×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 10972

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

MBA Special Blockchain

December 17, 2018

หลายปีมานี้ ผมเชื่อว่าเราคงได้ยินคำว่า “Disrupt” กันอยู่เรื่อยๆ เพราะมีเคสของธุรกิจใหญ่น้อยทั่วโลกที่ถูกเจ้าคำว่า “Disrupt” นี่เล่นงานจนแทบจะล้มหายตายจาก แต่ในขณะเดียวกันนั้น เจ้า “Disrupt” นี่เองก็ช่วยให้เกิดธุรกิจใหม่ที่มีรูปแบบและโมเดลในการทำธุรกิจที่สร้างสรรค์แหวกแนวขึ้นจนธุรกิจมีมูลค่าได้มหาศาล โดยสาเหตุของการตายจากหรือเติบโตเหล่านี้สามารถได้ง่ายๆ ว่าเป็นเพราะเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จนส่งกระทบกับธุรกิจในรูปของโอกาสและภัยคุกคามแล้วแต่ว่าตัวธุรกิจนั้นปรับตัวเองได้ดีแค่ไหน  

เราจะเห็นได้ว่าในช่วงสองทศวรรษมานี้ เทคโนโลยีด้านดิจิทัลนั้นพัฒนาอย่างก้าวกระโดด อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่เราใช้งานตลอดเวลาเหมือนอากาศที่หายใจ  มีซีพียูคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน หน่วยเก็บข้อมูลก็มีราคาถูกลงเรื่อยๆ จนพลังทางดิจิทัลเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและสังคมของพวกเราทุกวัน  และเชื่อว่าปีสองปีมานี้เราคงได้ยินชื่อเทคโนโลยีนึงที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอีกครั้ง นั่นก็คือ Blockchain

กำเนิดและจุดเด่นของ Blockchain

Blockchain นั้นเป็นแนวคิดใหม่ในการเก็บข้อมูล มันเกิดจากแนวคิดของกลุ่มนักเทคโนโลยีหัวปฏิรูปที่ประสงค์จะสร้างระบบทางการเงินแบบใหม่ที่ไม่ต้องการข้องเกี่ยวกับรัฐบาล ตัวกลาง หรือธนาคารใดๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถมีอิสรภาพในการโอนย้าย “เงิน” ของพวกเขาโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน หรือตกอยู่ภายใต้ระเบียบข้อจำกัดใดๆ  และนั่นทำให้ต้องมีวิธีการเก็บข้อมูลแบบใหม่ ที่ข้อมูลไม่ได้รวมกันอยู่ในศูนย์กลาง สามารถเข้าถึงจากไหนก็ได้ และที่สำคัญที่สุดคือจะต้องสามารถยืนยันความถูกต้องของข้อมูลได้ แนวคิดการบันทึกข้อมูลแบบใหม่จึงถูกประดิษฐ์ขึ้นภายใต้ชื่อว่า Blockchain และเนื่องจากแนวคิด Blockchain นี้สามารถขจัดปัญหาของการเก็บข้อมูลในรูปแบบเดิมที่รู้จักกันได้หลายเรื่อง จึงทำให้มันถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายธุรกิจ และเชื่อกันว่ามันจะเป็นตัวผลักดันให้เกิด  Disruption กับธุรกิจต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่ทำหน้าที่คอยเป็นตัวกลางในเรื่องต่างๆ เช่น ธนาคาร ทะเบียนประวัติ กรรมสิทธิ์โฉนดที่ดิน เป็นต้น  โดยคุณสมบัติเด่นๆ ของ Blockchain ก็คือ

  • ข้อมูลแบบกระจายศูนย์ - Blockchain ใช้แนวคิดของการบันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ทำให้ฐานข้อมูลทั้งหมดถูกเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบทุกๆ เครื่อง
  • โปร่งใสและเชื่อมั่นได้ – การทำธุรกรรมต่างๆ ใน Blockchain จะเป็นที่รับรู้ในเครือข่ายทั้งหมด และมีกระบวนการในสอบทานและยืนยันความถูกต้องอย่างรัดกุม
  • เปลี่ยนแปลงไม่ได้ – Blockchain ใช้เทคนิคทางคณิตศาสตร์เพื่อยืนยันข้อมูล ดังนั้นเมื่อข้อมูลถูกเขียนลงไปใน Blockchain โดยทฤษฎีแล้ว มันจะไม่สามารถถูกแก้ไขได้ หากมีเครื่องไหนที่ข้อมูลไม่ตรงกับคนอื่น ข้อมูลในเครื่องนั้นจะไม่เป็นที่ยอมรับและถูกตัดออกจากระบบ ทำให้ข้อมูลใน Blockchain แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ในภายหลัง
  • ใช้งานได้ตลอดเวลา เนื่องจากแนวคิดการกระจายศูนย์ของ Blockchain ส่งผลให้เครือข่าย Blockchain สามารถทำงานได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ไหนชำรุด หรือระบบเครือข่ายมีการขัดข้อง

เทคนิคของ Blockchain

Distributed Database

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าแนวคิดหลักของ Blockchain คือการไม่มีศูนย์กลางข้อมูล แต่ให้ข้อมูลทั้งหมดอยู่กับทุกคนและทุกคนสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งหมด โดยใช้หลักฐานข้อมูลแบบกระจาย จะเห็นว่าด้วยการเชื่อมต่อแบบนี้ จะลดปัญหาการที่ระบบทั้งหมดจะต้องไปพึ่งพิงฐานข้อมูลเพียงชุดเดียวในส่วนกลาง ลองนึกภาพว่าถ้าคุณไปที่สถานีรถไฟฟ้าเกิดเหตุระบบสื่อสารขัดข้อง ทำให้เครื่องอ่านบัตรไม่สามารถตรวจสอบวงเงินในบัตรของคุณจากฐานข้อมูลกลางได้ ก็เท่ากับว่าคุณไม่สามารถใช้บัตรได้ ยังไม่นับว่าถ้ามี hacker ไหนเจาะเข้าไปในฐานข้อมูลซึ่งมีอยู่ที่เดียว และลบข้อมูลยอดเงินของทุกคนออกเพียงเท่านี้ก็จบแล้ว แม้จะมีทางแก้ไขด้วยการสำรองข้อมูล แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าจะดึงข้อมูลสำรองออกมาใช้ได้  แต่อย่างไรก็ดีมันมีคำถามว่า ในสภาพที่มีฐานข้อมูลในระบบจำนวนมาก หากข้อมูลแต่ละคนเกิดไม่ตรงกันขึ้นมา จะมีใครฟันธงได้ว่าข้อมูลที่ถูกต้องคืออะไร คำตอบของเรื่องนี้ตรงไปตรงมามาก นั่นก็คือประชามติ

Consensus

ธุรกรรมต่างๆ ใน Blockchain จะต้องมีการตรวจสอบยืนยันในเครือข่าย Blockchain ก่อนเสมอ และมีโอกาสที่ข้อมูลในเครื่องเราหรือบางเครื่องในเครือข่ายจะไม่ตรงกัน ซึ่งในกรณีนั้น เครือข่าย Blockchain จะถือว่าค่าที่ถูกต้องคือค่าที่ถูกบันทึกไว้ในเครื่องส่วนใหญ่ของเครือข่าย และเลือกที่จะไม่ยอมรับข้อมูลในเครื่องที่ต่างออกไปเหล่านั้น และหลังจากนั้นขึ้นอยู่กับ blockchain แต่ละระบบว่าจะทำอย่างไรกับพวกชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ บางระบบก็เลือกที่จะตัดเครื่องเหล่านั้นออกไปเลย แต่บางระบบก็ออกแบบให้พวกที่ข้อมูลไม่เหมือนจะต้องทำการ Sync ฐานข้อมูลใหม่ ให้ตรงกับคนอื่น การเลือกที่จะไม่ยอมรับข้อมูลของเครื่องบางเครื่องที่ต่างออกไป ทำให้ Blockchain มีคุณสมบัติด้านความเชื่อถือได้ของข้อมูล เนื่องจากข้อมูลที่ชำรุดหรือถูกแก้ไขโดยมิชอบ จะเกิดขึ้นได้แค่กับบางเครื่อง ซึ่งจะไม่เป็นที่ยอมรับในเครือข่าย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าต้องมีการตรวจสอบข้อมูลกับเครื่องอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา แบบนี้มันไม่ทำให้ทุกอย่างเชื่องช้าไปหมดเหรอ คำตอบเรื่องนี้อยู่ในชื่อของมันเอง “Block” & “Chain”

Block and Chain

ชื่อของ Blockchain นั้นมีที่มาจากสองคำ คือคำว่า Block และ Chain  เพราะการบันทึกข้อมูลของ Blockchain จะเป็นการบันทึกข้อมูลลงใน “Block” เป็นอันๆ คล้ายๆ กับที่เรามีสมุดบัญชีเป็นเล่มๆ และที่สำคัญคือ การบันทึกข้อมูลจะไม่ใช้วิธีการเขียนทับเช่น เดิม A= 5 แก้เป็น A= 17  แต่เป็นการจดต่อไปเรื่อยๆ (Append Only) เหมือนเราเขียนธุรกรรมในสมุดบัญชีเลย (จากกรณีเก่า ก็จะเป็น A = 5, แล้วก็ A + 12)  จนกระทั่งเป็นไปตามเงื่อนไข เช่น Block เต็ม หรือครบกำหนดเวลา เราก็จะเลิกบันทึกข้อมูลใน Block นี้และไปขึ้น Block ใหม่ แต่สิ่งสำคัญที่ต่างออกไปคือ ตอนปิด Block  เราจะทำสิ่งที่เรียกว่า hash ซึ่งอธิบายสั้นๆ คือการนำข้อมูลทั้งหมดใน Blockไปเข้ากระบวนการทางคณิตศาสตร์อันนึง ผลลัพธ์ของมันจะเป็นชุดอักขระชุดหนึ่งที่ยากยิ่งจะจดทำ เช่น 00000000000008a3a41b85b8b29ad444def299fee21793cd8b9e567eab02cd81 และด้วยเหตุที่อักขระชุดนี้เกิดขึ้นจากข้อมูลทั้งหมดใน block ดังนั้นถ้าหากข้อมูลใน block นี้เกิดเปลี่ยนแปลงไปแม้แต่เพียงน้อยนิด แล้วเอามาทำ hash ใหม่ hash อันที่สองจะไม่เหมือน hash อันแรก ดังนั้นการตรวจสอบ Block จึงไม่จำเป็นต้องดูข้อมูลทั้งหมดของ block แต่เพียงแค่เอาค่า hash มาเทียบกันก็รู้แล้วว่าเนื้อใน block ตรงกันหรือไม่ นี่คือคำว่า Block ทีนี้ แล้วอะไรคือ Chain  

เมื่อปิด Block และได้ค่า hash ก็จะเริ่มมีการบันทึกรายการต่างๆ เข้าสู่ block ถัดไปโดยจะได้มีการนำค่า hash ของ Block ก่อนหน้ามาใส่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลใน Block ปัจจุบันนี้ด้วย  ดังนั้นหากเราปิด Block นี้และได้ค่า hash ล่าสุดออกมา ก็เท่ากับว่าเราได้ฝังค่า Block ที่แล้วไม่ให้เปลี่ยนแปลงได้อีก เพราะถ้าเปลี่ยน เราจะรู้ทันทีเนื่องจากมันไม่ตรงกับ hash ใน block นี้ เจ้าตัว hash ที่ฝังต่อๆ กันไปตาม block ต่างๆ ที่จะต้องตรงกันเป็นคู่ๆ เสมือนเป็นโซ่ที่ล่าม block เหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน และจากแนวคิดที่ทุกบิทของข้อมูลมีผลต่อค่า hash  + เรื่องที่ว่าค่า hash ส่งผลต่อค่า hash กันไปเป็นทอดๆ + ฐานข้อมูลที่ไม่เหมือนกับคนอื่นจะถูกตัดทิ้ง  ทำให้ Blockchain กลายเป็นวิธีการบันทึกข้อมูล ที่เมื่อบันทึกลงไปแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก เชื่อถือได้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง และสามารถใช้งานข้อมูลได้ตลอดเวลา

Blockchain กับธุรกิจ

ในแง่ประโยชน์

หากธุรกิจของคุณต้องเกี่ยวพันกับคนทั้งในและนอกองค์กร ซึ่งปกติทั้งสองฝ่ายต้องมีคนคอยตรวจสอบยืนยันความถูกต้องในกระบวนการเช็คกันไปกันมา การใช้ Blockchain จะสร้างความมั่นใจกับทุกฝ่าย ลดขั้นตอนในการดำเนินงาน และปลอดภัยต่อการถูกแก้ไขหรือแอบนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งเครือข่ายจะมีเสถียรภาพสูง ขัดข้องได้ยาก นอกเหนือจากนี้การใช้ Blockchain  ยังเป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ในแง่ของผู้สร้างระบบนิเวศน์ให้ภาคส่วนต่างๆ มาสร้างมูลค่าร่วมกันได้ อาทิ  Platform ในการสร้างสินค้า Digital เช่น เพลง การ์ตูน หรือนิยาย  แล้วบันทึกลงไปใน Blockchain ทำให้มันกลายเป็น Digital Asset ที่สามารถซื้อขาย หรือเช่าใช้ สิทธิ์ในตัว Asset นี้

ในแง่ภัยคุกคาม

หากธุรกิจของคุณเป็นตัวกลาง อาทิ ธนาคาร ศูนย์แลกเปลี่ยนเงินตรา ซื้อมาขายไป เว็บขาย contents อย่าง iTune  ฯลฯ Blockchain จะเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจของคุณเต็มๆ เพราะตัวมันเองเกิดขึ้นมาเพื่อขจัดตัวกลาง และมุ่งให้แต่ละภาคส่วนเชื่อมโยงกันเองโดยตรง ตัวอย่างเช่น เราคงรู้จักบริการแบบ Netflix ซึ่งซื้อ contents จากผู้ผลิตมาจำนวนนึง แล้วให้ผู้บริโภครับชมโดยจ่ายค่าธรรมเนียมรายเดือน แต่ด้วย Blockchain  ผู้สร้างเนื้อหา ผู้ลงโฆษณา และผู้ชม สามารถเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน Blockchain จะช่วยให้เจ้าของ contents มั่นใจได้ว่าจำวนการรับชมที่เกิดขึ้นตรงต่อความเป็นจริง ผู้ลงโฆษณามั่นใจได้ว่าโฆษณาของตนปรากฏขึ้นตามเงื่อนไข ตรงกลุ่มเป้าหมาย ในขณะที่ผู้รับชมก็สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายได้ตามที่ต้องการ

ในตอนท้ายนี้ เชื่อว่าทุกท่านคงพอจะเข้าใจว่า Blockchain นั้นคืออะไร และทำไมมันถึงถูกกล่าวขวัญถึงในช่วงนี้ สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ ต้องลองคิดดูว่าเราจะใช้ประโยชน์มันได้อย่างไร หรือจะ Transform ธุรกิจของเราอย่างไร จากเทคโนโลยีนี้


บทความ โดย : คณิต  ศาตะมาน   Co-Founder Siam ICO Co, Ltd.


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ Blockchain Application, The new Management Instrument and Transformation
โดย คณิต ศาตะมาน Co-Founder Siam ICO Co, Ltd. จากงาน Blockchain Talk ได้ที่นี่

ลักษณะของ SME 4.0 คือ การรวม Transformation กับ Innovation เข้าไว้ด้วยกันและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Trend) ติดปีกให้กับธุรกิจ คุณสุมาวสี ศาลาสุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายธุรกิจดิจิทัล  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าวอธิบายถึงการก้าวไปสู่โลกใหม่ของธุรกิจในยุค Digital 4.0 นี้ว่า “สิ่งแรกคือการเริ่มต้นด้วยการทำ Digital Transformation โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ประยุกต์หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน (Digitization) ช่วยลดต้นทุน ทำให้สะดวกรวดเร็วและตรวจสอบได้ ต่อมาคือการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องของขั้นตอนการผลิตและการออกแบบ Packaging ไม่ว่าจะเป็น 3D Printing, Visual Marketing หรือ VR และส่วนสุดท้ายคือ การนำเอาการซื้อขายขึ้นไปอยู่ใบแพลตฟอร์มออนไลน์ (Digital Trend) เพิ่มช่องทางการขายที่ควบคู่ไปกับการมีหน้าร้าน สถิติจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพบว่ามี SME ในประเทศไทยใช้เทคโนโลยีในการบริหารกิจการ 27 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ไม่รวมช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างกรณีของ Line ที่มีคนไทยใช้งานมากถึง 42 ล้านคนจากจำนวน 46 ล้านคนทั่วประเทศที่มีโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงการใช้ Facebook เป็นช่องทางการตลาดสูงถึง 2 ล้านแอคเคาน์สูงที่สุดในอาเชียน เพราะฉะนั้น หากเราสามารถใช้ Line หรือ Facebook เป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างธุรกิจกับกลุ่มลูกค้าก็จะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมหาศาลได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที”

อีกสิ่งสำคัญในการปรับตัวในภาคธุรกิจให้เข้ากับโลกดิจิทัลในตอนนี้ คือ Digital Innovation ซึ่งเป็นการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา เริ่มจากกระบวนการวางแผน Business Model Innovation เพื่อสร้างคุณค่าธุรกิจใหม่ร่วมกับลูกค้า Service Innovation การสร้างนวัตกรรมบริการที่เปลี่ยนสินค้าให้เป็นบริการ และ Technology Innovation สร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีให้กับธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างรูปแบบทางการทำธุรกิจแนวใหม่ขึ้นมาได้หมด ธุรกิจในลักษณะไหนก็สามารถคิดและเริ่มต้นทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็น Start up เสมอไป

ปัจจุบัน Digital Trend ที่มีผลต่อภาคธุรกิจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อทั้งจากธุรกิจสู่ลูกค้าหรือระหว่างคู่ค้า (Connectivity) เช่น แอพลิเคชั่น โซเชียลมีเดีย และ IoT ต่อมาคือกลุ่มที่ช่วยในการตัดสินใจ (Insight & Intelligent) อย่างพวก Big Data, AI และ Cloud Computing ทำให้ผู้บริหารสามารถวิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางในการวางกลยุทธ์เพื่อนำพาธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสุดท้ายคือกลุ่มที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ระบบ (Trust Protocol) ตัวอย่างเช่น Distributed Ledger, High Performance Computer และ Blockchain สำหรับ Blockchain ในภาคธุรกิจจะถูกนำมาใช้บริหารจัดการข้อมูลการทำธุรกรรมต่างๆ ระหว่างเครือข่าย ทำให้การติดต่อกับคู่ค้าจำนวนมากทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะข้อมูลทุกอย่างจะถูกอัพโหลดเข้าไปอยู่ในระบบ มีการจัดการตามเงื่อนไขเฉพาะที่สร้างขึ้นมาสำหรับ Supplier แต่ละเจ้า ย่นระยะเวลาในการดำเนินงานและเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาทุกคนในเครือข่ายจะมีโอกาสได้เห็นพร้อมกัน สามารถตรวจสอบได้และปลอดภัยจากการเจาะระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ คุณสุมาวลียังได้สรุปประโยชน์ของ Blockchain ต่อธุรกิจขนาดกลางและย่อยไว้อย่างน่าสนใจว่า

“อย่างแรกเลย Blockchain เปิดโอกาสให้ธุรกิจรายย่อยมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นจากเดิม ด้วยระบบการระดมทุนออนไลน์ (Crowdfunding) และในอนาคตสถาบันการเงินก็อาจมีการพัฒนาระบบสินเชื่อให้เข้าถึงคนได้มากที่สุดผ่าน Nano Finance Application ยิ่งไปกว่านั้น Blockchain ยังช่วยประหยัดเวลาในการดำเนินงานตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไป ลดต้นทุนแรงงาน ลดอัตราการแลกเปลี่ยนในธุรกิจที่มีการติดต่อกับ Supplier หลายเจ้า ที่สำคัญคือความปลอดภัยในการควบคุมข้อมูลต่างๆ ภายในองค์กรโดยมีการกำหนดบทบาทของผู้เข้าถึงเอาไว้ชัดเจน”

จริงๆ แล้ว Blockchain ก็คือ Protocol หนึ่งที่สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายและในตอนนี้ภาครัฐก็มีความพยายามในการออกกฏหมายทั้งในส่วน Digital Asset และเร็วๆ นี้อาจจะมีกฏหมายเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลออกมาซึ่งจะไปสอดคล้องกับการใช้งาน Blockchain มากขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ใช่สิ่งที่เราต้องกลัวหรือเป็นกังวล แต่สิ่งที่เราควรทำคือเรียนรู้และใช้งานสิ่งเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเพื่อยกระดับธุรกิจของท่านไปสู่โลกยุค Digital 4.0 ด้วยกัน


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ Blockchain and SME 4.0
โดย สุมาวสี ศาลาสุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายธุรกิจดิจิทัล | ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
จากงาน Blockchain Talk ได้ที่นี่


เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ

Kinesis Money ระบบเงินตราดิจิทัลที่อิงสินทรัพย์จริง ประกาศสร้างความร่วมมือกับ TicketSocket แพลตฟอร์มการจองตั๋ว ลงทะเบียน และจัดอีเวนต์ที่มีประสิทธิภาพและสามารถปรับแต่งตามความต้องการของลูกค้า

ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ สกุลเงินของ Kinesis จะถูกรวมเป็นตัวเลือกการชำระเงินบนแพลตฟอร์ม TicketSocket ซึ่งเป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์แก่ทีมกีฬาอาชีพ บริษัททัวร์ และสถานที่จัดงานขนาดใหญ่ทั่วโลก ดังนั้น ลูกค้าจึงสามารถซื้อตั๋วเข้าร่วมกิจกรรมระดับโลกได้โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลของ Kinesis

สกุลเงินดิจิทัลของ Kinesis ผสานเสถียรภาพของทองคำและโลหะเงิน เข้ากับประสิทธิภาพของบล็อกเชนในฐานะสื่อกลางการแลกเปลี่ยน สกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้อิงกับทองคำแท่งจริงในอัตราส่วน 1:1 และได้รับการเก็บรักษาในตู้นิรภัยทั่วโลกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สกุลเงินดังกล่าวสามารถถือครองหรือถ่ายโอนระหว่างกระเป๋าเงินดิจิทัลของ Kinesis ผ่านเครือข่ายบล็อกเชนที่ปลอดภัย ทั้งยังสามารถใช้จ่ายอย่างง่ายดายโดยใช้บัตรเดบิตได้ทุกที่ที่รับบัตร Visa/Mastercard

ความร่วมมือระหว่าง Kinesis และ TicketSocket ในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำศักยภาพในการใช้งานสกุลเงินของ Kinesis ในโลกแห่งความจริง

คุณ Ryan Case ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของ Kinesis Money กล่าวว่า "ผู้ถือครองสกุลเงินดิจิทัลอิงทองคำหรือโลหะเงิน ซึ่งมีเสถียรภาพและไม่เผชิญความเสี่ยงเหมือนกับสกุลเงินดิจิทัลที่อิงเงินกระดาษ สามารถใช้สกุลเงินเหล่านี้ในโลกแห่งความจริงได้มากขึ้น เช่น ใช้ซื้อตั๋วเพื่อชมการแสดงหรือการแข่งขันกีฬา เป็นต้น"

"ผู้ถือครองสกุลเงินของ Kinesis ไม่เพียงได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้สกุลเงินดังกล่าวในการทำธุรกรรมในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย"

คุณ Kai M. Blache ประธานของ TicketSocket กล่าวว่า "เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้ร่วมมือกับ Kinesis เพื่อนำเสนอตัวเลือกการชำระเงินรูปแบบใหม่ให้แก่ลูกค้าของเรา และเราจะนำ Kinesis มาสนับสนุนประสบการณ์ในการจองตั๋วและการจัดอีเวนต์ตามความต้องการของลูกค้า"

คุณ Ryan สรุปว่า "ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการใช้สกุลเงินดิจิทัลของ Kinesis ในโลกแห่งความจริง การที่ TicketSocket สนับสนุน Kinesis เป็นทางเลือกในการชำระเงิน ทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายสูงสุดในการปฏิวัติระบบเงินตราที่เราใช้กันในปัจจุบัน

 

PwC รายงาน Blockchain is here. What’s your next move? ทำการสำรวจผู้บริหารจำนวน 600 ราย ใน 15  ตลาดทั่วโลก เกี่ยวกับการพัฒนาระบบบล็อกเชนรวมถึงมุมมองต่อศักยภาพของเทคโนโลยีนี้

 

แสนสิริ จับมือ บีซีพีจี  ประกาศเริ่มใช้ระบบแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer) ด้วยการทำธุรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ในโครงการที่พักอาศัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ที่โครงการทาวน์สุขุมวิท 77 หรือ T77 ก่อนจะเริ่มมีการซื้อขายอย่างเป็นทางการภายในเดือนกันยายนปีนี้

เบื้องหลังข้อตกลงครั้งนี้ อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า หนึ่งในเป้าหมายของแสนสิริคือการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในทุกโครงการ ประกอบกับในปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคากำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย  จึงได้ริเริ่มนำระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ไปติดตั้งในหลาย ๆ โครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่ การจับมือกับบีซีพีจีในฐานะพันธมิตรระดับกลยุทธ์ (Strategic partnership) ในครั้งนี้นับเป็นการผลักดันวาระ Green Sustainable Living ของแสนสิริไปอีกระดับ ด้วยการวางระบบพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer) โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในที่พักอาศัย

โดยนับเป็นครั้งแรกของในการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานสำหรับโครงการที่พักอาศัยทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นการแลกเปลี่ยนพลังงานผ่านระบบบล็อคเชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นอกจากนี้โครงการนี้ยังเป็นการเปลี่ยนผู้บริโภค (Consumer) สู่ ผู้ผลิตและผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน (Prosumer) ด้วยการสร้างระบบแลกเปลี่ยนพลังงานโดยก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมที่มี

โดยประโยชน์ที่จะเกิดอย่างชัดเจนแก่ลูกบ้านแสนสิริที่อาศัยในโครงการที่มีการวางระบบนี้คือสามารถประหยัดค่าไฟฟ้า โดยไฟฟ้าสะอาดทุกหน่วยที่ผลิตได้จะช่วยประหยัดค่าไฟต่อหน่วยได้ถึง 15% และยังสร้างความภูมิใจให้ลูกบ้านจากการมีส่วนร่วมในดูแลสิ่งแวดล้อมโดยการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จากกำลังการผลิตพลังงานสะอาดถึง 20% ของปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดในโครงการ T77 ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 530 ตันต่อปีโดยประมาณ หรือเท่ากับการปลูกป่า จำนวน 400 ไร่

โครงการทาวน์สุขุมวิท 77 หรือ T77ประกอบด้วยที่พักอาศัยหลากหลายรูปแบบและไลฟ์สไตล์ฮับบนพื้นที่กว่า 50 ไร่ในใจกลางสุขุมวิท 77 โดยระบบพลังงานเซลแสงอาทิตย์บนหลังคามีกำลังการผลิตติดตั้ง 635 กิโลวัตต์ แบ่งสัดส่วนการใช้เป็น 54 กิโลวัตต์สำหรับฮาบิโตะมอลล์ ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์คอมมูนิตี้มอลล์ภายในโครงการ 413 กิโลวัตต์สำหรับโรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ และ 168 กิโลวัตต์ สำหรับพาร์ค คอร์ท คอนโดมิเนียม รวมถึงโรงพยาบาลฟันที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในการแลกเปลี่ยนพลังงานภายในโครงการ

นอกจากนั้น ยังจะติดตั้งระบบนี้ในโรงงานผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปของแสนสิริด้วยกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 150 กิโลวัตต์ โดยภายในปี 2564 แสนสิริมีแผนที่ติดตั้งระบบแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ผ่านอินเทอร์เน็ตในโครงการใหม่ ๆ กว่า 31 โครงการ และมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 2 เมกะวัตต์

บัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการความร่วมมือนี้ว่า ร่วมกับพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ ผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนพลังงานทดแทนระดับโลกจากออสเตรเลีย และเป็นก้าวแรกของบีซีพีจีในโครงการที่พักอาศัยของประเทศไทย และเป็นการเปิดใช้แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

ข้อดีของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้คือช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดแบบเรียลไทม์ผ่านเครือข่ายแบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer)  ผ่านแพลตฟอร์มที่มีความปลอดภัย รวดเร็ว โปร่งใส และปราศจากข้อผิดพลาดในการทำธุรกรรมโดยไม่ต้องมีคนกลาง ด้วยราคาที่ถูกลงและช่วยลดมลภาวะด้วยการใช้พลังงานสะอาด ตามแนวคิด Low Cost, Low Carbon

ในเบื้องต้น ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟท็อปในแต่ละอาคาร จะนำไปใช้ภายในอาคาร เพื่อให้แต่ละอาคารสามารถใช้ไฟฟ้าในต้นทุนที่ต่ำกว่าไฟฟ้าที่เคยซื้ออยู่ ในกรณีที่มีไฟฟ้าส่วนเกินจากการผลิตใช้ภายในอาคาร แต่ละอาคารสามารถนำไฟฟ้านั้นแลกเปลี่ยนกันภายในแพลตฟอร์ม โดยภายในหนึ่งเสี้ยววินาทีนั้น สามารถเกิดสถานการณ์การใช้และการผลิตไฟฟ้าได้หลายรูปแบบ ทั้งอาคารก็จะผลิตได้เกินความต้องการ หรืออาคารที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ  สำหรับในกรณีที่ไฟฟ้าที่ผลิตได้มีมากกว่าความต้องการที่ใช้เอง ระบบก็จะนำไฟส่วนเกินขายให้ผู้ใช้รายอื่นด้วยระบบ P2P  หากยังมีเหลืออีก ก็จะขายให้ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เพื่อเก็บไว้ขายในเวลาอื่นๆ และหากระบบกักเก็บเต็ม ไฟฟ้าก็จะถูกส่งขายเข้าระบบของกฟน.  ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าที่สามารถผลิตได้ ระบบก็จะทำการซื้อจากระบบ P2P  จากระบบกักเก็บพลังงาน และจากกฟน. ตามลำดับ

การดำเนินการทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่นำมาใช้เพื่อประมวลผลถึงความเหมาะสมในการกำหนดผู้ซื้อและผู้ขายในความถี่ระดับเสี้ยววินาที โดยสามารถใช้แอพพลิเคชั่นของบีซีพีจี ได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ

โครงการนำร่องแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าที่ T77 นี้ ถือเป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ที่สุดของโลกทั้งยังเป็นโครงการอันดับแรก ๆ ของโลก อีกด้วย ในเบื้องต้นคาดว่าโครงการนำร่องนี้จะสามารถผลิตไฟฟ้าให้กับ Community นี้ได้ถึงร้อยละ 20 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยรวม ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ด้วยตนเอง และสามารถแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ด้วยระบบ P2P แล้ว การติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับแต่ละอาคารหรือแต่ละบ้าน เพิ่มโอกาสในการจัดหาสินเชื่ออีกด้วย

 

ทางด้านเดวิด มาร์ติน กรรมการผู้จัดการและหนึ่งในผู้ก่อตั้งพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการแลกเปลี่ยนและซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในระบบบล็อกเชนเสริมว่า  การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในระบบการแลกเปลี่ยนและซื้อขายพลังงานจะช่วยสร้างแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนและซื้อขายแบบอัตโนมัติสำหรับทั้งอาคารที่พักอาศัยและอาคารเพื่อการพาณิชย์ในการขายพลังงานที่เหลือใช้ให้กับลูกค้าที่สามารถเลือกได้ในราคาที่พอใจ การร่วมมือกับแสนสิริและบีซีพีจีนับเป็นก้าวแรกของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่งเสริมให้เกิดการรวมพลังกันระหว่างผู้บริโภค ชุมชน และผู้ผลิตพลังงานเพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนทางด้านพลังงาน

สำหรับการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาคารนั้น ทุกฝ่ายสามารถเป็นได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผ่านการตกลงกันไว้ล่วงหน้าด้วย smart contract  โดยผู้ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจะซื้อไฟฟ้าจากผู้ที่ผลิตได้เหลือใช้ด้วยราคาที่ต่ำที่สุด ส่วนผู้ที่ผลิตได้เกินจากความต้องการก็จะขายให้กับผู้ซื้อที่ให้ราคาสูงที่สุด ทั้งนี้ ในการทำธุรกรรมจะใช้ Sparkz Token ซึ่งเปรียบเสมือนกับคูปองในศูนย์อาหาร และเป็นเพียงสัญลักษณ์ในการแลกเปลี่ยนไฟซื้อขายในระบบเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ cryptocurrency และไม่มีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนใด ๆ โดยแพลตฟอร์มที่ใช้สามารถแยกระดับการเข้าถึงและการแลกเปลี่ยน  เป็น 2 ขั้นตอน คือระหว่างผู้บริโภคกับบีซีพีจี และระหว่างบีซีพีจีกับพาวเวอร์ เล็ดเจอร์เพื่อปิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคในเรื่อง cryptocurrency

พาวเวอร์เล็ดเจอร์เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ผู้พัฒนาโซลูชั่นสำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน โดยมีแพล็ตฟอร์มที่ใช้สำหรับการบริหารจัดการพลังงานโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เริ่มต้นจากการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบ P2P Energy Trading ด้วยแพล็ตฟอร์มที่มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และดำเนินขั้นตอนการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายและชำระเงินแบบอัตโนมัติ สำหรับใช้ในอาคารที่พักอาศัยและอาคารเพื่อการพาณิชย์ในการจำหน่ายพลังงานเหลือใช้แก่ลูกค้าที่ตนสามารถเลือกได้ ในราคาที่กำหนดเองได้ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น การซื้อขายไฟฟ้า ผ่านระบบไมโครกริด การซื้อขายคาร์บอน การจัดการรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ก่อนหน้านี้พาวเวอร์ เล็ดเจอร์ มีความร่วมมือกับกับเวสเทิร์นพาวเวอร์และมหาวิทยาลัยเคอร์ตินในออสเตรเลีย และการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นในชิคาโก สหรัฐอเมริกา

 

Page 5 of 8
X

Right Click

No right click