กล่าวได้ว่าตลอดปี 2562 เป็น ความเคลื่อนไหวใหญ่ หรือ Big Moves ก็ว่าได้ สำหรับคณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หรือ FAM (Faculty Administration and Management) ภายใต้การนำการขับเคลื่อนของคณบดี ผศ.ดร.สุดาพร สาวม่วง ที่มีความมุ่งหมายในการที่จะนำพาคณะฯ และทีมงาน ก้าวให้ทันโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนใหญ่ไม่เพียงเน้นย้ำความสำคัญในส่วนของนักศึกษาหรืองานวิชาการเพียงเท่านั้น แต่มีการขยับทั้งโครงการด้านการศึกษาและงานส่งเสริมพัฒนาความรู้ให้กับทั้งภาคสังคม ธุรกิจ อุตสาหกรรม ไปจนถึงศิษย์เก่าและประชาชนทั่วไปอย่างครบถ้วนทุกมิติ ผศ.ดร. สุดาพร ได้เปิดเผย กับนิตยสาร MBAถึงความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาและที่กำลังจะเป็นการขยับใหญ่ในปี 2563

พร้อมรับผู้เรียน ทั้งนอก-ใน

เมื่อเริ่มเข้าสู่ปี 2563 ทาง FAM มีความคืบหน้าในด้านการจัดการด้านการศึกษาหลายๆ เรื่อง ในส่วนของภาคผู้เรียนทาง FAM แบ่งเป้าหมายการทำงานเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรกคือภาคหลักสูตรนานาชาติ ทาง FAM ได้เปิดความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศคือ Shandong Technology and Business University ประเทศจีนเพื่อที่จะจัดหลักสูตรอินเตอร์สำหรับรองรับนักศึกษาจากประเทศจีน โดยแผนงานยังครอบคลุมไปยังกลุ่มนักศึกษาจากแถบยุโรปและประเทศในอาเซียน เป็นลักษณะที่นักศึกษาเข้ามาเรียนกับทาง FAM โดยตรงแล้วก็ Transfer Credit Bank ซึ่งส่วนงานของหลักสูตรนานาชาติ นอกเหนือไปจากเรื่องการจัดวางหลักสูตร ทางคณะต้องเตรียมความพร้อมด้านวิชาการเพื่อพร้อมรับผู้เรียนทั้งในเรื่องการปรับพื้นฐานนักศึกษาก่อนเข้าสู่ระบบการเรียนของเรา เรื่องเหล่านี้มีทั้งเรื่องภาษา เรื่องวัฒนธรรมความเป็นอยู่ซึ่งนับเป็นพร้อมที่สำคัญเพราะทาง สจล.มีสถานที่หอพักรองรับอย่างครบครัน โดยเรื่องนี้ก็เป็นความคืบหน้าของการบริหารจัดการด้านการศึกษาของคณะฯ ในปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องมาถึงปี 2563 นี้

สำหรับส่วนผู้เรียนในประเทศนั้นทาง FAM ได้เริ่มมีการทำ MOU กับโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ 130 แห่ง บนการสื่อความกับคณาจารย์และนักเรียนเพื่อให้มีความเชื่อมั่นว่า FAM สามารถบ่มเพาะพัฒนาการและศักยภาพของเด็กให้เข้มแข็ง เปิดโอกาสให้เด็กที่มีความสนใจทางด้านบริหารจัดการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ FAM ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ที่เขาจะได้เรียนรู้จากการลงมือจริง และยังมีความพยายามผลักดัน Output ในส่วนของนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเชิง Qualitative ที่มีเข้ามาเท่าไหร่ก็จบการศึกษาออกไปเท่านั้น และเมื่อจบออกมาก็มีงานทำ มีความสามารถ เป็นที่ยอมรับในกิจการและบริษัทชั้นนำ ส่วนในเชิง Quantitative นั้นเรามีการวัดผลจากองค์กรผู้จ้างงานหลายแห่งที่ค่อนข้างพอใจกับบัณฑิตของ FAM

บ่มเพาะผู้ประกอบการ

สำหรับนักศึกษาที่มีอัตลักษณ์ของการเป็น Entrepreneur ทาง FAN ก็มีกิจกรรมส่งเสริมอย่างเข้มข้น พบว่านักศึกษามี Outcome เป็นการจดบริษัท Startup กว่า 3 บริษัทในปีที่ผ่านมา โดยนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ทาง FAM กำลังเตรียมจัดทำพื้นที่ Co-working Space ในคณะเพื่ออำนวยให้นักศึกษาสามารถทำProject ร่วมกันได้อย่างเต็มที่ และต่อไปจะหมายถึงความพยายามที่จะก่อตั้ง ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ เพื่อสร้างแรงสนับสนุนนักศึกษาที่ต้องการ Startup ธุรกิจทั้งในด้านเงินทุนเริ่มต้นและโค้ชซึ่งเป็นอาจารย์ในคณะที่จะคอยให้คำปรึกษาและแนะนำ โดยเรื่องนี้ยังคงอยู่ในกระบวนการทำงานต่อต่อเนื่อง

ความเคลื่อนไหวภายในของ FAM

นอกเหนือไปจากเรื่องแนวทางการพัฒนาผู้เรียน ในส่วนของการบริหารภายใน คณบดีหญิงของ FAM ยังได้เผยถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงที่เข้ามาบริหารคณะฯ ว่า การบริหารหลักสูตร

“ในช่วง 4 ปีของวาระบริหารของอาจารย์เรามีแผนงานที่จะปรับโครงสร้างบุคลากรภายใน เพื่อให้องค์กรก้าวไปได้รวดเร็วมากขึ้น โดยเราจะลดเลิกการมีภาควิชา แต่จะเน้นไปที่ประธานหลักสูตรมากกว่า เพื่อให้เขาสามารถทำหน้าที่ภายใต้กลไกที่ว่องไว เมื่อมีระเบียบ นโยบายอะไรก็ลงถึงหลักสูตรได้ทันที เพื่อความคล่องในการเคลื่อนตัว ได้ผลแม่นยำ และยังทำให้อาจารย์ได้มีเวลามุ่งเน้นโครงการในเชิงพัฒนา การบริการวิชาการแก่สังคม

งานวิจัย มุ่งความสำคัญการจดสิทธิบัตร หรืออนุสนธิบัตร

ในส่วนของ ‘งานวิจัย’ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของภาคการศึกษา ผศ.ดร สุดาพร เผยถึงนโยบายซึ่งมุ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิบัตรหรืออนุสนธิบัตร โดยจะมีการจัดเงินทุนให้อาจารย์ทำวิจัยปีละ 3 ทุน เมื่ออาจารย์ทำวิจัยออกมาและสามารถมีผลสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์หรือส่วนบริการที่สามารถนำไปจดสิทธิบัตรและจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งบริษัท Startup สามารถมารับช่วงไปจำหน่ายต่อ เราทำหน้าที่เป็น Incubator บ่มเพาะทางธุรกิจไปในตัว ทำงานร่วมกับสำนักงานวิจัยนวัตกรรมของ สจล.

คณบดีของ FAM ได้ยกกรณีตัวอย่างงานวิจัยที่ ผศ.ดร สุดาพรเองได้จัดทำขึ้น ภายใต้การลงพื้นที่เพื่อทำวิจัยเกษตรกรที่เป็นชาวนา เพื่อศึกษาการทำนาและปลูกข้าว ทำให้ได้รับรู้ปัญหาจากชาวนาว่าเขามีความต้องการอะไร? หลังจากได้โจทย์ปัญหาก็นำมาระดมความคิด ประมวลความต้องการร่วมกับ ภาควิชาวิศวฯ จนในที่สุดเกิดเป็น Prototype เครื่องสีข้าวขนาดเล็กในครัวเรือนที่สามารถเคลื่อนที่ได้รุ่นแรก ที่จะเป็นตัวช่วยให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวสามารถสีข้าวเองได้ ไม่จำเป็นจะต้องไปที่โรงสี โครงการวิจัยนี้ได้มีการนำไปจดอนุสิทธิบัตร เป็นเทคโนโลยีที่ต่อยอดมาให้ทำงานสะดวก Fit need มากขึ้น สามารถสีข้าวได้ 12 kg ต่อชั่วโมง และมีบริษัทเอกชนเข้ามารับสิทธิเพื่อไปจัดจำหน่ายแล้ว เป็นต้น

ก้าวใหม่และก้าวใหญ่ในปี 2563

นอกเหนือไปจากโครงการบริหารการศึกษา วิชาการและอื่นๆ ที่เป็นภารกิจหลักของทางคณะฯ แล้ว คณบดีหญิงของ FAM ยังบอกเล่าถึงเป้าหมายในการรวบรวมศิษย์เก่าที่มีศักยภาพคืนสู่เหย้ามาร่วมทำกิจกรรมเพื่อร่วมส่งเสริมคณะ และร่วมพัฒนารุ่นน้อง โดยอีกนัยสำคัญเพื่อว่า ให้ศิษย์เก่ากลับมาเพื่อ Re-skill หรือ Up-skill ความรู้ใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโครงสร้างอุตสาหกรรม แน่นอนว่าเหนือไปกว่านั้นคือเป็นการกระชับความผูกพันและเป็นเครือข่ายที่สามารถเอื้อและเกื้อหนุนกันได้ระหว่างคณะฯ และศิษย์เก่า หรือแม้แต่ ศิษย์เก่าและศิษย์เก่าที่ไม่ได้พบนับแต่สำเร็จการศึกษาออกไป ซึ่งเป็นโครงการที่อยากให้เกิดขึ้นภายในปีนี้

สำหรับก้าวใหญ่ที่สำคัญของ FAM นับแต่นี้คือทางคณะการบริหารและจัดการจะเริ่มเข้าสู่การรับรองมาตรฐาน AACSB ในปี 2020 ซึ่งถือว่าเป็นจะเป็นอีกก้าวใหญ่ที่จะมูฟไปข้างหน้าและจะเป็นก้าวที่ FAM จะเป็นที่รู้จักและยอมรับในเวทีการศึกษาระดับชั้นนำของโลกในที่สุด

ความท้าทาย

แน่นอนว่าการพัฒนาย่อมต้องมาพร้อมกับความท้าทาย ผศ.ดร. สุดาพร มองว่าสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ในศักราชใหม่นี้คือเรื่องของ Human Resource Management เพราะการเก่งคนเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต้อง Drive team ทำให้ทีมมีแรงที่จะเคลื่อนตัวเอง เคลื่อนองค์กร จัดกระบวนการต่างๆ ให้มีการปฏิบัติที่ชัดเจน สร้างคนให้มีความรู้สึกว่าเขาอยากมีส่วนร่วม มีบทบาท มีหน้าที่ มีรางวัลให้เขาภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ ทีมบริหารและนักศึกษา เพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าเป็นทีมอย่างพร้อมกัน

ตอนที่อาจารย์แถลงวิสัยทัศน์ไว้ว่า อาจารย์ทุกคนต้องมีโครงการวิจัย โครงการบริการวิชาการเป็นของตัวเองอย่างน้อย 1 โครงการ หรืออาจจะเป็นโครงการที่ทำร่วมกับทีมงานหรือคณบดีก็ได้ ทั้งนี้เพื่อพยายามสร้างให้เกิด Human Value Capital นอกเหนือจากงานสอนปกติ เพราะฉะนั้นทุกท่านจะเป็นบุคลากรที่ครบเครื่อง และยังทำให้เกิดแรงบันดาลใจจากการได้ออกไปพบปะผู้คนภายนอก ได้ให้บริการแก่บุคคล เอาสังคมภายนอก เอาประสบการณ์เข้ามาปรับใช้ในมหาวิทยาลัยได้ ด้วยกลยุทธ์นี้อาจารย์ของคณะฯ ก็จะทันต่อการเปลี่ยนแปลง อย่างเรื่องเทคโนโลยีดิจิตอล หรือประสบการณ์ในการเป็นผู้ถ่ายทอด มีโครงการที่เราทำอยู่ตอนนี้คือ Smart Supervisor หลักสูตรที่เราทำให้กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว โดยทีมงานของอาจารย์ทุกคนเราก็ร่วมกันเป็นวิทยากรในด้านที่ถนัด ได้ฝึกฝนทักษะการบรรยายให้กับผู้ที่มีตำแหน่งสูงซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่แปลกใหม่แต่ก็ทำให้อาจารย์ได้เพิ่มพูนประสบการณ์


เรื่อง: กองบรรณาธิการ

ภาพ: อาทิตย์ กัณฐัศว์กำพล

X

Right Click

No right click