บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต โชว์ผลงานช่องทางตัวแทนเติบโตแกร่ง เตรียมเข้าสู่ยุคดิจิตัลเต็มตัวภายในปี 2563 ด้วยเครื่องมือเสริมศักยภาพช่วยวางแผนการขาย การพิชิตเป้าหมาย การปิดการขายที่รวดเร็ว การพัฒนาความเป็นมืออาชีพ พร้อมจัดงานสัมมนาผู้บริหารตัวแทน ภายใต้แนวคิด “Explore the best in you” มีผู้บริหารตัวแทนร่วมงานกว่า 1,000 คน ร่วมติดอาวุธทางปัญญา ประกาศเดินหน้าสร้างผลงานพิชิตยอดเบี้ยประกันรับรวม 1.5 หมื่นล้านบาท

นายวิรงค์ พัฒนกำจร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารตัวแทน บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เปิดเผยว่า ช่องทางขายผ่านตัวแทนของอลิอันซ์ อยุธยา ทำผลงานได้ดีเป็นที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยในไตรมาส 1 ปี 2562 นี้ ถือเป็นช่วงที่ตลาดประกันยังมีภาวะชะลอตัวจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะในเรื่องของกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง แต่ตัวแทนของเรายังคงเดินหน้าโชว์ศักยภาพที่แข็งแกร่ง สร้างการเติบโตของเบี้ยประกันภัยจากธุรกิจใหม่ได้ถึง 10% นับว่าเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยม

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ มีผลมาจาก การดำเนินกลยุทธ์ที่ถูกต้องเหมาะสมกับสภาวะตลาดและความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสินค้าสุขภาพ ที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกความต้องการ รวมถึงยังมีสินค้าสุขภาพ ที่เราร่วมมือกับ โรงพยาบาลในเครือ บีดีเอ็มเอส  ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์คุ้มครองชีวิตและสุขภาพที่ครอบคลุมทุกการรักษาพยาบาล  ที่ตอบโจทย์ความต้องการกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์ และการให้บริการที่สร้างประสบการณ์เหนือระดับให้กับลูกค้า”นอกจากนี้ ยังมีการนำเครื่องมือดิจิตัลเข้ามาช่วยในการทำงานของตัวแทน ไม่ว่าจะเป็น

  • Allianz Discover เครื่องมือดิจิทัลที่ช่วยให้การเสนอขายสะดวกรวดเร็ว ปิดการขายได้ง่ายขึ้น
  • Allianz Learning Management System (LMS) เครื่องมือที่ช่วยพัฒนาศักยะภาพ เพิ่มความรู้ ให้กับตัวแทน เป็นการเรียนออนไลน์ ได้ตลอดเวลาด้วยระบบ E - learning เพิ่มทางเลือกให้ตัวแทนในการพัฒนาตนเอง ลดความยุ่งยากในการเดินทาง ทำให้ตัวแทนสะดวกมากยิ่งขึ้น
  • Allianz Activity Management System (AMS) ที่ช่วยตัวแทนให้สามารถวางแผนการทำงานเพื่อพิชิตเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การกำหนดเบี้ยที่ต้องพิชิตในแต่ละเดือน กำหนดจำนวนการนัดหมายลูกค้าแต่ละวัน เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือนี้ ใช้สำหรับบริหารการทำงานได้ทั้งระดับตัวแทน ไปจนถึงผู้บริหารตัวแทน

 

ด้วยเครื่องมือและแพลทฟอร์มดิจิทัลที่เราเร่งพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ คาดว่า จะทำให้ช่องทางตัวแทน ก้าวสู่ระบบ Paperless หรือการทำงานโดยปราศจาการใช้กระดาษได้ภายในปี 2563

อย่างไรก็ตาม นอกจาก กลยุทธ์ด้านดิจิตัล และผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น อลิอันซ์ อยุธยา ยังคงเดินหน้าพัฒนาตัวแทนของเรา ให้มีความเป็นมืออาชีพ โดยบริษัทให้ความสำคัญกับการสรรหาตัวแทนใหม่ที่เน้นคุณภาพ อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เพื่อสร้างทีมงานรุ่นใหม่ที่มีบุคลิกลักษณะเฉพาะแบบอลิอันซ์ อยุธยา โดยสิ่งเหล่านี้ได้ถูกขับเคลื่อนผ่านผู้บริหารตัวแทน เราจึงให้ความสำคัญมากกับการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับผู้บริหารตัวแทน ให้มีการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน จึงเป็นที่มาของการจัดงานสัมมนาผู้บริหารตัวแทนในวันนี้ ที่มีผู้บริหารตัวแทนร่วมงานกว่า 1,000 คน จากทั่วประเทศ โดยการสัมมนาปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Explore the best in you” มีกิจกรรมน่าสนใจและเป็นประโยชน์มุ่งให้ความรู้ ติดอาวุธทางปัญญาแก่ผู้บริหารตัวแทน อาทิ การบรรยายในหัวข้อ “Explore Your Creativity - Accelerator” โดย คุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์  CEO OOKBEE  ผู้ซึ่งเติบโตจากเด็กประกอบคอมฯ สู่อัจฉริยะผู้นำด้าน Tech Startup ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท อุ๊คบี พร้อมด้วยช่วงเวิร์คช็อปกลุ่มย่อยที่ผู้บริหารฝ่ายขายที่มีผลงานยอดเยี่ยมมาร่วมแบ่งปันเทคนิคในการบริหาร อีกด้วย

 

“การสัมมนาตลอดทั้ง 2 วันนี้ อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาวิชาการที่เข้มข้น รวมทั้งการสร้างแรงบันดาลใจดีๆจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย มั่นใจว่าพลังผู้บริหารตัวแทน 1,000 กว่าคนที่เข้าร่วมงาน จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ พร้อมพิชิตเป้าหมายการเติบโตในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนตัวแทนใหม่กว่า 2,500 คน จำนวนตัวแทนที่มีผลงานสม่ำเสมอ 2,000 คน ซึ่งจะสนับสนุนให้บริษัทสามารถเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์คุ้มครองชีวิตและสุขภาพ และพิชิตเป้าเบี้ยประกันภัยรับรวมของช่องทางตัวแทนที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ได้อย่างแน่นอน” นายวิรงค์ กล่าวทิ้งท้าย

บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยนางกมลภรณ์ ชินธรรมมิตร ผู้จัดการฝ่ายการเงิน มอบเงินจำนวน 300,000 บาท ให้แก่นายขรรค์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สนับสนุนกิจกรรม “Bike with The Blind” ปั่นจักรยานกับผู้พิการทางการเห็น ฉลองครบรอบ 80 ปี มูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการให้โอกาสและส่งเสริมผู้พิการทางการเห็นได้รู้คุณค่าและศักยภาพของตนเอง อีกทั้งยังแสดงออกถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการแบ่งปัน จัดขึ้นที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 

พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค โชว์ผลงานคอนโดโครงการแรกในประเทศญี่ปุ่น “ยู คิโรโระ” ทํายอดขายได้แล้ว 1,800 ล้าน หรือกว่า 50% ของยูนิตขาย ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ โดยเฉพาะนักลงทุนชาวเอเชียและไทยเกินคาด กําหนดก่อสร้างแล้วเสร็จธันวาคมนี้ คาดปิดการขายได้ในปีหน้าโครงการอยู่ใจกลางฮอกไกโด บริเวณเดียวกับ “คิโรโระ” สกีรีสอร์ทที่สงบเงียบ   พร้อมศูนย์กลางกิจกรรมและที่พักชั้นนําระดับโลก

 

นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จํากัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศญี่ปุ่นว่า นอกเหนือจาก “ยู คิโรโระ” สกีรีสอร์ทที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในกลุ่มนักท่องเที่ยวแล้ว บริษัทฯ ยังได้มีการพัฒนาคอนโดมิเนียมโครงการแรก คือ “ยู คิโรโระ” เป็นคอนโดมิเนียมสูง 7 ชั้น บนพื้นที่ 3.88 ไร่ มูลค่าโครงการ 3,880 ล้านบาท ความคืบหน้าโครงการขณะนี้มี ยอดขายแล้วกว่า 50% เป็นมูลค่า 1,800 ล้านบาท ถือเป็นยอดขายที่สูงเกินความคาดหมายสําหรับการพัฒนา อสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศโครงการแรกของบริษัท โดยกําหนดก่อสร้างแล้วเสร็จและจะเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ในเดือนธันวาคม 2562 คาดว่าจะสามารถปิดการขายโครงการได้ภายในปีหน้า

 

“โครงการตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับ “คิโรโระ”  สกีรีสอร์ทใจกลางฮอกไกโด จึงได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์อย่างมาก โดยห้องชุดขนาด 1-2 ห้องนอน ช่วงราคา 24-40 ล้านบาท เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด นอกจากเพื่อพักอาศัย ยังเป็นการซื้อเพื่อลงทุน ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีเนื่องจากขณะนี้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นกําลังอยู่ในช่วงอ่อนตัว จึงมีกลุ่มนักลงทุนที่มองการณ์ไกลเข้ามาจับจองตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของการก่อสร้าง โดยเฉพาะนักลงทุนจากเอเชียซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของ ยู คิโรโระ ทั้งจากฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน เนื่องจากฮอกไกโดเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมสําหรับลูกค้ากลุ่มนี้ เดินทางสะดวกด้วยเที่ยวบินตรงมากกว่า 30 เที่ยวบินจากหลากหลายประเทศในเอเชียที่ตรงมายังท่าอากาศยานนิวชิโตเสะ นอกจากนี้ยังมีกระแสตอบรับที่ดีมากจากลูกค้าชาวไทย ซึ่งเป็นจํานวนครึ่งหนึ่งของลูกค้าทั้งหมด ถือว่าได้รับการตอบรับจากคนไทยเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้”

 

“ยู คิโรโระ” ยังได้รับรางวัลการพัฒนาคอนโดมิเนียมที่ดีที่สุดแห่งปี 2561 ของญี่ปุ่น ประกอบด้วยห้องพักหรูขนาด 1-3 ห้องนอนและเพนท์เฮ้าส์ รวม 108 ห้อง สําหรับแบบ 1 ห้องนอน 62 ตร.ม. ราคาเริ่มต้น 24 ล้านบาท, ขนาด 2 ห้องนอน 84-127 ตร.ม. เริ่ม 35 ล้านบาท และ           ขนาด 3 ห้องนอน 127-140 ตร.ม. เริ่ม 50 ล้านบาท ทุกห้องตกแต่งครบพร้อมเข้าอยู่ได้ทันที พร้อมบริการชั้นเลิศ อาทิ บริการรับฝากอุปกรณ์เล่นสกี, ออนเซนทั้งภายในอาคารและกลางแจ้ง, บริการคอนเซียร์จตลอด 24 ชม, ฟิตเนสและเลาจน์ และห้องอาหารที่ให้บริการตลอดทั้งวัน

 

“ยู คิโรโระ” มีจุดเด่นด้วยการเป็นที่พักอาศัยที่สามารถสกีเข้า-ออกได้จากด้านหน้าของอาคาร มีความเงียบสงบเป็นส่วนตัว สามารถมาพักผ่อนได้ตลอดทั้งปี ตั้งอยู่ภายใน “คิโรโระ” สกีรีสอร์ทบนภูเขาใจกลางของฮอกไกโด เงียบสงบ มีทิวทัศน์ที่คงความงดงามตามธรรมชาติ มีชั้นหิมะที่หนานุ่มและตกสะสมหนาถึง 20 เมตรต่อปีในช่วงฤดูหนาว พร้อมกิจกรรมสันทนาการที่ครบครันสําหรับช่วงฤดูร้อน คิโรโระจึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่กําลังเป็นที่นิยมในกลุ่มนักเดินทางทุกประเภทจากทวีปเอเชียอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ยังได้วางโรดแมปในการพัฒนา คิโรโระ รีสอร์ต อย่างเต็มศักยภาพ ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยมีมาสเตอร์  แพลนในการสร้างแหล่งท่องเที่ยวและที่พักอาศัยที่ครบวงจร โดยจะประกอบไปด้วย วิลล่าหรู ทาวน์โฮม และอพาร์ตเมนต์ ที่รายล้อมบริเวณทางเข้า และใกล้กับศูนย์สกีและคลับสกีชั้นนําแห่งแรกของฮอกไกโด ที่สามารถเดินทางจากที่พัก ไปร้านค้า ร้านอาหาร หน่วยบริการอื่น ๆ ด้วยการใช้สกี ในบริเวณรีสอร์ตยังมีร้านอาหารที่หลากหลาย ร้านค้าต่าง ๆ ศูนย์อุปกรณ์สําหรับกิจกรรมบนเขา และสามารถออกไปทํากิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ หรือเดินทางไปสถานที่ท่องเทียวใกล้เคียงได้อย่างสะดวก

สสว. ติวเข้มผู้ประกอบการรายย่อย (Micro Enterprises) บุกตลาดต่างประเทศ ผ่าน Born Global Business Model พร้อมมั่นใจภายใน 5 ปี แผนส่งเสริมการใช้ดิจิทัลดันยอดส่งออกผู้เข้าร่วมโครงการได้ไม่น้อยว่าร้อยละ 25

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน Born Global Rising Star Demo Day ว่า กิจกรรมในวันนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง สสว. กับ ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นอีกแนวทางในการสรรหาช่องทางที่เหมาะสมในการนำผู้ประกอบการขนาดเล็กของไทย (Micro Enterprises) ออกสู่ตลาดต่างประเทศ ภายใต้ปัจจัยและทรัพยากรที่ผู้ประกอบการแต่ละรายมี โดยจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการรายเล็กในการก้าวสู่ตลาดต่างประเทศตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มประกอบธุรกิจ ด้วยเครื่องมือและการมีคู่มือ รวมถึงพี่เลี้ยงในการให้คำปรึกษาและค้นหาตลาดที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจของตนเองตลอดระยะเวลา 5 วัน ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะมีการติวเข้มผู้ประกอบการอย่างเข้มข้น โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 20 ราย จะได้รับการฝึกวิธีสร้างธุรกิจที่มีนวัตกรรม เรียนรู้และปฏิบัติในการกำหนดแผนและทำความเข้าใจกลุ่มคนที่จะมาเป็นลูกค้าหรือผู้ใช้สินค้าหรือบริการของตน

ดร.วิมลกานต์ เผยอีกว่า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้ฝึกการมองปัญหาและการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด และสามารถนำไปใช้ในการหา Customer pain point ซึ่งจะทำให้ออกแบบสร้างสินค้าหรือบริการที่ตรงความต้องการของลูกค้าได้ โดยผู้ประกอบการจะได้ลงมือปฏิบัติและคิดเองทั้งหมด โดยโครงการนี้ยังได้รับเกียรติจาก Mr.Hassan Moosa ผู้ก่อตั้ง UtooCentral จากประเทศอินโดนีเซีย กูรูเรื่องการสร้างแบรนด์ในตลาดโลก มาให้ความรู้ในการทำแบรนด์ให้ปัง ดังไปทั่วโลก และภายหลังเสร็จสิ้นการอบรม ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ปฏิบัติจริงโดยจัดแสดงสินค้าและบริการของตนเอง (Business Show Case) พร้อมประกวดการนำเสนอไอเดียธุรกิจ (Pitching)   โดยไอเดียผู้ประกอบการรายใดน่าสนใจมากที่สุด จะมีรางวัล Born Global Rising Star Award มอบให้

รองผอ.สสว. กล่าวด้วยว่า นอกจาก Born Global Business Model จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่ม Micro Enterprises สามารถที่จะเปิดตลาดในต่างประเทศ ได้ตั้งแต่วันแรกที่เป็นผู้ประกอบการแล้ว สสว.ยังส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งมีจำนวนมากกว่า 80 % ของผู้ประการทั้งหมดโดยถือเป็นสัดส่วนหลักในภาพรวมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อยของไทย ทั้งนี้ สสว.มั่นใจว่าหากผู้ประกอบการดำเนินการตามแผนกลยุทธ์และรูปแบบที่เตรียมไว้ จะสามารถเป็นผู้ส่งออกได้ตั้งแต่วันแรกหรือปีแรกที่เริ่มก่อตั้งธุรกิจเลยทีเดียว โดยผู้ประกอบการแบบ Born Global Firm หมายถึง ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย ที่เข้าสู่ตลาดต่างประเทศภายในระยะเวลา 2 – 5 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจ และในขณะเดียวกันต้องมียอดส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 25

“ตลอดระยะเวลาการอบรมแบบเข้มข้นตลอด 5 วัน สสว. เชื่อว่า สิ่งผู้ประกอบการจะได้รับคือ โอกาสในการเสริมสร้างทักษะและการติดอาวุธทางความคิดให้แก่ตนเองในเรื่องการค้าและการต่างประเทศแบบเจาะลึก รวมถึงการสร้างแผนพัฒนาธุรกิจของตนเอง การสร้างกลยุทธ์ต่างๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์ตนเองในตลาดต่างประเทศเพื่อการบุกตลาดสากล ให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของ สสว. เพื่อผู้ประกอบการ”  ดร.วิมลกานต์ กล่าวในที่สุด

ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดงาน KMUTT Competitiveness Forum 2019” ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคาร Knowledge Exchange for Innovation Center (KX) ถ.กรุงธนบุรี

โดย ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ หัวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์ฯ ได้แนะนำภารกิจของศูนย์ที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการสร้างความสามารถทางการแข่งขันต่างๆ และสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและบริการวิชาการกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนให้คำปรึกษาทางด้านการสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับองค์กร อีกทั้งพัฒนาบุคลากรของภาครัฐและภาคเอกชนให้สามารถสร้างและขับเคลื่อนปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันองค์กรได้

ภายในงานได้รับเกียรติจาก คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยด้วยนวัตกรรม” เพื่อเป็นการเผยแพร่แนวคิดและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการสร้างความสามารถทางการแข่งขันองค์กรด้วยนวัตกรรมสู่สาธารณะ อันจะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมและประเทศต่อไปในอนาคต 

X

Right Click

No right click