain)” หรือ Block Chain Camp for Developers  batch  1 ครั้งแรกของประเทศ เป็นหลักสูตรที่เน้นการพัฒนาเชิง Technical ด้าน Block Chain ที่เข้มข้นที่สุดในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ภูมิ ภูมิรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Block Chain ระดับแนวหน้าของประเทศและผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบการรักษาความปลอดภัยในโลกโซเชียล รวมถึงทีม Smart Contract Thailand และทีม KBTG มาร่วมออกแบบ และดูแลหลักสูตรดังกล่าวนี้

ดร.พณชิต กล่าวด้วยว่า นอกจากการเรียนรู้ด้านพื้นฐานและแนวความคิดระบบ Block Chain ในหลักสูตรนี้แล้ว ผู้เข้าอบรมจะได้ลงมือเขียนโค้ด จากโจทย์จริงด้วย จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้เข้ารับการอบรมที่จะได้มีโอกาสฝึกการคิดค้น แก้ปัญหาให้ตรงจุด และเพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้หลักสูตรยังได้มีการจัด Public Code Review เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เข้าอบรมท่านอื่นๆ, วิทยากร, Commentator ผู้เชี่ยวชาญ, องค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึง Developer ท่านอื่นๆที่มีความสนใจ

ดร.พณชิต กล่าวอีกว่า หลักสูตรดังกล่าวนี้ทาง DPUX เตรียมเปิดอบรมระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 ผู้เข้ารับการอบรมจนสำเร็จจะสามารถเพิ่มศักยภาพในการทำงาน ตลอดจนใช้ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองหรือองค์กรต้นสังกัดเพื่อเป็น Developer ที่มีความพร้อมด้าน Block Chainอย่างแท้จริงผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่  http://dpux.dpu.ac.th/geeksontheblock/register/batch1  

มธบ.จัด Workshop  การถอดรหัสความคิดด้วยภาษาภาพ (Visual Thinking) ครั้งแรกในไทยและอาเซียน ของการสื่อสารรูปแบบใหม่ ที่ท้าทายต่อการเติบโตของธุรกิจในยุคดิจิตัล  โดยวิทยากรเจ้าของหนังสือ Visual Thinking ที่ขายดีไปทั่วโลกและได้รับการแปลถึง 11 ภาษา ชี้การสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ดร.พัทธนันท์  เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจ ได้เห็นความสำคัญของการสื่อสารในรูปแบบ “Visual Thinking” และเชื่อว่าการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพจะส่งผลดีต่อประสิทธิผลขององค์กรทั้งการสื่อสารภายใน และภายนอกองค์กร จึงได้จัดเวิร์คชอป ในหัวข้อ “Visual Thinking: Empowering Your Vision through Visual Thinking” โดยเชิญ Willemien Brand ที่เป็นทั้งผู้เขียนหนังสือที่ขายดีไปทั่วโลกชื่อ Visual Thinking ซึ่งถูกนำไปแปลถึง 11 ภาษา และเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกในเรื่องการถอดรหัสความคิดด้วยภาษาภาพ มาเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ครั้งแรกในประเทศไทยและอาเซียน ของการถ่ายทอดการสร้างทักษะการสื่อสารด้วยภาษาภาพที่เป็นหนึ่งใน Future Skill ที่สำคัญมาก โดยจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 14 มกราคม 2562  เวลา 8.30-17.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ การสื่อสารเชิงธุรกิจเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่ต้องสื่อสารกับลูกค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทั้งด้านภาษาหรือวัฒนธรรม หากองค์กรมีทีมงานที่มีทักษะในการสื่อสารเชิงธุรกิจที่สามารถอธิบายเรื่องราวหรือกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีความซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยผ่านกระบวนการการสื่อสารรูปแบบที่ใช้ทักษะใหม่ ด้วยการจัดระเบียบความคิดและอธิบายผ่านรูปภาพ (Visual Thinking) เพื่อให้ผู้ได้รับสารนั้นมองเห็นภาพอย่างชัดเจนและเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสิ่งที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาทั้งในตัวบุคลากรขององค์กรที่จะเป็นปัจจัยหลักของการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจ และยังทำให้เกิดการสื่อสารที่ตรงเป้าหมายและได้ใจความสำคัญให้กับลูกค้าขององค์กร นอกจากนี้การสื่อสารในระหว่างหน่วยงานภายในองค์กรก็เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการเติบโตของธุรกิจในยุคดิจิทัลอีกด้วย

ดร.พัทธนันท์  กล่าวด้วยว่า “Visual Thinking” ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่การเล่าเรื่องราวคุณค่าที่องค์กรจะนำเสนอให้แก่ลูกค้าเป้าหมายเท่านั้น แต่การสื่อสารในองค์กรก็เป็นเรื่องที่สำคัญ การสื่อสารแนวคิดยุทธวิธีการทำธุรกิจ กลยุทธ์ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ซับซ้อน ต้องอาศัยผู้ที่มีทักษะในการถ่ายทอดเรื่องราว การอธิบาย ผ่านตัวหนังสือนั้นไม่อาจทำให้คนเห็นภาพได้ แต่การอธิบายด้วยภาพนั้นสามารถอธิบายได้มากกว่าล้านคำพูด ดังนั้น จะดีกว่าหรือไม่ถ้าองค์กรของเราสามารถทำได้เพื่อให้ทุกคนเข้าใจแนวทางในการสร้างคุณค่าสู่ลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่สนใจสามารถรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร : 065-594-9955  Facebook : @DPUPraxis  Line@ :  https://line.me/R/ti/p/@dpupraxis  E-mail :This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ม.ธุรกิจบัณฑิต คว้า Dan Montgomery สุดยอดกูรูด้าน OKRs  ผู้ให้คำปรึกษาชั้นแนวหน้าให้กับธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกา และผู้บริหารองค์กรเทคโนโลยีชั้นนำของไทยใช้ OKRs  นำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ ร่วมให้ความรู้แบบเจาะลึก ในงานเสวนา Why OKRs ? ในวันศุกร์ที่ 12 ต.ค.นี้ เวลา 09.00-16.00 น. รร.เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ

ดร.พัทธนันท์  เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เปิดเผยว่า เนื่องจากวิธีการวัดผลสัมฤทธิ์ของการทำงานตามวัตถุประสงค์ (Objectives and Key Results : OKRs) กำลังมาแรงในขณะนี้ โดยมีองค์กรธุรกิจชั้นนำทั่วโลกหันมาใช้ OKRs เพื่อทำให้องค์กรมีความแข็งแกร่งและประสบความสำเร็จได้อย่างไร้ขีดจำกัด  ศูนย์ DPU Center มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เล็งเห็นความสำคัญของการนำ OKRs มาใช้ในการพัฒนาองค์กร จึงกำหนดจัดเสวนาในหัวข้อ Why Objectives and Key Result (OKRs)  Should replace  KPIS? ในวันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2561 เวลา 9.30-16.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลลูน โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ  ทั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจ และเพื่อให้องค์กรสามารถสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน สร้างบรรยากาศในการทำงานอย่างเป็นทีมผ่านเครื่องมือการวัดผลการดำเนินงานแบบ OKRs

“ครั้งนี้ได้เชิญ Mr.Dan Montgmery  ผู้เชี่ยวชาญอันดับต้นๆของโลกด้าน Agile Strategies และ OKRs และยังเป็นผู้แต่งหนังสือ “START LESS , FINISH MORE ,Building Strategic Agillity with Objectives and Key Result พร้อมผู้บริหารองค์กรเทคโนโลยีชั้นนำทั้ง ดีแทค บิลค์วันกรุ๊ป และDPU X ที่ได้ใช้ OKRs นำพาองค์กรสู่ความสำเร็จมาร่วมให้ความรู้ทุกแง่มุมของ OKRs แบบเจาะลึก” ดร.พัทธนันท์  กล่าว 

ดร.พัทธนันท์  กล่าวด้วยว่า เหตุที่ OKRs มีความน่าสนใจ เนื่องจากกระบวนการทำงานในแบบ OKRs จะกำหนดวัตถุประสงค์จำนวนน้อยและกำหนดเฉพาะที่จำเป็นจะต้องทำจริงๆ ก่อน โดยคนระดับการทำงานเป็นผู้กำหนดขึ้นเอง เป็นการกำหนดจากล่างสู่บน ซึ่งจะทำให้เห็นปัญหาที่แท้จริงและร่วมกันคิดและร่วมลงมือแก้ไขปัญหา นับเป็นการสร้างวัฒนธรรมของการทำงานเป็นทีม อันจะนำไปสู่การประสบความสำเร็จในที่สุด  การเสวนาครั้งนี้ จึงเหมาะสำหรับทุกองค์กรที่ต้องการพัฒนาและปรับตัวเองให้สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร เพื่อสู้กับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่างฉับพลันในยุคดิจิทัล โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.065 594 9955 email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

การเป็นผู้บริหารสถาบันการศึกษาในยุคดิจิทัลและ Aging Society ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบต่อสถาบันการศึกษาในแทบทุกระดับ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้บริหารที่เป็นทายาทของผู้ก่อตั้งสถาบัน เข้ามารับตำแหน่งในช่วงเวลาที่สถาบันการศึกษากำลังต้องการการเปลี่ยนแปลง และเธอก็วางแผนพลิกธุรกิจบัณฑิตย์ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่จะผลิตบุคลากรเพื่อรองรับอนาคต

จากประสบการณ์การทำงานที่ธุรกิจบัณฑิตย์มากว่า 20 ปี ดร.ดาริกาไม่ใช่คนแปลกหน้าของที่นี่ ทั้งยังได้ร่วมงานใกล้ชิดกับอธิการบดีที่ผ่านมาทั้ง 3 ท่าน ทำให้เห็นแนวโน้มทิศทางการศึกษาระดับอุดมศึกษา และสามารถวางแผนงานสำหรับการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้เป็นสถานที่ผลิตบุคลากรให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืนในอนาคตได้ตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่ง

ดร.ดาริกามองโจทย์ในตอนเข้ารับตำแหน่งว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ความเป็นอยู่ของผู้คน การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ที่ทำให้ผู้บริหารสถาบันการศึกษาต้องขยับตัวเพื่อผลิตกำลังแรงงานสำหรับอนาคตให้กับประเทศ

New Business DNA

ทั่วทั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จะเห็นคำว่า New Business DNA กระจายอยู่ทั่วไป เป็นกลุ่มคำที่อธิการบดีใช้สื่อสารวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยกับอาจารย์บุคลากรรวมถึงนักศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยให้รับทราบว่า ธุรกิจบัณฑิตย์จะเป็นสถาบันหลักในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ธุรกิจยุคใหม่ และบูรณาการประชาคมอาเซียนและจีน ตามวิสัยทัศน์ของสถาบัน

ดร.ดาริกา เล่าว่าเห็นตัวอย่างจากรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จในการทำให้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้รับการยอมรับในทุกภาคส่วน ด้วยการทำแคมเปญอย่างต่อเนื่องจนทุกฝ่ายยอมรับทิศทางดังกล่าว ซึ่งช่วยทำให้ทุกภาคส่วนเข้าใจและเดินไปในทิศทางเดียวกัน
เมื่อต้องมาขับเคลื่อน New Business DNA เธอจึงคิดทำแคมเปญที่ค่อนข้างใหญ่เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ทุกภาคส่วนเดินไปในทิศทางเดียวกัน

การจะพัฒนาคนให้มี New Business DNA ของม.ธุรกิจบัณฑิตย์เริ่มจากการปรับหลักสูตรตามแนวคิดหลักสูตรพันธุ์ใหม่ ที่กำหนดชื่อว่า DPU Core ให้นักศึกษาได้เรียนควบคู่กับสาขาที่เลือก โดยจะเน้นทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตให้กับนักศึกษา อาทิ ทักษะการเป็น
ผู้ประกอบการ ทักษะด้านการคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรม ทักษะด้านการแก้ไขปัญหา ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และทักษะด้านการสื่อสาร

ดร.ดาริกาอธิบายว่าไม่ว่านักศึกษาของสถาบันจะจบจากสาขาวิชาใด การมีคุณลักษณะเบื้องต้นจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวผู้เรียน แม้จะเรียนจบไปทำงานเป็นพนักงานบริษัทหากมีจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการในตัวเอง ก็จะคิดเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัท มองที่วัตถุประสงค์ขององค์กร มองหาโอกาสและเห็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการทำให้ดีขึ้นตลอดเวลา

โดยรูปแบบการเรียนรู้ทักษะเหล่านี้จะทำผ่านโครงงาน ลดการเรียนแบบบรรยายในห้องเรียน เปลี่ยนเป็นการเรียนผ่าน Issue Base และ Problem Base เพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งที่นักศึกษาจะได้รับกลับไป ดร.ดาริกาอธิบายว่า

“คือการทำธุรกิจนั่นเอง เรื่อง Entrepreneur กลิ่นอายของสตาร์ตอัพก็จะใส่เข้าไป เราก็พยายามใส่ mind set ที่เป็นสตาร์ตอัพ scale fast ใช้เงินทุนน้อยที่สุด มองโอกาส กลิ่นอายพวกนี้ก็จะใส่ลงไปในโครงงานที่นักศึกษาทำ ในหลักสูตร DPU Core จะเรียนปี 1-2 ตลอด 2 ปีนักศึกษาจะทำโปรเจกต์เยอะมาก อย่างน้อยออกมาต้องมี 7-10 โปรเจกต์ ดังนั้นทักษะในการเริ่มโปรเจกต์ วางโปรเจกต์และจบงานเขาต้องทำให้ได้ในหลักสูตร และมาจบที่ปีที่ 3 ที่เรียน Capstone เป็นโปรเจกต์ใหญ่ เขาจะเริ่มคิดถึงการทำธุรกิจจริง ถ้าคนที่ไม่ต้องการทำโปรเจกต์ Capstone ที่เป็นการทำธุรกิจก็อาจสร้างโมเดลอะไรขึ้นมาหรือกระบวนการอะไรที่ตอบโจทย์ปัญหาจริงในสังคม โจทย์เหล่านี้เราพยายามเอามาจากภายนอกไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม ชุมชน และ Capstone จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักศึกษาต่างคณะ คือจำลองสถานการณ์จริงว่าเขาเข้าไปทำงานในโลกความจริงนักบัญชีจะไม่ได้อยู่แค่กับนักบัญชี คนเหล่านี้ต่างความคิด คุณต้องทำงานเป็นทีมให้ได้

ดังนั้น DPU Core จะจบด้วย ปีที่ 3 เพราะฉะนั้น ก็เป็นแนวทางที่เราพัฒนาหลักสูตรตามวิสัยทัศน์ New Business DNA ของเรา”

พร้อมกันกับการสื่อสารเรื่อง New Business DNA มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ก็พัฒนาระบบนิเวศของมหาวิทยาลัยเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการภายนอกได้ โดยจัดตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า DPU X เพื่อรองรับทั้งนักศึกษาของสถาบันและการจัดฝึกอบรมทักษะแรงงานสำหรับอนาคตไปพร้อมกัน

นักศึกษาปี 1 ที่เข้ามาเรียนที่ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ประจำปีการศึกษา 2560 คือกลุ่มแรกที่ได้เริ่มทดลองเรียนรู้ผ่าน DPU Core ซึ่งผลที่ผ่านมา ดร.ดาริกามองว่า ผู้เรียนชอบมากกว่า แม้งานจะมากขึ้น แต่โดยธรรมชาติของการเรียนรู้ของเด็กจะเรียนรู้ผ่านการเล่น การปฏิบัติ ทำให้เริ่มมองเห็นผลงานของนักศึกษาที่ผ่านการเรียนรู้รูปแบบใหม่นี้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ดร.ดาริกาบอกว่า DPU Core ยังเป็นเพียงต้นแบบ 1.0 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จึงจัดตั้งทีมงานเพื่อพัฒนาโปรแกรมนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป

โดยผลจากการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่อธิการบดีมองหาคือการเห็นแววของผู้เรียนว่ามีทักษะในด้านใดเป็นพิเศษ เพื่อดึงคนที่มีศักยภาพขึ้นมาโดยมีหน่วยงาน DPU X ช่วยคัดกรองและเชื่อมโยงนักศึกษากลุ่มนี้กับภาคอุตสาหกรรม

เบื้องหลังความสำเร็จ

การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสถาบันการศึกษาด้วยอัตราเร่งที่รวดเร็วเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้พลังความร่วมมือร่วมใจในสถาบันในการร่วมผลักดันความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

ดร.ดาริกาบอกว่า ต้องใช้ทั้งการ Push และ Pull เพื่อให้เกิดสิ่งที่ต้องการเห็นเร็วที่สุด แม้ในช่วงเริ่มต้นจะมีแรงต้านออกมาอยู่บ้าง แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เช่นการที่กระทรวงศึกษาธิการ มีแนวนโยบายเรื่องหลักสูตรพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับที่ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เตรียมทำอยู่ จึงเกิดการยอมรับโดยปริยาย ขณะเดียวกันในฐานะผู้บริหารองค์กร ก็ต้องสร้างระบบสนับสนุนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

“ก็พยายามบอกกับบุคลากรตลอดว่า เราเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ที่สำคัญที่สุดไม่ใช่อาจารย์อย่างเดียว ส่วนสนับสนุนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนเลย เมื่อก่อนอาจจะมองว่า บุคลากรสายสนับสนุนมีความสำคัญน้อยกว่าอาจารย์แต่ไม่จริงเลย ถ้าเขาไม่ทำงานให้อาจารย์เห็นของ อาจารย์เปลี่ยนไม่ได้หรอก”
การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ดร.ดาริกามองว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งคือการทำให้ภาพใหญ่มีการเดินหน้าไปค่อนข้างมาก แม้จะยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำต่อไป

ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ทำให้การขับเคลื่อนครั้งนี้เดินหน้าได้ในระดับที่เธอพึงพอใจ ดร.ดาริกาบอกว่า ทีมบริหารที่คิดและเดินไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องผ่านกมาทำงานอย่างใกล้ชิดกว่าครึ่งปี

“การตกผลึกไม่ได้ออกมาภายในอาทิตย์สองอาทิตย์ เกิดจากการคุยไปเรื่อยๆ เหมือนเคี่ยวของ มันหนืดขึ้นเรื่อยๆ จนถึงที่ ปีที่ผ่านมาคิดว่าตกผลึกแล้ว ทำแผนแล้วยังต้องปรับต้องจูนกันเยอะ ก็ใช้เวลาค่อนข้างเยอะ แต่พอเขาเข้าใจภาพแล้วเดินง่ายแล้ว”

การสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการนำการเปลี่ยนแปลง โดย ดร.ดาริกาจัดกิจกรรมสื่อสารกับบุคลากรทุกคนในองค์กรเพื่อให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นและสร้างความพร้อมใจในการเดินหน้าไปตามทิศทางที่วางเอาไว้ นั่นคือการผลิตบัณฑิตผู้ที่ใส่ใจว่าผลงานของตนเองจะสามารถให้ประโยชน์กับสังคมหรือรู้ว่าตัวเองสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไรบ้าง เพื่อที่จะอยู่ได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เรื่องดีๆ ที่เริ่มเกิดขึ้น

การเดินหน้าเปลี่ยนแปลงที่เริ่มลงมือมาระยะหนึ่งทำให้ดร.ดาริกา มีเรื่องเล่าประทับใจเกี่ยวกับผลของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อยู่หลายเรื่อง

เรื่องแรก มีการทดลองให้นักศึกษาปี 1 ที่ได้เรียนหลักสูตร DPU Core และนักศึกษาปี 2 ที่ไม่ได้ผ่านการเรียนรู้รูปแบบใหม่มาแก้ไขปัญหา เพื่อดูว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาก็มีความแตกต่างกัน รวมถึงการเดินดูตามห้องเรียนวิชา DPU Core แล้วสังเกตเห็นว่านักศึกษามีความสนุกสนานกับการเรียนรู้ ทำให้เธอคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว

อีกเรื่องหนึ่ง มีนักศึกษารายหนึ่งเขียนจดหมายมาถึงอธิการบดี “เขาเขียนมาบอกว่าอาจารย์ขอบคุณมากเลย เขาเรียนโปรเจกต์แบบนี้ เขาก็เอาเรื่องของเขามาทำ เขาพัฒนา chat bot เพื่อที่จะขายของออนไลน์ช่วยแม่เขา ซึ่งเขาบอกว่าเขาได้ไปเต็มๆ เลย ปรับใช้กับสิ่งที่ครอบครัวเขาทำ เห็นอะไรแบบนี้ เขาได้ช่วยเหลือที่บ้าน ก็เป็นความสุขของเรา เล็กๆ น้อยๆ อะไรที่คุณได้เอากลับไปช่วยที่บ้านหรือชุมชนได้เลย”

“เราคิดว่าผู้บริหารทุกคนอยากเห็นภาพนั้น เราทำให้กับพ่อแม่ของเขา คือเวลา เราเห็นพ่อแม่มาส่งเด็ก หรือวันรับปริญญา เราเห็นเลยว่า เขาฝากความหวังทั้งชีวิตกับครอบครัวไว้กับลูกเขา คือเราจะทำชุ่ยๆ หรือ? ไม่ใช่ คือทุกครั้งที่รับปริญญาออกไปเดินดู เป็นแรงบันดาลใจที่เห็นพ่อแม่ที่มา ก็เหมือนพ่อแม่เรา ที่รออยู่หน้ามหาวิทยาลัยอยากเห็นเราแต่งชุดครุย เป็นความสำเร็จของชีวิตพ่อแม่ และเรารู้ว่าแนวทางนี้ใช่ จะไปกั๊กทำไม ถ้าเรามีลูกอยากเลี้ยงลูกแบบนี้ เราเชื่อแบบนั้น เราเลือกโรงเรียนให้ลูก เราเลือกแบบนั้น”

สังคมในอุดมคติ

ดร.ดาริกาบอกว่า “อยากให้คนมีจิตสำนึกเรื่องหน้าที่พลเมือง ต้องปลูกฝังให้ทุกคนมองหน้าที่พลเมืองและประเทศชาติเป็นหลัก ความคิดแตกต่างกันมีได้ แต่ถ้าเราปลูกฝังแต่เด็กว่าเราไม่ได้เกิดมาอยู่ในลูกโป่งใสๆ แต่เราอยู่กับทุกคน ดังนั้นประเทศชาติจะดีขึ้นเพราะเราอยู่กับทุกคน ทุกคนมีหน้าที่ของพลเมืองมีเป้าหมายเดียวกัน

สอง ความเหลื่อมล้ำของสังคม อยากเห็นน้อยๆ ในอุดมคติเป็นอย่างนั้น ความเหลื่อมล้ำแบบกลุ่มผู้นำไปทาง พวกที่ทำอะไรไม่ได้อยู่ห่างๆ ก็ไม่รู้มีทางแก้อย่างไร อยากเห็นกลุ่มคนชั้นกลางใหญ่ๆ ทีนี้จะเป็นสังคมที่บริหารจัดการได้ง่าย เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคนข้างล่าง ซึ่งตอนนี้เปิดมากขึ้น เด็กที่ไม่เคยมีโอกาสก็มีโอกาสขึ้นมา ผ่านอินเทอร์เน็ต ค้าขายทำมาหากินได้ รู้ว่าทรัมป์คือใคร คนอยู่ปลายนาตอนนี้ก็สามารถให้ความคิดเห็นได้แล้วว่า ชอบหรือไม่ชอบนโยบายทรัมป์ คงในเร็ววันนี้คนสองกลุ่มจะบีบเข้ามาด้วยเทคโนโลยีต่างๆ”

X

Right Click

No right click