ปัจจุบันเราอยู่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาและก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ซึ่งหมายความว่า ธุรกิจที่ไม่ปรับตัวตอบรับกับเทคโนโลยี อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและโอกาสในการอยู่รอดต่อไป

ธุรกิจในยุคปัจจุบันแตกต่างจากที่เคยเป็นมาด้วยอานุภาพของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น รูปแบบการใช้ชีวิตรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

Why YMBA NIDA?

February 12, 2020

“ผมคิดว่าถ้าผมเรียน MBA มีโอกาสได้ลูกค้าใหม่ ตอนแรกคิดแค่นั้น แต่พอมาเรียนจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่นั้น” จิรายุ ลิ่มจินดา (พี) Chief Product Officer บริษัท จินดาธีม จำกัด เล่าย้อนความคิดของตัวเองเมื่อครั้งตัดสินใจเข้าเรียนหลักสูตร YMBA

พี คือ ผู้หนึ่งที่เลือกเข้ามาเรียนหลักสูตร Young Executive MBA (YMBA) ของคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จนเพิ่งจบหลักสูตรรับปริญญาบัตรไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในฐานะผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจ 2 บริษัท บริษัทจินดาธีม ซึ่งทำงานด้านซอฟต์แวร์ รับเขียนโปรแกรมต่างๆ และอีกธุรกิจหนึ่งคือสตาร์ทอัป TripNiceDay ซึ่งเป็นผลพวงจากการมาเรียนในหลักสูตรนี้ จากพื้นฐานปริญญาตรีทางด้านคอมพิวเตอร์ เมื่อต้องมาเรียนรู้การบริหารธุรกิจในหลักสูตร YMBA ก็เป็นประสบการณ์ที่สร้างความประทับใจให้กับพี

ความสนใจที่จะเรียนMBA ของพี เริ่มจากการเปิดบริษัทร่วมกับหุ้นส่วนซึ่งเป็นคนในสายคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน พีบอกว่า เป็นการเปิดบริษัทโดยใช้ Passion เป็นตัวนำ ยังขาดการมองภาพรวมของธุรกิจ ซึ่งเขามองว่าการเรียนบริหารธุรกิจจะช่วยให้เขาสามารถทำธุรกิจได้ดีขึ้น มองเห็นภาพรวมมากขึ้น พร้อมกันนั้นเขาก็มองไปถึงการตลาดของบริษัทที่อาจจะได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นจากการเข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้ ซึ่งก็ได้ผลจริงๆ

พอมาเรียนจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่นั้น ได้งานใหม่ ตอนนี้ผมได้มาเกือบ 10 งานแล้วจากเพื่อนในกลุ่ม แต่ว่าที่ได้จริงๆ คือ ภาพรวม แง่คิดจากเพื่อนในคลาส ถ้าเรียนคอมพิวเตอร์ต่อก็เหมือนกับเดินเข้าไปตรงๆ ไม่ได้เห็นภาพกว้างไม่ได้เห็นระหว่างทางเลย ผมก็จะได้มุมมองทางด้านนี้เฉพาะเจาะจง แต่มาเรียน MBA ผมได้เห็นว่าฝ่ายขายคิดอย่างไร การตลาดคิดอย่างไรเวลาไปหาลูกค้า เวลาเจอเหตุการณ์แบบนี้จะใช้เหตุผลอย่างเดียวไม่ได้ ทำให้เห็นว่าแต่ละเรื่องมองได้หลายมุม

พีอธิบายเกณฑ์ที่เขาใช้เลือกสถาบันศึกษาต่อว่า เขาอยากได้สังคมที่ผู้เรียนมีความต้องการมุ่งมั่นจะมาเรียน จึงมองหาสถาบันที่เปิดสอนเฉพาะระดับปริญญาโทและเอก ขณะเดียวกันก็ไปดูข้อมูลศิษย์เก่าที่จบไปแล้วของแต่ละสถาบัน และคณาจารย์ผู้สอนที่มีความรู้เกี่ยวกับบริบทการทำธุรกิจในประเทศไทยสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจได้ เมื่อเทียบกันกับหลายสถาบันแล้วเขามองว่านิด้าคือตัวเลือกที่เขามองหาอยู่

และอีกเหตุผลที่สำคัญคือคำแนะนำจากคุณแม่ของพีในฐานะผู้บริหารก็มองว่า นิด้าผลิตบัณฑิตที่เอางานเอาการมีความรู้ ซึ่งมีส่วนทำให้เขาตัดสินใจเลือกสถาบันแห่งนี้

ส่วนการที่เลือกเรียนหลักสูตร YMBA พีบอกว่า เพราะอยากได้เพื่อนร่วมชั้นที่อายุใกล้เคียงกัน สามารถพูดคุยเข้าใจกันได้งาน มีมุมมองในแต่ละเรื่องไม่ต่างกันมาก

ปรับตัวช่วงแรก

พียอมรับว่า ในช่วงแรกจะเข้ากับเพื่อนๆ ในชั้นเรียนยากนิดหน่อย เพราะทักษะด้านการสื่อสารต่างๆ ยังมีไม่มาก ในแบบฉบับของคนทำงานด้านไอที และเมื่อมาเจอกับโปรแกรมการเรียนที่ค่อนข้างหนักในแต่ละสัปดาห์ทำเอาพีถึงขั้นเกือบถอดใจเลิกเรียนไปเหมือนกัน

“ช่วงแรกๆ ไม่อยากทำแล้ว เรียนหนักมากเลย ทำให้เรารู้ว่าที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตสบายมาก จัดการเวลาไม่ดี มาเจอพวกพี่ๆ ในคลาส หน้าตาเหนื่อยมากเลย แต่ก็สู้ แล้วจับกลุ่มกันหลายคน ผมก็เลยรู้สึกว่าเขายังทำได้เลย ผมไม่ได้เป็นคนเดียวที่รู้สึกแบบนั้น ก็เป็นอีกประเด็นที่ช่วยให้เราเรียนจนจบ”

พีมองว่าการมาเรียนในช่วงแรกคือการปรับตัวจากช่วงที่ว่างเว้นจากการเรียนหลังจบปริญญาตรีไป ทำให้แต่ละคนมีวิถีชีวิตที่ปล่อยตัวไปกับความสนุกสนานหลังเลิกงาน เมื่อต้องกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง ทั้งร่างกายและจิตใจจึงต้องการปรับตัวค่อนข้างมากเพื่อให้คุ้นเคยกับการเรียน

พีเล่าว่า “พอผ่านช่วงหนึ่งมาได้เราก็รู้สึกว่าไม่ได้เท่าไร และเราก็สนุกกับการเรียนด้วย เพราะเพื่อนทุกคนเหนื่อยก็จริงก็ยังมาเรียนมาเล่นทำงานกลุ่มร่วมกัน เสน่ห์อยู่ตรงนี้ คือทุกคนมีช่วงที่เหนื่อยแต่ช่วงที่ทำงานด้วยกันเรียนด้วยกัน สนุก ก็เลยเกาะกลุ่มกันไปได้ และอาจารย์ก็ใจดี ให้ความรู้ มีประสบการณ์ในการสอนให้เห็นภาพ ได้ความรู้หลายๆ ด้าน สุดท้ายกลายเป็นว่าติดเรียนอยากมาเรียน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พอช่วงเรียนจบมาช่วงเย็นของทุกวันว่างไป เหงาจังเลย ไม่มีอะไรทำเหมือนเดิม”

พัฒนาซอฟต์สกิล

ผลพลอยได้จากการเรียน YMBA ของพี อีกอย่างคือการพัฒนาซอฟต์สกิล ซึ่งเขามองว่ามีความสำคัญมาก จากการทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน ทำให้เขามีโอกาสพัฒนาทักษะในการสื่อสารข้อมูลต่างๆ และสามารถนำไปใช้ในการทำงานได้เป็นอย่างดี

“เวลาไปคุยงานกับลูกค้าถ้าพูดศัพท์เทคนิค แล้วลูกค้าทำหน้าไม่เข้าใจก็เริ่มมีปัญหาแล้ว อาจจะทำให้เขาไม่ประทับใจได้ แต่ถ้าผมไปบริษัทลูกค้าผมรู้ว่าเขานำเข้าอยู่เยอะ ผมเรียนบริหารไป ผมอาจจะพูดว่าช่วงนี้เงินบาทแข็งมาก พี่นำเข้าลำบากนิดหนึ่งนะ เขาจะมีความรู้สึกว่าคุณก็มีความรู้ด้านนี้ เหมือนสร้างความประทับใจให้เขานิดหนึ่ง ซอฟต์สกิลช่วยให้เราจับอะไรง่ายขึ้น เรื่องนี้เรื่องใหญ่ พัฒนาหน้าจอไม่ได้ มาเรียนกับคนจะดีกว่า”

ความรู้พร้อมใช้งาน

พีเล่าว่า การมาเรียนที่นี่ทำให้เขาได้เปิดโลกในหลายๆ เรื่อง อาทิ เมื่อเรียนเรื่องการเงินทำให้เขารู้ว่า ต้นทุนการเงินเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาตนเองทำอะไรพลาดไปบ้างในธุรกิจของตัวเอง ลงบัญชีผิดไปตรงไหนบ้าง เป็นหลักคิดที่ไม่เคยรู้มากก่อน และสามารถมาช่วยในการทำธุรกิจได้

หรือวิชาการตลาด ทำให้เขาได้เรียนรู้จิตวิทยาของการซื้อการมองสินค้า ก็สามารถนำไปปรับใช้ในการทำธุรกิจของตนเอง ประกอบกับการได้รับความคิดเห็นของเพื่อนในชั้นเรียน ที่ช่วยเสริมภาพการมองธุรกิจของพีให้มีความชัดเจนมากขึ้น

พีคิดว่าการเรียนรู้ทางด้านบริหารธุรกิจแตกต่างจากการเรียนรู้สายวิทยาศาสตร์ที่เคยเรียนมาแต่ก็สามารถนำมาปรับใช้ร่วมกันและเสริมสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้กับเขาได้ ช่วยให้เปิดใจ กล้าลองกับความคิดใหม่ๆ โดยอาศัยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ นำมาใช้ประกอบด้วยการทำการทดลอง วัดผลในสิ่งที่ทำต่างๆ

“ผมว่าผมได้ใช้เยอะมาก คุ้มกับค่าเรียนมาก ผมไม่เคยขาดเลย แต่ละคาบผมมีความรู้สึกว่าถ้าขาดไปผมจะต้องพลาดอะไรสักอย่างที่อาจารย์พูด ถ้าอยู่ในชีตก็คือเอาไปอ่านได้ แต่บางคลาสอาจารย์อาจจะพูด บางอย่างให้เราได้คิด จากประสบการณ์และความรู้ที่มี ทำให้เราไม่อยากพลาด จะได้หลักคิดบางอย่าง สนุกด้วยได้ความรู้ด้วย” พีกล่าว

เรียนจนได้ธุรกิจใหม่

กับธุรกิจใหม่ของเขา TripNiceDay พีเล่าว่าเป็นความต่อเนื่องจากโปรเจ็กต์ก่อนจบที่นิด้านี่เอง ในวิชา Independent Study การค้นคว้าอิสระซึ่งมีทางเลือกคือให้ไปศึกษางานบริษัทที่มีอยู่แล้วและคิดโครงการขึ้นมาใหม่ ซึ่งพีเลือกคิดทำโครงการใหม่ เพื่อทดลองความรู้ทั้งหมดที่ได้เรียนมา

พีเล่าว่า “สตาร์ทอัปตัวนี้ ต่างกับตอนเริ่มทำบริษัทซอฟต์แวร์มากพอสมควร เพราะว่า ตอนนั้นคิดอยากทำแล้วลงมือเลยไม่มีการเตรียมหาข้อมูล งานนี้เหมือนผมต้องไปทำเอกสารมาก่อน ผมไปทำส่วนที่ตัวเองไม่ถนัดมาก่อนเลย ไปหาข้อมูลลูกค้า ไปลงตลาดทำเซอร์เวย์ คู่แข่งเป็นใครบ้าง ตัวเลขสถิติอะไรต่างๆ ต้องวิเคราะห์แต่ยังไม่ได้เขียนโปรแกรมสักบรรทัดเลย ไม่เหมือนกับที่เราทำบริษัทแรก ตอนแรกผมก็คิดว่าทำไมเราต้องมานั่งทำเอกสาร 200 กว่าหน้า ทั้งๆ ที่ยังหยิบจับอะไรไม่ได้เลย ทำไมไม่เริ่มเขียนโปรแกรมขึ้นมาเลย”

แต่ผลสุดท้ายที่ออกมาคือ เมื่อเขาต้องเริ่มลงมือกับซอฟต์แวร์จริงๆ เขาสามารถเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับการทำงานได้ดีขึ้น จากพื้นฐานข้อมูลที่ได้ศึกษามาแล้ว โดย TripNiceDay เป็นแพลตฟอร์มการท่องเที่ยว ที่รวบรวมข้อมูลสำหรับการวางแผนท่องเที่ยวในประเทศไทยไว้อย่างครบถ้วน เพื่อช่วยให้การท่องเที่ยวของแต่ละคนมีความสุขไปได้ด้วยกัน

พีบอกว่า ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากคณาจารย์ในคณะ ทั้งด้านการให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับธุรกิจ การแนะนำให้รู้จักกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เมื่อประกอบกับการเริ่มทำธุรกิจอย่างมีหลักการแล้ว ทำให้เขารู้สึกว่าการเริ่มต้นครั้งนี้มีความราบรื่นกว่าเมื่อตอนตั้งบริษัทครั้งแรกมาก ถือเป็นการวัดผลสำเร็จของการเรียนที่ได้จากหลักสูตร YMBA ได้เป็นอย่างดี

พีสรุปว่า “เราเห็นภาพกว้างขึ้น เอาไปต่อยอดได้ เหมือนกับว่าถ้าเราจะตั้งบริษัทในอนาคต เรามีเทมเพลตเลยว่าเราจะทำอย่างไร 1 2 3 4 5 เราเดินตามนี้เลย ก็ช่วยเราได้เยอะ ไม่ต้องมางม”

ภูมิใจในนิด้า

พีสรุปความคิดของตัวเองที่มีต่อการเรียนในหลักสูตร YMBA ของนิด้า ว่า

“ผมเรียนตรี 4 ปีผมเข้าเรียนไม่ได้เท่ากับเรียนโทสองปีเลยทั้งที่เวลาเรียนน้อยกว่ากันมาก ตอนปริญญาตรีอาจจะไม่ได้ตั้งใจเรียนมาก ผมมองว่าเราอยากเรียนรู้ด้วย และเพื่อนในคลาสช่วยส่งเสริมให้เรามีความขยันอดทน เปลี่ยนเรา ในฐานะศิษย์เก่าผมมองว่า นิด้าให้เยอะกว่าแค่ชื่อว่านิด้า ผมมองว่าส่วนสำคัญที่สุดคือช่วงที่เราเข้ามาเรียน 2 ปี มันท้อนะครับแต่มันช่วยให้เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ความยากลำบากแบ่งเราระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ถ้าเราไม่ผ่านความยากลำบากเราก็ยังเด็กอยู่วันยังค่ำ แต่ถ้าเราเผชิญหน้ากับความยากลำบากก็จะทำให้เราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ผมมองว่าการมาเรียนช่วงแรกอาจจะยากลำบากจริง เพราะต้องเปลี่ยนตัวเองค่อนข้างเยอะในการจัดสรรเวลา ต้องยอมเสียสละเวลา ในการไปปาร์ตี้ ดูเน็ตฟลิกซ์ แต่เรารู้สึกเหมือนการลงทุนในชีวิตเรา พอจบมาแล้วเวลาไปคุยกับเพื่อนเราจะรู้เลยว่า จริงๆ แล้วเราได้อะไรมากกว่ากลุ่มที่เราเคยอยู่ เราในวันนี้กับเราในวันนั้นต่างกันมาก แม้แต่เราเองยังรู้สึกได้

ผมภูมิใจมากกับการมาเรียนแล้วเจอหลักสูตรที่เข้มข้น ทำให้เราท้อในช่วงแรกและเราก็ผ่านมาได้ และเรามองย้อนกลับไปเราก็รู้สึกว่า เป็นปัญหาที่เราผ่านมาแล้ว ดีกว่าที่เราไม่ยอมผ่านมา

การเรียนบริหาร ถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการ หรือคิดเป็นผู้ประกอบการ หรือเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ได้คิดเป็นระบบมีหลักการมีเหตุผลมากขึ้น”

 

 


เรื่อง : กองบรรณาธิการ

ภาพ : ณัฐพงศ์ เปรุนาวิน

บทบาทหลักของสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีอย่างเช่น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ที่มีปรัชญาของสถาบันว่า สร้างปัญญา เพื่อการเปลี่ยนแปลง” (Wisdom for Change) มี 3 ภารกิจหลักที่มุ่งเน้น คือ งานด้านการวิจัย การจัดการศึกษา และการให้บริการวิชาการ

ภารกิจเหล่านี้เมื่อลงมาสู่ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร.อนุกัลยณ์ จีระลักษณกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ จึงเป็นความท้าทายที่จะต้องจัดการให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ผ่านกลไกทั้งระดับคณะและระดับสถาบัน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รอให้สถาบันการศึกษาปรับตัว ทั้งการปรับหลักสูตร การสนองความต้องการของผู้เรียน และตลาดแรงงาน

รศ.ดร.อนุกัลยณ์ เปิดเผยจุดแข็งที่คณะบริหารธุรกิจยังคงต้องรักษาไว้อย่างต่อเนื่อง นั่นคือหลักสูตรที่มีความเข้มข้นเชิงวิชาการและเน้นการถ่ายทอดความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง

วิชาเรียนนักศึกษาต้องเรียนเต็มที่ เนื้อหาวิชาการ หลักคิดต่างๆ อาจารย์ที่มาสอนในวิชาต่างๆ เน้นในเชิงการนำไปใช้ปฏิบัติ ในการทำงาน ในการแก้ปัญหาจริงๆ ของเขาได้ จากประสบการณ์ของอาจารย์ผู้สอนและงานที่อาจารย์มอบหมายให้นักศึกษาทำ นักศึกษานิด้าจะทำงานเยอะมาก ซึ่งก็เป็นกระบวนการเรียนรู้ในแบบของนิด้าเหมือนกัน

เพิ่มความยืดหยุ่น

การปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกทางด้านวิชาการของคณะบริหารธุรกิจ นิด้า มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง และในยุคดิจิทัลนี้รองคณบดีให้แนวทางว่า จะจัดการศึกษาในรูปแบบที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

เนื้อหาวิชาการที่ส่งต่อให้กับนักศึกษายังคงเน้นความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงเช่นเดิม ผ่านการเรียนในลักษณะ Project-based ที่เป็นการนำเอาความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับงานที่ทำได้จริง ตอบโจทย์การเรียนกับการทำงานที่ไม่แยกส่วนจากกัน

กับความต้องการใหม่ๆ เช่นผู้เรียนบางคนไม่ต้องการใช้เวลา 2 ปีเพื่อไปเรียนปริญญาโทอย่างเดียวอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต คณะจะมีการปรับเพิ่มความยืดหยุ่นให้โดยมีการเตรียมกลไกต่างๆ ไว้รองรับ

รศ.ดร.อนุกัลยณ์ อธิบายกลไกที่เตรียมไว้ว่า เราใช้คำว่า Degree กับ Non-degree คือเป็นปริญญากับเป็นเวิร์กช้อป ซึ่งที่เราทำอยู่ จะทำให้สามารถผสมกัน คุณมาเรียนเป็นรายวิชาไป สะสมหน่วยกิต สะสมวิชาเพื่อสามารถไปรับปริญญาได้ถ้าคุณต้องการ คือตอนนี้ยังไม่ต้องการปริญญาแต่ต้องการเรียนเรื่องการเงิน เรียนเรื่องการทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาของเขา ก็มาเรียนเป็นหลักสูตรระยะสั้น พอเรียนไปถึงจุดหนึ่งคิดว่ามากพอและอยากได้ปริญญาก็มาลงเรียนเต็มเวลาเพื่อเรียนส่วนที่เหลือให้ครบ โดยเอาส่วนเดิมมาใช้ได้ และได้ปริญญาไป นี่คือเทรนด์ที่จะเกิดขึ้น คือความยืดหยุ่นในเรื่องระยะเวลา

อีกทางหนึ่งก็จะเพิ่มการเรียนออนไลน์เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในด้านเวลาให้กับนักศึกษาเพิ่มขึ้น สร้างความสะดวกให้กับผู้เรียนให้สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาตามที่สะดวก

ในด้านของเนื้อหาวิชาการที่นิด้ามีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ก็จะเติมหรือบูรณการเนื้อหาที่เป็น Tools ใหม่เพิ่มเข้าไปในวิชาต่าง ๆ เช่น การใช้เครื่องมือจาก Neuroscience ในการเข้าใจถึงพฤติกรรมมนุษย์เพื่อนำมาใช้ในด้านการตลาด หรือการสร้างผู้นำ การนำแนวคิดจาก Design Thinking มาใช้ในการบริหารนวัตกรรมขององค์กร หรือ การประยุกต์ใช้ AI หรือ Blockchain ในการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลหรือพฤติกรรมลูกค้า หรือ การบริหาร Supply Chain ขององค์กร หรือ แม้กระทั่งการยกระดับการบริการลูกค้า เป็นต้น Tools เหล่านี้ก็จะผนวกเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนมากขึ้น

อีกจุดเด่นหนึ่งที่นิด้ายังคงรักษาไว้ คือการสอดแทรกประกาศนียบัตรสายวิชาชีพต่างๆ เข้าไปในหลักสูตร เช่น ประกาศนียบัตรทางด้านการเงิน CFA (Chartered Financial Analyst) และ FRM (The Financial Risk Manager) และ ประกาศนียบัตรทางด้าน Business Analytic หรือ Project Management โดยเปิดให้นักศึกษาของคณะสามารถเรียนและสอบรับใบประกาศนียบัตรสะสมเป็นหน่วยกิตในหลักสูตรไปพร้อมกัน

รองคณบดีฝ่ายวิชาการกล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่เป็นคณะบริหารธุรกิจ วิชาพื้นฐานทางด้านธุรกิจยังเป็นสิ่งที่นักศึกษาต้องได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การตลาด การบริหารจัดการ ภาวะผู้นำ โดยอาจจะมีการปรับย่อวิชาพื้นฐานให้มีความกระชับมากขึ้น เพื่อให้สามารถเพิ่มวิชาใหม่ในหลักสูตรได้มากขึ้น เพิ่มโอกาสให้นักศึกษาเลือกเรียนวิชาที่ตนเองสนใจมากขึ้น

วิชาก็จะสั้นลง นักศึกษามีโอกาสเรียนวิชาอื่นมากขึ้น มีความยืดหยุ่นในการเลือกวิชาในการเลือกเวลาเรียนของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเรียนตามโปรแกรม ทำให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขามากขึ้นรศ.ดร.อนุกัลยณ์สรุป

เพิ่มงานวิจัยคุณภาพ

เครื่องบ่งชี้ความเข้มแข็งทางด้านวิชาการของสถาบันการศึกษาอีกด้านหนึ่งคืองานวิจัย ซึ่งในเรื่องนี้ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะบริหารธุรกิจ ให้ข้อมูลผลงานวิจัยของคณาจารย์ในคณะว่า ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาคณะบริหารธุรกิจ มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ มากที่สุดในสถาบัน และจำนวนการอ้างอิงผลงานวิจัยก็มีจำนวนมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของนิด้าเช่นกัน

และเพื่อสนองนนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ต้องการให้นิด้าเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก การยกระดับงานวิจัยให้ดีขึ้นจึงเป็นภารกิจของทั้งสถาบัน โดยคณะบริหารธุรกิจมีกลไกส่งเสริม สนับสนุนให้คณาจารย์สร้างผลงานวิจัยที่ได้คุณภาพมากขึ้น ผ่านรางวัลต่างๆ ที่คณะจะมอบให้กับผู้ทำวิจัย

รศ.ดร.อนุกัลยณ์ อธิบายว่างานวิจัยที่มีคุณภาพ คือ งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่อยู่ในการจัดอันดับตามระบบ Scimago คือ แบ่งเป็น Q1 Q2 Q3 และ Q4 สำหรับแต่ละสาขาวิชา เช่น การเงิน การจัดการ ความหมายของ Q1 คือ วารสารวิชาการที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวารสารที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดและอยู่ในกลุ่ม top 25 เปอร์เซ็นต์ในสาขานั้น การยอมรับในระดับนานาชาติหมายถึงผลงานวิจัยของอาจารย์คนนั้นมีนักวิชาการจากทั่วโลกอ้างอิงและนำไปใช้ต่อ ส่วน Q2 Q3 และ Q4 ก็จะเป็นระดับรองๆ ลงมา คือ Q2 คือกลุ่มวารสารที่อยู่ระหว่าง top 25 กับ top 50 เปอร์เซ็นต์ Q3 คือกลุ่มวารสารที่อยู่ระหว่าง top 50-top 75 และ Q4 คือกลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ

โดยงานวิจัยที่สามารถนำไปตีพิมพ์ในวารสาร Q1 และ Q2 นับว่าได้รับการยอมรับจากนักวิชาการทั่วโลกว่าเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพ เพราะก่อนที่งานวิจัยนั้นจะสามารถตีพิมพ์ได้ต้องผ่านการยอมรับจากนักวิจัยและอาจารย์ในระดับโลกก่อน ดังนั้นการที่ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนี้จึงถือว่างานวิจัยได้รับการยอมรับในระดับโลกไปด้วย จึงกลายเป็นเป้าหมายที่คณะบริหารธุรกิจต้องการผลักดันให้ผลงานวิจัยของคณะไปตีพิมพ์ในวารสาร Q 1 และ Q2 เพิ่มขึ้น

นอกจากการมุ่งไปที่งานวิจัยระดับโลกแล้ว คณะบริหารธุรกิจยังตั้งเป้าหมายให้งานวิจัยของคณะสามารถสร้างผลกระทบต่อภายนอกสถาบันในระดับประเทศได้ด้วย คณะเปิดโอกาสให้อาจารย์สามารถทำงานวิจัยที่นำมาใช้ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการไปแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ให้กับองค์กร สังคม หรือประเทศได้ เป็นการเชื่อมโยงงานวิจัยของสถาบันการศึกษากับสังคมภายนอกเข้าด้วยกัน

รศ.ดร.อนุกัลยณ์ ยังเล่าถึงทิศทางงานวิจัยที่นักวิชาการต่างประเทศให้ความสนใจเพิ่มขึ้นคือ งานวิจัยที่สามารถนำเอาบริบทของแต่ละพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยเกี่ยวข้องมาใช้ เพราะในบางครั้งงานวิชาการของประเทศหนึ่งก็ไม่สามารถนำไปใช้กับประเทศอื่นได้ซึ่งเป็นผลจากบริบทของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน โดยอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือคิดทฤษฎีใหม่ๆ ขึ้นมา จึงเป็นโอกาสของนักวิชาการในแต่ละพื้นที่สามารถสร้างสรรค์งานวิจัยที่น่าสนใจมากขึ้นได้

มุ่งสู่เวิล์ดคลาส

รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะบริหารธุรกิจ กล่าวการจะก้าวสู่สถาบันการศึกษาระดับโลก จะต้องเริ่มจากการสร้างความโดดเด่นได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคก่อน แล้วค่อยขยายไปสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับโลกต่อไป คล้ายคลึงกับที่สถาบันการศึกษาในแถบเอเชียหลายแห่งทำมาแล้ว

ทั้งนี้การตั้งเป้าหมายสร้างสรรค์งานวิจัยที่สามารถตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Q1 และ Q2 เพิ่มขึ้น จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยยืนยันคุณภาพทางวิชาการและคุณภาพคณาจารย์ของคณะว่าได้รับการยอมรับในระดับสากล ละจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเพื่อสั่งสมสิ่งเหล่านี้

โดยคณะและสถาบันมีความพร้อมในการสนับสนุนคณาจารย์ให้สามารถสร้างผลงานทางวิชาการที่ดีขึ้นได้โดยมีแผนปรับภาระงานของอาจารย์ในสถาบันใหม่ ให้เกิดความคล่องตัว สอดคล้องกับความถนัดของอาจารย์แต่ละท่านมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้อาจารย์ที่มีความชำนาญในการทำงานวิจัย สามารถสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพได้มากขึ้น และเปิดโอกาสให้อาจารย์ที่เก่งในด้านการสอนมีโอกาสถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาในสถาบันอย่างเต็มที่

ภารกิจการสร้างงานวิชาการของคณะบริหารธุรกิจสู่ระดับโลก เป็นความท้าทายสำหรับบุคลากรในคณะบริหารธุรกิจทุกท่าน และในฐานะสถาบันการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี งานวิจัยจึงเป็นภารกิจแรกๆ ที่ต้องได้รับการสนับสนุน แต่อย่างไรก็ตาม รองคณบดีฝ่ายวิชาการย้ำว่า งานวิจัยที่ทำขึ้นก็ต้องมีการเชื่อมโยงกับภายนอก สามารถสร้างผลกระทบต่อภายนอกสถาบันได้ โดยคณะจะมุ่งเน้นการสร้างสรรค์งานวิชาการที่มีคุณภาพท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อเป้าหมายก้าวสู่การเป็นสถาบันการศึกษาระดับโลก


เรื่อง : กองบรรณาธิการ

ภาพ : ณัฐพงศ์ เปรุนาวิน

X

Right Click

No right click