×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 10974

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดงาน KMUTT Competitiveness Forum 2019” ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคาร Knowledge Exchange for Innovation Center (KX) ถ.กรุงธนบุรี

โดย ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ หัวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์ฯ ได้แนะนำภารกิจของศูนย์ที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการสร้างความสามารถทางการแข่งขันต่างๆ และสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและบริการวิชาการกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนให้คำปรึกษาทางด้านการสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับองค์กร อีกทั้งพัฒนาบุคลากรของภาครัฐและภาคเอกชนให้สามารถสร้างและขับเคลื่อนปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันองค์กรได้

ภายในงานได้รับเกียรติจาก คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยด้วยนวัตกรรม” เพื่อเป็นการเผยแพร่แนวคิดและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการสร้างความสามารถทางการแข่งขันองค์กรด้วยนวัตกรรมสู่สาธารณะ อันจะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมและประเทศต่อไปในอนาคต 

จบไปแล้วสำหรับการแข่งขันแผนธุรกิจฉบับ IDE หรือ IDE Competition ด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และ Haas School of Business มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ การแข่งขันนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน IDE 2019 ที่จะผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการนวัตกรรม และแนวคิดธุรกิจที่หลากหลาย ผ่านการพัฒนาแผนธุรกิจใน 3 รายการ ได้แก่  MIT Enterprise Forum การประกวดแผนธุรกิจที่การสร้างนวัตกรรมเพื่อผลกระทบที่ดี  Global Social Venture Competition การแข่งขันแผนธุรกิจสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ดียิ่งขึ้น และ กะเทาะเปลือก แผนธุรกิจภาษาไทยค้นหาความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดนวัตกรรม

ในการแข่งขันครั้งนี้ได้รับเกียรติจากกรรมการผู้ที่เป็นทั้งนักคิด และนักประกอบการนวัตกรรมจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อาทิ ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ CEO, Food Innopolis, จรัมพร โชติกเสถียร กรรกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), Andrew Anselmo อาจารย์ผู้สอน Artisan’s Asylum, Katja Wald กรรมการบริหาร MIT Enterprise Forum Cambridge และ Micheal Burtov ผู้ก่อตั้ง & ซีอีโอ GeoOrbital เป็นต้น

โดยผู้ชนะเลิศในแต่ละรายการ มีดังนี้

 

  • MIT Enterprise Forum Thailand ได้แก่ ทีม VINA Youth Meter” ที่นำเอาเทคโนโลยีไบโอนาโนมาใช้ในการวิเคราะห์ youth prohormone ในปัสสาวะ และแสดงผลสุขภาพผ่านทางโทรศัพท์มือถือ โดยอุปกรณ์นี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถปรับไลฟ์สไตล์ การกิน และการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้
  • GSVC Southeast Asia Regional ได้แก่ ทีม Rehab Happy Walk” ผู้ออกแบบและผลิตอุปกรณ์ช่วยอาการเดินติดขัดในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ที่เครื่องมือนี้นั้นจะสามารถช่วยผู้ป่วยโรคนี้ได้มากถึง 10 ล้านคนทั่วโลกเลยทีเดียว ซึ่งผู้ชนะรายการนี้จะได้เข้าแข่งขันรายการในรอบ Global Finals ในเดือนเมษายน ณ UC Berkeley มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • กะเทาะเปลือก ได้แก่ทีม OmniEnergy” ผู้เสนอแผนธุรกิจพัฒนาแพลตฟอร์มการเทรดพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานจากลม พลังงานจากน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบ Peer-to-Peer

 

สำหรับงาน IDE 2019 นี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยความร่วมมือของ "ศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หรือ IDE Center by UTCC"  บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) The Knowledge Exchange (KX) โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี  บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) และภาคีพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะร่วมกันสร้างระบบนิเวศทางการประกอบการ และขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมในประเทศไทยเกิดมากขึ้น สามารถติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ facebook.com/idecenterbyutcc

ในวันนี้คำว่า “Smart Farming” หรือ “เกษตรอัจฉริยะ” ได้ถูกหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย หยิบยกขึ้นพูดถึงว่าเป็นอนาคตและความอยู่รอดและสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ของภาคการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะยุค 5G ในขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นเสมือนภาพลักษณ์ของความเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ พร้อมกันนี้ Smart Farming ยังมาพร้อมกับการลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีอีกด้วย 

คำถามคือ Smart Farming จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรไทยได้จริงหรือ ทำได้อย่างไร อะไรคือช่องว่างที่ทำให้เกษตรกรไทยยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี Smart Farming และจะปิดช่องว่างนี้ได้อย่างไร 

เพื่อหาคำตอบ แสวงแนวทางเพื่อปิดช่องว่าง และสร้างความเชื่อมโยงเทคโนโลยีสู่การทำเกษตรกรรมแบบสมาร์ต ภายในงาน Thailand MBA Forum 2018 : The Next Chapter of Tech & Management จึงได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง Advance Technology for “Smart Farming” ขึ้น โดยได้รับเกียรติจากคณะวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรง ประกอบด้วย ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.นฤทัย วรสถิตย์ รักษาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร, เรืองชัย เจริญกิจสุพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรม SMEs เกษตรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ ณัฐ มั่นคง ผู้ประกอบการเกษตร “โคโค่ เมล่อน ฟาร์ม” มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในประเด็นดังกล่าว

อะไรคือช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกรไทย

ดร.นฤทัย วรสถิตย์ : ช่องว่างในระบบผลิตภาคการเกษตรของเรามีเยอะมาก ย้อนไป 30-40 ปีที่แล้ว ประเทศไทยนับว่าเป็นผู้นำด้านการเกษตร เราผลิตได้ดี เป็นเบอร์ 1 ของการส่งออกสินค้าการเกษตรในหลายๆ ประเภท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่มีสภาพ-แวดล้อมที่เอื้ออำนวยกว่าหลายๆ ประเทศ เกษตรกรบ้านเราก็มีประสบการณ์สูง แต่ก็ยังมีพื้นที่ทางการเกษตรกรอีกหลายๆ พื้นที่ ที่มีสภาพแวดล้อมไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไรนัก ยกตัวอย่าง ทางภาคอีสาน ซึ่งดินมีสภาพเป็นดินปนทราย ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ ไม่มีระบบชลประทานที่ดีมากพอ ต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติอย่างเดียว เกษตรกรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อการบริโภคเหลือก็ขายบ้าง เพียงพอต่อการใช้ยังชีพ เพราะในขณะนั้นต้นทุนในการผลิตยังไม่สูงมากนัก 

แต่เมื่อเกษตรกรมีการใช้ดินใช้ทรัพยากรไปเรื่อยๆ ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติในดินก็ลดลง ในขณะเดียวกันการเติมความสมบูรณ์กลับลงไปในดินก็ไม่ได้มากพอ บวกกับบางปีเจอกับฝนแล้ง ดินขาดน้ำเมื่อเกษตรกรเริ่มมีการลงทุนใส่ปุ๋ยต่างๆ เพื่อเติมลงไปในดินหวังจะให้เป็นอาหารของพืชผล แต่เมื่อไม่มีน้ำเป็นตัวทำละลาย ปุ๋ยก็ไม่สามารถเติมความสมบูรณ์กลับเข้าไปในดินได้ การลงทุนจึงไม่คุ้มและไม่เกิดประโยชน์ เมื่อได้รับผลตอบแทนไม่คุ้มค่าจึงทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งต้องออกไปนอกทำงานนอกภาคการเกษตร ลูกหลานก็ไปอยู่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเกษตรเช่นกันและไม่ได้มองว่าการเกษตรเป็นรายได้หลักอีกต่อไป ในสถานการณ์เช่นนี้หากจะให้เกษตรกรกลุ่มนี้ต้องมาลงทุนเทคโนโลยี ก็จะไม่มีใครกล้าลงทุน หากต้องลงทุนด้วยตัวเอง ซึ่งนี่ก็คือหนึ่งในช่องว่างที่เกิดกับเกษตรรายย่อยของไทย

ช่องว่างต่อมาคือ รูปแบบการรายงานผลผลิตสินค้าเกษตรหรืออะไรก็ตามของประเทศ ส่วนใหญ่มักจะเป็นการรายงานภาพรวมเป็นค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ เราแทบจะไม่เคยมีการแยกแยะหรือโฟกัสออกมาเป็นส่วนๆ ทำให้ข้อมูลไม่เอื้อต่อการที่จะให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ใช้ทักษะหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมหรือการพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสม หรือคำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงกับปัญหาพืชผลทางการเกษตรได้มากเท่าที่ควรเพราะขาดข้อมูล

อีกหนึ่งช่องว่างที่ทำให้เกษตรกรไทยไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มากเท่าที่ควรทั้งที่ประเทศไทยมีหน่วยงานที่สนับสนุนการพัฒนาการเกษตรกรอยู่มากมายก็คือ หน่วยงานของภาครัฐมีการแบ่งงานกันออกเป็นส่วนๆ เป็นกรม กอง ไม่เอื้อต่อการเชื่อมโยงในการทำงาน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันภาครัฐจะมีการสนับสนุนให้แต่ละหน่วยงานมาทำงานมาระดมความคิดทำโครงการร่วมกัน แต่เมื่อจบโครงการก็จบไม่ได้มีระบบที่จะสร้างให้เกิดการทำงานต่อเนื่อง ไม่มีระบบที่จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องจะสามารถเห็นภาพได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ 

ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ : ช่องว่างของการเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกรคือ ต้องสามารถตอบคำถาม 2 ข้อนี้ให้ได้ คำถามแรกคือ เกษตรกรได้อะไรจาก Smart Farming คำถามที่สองคือผู้บริโภคได้อะไรจากการบริโภคพืชผลจาก Smart Farming 

ตอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้วางธีมเกี่ยวกับเรื่องของนวัตกรรม (Innovation) เรื่องของ Disruption (สภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล) ภาคการเกษตรก็เป็นด้านหนึ่งของการทำงานครั้งนี้ ด้วยคำถามแรกว่า เกษตรกรได้อะไรจาก Smart Farming คือเรื่องของซัพพลาย (Supply) คำถามถัดมาผู้บริโภคได้อะไรจาก Smart Farming นั่นคือเรื่องของดีมานด์ (Demand) การที่ผู้บริโภคต้องจ่ายมากขึ้นจากการซื้อสินค้าที่ได้ชื่อว่าเป็น Smart Farming จะได้อะไรที่เพิ่มเติมขึ้นหรือมีอะไรที่ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจเพิ่มขึ้น

ผมได้พยายามหาคำตอบ ซึ่งก็ยังไม่พบ จนได้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ที่นี่มีการทำ Smart Farming มีการทำโรงเรือนโดยการควบคุมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอากาศ ความชื้น อุณหภูมิ ธาตุอาหารในดิน แสง จากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานทำด้านนี้ในประเทศญี่ปุ่นพบว่า ผู้ประกอบการที่ทำแบบนี้อยู่รอดแค่ 25% เรียกได้ว่า ทำ 4 ราย เจ๊งไป 3 ราย เหลือรอด 1 ราย

ผมได้สอบถามเกษตรกรว่ามีการดำเนินงานต่างจากรายอื่นตรงไหน ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า ผู้ประกอบการรายนี้มองตั้งแต่การผลิตไปจนถึงมือลูกค้าเลย การเกษตรของญี่ปุ่นรายนี้ได้ตอบได้ว่า สิ่งที่เขาได้รับจากการทำ Smart Farming คือ ความสามารถในการควบคุมคุณภาพของผลผลิตภายในฟาร์มได้ทั้งหมด และสามารถป้อนสิ่งที่พืชผลต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งหมดนี้ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นติดตามมา เกษตรกรรายนี้ยังได้ตอบถึงสิ่งที่ผู้บริโภคได้รับจากการที่จ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อพืชผลทางการเกษตรจาก Smart Farming ของเขาว่าลูกค้าจะได้ผักของเขามีวิตามินสูงกว่าฟาร์มทั่วไป และนอกจากนี้หากลูกค้าที่ต้องการผักที่มีกากใยอาหารเพิ่มขึ้นในขณะที่บริโภคเท่าเดิม หรือต้องการให้ผักอร่อย กรอบขึ้น หวานขึ้น เขาก็สามารถทำตรงนี้ให้ได้ โดยทั้งหมดนี้ต้องมีการทำวิจัย 

และนี่เป็นบทเรียนที่มักพบอยู่เสมอเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ว่าต้องมีงานวิจัยเป็นพื้นฐาน ซึ่งสุดท้ายงานวิจัยก็จะไปตอบโจทย์ของการตลาดในที่สุด ผมมองว่าการที่เราจะทำอะไรก็จะมี 2 แกนเสมอ แกนแรกคือ โนว์ฮาว แกนที่สองคือ ดิจิทัล แต่ไม่ได้หมายความว่าการใส่ดิจิทัลเข้าไปแล้วเกษตรกรจะประสบความสำเร็จ เพราะเกษตรกรต้องมี โนว์ฮาว อยู่ก่อนแล้ว ส่วนดิจิทัล นั้น จะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกษตรกรติดปีก มูลค่าเพิ่มหรือโอกาสของความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นจะมาจากการใช้อุปกรณ์ 

“ช่องว่าใหญ่ที่สุดของการทำ Smart Farming คือเรื่องของราคา ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมลูกค้าต้องจ่ายแพงขึ้นจากการบริโภคพืชผลจากฟาร์มแห่งนี้” 

แนวทางเพื่อปิดช่องว่าง และสร้างความเชื่อมโยงเทคโนโลยีสู่การทำเกษตรกรรมแบบสมาร์ต

เรืองชัย เจริญกิจสุพัฒน์ : ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เราดำเนินงานมาแล้วเป็นปีที่ 51 และสิ่งที่เห็นคือ ภาคเกษตรของประเทศไทยก็ยังไม่ไปถึงไหน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีกว่า การทำการเกษตรบ้านเราต้องพึ่งพิงดิน น้ำ อากาศ จากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงมักเผชิญกับภาวะน้ำท่วม ฝนแล้ง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปริมาณพืชผลทางการเกษตรที่ออกสู่ตลาดในแทบจะทุกประเภท 

ด้วยบทบาทของ ธกส. เป็นสถาบันทางการเงินที่มีหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกร มีเงินทุนพร้อมที่จะเติมให้เกษตรในการทำการเกษตร แต่การเติมนั้นต้องให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด ภายใต้สถานการณ์ของเกษตรกรที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบันนอกจากการผลิตที่ยากต่อการควบคุมแล้ว ยังมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปิด AEC ต้องเจอกับคู่แข่งขันจากเพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศไทยที่มีการผลิตสินค้าทำการเกษตรที่เหมือนๆ กันออกมา

โจทย์ของ ธกส. คือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถแข่งขันทางการตลาดได้ ให้มีการคิดในเรื่องของธุรกิจมากขึ้นคิดในเรื่องของต้นทุนกำไรมากขึ้น มีการเข้าถึงนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตและจำหน่าย ไม่ใช่การผลิตและขายตามยถากรรมอย่างที่ผ่านๆ มา 

และนี่คือที่มาของการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของธกส. โดยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหน่วยงาน ภายใต้ชื่อ บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรม SMEs เกษตรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อเข้ามาช่วยดูแลเรื่องของการเชื่อมนำเอาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงการดูแลในเรื่องของการบริหารจัดการ บริหารต้นทุนกำไร การตลาด ให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธกส. เพื่อให้เกษตรกรอยู่อย่างเข้มแข็ง จนถึงทำให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาขายสินค้าทางการเกษตรได้

การที่จะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ ก็ต้องดูแลในเรื่องของคุณภาพ โดยการเติมเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือเรื่องของดิจิทัลเข้าไปให้เกษตรกร จนถึงการออกไปบอกกับตลาด บอกกับผู้บริโภคเกิดการรับรู้ว่าผลผลิตที่เกิดขึ้นนั้นดีกว่าสินค้าที่อยู่ในตลาดทั่วไปอย่างไรพร้อมกับทำในเรื่องของการจัดการ และการลดต้นทุนให้กับเกษตรกรไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยพัฒนาผลผลิตให้ดีขึ้น มีการให้ความรู้เรื่องปุ๋ย การพัฒนาคุณภาพของดิน มีการส่งเสริมเรื่องปุ๋ยสั่งตัด มีการคัดเกรดสินค้าก่อนส่งขาย การนำเอาสินค้าที่ตกเกรดมาแปรรูปสินค้า การส่งเสริมให้ลดในเรื่องของการใช้เคมีและเพิ่มความรู้และส่งเสริมการใช้สารชีวพันธุ์มากขึ้น ไปจนถึงการออกใบรับรองพืชผลทางการเกษตรเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค และที่สำคัญมีการดูแลควบคุมพื้นที่การผลิตเพื่อไม่ให้เกิดภาวะผลิตทางการเกษตรล้นตลาดอีกต่อไป

ณัฐ มั่นคง : ในฐานะของเกษตรกร เจ้าของฟาร์มเมล่อนที่มีการดำเนินงานภายใต้ในระบบที่เรียกว่า Smart Farming มองว่าเรื่องของการเกษตรไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ผลิตพืชผลทางการเกษตรอย่างเดียว แต่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นด้วย เช่นเรื่องของการเงิน การลงทุน การบริหารจัดการ และการตลาด 

การทำการเกษตรในรุ่นพ่อรุ่นแม่จะใช้ประสบการณ์ และความชำนาญที่เกิดจากการทำซ้ำจนเกิดความแม่นยำ แต่ในยุคของผมเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่มีความรู้มาจากการลงมือปฏิบัติ สังเกต เก็บข้อมูล ศึกษาทฤษฎี และเข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการ การตลาด ในยุคนี้มีผู้ที่คิดค้นเทคโนโลยี นวัตกรรม เครื่องมือที่เข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลพืชผล จึงทำให้การดูแลฟาร์มสามารถทำได้อย่างแม่นยำมากขึ้นบนพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชที่ปลูกอย่างแท้จริง 

“โรงเรือนของผมสามารถควบคุมได้ทั้งหมดทั้งความชื้นของดิน คุณภาพ โรคแมลง เช่น ต้นเมล่อนในฟาร์มเหี่ยว ถ้าคิดแบบทั่วไปก็ต้องมองว่าขาดน้ำ แต่เซนเซอร์ของผมแจ้งว่า ความชื้นในดินยังอยู่ในค่าที่เหมาะสมอยู่ในค่าเดิม ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่ผมจะให้น้ำกับต้นเมล่อน ด้วยความรู้เกี่ยวกับการปลูกเมล่อนทำให้ผมทราบว่าต้นเมล่อนของผมขาดน้ำจริง แต่สาเหตุของการขาดน้ำมาจากการมีนำในดินเยอะเกินจนรากเน่าซึ่งผมก็รักษาตามอาการจนต้นเมล่อนออกรากฝอยขึ้นมาใหม่ และให้ผลผลิตได้ที่มีคุณภาพระดับ 60-70%”

นอกจากการวิจัยในเรื่องของการผลิตซึ่งผมได้เคยทดลองปลูกเมล่อนมาราว 20-30 สายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ญี่ปุ่นแท้ เทียม หรือสายพันธุ์ใหม่ แต่แล้วก็จะต้องไปจบตรงผู้บริโภค ต้องมีการทำวิจัยไปจนถึงลูกค้าด้วยว่าชอบเมล่อนสายพันธุ์อะไร รสชาติแบบไหน ซึ่งคนไทยนิยมเมล่อนที่หวาน กรอบ เนื้อแน่น ถ้าปลูกพันธุ์ญี่ปุ่นแท้ที่เน้นความหวานและนุ่มละลายในปาก ก็อาจจะขายไม่ได้

ความเป็นเกษตรกรของบรรพบุรุษเราในอดีตล้วนเกิดจากประสบการณ์และการทำซ้ำ และการบอกต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่ท้ายที่สุดส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยรู้เกี่ยวกับทฤษฎีที่ถูกต้องในพืชผลทางการเกษตรที่ตนเองปลูกอยู่เลย แต่หากเรามีความรู้เชิงทฤษฎี บวกกับประสบการณ์จากการสังเกตการณ์ทำซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า และนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ การผลิตของเราก็จะเกิดความแม่นยำ ตรงจุดและไปได้ไวกว่า 

เกษตรกรไทยมีการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างไร

ณัฐ มั่นคง : ถึงแม้ว่าโคโค่เมล่อนฟาร์มจะได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีจากบริษัทดีแทค แต่ก็เคยตอบคำถามหลายๆ ฝ่ายไปว่าหากต้องลงทุนอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้เองตัวเองก็ยินดีที่จะลงทุน แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การศึกษาด้วยว่า พืชผลทางการเกษตรที่ปลูกนั้นคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ จุดคุ้มทุนอยู่ตรงไหน และเทคโนโลยีแบบไหนที่จำเป็น เช่นการปลูกเมล่อนต้องให้ความสำคัญเรื่องน้ำ ก็ต้องลงทุนระบบเกี่ยวกับการจัดการน้ำ แต่ถ้าเป็นฟาร์มกล้วยไม้ที่ต้องใส่ใจเรื่องของแสงก็ต้องลงทุนเกี่ยวกับการควบคุมแสงสว่างในฟาร์มเป็นต้น

“ผมมีความเชื่อว่าเทคโนโลยีของ Smart Farming จะเข้าสู่เกษตรกรไทยให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายในเร็วๆ นี้ เพราะเทคโนโลยีจะมีต้นทุนที่ถูกลงใช้ง่ายขึ้นต่อไปตัวเซนเซอร์อาจจะมีวางขายในร้านขายวัสดุทางการเกษตรทั่วๆ ไปอย่างแน่นอน” 

ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ : กฎของดีมานด์ และซัพลาย จะทำให้เทคโนโลยีทางการเกษตรหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับ Smart Farming ลดต่ำลง และสร้างโอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านั้นให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น ข้อดีของนวัตกรรมคือไม่มีขนาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ใครเร็วกว่าย่อมได้เปรียบเป็นเรื่องของปลาเร็วกินปลาช้าไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาช้าอีกต่อไปแล้ว หากเกษตรกรในบ้านเราเริ่มมีทำการเกษตรบนพื้นฐานของความรู้ และรู้จักที่จะใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือ จะส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นการเติบโตที่อยู่บนพื้นฐานความรู้ที่คนในประเทศของเราถนัดคือการเกษตร 

ดร.นฤทัย วรสถิตย์ : กลไกด้านราคาจะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีของ Smart Farming ในทุกวันนี้มีบริษัทคอมพิวเตอร์ใหญ่ๆ หันมาพัฒนาในเรื่องเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางด้านการเกษตรและอาหารเพิ่มมากขึ้น เพราะตามที่มีการคาดการณ์ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและทั้งคนที่ต้องการจ่ายเพื่อสุขภาพ ซึ่งพอเกษตรกรสามารถควบคุมต้นทุนต่างๆ ได้ บวกกับอุปกรณ์มีราคาลดต่ำลงคุณภาพดีขึ้น จะช่วยให้สามารถควบคุมคุณภาพในการผลิตและลดการสูญเสียไปได้ รวมทั้งในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้นในทุกวันนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งรัดให้เกษตรไทยเข้าสู่ Smart Farming 


สามารถรับชมคลิปวิดีโอ หัวข้อ Advance Technology for “Smart Farming” จากงาน Thailand MBA Forum 2018 ได้ที่นี่

X

Right Click

No right click