×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

Behavioral Finance

November 30, 2017

ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ เจนวิทยาโรจน์ CFA (Chartered Financial Analyst) คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงศาสตร์เรื่อง Behavioral Finance หรือ “การเงินเชิงพฤติกรรม” ว่า เป็นการเงินที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของพฤติกรรมจริง ซึ่งมักถูกโน้มนำได้ด้วยอารมณ์และจิตวิทยา 

พร้อมยกทฤษฎีประกอบว่า ในช่วงเวลา 30 - 40 ปีที่ผ่านมา การตัดสินใจลงทุนมักถูกชี้นำจากทฤษฎีทางการเงินแบบมาตรฐาน เช่น ทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพ (Efficient Market Hypothesis) และทฤษฎีการกำหนดราคาสินทรัพย์ (Capital Asset Pricing Model) ซึ่งตั้งบนสมมุติฐานว่าคนจะตัดสินใจทางการเงิน ในลักษณะแบบ “Rational Man” มีพฤติกรรมแบบสมเหตุสมผล เลือกทำอะไรที่ก่อให้เกิด“อรรถประโยชน์” สูงที่สุด เทียบเคียงกับหุ่นยนต์ที่โปรแกรมมาเพื่อตัดสินใจโดยไม่มีอคติหรือเอนเอียงจากอิทธิพลของอารมณ์หรือจิตวิทยา 

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาวิจัยจำนวนมาก กลับแสดงให้เห็นว่า ตลาดหุ้นนั้นไม่ได้มีประสิทธิภาพ ในแง่ของกลยุทธ์การซื้อขายหลักทรัพย์ต่างๆ เช่น กลยุทธ์การลงทุนใน “หุ้น Value” กลับสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนใน “หุ้น Growth” รวมทั้งนักลงทุนเองก็ไม่ได้มีเหตุผลเสมอไป 

การตัดสินใจทางการเงินของนักลงทุนมักมีอคติและเอนเอียงจากอารมณ์และจิตวิทยาอยู่บ่อยครั้ง Behavioral Finance จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นทางเลือกในการอธิบายผลการศึกษาเหล่านี้ โดยใช้จิตวิทยาของนักลงทุนเข้ามาช่วย  

อคติหรือความเอนเอียงของการตัดสินใจอันเกิดจากอารมณ์และจิตวิทยานั้นมีอยู่จำนวนมาก ตัวอย่างแรก คือ อคติของการตัดสินใจที่เกิดจากการใช้ความเป็นตัวแทน (Representativeness Bias) จะเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนต้องการประเมินความน่าจะเป็นของหุ้นตัวหนึ่งว่า มาจากกลุ่มหุ้นที่ดี โดยใช้การดูว่า หุ้นนั้นสะท้อนคุณลักษณะเด่นของกลุ่มหุ้นที่ดี แต่ไม่คำนึงถึงขนาดของกลุ่มตัวอย่าง (Sample-Size Neglect) หรือไม่คำนึงถึงอัตราฐาน (Base-Rate Neglect) ประเมินอัตราฐานหรือความน่าจะเป็นของการอยู่ในกลุ่มไม่ดีพอ เช่น การค้นหาหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนดี อาจใช้วิธีการแบ่งประเภทหุ้นที่นิยม เช่น กำหนดว่าหุ้น XYZ เป็น “หุ้นเติบโต” โดยดูจากประวัติการเติบโตต่อเนื่อง 3 - 5 ปีเท่านั้น โดยหุ้นจะถูกคาดหวังการเติบโตสูงต่อเนื่องไปในอนาคต ทำให้เกิดแรงผลักดันราคาหุ้นในวันนี้ จนทำให้ราคาแพงเกินไป เพราะตั้งบนพื้นฐานการเติบโตที่สูงใน 3 - 5 ปีที่ผ่านมา แต่มองข้ามขนาดของกลุ่มตัวอย่างหรืออัตราฐาน เมื่อเวลาผ่านไป หุ้นไม่สามารถเติบโตสูงอย่างที่คาดหวังได้ ราคาเกิดการปรับตัวลง หรือไม่สามารถปรับขึ้นตามภาวะตลาดรวม ทำให้กลายเป็นการลงทุนที่ไม่ดี เพราะได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ กล่าวเสริม ถึงการศึกษาโดย Lakonishok, Shleifer & Vishny (1994)  ว่าได้สรุปถึงการลงทุนในหุ้นเติบโตได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นคุณค่า ซึ่งสนับสนุนความคิดเรื่องอคติของการตัดสินใจที่เกิดจากการใช้ความเป็นตัวแทนประเภทไม่คำนึงถึงขนาดของกลุ่มหรือไม่คำนึงถึงอัตราฐานของนักลงทุน

อนึ่ง จากผลการศึกษาโดย ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ เองเกี่ยวกับความต่อเนื่องของผลการดำเนินงานกองทุนรวมหุ้นไทยในช่วงปี ค.ศ. 1995-2014 จำนวน 179 กองทุน เพื่อทดสอบปรากฏการณ์ “Hot Hand” อันเกิดจากอคติของการตัดสินใจที่ใช้ความเป็นตัวแทน พบว่าในช่วง 19 ปีที่ศึกษา มีถึง 11 ปีที่กองทุนทำผลงานชนะผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปีที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถทำผลงานเหนือกว่าได้ในปีถัดไป 

นอกจากนี้ ยังทดสอบด้วยว่าการลงทุนโดยซื้อกองทุนที่ติดอันดับ 5, 10, 15 และ 20 อันดับแรกทุกๆ ปี ไม่สามารถชนะผลตอบแทนของ SET index ได้

อคติที่สำคัญต่อมาคือ Overconfidence Bias เป็นอคติทางการตัดสินใจในการลงทุน เกิดจากนักลงทุนมีแนวโน้มที่จะมีความเชื่อมั่นเกินเหตุ จากความเชื่อในข้อมูล ความรู้ที่มีมากเกินไป หรือประเมินความสามารถในการตัดสินใจของตนเองสูงเกินไป ผลที่ตามมามีหลายประการคือ 1. มีแนวโน้มที่จะประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป หรือประเมินผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับสูงเกินไป  2. มีแนวโน้มที่จะลงทุนแบบกระจุกตัวในหุ้นจำนวนน้อย ทำให้พอร์ตการลงทุนกระจายความเสี่ยงไม่เพียงพอ และ 3. มีแนวโน้มที่จะซื้อขายบ่อยเกินไป ทำให้เสียค่าคอมมิชชั่นสูง และได้รับผลตอบแทนสุทธิต่ำกว่าผลตอบแทนของตลาดโดยรวม

Barber and Odean (2000) ได้ทำการศึกษาบัญชีการซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาจำนวนทั้งสิ้น 66,465 บัญชีในช่วงปีค.ศ. 1991-1996 พบว่า กลุ่มบัญชีที่มีการซื้อขายบ่อยสุด (Turnover 250% /ปี) ได้ผลตอบแทนหลังหักคอมมิชชั่นที่ประมาณ 11.4% ต่อปีเท่านั้น เทียบกับผลตอบแทนของตลาดที่ 17.9% ต่อปี ในขณะที่กลุ่มที่มีการซื้อขายน้อยสุด (Turnover 8.8%/ปี) ได้ผลตอบแทน 18.5% ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า การซื้อขายที่บ่อยครั้งเกินไปเกิดจากความเชื่อมั่นเกินเหตุ และไม่ได้เกิดบนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสาร ทำให้ไม่เพิ่มมูลค่ากับการลงทุนเลย

กล่าวโดยสรุปแล้ว Behavioral Finance เข้ามามีบทบาทอย่างมากในเรื่องการเงินการลงทุน ถือเป็นทฤษฎีทางเลือกที่ท้าทายทฤษฎีการเงินมาตรฐาน  โดยเฉพาะเมื่อเกิดปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีมาตรฐาน ที่เรียกว่า Anomalies ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก เช่น Size Effect – ปรากฏการณ์ที่หุ้นขนาดเล็กให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่  January Effect –ปรากฏการณ์ที่ตลาดหุ้นมักให้ผลตอบแทนดีในเดือน ม.ค. Sell-in-May Effect – ปรากฏการณ์ที่ตลาดหุ้นมักให้ผลตอบแทนไม่ดีในช่วงเดือน พ.ค.- ต.ค. แต่ให้ผลตอบแทนดีในช่วงเดือน พ.ย. – เม.ย.)  Value Effect - ปรากฏการณ์ที่หุ้น Value ให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้น Growth และ Momentum Effect - ปรากฏการณ์ที่หุ้นที่มีผลตอบแทนดีในช่วงที่ผ่านมามักจะเป็นหุ้นที่ยังคงทำผลตอบแทนดีต่อเนื่องไปในอนาคต เป็นต้น หลายปรากฏการณ์สามารถอธิบายได้ดีด้วย Behavioral Finance ที่ยอมรับในบทบาทของอารมณ์และจิตวิทยาของผู้คน เมื่อเทียบกับทฤษฎีทางการเงินแบบมาตรฐาน ที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานของความสมเหตุสมผลตลอดเวลา 

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าในอนาคต Behavioral Finance จะเข้ามามีบทบาทความสำคัญเพิ่มขึ้นในการเรียนรู้การเงินการลงทุน และเพิ่มความเข้าใจของเราต่อปรากฏการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงในโลกการเงินนี้ 


เรื่อง ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ เจนวิทยาโรจน์         

ผศ.ดร.วิพุธ อ่องสกุล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า บนโลกใบนี้ที่ถูก Disrupt ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำธุรกิจ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต้องมีการปรับตัวอย่างไร

“หน้าที่สถาบันการศึกษาคือ ให้ความรู้กับเพื่อให้คนมีความพร้อมออกไปใช้ชีวิตไปทำงานในโลกภายนอกได้ ในเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปถ้าสถาบันการศึกษาไม่เปลี่ยนแปลงหลักสูตร วิธีการสอนเราจะไม่สามารถผลิตคนออกไปทำงานได้ในอนาคต

การปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือ Industrial Revolution คือการเปลี่ยนแปลงกระบวนการและรูปแบบการผลิต โดยโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมไปทั้งหมดสี่ยุคด้วยกัน

 “ถามว่าวอลมาร์ตรู้หรือไม่ว่าจะมีการขายของออนไลน์ ถ้าเทียบกับอเมซอนทำไมอเมซอนประสบความสำเร็จ เป็นเพราะวอลมาร์ต มีเงินน้อยกว่า ไม่เก่งกว่าหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ วอลมาร์ต เก่ง รวยมีทุกอย่างที่เหนือกว่าอเมซอน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือทำไมวอลมาร์ตไม่สามารถทำออนไลน์ประสบความสำเร็จเท่ากับอเมซอน คำตอบที่น่าสนใจคือแผนธุรกิจ (Business Model) เนื่องจากกำไรของวอลมาร์ตมาจากการขายออฟไลน์”

 

“อเมซอนไม่มีสาขา ไม่ยึดติดกับสาขา นี่คือ Business Model ที่ให้ประสบการณ์ผู้บริโภคดีกว่า ลองนึกภาพอเมซอนไม่มีสาขาแลกเปลี่ยนสินค้าไม่ได้ แสดงว่า ผมต้องแน่ใจว่าเวลาสั่งอะไรจากออนไลน์ สินค้าที่ไปส่งต้องได้ในสิ่งที่เขาคาดหวัง แต่ถ้าเป็นวอลมาร์ตไม่ได้ก็เอาไปเปลี่ยนที่สาขาก็ได้ คำถามคือแล้วผมจะสั่งออนไลน์ไปทำไม ก็เดินไปซื้อที่สาขาก็ได้ นั่นคือวอลมาร์ตยังมีความสุขกับการมีสาขา

อเมซอนที่ประสบความสำเร็จเพราะเขาใช้ Central Warehouse สต็อกทุกอย่างรวมตรงกลาง แต่วอลมาร์ตกำลังจะบอกว่าออนไลน์ของเราจะต้องใช้ประโยชน์จากออฟไลน์คือให้ไปเอาสต็อกที่สาขา นึกภาพลูกค้าสั่งสัก 10 รายการ แล้วเวลาส่งของต้องไปเอาสต็อกจากสาขา ปรากฏว่าสาขาที่ 1 มีแค่ 8 รายการ ที่เหลือต้องไปเอาที่สาขาอื่น ต้นทุนก็มหาศาลแล้ว เผลอๆ ส่งได้ 9 ชิ้น แล้วอีกชิ้นหนึ่งละ ให้รอไปก่อนหรือไม่อยากรอเอาใบที่พรินต์จากออนไลน์ไปรับของที่สาขา ถ้าต้องไปสาขาผมก็ไปสาขาซื้อครั้งเดียวก็จบหรือไม่

Business Model แบบนี้ ลูกค้าไม่เคยประทับใจทำให้วอลมาร์ตไม่ประสบความสำเร็จ สองต้นทุนคุณมีสองด้าน สาขาก็มี ออนไลน์ก็มี จึงเป็นที่มาว่าองค์กรที่มี Business Model ที่เป็นออฟไลน์แล้วประสบความสำเร็จ

ซึ่งตอนหลังวอลมาร์ตเริ่มเข้าใจและปรับตัว แต่ใช้เวลาเกือบ 8-9 ปี อเมซอนก็ปรับตัวมีสาขา เพราะวอล-มาร์ทสามารถสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีในออนไลน์”

 

ผศ.ดร.วิพุธ อ่องสกุล คณบดี คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA BUSINESS SCHOOL) ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่จะใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษาของคณะ ในยุคปัจจุบันโดยจะเลือกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ Digital Transformation สอดแทรกให้กับนักศึกษาในวิชาต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมผู้เรียนให้สามารถรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค รวมถึงกลไกวิธีการทำงานในอุตสาหกรรมที่กำลังปรับเปลี่ยน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีด้านต่างๆ ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตและรูปแบบการทำงานของคนในแทบทุกอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษาในฐานะแหล่งพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงก็จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับการผลิตบุคลากรป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมต่างๆ แม้ประเทศไทยจะยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจนจากกระแสดิจิทัลในแวดวงการศึกษามากนัก เห็นได้จากรูปแบบการเรียนการสอนที่ยังเน้นการใช้ห้องเรียน ตำราวิธีการสอนยังคงไม่แตกต่างจากที่เคยเป็นมาเท่าใดนัก แต่จากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่สามารถค้นหาองค์ความรู้ที่สนใจจากสื่อออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง แรงกระเพื่อมนี้อาจส่งผลต่อผู้เรียนในยุคต่อไป 

ปรับบทบาทสถานศึกษา

หากมองจากบทบาทของสถาบันการศึกษา 3 ประการที่สำคัญ ประกอบด้วย Creation of Knowledge การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ผ่านกระบวนการวิจัย Disseminate of Knowledge คือการเผยแพร่ความรู้ และ Authority Granted Degree เป็นผู้มีอำนาจในการให้ปริญญา

ผศ.ดร.วิพุธ มองผลกระทบต่อสถาบันอุดมศึกษาจากความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมา และการเตรียมพร้อมรับมือโดยแบ่งไปตามแต่ละบทบาทว่า

“เพราะพฤติกรรมของคนเปลี่ยน เรื่องการเรียนรู้ของคนก็เปลี่ยน จากเดิม หนึ่งมาในห้องเรียน สองซื้อหนังสืออ่าน ปัจจุบันแหล่งการเรียนรู้ของมนุษย์เปลี่ยนรูปแบบเช่นเดียวกับการเสพสื่อ เราก็จะเห็นคนเปลี่ยนพฤติกรรมไป เราก็เห็นว่าเทรนด์เหล่านี้เป็นเทรนด์ที่สำคัญ อะไรที่จะเป็นสิ่งสำคัญในเทรนด์ที่กำลังจะเปลี่ยน หากดูจากบทบาททั้งสามของเรา บทบาท Disseminate of Knowledge เราจะเห็นว่าแหล่งการเรียนรู้ในปัจจุบัน มีแหล่งเรียนรู้ได้หลากหลายอย่าง เช่น ผ่านระบบ MOOC Massive Online Learning, You Tube แม้แต่ฟรีแวร์ต่างๆ ที่เป็นระบบการเรียนรู้ที่เรียกว่า LMS Learning Management System 

แสดงว่าในเชิงของการเผยแพร่ความรู้เราต้องเปลี่ยนวิธีการ เนื่องจากการเรียนรู้ของคนเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนวิธีการสอน การเผยแพร่ความรู้ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ที่มาเรียนหนังสือ ดังนั้น ต่อไปนี้การเรียนรู้จะเป็นรูปแบบที่มหาวิทยาลัยควรต้องเปลี่ยนคือเป็น Interactive Learning เป็นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกันเอง ซึ่งโดยขอบเขตในอดีตจะอยู่ในห้องเรียน ปัจจุบันคือ สามารถเรียนรู้ได้ Anywhere Any Platform Anytime 

ทางคณะบริหารธุรกิจก็ต้องเริ่มสอนทางออนไลน์ บางคนอาจจะมองออนไลน์เป็นการเรียนการสอนทางไกล แต่ไม่ใช่ การเรียนรู้ออนไลน์จะมาช่วยให้ Interactive Learning ดียิ่งขึ้น เขาสามารถถามคำถามอาจารย์ เดิมกว่าจะถามคำถามอาจารย์ได้ต้องถามในห้องเรียน ปัจจุบันนึกขึ้นมาได้ก็ยกมือถือมากด หน้าที่อาจารย์ที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น คือต้องตอบสนองต่อคำถามเหล่านั้น และถ้ามีคำถามมาคล้ายๆ กันจากนักศึกษาหลายคน อาจารย์อาจจะหาทางตอบคำถามนั้นในเชิง Mass ได้เช่นอาจจะอัดคลิป พวกนี้เป็นระบบที่รองรับการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ เพราะการเรียนรู้จะไม่ใช่เวลาเจาะจงแล้ว ขึ้นกับว่าช่วงนั้นเขาว่าง เขาอยากเรียนรู้ ก็จะกลายเป็นมีเวลาในการเรียนต่างกัน ภายใต้ Platform เดียวกัน สมัยก่อนต้องมา 18.00-21.00 เท่านั้น ปัจจุบันเราอาจจะไม่ว่าง 6 โมงเย็น เราว่างเที่ยงคืนเราก็สามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ คือดูคลิปอาจารย์ สงสัยก็อาจจะไปดูเว็บบอร์ด ทิ้งคำถาม ดูว่ามีเพื่อนตอบไหม ซึ่งอาจจะมีเพื่อนช่วยตอบตอนนั้นก็ได้ อาจจะมีเพื่อนบางคนเรียนมาแล้วตอน 6 โมงเย็น

Creation of Knowledge เราก็มองถึง R to R คือ Routine to Research หรือ Project to Research หมายถึงว่างานที่อาจารย์ทั้งหลายได้ไปให้คำปรึกษาน่าจะสามารถนำมาเขียนเป็น Action Research ได้ คือสามารถนำมาสรุปผลเพื่อทำให้การเอาผลจากที่เราไปศึกษาเชิงลึกมาใช้พัฒนาหรือใช้ปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับองค์กร เช่น เราไปช่วยองค์กรหนึ่งในการปรับปรุงเรื่องอัตราการลาออก เราได้ข้อสรุปจากการเข้าไปเกี่ยวข้อง ได้โมเดลมา เราก็สามารถนำโมเดลนั้นมาใช้ในการแก้ปัญหา หรือเผยแพร่ให้องค์กรอื่นสามารถนำวิธีการที่ประสบความสำเร็จมาใช้ได้ ซึ่งนักวิจัยเป็นคีย์สำคัญในการเชื่อมเรื่องเหล่านี้ เพราะถ้าเราไปดู Best Practice ถ้าไม่มีนักวิจัยจะเห็นแค่ผล แต่ไม่เห็นวิธีการ ในเชิงลึกๆ ซึ่งนักวิจัยเขาสามารถสรุปข้อดี สรุปผล และเชื่อมโยงระหว่างผลกับวิธีการให้เห็นความสัมพันธ์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นี่คือบทบาทที่ต้องเปลี่ยนไปของมหาวิทยาลัย 

เราสังเกตดู เรื่อง Disruptive ไม่ได้เปลี่ยน What แต่เปลี่ยน How เช่น เราพูดถึง Uber คำถามคือ Uber เปลี่ยน What หรือ How คำตอบคือเปลี่ยน How วิธีการเรียกแท็กซี่ อย่างไรสุดท้ายเรายังต้องเอาตัวเราไปขึ้นแท็กซี่และรถต้องพาเราไปอยู่ดี การเรียนการสอน การเผยแพร่ความรู้ก็ยังคงต้องมี แต่ว่าเปลี่ยนวิธีการในการสอนให้เป็น Interactive Learning  เรื่อง Authority Granted Degree สถาบันการศึกษาจะหมดความหมายหมดความสำคัญทันที ถ้าต่อไปนี้องค์กรเน้น Competency (สมรรถนะ ความสามารถ) ไม่เน้นใบดีกรี หมายถึงองค์กรอาจจะมีวิธีการคัดเลือกคนที่มี Competency เหมาะกับเขา เช่น Google ในสหรัฐอเมริกา เขาก็เริ่มจะไม่สนใจดีกรี ใน 3 บทบาท Disrupt ที่เรากลัวที่สุดคือ ตัวอุตสาหกรรม รับคนในรูปแบบของ Competency และพัฒนาคนเอง 

ผมว่าเรื่องนี้ยากที่สุด เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยเองต้องเริ่มมองถึงตัวหลักสูตรให้ตรงกับอุตสาหกรรมมากขึ้น สมัยก่อน ตรงบ้างไม่ตรงบ้างเขาก็ยังยอมถูๆ ไถๆ กันไป อุตสาหกรรมชอบมาบ่น สอนอะไรมา สมัยก่อนยังมีช่องว่าง มหา-วิทยาลัยไม่ต้องปรับตัวมาก อุตสาหกรรมก็ยังยอมรับ แต่ปัจจุบันถ้าเรายังไม่ปรับตัว ไม่ฟังเสียงอุตสาหกรรมอยากสอนอะไรก็ไม่รู้ ผมการันตีว่าตายแน่”

 

ภารกิจต้องเปลี่ยน

เพื่อรองรับกับการปรับบทบาทของสถาบันการศึกษา ภารกิจอาจารย์นิด้าจึงต้องเปลี่ยนตามไปด้วยสูตร 1/3+1/3+1/3 คือ การออกไปให้คำปรึกษา สอน และเขียนงานวิจัย อย่างละ 1 ใน 3 เพื่อตอบโจทย์การหาองค์ความรู้ใหม่ที่ตรงกับความความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน การเรียนการสอนออนไลน์ก็เป็นอีกเรื่องที่ ผศ.ดร.วิพุธ ให้ความสำคัญ เขาเล่าแนวคิดที่มีว่า หากการเรียนออนไลน์แล้วยังต้องให้ผู้เรียนมาที่สถาบันการศึกษาอีกก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ของคณะบริหารธุรกิจ ที่เตรียมไว้ต่อไปจะต้องเป็นออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ หากเลือกทำแบบครึ่งหนึ่งออนไลน์ ครึ่งหนึ่งออฟไลน์ ก็จะไม่สามารถเห็นผลได้อย่างชัดเจน

“เราจะแยกอาจารย์เป็น 2 กลุ่ม คุณสอนออนไลน์คุณจะไม่มีสิทธิเจอนักศึกษา ไม่ต้องเข้ามา ดังนั้นตอนนำไปปฏิบัติ (Implement) แยก แต่ตอนใช้งานจริง ผมอาจจะให้นักศึกษาเลือกได้ ครึ่งหนึ่งเรียนออนไลน์ อีกครึ่งขอมาเจอหน้า อาจารย์เพื่อนๆ ตอนนั้นทำได้ แต่ตอน Implement แยกกัน ไม่เช่นนั้นจะไม่มีวันสำเร็จ คุณจะทำแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ให้ประสบการณ์ที่ดีกับเด็กที่ไม่เจอหน้า ที่เขาสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น”  ผศ.ดร.วิพุธกล่าวและอธิบายต่อว่า

แม้รูปแบบการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไป แต่ภาระหน้าที่ทั้งของผู้เรียนและผู้สอนยังคงมีมากเช่นเดิม โดยเฉพาะในฝั่งอาจารย์ ที่ต้องปรับให้เหมาะกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ เช่น เนื้อหาที่ใช้สอนจะต้องสั้นกระชับ มีการปรับเปลี่ยนการนำเสนอ ลำดับขั้นเนื้อหาให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ อาจารย์ที่เข้าร่วมการสอนออนไลน์จะต้องคอยปรับปรุงเนื้อหาการเรียนการสอนจนกว่าสิ่งที่ทำไปนั้นลงตัวซึ่งถือว่าเป็นการเรียนรู้ของคณาจารย์ไปพร้อมกัน
 

ผศ.ดร.วิพุธ ให้ความเห็นว่า การเริ่มต้นก่อนเป็นเรื่องที่ดี เพราะผู้ที่เริ่มก่อนมีโอกาสทดลองทำในสิ่งต่างๆ ได้มากกว่า ในช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวเองอย่างรวดเร็วย่อมดีกว่าไปเปลี่ยนตอนที่อุตสาหกรรมปรับไปหมดแล้ว ซึ่งอาจจะไม่ทันกาล เพราะมีตัวอย่างให้ผู้บริโภคเห็นสามารถนำมาเปรียบเทียบได้ ในส่วนของเนื้อหาวิชาการยังคงเป็นวิชาทางด้านบริหารธุรกิจที่เป็นแกน แต่จะสอดแทรกแนวคิดเรื่อง Digital Transformation ไปตามรายวิชาต่างๆ เพื่อให้นักศึกษากล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เพราะการทดลองในห้องเรียนมีข้อดีคือ ยังไม่มีต้นทุน ทำให้นักศึกษาสามารถหลุดจากกรอบสิ่งแวดล้อมเดิมๆ สามารถนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ โดยอาจารย์แต่ละวิชาจะให้ผู้เรียนคิดภายใต้นิเวศใหม่เพื่อรับการเปลี่ยนแปลง เพราะระบบนิเวศใหม่บนโลกใบนี้ที่ดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น รูปแบบหรือ How ที่เปลี่ยนไปในเกือบทุกอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเลือกใช้ความรู้ความชำนาญที่มี ผสมผสานกับแนวคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อนำ What หรือสิ่งที่องค์กรนำเสนอไปสู่ผู้บริโภค ตราบที่องค์กรธุรกิจยังต้องมีการบริหารการจัดการ เนื้อหาวิชาจากโรงเรียนธุรกิจ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ รองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยได้อย่างดีที่สุด

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ 
ภาพ : วันเฉลิม สุทธิรักษ์

 

X

Right Click

No right click