×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

หลักสูตรบริหารธุรกิจ นานาชาติ ลาดกระบัง เป้าหมายของหลักสูตร คือการสร้างบัณฑิตเพื่อเตรียมความพร้อมกับการเข้าสู่โลกธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างมืออาชีพ ไม่ว่าการเป็นผู้ประกอบการเองหรือการเป็นมืออาชีพในสถานประกอบการ โดยเฉพาะองค์การแบบนานาชาติ (Multinational Organization : MNC’ s) และเตรียมความพร้อมกับก้าวไปสู่นักบริหารในอนาคตที่มีความเป็น World Citizen ที่มีองค์ความรู้ด้านบริหารธุรกิจ (Business Acumen) มีทักษะในการบริหารจัดการ (Management Concepts) ความคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical thinking) การคิดเชิงระบบ (Systematic Thinking Process) มีความรู้ความเข้าใจต่อการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการให้สอดรับกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของดิจิทัล

หลักสูตรได้จัดให้มีการเรียนการสอนสอดแทรกรายวิชาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในหลักสูตร และทุกวิชาจะมีการเชื่อมความสำคัญหรือความสัมพันธ์เทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกธุรกิจในปัจจุบันกับ Functions และกิจกรรมทางธุรกิจ (Business Acitivities) เช่น Digital Online Marketing, Innovation Entrepreneurships, Technology Start Up, Digital Disruptiveกับ แนวความคิดการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปอื่นๆ และตอกย้ำกับวิสัยทัศน์และพันธะกิจความเป็นผู้นำของสถาบัน ในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดรวมถึงอัตลักษณ์ของสถาบันที่ว่า “ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ สู้งาน”

แม้โลกธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นใด สิ่งสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นนักศึกษาที่จบจากหลักสูตรนี้ต้องมี Competencies & Soft Skills ที่สำคัญในการทำงาน ได้แก่การมีภาวะผู้นำที่ดี (Leadership) ทักษะในการทำงานร่วมกับบุคคลอื่นๆ ในทุกระดับ (Interpersonal Skills) ที่สำคัญมากที่ตอกย้ำความเป็นนานาชาติ คือการมี Global Mindset ที่เข้าใจความแตกต่างในวัฒนธรรมข้ามชาติ (Cross Cultural) เข้าใจความหลากหลายในสถานที่ทำงาน (Diversity) แบบบริบทนานาชาติ แต่ต้องไม่ลืมรากเหง้าความเป็นไทย หรือหากเป็นนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรนักศึกษาต่างชาติต้องได้รับการถ่ายทอดในกลิ่นอายความเป็นไทย เข้าใจในวัฒนธรรม ความมีเสน่ห์ของความเป็นไทย (Thai Culture & Traditional) ทางหลักสูตรจะมีกิจกรรมที่เสริมสร้างความเป็นนานาชาติให้กับนักศึกษาไทย และความเป็นไทยให้กับนักศึกษาจากหลากหลายประเทศในอนาคต เช่น โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษานานาชาติในหลากหลายรูปแบบ การให้นักศึกษาไปมีส่วนร่วมในการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ การจัดให้มีการเยี่ยมชมสถานประกอบการต่างชาติทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น

แน่นอนการจะผลิตบัณฑิตให้มีคุณสมบัติดังที่กล่าวคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความตั้งใจของอาจารย์ในหลักสูตรทุกท่าน เราจึงได้ข้อสรุปต่างๆ ในระบบการเรียนการสอนต้องเชื่อมโยงอย่างชัดเจนจึงเป็นความจำเป็น เราเชื่อในหลักการของทฤษฎีระบบ (System Theory) ที่องค์ประกอบต้องเชื่อมต่อกันอย่างมีคุณภาพ ทั้ง Input, Process and Output

คุณภาพนักศึกษา

หลักสูตรตระหนักดีว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียนของนักศึกษาคือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะองค์ประกอบนี้จะเป็นตัวชี้วัดที่จะทำให้หลักสูตรมีคุณภาพและประสบผลสำเร็จหรือไม่ตั้งแต่แรก แม้ว่าเราจะเป็นหลักสูตรใหม่ แต่เราก็เข้มงวดกับระบบการคัดเลือก สรรหานักศึกษาเข้ามาในระบบ สิ่งที่เน้นเป็นอันดับแรก คือพื้นฐานและทักษะภาษาอังกฤษ เพราะคือทักษะจำเป็นของกระบวนการเรียนรู้ในหลักสูตร อันดับต่อมาคือบุคลิกลักษณะเหมาะสมกับหลักสูตรบริหารธุรกิจนานาชาติที่ต้องการนักศึกษาที่มุ่งมั่นในการเข้าสู่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม บุคลิกที่ว่าคือการมีภาวะผู้นำ (Leadership) กล้าแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ใช่ และถูกต้องอย่างสร้างสรรค์ (Assertiveness) ความกระตือรือร้น คล่องแคล่ว (Alert and Agility) การเปิดใจรับกับความคิดเห็นที่แตกต่าง (Open Minded) การทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีความแตกต่าง (Interpersonal Skills) ทักษะการสื่อสารและ ความคิดรวบยอด (Communication and Conceptual Skill)

กระบวนการและวิธีการเรียนการสอน

คณาจารย์ทุกท่านในหลักสูตร รวมทั้งคณาจารย์ที่ได้รับเชิญมาสอนต้องกำหนดวิธีการเรียนการสอนที่เน้นให้นักศึกษาได้ใช้ทักษะครบเครื่อง เช่น ทักษะการค้นคว้าความรู้จากสื่อประเภทต่างๆ ในโลกอินเทอร์เน็ต ออนไลน์ การระดมสมองเพื่อค้นหาคำตอบกรณีศึกษาในเชิงธุรกิจ การแชร์ประสบการณ์ การเสนอแนะความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ดังนั้น กระบวนการหรือวิธีการเรียนการสอนของคณาจารย์ อาจเป็นไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้แก่ Active Learning, Problem Base learning, Best Practices, Case Study, Phenomenon-Based Learning (PBL) วิธีการอื่นๆ ที่เน้นการพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ

คณาจารย์ อาจารย์พิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ

นักศึกษาจะได้เรียนรู้จากคณาจารย์ อาจารย์พิเศษผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวต่างชาติ และชาวไทยที่จบการศึกษาในสายการศึกษาที่ตรงกับวิชาที่เรียน มีตำแหน่งทางวิชาการที่สอดคล้อง มีความเชี่ยวชาญในวิชาที่สอน ทั้งหมดจบจากสถาบันในต่างประเทศ และหรือจบหลักสูตรนานาชาติในประเทศ และคณาจารย์ส่วนใหญ่ในหลักสูตรมีประสบการณ์ตรงในภาคธุรกิจ เอกชน โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เช่น General Electric (GE), Ford Motor, Electronic Industry, Oil & Gas industry และส่วนหนึ่งเป็นที่ปรึกษาและทำงานวิจัยร่วมกับกับบริษัท อุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย

กระบวนการดูแลนักศึกษาตลอดหลักสูตรการเรียน การสอน

อาจารย์ผู้รับผิดชอบในหลักสูตรมีจิตวิญญาณของความเป็นครูสูง ทุกคนมีแนวทางที่ชัดเจนที่เหมือนกันคือต้องการให้ศิษย์ได้ดี ดังนั้น คณาจารย์ในหลักสูตรนานาชาติที่นี่จึงตั้งใจมากต่อการดูแล เอาใจใส่ลูกศิษย์ของตนเองเปรียบเสมือนลูกหลานตนเองตั้งแต่การเรียนการสอน การแนะนำการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง การเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ เราอยากเรียกกระบวนการนี้ว่า “Student Engagement”

การเรียนรู้จากโลกธุรกิจจริง

หลักสูตรออกแบบเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ จากโลกธุรกิจจริง ได้แก่ การเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ บุคคลในโลกธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จและมีชื่อเสียง เราออกแบบให้คณาจารย์เชิญผู้มีประสบการณ์ภายนอกมาแชร์ประสบการณ์ให้กันักศึกษา หรือออก Field Trips ไปดูงานในอุตสาหกรรม ตลอดรวมทั้งการฝึกงาน (Internship) โครงการสหกิจศึกษา (Co-Operative Program) หรือ การเข้าร่วมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนระหว่างสถาบันระหว่างประเทศ (Student Exchanges Programs) อื่นๆ

ดร.สรศักดิ์ ในฐานะประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจ นานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง มีประสบการณ์โดยตรงจากภาคธุรกิจมากกว่า 25 ปีโดยเฉพาะกับบริษัทต่างชาติทั้งในฐานะทีมผู้บริหารระดับสูงที่มีมูลค่าขององค์การหลายหมื่นล้าน มีพนักงานในองค์การแบบหลากหลายชาติ พนักงานในองค์การมากกว่า 1,000 คน ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิเช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ค่ายอเมริกา อุตสาหกรรมรองเท้าค่ายยุโรป อุตสาหกรรมค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุด อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสีและท่ออุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และ การเป็นผู้ประกอบการด้านที่ปรึกษาองค์กรธุรกิจ (Business Consultant) และธุรกิจการสรรหาผู้บริหาร (Head Hunter and Recruitment Agency) ในทุกระดับให้กับบริษัทต่างชาติจำนวนมาก ประสบการณ์ทั้งหมดเป็นทั้งหนึ่งในฐานะผู้ริเริ่มก่อตั้งธุรกิจ (Pioneer Green Field Start Up Management Team) หรือเป็นผู้ก่อตั้งหลัก (Founder) ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ และเป็นประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจนานาชาติ ลาดกระบัง และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการต่างประเทศและวิเทศสัมพันธ์ ของคณะการบริหารและจัดการ จึงเข้าใจความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมว่าบัณฑิตแบบไหนที่ตอบโจทย์ธุรกิจ จึงมุ่งมั่นขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบัณฑิตเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติความยั่งยืนต่อไปในอนาคต 


บทความ โดย : ดร สรศักดิ์ แตงทอง
ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง

ภาพ โดย : ฐิติวุฒิ บางขาม /  MBA magazine


 สามารถรับชมคลิปวิดีโอ "Faculty of Administration and Management King Mongkut's Institute of Technology Ladkrabang" ได้ที่นี่

ดร.ปรเมศร์ อัศวเรืองพิภพ หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึง จุดเด่นของการเรียนเศรษฐศาสตร์ที่นี่ว่า เราไม่ได้มุ่งหวังผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์เชิงทฤษฎีเท่านั้น แต่ต้องสามารถนำความรู้และเครื่องมือต่างๆ ทางด้านเศรษฐศาสตร์ไปประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการพัฒนาหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ให้มีศาสตร์ทางด้านธุรกิจและการจัดการเข้ามาเกี่ยวข้อง

การพัฒนาปรับหลักสูตรให้ทันยุคสมัย ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อปรับภาพของการเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ให้เห็นถึงการนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้นและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นสาขาวิชาที่เรียนยากหรือเรียนแล้วเอาไปทำอะไร และการพัฒนาหลักสูตรก็ไม่ตีวงแคบแค่เพียงการใช้ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ไปจัดการกับธุรกิจเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงเรื่องของเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่กำลังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศและโลกในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เมื่อพัฒนาหลักสูตรแล้วจะอยู่เฉยหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์และกระแสการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจากเดิมรอบของการปรับหลักสูตรจะเกิดขึ้นทุก 5 ปีขึ้นไป วันนี้เพียง 2-3 ปีก็ต้องปรับหลักสูตรและเนื้อหาใหม่ให้ทันสมัย และตอบโจทย์เทคโนโลยีที่มีการเกิดขึ้นใหม่อย่างรวดเร็ว

ให้สมกับชื่อภาควิชา “เศรษฐศาสตร์ประยุกต์” ที่ต้องสามารถประยุกต์ศาสตร์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ไปใช้กับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที ให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลที่มีแอปพลิเคชันเกิดขึ้นมาให้เลือกใช้งานมากมาย รวมถึงการมีข้อมูลปริมาณมหาศาลที่หลั่งไหลมาไม่หยุด ดังนั้นเราจะสามารถตัดสินใจเลือกหรือจัดสรรการใช้งานเทคโนโลยีหรือข้อมูลต่างๆ ที่มีมากมายเหล่านั้นได้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้การสร้างนักเศรษฐศาสตร์ให้มีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือต่างๆ มาจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ ให้ได้โซลูชันที่ตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือแม้แต่สังคม เหล่านี้เป็นธงหลักๆ ที่ใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรให้เป็นที่ต้องการของดีมานด์ตลาดที่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ

หลักการปรับหลักสูตร เพื่อให้สอดคล้องกับโลกในยุคนี้ ดร.ปรเมศร์ เล่าว่า ได้อาศัยมุมมองหรือความคิดเห็นจาก Stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตบัณฑิตทางด้านเศรษฐศาสตร์ ตั้งแต่ผู้ประกอบการ นักวิชาการ รวมไปถึงคณาจารย์ โดยนำความเห็นเหล่านี้มาประมวลหาทิศทางของหลักสูตร เพื่อกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังว่า บัณฑิตเมื่อจบการศึกษาไป ควรจะมีศักยภาพอย่างไร ทำอะไรได้ ทำอะไรเป็น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ บัณฑิตจะต้องมีความรู้ในการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม และเมื่อนำแนวทางดังกล่าวไปสำรวจตลาดพบผลการตอบรับหลักสูตรเศรษฐศาสตร์เชิงประยุกต์ดีมาก เรียกว่ามีโอกาสในตลาดแรงงานสูง สังเกตได้จากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องมีฝ่ายวิเคราะห์และวางแผน และส่วนที่สำคัญในฝ่ายฯ คือนักเศรษฐศาสตร์ที่มีทักษะการประยุกต์ใช้เครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาหรือเสนอแนวทางการพัฒนาให้แก่องค์กร

ดังนั้นการออกแบบการเรียนการสอนจึงเน้นภาคปฏิบัติมากขึ้น โดยส่งนักศึกษาไปในโครงการสหกิจที่มีความร่วมมือกับสถานประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสนำความรู้ในด้านเศรษฐศาสตร์มาทดลองใช้กับภาคธุรกิจ ได้นำสิ่งที่ศึกษามาช่วยเมื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง

ภาพรวมหลักสูตร

ดร.ปรเมศร์ กล่าวว่าหลักสูตร ระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการ มีแนวโน้มการตอบรับที่ดีมาก จากจำนวนนักศึกษาปีแรก 120 คน และในปี 2561 นี้การรับยังไม่เสร็จสิ้น อยู่ที่ประมาณ 200 คน โดยแบ่งเป็นวิชาเอก 3 กลุ่มคือ 1.เศรษฐศาสตร์ธุรกิจเกษตรและอาหาร ที่เนื้อหาหลักสูตรไม่ได้เลือกโฟกัสเกษตรขั้นปฐมภูมิเท่านั้น แต่มองเห็นถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหาร 2.เศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ของกระแสหลักในปัจจุบันที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล และเสริมความสามารถในการประเมินและการเลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.เศรษฐศาสตร์ธุรกิจระหว่างประเทศ ตอบโจทย์การค้าเสรีที่เป็นกระแสหลักของโลกการค้าปัจจุบัน เราต้องเข้าใจเงื่อนไขทางธุรกิจในแต่ละประเทศ และแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกัน โดยวิชาทั้งหมดล้วนแล้วแต่ทันสมัยและอยู่ในกระแสของโลก

นอกจากนี้ ยังมีโครงการจะพัฒนาไปสู่ระดับปริญญาโทในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ที่คาดว่าจะเปิดรับสมัครนักศึกษาในปี 2562 มีแผนจะเปิดรับประมาณ 20 -30 คน ต่อรุ่น เป็นหลักสูตรที่เรียนเพียง 1 ปีเท่านั้น ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ 1.การวิเคราะห์ข้อมูล เน้นพัฒนานักศึกษาที่เป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงปริมาณ ที่สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ พัฒนาแบบจำลองสำหรับการแก้ปัญหาต่างๆ ทางเศรษฐกิจได้ 2. การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ทำการศึกษา วิเคราะห์ และวางแผนเพื่อการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มีความยั่งยืน ต่อยอดไปถึงการพัฒนาประเทศ 3.เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ที่ตอบโจทย์กับกระแสหรือทิศทางเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตที่ใช้ความสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างมูลค่าและความได้เปรียบทางการแข่งขัน และ 4.ฟินเทค (Fin Tech) ที่จะทำให้นักศึกษาสามารถเลือกและพัฒนาการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะระบบการสื่อสารออนไลน์มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจด้านการเงิน การธนาคาร และการลงทุนได้อย่างเหมาะสม

ส่วนระดับปริญญาเอกมีแผนจะเปิดรับสมัครในปีการศึกษา 2562 หรือ 2563 ที่มีทิศทางของหลักสูตรต่อยอดจากระดับปริญญาโท ที่มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสามารถในการบริหารและจัดการในระดับมหภาค (Macro)

นอกจากนี้ทางภาควิชายังมีการพัฒนาหลักสูตรที่เรียกว่า Sandwich Program (ที่มีการเรียนการสอนบางส่วนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ) และ Dual Degree (โปรแกรมนี้นักศึกษาจะได้ 2 ปริญญา) ที่จะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก และคาดว่าจะเปิดรับนักศึกษาได้ในปี 2563

สถานการณ์โลกกับการนำเศรษฐศาสตร์มาใช้

ดร.ปรเมศร์ กล่าวว่าไม่ว่าจะเป็นสาขาหรือวิชาชีพใดๆ ก็จะหนีไม่พ้นการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับศาสตร์ในสาขาของตน ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นในปัจจุบัน ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เรียนเศรษฐศาสตร์ต้องมีทักษะทางด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลก สอดคล้องกับตัวตนของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำทางด้านเทคโนโลยี ที่จะทำให้หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ต่างๆ ที่นี่มีความเข้มแข็ง

ดังนั้นสำหรับคนที่สนใจจะศึกษาต่อในวันนี้ แต่ยังกล้าๆ กลัวๆ กับวิชาเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการ รวมถึงหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ของ สจล. จะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการศึกษาในยุคปัจจุบันต่อไปยังอนาคต เพราะไม่ได้เน้นหนักในเชิงทฤษฎี แต่เน้นในเชิงคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ด้านการประยุกต์ใช้ความรู้และเครื่องมือต่างๆ ทางเศรษฐศาสตร์กับสถานการณ์ และการแก้ปัญหา ทั้งภาคอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การเงิน และก็ไม่ทิ้งภาคการเกษตร

“จากการบูรณาการศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ จนกระทั่งเป็นเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ เราจะมุ่งมั่นพัฒนานักศึกษาในระดับปริญญาตรีให้เป็นนักปฏิบัติงานที่เก่ง สถานประกอบการใช้งานได้ทันที สำหรับระดับปริญญาโท เรามุ่งที่จะพัฒนาให้ผู้เรียนก้าวไปสู่การเป็นผู้บริหารที่มีศักยภาพด้วยความมั่นใจ และในระดับปริญญาเอก เราจะสร้างผู้บริหารระดับสูง ที่เน้นทักษะการวิเคราะห์และกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ ในระดับชาติและสากล”   


 

บริหารธุรกิจและการจัดการ สจล. เป็นหลักสูตรที่มีอยู่เดิม และในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้น เพื่อรับกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ผศ.ดร.วอนชนก ไชยสุนทร รองคณบดีคณะการบริหารและจัดการ อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ภาควิชาบริหารธุรกิจและการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. กล่าวถึง ภาควิชาบริหารธุรกิจและการจัดการว่า มีหลักสูตรครอบคลุมทุกระดับ เริ่มจากในระดับปริญญาตรี คือหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต ซึ่ง สจล. เปิดการเรียนการสอนมานานเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี มีการบ่มเพาะองค์ความรู้ที่เป็นจุดเด่นของ สจล. ในด้านการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจที่อยู่ในสถาบันเทคโนโลยี จึงมีจุดเด่นในด้านการผนวก 2 ศาสตร์ คือ ศาสตร์การบริหารธุรกิจและศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีเข้ารวมกัน ครอบคลุมถึงการบริหารธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ และแน่นอนว่าศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจเป็นศาสตร์ที่ไม่มีการหยุดนิ่ง การดำเนินงานของหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนจึงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงให้สอดคล้องต่อสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะการบริหารและจัดการมีจุดเด่นที่แตกต่างคือมีความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งกว่า จึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับกระแสสังคมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ผนวกรวมกับคุณลักษณะเด่นของบัณฑิตของสถาบัน “ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ สู้งาน” บัณฑิตของคณะ จึงมีลักษณะของการเป็นนักบริหารธุรกิจที่ไม่นั่งติดโต๊ะ พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับตัวได้หลากหลายสายงาน ทั้งในสายการเงิน หรือเทคโนโลยี รวมถึงสายงานที่ทันสมัยในปัจจุบัน เช่น Data Scientist, Digital Marketing เป็นต้น รวมถึงการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรมีส่วนสนับสนุนการประอาชีพเป็นอย่างแน่นอน จึงนับว่าเป็นจุดแข็งและความได้เปรียบของหลักสูตร เพราะมีโอกาสเติบโตชัดเจน สอดคล้องกับทิศทางตลาดแรงงานวันนี้ ยิ่งไปกว่านั้นในอนาคตอันใกล้จะมีการเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น ทั้งสาขาการบริหารเทคโนโลยี และสาขาการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม อีกด้วย

ส่วนระดับปริญญาโท คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือ MBA ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผลิตมหาบัณฑิตมาอย่างยาวนานกว่า 20 รุ่น แต่จุดสำคัญของปีการศึกษา 2561 นี้ สามารถเรียกได้ว่าเป็นหลักสูตร MBA ฉบับปรับปรุงใหม่แกะกล่อง โดยการปรับปรุงครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนก้าวทันกระแส Industrial 4.0 โดยการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทของคณะการบริหารและจัดการ สจล. ถึงแม้จะเป็นเสมือนสาขาบริหารธุรกิจทั่วไป แต่มีรายวิชาให้ผู้เรียนได้เลือกอย่างหลากหลายตามความสนใจ อาทิ นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ การจัดการธุรกิจบริการและเทคนิคการบริการลูกค้า การจัดการทางการเงินขั้นสูง การจัดการผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ทุนมนุษย์ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 รวมถึงการจัดการทรัพยากรมนุษย์ทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันคณะการบริหารและจัดการยังมีหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการกีฬา สื่อและบันเทิง อีกด้วย

ผศ.ดร.วอนชนก เล่าถึงจุดเด่นของหลักสูตร MBA ว่า มีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงด้านการบริหารเทคโนโลยีและการบริหารอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนาน รวมถึงการเปิดกว้างให้แก่ผู้เรียนที่จบมาจากทุกสาขา และไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่จบในสาขาบริหารธุรกิจเท่านั้น เนื่องจากหลักสูตรมีรายวิชาปรับพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเป็นมหาบัณฑิต MBA ได้อย่างแน่นอน ซึ่งการเปิดกว้างในลักษณะนี้จะสนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนบริหารธุรกิจ ไปต่อยอดจากความรู้เดิมที่แต่ละคนมี ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ตลอดจนสายการแพทย์การพยาบาล เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นหลักสูตร MBA ของลาดกระบัง ยังเป็นหลักสูตรที่รองรับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ทางกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก บางนา สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง เนื่องจากนักศึกษาสามารถเดินทางมาเรียนที่ สจล.ได้อย่างสะดวกสบาย

“นักศึกษาระดับปริญญาโทจำนวนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนที่มีประสบการณ์ทำงานมาอย่างน้อย 1-2 ปี และทำงานเป็นผู้บริหารระดับต้นถึงระดับกลาง เป็นบุคคลที่ต้องการพัฒนาความรู้และประสิทธิภาพในการทำงานให้เพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ที่ต้องการปรับเปลี่ยนสายงานไปสู่งานด้านการบริหารองค์กร ดังนั้นความแข็งแกร่งทางวิชาการ ความน่าเชื่อถือและความมีชื่อเสียงของสถาบัน ผนวกกับความสะดวกในการเดินทางมาเรียน จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้นักศึกษาจำนวนมากตัดสินใจเลือกเรียนที่นี่มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นการที่ผู้เรียนมีจบมาจากสาขาวิชาที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บูรณาการมุมมองอย่างหลากหลาย พร้อมทั้งมีคณาจารย์จำนวนมากที่สามารถให้การดูแลและเอาใส่ใจ เพื่อให้นักศึกษาที่จบออกไปมีคุณภาพที่ดีที่สุด”

ในส่วนของการศึกษาระดับปริญญาเอก หรือหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม ของภาควิชาบริหารธุรกิจและการจัดการ เป็นหลักสูตรที่ได้รับการตอบรับจากผู้ที่สนใจเข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก แต่เพื่อให้การดูแลการจัดการเรียนเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ในปัจจุบันจึงชะลอการรับนักศึกษาใหม่ แต่ ผศ.ดร.วอนชนก บอกว่าในภาคเรียนต่อไป จะเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่อย่างแน่นอน เนื่องจากในปี 2562 จะถือว่าเป็นปีแห่งความพร้อมของคณะ ที่มีแผนจะเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่าครอบคลุมอุตสาหกรรมทุกด้าน ไม่ว่าเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการนำเข้า-ส่งออก ธุรกิจระหว่างประเทศ ท่องเที่ยว และอื่นๆ โดยนักศึกษาระดับปริญญาเอกของคณะส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจหรือเป็นบุคคลที่ตำแหน่งทางการบริหารระดับสูง ซึ่งจะมีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายในแต่ละสายงาน เมื่อเข้ามาศึกษาต่อ จึงเป็นเน้นการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีผนวกเข้ากับการค้นคว้า วิจัย วิเคราะห์ข้อมูลตามความสนใจ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ที่จะนำไปสู่การประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

พิจารณาได้จากผลงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น ในวงการอสังหาริมทรัพย์ สิ่งทอ แฟชั่น เนื่องจากการเรียนการสอนจะมุ่งเน้นให้นักศึกษามีคุณลักษณะเป็นนักวิจัย ที่พร้อมแก่การวิเคราะห์ เจาะลึกถึงข้อมูลและพฤติกรรมของผู้บริโภค ผ่านการใช้สถิติและโปรแกรมการวิเคราะห์ขั้นสูง ทั้งนี้เนื่องจากงานวิจัยในศาสตร์ด้านการบริหาร ผลลัพธ์ที่ได้ แม้จะไม่เป็นนวัตกรรมหรือชิ้นงาน แต่จะได้เป็นโมเดลหรือแผนงานทางธุรกิจที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างแน่นอน

“การเรียนการสอนของคณะ มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งในการวิจัย เพื่อนำไปสู่การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานทางวิชาการในฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาติ ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เวลาและใช้พลังของทั้งนักศึกษาและอาจารย์เป็นอย่างมาก ทำให้การเรียนปริญญาเอกของที่นี่ อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 ปีเพื่อจบการศึกษา แต่มั่นใจได้ว่าเป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพอย่างแน่นอน”

จากที่กล่าวไป แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของหลักสูตรของคณะการบริหารและจัดการ ที่มีตั้งแต่หลักสูตรระดับปริญญาตรี โท และเอก ที่เรียกได้ว่าเป็นโครงสร้างเดียวกัน อีกทั้งคณาจารย์ในสังกัดของคณะเกือบทั้งหมดสามารถดูแลนักศึกษาได้ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก โดยมีคุณสมบัติครบตามมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา รวมถึงยังมีอาจารย์ที่ได้รับการรับรองความรู้ความสามารถในฐานะ Trainer จากภาคธุรกิจระดับโลก เช่น Alibaba ผนวกกับจุดเด่นของคณะบริหารและจัดการ คือความแตกต่างและโดดเด่นทางด้านความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของนักศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ จึงทำให้เชื่อมั่นได้ว่าบัณฑิตของคณะจะอยู่ในกระแสของโลกได้อย่างมีศักยภาพ 


 

ท่ามกลางโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด! นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญชื่อดัง เปิดนิยามคำว่า ‘Good Life’ ครบทุกมิติ สะท้อนทัศนะ “คุณภาพชีวิตดี-สมดุล-ยั่งยืน” ผ่านเวทีเสวนา THAILAND MBA FORUM 2018 ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ: The Next Chapter of Technology for Sustainable & Good Life 

Good Life

ผศ.ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนิยามคำว่า Good Life ผ่านเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า ระบบน้ำที่ดีมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ได้ ขณะที่ปัญหาเกี่ยวกับน้ำที่เห็นได้ชัดเจน ยังคงเป็นเรื่องของภัยน้ำท่วม-น้ำแล้ง 

ทว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำและสิ่งแวดล้อม ต้องมีการยึดหลักความพอเพียง ทั้งด้านการอุปโภค-บริโภค รวมถึงการแบ่งปันให้กับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ให้สามารถดำเนินการพัฒนาได้อย่างครอบคลุม

"นิยามคำว่า Good Life ของประเทศไทย ผมเน้นไปที่เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน น้ำ-สิ่งแวดล้อม และ สภาพเศรษฐกิจสังคม ‘น้ำ’ ถือเป็นทรัพยากรที่มนุษย์ขาดไม่ได้ ทุกคนจะต้องใช้น้ำ ซึ่งสาธารณูปโภค (Utility) ตามนิยามมีอยู่ 2 อย่าง นั่นคือ น้ำ กับ ไฟฟ้า นี่คือสิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้ 

ด้วยความที่ประเทศไทยมีน้ำมากอยู่พอสมควร แต่ในอนาคตอาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้ ในเรื่องของประชากร อาจส่งผลไปสู่การแย่งชิงน้ำเพิ่มขึ้น รวมไปถึงเรื่องความยั่งยืน ทั้งความมั่งคงทางด้านน้ำ (Water Security) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ
ความสามารถในการผลิต (Water Productivity) 

นั่นคือ การทำอย่างไรให้น้ำ 1 หน่วย มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งในเรื่องของ มหันต์ภัย (Water Disaster) เพราะประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งอยู่ตลอด หลักๆ ควรมีน้ำอย่างพอเพียง ทั้งในเรื่องอุปโภค-บริโภค มีการแบ่งปันให้กับภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาในเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม เมื่อเศรษฐกิจดี สังคมก็จะดี" 

ด้าน ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขยายความถึงคำว่า Good Life ว่ามีความหมายในแง่ของความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากร ที่สำคัญคือการมีสิทธิ์ในการได้รับการศึกษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

“ผมคิดว่า Good Life อาจหมายถึงการที่มนุษย์สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรที่จำเป็น ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้ รวมไปถึงการมีสิทธิ์ที่จะได้รับการศึกษาที่เหมาะสมตรงตามความต้องการ มีสิทธิ์เข้าถึงอาหาร น้ำดื่ม และทรัพยากรอื่นๆ ที่เหมาะสมกับเรา 

แต่ส่วนสำคัญที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประเด็นใหญ่ คือ ข้อจำกัดของเศรษฐกิจครอบครัวที่กลายเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถเลือกสาขาอาชีพที่อยากทำในอนาคตได้ ผมคิดว่านี่ไม่ใช่ Good Life ที่ดีนัก เพราะข้อจำกัดอันเกิดขึ้นจาก ตัวเศรษฐกิจทางบ้าน ข้อจำกัดอันเกิดจากการที่เราไม่ได้เกิดมาในถิ่นฐานที่มีทรัพยากรสมบูรณ์ 

นั่นหมายความว่าระบบของภาครัฐที่จะลงมาช่วยดูแลและสร้างองค์ประกอบภาพรวม ซึ่งทำให้คนทุกคนที่เกิดอยู่ในประเทศของเรา หรือในทุกๆ ที่ในโลก น่าจะมีสิทธิ์เลือกการศึกษา รวมไปถึงมีสิทธิ์ในการเลือกประกอบอาชีพที่ตัวเองอยากทำ เพราะการที่ได้เลือกทำในสิ่งที่รัก มันจะนำมาซึ่งอิสระและความสุข” 

สอดคล้องกับผู้อำนวยการ Enterprise Brand Management Office SCG วีนัส อัศวสิทธิถาวร ได้เน้นย้ำถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านมุมมองของภาคเอกชนด้วยว่าการมีชีวิตที่ดีนั่นหมายถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด อีกทั้งยังต้องมีความร่วมมือช่วยเหลือกันในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน

“ในมุมของภาคเอกชน SCG เรามีเรื่องของการผลิตเป็นหลัก ฉะนั้น เรามองไปในมุมของลูกค้าว่าสิ่งที่เราผลิตและมอบให้ลูกค้า ทำให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่ (Better Life) แน่นอนว่าเมื่อเรามองในมุมของคนทำธุรกิจ เป้าหมายของธุรกิจ คือ การสร้างรายได้ตอบแทนผู้ถือหุ้น 

เห็นว่าทฤษฎีห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) ของคนทำธุรกิจมีความเกี่ยวเนื่องกัน แต่มุมมองของ SCG อาจแตกต่าง เรามองว่าหากลูกค้าได้ Good Life ผู้ถือหุ้นได้ Good Life อาจยังไม่พอ เรามองทั้ง Value Chain ยกตัวอย่างเช่น ซัพพลายเออร์ที่ส่งของมาให้เราผลิต ชุมชนที่อยู่รอบโรงงานเรา หรือพนักงานเราเอง 

อีกมุมที่มองเพิ่มเติม ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตที่ใช้ทรัพยากรต่างๆ ด้วยเรื่องของการผลิตในอดีต เรามองเรื่องของการนำทรัพยากรมาผลิต หลังจากนั้นก็กลายเป็นขยะที่ไม่มีคุณค่า แต่สิ่งที่พูดถึงในวันนี้ในปี 2050 มีการประเมินว่า ประชากรจะเยอะขึ้น ขณะเดียวกันได้สวนทางกับทรัพยากรที่ลดน้อยลง

คนรุ่นลูก-รุ่นหลานจะไม่มีทรัพยากรใช้ หากเราไม่เตรียมการตั้งแต่วันนี้ ในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด แน่นอนว่าคนรุ่นหลังต้องลำบาก ดังนั้น ทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม มีการเปลี่ยนวิธีการมองให้เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มากขึ้น 

นั่นคือการทำอย่างไรให้ใช้ทรัพยากรคุ้มค่ามากที่สุด ไม่ใช่แค่เพื่อให้เรามี Good Life แต่เจเนอเรชันต่อๆ ไปจะได้รับ Good Life ที่พอเพียงด้วยเช่นกัน ตอนนี้ SCG ลุกขึ้นมาเผยแพร่ Circular Economy ให้กับภาคธุรกิจด้วยกันได้รับทราบ เพื่อที่เปลี่ยนวิธีคิดว่าทำอย่างไรให้การทำอุตสาหกรรมมีการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด” 

ด้าน ดร.พีระพงษ์ กลิ่นละออ Managing Director, 3P Consulting Co., Ltd. ฉายภาพใหญ่ของการพัฒนาชุมชนไว้ว่าแก่นสำคัญที่ทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ การเปลี่ยนกระบวนการความคิดและทำให้เกิดความสมดุล ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาต่อไปได้

“ในมุมมองของการพัฒนาชุมชน เราพยายามทำให้เกิด “โอกาส” ของการรับรู้ ซึ่งการรับรู้อาจมาจากสิ่งที่เขารับมาจากการอ่าน จากการใช้ชีวิตประจำวัน ฉะนั้น การเข้าใจคือการเปิดโอกาสให้ได้รับรู้และเกิดการกระทำด้วย หลังจากที่ได้เรียนรู้แล้ว เขาจะต้องมีสิ่งที่รัก และได้เลือกสิ่งที่ตัวเองสามารถทำได้ดี

การที่มนุษย์อยู่อาศัยอย่างมีเครือข่าย หรือเป็นสังคม-ชุมชน โอกาสที่จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อไปได้ คือ สามารถทำงานได้เป็นหมู่คณะ ดังนั้น Good Life เกิดขึ้นได้จากการที่เขาเปลี่ยนวิธีคิดที่เขาได้เรียนรู้มา จากนั้นสามารถดึงเอาพลังของตัวเองออกมาได้

ถ้าพลังเหล่านั้นสามารถเชื่อมต่อและก่อให้เกิดการรวมกลุ่ม เกิดเป็นชุมชนได้ พลังสามัคคีจะทำให้ Good Life เกิดขึ้นได้อย่างมีความมั่นคง ท้ายที่สุดสิ่งสำคัญของเครือข่าย คือ เรื่องของจรรยาบรรณและศีลธรรม ในการอยู่ร่วมกันอย่างแบ่งปัน รวมถึงความสมดุลจะเป็นตัวที่บ่งบอกถึงการเดินก้าวต่อไป” ดร.พีระพงษ์ กล่าว

ปิดท้ายด้วย รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่าแนวคิดเกี่ยวกับนิยามของคำว่า Good Life ว่ามีทั้งเชิงปัจเจกบุคคลและในส่วนภาพรวมของประเทศ โดยมีแกนหลัก 3 ส่วนที่สำคัญ นั่นคือ ความสุข ครอบครัว และ สังคม

“Good Life ในความคิดผม ผมแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งแรกคือในชีวิตของคนทั่วไป ต้องการ 3 องค์ประกอบให้เกิดความสมดุล ส่วนที่หนึ่ง ‘ความสุข’ ส่วนที่สองคือ ‘ครอบครัว’ และ ส่วนสุดท้ายคือ ‘สังคม’

ดังนั้น ถ้าเราจะมี Good Life ในฝั่งที่เป็นปัจเจกบุคคล ผมคิดว่าเราต้องสร้าง ‘ความสมดุล’ ระหว่าง 3 ส่วนนี้ นั่นคือต้องมีชีวิตที่ดี ต้องทำงานอย่างมีความสุข และอยู่ในสังคมที่ดี

ส่วนอีกฝั่งหนึ่งที่เป็นภาพที่ใหญ่ขึ้น ถ้าเป็น Good Life ของคนทั้งประเทศหรือประชากรของโลก ในฐานะที่ผมเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทางด้านการเจริญเติบโต บนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราใส่คำว่า Good Life เข้าไปในความเติบโต ความสมดุล และความยั่งยืนด้วย

ถ้าเราอยากมี Good Life ในฝั่งภาพใหญ่ เราต้องมาร่วมกันนิยามคำว่า Good Life ไปด้วยกันว่าจะเติบโตอย่างไรให้สมดุลและยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น Circular Economy, Sustainable Development Goals, เศรษฐกิจพอเพียง, การปรับตัวทางด้านการศึกษา ล้วนมีความสำคัญในการทำให้เกิด Good Life ได้” 

Sustainable 

ผศ.ดร.อนุรักษ์ มองเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ ผ่านสายตาของผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรน้ำ โดยต้องเริ่มจากการพัฒนาก่อน รวมไปถึงการสื่อสารระหว่างกันและกัน

“ความยั่งยืนจริงๆ แล้ว ต้องเริ่มจากการพัฒนาก่อน ถ้าไม่มีการพัฒนาก็จะไม่มีการยั่งยืนต่อไป ในทางกลับกันถ้าการพัฒนาไม่มีความสมดุล หรือไม่มีการบูรณาการ ก็จะไม่เกิดความยั่งยืน ดังนั้น ความสมดุลในที่นี้ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเรา แต่รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม โลก สังคม ในทุกๆ มิติ วิธีการที่จะไปรอดมีทางเดียว คือ การพูดคุยกันระหว่างทุกฝ่ายที่อยู่ในองค์รวมของระบบ ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันและกัน” 

ขณะที่ ดร.ประมวล เสนอมุมมองเพิ่มเติมในฐานะนักวิศวกรอุตสาหการ โดยมีแนวคิดว่าการเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจที่ดี ผ่านกลไกการทำงานของเทคโนโลยีที่ช่วยขับเคลื่อนร่วมด้วยเช่นกัน

“ผมเชื่อว่า เป้าหมาย (Goals) และ วิธีการ (Means) มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือพัฒนาอุตสาหกรรม โดยมุ่งไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเครื่องมือที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น คือการพัฒนาสภาพเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจดี คุณภาพชีวิตก็จะดี ซึ่งสิ่งที่เป็นกลไกทำให้เศรษฐกิจดีในมุมมองของวิศวกร คือ การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้วงจรนี้ขับเคลื่อนได้ ผมคิดว่าถ้าทำให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการศึกษา มีทางเลือก มีอิสระที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก รวมถึงใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” 

ทางด้าน วีนัส ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่ทาง SCG ดำเนินการในขณะนี้ คือ การอนุรักษ์น้ำ ซึ่งมีการน้อมนำแนวคิดจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 มาเป็นแรงบันดาลใจ

“ทาง SCG ทำในเรื่องของการอนุรักษ์น้ำ ตั้งแต่ภูผาสู่มหานที ตามแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ที่โรงงานปูนซีเมนต์ไทย จ.ลำปาง แรกเริ่มเราได้สัมปทานป่าบริเวณนั้นเป็นป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ 5,000 ไร่ ขณะที่เราเริ่มสร้างโรงงานก็พบว่ามีปัญหาไฟไหม้ป่าทุกวัน รวมกว่า 300 ครั้งต่อปี 

เราจึงคิดว่าจะมีวิธีใดที่สามารถดับไฟป่าได้อย่างยั่งยืน จึงได้พบแนวทางที่สามารถแก้ปัญหา น้ำขาด น้ำเกิน น้ำเสีย ไฟป่า นั่นคือ พระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวราชการที่ 9 ซึ่งท่านได้ทำการทดลองไว้ที่ห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ หลังจากได้ลงมือสร้างฝายชะลอน้ำ พบว่าปัญหาไฟไหม้ป่าลดลง ซึ่งภารกิจของเราคงไม่สำเร็จ หากไม่มีการทำงานร่วมกันของชุมชน สิ่งสำคัญคือการสร้างชุมชนให้เป็นนักวิจัย โดยการการสร้างกระบวนการเรียนรู้” 

ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงหลังการสร้างฝายชะลอน้ำ พบว่า รายได้จากของป่าและการทำเกษตรเพิ่มขึ้น 9,025 บาท ต่อครอบครัว/เดือน สำหรับรายได้จากอาชีพประจำเฉลี่ย 8,000 บาทต่อครอบครัว/เดือน ปัจจุบันสร้างฝายชะลอน้ำไปแล้วกว่า 79,330 ฝาย ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด โดยมีเป้าหมายสร้างฝายชะลอน้ำทั้งสิ้น 100,000 ฝาย ในปี 2563 

สอดคล้องกับด้าน รศ.ดร.พิสุทธิ์ ได้ฝากแนวคิดความยั่งยืนไว้ว่า ควรตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ที่สำคัญต้องสร้างจิตสำนึกให้เกิดความหวงแหนร่วมกันด้วยว่า ทุกคนคือเจ้าของแหล่งทรัพยากรและธรรมชาติ

“ผมอยากฝากคำว่า ‘ยั่งยืน’ เพราะว่าถึงเราพัฒนาขั้นตอนอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไม่ยั่งยืน ผมคิดว่านั่นคงไม่ใช่คำตอบของประเทศ ผมว่ามีอยู่ 3 คำ นั่นคือ การคิดถึงคนรุ่นหลัง (For Next Generation) การตระหนักถึงปัญหา (Engagement) และสุดท้าย การทำให้รู้สึกว่าเขาคือเจ้าของ (Owner Ship)” 

สุดท้าย ดร.พีระพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงเรื่องการศึกษา รวมถึงเทคโนโลยีที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว คือสิ่งสำคัญที่นำไปสู่ความก้าวหน้าของคุณภาพชีวิตได้ในมิติต่อไปของประเทศไทย

“ผมคิดว่าส่วนที่เป็น The next Chapter ได้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา หรือเทคโนโลยีที่เป็นทางด้านอุตสาหการต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันของชุมชน ทั้งด้านการประกอบอาชีพ หรือส่วนที่ทำให้ร่างกายหรือชีวิตก้าวขึ้นสู่สภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่แข็งแรงยั่งยืน” ดร.พีระพงษ์ กล่าว 


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ The Next Chapter of Technology for Sustainable & Good Life จากงาน Thailand MBA Forum 2018  ได้ที่นี่


 

 

 

รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้บรรยายถึงประเด็นสำคัญบนเวทีใหญ่งาน Thailand MBA Forum 2018

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีมีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก ผลสืบเนื่องคือพฤติกรรมของผู้บริโภคถูกเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เมื่อพฤติกรรมคนเปลี่ยน สิ่งที่ตามมาคือ ผลกระทบทางสภาพสังคมก็เปลี่ยนแปลงไป นั่นหมายถึงสภาพการแข่งขัน และแรงกดดันของการแข่งขันก็มีการเปลี่ยนแปลงเฉกเช่นกัน สิ่งสำคัญในฐานะผู้บริหาร คือการเตรียมแผนและการตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีให้เท่าทัน ในด้านของนักศึกษา ทั้งบัณฑิตและมหาบัณฑิตที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดงาน ต้องตระหนักให้ได้ว่า ทักษะและความรู้ที่จะทำงานในยุคดิจิทัลต้องเป็นอย่างไร” 

รศ.ดร. จงสวัสดิ์ ได้สรุปความโดยอ้างอิงข้อมูลของ Oliver Ratzesburger ที่ชี้ให้เห็นว่า ทุกวันนี้การยอมรับและการนำเทคโนโลยีมาใช้อยู่ในอัตราตอบรับที่เร่งมากขึ้น อย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การใช้เทคโนโลยีประเภทอินเทอร์เน็ต ถือเป็นเรื่องปกติ 

นอกจากนั้น ยังได้เผยถึงตัวเลขมูลค่าการตลาดของโมไบล์แอปพลิเคชัน ของปี 2017 ที่อเมริกามีมูลค่าสูงถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการลงเม็ดเงินในโซเชียลมีเดียอย่างมหาศาล รูปแบบการเก็บข้อมูลเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปสู่การเก็บ-ใช้ข้อมูลใน คลาวน์ มีการนำ Big Data ที่เป็นการใช้ข้อมูลต่างๆ เพื่อการออกแบบกลยุทธ์ เรื่อง Neuroscience เป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโต ผลิตภัณฑ์และการบริการเริ่มประยุกต์นำ Sensor มาติดวัดเพื่อสร้างเป็นเครือข่ายข้อมูล เพื่อศึกษาและพัฒนาการเข้าถึงแนวคิดและการรับรู้ของลูกค้าต่อคุณภาพสินค้าและบริการอย่างเป็นตรรกะและเชื่อถือได้ และต่อไปเรื่อง AI และ Deep Learning เป็นสิ่งที่ยุค 5G จะมีการหยิบยกมาใช้อย่างเป็นเรื่องปกติสามัญ

ทั้งนี้ รศ.ดร.จงสวัสดิ์ ได้เน้นย้ำว่า “ประเด็นสำคัญที่อยากให้ดูคือ การทำงานทุกอย่างนับแต่นี้จะเป็น Real-Time มากขึ้น ลูกค้าต้องสามารถทำทุกอย่างได้เอง เทคโนโลยีได้เปิดโอกาสและอนุญาตให้หลายสิ่งเป็นไปได้ แต่คำถามคือ “องค์กรปรับตัวตามได้มากน้อยแค่ไหน” มีกรณีศึกษาของหลายองค์กรที่ตามไม่ทันเทคโนฯ หรือการตัดสินใจไม่ยอมรับในการเปลี่ยนแปลง อาทิ บริษัท โกดัก ผู้ผลิตฟิล์มที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต หรือ กรณี Blockbuster ที่ปฏิเสธการลงทุนใน Netflix ร้านของเล่น Toyrus ที่ปิดตัวลง เพราะพฤติกรรมการเล่นของเด็กเปลี่ยนไปอยู่ในออนไลน์ในที่สุด”

ทุกวันนี้ องค์กรธุรกิจชั้นนำล้วนปรับนำ Algorithm มาใช้ในการบริหารงาน ซึ่งสามารถทำงานแทนคนจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดการข้อมูล เพื่อคาดการณ์ เพื่อการวางแผนทั้งในด้าน Operation และการวางกลยุทธ์ในการบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ทุกองค์กรต้องปรับตัวแทบทั้งหมด เหตุผลสำคัญคือ เพื่อการลด Uncertainty หรือความไม่แน่นอน บนข้อมูลที่จะสามารถรวบรวมและประมวลมาได้ ทั้งข้อมูลลูกค้า ข้อมูลการเงิน ข้อมูลอุตสาหกรรม และข้อมูลต่างๆ เพื่อค้นหา Trend หา Spotting Trend เพื่อค้นหาว่าจะมี signal หรือสัญญาณใดที่จะบอกให้รู้ว่า สิ่งไหนคือเทรนด์ที่ถ้าองค์กรไม่ปรับ คือ ตายแน่นอน! และนอกเหนือจากนั้น คือการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่สำคัญ” รศ.ดร.จงสวัสดิ์ 

6 กลยุทธ์ดิจิทัล เพื่อองค์กร : 6 Types of Digital Strategy (HBR) 

รศ.ดร จงสวัสดิ์ ได้อ้างอิงถึง 6 กลยุทธ์เพื่อการปรับตัวขององค์กรและธุรกิจ ในยุคดิจิทัล ของ Harvard Business Review เพื่อเป็นแนวคิดและแนวทาง อาทิ การปรับเปลี่ยน Platform Play ที่ต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป หรือการสร้างแนวทางกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ให้กับลูกค้า เช่น H&M หรือ IKEA ที่ใช้กลยุทธ์ New Marginal Supply เช่นการเปิดช่องทางขายสินค้ามือสองให้กับลูกค้าชั้นดี เพื่อเป็นทางเลือก และที่น่าสนใจและจับตาคือ ใช้กลยุทธ์ Digital-
Enabled Products and Services ที่ปรับสินค้าและบริการให้เชื่อมต่อกับความเป็นดิจิทัล โดยมีการนำ Sensor มาติดกับผลิตภัณฑ์ เช่น ผ้าอ้อมเด็ก ที่ปั๊มนม และกรณีศึกษาที่โด่งดังคือ แปรงสีฟัน Oral B โดย Sensors เหล่านั้นจะส่งผ่านข้อมูลของการใช้งาน อาทิ ความชื้นของผ้าอ้อม แรงดันและปริมาณน้ำนมจากการปั๊ม และคุณภาพของการแปรงฟัน ซึ่งทั้งหมดจะถูกส่งเข้าสู่แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ เพื่อเป็นข้อมูลกับผู้ใช้งาน

นอกจากนั้น Digital Strategy ยังมีในเรื่อง Rebunding and Customizing, Digital Distribution Channel และ Cost Efficency ที่ HBR ได้เสนอแนวคิดและแนวทางไว้ แต่ประเด็นสำคัญที่ รศ.ดร.จงสวัสดิ์ ต้องการชี้ให้ตระหนักและเล็งเห็นคือ “เมื่อเรารู้ว่า เทคโนโลยีเปลี่ยน เราจะ adopt เทคโนโลยี หรือนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ได้อย่างไร นั่นคือประเด็นที่สำคัญกว่า”

สำหรับนักศึกษาในสาขา MBA ในยุคนี้ รศ.ดร. จงสวัสดิ์ กล่าวว่า 

“เป้าหมายของการเรียน MBA ในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อ 10 ปีก่อน เป้าหมายสำคัญของการเรียน MBA จะกำหนดเป้าหมายไปที่เรื่อง Logical Thinking, Critical Thinking, Analytical Thinking และ Strategic Thinking หมายความว่า นักศึกษาที่จบ MBA จะต้องมีความรู้ มีแนวคิด กระบวนการคิดจนไปสู่กระบวนการสร้างกลยุทธ์ธุรกิจ การบริหารและการตลาดได้ ซึ่งภายใต้เป้าหมายและความคาดหวังใหม่ รศ.ดร. จงสวัสดิ์ ได้เสนอการ+ เพิ่มเรื่อง Technological Data Driven IT-Background เข้าไปด้วย เพราะทุกวันนี้และต่อไปจะไม่มีองค์กรใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องไอที หมายความว่า นักศึกษา MBA จะต้องสื่อสารและทำงานร่วมได้กับนักจัดการ IT เพื่อธุรกิจและองค์กร” 

“ในปัจจุบัน การตลาดประเภท Traditional Marketing ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป จากอดีตที่เคยเป็น Top-Down Approach ที่รู้ทฤษฎีด้านการตลาดแล้วสามารถแปลงทฤษฎีมาเป็นกลยุทธ์ แต่คำตอบของยุคปัจจุบันคือ Bottom-Up Policy ที่จะเป็นการใช้ดาต้า ใช้ข้อมูลจากทั้งลูกค้า พฤติกรรมต่างๆ มาสร้างกลยุทธ์” 


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ Technology Effects & Management Transformation โดย รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จากงาน Thailand MBA Forum 2018 ได้ที่นี่

 

X

Right Click

No right click