บริหารธุรกิจและการจัดการ สจล. เป็นหลักสูตรที่มีอยู่เดิม และในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้น เพื่อรับกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ผศ.ดร.วอนชนก ไชยสุนทร รองคณบดีคณะการบริหารและจัดการ อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ภาควิชาบริหารธุรกิจและการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. กล่าวถึง ภาควิชาบริหารธุรกิจและการจัดการว่า มีหลักสูตรครอบคลุมทุกระดับ เริ่มจากในระดับปริญญาตรี คือหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต ซึ่ง สจล. เปิดการเรียนการสอนมานานเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี มีการบ่มเพาะองค์ความรู้ที่เป็นจุดเด่นของ สจล. ในด้านการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจที่อยู่ในสถาบันเทคโนโลยี จึงมีจุดเด่นในด้านการผนวก 2 ศาสตร์ คือ ศาสตร์การบริหารธุรกิจและศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีเข้ารวมกัน ครอบคลุมถึงการบริหารธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ และแน่นอนว่าศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจเป็นศาสตร์ที่ไม่มีการหยุดนิ่ง การดำเนินงานของหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนจึงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงให้สอดคล้องต่อสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะการบริหารและจัดการมีจุดเด่นที่แตกต่างคือมีความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งกว่า จึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับกระแสสังคมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ผนวกรวมกับคุณลักษณะเด่นของบัณฑิตของสถาบัน “ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ สู้งาน” บัณฑิตของคณะ จึงมีลักษณะของการเป็นนักบริหารธุรกิจที่ไม่นั่งติดโต๊ะ พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับตัวได้หลากหลายสายงาน ทั้งในสายการเงิน หรือเทคโนโลยี รวมถึงสายงานที่ทันสมัยในปัจจุบัน เช่น Data Scientist, Digital Marketing เป็นต้น รวมถึงการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรมีส่วนสนับสนุนการประอาชีพเป็นอย่างแน่นอน จึงนับว่าเป็นจุดแข็งและความได้เปรียบของหลักสูตร เพราะมีโอกาสเติบโตชัดเจน สอดคล้องกับทิศทางตลาดแรงงานวันนี้ ยิ่งไปกว่านั้นในอนาคตอันใกล้จะมีการเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น ทั้งสาขาการบริหารเทคโนโลยี และสาขาการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม อีกด้วย

ส่วนระดับปริญญาโท คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือ MBA ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผลิตมหาบัณฑิตมาอย่างยาวนานกว่า 20 รุ่น แต่จุดสำคัญของปีการศึกษา 2561 นี้ สามารถเรียกได้ว่าเป็นหลักสูตร MBA ฉบับปรับปรุงใหม่แกะกล่อง โดยการปรับปรุงครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนก้าวทันกระแส Industrial 4.0 โดยการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทของคณะการบริหารและจัดการ สจล. ถึงแม้จะเป็นเสมือนสาขาบริหารธุรกิจทั่วไป แต่มีรายวิชาให้ผู้เรียนได้เลือกอย่างหลากหลายตามความสนใจ อาทิ นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ การจัดการธุรกิจบริการและเทคนิคการบริการลูกค้า การจัดการทางการเงินขั้นสูง การจัดการผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ทุนมนุษย์ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 รวมถึงการจัดการทรัพยากรมนุษย์ทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันคณะการบริหารและจัดการยังมีหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการกีฬา สื่อและบันเทิง อีกด้วย

ผศ.ดร.วอนชนก เล่าถึงจุดเด่นของหลักสูตร MBA ว่า มีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงด้านการบริหารเทคโนโลยีและการบริหารอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนาน รวมถึงการเปิดกว้างให้แก่ผู้เรียนที่จบมาจากทุกสาขา และไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่จบในสาขาบริหารธุรกิจเท่านั้น เนื่องจากหลักสูตรมีรายวิชาปรับพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเป็นมหาบัณฑิต MBA ได้อย่างแน่นอน ซึ่งการเปิดกว้างในลักษณะนี้จะสนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนบริหารธุรกิจ ไปต่อยอดจากความรู้เดิมที่แต่ละคนมี ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ตลอดจนสายการแพทย์การพยาบาล เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นหลักสูตร MBA ของลาดกระบัง ยังเป็นหลักสูตรที่รองรับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ทางกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก บางนา สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียง เนื่องจากนักศึกษาสามารถเดินทางมาเรียนที่ สจล.ได้อย่างสะดวกสบาย

“นักศึกษาระดับปริญญาโทจำนวนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนที่มีประสบการณ์ทำงานมาอย่างน้อย 1-2 ปี และทำงานเป็นผู้บริหารระดับต้นถึงระดับกลาง เป็นบุคคลที่ต้องการพัฒนาความรู้และประสิทธิภาพในการทำงานให้เพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ที่ต้องการปรับเปลี่ยนสายงานไปสู่งานด้านการบริหารองค์กร ดังนั้นความแข็งแกร่งทางวิชาการ ความน่าเชื่อถือและความมีชื่อเสียงของสถาบัน ผนวกกับความสะดวกในการเดินทางมาเรียน จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้นักศึกษาจำนวนมากตัดสินใจเลือกเรียนที่นี่มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นการที่ผู้เรียนมีจบมาจากสาขาวิชาที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บูรณาการมุมมองอย่างหลากหลาย พร้อมทั้งมีคณาจารย์จำนวนมากที่สามารถให้การดูแลและเอาใส่ใจ เพื่อให้นักศึกษาที่จบออกไปมีคุณภาพที่ดีที่สุด”

ในส่วนของการศึกษาระดับปริญญาเอก หรือหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม ของภาควิชาบริหารธุรกิจและการจัดการ เป็นหลักสูตรที่ได้รับการตอบรับจากผู้ที่สนใจเข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก แต่เพื่อให้การดูแลการจัดการเรียนเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ในปัจจุบันจึงชะลอการรับนักศึกษาใหม่ แต่ ผศ.ดร.วอนชนก บอกว่าในภาคเรียนต่อไป จะเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่อย่างแน่นอน เนื่องจากในปี 2562 จะถือว่าเป็นปีแห่งความพร้อมของคณะ ที่มีแผนจะเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่าครอบคลุมอุตสาหกรรมทุกด้าน ไม่ว่าเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการนำเข้า-ส่งออก ธุรกิจระหว่างประเทศ ท่องเที่ยว และอื่นๆ โดยนักศึกษาระดับปริญญาเอกของคณะส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจหรือเป็นบุคคลที่ตำแหน่งทางการบริหารระดับสูง ซึ่งจะมีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายในแต่ละสายงาน เมื่อเข้ามาศึกษาต่อ จึงเป็นเน้นการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีผนวกเข้ากับการค้นคว้า วิจัย วิเคราะห์ข้อมูลตามความสนใจ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ที่จะนำไปสู่การประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

พิจารณาได้จากผลงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น ในวงการอสังหาริมทรัพย์ สิ่งทอ แฟชั่น เนื่องจากการเรียนการสอนจะมุ่งเน้นให้นักศึกษามีคุณลักษณะเป็นนักวิจัย ที่พร้อมแก่การวิเคราะห์ เจาะลึกถึงข้อมูลและพฤติกรรมของผู้บริโภค ผ่านการใช้สถิติและโปรแกรมการวิเคราะห์ขั้นสูง ทั้งนี้เนื่องจากงานวิจัยในศาสตร์ด้านการบริหาร ผลลัพธ์ที่ได้ แม้จะไม่เป็นนวัตกรรมหรือชิ้นงาน แต่จะได้เป็นโมเดลหรือแผนงานทางธุรกิจที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างแน่นอน

“การเรียนการสอนของคณะ มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งในการวิจัย เพื่อนำไปสู่การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานทางวิชาการในฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาติ ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เวลาและใช้พลังของทั้งนักศึกษาและอาจารย์เป็นอย่างมาก ทำให้การเรียนปริญญาเอกของที่นี่ อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 ปีเพื่อจบการศึกษา แต่มั่นใจได้ว่าเป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพอย่างแน่นอน”

จากที่กล่าวไป แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของหลักสูตรของคณะการบริหารและจัดการ ที่มีตั้งแต่หลักสูตรระดับปริญญาตรี โท และเอก ที่เรียกได้ว่าเป็นโครงสร้างเดียวกัน อีกทั้งคณาจารย์ในสังกัดของคณะเกือบทั้งหมดสามารถดูแลนักศึกษาได้ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก โดยมีคุณสมบัติครบตามมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา รวมถึงยังมีอาจารย์ที่ได้รับการรับรองความรู้ความสามารถในฐานะ Trainer จากภาคธุรกิจระดับโลก เช่น Alibaba ผนวกกับจุดเด่นของคณะบริหารและจัดการ คือความแตกต่างและโดดเด่นทางด้านความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของนักศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ จึงทำให้เชื่อมั่นได้ว่าบัณฑิตของคณะจะอยู่ในกระแสของโลกได้อย่างมีศักยภาพ 


 

รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้บรรยายถึงประเด็นสำคัญบนเวทีใหญ่งาน Thailand MBA Forum 2018

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีมีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก ผลสืบเนื่องคือพฤติกรรมของผู้บริโภคถูกเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เมื่อพฤติกรรมคนเปลี่ยน สิ่งที่ตามมาคือ ผลกระทบทางสภาพสังคมก็เปลี่ยนแปลงไป นั่นหมายถึงสภาพการแข่งขัน และแรงกดดันของการแข่งขันก็มีการเปลี่ยนแปลงเฉกเช่นกัน สิ่งสำคัญในฐานะผู้บริหาร คือการเตรียมแผนและการตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีให้เท่าทัน ในด้านของนักศึกษา ทั้งบัณฑิตและมหาบัณฑิตที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดงาน ต้องตระหนักให้ได้ว่า ทักษะและความรู้ที่จะทำงานในยุคดิจิทัลต้องเป็นอย่างไร” 

รศ.ดร. จงสวัสดิ์ ได้สรุปความโดยอ้างอิงข้อมูลของ Oliver Ratzesburger ที่ชี้ให้เห็นว่า ทุกวันนี้การยอมรับและการนำเทคโนโลยีมาใช้อยู่ในอัตราตอบรับที่เร่งมากขึ้น อย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การใช้เทคโนโลยีประเภทอินเทอร์เน็ต ถือเป็นเรื่องปกติ 

นอกจากนั้น ยังได้เผยถึงตัวเลขมูลค่าการตลาดของโมไบล์แอปพลิเคชัน ของปี 2017 ที่อเมริกามีมูลค่าสูงถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการลงเม็ดเงินในโซเชียลมีเดียอย่างมหาศาล รูปแบบการเก็บข้อมูลเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปสู่การเก็บ-ใช้ข้อมูลใน คลาวน์ มีการนำ Big Data ที่เป็นการใช้ข้อมูลต่างๆ เพื่อการออกแบบกลยุทธ์ เรื่อง Neuroscience เป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโต ผลิตภัณฑ์และการบริการเริ่มประยุกต์นำ Sensor มาติดวัดเพื่อสร้างเป็นเครือข่ายข้อมูล เพื่อศึกษาและพัฒนาการเข้าถึงแนวคิดและการรับรู้ของลูกค้าต่อคุณภาพสินค้าและบริการอย่างเป็นตรรกะและเชื่อถือได้ และต่อไปเรื่อง AI และ Deep Learning เป็นสิ่งที่ยุค 5G จะมีการหยิบยกมาใช้อย่างเป็นเรื่องปกติสามัญ

ทั้งนี้ รศ.ดร.จงสวัสดิ์ ได้เน้นย้ำว่า “ประเด็นสำคัญที่อยากให้ดูคือ การทำงานทุกอย่างนับแต่นี้จะเป็น Real-Time มากขึ้น ลูกค้าต้องสามารถทำทุกอย่างได้เอง เทคโนโลยีได้เปิดโอกาสและอนุญาตให้หลายสิ่งเป็นไปได้ แต่คำถามคือ “องค์กรปรับตัวตามได้มากน้อยแค่ไหน” มีกรณีศึกษาของหลายองค์กรที่ตามไม่ทันเทคโนฯ หรือการตัดสินใจไม่ยอมรับในการเปลี่ยนแปลง อาทิ บริษัท โกดัก ผู้ผลิตฟิล์มที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต หรือ กรณี Blockbuster ที่ปฏิเสธการลงทุนใน Netflix ร้านของเล่น Toyrus ที่ปิดตัวลง เพราะพฤติกรรมการเล่นของเด็กเปลี่ยนไปอยู่ในออนไลน์ในที่สุด”

ทุกวันนี้ องค์กรธุรกิจชั้นนำล้วนปรับนำ Algorithm มาใช้ในการบริหารงาน ซึ่งสามารถทำงานแทนคนจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดการข้อมูล เพื่อคาดการณ์ เพื่อการวางแผนทั้งในด้าน Operation และการวางกลยุทธ์ในการบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ทุกองค์กรต้องปรับตัวแทบทั้งหมด เหตุผลสำคัญคือ เพื่อการลด Uncertainty หรือความไม่แน่นอน บนข้อมูลที่จะสามารถรวบรวมและประมวลมาได้ ทั้งข้อมูลลูกค้า ข้อมูลการเงิน ข้อมูลอุตสาหกรรม และข้อมูลต่างๆ เพื่อค้นหา Trend หา Spotting Trend เพื่อค้นหาว่าจะมี signal หรือสัญญาณใดที่จะบอกให้รู้ว่า สิ่งไหนคือเทรนด์ที่ถ้าองค์กรไม่ปรับ คือ ตายแน่นอน! และนอกเหนือจากนั้น คือการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่สำคัญ” รศ.ดร.จงสวัสดิ์ 

6 กลยุทธ์ดิจิทัล เพื่อองค์กร : 6 Types of Digital Strategy (HBR) 

รศ.ดร จงสวัสดิ์ ได้อ้างอิงถึง 6 กลยุทธ์เพื่อการปรับตัวขององค์กรและธุรกิจ ในยุคดิจิทัล ของ Harvard Business Review เพื่อเป็นแนวคิดและแนวทาง อาทิ การปรับเปลี่ยน Platform Play ที่ต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป หรือการสร้างแนวทางกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ให้กับลูกค้า เช่น H&M หรือ IKEA ที่ใช้กลยุทธ์ New Marginal Supply เช่นการเปิดช่องทางขายสินค้ามือสองให้กับลูกค้าชั้นดี เพื่อเป็นทางเลือก และที่น่าสนใจและจับตาคือ ใช้กลยุทธ์ Digital-
Enabled Products and Services ที่ปรับสินค้าและบริการให้เชื่อมต่อกับความเป็นดิจิทัล โดยมีการนำ Sensor มาติดกับผลิตภัณฑ์ เช่น ผ้าอ้อมเด็ก ที่ปั๊มนม และกรณีศึกษาที่โด่งดังคือ แปรงสีฟัน Oral B โดย Sensors เหล่านั้นจะส่งผ่านข้อมูลของการใช้งาน อาทิ ความชื้นของผ้าอ้อม แรงดันและปริมาณน้ำนมจากการปั๊ม และคุณภาพของการแปรงฟัน ซึ่งทั้งหมดจะถูกส่งเข้าสู่แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ เพื่อเป็นข้อมูลกับผู้ใช้งาน

นอกจากนั้น Digital Strategy ยังมีในเรื่อง Rebunding and Customizing, Digital Distribution Channel และ Cost Efficency ที่ HBR ได้เสนอแนวคิดและแนวทางไว้ แต่ประเด็นสำคัญที่ รศ.ดร.จงสวัสดิ์ ต้องการชี้ให้ตระหนักและเล็งเห็นคือ “เมื่อเรารู้ว่า เทคโนโลยีเปลี่ยน เราจะ adopt เทคโนโลยี หรือนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ได้อย่างไร นั่นคือประเด็นที่สำคัญกว่า”

สำหรับนักศึกษาในสาขา MBA ในยุคนี้ รศ.ดร. จงสวัสดิ์ กล่าวว่า 

“เป้าหมายของการเรียน MBA ในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อ 10 ปีก่อน เป้าหมายสำคัญของการเรียน MBA จะกำหนดเป้าหมายไปที่เรื่อง Logical Thinking, Critical Thinking, Analytical Thinking และ Strategic Thinking หมายความว่า นักศึกษาที่จบ MBA จะต้องมีความรู้ มีแนวคิด กระบวนการคิดจนไปสู่กระบวนการสร้างกลยุทธ์ธุรกิจ การบริหารและการตลาดได้ ซึ่งภายใต้เป้าหมายและความคาดหวังใหม่ รศ.ดร. จงสวัสดิ์ ได้เสนอการ+ เพิ่มเรื่อง Technological Data Driven IT-Background เข้าไปด้วย เพราะทุกวันนี้และต่อไปจะไม่มีองค์กรใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องไอที หมายความว่า นักศึกษา MBA จะต้องสื่อสารและทำงานร่วมได้กับนักจัดการ IT เพื่อธุรกิจและองค์กร” 

“ในปัจจุบัน การตลาดประเภท Traditional Marketing ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป จากอดีตที่เคยเป็น Top-Down Approach ที่รู้ทฤษฎีด้านการตลาดแล้วสามารถแปลงทฤษฎีมาเป็นกลยุทธ์ แต่คำตอบของยุคปัจจุบันคือ Bottom-Up Policy ที่จะเป็นการใช้ดาต้า ใช้ข้อมูลจากทั้งลูกค้า พฤติกรรมต่างๆ มาสร้างกลยุทธ์” 


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ Technology Effects & Management Transformation โดย รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จากงาน Thailand MBA Forum 2018 ได้ที่นี่

 

ในวันนี้คำว่า “Smart Farming” หรือ “เกษตรอัจฉริยะ” ได้ถูกหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย หยิบยกขึ้นพูดถึงว่าเป็นอนาคตและความอยู่รอดและสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ของภาคการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะยุค 5G ในขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นเสมือนภาพลักษณ์ของความเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ พร้อมกันนี้ Smart Farming ยังมาพร้อมกับการลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีอีกด้วย 

คำถามคือ Smart Farming จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรไทยได้จริงหรือ ทำได้อย่างไร อะไรคือช่องว่างที่ทำให้เกษตรกรไทยยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี Smart Farming และจะปิดช่องว่างนี้ได้อย่างไร 

เพื่อหาคำตอบ แสวงแนวทางเพื่อปิดช่องว่าง และสร้างความเชื่อมโยงเทคโนโลยีสู่การทำเกษตรกรรมแบบสมาร์ต ภายในงาน Thailand MBA Forum 2018 : The Next Chapter of Tech & Management จึงได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง Advance Technology for “Smart Farming” ขึ้น โดยได้รับเกียรติจากคณะวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรง ประกอบด้วย ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.นฤทัย วรสถิตย์ รักษาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร, เรืองชัย เจริญกิจสุพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรม SMEs เกษตรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ ณัฐ มั่นคง ผู้ประกอบการเกษตร “โคโค่ เมล่อน ฟาร์ม” มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในประเด็นดังกล่าว

อะไรคือช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกรไทย

ดร.นฤทัย วรสถิตย์ : ช่องว่างในระบบผลิตภาคการเกษตรของเรามีเยอะมาก ย้อนไป 30-40 ปีที่แล้ว ประเทศไทยนับว่าเป็นผู้นำด้านการเกษตร เราผลิตได้ดี เป็นเบอร์ 1 ของการส่งออกสินค้าการเกษตรในหลายๆ ประเภท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่มีสภาพ-แวดล้อมที่เอื้ออำนวยกว่าหลายๆ ประเทศ เกษตรกรบ้านเราก็มีประสบการณ์สูง แต่ก็ยังมีพื้นที่ทางการเกษตรกรอีกหลายๆ พื้นที่ ที่มีสภาพแวดล้อมไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไรนัก ยกตัวอย่าง ทางภาคอีสาน ซึ่งดินมีสภาพเป็นดินปนทราย ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ ไม่มีระบบชลประทานที่ดีมากพอ ต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติอย่างเดียว เกษตรกรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อการบริโภคเหลือก็ขายบ้าง เพียงพอต่อการใช้ยังชีพ เพราะในขณะนั้นต้นทุนในการผลิตยังไม่สูงมากนัก 

แต่เมื่อเกษตรกรมีการใช้ดินใช้ทรัพยากรไปเรื่อยๆ ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติในดินก็ลดลง ในขณะเดียวกันการเติมความสมบูรณ์กลับลงไปในดินก็ไม่ได้มากพอ บวกกับบางปีเจอกับฝนแล้ง ดินขาดน้ำเมื่อเกษตรกรเริ่มมีการลงทุนใส่ปุ๋ยต่างๆ เพื่อเติมลงไปในดินหวังจะให้เป็นอาหารของพืชผล แต่เมื่อไม่มีน้ำเป็นตัวทำละลาย ปุ๋ยก็ไม่สามารถเติมความสมบูรณ์กลับเข้าไปในดินได้ การลงทุนจึงไม่คุ้มและไม่เกิดประโยชน์ เมื่อได้รับผลตอบแทนไม่คุ้มค่าจึงทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งต้องออกไปนอกทำงานนอกภาคการเกษตร ลูกหลานก็ไปอยู่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเกษตรเช่นกันและไม่ได้มองว่าการเกษตรเป็นรายได้หลักอีกต่อไป ในสถานการณ์เช่นนี้หากจะให้เกษตรกรกลุ่มนี้ต้องมาลงทุนเทคโนโลยี ก็จะไม่มีใครกล้าลงทุน หากต้องลงทุนด้วยตัวเอง ซึ่งนี่ก็คือหนึ่งในช่องว่างที่เกิดกับเกษตรรายย่อยของไทย

ช่องว่างต่อมาคือ รูปแบบการรายงานผลผลิตสินค้าเกษตรหรืออะไรก็ตามของประเทศ ส่วนใหญ่มักจะเป็นการรายงานภาพรวมเป็นค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ เราแทบจะไม่เคยมีการแยกแยะหรือโฟกัสออกมาเป็นส่วนๆ ทำให้ข้อมูลไม่เอื้อต่อการที่จะให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ใช้ทักษะหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมหรือการพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสม หรือคำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงกับปัญหาพืชผลทางการเกษตรได้มากเท่าที่ควรเพราะขาดข้อมูล

อีกหนึ่งช่องว่างที่ทำให้เกษตรกรไทยไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มากเท่าที่ควรทั้งที่ประเทศไทยมีหน่วยงานที่สนับสนุนการพัฒนาการเกษตรกรอยู่มากมายก็คือ หน่วยงานของภาครัฐมีการแบ่งงานกันออกเป็นส่วนๆ เป็นกรม กอง ไม่เอื้อต่อการเชื่อมโยงในการทำงาน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันภาครัฐจะมีการสนับสนุนให้แต่ละหน่วยงานมาทำงานมาระดมความคิดทำโครงการร่วมกัน แต่เมื่อจบโครงการก็จบไม่ได้มีระบบที่จะสร้างให้เกิดการทำงานต่อเนื่อง ไม่มีระบบที่จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องจะสามารถเห็นภาพได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ 

ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ : ช่องว่างของการเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกรคือ ต้องสามารถตอบคำถาม 2 ข้อนี้ให้ได้ คำถามแรกคือ เกษตรกรได้อะไรจาก Smart Farming คำถามที่สองคือผู้บริโภคได้อะไรจากการบริโภคพืชผลจาก Smart Farming 

ตอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้วางธีมเกี่ยวกับเรื่องของนวัตกรรม (Innovation) เรื่องของ Disruption (สภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล) ภาคการเกษตรก็เป็นด้านหนึ่งของการทำงานครั้งนี้ ด้วยคำถามแรกว่า เกษตรกรได้อะไรจาก Smart Farming คือเรื่องของซัพพลาย (Supply) คำถามถัดมาผู้บริโภคได้อะไรจาก Smart Farming นั่นคือเรื่องของดีมานด์ (Demand) การที่ผู้บริโภคต้องจ่ายมากขึ้นจากการซื้อสินค้าที่ได้ชื่อว่าเป็น Smart Farming จะได้อะไรที่เพิ่มเติมขึ้นหรือมีอะไรที่ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจเพิ่มขึ้น

ผมได้พยายามหาคำตอบ ซึ่งก็ยังไม่พบ จนได้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ที่นี่มีการทำ Smart Farming มีการทำโรงเรือนโดยการควบคุมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอากาศ ความชื้น อุณหภูมิ ธาตุอาหารในดิน แสง จากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานทำด้านนี้ในประเทศญี่ปุ่นพบว่า ผู้ประกอบการที่ทำแบบนี้อยู่รอดแค่ 25% เรียกได้ว่า ทำ 4 ราย เจ๊งไป 3 ราย เหลือรอด 1 ราย

ผมได้สอบถามเกษตรกรว่ามีการดำเนินงานต่างจากรายอื่นตรงไหน ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า ผู้ประกอบการรายนี้มองตั้งแต่การผลิตไปจนถึงมือลูกค้าเลย การเกษตรของญี่ปุ่นรายนี้ได้ตอบได้ว่า สิ่งที่เขาได้รับจากการทำ Smart Farming คือ ความสามารถในการควบคุมคุณภาพของผลผลิตภายในฟาร์มได้ทั้งหมด และสามารถป้อนสิ่งที่พืชผลต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งหมดนี้ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นติดตามมา เกษตรกรรายนี้ยังได้ตอบถึงสิ่งที่ผู้บริโภคได้รับจากการที่จ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อพืชผลทางการเกษตรจาก Smart Farming ของเขาว่าลูกค้าจะได้ผักของเขามีวิตามินสูงกว่าฟาร์มทั่วไป และนอกจากนี้หากลูกค้าที่ต้องการผักที่มีกากใยอาหารเพิ่มขึ้นในขณะที่บริโภคเท่าเดิม หรือต้องการให้ผักอร่อย กรอบขึ้น หวานขึ้น เขาก็สามารถทำตรงนี้ให้ได้ โดยทั้งหมดนี้ต้องมีการทำวิจัย 

และนี่เป็นบทเรียนที่มักพบอยู่เสมอเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ว่าต้องมีงานวิจัยเป็นพื้นฐาน ซึ่งสุดท้ายงานวิจัยก็จะไปตอบโจทย์ของการตลาดในที่สุด ผมมองว่าการที่เราจะทำอะไรก็จะมี 2 แกนเสมอ แกนแรกคือ โนว์ฮาว แกนที่สองคือ ดิจิทัล แต่ไม่ได้หมายความว่าการใส่ดิจิทัลเข้าไปแล้วเกษตรกรจะประสบความสำเร็จ เพราะเกษตรกรต้องมี โนว์ฮาว อยู่ก่อนแล้ว ส่วนดิจิทัล นั้น จะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกษตรกรติดปีก มูลค่าเพิ่มหรือโอกาสของความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นจะมาจากการใช้อุปกรณ์ 

“ช่องว่าใหญ่ที่สุดของการทำ Smart Farming คือเรื่องของราคา ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมลูกค้าต้องจ่ายแพงขึ้นจากการบริโภคพืชผลจากฟาร์มแห่งนี้” 

แนวทางเพื่อปิดช่องว่าง และสร้างความเชื่อมโยงเทคโนโลยีสู่การทำเกษตรกรรมแบบสมาร์ต

เรืองชัย เจริญกิจสุพัฒน์ : ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เราดำเนินงานมาแล้วเป็นปีที่ 51 และสิ่งที่เห็นคือ ภาคเกษตรของประเทศไทยก็ยังไม่ไปถึงไหน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีกว่า การทำการเกษตรบ้านเราต้องพึ่งพิงดิน น้ำ อากาศ จากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงมักเผชิญกับภาวะน้ำท่วม ฝนแล้ง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปริมาณพืชผลทางการเกษตรที่ออกสู่ตลาดในแทบจะทุกประเภท 

ด้วยบทบาทของ ธกส. เป็นสถาบันทางการเงินที่มีหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกร มีเงินทุนพร้อมที่จะเติมให้เกษตรในการทำการเกษตร แต่การเติมนั้นต้องให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด ภายใต้สถานการณ์ของเกษตรกรที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบันนอกจากการผลิตที่ยากต่อการควบคุมแล้ว ยังมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปิด AEC ต้องเจอกับคู่แข่งขันจากเพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศไทยที่มีการผลิตสินค้าทำการเกษตรที่เหมือนๆ กันออกมา

โจทย์ของ ธกส. คือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถแข่งขันทางการตลาดได้ ให้มีการคิดในเรื่องของธุรกิจมากขึ้นคิดในเรื่องของต้นทุนกำไรมากขึ้น มีการเข้าถึงนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตและจำหน่าย ไม่ใช่การผลิตและขายตามยถากรรมอย่างที่ผ่านๆ มา 

และนี่คือที่มาของการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของธกส. โดยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหน่วยงาน ภายใต้ชื่อ บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรม SMEs เกษตรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อเข้ามาช่วยดูแลเรื่องของการเชื่อมนำเอาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงการดูแลในเรื่องของการบริหารจัดการ บริหารต้นทุนกำไร การตลาด ให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธกส. เพื่อให้เกษตรกรอยู่อย่างเข้มแข็ง จนถึงทำให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาขายสินค้าทางการเกษตรได้

การที่จะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ ก็ต้องดูแลในเรื่องของคุณภาพ โดยการเติมเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือเรื่องของดิจิทัลเข้าไปให้เกษตรกร จนถึงการออกไปบอกกับตลาด บอกกับผู้บริโภคเกิดการรับรู้ว่าผลผลิตที่เกิดขึ้นนั้นดีกว่าสินค้าที่อยู่ในตลาดทั่วไปอย่างไรพร้อมกับทำในเรื่องของการจัดการ และการลดต้นทุนให้กับเกษตรกรไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยพัฒนาผลผลิตให้ดีขึ้น มีการให้ความรู้เรื่องปุ๋ย การพัฒนาคุณภาพของดิน มีการส่งเสริมเรื่องปุ๋ยสั่งตัด มีการคัดเกรดสินค้าก่อนส่งขาย การนำเอาสินค้าที่ตกเกรดมาแปรรูปสินค้า การส่งเสริมให้ลดในเรื่องของการใช้เคมีและเพิ่มความรู้และส่งเสริมการใช้สารชีวพันธุ์มากขึ้น ไปจนถึงการออกใบรับรองพืชผลทางการเกษตรเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค และที่สำคัญมีการดูแลควบคุมพื้นที่การผลิตเพื่อไม่ให้เกิดภาวะผลิตทางการเกษตรล้นตลาดอีกต่อไป

ณัฐ มั่นคง : ในฐานะของเกษตรกร เจ้าของฟาร์มเมล่อนที่มีการดำเนินงานภายใต้ในระบบที่เรียกว่า Smart Farming มองว่าเรื่องของการเกษตรไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ผลิตพืชผลทางการเกษตรอย่างเดียว แต่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นด้วย เช่นเรื่องของการเงิน การลงทุน การบริหารจัดการ และการตลาด 

การทำการเกษตรในรุ่นพ่อรุ่นแม่จะใช้ประสบการณ์ และความชำนาญที่เกิดจากการทำซ้ำจนเกิดความแม่นยำ แต่ในยุคของผมเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่มีความรู้มาจากการลงมือปฏิบัติ สังเกต เก็บข้อมูล ศึกษาทฤษฎี และเข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการ การตลาด ในยุคนี้มีผู้ที่คิดค้นเทคโนโลยี นวัตกรรม เครื่องมือที่เข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลพืชผล จึงทำให้การดูแลฟาร์มสามารถทำได้อย่างแม่นยำมากขึ้นบนพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชที่ปลูกอย่างแท้จริง 

“โรงเรือนของผมสามารถควบคุมได้ทั้งหมดทั้งความชื้นของดิน คุณภาพ โรคแมลง เช่น ต้นเมล่อนในฟาร์มเหี่ยว ถ้าคิดแบบทั่วไปก็ต้องมองว่าขาดน้ำ แต่เซนเซอร์ของผมแจ้งว่า ความชื้นในดินยังอยู่ในค่าที่เหมาะสมอยู่ในค่าเดิม ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่ผมจะให้น้ำกับต้นเมล่อน ด้วยความรู้เกี่ยวกับการปลูกเมล่อนทำให้ผมทราบว่าต้นเมล่อนของผมขาดน้ำจริง แต่สาเหตุของการขาดน้ำมาจากการมีนำในดินเยอะเกินจนรากเน่าซึ่งผมก็รักษาตามอาการจนต้นเมล่อนออกรากฝอยขึ้นมาใหม่ และให้ผลผลิตได้ที่มีคุณภาพระดับ 60-70%”

นอกจากการวิจัยในเรื่องของการผลิตซึ่งผมได้เคยทดลองปลูกเมล่อนมาราว 20-30 สายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ญี่ปุ่นแท้ เทียม หรือสายพันธุ์ใหม่ แต่แล้วก็จะต้องไปจบตรงผู้บริโภค ต้องมีการทำวิจัยไปจนถึงลูกค้าด้วยว่าชอบเมล่อนสายพันธุ์อะไร รสชาติแบบไหน ซึ่งคนไทยนิยมเมล่อนที่หวาน กรอบ เนื้อแน่น ถ้าปลูกพันธุ์ญี่ปุ่นแท้ที่เน้นความหวานและนุ่มละลายในปาก ก็อาจจะขายไม่ได้

ความเป็นเกษตรกรของบรรพบุรุษเราในอดีตล้วนเกิดจากประสบการณ์และการทำซ้ำ และการบอกต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่ท้ายที่สุดส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยรู้เกี่ยวกับทฤษฎีที่ถูกต้องในพืชผลทางการเกษตรที่ตนเองปลูกอยู่เลย แต่หากเรามีความรู้เชิงทฤษฎี บวกกับประสบการณ์จากการสังเกตการณ์ทำซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า และนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ การผลิตของเราก็จะเกิดความแม่นยำ ตรงจุดและไปได้ไวกว่า 

เกษตรกรไทยมีการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างไร

ณัฐ มั่นคง : ถึงแม้ว่าโคโค่เมล่อนฟาร์มจะได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีจากบริษัทดีแทค แต่ก็เคยตอบคำถามหลายๆ ฝ่ายไปว่าหากต้องลงทุนอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้เองตัวเองก็ยินดีที่จะลงทุน แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การศึกษาด้วยว่า พืชผลทางการเกษตรที่ปลูกนั้นคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ จุดคุ้มทุนอยู่ตรงไหน และเทคโนโลยีแบบไหนที่จำเป็น เช่นการปลูกเมล่อนต้องให้ความสำคัญเรื่องน้ำ ก็ต้องลงทุนระบบเกี่ยวกับการจัดการน้ำ แต่ถ้าเป็นฟาร์มกล้วยไม้ที่ต้องใส่ใจเรื่องของแสงก็ต้องลงทุนเกี่ยวกับการควบคุมแสงสว่างในฟาร์มเป็นต้น

“ผมมีความเชื่อว่าเทคโนโลยีของ Smart Farming จะเข้าสู่เกษตรกรไทยให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายในเร็วๆ นี้ เพราะเทคโนโลยีจะมีต้นทุนที่ถูกลงใช้ง่ายขึ้นต่อไปตัวเซนเซอร์อาจจะมีวางขายในร้านขายวัสดุทางการเกษตรทั่วๆ ไปอย่างแน่นอน” 

ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ : กฎของดีมานด์ และซัพลาย จะทำให้เทคโนโลยีทางการเกษตรหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับ Smart Farming ลดต่ำลง และสร้างโอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านั้นให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น ข้อดีของนวัตกรรมคือไม่มีขนาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ใครเร็วกว่าย่อมได้เปรียบเป็นเรื่องของปลาเร็วกินปลาช้าไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาช้าอีกต่อไปแล้ว หากเกษตรกรในบ้านเราเริ่มมีทำการเกษตรบนพื้นฐานของความรู้ และรู้จักที่จะใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือ จะส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นการเติบโตที่อยู่บนพื้นฐานความรู้ที่คนในประเทศของเราถนัดคือการเกษตร 

ดร.นฤทัย วรสถิตย์ : กลไกด้านราคาจะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีของ Smart Farming ในทุกวันนี้มีบริษัทคอมพิวเตอร์ใหญ่ๆ หันมาพัฒนาในเรื่องเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางด้านการเกษตรและอาหารเพิ่มมากขึ้น เพราะตามที่มีการคาดการณ์ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและทั้งคนที่ต้องการจ่ายเพื่อสุขภาพ ซึ่งพอเกษตรกรสามารถควบคุมต้นทุนต่างๆ ได้ บวกกับอุปกรณ์มีราคาลดต่ำลงคุณภาพดีขึ้น จะช่วยให้สามารถควบคุมคุณภาพในการผลิตและลดการสูญเสียไปได้ รวมทั้งในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้นในทุกวันนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งรัดให้เกษตรไทยเข้าสู่ Smart Farming 


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ Advance Technology for “Smart Farming” จากงาน Thailand MBA Forum 2018 ได้ที่นี่

ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมาย ความหลากหลายทางชีวภาพของไทยเป็นต้นทุนสำคัญของประเทศอีกประการที่นอกจากเราจะผลิตสินค้าอาหารประเภทต่างๆ เลี้ยงชาวโลกได้แล้ว เรายังสามารถมีส่วนแบ่งในเรื่องไบโอเทคโนโลยีได้อีกด้วย

"เมื่อกล่าวถึง Disruptive Technologies ซึ่งนานๆทีจะเกิดสักครั้ง แต่นั่นหมายถึงเทคโนโลยีที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลง เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค (Consumer behavior) หรือ Lifestyle ของผู้คนครั้งสำคัญ เหมือนเช่นดั่งในปี 1975 ที่ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล(Personal computer) เป็น Disruptive platform เป็น infrastructure ที่เปิดโอกาสให้คนอย่าง บิล เกตต์ สร้างแอพพลิเคชั่นมาเปลี่ยนแปลงโลกจนทุกวันนี้ที่ไม่มีใครไม่ใช้ Personal computer และอีกครั้งในเวลาต่อมาคือในปี 1990 ที่เทคโนโลยี อินเทอร์เนต TCP/IP ก็เป็น Infrastructure รอบใหม่ที่เปิดโอกาสให้คนอย่าง มาร์ก ซัคเกอร์เบริก สร้างแอพพริเคชั่น facebook หรือ แลร์รี่ เพจ สร้าง Google ขึ้นมาและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกดังเช่นที่เห็นกันในทุกวันนี้"

สำหรับรอบนี้ถือเป็นความโชคดีของคนในยุคนี้ที่จะมีโอกาสได้ใช้ Blockchain ซึ่งจะเป็น Disruptive Technology เป็น Infrastructure ของ Generation โดยที่ผ่านมามี Bitcoin ที่พวกเราแทบทุกคนรู้จักกันดีทั่วโลก เป็นแอพพริเคชั่นตัวแรกซึ่งถูกปล่อยออกมาในปี 2009 แต่ในเวลาไม่ถึง 9 ปี ธนาคารทั่วโลกต้องขยับตัวกันอย่างมหาศาล หรือกระทั่งวงการระดมทุนที่เรียกว่า ICO จะเห็นได้ว่าในปี 2017 มูลค่าการลงทุนผ่าน ICO ปีเดียวมากกว่า VC ทั่วโลกรวมกัน

"หมายความว่า Blockchain  คือ  Disruptive platform ตัวต่อไปที่ทุกวงการจะต้องหันมาใช้ เหมือนกับที่เคยต้องหันมาใช้ Personal computer และ Internet TCP/IP ในทำนองเดียวกัน"  นั่นคือ Talk บทเปิดของ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา  บนเวที Thailand MBA Forum 2018

Blockchain Technology 

เปลี่ยนผ่าน Internet of information → Internet of Value

"ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา" Group CEO Blockchain Capital, Group Holdings Co.,Ltd. ได้บรรยายถึงหัวใจสำคัญของ บล็อกเชน เทคโนโลยี ซึ่งเป็น layer ที่สองของอินเตอร์เน็ท ที่มีพัฒนาการเหนือไปกว่ายุคแรกที่เป็น TCP/IP ที่เป็น Internet of Information ซึ่งส่งผ่านได้เพียงข้อมูล แต่สำหรับ บล็อกเชน เป็นอินเตอร์เน็ทที่มีความสามารถเหนือไปกว่า เพราะสามารถที่จะส่งผ่านสิ่งที่เรียกว่า "มูลค่า" (Value) ออกไปได้ด้วย โดยไม่ต้องผ่านเทคโนโลยีของตัวกลางดั่งเช่นในอดีตอีกต่อไป และแปลว่าในอนาคตอันใกล้ เหล่ากลไกตัวกลางในวงการแลกเปลี่ยนต่างๆ จะต้องปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่

"ท๊อป จิรายุส" ยกกรณีตัวอย่างของวงการแลกเปลี่ยนมูลค่า อย่างเช่น การโอนเงินที่เคยมีธนาคารเป็นตัวกลาง การซื้อขายหุ้นที่เคยต้องผ่านโบรคเกอร์ หรือกระทั่งการซื้อขายที่ดินที่เคยต้องผ่านตัวแทนหรือนายหน้า  ธุรกรรมต่างๆ ที่เคยต้องอาศัยเทคโนโลยีหรือกลไกของตัวกลางในการดำเนินการ ต่อไปเราสามารถแลกเปลี่ยนมูลค่ากันได้โดยตรง เพราะบล็อกเชนมีความพร้อมและอนุญาตให้เราสามารถ digitized มูลค่ากันได้แล้ว เรียกว่า Decentralized Vs. Centralized system

ในอดีตเราใช้อินเตอร์เนท TCP/IP ส่งออกส่งที่เป็นข้อมูลหรือรูปภาพ คือการส่งสิ่งที่เป็นสำเนาออกไป มากมายเพียงใดก็ทำได้ แต่ต้นฉบับก็ยังคงเหลืออยู่ ดังนั้นจึงส่งสิ่งที่เป็นมูลค่า ออกไปไม่ได้จริง ไม่เช่นนั้นเราก็ย่อมจะสามารถส่งออกสิ่งที่มูลค่า เช่นธนบัตรใบละ 1,000 บาทออกไปให้ใครต่อใครก็ได้ มากเท่าไหร่ก็ได้ เพราะส่งกี่ครั้ง ต้นฉบับก็ยังคงเหลืออยู่ และนั่นคือข้อจำกัดหรือที่เรียกว่า Double spent problem

แต่สำหรับ บล็อกเชน ได้รับการพัฒนาภายใต้การรวบรวมปัญหาและงานวิจัยโดยนักพัฒนาผู้มีนามว่า ซาโตชิ นากาโมโตะ ผู้คิดและพัฒนาบิทคอย โดยเขาได้แก้ปัญหาในสิ่งที่เรียกว่า Solve Double Spent Problem ทำให้บล็อคเชน สามารถเก็บมูลค่า และสามารถส่งออก "มูลค่า" ได้โดยตรงระหว่างผู้ส่งและผู้รับ และนั่นคือเป็นวิวัฒนาการของสิ่งที่ว่า Internet of value

4 Development ของ Blockchain

"จิรายุส" บอกกล่าวเล่าถึงพัฒนาการในวงการบล็อกเชนว่า สามารถแบ่งออกได้เป็นขั้นเป็นตอนอยู่ 4 ระยะ ใน stage แรกของบล็อกเชน คือ Internet of Money เช่น bitcoin ที่ออกมาได้ 8-9 ปี ทุกวันนี้ digital currency ทั่วโลกมีมากกว่า 1,700 ตัว โดยกลุ่มแรกของคริปโตนั้น มุ่งเป้าไปสู่การเป็น internet of money เพื่อที่จะทำให้เราสามารถ digitized เงินแล้วโอนหากันแบบ peer to peer โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางอีกต่อไป

เพราะในระบบที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ การโอนเงิน  ซึ่งหมายถึงการโอนเงินจากธนาคารต้นทางไปยังธนาคารผู้รับ จะมีสิ่งที่เรียกว่า international clearing house  เปรียบเสมือนทางด่วนที่เราต้องจ่ายค่าผ่านทางเพื่อจะไปยังจุดที่หมาย  ยิ่งหลายด่านก็หมายถึงค่าผ่านทางที่ต้องเพิ่มขึ้นและต้องจ่ายไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงปลายทาง และนั่นคือที่มาของค่าธรรมเนียมการโอนเงิน 5-10 % ในการโอนเงินไปต่างประเทศ   แต่พอมี digital money อย่าง bitcoin,light coin, state cash หรือ Ripple  เหล่านี้คือ Digital money ที่ล้วนมีเป้าหมายที่ต้องการจะเอาออกในสิ่งที่เรียกว่า international clearing house  หรือกลไกตัวกลางออกไปเพื่อให้เราสามารถโอนเงินกันได้อย่างเร็วขึ้น-ประหยัดขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Internet of Assets = Value Registry

stageที่สองของบล็อกเชน เป็นความสามารถในการ digitized ทุกอย่างที่มีมูลค่า ซึ่งไม่ได้หมายความว่า คือ เพียงเงิน(money)อย่างเดียว แต่สินทรัพย์ที่มีมูลค่าอื่นอาทิเช่น ที่ดิน, เพชร, พลอย, ภาพเขียนหรืออื่นๆ อีกมากมาย ก็สามารถนำมา digitized อยู่ในบล็อกเชนได้เช่นกัน

Internet of Entities = Value Ecosystem

สำหรับstageที่ 3 บล็อคเชนจะถูกนำมาใช้ในการปลดล็อค ทำให้ก่อเกิดโมเดลธุรกิจ และการจัดการใหม่ๆ เป็น decentralized autonomous ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ Ethereum หนึ่งในบล็อกเชนที่เป็น Generalized platform  ที่ถูกใช้ในการสร้างเหรียญและมี Smart contract ที่เปิดโอกาสให้คนสามารถสร้างบล็อคเชนและโทเคน(Token) ขึ้นมาอย่างง่ายดาย  กลายเป็นเครื่องมือในการออกTokenเพื่อระดมทุนในรูปแบบที่เรียกว่า ICO ( Initial Coin Offering) ซึ่งปรากฏว่าจากคริปโตที่เคยมีเพียงไม่กี่ตัวในอดีต เพียงปีเศษๆ ที่ผ่านมามีคริปโตเกิดขึ้นกว่า 1,700 ตัวทั่วโลก โดยกว่า 90% ของเหรียญเหล่านั้นถูกสร้างบน Ethereum

Interoperable  Ledgers = Value web

เป็นพัฒนาขั้นที่ 4 ที่ปัจจุบันกำลังเร่งพัฒนาเพื่อให้โทเคนที่มีอยู่ทั่วโลกจำนวนมากมาย  และจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกมาก แต่มีสิ่งที่เป็นปัญหาติดอยู่ ณ ขณะนี้คือ โทเคนในแต่ละแพลตฟอร์ม  ยังคุยกันคนละภาษา ซึ่งหากจะมีการแลกเปลี่ยนมูลค่าซื้อขาย-แลกเปลี่ยน ก็จะต้องเอาเหรียญเหล่านั้นโอนไปยังที่ที่เรียกว่า Centralized exchange crypto แล้วก็ซื้อขายเพื่อแลกเปลี่ยนกันเหมือนซื้อขายหุ้น เหตุเช่นนี้เพราะคริปโตแต่ละตัวยังไม่สามารถคุยกันได้โดยตรง ( เหมือนอินเตอร์เนทในยุคแรกๆ)

ในขณะนี้นักพัฒนากลุ่มใหม่ๆ เช่น Kyber, Ox, Airswap หรือ OmiseGo กำลังเร่งพัฒนาเพื่อสร้างการเชื่อมโยงระหว่างโทเคนตัวต่างๆ ให้สามารถคุยกันหรือแลกเปลี่ยนมูลค่ากันได้โดยตรง


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ "Blockchain for Management" โดย จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา จากงาน Thailand MBA Forum 2018  ได้ที่นี่

 

 

 

Page 5 of 6
X

Right Click

No right click