บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) วันนี้ แจ้งว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วิน ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 29.7 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย เสากังหันลมขนาด 3.3 เมกะวัตต์ จำนวน 9 ชุด ดำเนินงานโดยบริษัท อีโค่วิน เอ็นเนอร์จี้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ร่วมถือหุ้น ร้อยละ 51 ได้เริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity: EVN) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระยะเวลา 20 ปี โรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วินแห่งนี้ เป็นโครงการพลังงานลมติดตั้งบนบก (onshore wind farm) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ห่างจากเมืองโฮจิมินห์ ประมาณ 180 กิโลเมตร ในประเทศเวียดนาม โดยก่อนหน้านี้ได้ทำการทดสอบเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Trial run) และทดสอบความน่าเชื่อถือของการเดินเครื่องเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง (Reliability test) ตามมาตรฐานของเวียดนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วิน ถือเป็นโครงการพลังงานทดแทนแห่งที่สามของบริษัทฯ ในประเทศเวียดนามที่ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำซองเกียง 2 และค๊อคซาน รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนถือหุ้นทั้งสามโครงการ 49.63 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโครงการอยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างอีก 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง 1 และโรงไฟฟ้าพลังงานลมเบ็นแจ รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 65.15 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งสองโครงการมีกำหนดจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2567 และ ปี 2568 ตามลำดับ

เวียดนามถือเป็นประเทศเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ เนื่องจากมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และยังมีการกำหนดแผนการพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไว้อย่างชัดเจน ทั้งพลังงานน้ำ พลังงานลมบนบก พลังงานลมนอกชายฝั่ง และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งบริษัทฯ มองเห็นศักยภาพในการขยายการลงทุนต่อยอดธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศเวียดนามได้ โดยดำเนินการผ่านบริษัทฯ เอง หรือผ่านบริษัทร่วมทุน เน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี อินเวสเมนต์ (NEXIF RATCH Energy Investment : NREI) ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะขยายกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนให้ได้ถึง 4,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2578” นางสาวชูศรี กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีการลงทุนโครงการพลังงานทดแทน รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 2,933 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 27 ของกำลังผลิตรวม 10,807 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตเดินเครื่องเชิงพาณิชย์สร้างรายได้แล้ว 1,566 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างอีก 1,367 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นฐานธุรกิจหลักด้านพลังงานทดแทนของบริษัทฯ ด้วยกำลังการผลิตตามการถือหุ้นรวม 1,379.69 เมกะวัตต์ รองลงมาได้แก่ สปป.ลาว 669.10 เมกะวัตต์ ประเทศฟิลิปปินส์ 549.83 เมกะวัตต์ ประเทศอินโดนีเซีย 123.05 เมกะวัตต์ ประเทศเวียดนาม 114.78 เมกะวัตต์ ประเทศไทย 94.76 เมกะวัตต์ และญี่ปุ่น 2.02 เมกะวัตต์

นายอิทธิพล เลิศศักดิ์ธนกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ถ่ายภาพร่วมกับนายวรมน ขำขนิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด (IES) และนายอโศก ลาวาซา รองประธานกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) พร้อมด้วยผู้บริหารจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (Sumitomo Mitsui Banking Corporation : SMBC) บริษัท ฮ่องกง มอร์เกจ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Hong Kong Mortgage Corporation Limited : HKMC) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในงานฉลองความสำเร็จของโครงการมอนสูน วินด์ พาวเวอร์ ซึ่ง EXIM BANK จับมือสถาบันการเงินระดับโลกสนับสนุนเงินกู้ภายใต้ Syndicated Loan โดยมี ADB เป็นผู้จัดการวงเงินกู้ร่วม (Lead Arranger) วงเงินรวม 692.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่บริษัท มอนสูน วินด์ พาวเวอร์ จำกัด (Monsoon Wind Power Company Limited) ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดยความร่วมมือของ IES และบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (BCPG) บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) (STP&I) บริษัท เอเซ็น รีนิวเอเบิล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ACEN Renewables International Pte.Ltd.) มิตซูบิชิ คอร์เปอเรชั่น (Mitsubishi Corporation) และ SMP Group ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ แขวงเซกองและแขวงอัตตะปือทางตอนใต้ของ สปป.ลาว เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าไปยังเวียดนาม โดยมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จและจำหน่ายไฟฟ้าภายในปี 2568 นับเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกใน สปป.ลาว ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงสุดในอาเซียน ณ บ้านปาร์คนายเลิศ กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้

EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มุ่งดำเนินบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank) โดยให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ธุรกิจเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนครั้งนี้ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้เทียบเท่า 748,767 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี สอดคล้องกับเป้าหมายของ EXIM BANK ในการร่วมมือกับประชาคมโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ์ให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศและโลกโดยรวม

X

Right Click

No right click