“พัทธนันท์ เพชรเชิดชู”  รองอธิการฯมธบ.” เปิดตัว  Capstone Project ต้นแบบ Startup University สู่ความสำเร็จแบบมืออาชีพ

ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู  รองอธิการบดีสายภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (College of Innovative Business and Accountancy: CIBA) ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้นักศึกษาภายใต้โครงการ Capstone Project เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นให้สามารถแก้ไขโจทย์จริงจากความต้องการของภาคธุรกิจ รวมถึงฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมบนพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกันเพื่อให้เตรียมพร้อมก่อนออกสู่ตลาดแรงงานจริง เนื่องจากทักษะด้านผู้ประกอบการถือเป็นอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญต่อการทำธุรกิจและการประกอบอาชีพในโลกแห่งอนาคต เพราะไม่เพียงแต่นักศึกษาสามารถทำงานภายในองค์กรได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้อีกด้วย 

ล่าสุด ทาง CIBA ได้จัดการแข่งขัน Final Pitching Capstone Business Project โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการและสามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันครั้งนี้ได้ทั้งหมด 3 ทีม  ประกอบด้วย ทีม Charm Gems คว้ารางวัลชนะเลิศประเภท CREATIVE AWARD  ทีม A3 คว้ารางวัลประเภท ADAPTIVE AWARD และทีมจัสมิน   คว้ารางวัลประเภท INNOVATION AWARD    โดยแต่ละทีมได้เรียนรู้และพัฒนาโครงงานร่วมกัน เป็นการฝึกเสมือนทำงานในองค์กรจริง สามารถสร้างนวัตกรรม ประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้แก้ปัญหาได้ ทำให้นักศึกษา ได้ฝึกทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจ มีการทำงานร่วมกันกับเพื่อนต่างคณะ ทำให้ได้ฝึกการบริหารความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้น (Conflict Management)  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางมหาวิทยาลัยก็ได้พยายามปลูกฝังเข้าไปในตัวนักศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเป็นสตาร์ทอัพยูนิเวิอร์ซิตี้

นางสาวกาญจนา ช้างป่าดี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจนวัตกรรมและบัญชี สาขาการตลาดยุคดิจิทัล ตัวแทนทีม Charm Gems ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ CREATIVE AWARD กล่าวว่า ได้รับโจทย์เป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกปัด ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการพบว่าตลาดอิ่มตัว ลูกค้าแก่ขึ้นไปตามแบรนด์และไม่มีกำลังซื้อ ขณะที่กลุ่มที่มีกำลังซื้อก็ไม่สนใจ จึงดีไซน์รูปแบบใหม่ เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานแทนที่จะเป็นลูกปัดก็เปลี่ยนมาเป็นหินสีผสมผสานความเชื่อเรื่องหินมงคลบวกกับนำหินมาร้อยเป็นสายนาฬิกา เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งาน เป็นเครื่องประดับที่ใช้ดูเวลาได้ด้วย ดีไซด์สวยงาม เป็นงานแฮนด์เมด ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มีช่องทางการจำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์เข้าถึงง่ายสะดวกกับลูกค้า

“การทำงานครั้งนี้ได้ประสบการณ์มากมาย เพราะว่าเราทำงานกับเพื่อนที่ไม่ได้สนิทไม่ได้รู้จักกันมาก่อนเลยก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน เรื่องของการทำธุรกิจ เราเรียนมาก็จริงแต่ไม่เคยทำ สำคัญจริงๆ เลย คือ ต้องความต้องการของลูกค้า และเราทำอะไรตอบโจทย์เขาได้บ้าง มันจะทำให้เราประสบความสำเร็จ”

นางสาวกาญจนา กล่าวในตอนท้ายว่า ได้นำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาปรับใช้กับการทำธุรกิจขายของออนไลน์ของตนเอง จนปัจจุบันมียอดขายมากขึ้น เพียงพอต่อค่าเทอมและค่าใช้จ่ายส่วนตัว คิดว่าหลังจากจบการศึกษาไปแล้ว คงนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปต่อยอดให้กับธุรกิจของตนเองอย่างจริงจังมากขึ้น 

นางสาวนิภาพร  กันยา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม สาขาการโรงแรม ตัวแทนทีม จัสมิน กล่าวว่า ทางทีมได้รับรางวัล INNOVATION AWARD  จากการคิดค้นผลิตภัณฑ์ลูกประคบไฟฟ้าสมุนไพรสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่จากเดิมใช้ครั้งเดียวแล้วก็ทิ้งไม่ใช้ซ้ำ ตามข้อจำกัดของสมุนไพร เลยคิดค้นกันว่า ถ้าเราใช้ลูกประคบไฟฟ้าแบบชาร์ตไฟได้ เพียงแค่เปลี่ยนจากลูกประคบเป็นแผ่นสมุนไพร จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายน้อยลง จากปกติลูกประคบใช้งานราคาอยู่ที่ 180-200 บาทต่อลูกต่อการใช้งาน  1 ครั้ง แต่พอเปลี่ยนมาเป็นแผ่นสมุนไพรตามประเภทและชนิดสมุนไพร ช่วยทำให้ต้นทุนมาอยู่ที่ราคา 40-50 บาท แต่อาจจะเสียค่าเครื่องประคบครั้งเดียวแต่ใช้งานได้นาน   

ทั้งนี้ การคิดค้นผลิตภัณฑ์ตัวนี้ออกมา ทางทีมได้ระดมความคิดแชร์ไอเดียกันหนักหน่วงพอสมควรกว่าจะได้รับการพิจารณาโครงการให้ผ่านเพราะต้องหาความแตกต่างของสินค้าและตรงกับความต้องการตลาดมากที่สุด พอผ่านแล้วต้องมาเจอกับด่านการศึกษาค้นคว้าข้อมูล แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคเพราะมีที่ปรึกษาใกล้ตัวที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทั้งเรื่องนวดเพื่อสุขภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสมุนไพร 

“จากเดิมที่ยังค้นหาตัวเอง ยังไม่รู้ว่า มีความสามารถด้านไหนเพราะเวลาทำอะไรตามคำสั่งคนอื่นก็สามารถทำได้หมด แต่ต่อมา พอเป็นผู้นำทีมก็รู้สึกว่า ตัวเองก็สามารถคิดเองได้แบบไม่ต้องมีใครสั่ง นอกจากนี้การเรียนรู้ในโครงการยังทำให้รู้ว่า เมื่อเรียนจบไปแล้วจะทำให้ได้เจอคนในหลายแบบ หลายความคิด ทั้งคนที่ได้ดั่งใจเรา ไม่ได้ดั่งใจเรา ถึงแม้จะมีความขัดแย้งภายในกลุ่ม แต่สุดท้ายก็ลงเอยได้ด้วยดีเพราะเราปรับตัวเข้าหากัน ปรับวิธีการทำงานร่วมกันเพื่อให้งานออกมาได้สำเร็จ จึงอยากชวนน้องๆเข้ามาลองเปิดใจกับ Capstone   เปิดใจกับคำว่า Startup  เริ่มคิด เริ่มลงมือทำแล้วจะรู้ว่าไม่มีอะไรน่ากลัวและไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้”

นางสาวเจนจิรา แสงคำ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและบัญชี สาขาการตลาดยุคดิจิทัล (CIBA) ทีม A3 ได้รับรางวัลประเภท ADAPTIVE AWARD จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกประคบสมุนไพรแบบเดิมๆให้เป็นลูกประคบตัวการ์ตูนที่มาพร้อมกับกลิ่นหอมจากดอกไม้นำเข้าจากต่างประเทศ จุดเริ่มต้นของทุกคนคือ มีที่มาจากต่างคณะต่างสาขาแล้วมาร่วมทำโปรเจคกัน ช่วงแรกๆ มีการกลัวการเข้าหากันบ้าง แต่ก็แก้ปัญหาร่วมกัน พยายามฟังกันให้มากกว่าพูด ใครมีไอเดียดีๆ ก็จะช่วยกันนำเสนอ ทุกคนในทีมได้ข้อคิดร่วมกันว่า งานนี้ไม่ใช่งานที่คนอื่นทำ แต่เป็นงานของเราที่เราต้องทำกันเป็นทีมให้สำเร็จ คิดแบบนี้แล้วทำให้ทุกคนมีกำลังใจกันมาก และมีความมั่นใจเวลาขึ้น Pitching บนเวที  สำหรับน้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ อย่ากลัวสิ่งที่จะลอง เพราะถ้าได้ลองแล้วนอกจากมีความท้าทาย มีความสนุกและยังได้เสริมศักยภาพให้กับตัวเองได้ด้วย

ดร.พัทธนันท์  เพชรเชิดชู  รองอธิการบดีสายภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า DPU X (สถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต) โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดกิจกรรม “จัดให้แซ่ด   DPU X Startup SUMMER CAMP”  เพื่อสนับสนุนให้น้องๆในระดับมัธยมศึกษาที่มีความสนใจปูพื้นฐานด้านธุรกิจเข้าร่วมรับฟังแนวคิด พร้อมฝึกตีโจทย์ วางแผนกลยุทธการสร้างธุรกิจ และ การเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในตลาดยุคดิจิทัล กิจกรรมครั้งนี้เน้นเวิร์คชอปลงมือปฏิบัติจากโจทย์ธุรกิจที่ได้รับในหัวข้อ อาหารแห่งโลกอนาคต หรือ Food For The Future พร้อมทั้งยังได้ฟังประสบการณ์ตรงจากนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จจากตลาดออนไลน์อย่าง รัสรินทร์ ธนะชัยวัฒนะโภคิน (แคทตี้) เจ้าของสินค้าหลากหลายแบรนด์ ก่อนที่น้องๆจะลงสนาม Mini Pitching เวทีการแข่งขันนำเสนอไอเดียธุรกิจ โดยทีมที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษาตลอดหลักสูตรปริญญาตรี รวมมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท  

“DPU X Startup SUMMER CAMP จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 เม.ย.62  ซึ่งทั้ง 2 วัน ทางทีมงานได้จัด กูรู มาให้ความรู้อย่างเต็มที  โดยวันแรกประเดิมด้วยนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากตลาดออนไลน์เป็นระดับต้นๆ  อย่าง “แคทตี้”  เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Flat2112, Babykissthailand  แผ่นน้ำหอมสำหรับใช้ในรถยนต์ยี่ห้อ TED A CAR  และอีกหลายธุรกิจ มาถ่ายทอดเคล็ดลับวิชาการทำตลาดออนไลน์อย่างไร ให้ประสบความสำเร็จ และ ในช่วงบ่ายวันแรกเด็กๆ จะได้ลงมือทำอาหารที่ Chef Lab และคิดค้นคอนเซ็ปต์รูปแบบการนำเสนอไอเดีย ให้สอดคล้องกับโจทย์ในหัวข้อ Food For the Future ที่ได้เรียนกับอาจารย์จากหลักสูตรการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ (CIM DPU) ในช่วงก่อนหน้า” ดร.พัทธนันท์กล่าว

รองอธิการบดี กล่าวอีกว่า  ทางมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อให้น้องได้ใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมให้เกิดประโยชน์และเพื่อกระตุ้นเด็กรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญในสตาร์ทอัพ  ซึ่งทางมหาวิทยาลัย ฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องของสตาร์ทอัพมาตลอด และหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับหลักสูตรโดยมีการสอดแทรกเรื่องของการเป็นเถ้าแก่ไว้ในทุกหลักสูตรเพราะมองเห็นถึงแนวทางในอนาคตว่านักศึกษาที่เรียนจบไปเขาจะไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือออกไปเป็นพนังงานบริษัทก็สามารถนำเรื่องจิตวิญญาณการเป็นเถ้าแก่ไปใช้จนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้  และเชื่อว่าเจ้าของกิจการเอง ก็คงอยากจะได้พนักงานที่มีแนวคิดความเป็นเถ้าแก่มาใช้ในการทำงานด้วย เพราะพนักงานจะทำงานด้วยความใส่ใจและตั้งใจเหมือนตนเองเป็นเจ้าของกิจการเอง 

ดร.พัทธนันท์ กล่าวด้วยว่า สำหรับปี 2562 นี้ เลือก หัวข้ออาหารแห่งโลกอนาคต  เพราะมองว่า เป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน  “ต้องกิน”  และการทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารต้องรู้แนวโน้มเทรนด์ของอาหารในโลกอนาคต ถ้าสามารถปรับตัวและรู้เทรนด์ได้ก่อนคนอื่นก็จะได้เปรียบ  โดยความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมน้องๆสามารถนำไปปรับใช้ให้ เกิดประโยชน์ได้  นอกจากนี้ในวันที่ 2 ของกิจกรรม น้องๆจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจในเชิงลึกมากขึ้นจากอาจารย์จากวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA)  ในแง่ของการมองโอกาสทางธุรกิจผ่านปัญหาของกลุ่มลูกค้า การแก้ปัญหาให้ลูกค้า รวมถึงการหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักๆ ในการเริ่มต้นธุรกิจ รวมถึงเวิร์คชอปการสร้างแบรนด์และเพิ่มมูลค่าให้สินค้า หรือ บริการ ด้วยทักษะแห่งการออกแบบที่มาสอนโดยอาจารย์จากคณะศิลปกรรมโดยตรง น้องๆจะได้นำเสนอไอเดียสุดครีเอทโดยการลงมือขีดเขียนผ่านโปรแกรม Good Note ในไอแพด

สำหรับทีมที่ชนะเลิศจาก Mini Pitching รับเงินทุนการศึกษาจำนวน 10,000 บาท พร้อมทุนศึกษาต่อระดับปริญญาตรีฟรีตลอดหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 5 ทีม “อะจ๊วง” จากโรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยา จ.ปทุมธานี ประกอบด้วย นายพีระ เพิ่มพูน (พี) นางสาว พรปวีณ์ ปิติทิพยพัฒน์ (แอมเวย์) และนายชยานันท์ พิลึก (นิว) ร่วมกันเสนอไอเดียกล่องพิซซ่าลดโลกร้อน

นายพีระ เพิ่มพูน ตัวแทนทีมอะจ๊วง กล่าวว่า ที่เลือกทำกล่องพิซซ่าลดโลกร้อน ภายใต้แบรนด์ NAP BOX ปัญหาของลูกค้า คือ กล่องเก็บความร้อนไม่ได้นาน จึงคิดทำสินค้าเพื่อตอบโจทย์แก้ไขปัญหานี้ให้กับลูกค้า อีกอย่างการเป็นสตาร์ทอัพทุนมีไม่มาก จึงตั้งเป้าหมายแค่กลุ่มลูกค้าร้านขายพิซซ่ากลุ่มเดียวก่อนค่อยขยายฐานลูกค้าในภายหลังได้ โดยตอนแรกก็คิดสารพัดสินค้าวนอยู่แต่กับอาหาร พออาจารย์จาก มธบ.ให้คำแนะนำว่า สินค้าไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารก็ได้เป็นแพคเกจจิ้ง ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารก็ได้ เลยสรุปออกมาเป็นโปรดักส์ตัวนี้ ตัวกล่องจะประกอบด้วย กระดาษ และ ฟอยท์เก็บความร้อน ที่นำมาเรียงเป็น 3 ชั้น เพื่อเก็บความร้อน และเรายังช่วยลดโลกร้อน โดยกล่องสามารถนำมารีไซเคิลได้ให้ลูกค้าส่งคืนกลับมาเน้นการรักษาสภาพแวดล้อมถือเป็นโปรดักส์รักษ์โลก

“สิ่งที่เราคิดจะได้ประโยชน์ถึง 3 ฝ่ายด้วยกัน คือ สร้างจิตสำนึกร่วมรักษ์โลกให้กับผู้บริโภคของแบรนด์ที่เราเป็นซัพพลายเออร์ให้ ตัวลูกค้าของเราเองก็มีภาพของสินค้าที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และตัวของเราเองด้วย เมื่อตัวสินค้าขายดีขึ้นเราเองก็จะได้ยอดขายเพิ่มตามไปด้วย เป็นการช่วยขยายฐานผู้บริโภคที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมให้กับลูกค้าของเราด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราเติบโตไปพร้อมๆกันได้ และการนำกล่องมารีไซเคิลกลับมาใช้ซ้ำ นอกจากช่วยลดโลกร้อนแล้วยังเป็นการช่วยลดต้นทุนของเราด้วย สินค้าก็จะมีราคาไม่แพงและสามารถขายได้ปริมาณมากขึ้น” น้องพีระกล่าว

น้องแอมเวย์และน้องนิว กล่าวเสริมว่า ตอนแรกที่ทำเวิร์คช็อบทำเบอเกอร์ ก็งงว่าเรามาค่ายธุรกิจทำไมต้องไปทำอาหารด้วยเหรอ พอลงมือทำเราจึงได้รู้รายละเอียดว่ายากแค่ไหน แล้วถ้ามีลูกจ้างเขาจะรู้สึกยังไงตอนทำเยอะๆ เขาเหนื่อยแค่ไหน จะได้เข้าใจตั้งแต่ระดับต่ำสุดจนถึงจุดสูงสุด แล้วเราจะเข้าใจสินค้ามากที่สุดด้วย ผมชอบค่ายนี้ อาจารย์ทุกคนให้ความรู้แบบไม่มีกั๊กเลยทำให้เรามองภาพต่างๆได้ชัดขึ้น จุดประกายให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ มีไอเดียดีๆได้

ด้านนางสาวศศิภา อธิสินจงกล อาจารย์วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) หลักสูตรนานาชาติ หนึ่งในทีมพี่เลี้ยง กล่าวว่า ทีมนี้มีจุดเด่น คือ มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกค้า และยังมองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เช่น เรื่องของขยะ และไม่ใช่คิดแค่จะสร้างเงินให้กับธุรกิจตัวเองอย่างไร แต่ยังคิดช่วยไปถึงธุรกิจของลูกค้าให้มี Brand Value ที่สูงขึ้นด้วย ทีมนี้ไม่ใช่แค่ทำให้ตัวเองมีรายได้ แต่ยังทำให้ลูกค้ามีภาพลักษณ์ที่ดีและส่งผลสังคมดีขึ้นด้วย

แววสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ของทีม อะจ๊วง เห็นมาแต่ไกล น้องๆ คนไหนสนใจกิจกรรมดีๆที่จัดขึ้นทุกปีแบบนี้ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ใน Facebook Fanpage : @dpuxyourfuture หรือ website : dpux.dpu.ac.th

ดร.ศิริเดช  คำสุพรหม  คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี

“พณชิต กิตติปัญญางาม” ผอ. DPU X  เผย รัฐ-เอกชน ตื่นตัวเทคโนโลยีใหม่ เตรียมเปิดหลักสูตร  “Geeks on The Block Chain”  ปลุกวงการ Developer แต่งตัวให้พร้อมช่วยองค์กรพัฒนาธุรกิจ 

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการสถาบัน DPU X โดย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และนายกสมาคม Thailand Tech Startup Association (สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่) เปิดเผยว่า ปัจจุบันหลายองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มมีการตื่นตัวกันมากในการนำเทคโนโลยี BlockChain มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการจัดการข้อมูล โดยเฉพาะภายในระยะเวลา อีก 5 ปีนับจากนี้จะเห็นคุณค่าของ BlockChain เพิ่มมากขึ้นเหมือนกับในอดีตที่เริ่มมีอินเตอร์เน็ต ทุกคนมองคุณค่าของอินเตอร์เน็ตไม่ออก ต่อมาเมื่อมีคนเริ่มสร้างแอพพลิเคชั่นต่างๆ มีการส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกคนเริ่มเห็นพลังของอินเตอร์เน็ต  เช่นเดียวกันวันนี้ผู้คนกำลังอยู่บนโลกของดิจิตอลกันมากขึ้น Block Chain ที่ทำหน้าที่ส่งผ่านมากกว่าเพียงข้อมูล แต่ส่ง "คุณค่า" ไปด้วย  จะทำให้เกิดฝาแฝดของสิ่งต่างๆในโลกดิจิตอล ช่วยให้ Interaction หรือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันบนโลกดิจิตอลมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น 

ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนในเทคโนโลยี BlockChain มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่แสดงความสนใจทั้งด้านการวิจัยพัฒนาระบบและการร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ เนื่องจากธุรกรรมต่างๆที่ต้องใช้ตัวกลาง (บุคคลที่สาม) จะได้รับผลกระทบค่อนข้างชัดเจนหลังเทคโนโลยี Block Chain เข้ามาจัดการการแลกเปลี่ยนต่างๆ  ยิ่งไปกว่านั้น จากการสำรวจของ World Economic Forum (WEF) คาดว่า ภาครัฐของประเทศต่างๆ จะนำร่องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ก่อนภายในปี 2023 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า และจะนำมาใช้อย่างแพร่หลายภายในปี 2027 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า

ดังนั้นช่วงเวลาของการเตรียมพร้อมรับมือกับการมาของ เทคโนโลยี BlockChain จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากขององค์กรต่างๆ หลายองค์กรเริ่มมองเห็นคุณค่า ของ BlockChain ที่มีระบบเข้ามาช่วยจัดการข้อมูล จึงนำมาซึ่งการตื่นตัวและเริ่มนำ  Block chain มาใช้กันเพิ่มมากขึ้น  นับเป็นสัญญาณที่ดีให้กับวงการ Developer เพราะผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจการทำงานบนระบบ Decentralized จะสามารถมองเห็นภาพและพัฒนา Application ในอนาคตได้ เนื่องจากโครงสร้างและสถาปัตยกรรมจะเปลี่ยนไป เป็นแบบ Decentralized ด้วย Blockchain  เช่น แนวคิด World Computer ของ Ethereum

ล่าสุด ทาง DPU X สถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต ได้ร่วมมือกับ Smart Contract Thailand พร้อมด้วยวิทยากรรับเชิญจาก KBTG ได้จัดหลักสูตร “Geeks on The Block(Chain)” หรือ Block Chain Camp for Developers  batch  1 ครั้งแรกของประเทศ เป็นหลักสูตรที่เน้นการพัฒนาเชิง Technical ด้าน Block Chain ที่เข้มข้นที่สุดในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ภูมิ ภูมิรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Block Chain ระดับแนวหน้าของประเทศและผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบการรักษาความปลอดภัยในโลกโซเชียล รวมถึงทีม Smart Contract Thailand และทีม KBTG มาร่วมออกแบบ และดูแลหลักสูตรดังกล่าวนี้

ดร.พณชิต กล่าวด้วยว่า นอกจากการเรียนรู้ด้านพื้นฐานและแนวความคิดระบบ Block Chain ในหลักสูตรนี้แล้ว ผู้เข้าอบรมจะได้ลงมือเขียนโค้ด จากโจทย์จริงด้วย จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้เข้ารับการอบรมที่จะได้มีโอกาสฝึกการคิดค้น แก้ปัญหาให้ตรงจุด และเพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้หลักสูตรยังได้มีการจัด Public Code Review เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เข้าอบรมท่านอื่นๆ, วิทยากร, Commentator ผู้เชี่ยวชาญ, องค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึง Developer ท่านอื่นๆที่มีความสนใจ

ดร.พณชิต กล่าวอีกว่า หลักสูตรดังกล่าวนี้ทาง DPUX เตรียมเปิดอบรมระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 ผู้เข้ารับการอบรมจนสำเร็จจะสามารถเพิ่มศักยภาพในการทำงาน ตลอดจนใช้ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองหรือองค์กรต้นสังกัดเพื่อเป็น Developer ที่มีความพร้อมด้าน Block Chainอย่างแท้จริงผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่  http://dpux.dpu.ac.th/geeksontheblock/register/batch1  

มธบ.จัด Workshop  การถอดรหัสความคิดด้วยภาษาภาพ (Visual Thinking) ครั้งแรกในไทยและอาเซียน ของการสื่อสารรูปแบบใหม่ ที่ท้าทายต่อการเติบโตของธุรกิจในยุคดิจิตัล  โดยวิทยากรเจ้าของหนังสือ Visual Thinking ที่ขายดีไปทั่วโลกและได้รับการแปลถึง 11 ภาษา ชี้การสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ดร.พัทธนันท์  เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจ ได้เห็นความสำคัญของการสื่อสารในรูปแบบ “Visual Thinking” และเชื่อว่าการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพจะส่งผลดีต่อประสิทธิผลขององค์กรทั้งการสื่อสารภายใน และภายนอกองค์กร จึงได้จัดเวิร์คชอป ในหัวข้อ “Visual Thinking: Empowering Your Vision through Visual Thinking” โดยเชิญ Willemien Brand ที่เป็นทั้งผู้เขียนหนังสือที่ขายดีไปทั่วโลกชื่อ Visual Thinking ซึ่งถูกนำไปแปลถึง 11 ภาษา และเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกในเรื่องการถอดรหัสความคิดด้วยภาษาภาพ มาเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ครั้งแรกในประเทศไทยและอาเซียน ของการถ่ายทอดการสร้างทักษะการสื่อสารด้วยภาษาภาพที่เป็นหนึ่งใน Future Skill ที่สำคัญมาก โดยจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 14 มกราคม 2562  เวลา 8.30-17.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ การสื่อสารเชิงธุรกิจเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่ต้องสื่อสารกับลูกค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทั้งด้านภาษาหรือวัฒนธรรม หากองค์กรมีทีมงานที่มีทักษะในการสื่อสารเชิงธุรกิจที่สามารถอธิบายเรื่องราวหรือกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีความซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยผ่านกระบวนการการสื่อสารรูปแบบที่ใช้ทักษะใหม่ ด้วยการจัดระเบียบความคิดและอธิบายผ่านรูปภาพ (Visual Thinking) เพื่อให้ผู้ได้รับสารนั้นมองเห็นภาพอย่างชัดเจนและเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสิ่งที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาทั้งในตัวบุคลากรขององค์กรที่จะเป็นปัจจัยหลักของการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจ และยังทำให้เกิดการสื่อสารที่ตรงเป้าหมายและได้ใจความสำคัญให้กับลูกค้าขององค์กร นอกจากนี้การสื่อสารในระหว่างหน่วยงานภายในองค์กรก็เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการเติบโตของธุรกิจในยุคดิจิทัลอีกด้วย

ดร.พัทธนันท์  กล่าวด้วยว่า “Visual Thinking” ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่การเล่าเรื่องราวคุณค่าที่องค์กรจะนำเสนอให้แก่ลูกค้าเป้าหมายเท่านั้น แต่การสื่อสารในองค์กรก็เป็นเรื่องที่สำคัญ การสื่อสารแนวคิดยุทธวิธีการทำธุรกิจ กลยุทธ์ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ซับซ้อน ต้องอาศัยผู้ที่มีทักษะในการถ่ายทอดเรื่องราว การอธิบาย ผ่านตัวหนังสือนั้นไม่อาจทำให้คนเห็นภาพได้ แต่การอธิบายด้วยภาพนั้นสามารถอธิบายได้มากกว่าล้านคำพูด ดังนั้น จะดีกว่าหรือไม่ถ้าองค์กรของเราสามารถทำได้เพื่อให้ทุกคนเข้าใจแนวทางในการสร้างคุณค่าสู่ลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่สนใจสามารถรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร : 065-594-9955  Facebook : @DPUPraxis  Line@ :  https://line.me/R/ti/p/@dpupraxis  E-mail :This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

X

Right Click

No right click