กล่าวได้ว่าตลอดปี 2562 เป็น ความเคลื่อนไหวใหญ่ หรือ Big Moves ก็ว่าได้ สำหรับคณะการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หรือ FAM (Faculty Administration and Management) ภายใต้การนำการขับเคลื่อนของคณบดี ผศ.ดร.สุดาพร สาวม่วง ที่มีความมุ่งหมายในการที่จะนำพาคณะฯ และทีมงาน ก้าวให้ทันโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนใหญ่ไม่เพียงเน้นย้ำความสำคัญในส่วนของนักศึกษาหรืองานวิชาการเพียงเท่านั้น แต่มีการขยับทั้งโครงการด้านการศึกษาและงานส่งเสริมพัฒนาความรู้ให้กับทั้งภาคสังคม ธุรกิจ อุตสาหกรรม ไปจนถึงศิษย์เก่าและประชาชนทั่วไปอย่างครบถ้วนทุกมิติ ผศ.ดร. สุดาพร ได้เปิดเผย กับนิตยสาร MBAถึงความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาและที่กำลังจะเป็นการขยับใหญ่ในปี 2563

พร้อมรับผู้เรียน ทั้งนอก-ใน

เมื่อเริ่มเข้าสู่ปี 2563 ทาง FAM มีความคืบหน้าในด้านการจัดการด้านการศึกษาหลายๆ เรื่อง ในส่วนของภาคผู้เรียนทาง FAM แบ่งเป้าหมายการทำงานเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรกคือภาคหลักสูตรนานาชาติ ทาง FAM ได้เปิดความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศคือ Shandong Technology and Business University ประเทศจีนเพื่อที่จะจัดหลักสูตรอินเตอร์สำหรับรองรับนักศึกษาจากประเทศจีน โดยแผนงานยังครอบคลุมไปยังกลุ่มนักศึกษาจากแถบยุโรปและประเทศในอาเซียน เป็นลักษณะที่นักศึกษาเข้ามาเรียนกับทาง FAM โดยตรงแล้วก็ Transfer Credit Bank ซึ่งส่วนงานของหลักสูตรนานาชาติ นอกเหนือไปจากเรื่องการจัดวางหลักสูตร ทางคณะต้องเตรียมความพร้อมด้านวิชาการเพื่อพร้อมรับผู้เรียนทั้งในเรื่องการปรับพื้นฐานนักศึกษาก่อนเข้าสู่ระบบการเรียนของเรา เรื่องเหล่านี้มีทั้งเรื่องภาษา เรื่องวัฒนธรรมความเป็นอยู่ซึ่งนับเป็นพร้อมที่สำคัญเพราะทาง สจล.มีสถานที่หอพักรองรับอย่างครบครัน โดยเรื่องนี้ก็เป็นความคืบหน้าของการบริหารจัดการด้านการศึกษาของคณะฯ ในปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องมาถึงปี 2563 นี้

สำหรับส่วนผู้เรียนในประเทศนั้นทาง FAM ได้เริ่มมีการทำ MOU กับโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ 130 แห่ง บนการสื่อความกับคณาจารย์และนักเรียนเพื่อให้มีความเชื่อมั่นว่า FAM สามารถบ่มเพาะพัฒนาการและศักยภาพของเด็กให้เข้มแข็ง เปิดโอกาสให้เด็กที่มีความสนใจทางด้านบริหารจัดการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ FAM ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ที่เขาจะได้เรียนรู้จากการลงมือจริง และยังมีความพยายามผลักดัน Output ในส่วนของนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเชิง Qualitative ที่มีเข้ามาเท่าไหร่ก็จบการศึกษาออกไปเท่านั้น และเมื่อจบออกมาก็มีงานทำ มีความสามารถ เป็นที่ยอมรับในกิจการและบริษัทชั้นนำ ส่วนในเชิง Quantitative นั้นเรามีการวัดผลจากองค์กรผู้จ้างงานหลายแห่งที่ค่อนข้างพอใจกับบัณฑิตของ FAM

บ่มเพาะผู้ประกอบการ

สำหรับนักศึกษาที่มีอัตลักษณ์ของการเป็น Entrepreneur ทาง FAN ก็มีกิจกรรมส่งเสริมอย่างเข้มข้น พบว่านักศึกษามี Outcome เป็นการจดบริษัท Startup กว่า 3 บริษัทในปีที่ผ่านมา โดยนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ทาง FAM กำลังเตรียมจัดทำพื้นที่ Co-working Space ในคณะเพื่ออำนวยให้นักศึกษาสามารถทำProject ร่วมกันได้อย่างเต็มที่ และต่อไปจะหมายถึงความพยายามที่จะก่อตั้ง ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ เพื่อสร้างแรงสนับสนุนนักศึกษาที่ต้องการ Startup ธุรกิจทั้งในด้านเงินทุนเริ่มต้นและโค้ชซึ่งเป็นอาจารย์ในคณะที่จะคอยให้คำปรึกษาและแนะนำ โดยเรื่องนี้ยังคงอยู่ในกระบวนการทำงานต่อต่อเนื่อง

ความเคลื่อนไหวภายในของ FAM

นอกเหนือไปจากเรื่องแนวทางการพัฒนาผู้เรียน ในส่วนของการบริหารภายใน คณบดีหญิงของ FAM ยังได้เผยถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงที่เข้ามาบริหารคณะฯ ว่า การบริหารหลักสูตร

“ในช่วง 4 ปีของวาระบริหารของอาจารย์เรามีแผนงานที่จะปรับโครงสร้างบุคลากรภายใน เพื่อให้องค์กรก้าวไปได้รวดเร็วมากขึ้น โดยเราจะลดเลิกการมีภาควิชา แต่จะเน้นไปที่ประธานหลักสูตรมากกว่า เพื่อให้เขาสามารถทำหน้าที่ภายใต้กลไกที่ว่องไว เมื่อมีระเบียบ นโยบายอะไรก็ลงถึงหลักสูตรได้ทันที เพื่อความคล่องในการเคลื่อนตัว ได้ผลแม่นยำ และยังทำให้อาจารย์ได้มีเวลามุ่งเน้นโครงการในเชิงพัฒนา การบริการวิชาการแก่สังคม

งานวิจัย มุ่งความสำคัญการจดสิทธิบัตร หรืออนุสนธิบัตร

ในส่วนของ ‘งานวิจัย’ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของภาคการศึกษา ผศ.ดร สุดาพร เผยถึงนโยบายซึ่งมุ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิบัตรหรืออนุสนธิบัตร โดยจะมีการจัดเงินทุนให้อาจารย์ทำวิจัยปีละ 3 ทุน เมื่ออาจารย์ทำวิจัยออกมาและสามารถมีผลสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์หรือส่วนบริการที่สามารถนำไปจดสิทธิบัตรและจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งบริษัท Startup สามารถมารับช่วงไปจำหน่ายต่อ เราทำหน้าที่เป็น Incubator บ่มเพาะทางธุรกิจไปในตัว ทำงานร่วมกับสำนักงานวิจัยนวัตกรรมของ สจล.

คณบดีของ FAM ได้ยกกรณีตัวอย่างงานวิจัยที่ ผศ.ดร สุดาพรเองได้จัดทำขึ้น ภายใต้การลงพื้นที่เพื่อทำวิจัยเกษตรกรที่เป็นชาวนา เพื่อศึกษาการทำนาและปลูกข้าว ทำให้ได้รับรู้ปัญหาจากชาวนาว่าเขามีความต้องการอะไร? หลังจากได้โจทย์ปัญหาก็นำมาระดมความคิด ประมวลความต้องการร่วมกับ ภาควิชาวิศวฯ จนในที่สุดเกิดเป็น Prototype เครื่องสีข้าวขนาดเล็กในครัวเรือนที่สามารถเคลื่อนที่ได้รุ่นแรก ที่จะเป็นตัวช่วยให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวสามารถสีข้าวเองได้ ไม่จำเป็นจะต้องไปที่โรงสี โครงการวิจัยนี้ได้มีการนำไปจดอนุสิทธิบัตร เป็นเทคโนโลยีที่ต่อยอดมาให้ทำงานสะดวก Fit need มากขึ้น สามารถสีข้าวได้ 12 kg ต่อชั่วโมง และมีบริษัทเอกชนเข้ามารับสิทธิเพื่อไปจัดจำหน่ายแล้ว เป็นต้น

ก้าวใหม่และก้าวใหญ่ในปี 2563

นอกเหนือไปจากโครงการบริหารการศึกษา วิชาการและอื่นๆ ที่เป็นภารกิจหลักของทางคณะฯ แล้ว คณบดีหญิงของ FAM ยังบอกเล่าถึงเป้าหมายในการรวบรวมศิษย์เก่าที่มีศักยภาพคืนสู่เหย้ามาร่วมทำกิจกรรมเพื่อร่วมส่งเสริมคณะ และร่วมพัฒนารุ่นน้อง โดยอีกนัยสำคัญเพื่อว่า ให้ศิษย์เก่ากลับมาเพื่อ Re-skill หรือ Up-skill ความรู้ใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโครงสร้างอุตสาหกรรม แน่นอนว่าเหนือไปกว่านั้นคือเป็นการกระชับความผูกพันและเป็นเครือข่ายที่สามารถเอื้อและเกื้อหนุนกันได้ระหว่างคณะฯ และศิษย์เก่า หรือแม้แต่ ศิษย์เก่าและศิษย์เก่าที่ไม่ได้พบนับแต่สำเร็จการศึกษาออกไป ซึ่งเป็นโครงการที่อยากให้เกิดขึ้นภายในปีนี้

สำหรับก้าวใหญ่ที่สำคัญของ FAM นับแต่นี้คือทางคณะการบริหารและจัดการจะเริ่มเข้าสู่การรับรองมาตรฐาน AACSB ในปี 2020 ซึ่งถือว่าเป็นจะเป็นอีกก้าวใหญ่ที่จะมูฟไปข้างหน้าและจะเป็นก้าวที่ FAM จะเป็นที่รู้จักและยอมรับในเวทีการศึกษาระดับชั้นนำของโลกในที่สุด

ความท้าทาย

แน่นอนว่าการพัฒนาย่อมต้องมาพร้อมกับความท้าทาย ผศ.ดร. สุดาพร มองว่าสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ในศักราชใหม่นี้คือเรื่องของ Human Resource Management เพราะการเก่งคนเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต้อง Drive team ทำให้ทีมมีแรงที่จะเคลื่อนตัวเอง เคลื่อนองค์กร จัดกระบวนการต่างๆ ให้มีการปฏิบัติที่ชัดเจน สร้างคนให้มีความรู้สึกว่าเขาอยากมีส่วนร่วม มีบทบาท มีหน้าที่ มีรางวัลให้เขาภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ ทีมบริหารและนักศึกษา เพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าเป็นทีมอย่างพร้อมกัน

ตอนที่อาจารย์แถลงวิสัยทัศน์ไว้ว่า อาจารย์ทุกคนต้องมีโครงการวิจัย โครงการบริการวิชาการเป็นของตัวเองอย่างน้อย 1 โครงการ หรืออาจจะเป็นโครงการที่ทำร่วมกับทีมงานหรือคณบดีก็ได้ ทั้งนี้เพื่อพยายามสร้างให้เกิด Human Value Capital นอกเหนือจากงานสอนปกติ เพราะฉะนั้นทุกท่านจะเป็นบุคลากรที่ครบเครื่อง และยังทำให้เกิดแรงบันดาลใจจากการได้ออกไปพบปะผู้คนภายนอก ได้ให้บริการแก่บุคคล เอาสังคมภายนอก เอาประสบการณ์เข้ามาปรับใช้ในมหาวิทยาลัยได้ ด้วยกลยุทธ์นี้อาจารย์ของคณะฯ ก็จะทันต่อการเปลี่ยนแปลง อย่างเรื่องเทคโนโลยีดิจิตอล หรือประสบการณ์ในการเป็นผู้ถ่ายทอด มีโครงการที่เราทำอยู่ตอนนี้คือ Smart Supervisor หลักสูตรที่เราทำให้กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว โดยทีมงานของอาจารย์ทุกคนเราก็ร่วมกันเป็นวิทยากรในด้านที่ถนัด ได้ฝึกฝนทักษะการบรรยายให้กับผู้ที่มีตำแหน่งสูงซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่แปลกใหม่แต่ก็ทำให้อาจารย์ได้เพิ่มพูนประสบการณ์


เรื่อง: กองบรรณาธิการ

ภาพ: อาทิตย์ กัณฐัศว์กำพล

ที่นี่สิ่งที่เราสอนไม่เพียงแต่ความเป็นเลิศทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการคิดแก้ปัญหาในแต่ละเรื่องของการบริหารธุรกิจเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่ทาง SBC ต้องการเน้นเป็นพิเศษคือทักษะการใช้ชีวิต (Life Skills)

เปิดใจ ดร.ปฏิมา รุ่งเรือง กับบทบาท ผู้อำนวยการ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือ MBA ของวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก (Southeast Bangkok College : SBC) ในภารกิจสานต่อผลความสำเร็จในการผลิตนักศึกษา รุ่น 19 ก้าวเข้าสู่รุ่นที่ 20

ท่ามกลางการแข่งขันของตลาดการศึกษาที่รุนแรง ด้วยดีมานด์ของผู้เรียนที่มีจำนวนลดลง แต่ตัวเลือกนั้นมีเพิ่มขึ้นมาอย่างมากมายนั้น ดร.ปฏิมา บอกกับ “นิตยสาร MBA” ถึงแนวทางในการขับเคลื่อนภารกิจว่า ในปีนี้เราจะมุ่งเน้นการปรับโปรแกรมการเรียนการสอนเพื่อตอบโจทย์กลุ่ม นักบริหารรุ่นใหม่ เจ้าของธุรกิจ ทายาทธุรกิจ ผู้จัดการองค์กร หัวหน้างาน หรือนักศึกษาที่เพิ่งจบปริญญาตรี และกำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะต่อปริญญาโท รวมถึง นักศึกษาที่มาจากหลากหลายสาขา เช่น วิทยาศาสตร์ นิเทศศาสตร์ บัญชี การจัดการ ฯลฯ ที่อยากจะมาต่อยอด และต้องการเห็นภาพรวมของธุรกิจที่ชัดเจน หลักสูตรนี้จะช่วยให้มีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ลดความผิดพลาดที่ไม่จำเป็น เพื่อก้าวเข้าสู่การทำงานที่ดีในอนาคต โดยแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างหลักสูตร ชูจุดเด่นความเป็น Small but Smart ซึ่งมีข้อดีคือเราเข้าถึงนักศึกษาได้ทุกมิติ มากกว่าในสถาบันการศึกษาหลายๆ แห่ง ทั้งความเป็นกันเอง การเข้าถึง การอยู่ร่วมกันเหมือนครอบครัว เราจึงสามารถทำให้เขาสบายใจได้

ก่อนอื่นต้องบอกว่าคนที่เรียนปริญญาโท มีความกังวลใน 3 เรื่องหลักๆ คือ Budget เรื่องการเรียนที่ยาก และเวลาที่มีไม่มากพอ เพราะฉะนั้น 3 เรื่องนี้ ที่นี่สามารถตอบโจทย์ได้ เรื่องค่าเทอมของเราก็อยู่ในระดับที่เข้าถึงได้ และให้ความสำคัญของการเป็นที่ปรึกษาเรื่องการเรียน และเราให้ความเป็นกันเอง

ส่วนแนวทางการพัฒนาโครงสร้างหลักสูตร จะมีการปรับให้มีความทันสมัยก้าวทันเทรนด์ทั้งในปีนี้และในอนาคตข้างหน้า ซึ่งเป็นการมองทั้งระยะสั้น และระยะยาว อันที่จริงเทรนด์เปลี่ยนแปลงไปทุกปี แต่ในยุคดิจิทัลนี้ ทั้งนักศึกษาและสถาบันก็ต้องเร็วและก้าวไปได้พร้อมๆ กัน ดังนั้น MBA ยุคนี้จะเป็นยุคที่จับต้องได้แบบ real time นักศึกษาเองก็ต้องพร้อมพัฒนาและปรับปรุงได้พร้อมกัน

Distinctive Feature

หลักสูตรที่ปรับจะมีวิชาใหม่ๆ เข้ามาผสมผสานกับวิวัฒนาการในช่วงนี้ ซึ่งจะเรียนเป็น Blog Course เร็วขึ้น เรียน Course Work ที่น่าจะจบใน 1 ปีครึ่ง และสามารถทำวิจัยและจบได้ตามระยะเวลาหลักสูตรคือ 2 ปี ซึ่งตรงนี้จะตอบโจทย์ทุกคนว่าเรียนแล้วนำไปใช้งานได้จริงเน้นทักษะการเป็นนักบริหารรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ความเข้าใจ ทั้งทฤษฎี และปฏิบัติ เสริมสร้างและพัฒนาทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคิดวิเคราะห์ Critical Thinking การตัดสินใจ การวางแผนอย่างเป็นระบบ กำหนดกลยุทธ์ ทั้งในระดับองค์กร ระดับหน่วยธุรกิจ และการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงทักษะต่างๆ ที่ผู้บริหารจำเป็นต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น ภาวะผู้นำ การเจรจาต่อรอง หรืการติดต่อสื่อสาร เปิดโอกาสให้กับตนเองและโลกที่กว้างขึ้น มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เพื่อเตรียมความพร้อมให้ก้าวสู่ผู้บริหารระดับกลาง และ Tomorrow CEO ในอนาคต

ส่วนในระยะยาวเรามองว่า เราจะดึงแนวร่วมทางธุรกิจ เช่น ผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจ ให้เป็นการทำ Course Work ที่ร่วมกับภาคธุรกิจโดยตรง ให้นักศึกษาเข้าไปสัมผัสธุรกิจ และเห็นมิติในการทำงาน มองเห็น Best Practice ของบริษัทต่างๆ ว่าเป็นแบบไหน ให้เข้าถึงได้ และอาจมีการทำความร่วมมือ ให้นักศึกษาเข้าไปสัมผัส และทำวิจัยในบริษัทนั้นๆ เพื่อให้มองเห็นภาพจริงการเปิดหน้าต่าง Opportunity ให้ตอบโจทย์กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของธุรกิจ เน้นการนำปัญหา โจทย์ ที่เกิดขึ้นจริงในธุรกิจ องค์กรขนาดใหญ่ กลาง เล็ก นำมาให้ฝึกแก้ปัญหา ด้านการจัดการองค์กร การผลิต หรือ ทรัพยากรบุคคล มี Guess Speaker ระดับสูงขององค์กรชั้นนำมาให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะ รวมทั้งมีการสัมมนา และการให้ความรู้ความเข้าใจในแบบสัมผัสได้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้กับนักศึกษา เพื่อเพิ่มมุมมองทางธุรกิจ

ศิษย์เก่าของเราหลายๆ รุ่น ก็เป็นเจ้าของบริษัทเอง เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ถึงจุดที่คนเหล่านั้นจะสามารถ Give and Share Experiences ให้รุ่นน้องได้ เราก็รู้สึกดีใจที่นักธุรกิจที่เราปั้นขึ้นมานั้นประสบความสำเร็จ และอยาก Sharing ให้น้องๆ รุ่นปัจจุบันได้เข้าใจถึงการทำธุรกิจ ข้อดี ข้อเสีย และรู้ว่าการพัฒนาในโลกแห่งอนาคตนั้น ต้องระวังอย่างไร มีวิธีอะไร แนวทางทั้งการจัดการ งานบริหาร งานบุคคล หรือแม้แต่ในสายการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งนักธุรกิจที่จบจากที่นี่ ล้วนให้ความร่วมมือเต็มที่ เรามีลูกศิษย์ที่จบทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน โรงพยาบาล หรือแม้แต่โรงงานจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้จะเป็นกำลังของสถาบันอย่างมาก รวมทั้งคนเหล่านั้นให้ความเข้าใจกับน้องๆ อย่างดี เพื่อสร้าง Inspiration ของตัวเอง มีรุ่นพี่เป็น Idol และอยากประสบความสำเร็จเหมือนกัน

หลักสูตรใหม่ของคณะในปีนี้

จริงๆ แล้วในยุคนี้ MBA หลายๆ แห่ง จะมีหลักสูตรของเขาเอง ซึ่ง SBC ก็มองภาพรวมว่า เราเป็นนักปฏิบัติมืออาชีพ เราจึงอยากสร้างมุมตรงนี้เพื่อเป็น MBA สำหรับคนรุ่นใหม่ สำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาทักษะตัวตนจริงๆ ในโลกยุคนี้ เพราะฉะนั้น ในมุมที่ว่าการเรียนเป็นเรื่องใหญ่ก็จริง แต่เรื่องคอนเน็คชั่น และการถึงพร้อมกับข้อมูลก็มีความสำคัญ วิธีการสอนของที่นี่ จึงสอนให้นักศึกษารู้จักทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

นโยบายของการเรียนการสอนของ MBA ที่นี่ เราไม่ได้ผลักให้นักศึกษาเรียนรู้อย่างหนัก แต่เราผลักให้แชร์ริ่งประสบการณ์ เน้นสอนให้เขาเข้าใจและรู้วิธีการ คือ การที่เราจะมองคนสักคนให้เป็นนักธุรกิจก็เรื่องยากแล้ว แต่ที่นี่มองไกลกว่านั้น คือ อาจารย์อยากจะมองให้เขาเป็น Tomorrow CEO จริงๆ คือ ต้องมองในทุกมิติ ทุกมุม เข้าใจในธุรกิจของเขา และห่วงใยในทรัพยากรบุคคลของเขาด้วย ไม่ว่าการผลิต การทำงาน ถ้า 1 คนจากสถาบันเรา และสามารถที่จะถ่ายทอดหรือส่งไม้ต่อได้ เขาเป็นนักธุรกิจที่ชัดเจนและรู้ว่าตัวเองขาดทักษะตรงไหนมาเรียนตรงนี้ เขาจะได้ทุกๆ อย่าง เพราะเราให้ภาพรวม คือ ‘ไม่ได้สอนเพื่อจบแต่สอนให้เพื่อนำไปใช้จริงกับชีวิตการทำงานจริงๆ

นอกจากนี้เรายังมีแนวทางการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ MBA ของ SBC กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าไปในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมเหมราช นิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน ซึ่งมีพนักงานจำนวนมาก ที่ต้องการศึกษาต่อเพื่อปรับวุฒิหรือยกระดับการศึกษา แต่เขาไม่มีเวลามาลงเรียน เราพยายามตอบสนองเขา ด้วยวิธีการเรียนการสอนในรูปแบบที่เรากำลังจะจัดขึ้นเพื่อจับมือกันในอนาคต โดย MOU หลักสูตร MBA Specialty หรือ MBA เฉพาะทางของบริษัทหรือองค์กรนั้น เช่น หากบริษัทอยากได้ MBA ที่เป็นวัฒนธรรมองค์กรของคุณ เพื่อรองรับกับบริษัทของตัวเอง โดยไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ แต่ดูจุดที่จะเพิ่มทักษะให้กับบริษัทนี้ เช่น บริษัทนั้นทำโรงงาน ที่เกี่ยวกับการผลิต ทำกลยุทธ์วางแผนการตลาด เราจะช่วยให้เขาได้การเรียนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อในของเขา ที่ไม่ต้องมาเรียนอะไรที่กว้างไป ซึ่งตอนนี้เรากำลังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยตลาดว่า หลายๆ แห่ง มีบุคลากรพร้อมพอหรือไม่ที่จะจัด ให้เป็น MBA 1 ยูนิตของบริษัทนั้น เราก็พร้อมที่จะเข้าไปดูแล

สถาบันการศึกษาหลักจะไม่เป็นที่ต้องการของยุคนี้จริงหรือ

สำหรับกระแสที่ว่า การศึกษาระดับปริญญาจะลดบทบาทและความสำคัญ และส่งผลให้เด็กรุ่นต่อไป ไม่สนใจจะเข้ามาศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาหลัก ในมุมมองความคิดเห็นของ ดร.ปฏิมา เห็นว่า การเรียนต่อปริญญาตรีของเด็กยุคนี้ บางส่วนไม่ได้เรียนต่อทันที แต่ขอเวลาทำงานตามหาความฝัน ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง นี่คือเด็กยุคนี้ พอถึงจุดที่เขาบอกว่าเขาพร้อมแล้ว อยากเรียน นั่นคือเราได้เพชรเม็ดหนึ่งมาเลย คือไม่ผลักไม่ยื้อให้คุณคิด พอคิดได้แล้วว่าอยากเรียน จะเรียนได้ดีมาก

“รวมถึงความคิดในการตัดสินใจเรียนปริญญาโท ที่ส่วนใหญ่อยากทำงานก่อน มีหลากหลายครอบครัวที่ผลักให้ลูกเรียนโท พอผลักแล้วก็ยังรู้สึกว่าเขายังหาตัวตนไม่เจอ ยังรู้สึกว่าไม่ใช่ จะมีคำถามว่าใช่หรือที่ต้องเรียน MBA หรือปริญญาโทด้านอื่นๆ คือความคิดแบบนี้คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนอาจไม่เข้าใจ พอต่อยอด ส่งให้ลูกอยากเรียนตอนที่ยังมีไฟ อยากส่งให้จบเร็วๆ แต่พอสุดท้ายเด็กยุคนี้คือยุคของการค้นหาตัวตน ตามหาความเข้าใจจริงๆ ซึ่งเทคโนโลยีทำให้เขาเข้าใจว่า ทุกอย่างสามารถหาข้อมูลได้ทั่วทุกมิติ Search Google ก็สามารถรู้ได้ทุกอย่าง อยากเรียนที่ไหน อยาก DIY อะไร สามารถจัดสรรกับชีวิตตัวเองได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ยังไม่มีคือสังคม”

เพราะฉะนั้นเด็กปริญญาตรีที่นี่อาจารย์จะไม่ผลักเลย จะเข้าไปทำความเข้าใจเขาเท่านั้น และสิ่งที่ตัดสินใจต้องตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เรียกว่าต่อให้ดียังไงถ้ามันยังไม่ใช่ เขาก็ไม่เอา ยุคนี้เป็นแบบนี้ สำหรับปริญญาโทที่เรียนทางอินเทอร์เน็ตก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือได้เรียนอย่างใจเขา แต่ข้อเสียก็คือความสำเร็จ เราไม่รู้ว่าจุดวัดสัมฤทธิผลอยู่ตรงไหน เพราะการเรียนทางอินเทอร์เน็ตก็จะวัดความรู้ความเข้าใจแบบหนึ่ง การเรียนแบบการพบปะกันให้ห้อง มีสังคม มี Sharing ก็จะอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วอาจารย์จะให้ความเข้าใจเขาว่า เรียนแบบนี้ดีอย่างไร ให้ตัดสินใจเอง เมื่อตัดสินใจได้จะมีความมั่นใจมากกว่าเดิม

สำหรับนักศึกษาในรุ่นที่ 20 นี้ เราได้เด็กแนะนำนักศึกษาที่จบใหม่ และมีความมั่นใจว่า อยากจะเรียนต่อเอง บางคนไม่มี Guideline คือจบมาอยากทำงาน อยากบินสู่โลกกว้างแล้ว แต่พอเราถามว่าบินที่ไหน บินเพื่ออะไร และบินในสิ่งที่ตัวเองใช่หรือเปล่า พอพบถามคำถามตรงนี้ จะถูกถามกลับมาว่า “ถ้าหนูจะบินตรงนี้ หนูต้องมีพื้นฐานอะไรบ้าง อาจารย์ช่วยหนูได้มั้ย” ถ้าตรงนั้นเราคลิกเท่ากัน เราตอบได้ว่าคุณพร้อมแล้วคุณน่าจะเรียน ซึ่งก็มีบางคนที่จบโทมาแล้วยังไม่รู้เลยว่าทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมีจำนวนไม่ใช่น้อยๆ เลย

เราแก้ปัญหาของการศึกษาไม่ได้ตรงนี้ เนื่องจากเป็นมาตั้งแต่มัธยม ซึ่งอาจารย์ได้มีโอกาสอยู่กับเด็กมาแทบจะทุกช่วงอายุ ยกตัวอย่างอย่างเด็กที่อยู่ ม.4 ต้องถามว่าใช่หรือเปล่าแผนการเรียนที่เขาเลือกเรียน บางทีติดเพื่อน พอตามเพื่อนไปมากๆ จะกลายเป็นไม่ใช่ตัวตนของเรา ด้วยความที่อาจารย์เป็นนักจิตวิทยาด้วย จึงจะถามเด็กตรงๆ ว่าจริงๆ เป้าหมายในชีวิตหนูคืออะไร เช่น เด็กๆ บอกหนูอยากสร้างบ้าน แล้วทำไมหนูมาเลือกเรียนวิศวะ เด็กบอกหนูเข้าใจว่าเรียนวิศวะโยธาสร้างบ้านได้ ก็ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ เด็กจะอยากตามเพื่อนและเชื่อว่าเพื่อนทำได้ ตัวเองต้องทำได้ แต่สุดท้ายเรียนมาตั้งนานกลายเป็นไม่ได้ทำอย่างที่อยากเป็น จึงต้องกลับมาใช้ความเข้าใจให้มากๆ

เหตุผลและเป้าหมายในการก้าวเข้ามาทำงานด้านการศึกษาและเยาวชน

ดร.ปฏิมา เล่าว่า ด้วยในครอบครัวของตัวเอง ทำงานด้านการศึกษามาตลอดชีวิตนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้เข้ามาทำงานตรงนี้ แม้ว่าไม่ได้เรียนทางด้านการศึกษามาก่อน แต่เรียนทางด้านสถาปัตย์ และเคยทำงานเป็นสถาปนิกที่สหรัฐอเมริกาอยู่ถึง 13 ปี ไม่ได้คิดจะกลับมาเลย แต่เนื่องจากที่ครอบครัวคุณแม่ทำธุรกิจด้านการศึกษา โรงเรียนอรรถวิทย์ วิทยาลัยเทคโนโลยีอรรถวิทย์พานิชยการ และ วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก

“จากเหตุผลตรงนี้ ทำให้เราก็เริ่มรู้สึกว่า Family Business สำคัญและคุณแม่ คุณน้าและครอบครัวให้โอกาสกลับมาช่วยกัน จากจุดนั้นก็ผันตัวเองเปลี่ยน Profession จากทางด้าน Architect มาเป็นทางด้านการศึกษา จิตวิทยาเด็กเล็ก จิตวิทยาวัยรุ่น และต่อยอดทางด้านบริหารการศึกษา แล้วจึงมาเรียนต่อปริญญาเอกทางด้านบริหารธุรกิจ เราจึงดูแลทางด้านการศึกษาเด็ก และการจัดการทางด้านบริหาร Business”

การทำงานที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เท่าที่สัมผัสมาตลอดชีวิตการทำงาน ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต ซึ่งต้องขอบคุณผู้ใหญ่ที่ให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้ เข้าไปสอนหนังสือตั้งแต่ระดับอนุบาล จึงทำให้เข้าใจรากฐาน มาตรการการศึกษาของประเทศไทยเป็นแบบไหน ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กโต จนถึงเด็กอาชีวะ เรียกว่ามีมาทุกมุม และยังมีโอกาสไปสร้างโรงเรียนอาชีวะเองด้วย ซึ่งก่อนที่จะมาดูแลด้านปริญญาโทก็ดูแลด้านอาชีวะมา 10 กว่าปี

“ประสบการณ์ทำให้เราเข้าใจเด็กวัยรุ่นตอนโต ก่อนการตัดสินใจเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เข้าใจเส้นทางของนักเรียน ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย สำหรับนักการศึกษาคนหนึ่ง ที่จะเข้าใจความละเอียดอ่อนของคุณพ่อคุณแม่ ที่พยายามจะส่งเสริมให้ลูกสำเร็จในทุกก้าวของชีวิต ซึ่งยากมาก”

การที่เราจะเข้าใจว่าเรียนปริญญาตรีแล้วได้อะไร เรียนแล้วทำอะไร การทำเพื่อพ่อเพื่อแม่ แต่ถ้าได้ผ่านความเข้าใจของอาจารย์ ก็จะอธิบายเด็กทุกคนให้เข้าใจว่า ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันก็ไม่ได้ยากเกินกว่าความสามารถ ที่จะทำให้สำเร็จในทุกๆ เรื่อง เพราะฉะนั้นถ้าเรามี Pro & Con ทุกเรื่อง ตั้งเป้าปักหลักแล้วสำเร็จ คนรอบข้างเราที่เขาอยู่ข้างหลังก็จะสบายใจไปด้วย บางครั้งเป็นเรื่องของวัฒนธรรมไทย

“จากที่อาจารย์อยู่กับเด็กต่างชาติมา ที่ต่างประเทศส่วนใหญ่เมื่อจบม.6 แล้ว พ่อแม่จะไม่จ่ายเงินให้ลูกนะ เรียนปริญญาตรีคุณต้องทำงานหาเงินเรียนเอง ซึ่งต่างกับวัฒนธรรมสังคมไทยของเรา ที่เรียนสูงแค่ไหนพ่อแม่ก็พยายามหาเงินจ่ายให้ ความชัดเจนหรือความใส่ใจกับเงินที่เขาหามาได้เองจึงต่างกัน จะเห็นว่าเด็กเมืองนอกจะมีความคิดเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็กไทย เด็กไทยอย่างไรก็จะรู้สึกว่าอยู่ในอ้อมกอดของพ่อแม่ เรียนทุกอย่างที่สำเร็จเรายังมีแม่พ่อประคอง อยู่เป็นกำลังใจ”

ดังนั้น ในทุกครั้งถ้าสอน จะเปรียบเทียบให้เด็กเห็นว่าจริงๆ แล้วในมุมหนึ่งของโลกในวัยที่เท่าๆ กันกับคุณ จะมีนักศึกษาที่หาเงินเรียนเอง เขาตั้งใจสร้างตัวของเขาเองซึ่งมันต่างกัน มีจุดศูนย์กลางต่างกันอย่างไร เพราะฉะนั้นหนูอย่าเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางเราต้องมองด้วยว่าโลกตอนนี้มันเปลี่ยนไป แล้วเราจะสู้เขาได้มั้ย ถ้าตอนนี้เรายังไม่ก้าว เขาก้าวไป 10 ก้าวแล้วจะสู้เขาได้มั้ย อันนี้เป็นมุมมองว่าเยาวชนของไทยยังรู้สึกว่า ทุกอย่างที่ได้มา ยังไม่เหมือนกับการพยายามได้มาด้วยตัวของเขาเอง คนอื่นหยิบยื่นให้จะยังไม่เห็นความสำคัญ ถ้าเรียนโทแล้วเป็นเงินของตัวเองเด็กจะมาเรียนเช้าและจะมาทุกๆ วัน เห็นได้ถึงความแตกต่างเลย

ความเชื่อนี้มีมาตั้งแต่อาชีวะ ความต่างระหว่างภาคปกติกับภาคพิเศษ จะมาตั้งแต่ตีห้า เรียนวันอาทิตย์วันเดียวโดยเขาต้องเจียดเวลาที่จะได้โอทีในโรงงานเพื่อมานั่งเรียน เด็กจะเก็บรายละเอียดทุกอย่างว่าอาจารย์สอนอะไร ตั้งแต่เช้าถึงสี่โมงเย็น เรียกว่าความตั้งใจเกินร้อย กับเด็กภาคปกติที่ต้องให้มาเรียนให้ทัน ต้องเพิ่มความมีวินัย ซึ่งคนละมุมกันเลย เมื่อเห็นภาพนั้นเราจะเห็นภาพต่อเลยว่า เด็กคนไหนที่เรียนต่อแล้วจะไปได้ดี เลยต้องฝากไว้กับการศึกษาไทยว่าเมื่อถึงจุดที่เด็กต้องการสร้างความเป็นตัวตนของเขา เขาจะตั้งใจ

ความสำเร็จ หรือความภูมิใจในการทำงานด้านการศึกษาที่ผ่านมาด้านการศึกษา

ในด้านผลงานความสำเร็จ ก่อนหน้าจะมาเป็นผู้อำนวยการหลักสูตร MBA ของ SBC นั้น ดร.ปฏิมา มีบทบาทในงานที่เกี่ยวข้องกับสังคม ด้านการศึกษาและงานบริการวิชาการตลอดมา โดยตั้งแต่ปี 2548 ได้รับให้เป็น” ครูดีเด่น” จากหน่วยงานที่มอบให้ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต อาชีวะ รวมถึงตั้งแต่ปี 2548 – ปัจจุบัน ได้รับความภูมิใจสูงสุด คือ เป็นผู้ประนีประนอม งานไกล่เกลี่ย ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และเป็นแคนดิเดตของผู้พิพากษาสมทบในปีนี้

“ด้วยความที่เราทำงานกับเยาวชนมาพอสมควร งานสอนก็ทางหนึ่ง แต่ภาระหน้าที่ทางสังคม เป็นวิทยากร อาจารย์พิเศษสอนหลายมหาวิทยาลัย และอีกหนึ่งบทบาทนึงที่ให้ความช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ คือเด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยอาจารย์เชื่อว่าเขาแค่เดินทางผิด เขาแค่ได้รับโอกาสที่ไม่เหมือนเรา จังหวะชีวิตเขาอาจจะไม่ใช่ จังหวะชีวิตที่ถูกต้องทุกครั้ง ดังนั้นถนนเส้นนี้ที่ SCB ตั้งอยู่นี้ จะมีทั้งบ้านเมตตา มุทิตา อุเบกขา บ้านปราณี บ้านกรุณา เมื่อว่างอาจารย์จะเข้าไปคุยทางด้านจิตวิทยา ให้ความรู้กับเขา เป็น งาน CSR และ นี่เป็นภารกิจหลักของ SBC เลยที่เป็นส่วนหนึ่งช่วยดูแลคนใน พื้นที่และสถานพินิจฯ เช่นกัน

อาจารย์เชื่อว่าเด็กเหล่านี้ หากได้รับการอบรมฟื้นฟูและแก้ไข เขาจะเปลี่ยนตัวเองได้ เพียงแต่สอนให้เด็กรู้จักอภัย ยอมรับ อยากให้ยุคของยุคนี้ เป็นยุคที่ให้โอกาสคนจริงๆ เพราะเรากลับไปแก้ไขในสิ่งที่เขาเคยทำไม่ได้ ดร.ปฏิมา ทิ้งท้ายด้วยแนวคิดว่า “เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ในเมืองไทย ที่ยังไม่มีการเปิดใจ ยอมรับจริงๆ ว่าคนที่เขาถูกให้โอกาสนั้น เราให้โอกาสเขาจริงหรือไม่ แต่เมื่อเปิดโอกาสแล้ว เวลารู้ว่าเคยผิดพลาดก็ผลักเขาออกไป เราต้องมาช่วยกันเปลี่ยนมุมมองตรงนี้ใหม่เพื่อสร้างโอกาสให้พวกเขามีที่ยืน เพื่อสร้างสังคมแห่งความแบ่งปันอย่างยั่งยืน”


เรื่อง: ชนิตา งามเหมือน

ภาพ: รัตนไชย สิงห์ตระหง่าน

ในความเป็น “สถาบันการศึกษาในพื้นที่” อันดับต้นๆ ของคนทำงาน ที่ต้องการปรับวุฒิและยกระดับการศึกษา

ในภาวะของ VUCA world ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความท้าทายใหม่อยู่ตลอดเวลา Disruptive Technology

Page 2 of 4
X

Right Click

No right click