×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

ท่ามกลางกระแสและความเป็นจริงที่สังคมและธุรกิจกำลังก้าวย่างอยู่ในความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่องค์กรและธุรกิจกำลังมองหาคือวิธีการที่จะทำอย่างไร? ให้องค์กรสามารถที่จะDisrupt ตนเองโดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมา Disrupt  

หาก ‘ดิจิทัล’ คือ ‘สมอง’ และ ‘การโค้ช’ คือ ‘หัวใจ’ แวดวงบริหารทรัพยากรมนุษย์จึงต้องปรับตัว สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้! 3 ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรชื่อดัง มาเปิดเผยกุญแจ ‘การพัฒนาคน’ สู่ ‘ความสำเร็จ’ ผ่านเวทีเสวนา THAILAND MBA FORUM 2018 ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ : Leading in the Time of Change ที่จะช่วยให้องค์กรรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิผลมากขึ้น

ดารากร พิพัฒนกุล ผู้อำนวยการ Future Leader Development - SCB Academy

ดารากร พิพัฒนกุล ผู้อำนวยการ Future Leader Development - SCB Academy กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วว่ามีส่วนทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่บทบาทของภาคธุรกิจหรือผู้นำ ย่อมต้องมีการปรับตัวเพื่อสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยเช่นกัน 

“องค์กรจึงต้องพัฒนาคนในทุกส่วนให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทาง SCB เน้นย้ำเสมอว่าการโค้ชชิ่งเป็นเรื่องของคนทุกระดับ (Coaching is for everyone) ไม่ใช่บทบาทของผู้นำแต่เพียงอย่างเดียว ไทยพาณิชย์มองเรื่องของ ‘ทักษะ’ และ ‘วิธีการคิด’ สำหรับคนทั้งองค์กร โดยให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างวิธีการคิดในระดับจูเนียร์ไปจนถึงซีเนียร์ ทักษะเรื่องการโค้ชชิ่งจึงต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เข้ามาในองค์กร” 

ขณะที่ ประสิทธิ์ องอาจตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารกสิกรไทย สะท้อนภาพใหญ่ของการโค้ชชิ่งในองค์กรว่าเป็นการปูทักษะการโค้ชให้กับบุคลากรทุกระดับ ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร ไปจนถึงระดับพนักงาน รวมถึงการโค้ชชิ่งไปสู่สาขาต่างๆ ของธนาคารอีกด้วย

“ส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากเทคโนโลยี ซึ่งทาง KBank ได้ทำ 2 ส่วนหลัก คือ Kbank Digital Academy ในเชิงดิจิทัล ประกอบไปด้วยการสร้างผู้นำให้มีวิธีคิดแบบยุคดิจิทัล (Lead Digital) การใช้ดิจิทัลในการทำธุรกิจ (Execute Digital) และ การใช้ชีวิตแบบยุคดิจิทัล (Life Digital) 

ส่วนที่สอง K-Coaching Academy คือ การปูทักษะการโค้ชให้ผู้บริหารทุกระดับ (Build Executive Coach) การเรียนรู้วิธีการโค้ชในระดับพนักงาน (Bank-Wide Program) และ การโค้ชไปยังสาขา (Branch Program) ผมมองว่าหากเปรียบดิจิทัลคือ ‘สมอง’ การโค้ชนั่นหมายถึง ‘หัวใจ’ งานทุกอย่างจะเดินต่อไปได้ ต้องมาจากสมองและหัวใจ” 

สอดคล้องกับมุมมองจากองค์กรคนรุ่นใหม่ รัฐวุฒิ สุวรรณลิลา People Manager, SEA Thailand มีวิธีรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผ่านทักษะการบริหารซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับการโค้ชชิ่งด้วยเช่นกัน โดยอาศัยทักษะสำคัญด้าน ‘การฟัง’ และ ‘การตั้งคำถาม’ เป็นหลัก

รัฐวุฒิ สุวรรณลิลา People Manager, SEA Thailand

“ด้วยความที่บริษัทของผมเป็นบริษัทรุ่นใหม่ เราประกอบไปด้วยน้องๆ รุ่นใหม่หลากหลายเจเนอเรชัน ข้อดีคือมีความพร้อมในการเปลี่ยนวิธีคิด (Change Mindset) โดยธรรมชาติ ขณะที่ทักษะที่ใช้ในการบริหาร Transformation มีความเกี่ยวข้องกับการโค้ชชิ่งทั้งสิ้น 

ทั้งเรื่องของ ‘การฟังเชิงรุก’ (Active Listening) ‘คำถามที่เปลี่ยนความคิด’ (Power Question) แม้สิ่งเหล่านี้หลายองค์กรมีแนวคิดเช่นนี้อยู่แล้ว แต่อาจต้องตระหนักรู้ว่าจะนำไปใช้ได้อย่างไรต่อไป ซึ่งการทำให้เกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการฟังและการถาม รวมถึงการใช้เครื่องมือในการเทรนนิ่ง และนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ได้ต่อไปในอนาคต” 

 

How to Success

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังการโค้ชชิ่งในแต่ละองค์กร ย่อมมีผลตอบรับที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่บวกและแง่ที่ต้องระวัง เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประสิทธิผลที่ดีในอนาคต

“ทาง SCB เริ่มปูพื้นเรื่องวิธีคิด นั่นหมายความว่าคนที่เข้ามาเรียนโค้ชชิ่ง เมื่อเข้าใจว่าโค้ชชิ่งคืออะไรและสามารถนำตรงนี้ไปใช้ได้ แต่คำว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ ที่องค์กรอยากเห็น คือการโค้ชที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องค่อยๆ เกิดขึ้น เราไม่สามารถทำได้อย่างทันท่วงที

สิ่งที่ทาง SCB ทำมาตลอดและได้รวบรวมเคสดีๆ ที่เกิดขึ้น ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้างที่ทำให้เกิดความสำเร็จ สิ่งแรก คือ คนที่เป็นโค้ชและถูกโค้ชมีกระบวนการคิดที่ถูกต้อง ซึ่งคนโค้ชต้องมีความเชื่อในศักยภาพของตนและคนอื่น ต้องมีความเชื่อในการพัฒนาคนเสียก่อน

คำว่า การมีใจรัก (Passion) ไม่ใช่ทุกคนจะรู้ตัวทันทีเลยว่าเกิดมาเพื่อพัฒนาผู้อื่น แต่มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้มาเข้าหลักสูตร ได้เรียนรู้ และฝึกฝน การโค้ชที่ดีนั้นเราไม่ได้ทำเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา แต่การโค้ชคือการทำให้คนคนนั้น ค้นพบการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง” 

ขณะที่ประสิทธิ์ถอดบทเรียนการโค้ชชิ่งที่ผ่านมา ว่าค่อนข้างเป็นสิ่งที่ท้าทาย อีกทั้งยังต้องอาศัยการเปลี่ยนวิธีการคิดอย่างถูกต้อง การสื่อสารที่ดี และการสร้างบรรยากาศเชิงบวกภายในองค์กร

ประสิทธิ์ องอาจตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารกสิกรไทย

“ผมว่าเรื่องโค้ชชิ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก การโค้ชชิ่งต้องใช้เวลา ไม่ใช่โค้ชแล้วจะได้เป้าตรงตามความต้องการในทันที สิ่งที่ได้เรียนรู้ (Lesson Learn) คือ อย่าทำโค้ชชิ่งเป็นโปรเจกต์ เพราะโปรเจกต์คือมีวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุด ที่สำคัญต้องไม่เกิดจากการบังคับ แต่ต้องทำให้สร้างสรรค์ 

ส่วนที่สองต้องมี ‘ความอดทน’ โดยเฉพาะในด้านการเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) ของคนเป็นโค้ชและผู้รับการโค้ช ยกตัวอย่างการโค้ชในสมัยก่อน จะโค้ชต่อเมื่อลูกน้องทำงานผิดพลาด ขณะที่ปัจจุบันเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่าการโค้ชไม่ใช่เรื่องของการตำหนิ ไม่ใช่เรื่องของการตามงาน และไม่ใช่เรื่องของการทำไม่ได้เป้า แต่โค้ชคือการพัฒนาคน

ส่วนที่สาม กุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี คือ ‘การสื่อสาร’ ต้องมีการสื่อสารตลอด ที่สำคัญต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการโค้ชชิ่งอยู่ตลอด ทางธนาคารกสิกรเองได้มีการสร้างโปรแกรมการโค้ชชิ่งผ่านรายการ ‘Coach Me Please’ ด้วยเช่นกัน” 

สอดรับกับด้าน รัฐวุฒิ ที่มองว่าการใช้ประสบการณ์ร่วมระหว่างผู้โค้ชและผู้ได้รับการโค้ชเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งสิ่งสำคัญคือการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและได้พิสูจน์การโค้ชชิ่งที่เหมาะสมกับตนด้วยตัวเอง

“ลองหาโค้ชที่ดี ซึ่งเมื่อเราได้รับประสบการณ์ดีๆ เราจะมีพลังในการทำต่อ สิ่งที่ผมทำ ผมพยายามทำให้น้องๆ ในบริษัทได้ประสบการณ์แบบเดียวกันก่อน เช่น เมื่อเรารู้ว่าเขามีปัญหา เราใช้เวลาที่จะพูดคุยกับเขา ใช้เวลาในการเริ่มแชร์ประสบการณ์ รวมถึงค่อยๆ ถามคำถามให้เขาค่อยๆ คิด 

ส่วนบางอย่างที่เราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง บางปัญหาเรามีคำตอบอยู่ในใจ แต่เราต้องการให้เขาเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาหรือตอบคำถามได้ด้วยตัวเขาเอง หลังจากนั้นจะเกิดความเชื่อใจและเขาจะกล้าเปิดใจกับเราในครั้งต่อๆ ไป” 

 

Coaching Culture

การสร้างวัฒนธรรมการสอนและให้ความเข้าใจ (Coaching Culture) มีบริบทที่ต่างกันในแต่ละองค์กร ในฐานะผู้อำนวยการ Future Leader Development ธนาคารไทยพาณิชย์ได้สะท้อนวัฒนธรรมองค์กรของตนว่า

“ทาง SCB มองว่าการวัฒนธรรม (Culture) ไม่ใช่เรื่องของการรับผิดชอบ ไม่ใช่การที่หัวหน้าต้องโค้ชลูกน้อง แต่เราต้องเชื่อว่าสิ่งนี้ คือสิ่งที่ดีต่อองค์กรและดีต่อชีวิต เรากำลังสื่อสารกับคน ซึ่งคุณค่าของคนไม่ใช่แค่การทำงานร่วมกันเพียงอย่างเดียว ฉะนั้น Culture มันค่อนข้างใหญ่มาก 

เมื่อทำสำเร็จจะเห็นว่าทุกคนได้ใช้โค้ชชิ่งอยู่ในชีวิตประจำวัน รวมถึงนำกลับไปใช้ที่บ้านด้วย สำหรับสิ่งที่ Coaching Culture จำเป็นต้องมีคือการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง ยิ่งไปกว่านั้นผู้นำต้องมีพฤติกรรมที่ดีให้พนักงานเห็น แต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานของผู้บริหาร คือ การสร้างคน เราจึงมีหลักสูตรของการพัฒนาคนแทรกอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ทาง SCB เอง ไม่ได้จบแค่การให้ ‘ความรู้’ แต่ต้องหา ‘โอกาส’ ให้ได้ใช้จริงอย่างต่อเนื่อง การทำให้คนในองค์กรนำไปใช้ ซึ่งส่งผลให้คนในองค์กรของเรามีชีวิตที่ดีขึ้น” 

สำหรับฟากฝั่งของประสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าสิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจเข้าทำงาน มีผลมาจากวัฒนธรรมภายในองค์กร รวมไปถึงการสร้าง Coaching Culture ที่ทำให้บุคลากรรู้สึกก้าวหน้าและมีคุณค่า

“ล่าสุด มีงานวิจัยยืนยันว่ากว่า 20% วัฒนธรรมองค์กร ถือเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในการตัดสินใจเข้าทำงานในองค์กร ขณะที่ความมั่นคงอยู่ในอันดับสุดท้าย เพียง 5% เท่านั้น ซึ่ง Coaching Culture คือ การไม่เน้นเรื่องงานและดัชนีชี้วัด (KPI) เพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับ ‘คน’ มากกว่า 

ดังนั้น การสร้าง Coaching Culture ต้องทำให้คนรู้สึกว่าอยู่ที่นี่แล้วมีความเติบโตและมีคุณค่า สิ่งแรกที่ควรมี คือ ‘ต้องเอาจริง’ อย่าทำเป็นแฟชั่นแต่ต้องทำเป็นมิสชัน ส่วนต่อมา ต้องทำให้เป็น ‘รูปธรรม’ การโค้ชเป็นทักษะ ถ้าไม่ฝึกก็ไม่คล่อง 

เราจึงสร้างโครงการ ‘พี่อยากโค้ช น้องอยากคุย’ ซึ่งสิ่งที่ได้รับคือ โค้ชที่เรียนได้ฝึกทักษะ ส่วนพนักงานเองได้ปลดปล่อยศักยภาพของตัวเอง แถมยังสร้างกระแสโค้ชให้เกิดขึ้นในองค์กร อย่างสุดท้าย ทำให้การโค้ชชิ่งเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทักษะการโค้ช หรือการสื่อสารแบบโค้ชชิ่ง ประกอบไปด้วย ฟัง - สะท้อน - ถาม - ชม” 

เช่นเดียวกับ รัฐวุฒิสะท้อนภาพวัฒนธรรมในองค์กรว่า การพัฒนาบุคลากรให้มีความก้าวหน้าเติบโต ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดองค์กร ทั้งยังมีการสร้างโครงการ ‘พัฒนาเด็กรุ่นใหม่’ เพื่อปูเส้นทางไปสู่การ Coaching Culture ด้วยเช่นเดียวกัน

“อย่างแรกเราจะต้องเชื่อในเรื่องของการพัฒนาคน และเชื่อในเรื่องของการฟัง เราไม่จำเป็นต้องเก่งในทุกเรื่อง ส่วนที่สองเรื่องของความเชื่อ เราอยากให้บุคลากรในองค์กรเราพัฒนาและเติบโต ซึ่งจุดมุ่งหมายของการพัฒนาบุคคล คือ การที่อยากให้คนที่เข้ามาทำงานกับเราเก่งขึ้นและเติบโตขึ้น

ซึ่งทางเรามีโครงการ ‘การพัฒนาเด็กรุ่นใหม่’ คือ การมีพี่เลี้ยง (Mentor) เข้ามาแชร์ประสบการณ์ บอกเล่าในสิ่งที่เขาต้องการหรือสิ่งที่อยากรับรู้ในการทำงาน อีกส่วนคือ Buddy เข้ามาช่วยในเรื่องของจิตใจ เหมือนมีเพื่อนคนหนึ่งที่คอยรับฟัง นี่คือโครงการง่ายๆ ที่ริเริ่มขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การ Coaching Culture ในที่สุด” 

 

Coaching Tips

อย่างไรก็ตาม แม้การโค้ชชิ่งจะมีประโยชน์ในแง่ของการพัฒนาคนและขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางที่ดี แต่ต้องยอมรับว่าช่วงวัยที่แตกต่างกันในแต่ละเจเนอเรชัน ย่อมมีผลต่อการโค้ชชิ่งด้วยเช่นกัน 

“เนื่องจากว่าเราไม่ได้ต้องหาวิธีการแก้ปัญหาให้ใคร แต่เราทำหน้าที่ในส่วนของการดึงศักยภาพออกมามากกว่า ฉะนั้น ความสำคัญอยู่ที่ว่าเราเข้าใจวิธีการสื่อสารของคนต่างเจเนอเรชันแค่ไหนมากกว่า สิ่งที่อยากแนะนำ เนื่องจากว่าการโค้ชชิ่งเป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อใจ-ความเข้าใจ

สิ่งนี้จะทำให้ช่องว่างระหว่างเจเนอเรชัน หันหน้าเข้าหากันได้อย่างลงตัว อีกส่วนคือวิธีการสื่อสาร ต้องอย่ามองความแตกต่างของเจเนอเรชันเป็นสำคัญ แต่ให้มองที่การหาวิธีสื่อสารกับผู้ที่ได้รับการโค้ชอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ” ดารากร กล่าว

ขณะที่ประสิทธิ์มองว่า ด้วยเจเนอเรชันที่แตกต่าง สิ่งสำคัญของการโค้ชชิ่งคือการเรียนรู้ในการสื่อสารกับคนแต่ละกลุ่มให้ถูกต้องเหมาะสม

“ปัจจุบันในองค์กรทั่วไปจะมีอยู่หลักๆ 4 เจเนอเรชันด้วยกัน นั่นคือ กลุ่ม BB, Gen-X, Gen-Y และ Gen-Z ถ้าเราเข้าใจแรงกระตุ้นของคนแต่ละเจเนอเรชัน เราก็จะมีวิธีการโค้ชที่ดีและมีประสิทธิผล” 

สอดคล้องกับรัฐวุฒิที่มองว่าการหาพื้นที่ จังหวะเวลาที่เหมาะสม รวมไปถึงการเข้าในใจสิ่งที่ผู้ถูกโค้ชต้องการ ล้วนมีส่วนในการทำให้การโค้ชชิ่งประสบความสำเร็จได้

“ผมคิดว่าแต่ละคนมีความเป็นปัจเจกบุคคล ยิ่งการโค้ชชิ่งที่ต่างเจเนอเรชัน อย่างแรกต้องหา ‘พื้นที่’ ต่อมาคือการหา ‘เวลา’ ซึ่งแต่ละคนจะมีช่วงเวลาที่สามารถเปิดรับความเห็นที่แตกต่างกันได้ในเวลาที่ไม่เหมือนกัน

สิ่งสุดท้าย การรู้ว่าสิ่งใดที่สำคัญกับเขา เช่น นำการพัฒนาตัวตนหรือการพัฒนาในด้านต่างๆ เข้าไปเสริมในส่วนนี้ ผมคิดว่าทั้งหมดนี้จะช่วยในการส่งเสริมและพัฒนาคนในเจเนอเรชันต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” 

อาจารย์จิรวรรณ กาญจนานันท์ ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาบุคลากร ในบทบาทวิทยากรและโค้ช ของบริษัท แอคคอม แอนด์ อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นโค้ชที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ วันนี้อาจารย์จิรวรรณ หรือ อาจารย์กวางมาคุยกับเราถึงการเตรียมตัวอย่างไร เพื่อการเป็นผู้นำให้กับเด็กในเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ ที่เดินเข้ามาทำงานกับเรามากขึ้นทุกๆ วัน

หัวหน้าที่ดีของคนรุ่นใหม่ ใช้การบังคับและสั่งการอย่างเดียวไม่ได้แล้วในยุคนี้ คนรุ่นใหม่มองหาผู้นำและหัวหน้าที่มีความเป็นโค้ชในตัวด้วย

“หลักสูตรที่แอคคอมฯ ช่วยลูกค้าจึงมีทั้งระดับบริหาร คือช่วยให้ผู้นำสามารถไปโค้ชผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความหลากหลายทั้งวัยและค่านิยมได้ เรียกว่าจะบนลงล่าง และเพื่อให้การโค้ชประสบความสำเร็จได้รวดเร็วขึ้น เราไม่เพียงแค่มุ่งเน้นการให้ความรู้ แบบบนลงล่าง คือ เตรียมผู้บริหารเพื่อการโค้ชพนักงาน” แต่ต้องให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ “แบบล่างขึ้นบน คือ เตรียมพนักงานเพื่อความเข้าใจ และพร้อมตอบรับการโค้ชของผู้บริหารด้วย”

เนื่องจากการโค้ชเป็นการพูดคุยโดยใช้การตั้งคำถาม การขอความคิดเห็น ถ้าหากพนักงานไม่เข้าใจเรื่องการโค้ชหรือไม่เคยได้รับการโค้ชมาก่อน ก็จะเกิดความไม่มั่นใจที่จะพูดคุย และมีแนวโน้มที่จะปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการค้นหาคำตอบจึงทำให้การโค้ชไม่ประสบความสำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้นอาจจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างกันได้ มีพนักงานหลายท่านที่ผ่านหลักสูตรและกลับมาเล่าให้ฟังว่าจากอดีตที่เคยไม่เข้าใจว่าการโค้ชคืออะไร และเพื่ออะไร มาถึงวันนี้เมื่อไรก็ตามที่ได้รับการโค้ชจากหัวหน้า เขาจะรู้สึกภูมิใจมาก เพราะมันแสดงให้เห็นว่าหัวหน้ามองเห็นศักยภาพในตัวเขา

“ทุกวันนี้ การโค้ชมีหลายรูปแบบนะคะ แต่ที่กวางสอนเน้นๆ เลย คือการโค้ชในองค์กร เป็นการช่วยให้ผู้จัดการ นำพาทีมไปสู่เป้าหมายได้อย่างสำเร็จ และมีการบริหารที่ดีเหมาะกับคนในยุคนี้”

เนื่องจากบริษัทแอคคอมฯ ได้รับการคัดเลือกจาก ดร.มาแชล โกลด์สมิท โค้ชอันดับหนึ่งของโลก ให้เป็นผู้แทนด้าน การพัฒนาภาวะผู้นำอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ประกอบกับหลักสูตรและอาจารย์ผู้สอนของเราก็ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (International Coach Federation) จึงมั่นใจได้ว่าหลักสูตรจากบริษัทของเราเป็นหลักสูตรที่เป็นสากล ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเหมาะสม ถูกต้อง และได้ผลลัพธ์

 

ผู้นำในยุคปลาเร็วกินปลาช้า

เมื่อโลกเปลี่ยนไป นั่นก็หมายถึงโจทย์ต่างๆ ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน และถ้าเรานำคำตอบเดิมหรือทักษะเดิมมาใช้กับโลกที่เปลี่ยนไป เราอาจจะได้คำตอบที่ไม่ตรงกับคำถาม เทคนิคที่แอคคอมฯ ใช้ ช่วยให้ท่านผู้นำได้พบวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานให้เหมาะสมกับโลกปัจจุบันและคนในเจนเนอเรชันปัจจุบัน เปรียบเสมือนการค้นหาคำตอบได้ตรงกับคำถาม ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาบุคคลในทีมและองค์กรเท่านั้น แต่เป็นทักษะที่สามารถนำมาช่วยพัฒนาตนเองได้ด้วย

อาจารย์กวางมองว่า ความท้าทายของการเป็นโค้ชและวิทยากรอยู่ตรงที่การโค้ชไม่ใช่สิ่งที่คนไทยคุ้นเคย ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การปรับความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าการโค้ชคืออะไร อะไรไม่ใช่การโค้ช ซึ่งตรงนี้สำคัญมากจำเป็นต้องเข้าใจก่อน จึงจะไปเรียนรู้เรื่อง Skill หรือทักษะการโค้ช ผู้เรียนจะได้เรียนและฝึกฝนในห้องเรียนพร้อมแลกเปลี่ยนและรับ Feedback จากอาจารย์จนเข้าใจกระบวนการ วิธีการ เพื่อนำกลับไปปรับใช้กับสถานการณ์จริงในการทำงาน แล้วกลับมาติดตามผล โดยการแชร์ประสบการณ์การโค้ชเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หาทางปรับปรุง และพัฒนาร่วมกัน จุดเด่นของการเรียนโค้ชกับบริษัทแอคคอมฯ คือ การได้ฝึกปฏิบัติและได้รับ Feedback มีการพูดคุยให้คำปรึกษาการนำไปใช้งานจริง

อาจารย์จิรวรรณ พูดถึงการเป็นผู้นำแบบโค้ชให้ฟังว่า เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าบทบาทในการเป็นผู้นำของเราไม่ใช่แค่ผู้จัดการ หรือ ผู้บริหาร แต่เรายังมีอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญยิ่ง คือมีหน้าที่ในการพัฒนาและส่งเสริมให้ลูกน้องเก่งขึ้น ลูกน้องเราไม่ใช่เครื่องจักร เครื่องกลที่ต้องป้อนโปรแกรมในการทำงานตลอดเวลา แต่เขาเป็นมนุษย์ที่มีความสามารถ ในฐานะผู้นำ เราจะทำอย่างไรที่จะช่วยดึงศักยภาพของเขาออกมาและสนับสนุนให้เขาได้ใช้ความสามารถ ทั้งด้านความคิด ความสร้างสรรค์ และการลงมือปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิผล มากกว่าแค่การปฏิบัติตามคำสั่ง

 “ที่ผ่านมาเรามีการประเมินผลจากองค์กรที่เข้าร่วมอบรม และสิ่งที่กวางได้รับเสียงสะท้อนกลับมาคือ หลายท่านบอกว่า ยิ่งนั่งเรียนยิ่งเหมือนมีกระจกเงามาสะท้อนให้มองเห็นตัวเองในองค์กรชัดเจนขึ้น ได้ประเมินการบริหารงานที่ผ่านมาของตนเอง ได้มุมมองและแนวทางใหม่ๆ ในการพัฒนาภาวะผู้นำของตนเอง ทีมงานและองค์กร” ซึ่งนี่เองคือความสุขในการเป็นโค้ชและวิทยากรของอาจารย์กวาง “ถ้าย้อนมองกลับมาที่ตัวเราเอง กวางมองว่าการเป็นโค้ช ช่วยให้ตัวเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีด้วย อย่างน้อยที่สุดก็คือการเข้าใจคนอื่นมากขึ้น รับฟังและใจเย็น ถ้าในแง่ของการทำงาน กวางภูมิใจต่อทุกผลตอบรับของผู้เรียนและผู้ที่ได้รับการโค้ชจากกวาง แต่ที่ภูมิใจที่สุดเมื่อผู้เรียนเห็นความสำคัญของการโค้ช และมุ่งมั่นที่จะนำการโค้ชไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับทั้งตนเองและคนรอบข้าง”

 

การทำงานกับแอคคอมฯ

 “ทุกคนในแอคคอมฯ เป็นเหมือนครอบครัว คำว่าครอบครัว ใครๆ ก็พูดได้นะคะ แต่กวางว่าที่นี่ ไม่ได้พูดออกมา และไม่จำเป็นต้องพูดเลย แต่เป็นสิ่งที่เราสัมผัสได้จากการปฏิบัติต่อกัน เหมือนที่บอกว่า Actions speak louder than words งานเราเยอะตลอดปี ซึ่งต่างจาก Life Style ที่ผ่านมาของกวางคือ เป็น ดีเจ แต่กลับไม่รู้สึกว่า ขาดอิสระใดๆ ในชีวิต ยังมีความสุขเหมือนเดิมกับงาน”

 

ในด้านชีวิตส่วนตัว

อาจารย์กวางรักการท่องเที่ยว มักจะใช้เวลาว่างกับการพาครอบครัวไปเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ “กวางชอบท่องเที่ยวค่ะ เป็นคนสนุกง่าย เห็นอะไรก็ตื่นเต้น พบเจอกับอะไรก็สนุกได้ทุกอย่าง เวลามีใครถามว่าอยากไปเที่ยวที่ไหน จึงเป็นคำถามที่ตอบได้โดยไม่ต้องคิดเลยค่ะว่า “ทุกที่” เพราะคำว่าไปเที่ยวของกวางหมายถึงที่ไหนก็ได้ ที่ได้เห็นสถานที่แปลกใหม่ ผู้คน วิถีชีวิต แต่ที่สำคัญต้องถ่ายรูปกวางเยอะๆ นะคะ”  

ในการบริหารจัดการและการปฏิบัติงานทุกๆ วัน การสื่อสารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากสื่อสารได้ดี ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ทั้งๆ ที่การสื่อสารที่ชัดเจนและโน้มน้าวใจได้มีความสำคัญมาก แต่คนทำงานกลับมีเวลาน้อยลงในการเตรียมการ จะเห็นได้ว่า 90% ของการสื่อสารในแต่ละวัน เป็นการคิดสด พูดสด ทักษะ Think on Your Feet® จึงได้รับความนิยมมากขึ้นในทุกๆ องค์กรทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ

อาจารย์ดลล์กร มงคล (หญิง) โค้ชและวิทยากรด้านการสื่อสาร (Communication) ด้านภาพลักษณ์มืออาชีพ (Profession Image & Business Etiquette) และการบริการลูกค้า (Customer Service) จากบริษัทแอคคอม แอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล (แอคคอมฯ) กล่าวถึง Think on your Feet ® ว่า “Think on Your Feet® เป็นทักษะที่ลูกค้าชอบเป็นพิเศษ เพราะเรียนแล้ว ใช้ได้ทันที และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด” หลักสูตร Think on Your Feet® เป็นหลักสูตรที่แอคคอมฯ ได้รับลิขสิทธิ์การสอนจากเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

อาจารย์หญิงยังเล่าให้เราฟังเพิ่มเติมอีกว่า “ศาสตร์ด้านการสื่อสาร” มีความสำคัญและเป็นส่วนขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในโลกของการสื่อสารยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง How to ของการสื่อสารที่มีคุณลักษณะเด่น เช่น การสื่อสารที่กระชับ ได้เนื้อหาใจความที่ตรงกัน และโน้มน้าวให้คล้อยตามได้ทั้งเหตุผลและความรู้สึก

ทักษะ Think on your Feet ® จะช่วยให้เราสามารถเรียบเรียงความคิดได้อย่างรวดเร็ว ชัดเจนและสื่อสารออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะมีเวลาเตรียมตัวในการสื่อสารครั้งนั้นๆ หรือ ไม่มีโอกาสได้เตรียมตัวมาก่อนเลย

ระหว่างอบรม เน้นให้ผู้เรียน ได้ฝึกปฏิบัติเยอะมาก เช่นการจัดระเบียบความคิดของตนเอง (Organize) ได้อย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะมีการสื่อสารออกไป เน้นให้ใช้สถานการณ์ในงานจริงๆ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้ประโยชน์สูงสุด และมีความมั่นใจไม่กลัวต่อการสื่อสารในสถานการณ์ที่ท้าทายอีกต่อไป

“ระหว่างการฝึกปฏิบัติ หญิงจะให้ Feedback ที่สร้างแรงบันดาลใจอีกด้วย โค้ชและวิทยากรของเราได้รับการพัฒนาและบ่มเพาะเทคนิคการใช้ Feedback ให้เป็นประโยชน์อย่างเข้มข้น ซึ่งลูกค้าจะชอบเรามากในการมาเรียนรู้กับเรา”

หลักสูตรนี้อบรมโดยใช้เวลาสองวัน บรรยายเกี่ยวกับแนวทางและให้ทฤษฎีเพียง 20% ภาคปฏิบัติ 60% และวิทยากรให้ Feedback หรือเปิดโอกาสให้มีการ Feedback กันอีกประมาณ 20% เพื่อให้เข้าถึงหัวใจของ Think on your Feet® อย่างแท้จริง อีกอย่างที่เป็นข้อดีของหลักสูตรนี้คือ เรียนครั้งเดียวสามารถนำไปใช้ทั้ง พูด อ่าน เขียน ทั้งตอนมีเวลา และไม่มีเวลา ทั้งในสถานการณ์ปกติและภายใต้ความกดดัน เมื่อได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปและต้องใช้การสื่อสารมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องมาเรียนใหม่ เพราะทักษะใช้ได้จนกระทั่งเติบโตไปเป็นผู้นำและผู้บริหารระดับสูงในองค์กร อาจารย์หญิงบอกว่า “คุ้มยิ่งกว่าคุ้มเลยค่ะ” (หัวเราะ) “ที่แอคคอมฯ จะเป็นแบบนี้ จะนำหลักสูตรอะไรมาใช้ จะเน้นให้ผู้เรียนนำไปใช้ได้จริง และใช้เวลาน้อยๆ แต่ได้ผลลัพธ์มหาศาล”

 

การสื่อสารที่ดีเป็นอย่างไร?

“ประการแรก การสื่อสารที่ดีควรเข้าใจตรงกัน ในการเป็นผู้สื่อสารที่ดีเราต้องรู้อย่างแน่ชัดก่อนว่าจะพูดอะไร พูดกับใคร ใช้เวลาเท่าไร ต้องการผลลัพธ์อะไร ซึ่งหลักการนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในการสื่อสารทุกประเภท หลักสูตรนี้ให้เทคนิคการวิเคราะห์ผู้รับสารของเราอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนองาน การเตรียมสุนทรพจน์ การพูดในที่ประชุม การพูดในชุมนุมชน (Public Speaking) การประชุมแบบอยู่ในห้องประชุมด้วยกัน หรือประชุมแบบ Conference Call การพูดคุยกับหัวหน้าหรือลูกน้อง การประกาศนโยบาย การเปลี่ยนแปลง การเล่าเรื่อง (Storytelling) การต่อรอง การอภิปรายเพื่อตัดสินใจร่วมกัน และอีกมากมาย”

“ผู้เข้าอบรม มักจะสะท้อนกลับมาว่า ทักษะนี้เหมือนรากฐานของบ้าน ซึ่งต้องแข็งแรงและยั่งยืน จะเรียนทักษะอะไรก็แล้วแต่ เปรียบเหมือนการเพิ่มเติมบ้านขึ้นไปชั้นสองชั้นสาม ถ้ารากฐานไม่แข็งแรง เราก็ไม่สามารถใช้งานชั้นสองและชั้นสามได้เต็มที่ หรืออาจไม่ได้ใช้เลย”

“ประการที่สอง การสื่อสารที่ดี หญิงเชื่อว่า เราควรคำนึงถึงการรักษาความสัมพันธ์ด้วย เพราะในธุรกิจ ชื่อเสียงของบุคคลและองค์กรในการสื่อสารจะส่งผลต่อความไว้วางใจกันในวันข้างหน้า และภาพลักษณ์องค์กร ถึงแม้ว่าเราจะกำลังขัดแย้ง คิดต่างกัน คนที่พูดเป็น ไม่จำเป็นต้องเก็บซ่อนความเห็นที่คิดต่างของตนเองไว้ ในการอบรม Think on Your Feet® เราจะเน้นและกระตุ้นให้คนแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างแบบที่อีกฝ่ายฟังแล้ว อยากกระโดดมาให้ความร่วมมือทันที”

 

 ผู้บริหารระดับใดเรียนหลักสูตรนี้บ้าง?

 “มีทุกระดับค่ะ เท่าที่หญิงเห็น มีองค์กรลูกค้าของเราใช้เป็นหลักสูตรบังคับก่อนบุคคลจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บริหารก็มี หรือเป็นผู้บริหารมาสักพัก ต้องพัฒนาทักษะเพิ่มเติมก็มี ยิ่งมีทีมงานต้องดูแล การสื่อสารคือเครื่องมือในการบริหารเลยก็ว่าได้ สำหรับผู้บริหารระดับสูงก็เรียนเยอะค่ะ ตัวอย่างของความจำเป็นเช่น เมื่อองค์กรเผชิญสถานการณ์วิกฤตบางอย่าง ผู้บริหารระดับสูงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีบทบาทความรับผิดชอบในการสื่อสารข้อมูลออกไปสู่สาธารณชน ดังนั้นการคำนึงถึงความเหมาะสมในสารที่จะส่งไปยังผู้ฟังเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน อีกทั้งยังต้องเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ในการถาม-ตอบแบบที่ไม่ได้คาดคิด ซึ่งการอบรมจะช่วยให้ผู้บริหารสื่อสารอย่างมั่นใจภายใต้ภาวะที่กดดันได้อย่างราบรื่น แต่ทั้งนี้ผู้เรียนที่ยังไม่ได้เป็นผู้บริหาร และจำเป็นต้องใช้การสื่อสารเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ของงาน ก็เรียนเยอะเช่นกันค่ะ”

 

 เทคนิคการสอนของอาจารย์หญิงคืออะไร

 อาจารย์หญิง กล่าวว่า “หัวใจสำคัญของThink on your Feet® คือเป็นการอบรมที่ไม่ใช่การให้ความรู้ How to เท่านั้นแต่ยังช่วยปรับ Mindset ของผู้สื่อสารให้คำนึงถึงความต้องการและบริบทของผู้ฟัง “ในหลักสูตรมีเทคนิคหลากหลายแต่เรามีวิธีการสอนให้จำได้ง่ายๆ ซึ่งผู้เรียนชื่นชอบมาก เมื่อเร็วๆ นี้ ได้สอนพนักงานขายหลายกลุ่มมาก เขาสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ลูกค้าและปรับกลยุทธ์ในการขาย รวมถึงสามารถปรับการสื่อสารหน้างานได้อย่างทันที ลื่นไหล มีลูกเล่น และทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ว่าเป็นคนสำคัญ”

อาจารย์หญิง เน้นว่า การสื่อสารที่ดีต้องผสมผสานระหว่างสาระและลีลา ในด้านหนึ่งการให้แต่ข้อมูลเนื้อหาแบบมีหลักการ มีโครงสร้างในการพูดที่ชัดเจนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้เกิดความเข้าใจ (สาระ) อย่างไรก็ตามภาษาที่เข้าใจง่ายเหมาะกับกลุ่มผู้ฟัง การยกตัวอย่างประกอบ และท่าทางในการพูด (ลีลา) จะช่วยสร้างความน่าสนใจในการสื่อสารและช่วยผู้ฟังให้สามารถจดจำเนื้อหาได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ผู้พูดจึงควรฝึกฝนผสมผสานทั้งสองเรื่องนี้เข้าด้วยกัน และสำคัญที่สุดคือ เมื่อก่อนเราอาจจะเคย “พูดแล้วจึงค่อยคิด” แต่หากฝึกสักนิด เราจะเป็นคนที่ “คิดแล้วจึงค่อยพูด” “การคิดให้เร็ว ไม่ใช่การไม่คิดเลย อย่างไรก็ควรคิดก่อน แต่จะทำอย่างไร ทักษะ Think on Your Feet® ช่วยเราได้ค่ะ”

 

 อาจารย์หญิงมีเคล็ดลับการดูแลตนเองอย่างไร

 หลักๆ เลยก็จะออกกำลังกายด้วยการเล่นโยคะ โดยดาวน์โหลดวิดีโอจากเว็บไซต์ที่สมัครเป็นสมาชิกเอาไว้ ทำให้สามารถเล่นเมื่อใดก็ได้ตามต้องการ การเล่นโยคะทำให้ร่างกายทั้งแข็งแรงและมีความยืดหยุ่น นอกจากนี้ยังฝึกสมาธิ โดยในวันที่ว่างจะนั่งสมาธิที่บ้านวันละ 1 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถมีจิตใจที่แจ่มใส ซึ่งทั้งสองสิ่งช่วยให้หญิงมีร่างกายและจิตใจสดใสสมบูรณ์ พร้อมที่จะส่งมอบการเรียนรู้ที่มีพลังและสนุกสนานให้ลูกค้าของแอคคอมฯ อีกทั้งใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขค่ะ 

Page 2 of 3
X

Right Click

No right click