October 14, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 813

การเป็นผู้บริหารสถาบันการศึกษาในยุคดิจิทัลและ Aging Society ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบต่อสถาบันการศึกษาในแทบทุกระดับ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้บริหารที่เป็นทายาทของผู้ก่อตั้งสถาบัน เข้ามารับตำแหน่งในช่วงเวลาที่สถาบันการศึกษากำลังต้องการการเปลี่ยนแปลง และเธอก็วางแผนพลิกธุรกิจบัณฑิตย์ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่จะผลิตบุคลากรเพื่อรองรับอนาคต

จากประสบการณ์การทำงานที่ธุรกิจบัณฑิตย์มากว่า 20 ปี ดร.ดาริกาไม่ใช่คนแปลกหน้าของที่นี่ ทั้งยังได้ร่วมงานใกล้ชิดกับอธิการบดีที่ผ่านมาทั้ง 3 ท่าน ทำให้เห็นแนวโน้มทิศทางการศึกษาระดับอุดมศึกษา และสามารถวางแผนงานสำหรับการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้เป็นสถานที่ผลิตบุคลากรให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืนในอนาคตได้ตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่ง

ดร.ดาริกามองโจทย์ในตอนเข้ารับตำแหน่งว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ความเป็นอยู่ของผู้คน การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ที่ทำให้ผู้บริหารสถาบันการศึกษาต้องขยับตัวเพื่อผลิตกำลังแรงงานสำหรับอนาคตให้กับประเทศ

New Business DNA

ทั่วทั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จะเห็นคำว่า New Business DNA กระจายอยู่ทั่วไป เป็นกลุ่มคำที่อธิการบดีใช้สื่อสารวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยกับอาจารย์บุคลากรรวมถึงนักศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยให้รับทราบว่า ธุรกิจบัณฑิตย์จะเป็นสถาบันหลักในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ธุรกิจยุคใหม่ และบูรณาการประชาคมอาเซียนและจีน ตามวิสัยทัศน์ของสถาบัน

ดร.ดาริกา เล่าว่าเห็นตัวอย่างจากรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จในการทำให้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้รับการยอมรับในทุกภาคส่วน ด้วยการทำแคมเปญอย่างต่อเนื่องจนทุกฝ่ายยอมรับทิศทางดังกล่าว ซึ่งช่วยทำให้ทุกภาคส่วนเข้าใจและเดินไปในทิศทางเดียวกัน
เมื่อต้องมาขับเคลื่อน New Business DNA เธอจึงคิดทำแคมเปญที่ค่อนข้างใหญ่เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ทุกภาคส่วนเดินไปในทิศทางเดียวกัน

การจะพัฒนาคนให้มี New Business DNA ของม.ธุรกิจบัณฑิตย์เริ่มจากการปรับหลักสูตรตามแนวคิดหลักสูตรพันธุ์ใหม่ ที่กำหนดชื่อว่า DPU Core ให้นักศึกษาได้เรียนควบคู่กับสาขาที่เลือก โดยจะเน้นทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตให้กับนักศึกษา อาทิ ทักษะการเป็น
ผู้ประกอบการ ทักษะด้านการคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรม ทักษะด้านการแก้ไขปัญหา ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และทักษะด้านการสื่อสาร

ดร.ดาริกาอธิบายว่าไม่ว่านักศึกษาของสถาบันจะจบจากสาขาวิชาใด การมีคุณลักษณะเบื้องต้นจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวผู้เรียน แม้จะเรียนจบไปทำงานเป็นพนักงานบริษัทหากมีจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการในตัวเอง ก็จะคิดเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัท มองที่วัตถุประสงค์ขององค์กร มองหาโอกาสและเห็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการทำให้ดีขึ้นตลอดเวลา

โดยรูปแบบการเรียนรู้ทักษะเหล่านี้จะทำผ่านโครงงาน ลดการเรียนแบบบรรยายในห้องเรียน เปลี่ยนเป็นการเรียนผ่าน Issue Base และ Problem Base เพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งที่นักศึกษาจะได้รับกลับไป ดร.ดาริกาอธิบายว่า

“คือการทำธุรกิจนั่นเอง เรื่อง Entrepreneur กลิ่นอายของสตาร์ตอัพก็จะใส่เข้าไป เราก็พยายามใส่ mind set ที่เป็นสตาร์ตอัพ scale fast ใช้เงินทุนน้อยที่สุด มองโอกาส กลิ่นอายพวกนี้ก็จะใส่ลงไปในโครงงานที่นักศึกษาทำ ในหลักสูตร DPU Core จะเรียนปี 1-2 ตลอด 2 ปีนักศึกษาจะทำโปรเจกต์เยอะมาก อย่างน้อยออกมาต้องมี 7-10 โปรเจกต์ ดังนั้นทักษะในการเริ่มโปรเจกต์ วางโปรเจกต์และจบงานเขาต้องทำให้ได้ในหลักสูตร และมาจบที่ปีที่ 3 ที่เรียน Capstone เป็นโปรเจกต์ใหญ่ เขาจะเริ่มคิดถึงการทำธุรกิจจริง ถ้าคนที่ไม่ต้องการทำโปรเจกต์ Capstone ที่เป็นการทำธุรกิจก็อาจสร้างโมเดลอะไรขึ้นมาหรือกระบวนการอะไรที่ตอบโจทย์ปัญหาจริงในสังคม โจทย์เหล่านี้เราพยายามเอามาจากภายนอกไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม ชุมชน และ Capstone จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักศึกษาต่างคณะ คือจำลองสถานการณ์จริงว่าเขาเข้าไปทำงานในโลกความจริงนักบัญชีจะไม่ได้อยู่แค่กับนักบัญชี คนเหล่านี้ต่างความคิด คุณต้องทำงานเป็นทีมให้ได้

ดังนั้น DPU Core จะจบด้วย ปีที่ 3 เพราะฉะนั้น ก็เป็นแนวทางที่เราพัฒนาหลักสูตรตามวิสัยทัศน์ New Business DNA ของเรา”

พร้อมกันกับการสื่อสารเรื่อง New Business DNA มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ก็พัฒนาระบบนิเวศของมหาวิทยาลัยเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการภายนอกได้ โดยจัดตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า DPU X เพื่อรองรับทั้งนักศึกษาของสถาบันและการจัดฝึกอบรมทักษะแรงงานสำหรับอนาคตไปพร้อมกัน

นักศึกษาปี 1 ที่เข้ามาเรียนที่ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ประจำปีการศึกษา 2560 คือกลุ่มแรกที่ได้เริ่มทดลองเรียนรู้ผ่าน DPU Core ซึ่งผลที่ผ่านมา ดร.ดาริกามองว่า ผู้เรียนชอบมากกว่า แม้งานจะมากขึ้น แต่โดยธรรมชาติของการเรียนรู้ของเด็กจะเรียนรู้ผ่านการเล่น การปฏิบัติ ทำให้เริ่มมองเห็นผลงานของนักศึกษาที่ผ่านการเรียนรู้รูปแบบใหม่นี้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ดร.ดาริกาบอกว่า DPU Core ยังเป็นเพียงต้นแบบ 1.0 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จึงจัดตั้งทีมงานเพื่อพัฒนาโปรแกรมนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป

โดยผลจากการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่อธิการบดีมองหาคือการเห็นแววของผู้เรียนว่ามีทักษะในด้านใดเป็นพิเศษ เพื่อดึงคนที่มีศักยภาพขึ้นมาโดยมีหน่วยงาน DPU X ช่วยคัดกรองและเชื่อมโยงนักศึกษากลุ่มนี้กับภาคอุตสาหกรรม

เบื้องหลังความสำเร็จ

การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสถาบันการศึกษาด้วยอัตราเร่งที่รวดเร็วเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้พลังความร่วมมือร่วมใจในสถาบันในการร่วมผลักดันความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

ดร.ดาริกาบอกว่า ต้องใช้ทั้งการ Push และ Pull เพื่อให้เกิดสิ่งที่ต้องการเห็นเร็วที่สุด แม้ในช่วงเริ่มต้นจะมีแรงต้านออกมาอยู่บ้าง แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เช่นการที่กระทรวงศึกษาธิการ มีแนวนโยบายเรื่องหลักสูตรพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับที่ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เตรียมทำอยู่ จึงเกิดการยอมรับโดยปริยาย ขณะเดียวกันในฐานะผู้บริหารองค์กร ก็ต้องสร้างระบบสนับสนุนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

“ก็พยายามบอกกับบุคลากรตลอดว่า เราเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ที่สำคัญที่สุดไม่ใช่อาจารย์อย่างเดียว ส่วนสนับสนุนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนเลย เมื่อก่อนอาจจะมองว่า บุคลากรสายสนับสนุนมีความสำคัญน้อยกว่าอาจารย์แต่ไม่จริงเลย ถ้าเขาไม่ทำงานให้อาจารย์เห็นของ อาจารย์เปลี่ยนไม่ได้หรอก”
การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ดร.ดาริกามองว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งคือการทำให้ภาพใหญ่มีการเดินหน้าไปค่อนข้างมาก แม้จะยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำต่อไป

ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ทำให้การขับเคลื่อนครั้งนี้เดินหน้าได้ในระดับที่เธอพึงพอใจ ดร.ดาริกาบอกว่า ทีมบริหารที่คิดและเดินไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องผ่านกมาทำงานอย่างใกล้ชิดกว่าครึ่งปี

“การตกผลึกไม่ได้ออกมาภายในอาทิตย์สองอาทิตย์ เกิดจากการคุยไปเรื่อยๆ เหมือนเคี่ยวของ มันหนืดขึ้นเรื่อยๆ จนถึงที่ ปีที่ผ่านมาคิดว่าตกผลึกแล้ว ทำแผนแล้วยังต้องปรับต้องจูนกันเยอะ ก็ใช้เวลาค่อนข้างเยอะ แต่พอเขาเข้าใจภาพแล้วเดินง่ายแล้ว”

การสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการนำการเปลี่ยนแปลง โดย ดร.ดาริกาจัดกิจกรรมสื่อสารกับบุคลากรทุกคนในองค์กรเพื่อให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นและสร้างความพร้อมใจในการเดินหน้าไปตามทิศทางที่วางเอาไว้ นั่นคือการผลิตบัณฑิตผู้ที่ใส่ใจว่าผลงานของตนเองจะสามารถให้ประโยชน์กับสังคมหรือรู้ว่าตัวเองสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไรบ้าง เพื่อที่จะอยู่ได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เรื่องดีๆ ที่เริ่มเกิดขึ้น

การเดินหน้าเปลี่ยนแปลงที่เริ่มลงมือมาระยะหนึ่งทำให้ดร.ดาริกา มีเรื่องเล่าประทับใจเกี่ยวกับผลของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อยู่หลายเรื่อง

เรื่องแรก มีการทดลองให้นักศึกษาปี 1 ที่ได้เรียนหลักสูตร DPU Core และนักศึกษาปี 2 ที่ไม่ได้ผ่านการเรียนรู้รูปแบบใหม่มาแก้ไขปัญหา เพื่อดูว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาก็มีความแตกต่างกัน รวมถึงการเดินดูตามห้องเรียนวิชา DPU Core แล้วสังเกตเห็นว่านักศึกษามีความสนุกสนานกับการเรียนรู้ ทำให้เธอคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว

อีกเรื่องหนึ่ง มีนักศึกษารายหนึ่งเขียนจดหมายมาถึงอธิการบดี “เขาเขียนมาบอกว่าอาจารย์ขอบคุณมากเลย เขาเรียนโปรเจกต์แบบนี้ เขาก็เอาเรื่องของเขามาทำ เขาพัฒนา chat bot เพื่อที่จะขายของออนไลน์ช่วยแม่เขา ซึ่งเขาบอกว่าเขาได้ไปเต็มๆ เลย ปรับใช้กับสิ่งที่ครอบครัวเขาทำ เห็นอะไรแบบนี้ เขาได้ช่วยเหลือที่บ้าน ก็เป็นความสุขของเรา เล็กๆ น้อยๆ อะไรที่คุณได้เอากลับไปช่วยที่บ้านหรือชุมชนได้เลย”

“เราคิดว่าผู้บริหารทุกคนอยากเห็นภาพนั้น เราทำให้กับพ่อแม่ของเขา คือเวลา เราเห็นพ่อแม่มาส่งเด็ก หรือวันรับปริญญา เราเห็นเลยว่า เขาฝากความหวังทั้งชีวิตกับครอบครัวไว้กับลูกเขา คือเราจะทำชุ่ยๆ หรือ? ไม่ใช่ คือทุกครั้งที่รับปริญญาออกไปเดินดู เป็นแรงบันดาลใจที่เห็นพ่อแม่ที่มา ก็เหมือนพ่อแม่เรา ที่รออยู่หน้ามหาวิทยาลัยอยากเห็นเราแต่งชุดครุย เป็นความสำเร็จของชีวิตพ่อแม่ และเรารู้ว่าแนวทางนี้ใช่ จะไปกั๊กทำไม ถ้าเรามีลูกอยากเลี้ยงลูกแบบนี้ เราเชื่อแบบนั้น เราเลือกโรงเรียนให้ลูก เราเลือกแบบนั้น”

สังคมในอุดมคติ

ดร.ดาริกาบอกว่า “อยากให้คนมีจิตสำนึกเรื่องหน้าที่พลเมือง ต้องปลูกฝังให้ทุกคนมองหน้าที่พลเมืองและประเทศชาติเป็นหลัก ความคิดแตกต่างกันมีได้ แต่ถ้าเราปลูกฝังแต่เด็กว่าเราไม่ได้เกิดมาอยู่ในลูกโป่งใสๆ แต่เราอยู่กับทุกคน ดังนั้นประเทศชาติจะดีขึ้นเพราะเราอยู่กับทุกคน ทุกคนมีหน้าที่ของพลเมืองมีเป้าหมายเดียวกัน

สอง ความเหลื่อมล้ำของสังคม อยากเห็นน้อยๆ ในอุดมคติเป็นอย่างนั้น ความเหลื่อมล้ำแบบกลุ่มผู้นำไปทาง พวกที่ทำอะไรไม่ได้อยู่ห่างๆ ก็ไม่รู้มีทางแก้อย่างไร อยากเห็นกลุ่มคนชั้นกลางใหญ่ๆ ทีนี้จะเป็นสังคมที่บริหารจัดการได้ง่าย เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคนข้างล่าง ซึ่งตอนนี้เปิดมากขึ้น เด็กที่ไม่เคยมีโอกาสก็มีโอกาสขึ้นมา ผ่านอินเทอร์เน็ต ค้าขายทำมาหากินได้ รู้ว่าทรัมป์คือใคร คนอยู่ปลายนาตอนนี้ก็สามารถให้ความคิดเห็นได้แล้วว่า ชอบหรือไม่ชอบนโยบายทรัมป์ คงในเร็ววันนี้คนสองกลุ่มจะบีบเข้ามาด้วยเทคโนโลยีต่างๆ”

ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA : COLLEGE OF INNOVATIVE BUSINESS AND ACCOUNTANCY) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยถึง หลักสูตรใหม่ของมหาวิทยาลัย ที่เรียกว่าเป็นการสร้าง “นักรบพันธุ์ดิจิทัลด้วยหลักสูตรพันธุ์ใหม่” เพื่อรองรับโลกปัจจุบันและอนาคต

จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ Gig Economy ที่คนใน Generation Y, Generation Z ไม่มีเพียงอาชีพเดียวอีกต่อไป เห็นได้จากแนวโน้มธุรกิจต่างๆ เริ่มมีการลดขนาดลงเป็นจำนวนมาก (Downsizing) เพราะเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่คนในบางส่วนงาน และนี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่ม ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ซึ่งในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะเกิดความล้ำสมัยที่เกินคาดกว่านี้อีกมาก งานอาชีพอีกหลายงานจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอย่างไม่มีข้อสงสัย

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จึงต้องกลับมามองว่า วันนี้เราไม่ได้เปิดการเรียนการสอนเพื่อสร้างนักศึกษาขึ้นมาป้อนบุคลากรให้บริษัทเอกชนเหมือนเดิมอีกต่อไป เด็กที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จะต้องมีความรู้และอาชีพที่เป็นได้มากกว่าหนึ่งอย่าง ไม่ใช่จบบัญชีรู้แต่เพียงเรื่องบัญชี เด็กจบบัญชีอาจจะรู้บัญชี และสุขภาพความงามเพื่อไปทำธุรกิจของตนเองได้ หรืออาจจะเป็นเรื่องการตลาดหรือการ Coding Program เพื่องานรับจ้างเพิ่มเติมในช่วงพาร์ทไทม์ได้อีกด้วย ไม่ใช่รู้ในเพียงศาสตร์เดียว

นักศึกษาต้องถูก Re-Skill ให้มีทักษะในหลายๆ ด้านรวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีใหม่อย่างต่อเนื่อง จะไม่เหมือนศาสตร์เดิมๆ เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว จึงต้องมีการปรับหลักสูตรในทุกปี เพราะเมื่อดิจิทัลทำให้บิสิเนสโมเดลเปลี่ยน เราจึงต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น เพื่อผลิตคนออกไปให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจ

เปิดมาร์เก็ตเพลสสำหรับปั้นผู้ประกอบการ

แน่นอนว่าจากที่กระแสโลกเปลี่ยนไปนั้น จึงเป็นที่มาของ DPU-X หรือ Innovation Hub และ Entrepreneurial Hub ซึ่งเป็นศูนย์สร้างผู้ประกอบการ ที่มีดร.พณชิต กิตติปัญญางาม เป็นผู้อำนวยการ โดยเราวางคอนเซปต์ให้เป็นมาร์เก็ตเพลสสำหรับสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอี และดีมานด์กับซัพพลายต้องมาเจอกันที่เรา ไม่ใช่สร้างแต่เพียงซัพพลายอย่างเดียว ต้องสร้างการจับคู่กันให้ได้

ทั้งนี้ DPU-X จะมีวัตถุประสงค์หลัก ในการช่วยเหลือสนับสนุนคน 2 กลุ่ม คือ 1. สร้างนักศึกษาของมหาวิทยาลัยให้เป็นผู้ประกอบการ คนรุ่นใหม่ที่อยากทำโปรเจกต์ ดำเนินธุรกิจของตนเอง เราจะหล่อหลอมให้มีความรู้ความสามารถทำธุรกิจได้ตั้งแต่ตอนเรียน 2. การช่วยเหลือบุคคลภายนอก ที่อยากเป็นผู้ประกอบการ โดยจะนำโปรเจกต์ที่เพิ่งเกิดขึ้น (Incubate) หรือโปรเจกต์ที่มีแนวโน้มจะไปต่อได้ (Accelerate) แต่ยังขาดปัจจัยอื่น เช่น เงินทุน นำมาบ่มเพาะและต่อยอด โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือคำแนะนำ เพื่อเข้าสู่ในกระบวนการหาเงินทุน รวมถึงหาที่ปรึกษา (Mentor) ของสายธุรกิจนั้นมาช่วยเหลือ เพื่อให้โปรเจกต์สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างแท้จริง

ปรับหลักสูตรเน้น Experience Center

ดร.พัทธนันท์ ย้ำว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21 นี้ ไม่ได้เป็นเพียงที่ให้การเรียนการสอน เพื่อให้ Knowledge เท่านั้น แต่จะต้องเป็นสถานที่ให้ Experience เพราะ Knowledge วันนี้หาได้จากอินเทอร์เน็ต แต่ Experience จะมีได้จากปฏิสัมพันธ์จริง (Face to Face interaction) ระหว่างเพื่อนนักเรียนและอาจารย์ผู้สอน จากการคบหา พูดคุย การถกเถียง การมีกิจกรรมร่วมกันซึ่งออนไลน์ไม่สามารถมาทดแทนได้ทั้งหมด

ดังนั้นการหล่อหลอมนักศึกษาที่เข้ามาเรียนเป็นเวลา 4 ปีนั้น ต้องไม่ใช่การเรียนการสอนในแบบเดิม เพราะเมื่อจบการศึกษาไปแล้วอาจจะนำไปใช้ไม่ได้ในการทำงานจริง

วันนี้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เริ่มปรับการเรียนการสอนเป็นแบบ Module จากในอดีตการเรียนในแต่ละวิชาจะแยกออกจากกัน เราจึงได้มีการปรับวิธีการ เช่น ทั้งหมวดวิชามี 12 หัวข้อแต่เรานำวิชาที่เกี่ยวข้องมาเพียง 5 ข้อและอีก 5 ข้อเป็นการนำวิชาอื่นๆ มารวมด้วย เรียกว่าเป็นการคละวิชา เมื่อนำวิชามาคละกันแล้วจะพัฒนาขึ้นเป็น Module การเรียนแบบนี้จะเป็นการหล่อหลอมให้เกิดการคิดครบวงจร ไม่เหมือนอดีตที่เรียนการตลาด หรือการเงิน การพัฒนาโปรเจกต์ใดขึ้นมาในวันนี้ จำเป็นจะต้องรู้การตลาดเฉพาะบางเรื่อง และการเงินเฉพาะบางเรื่อง ไม่ต้องรู้ทุกเรื่อง

การศึกษาของนักเรียนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จึงมีการปรับเปลี่ยนไป โดยทุกวิชาเป็นลักษณะของโปรเจกต์ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีประสบการณ์ และ DPUX จะเข้าไปพัฒนาตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ซึ่งได้มีการปูพื้นฐาน Stem University Core ตั้งแต่ปี 1-2 ซึ่งประกอบด้วยทั้ง Design, Technology, Engineering และ Mathematic เป็นการเรียนแบบวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Apply Science) ทดลองทำจริง ไม่ใช่การท่องจำ

รวมถึงการเรียน AR และ Chat Bot โปรแกรมมิ่ง การบังคับโดรน บังคับโรบอต การเขียนภาษาสวิพ (Swift) รูบี (Ruby) เป็นวิชาพื้นฐานของนักศึกษาปีที่ 1 ในทุกคณะวิชา ทั้งสายวิทยาศาสตร์ และสายศิลปศาสตร์ เป็นการปรับใหม่ทั้งหลักสูตรที่ยังไม่มีมหาวิทยาลัยอื่นทำ

ซึ่งอาจจะมีการตั้งคำถามว่า นักศึกษาที่เรียนต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์หรือไม่ คำตอบคือ ไม่มีความจำเป็น เพราะเราสอนในสิ่งที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นความพยายามทำให้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นเรื่องง่าย เพื่อสร้าง “นักรบพันธุ์ดิจิทัลด้วยหลักสูตรพันธุ์ใหม่”

ขอย้ำว่านักศึกษาที่จบการศึกษาจากที่นี่ นอกจากรู้ในศาสตร์สำคัญของตนเอง เช่นรู้ในสายวิศวะ หรือรู้ไอที รู้เทคโนโลยีตั้งแต่ IoT การใช้โดรนแล้วนั้น ยังต้องรู้ Business เพราะเราเป็นธุรกิจบัณฑิตย์ การเรียนรู้เทคโนโลยีนั้น ต้องนำมาใช้ได้ เพราะการทำธุรกิจเองจะต้องเข้าใจ และนำไปใช้เป็น

ถัดมาในปีการศึกษาที่ 3 จะเป็นการเรียนในวิชาที่เรียกว่า Capstone Project คือ การรวมกลุ่มข้ามคณะ เพื่อพัฒนาบิสิเนสโปรเจกต์ในลักษณะการแก้ปัญหาหน่วยงานรัฐและเอกชนตามโจทย์ที่ให้มา และมหาวิทยาลัยจะ Assign Mentor มาให้เพื่อช่วยแนะนำตามคอนเซปต์ของ Design Thinking ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ตั้งแต่การนำเสนอไอเดียแก้ปัญหา นำมาพิชชิ่งหากผ่านคณะกรรมการ จะได้เงินทุนตั้งต้น (Seed Money) ไปทำตัวทดลองต้นแบบ (Prototype) ต่อในเทอมที่ 2 เมื่อมีเงินเริ่มต้นในการพัฒนา Prototype ช่วงที่ 2 จะเป็น VC พิชชิ่ง (Venture Capital) เพื่อหาคนมาร่วมลงทุน และสำหรับนักศึกษาที่มีแนวโน้มจะไปต่อในทางธุรกิจ จะมีทุนของมหาวิทยาลัยลงเป็น VC ให้อีกด้วย ซึ่งมหาวิทยาลัยมีแผนว่าใน 1 ปีจะสามารถพัฒนาโครงการลักษณะนี้ได้ถึงประมาณ 20 โครงการ โดยมุ่งเน้นที่ 3 ด้านหลักๆ คือ Wellness, Way of Living (Personal Living) และ Technology & Innovation

ดังนั้นโปรเจกต์ที่เดินหน้าสนับสนุน จะตอบสนอง 3 ด้านนี้ สาย Wellness นั้นกว้างมาก เพราะประกอบด้วย Body, Mind & Seoul เรียกได้ว่าสปา, Health หรือผู้สูงวัยก็เป็นหนึ่งใน Wellness ซึ่งหัวข้อเหล่านี้เด็กมีความคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ออกมาได้อย่างน่าสนใจมาก หน้าที่ของมหาวิทยาลัยคือ การเปลี่ยน Imagination เป็น Innovation ให้ตอบสนองความต้องการของสังคมได้ เราจึงพัฒนาหลักสูตรใหม่และก่อตั้ง DPU-X ขึ้นมา

ปัจจุบันได้มีการนำร่องนักศึกษากลุ่มนี้ขึ้นมาแล้ว ซึ่งทั้งหมดนั้นมีไอเดีย เพียงแต่ขาดคนนำจึงต้องสนับสนุนเพิ่มเติม ตั้งแต่ชี้ชัดกลุ่มเป้าหมาย รายได้ ไปจนถึงการช่วยเหลือเงินทุน ซึ่ง DPU-X สนับสนุนทุกคณะวิชา และเปิดรับบุคคลภายนอกด้วย

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กำลังสร้างมนุษย์พันธุ์ดิจิตอล ที่ไม่แค่เพียงรู้เทคโนโลยี แต่ต้องสามารถนำมาใช้ได้ เพราะลองคิดดูว่าในอนาคตไม่เกิน 10 ปี แม้แต่อุปกรณ์ในบ้านก็ต้องผ่านการ Coding ง่ายๆ ของเราเอง เพื่อให้ตอบสนองการทำงานที่เราต้องการ จึงต้องเร่งในการพัฒนาคนให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง”

Page 3 of 3
X

Right Click

No right click