December 21, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 809

Business School “ม.ธุรกิจบัณฑิตย์” ล้ำ! เปิดหลักสูตร “สร้างคน” ป้อน Thailand 4.0

July 07, 2017 41921

การศึกษาในปัจจุบันหากยึดหลัก “ศาสตร์” หรือการสร้างองค์ความรู้ในเรื่องเฉพาะสาขาวิชาเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ตอบโจทย์ในด้านของการสร้าง “คน” สำหรับการพัฒนาประเทศในยุคใหม่นี้

นั่นจึงเป็นที่มาของการเปิด 2 หลักสูตรใหม่ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ภายใต้ “วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์” เกิดขึ้นจากการรวม 2 คณะ คือ เทคโนโลยีสารสนเทศและคณะวิศวกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน และอีกหลักสูตร ภายใต้ “วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี” ที่เกิดขึ้นด้วยแนวคิด การผสมผสานกันระหว่าง “งานศิลปะ (Art) กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Technology)”


ซึ่งการผสมผสาน 2 ศาสตร์เข้าด้วยกัน นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง “องค์ความรู้ทางด้านเนื้อหาสาระวิชาการ” จากนามธรรมไปสู่รูปธรรมที่จับต้องได้ และทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งเป้าหมายการสร้างหลักสูตรขึ้นมาใหม่นั้น เพื่อสร้างบุคลากรขึ้นมาให้มีความรู้และความสามารถในการร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยตามแนวทาง Thailand 4.0

จากแนวคิดดังกล่าวนิตยสาร MBA สัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ คณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (College of Innovative Technology and Engineering หรือ CITE) ซึ่งอธิบายว่า CITE เกิดขึ้นมาจากการรวม 2 คณะ คือเทคโนโลยีสารสนเทศ และวิศวกรรมศาสตร์ ที่นำมาสู่การเป็นวิทยาลัยและเป็นหน่วยงานในมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เพื่อ “ผลิตบัณฑิต” ให้ตอบสนองความต้องการของสังคม ที่ต้องการบุคลากรผู้รู้รอบในนวัตกรรมและเทคโนโลยี สอดคล้องและทันกับความเปลี่ยนแปลง

ที่สำคัญ คือ เป็นหลักสูตรที่มีการสอน โดยผู้มีความรู้หลากหลายสาขามารวมกัน ซึ่งเกิดประโยชน์กับทั้งนักศึกษา อาจารย์ผู้สอน รวมไปถึงสังคม เพราะจะได้แหล่ง (Source) ทั้งคน และองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ที่ซับซ้อนได้มากขึ้น

หากเทียบกับวิศวกรรมเดิมในอดีตที่จะมองแต่ในเชิงเทคนิค ตรงนี้มีข้อได้เปรียบ ที่ขยายการตีกรอบออกไปได้กว้างในหลายมุมมองมากขึ้น ทั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบหลังบ้าน การเก็บข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง จึงเป็นที่มาของการรวมสองคณะขึ้นเป็นวิทยาลัยใหม่ที่เปิดในปี 2560 นี้เป็นปีแรก

        ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์

 

เจาะลึกหลักสูตรรายสาขา
ผศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวถึง สิ่งที่เป็นจุดเด่นของของหลักสูตร ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า คนที่จบจากที่นี่ จะสนองต่อภาพรวมของตลาดแรงงานในวันนี้และในอนาคตนั้น โดยหลักคือความพร้อมที่ครบครันในหลายศาสตร์ ทั้งเชิงระบบ และโครงสร้างแบบวิศวกรรม รวมถึงศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความเข้มข้น และความเข้มแข็งทางวิชาการ ในทุกๆ ระดับ และต่อเนื่องตั้งแต่ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่มีการทำวิจัยศึกษาความต้องการของภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม สามารถตอบโจทย์ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีได้อย่างแน่นอน

การออกแบบหลักสูตรปริญญาตรี โฟกัสไปที่ Thailand 4.0 เป็นหลัก เพราะต้องการให้บัณฑิตที่จบการศึกษาออกไปนั้นทันยุค ซึ่งในแต่ละสาขาวิชาจะเห็นว่าตอบโจทย์ ดิจิทัลไลฟ์และอีโคโนมิกส์ต่างๆ ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างไม่รู้ตัว

ตลอดจนสาขาวิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ แน่นอนว่ารองรับกระแสที่ประเทศไทยต้องการเป็นศูนย์กลางทางการขนส่ง และขอบเขตของโลจิสติกส์ไม่ได้เป็นเพียงแค่การขนส่ง ยังรวมไปถึงการบริหารจัดการวัตถุดิบ การบริหารคลังสินค้า ไปจนถึงการกระจายสินค้า

นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรสำคัญที่เป็นการมองไปในอนาคตอย่างแท้จริง คือ วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งทางวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงาน เช่น CT Asia Robotic บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ดินสอ ซึ่งมีการทำวิจัยร่วมกัน รวมทั้งบริษัทที่ทำหุ่นยนต์เชิงอุตสาหกรรม ไปจนถึงบริษัทที่นำหุ่นยนต์ไปใช้ในด้านบริการ ซึ่งส่วนนี้จะทำให้นักศึกษาได้สัมผัสกับของจริง และได้รับรู้ความคาดหวังของอุตสาหกรรม เพราะ “ตลาดแรงงานไม่ได้ต้องการคนที่มีความรู้แต่เพียงอย่างเดียว”

“การออกแบบหลักสูตรปริญญาตรี เน้นการศึกษาที่จบออกไปทำงานได้ จึงไม่เน้นแต่เรื่องทฤษฎี แต่เน้นเป็น Project-based Learning โดยวัดผลจากความสำเร็จที่กำหนดเป็นรายเทอม การเรียนอาจจะหนักแต่ได้ทำงานอย่างแน่นอน เราเน้นเรื่องการแข่งขัน โดยส่งเสริมให้ออกไปสนามแข่งภายนอก เพื่อความมั่นใจในสิ่งที่เรียนมาว่าตอบโจทย์ได้ เทียบเคียงกับคนข้างนอกได้ และอีกส่วนที่เน้น คือความร่วมมือกับผู้ประกอบการ เช่น การรับโจทย์งานวิจัยจากภายนอกแล้วนำมาให้นักศึกษาได้สัมผัสกับงานจริง”

สำหรับหลักสูตรปริญญาโท แม้ว่าในแต่ละสาขาของหลักสูตรจะมีจุดเน้นที่ไม่เหมือนกัน แต่โดยรวมมีองค์ประกอบร่วมกันอยู่คือ เน้นเปิดให้นักศึกษาที่เป็น
กลุ่มคนทำงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดอาวุธเพิ่มเติมให้ก้าวทันกับดิจิทัล สร้างโอกาสใหม่ๆ ในการทำงาน การจัดการเรียนการสอน จึงปรับเนื้อหาให้เข้มข้น เพราะมีเวลาเรียนเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน (วันอาทิตย์)

นอกจากนี้ลักษณะการเรียนการสอนในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ดังที่ทราบกันดี คือ ไม่ได้สอนทฤษฎีแต่เพียงด้านเดียว ต้องมีภาคปฏิบัติ การลงแล็ป มีการดูงานต่างๆ เพื่อเติมเต็มความรู้ แบ่งสัดส่วนได้ประมาณทฤษฎี 60-70% การปฏิบัติ 40-30% ซึ่งประกอบด้วยแล็ปในวิชา 70% และการทำวิทยานิพนธ์หรือชิ้นงาน ประมาณ 30%

สำหรับสาขาวิชาวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ (BD) เป็นหลักสูตรใหม่ที่เปิดขึ้นเป็นปีที่ 3 และเนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคที่มีข้อมูลออนไลน์จำนวนมหาศาล ทำให้หลักสูตรนี้มีผลตอบรับที่ดีมาก โดยการศึกษาในสาขานี้ จะสามารถแยกแยะได้ว่าข้อมูลที่เก็บไว้นั้นเป็นประโยชน์หรือไม่ จะนำมาใช้อย่างไร ซึ่งมีโปรแกรมต่างๆ มาเป็นตัวช่วยในการจับ และแยกแยะข้อมูล ทำให้มองแนวโน้มได้ง่ายขึ้น ผู้ที่จบการศึกษาจึงสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานจริง นำเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคบริการและสามารถแก้ปัญหาใน
เชิงลึกได้

ขณะที่การศึกษาในหลักสูตรปริญญาเอกนั้น จะเน้นหนักในด้านคุณภาพ ใน 1 ปีจะรับนักศึกษาจำนวนไม่มากนัก และหลักสูตรเป็นการต่อยอด 2 สาขาวิชาจากปริญญาโท การเรียนการสอนเน้นในเรื่องของการดูแลและวางแผนอย่างใกล้ชิดจากอาจารย์ที่ปรึกษา และนักศึกษาปริญญาเอกเองก็จะมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับนักศึกษาปริญญาโทด้วย

จบออกมาแล้วทำไมถึงมีงานรอ
ผศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวว่า ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่ยุค THAILAND 4.0 ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยนำไอทีหรือเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจ และการค้าเพื่อเพิ่มผลผลิตของประเทศ

แต่จากภาพรวมตลาดแรงงาน ในการผลิตบุคลากรเพื่อป้อนเศรษฐกิจดิจิทัลวันนี้ยังมีความขาดแคลน ตั้งแต่ในสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ซัพพลายเออร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งในส่วนงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อผลิตหุ่นยนต์ตั้งแต่หุ่นยนต์บริการ ระบบอัตโนมัติสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม หรือระบบการรับส่งข้อมูลอัตโนมัติต่างๆ

ส่วนที่สอง คือ โรงงาน ซึ่งในวันนี้โรงงานต่างๆ ยังเป็นระบบ 2.0 คือกึ่ง Manual แต่มีเครื่องจักร เมื่อถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบ 4.0 จำเป็นต้องมีการซื้อระบบและอุปกรณ์ใหม่ๆ คนเหล่านี้จะเป็นผู้ประเมินความเหมาะสม และความจำเป็นให้โรงงาน เป็นผู้ให้คำแนะนำเพื่อการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี

สำหรับส่วนที่สาม คือระดับปฏิบัติการในโรงงานอัตโนมัติต่างๆ ซึ่งจะสามารถวางแผนการผลิต ซ่อมบำรุงเครื่องจักรเบื้องต้น ด้วยความคุ้นเคยในการทำงานกับอุปกรณ์อัตโนมัติ

ไม่เพียงเท่านั้น อีกสาขาวิชาที่กำลังมีดีมานด์สูงคือ เทคโนโลยี Big Data ซึ่งจะสังเกตได้ว่ามีการเปิดอบรมในวงกว้างอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ สะท้อนให้เห็นความขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก ความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ด้านนี้ จะมีไม่ต่ำกว่า 30,000 อัตราภายในปี 2561 เพื่อเติมเต็มความต้องการจากภาคธุรกิจ ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค การต่อยอดสำหรับออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง เป็นต้น

ซึ่งหลักสูตรการเรียนการสอนที่นี่ เน้นให้บัณฑิตที่จบการศึกษาออกไปให้ทันยุค ในส่วนของวิทยาลัยเองก็มีถึงสามส่วนใน S Curve ของ THAILAND 4.0 ทั้งการเพิ่มหลักสูตรใหม่ และการปรับหลักสูตรเดิมสำหรับนักศึกษาปี 3 และปี 4 ในปัจจุบันเพื่อให้ทันความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีมาแรงอย่างสาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งในอีก 4 ปีข้างหน้ามีการคาดการณ์การเติบโตของการใช้หุ่นยนต์ในประเทศไทยถึง 300% นั่นหมายถึงความต้องการคนเพิ่มจากระบบอย่างน้อยที่สุดถึง 200% จากปริมาณปัจจุบัน

 

ผศ.ดร.วรสิทธิ์ ชูชัยวัฒนา

 

จุดลงตัว Art&Technology “เทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริง”
“วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี” หรือ ANT นับว่าเป็นอีกหลักสูตรเด่นที่ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพิ่งเปิดรับสมัครนักศึกษาเป็นปีแรก โดยการตกผลึกแนวคิดที่มาของ ANT ผศ.ดร.วรสิทธิ์ ชูชัยวัฒนา คณบดี วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี อธิบายกับนิตยสาร MBA ว่า เป็นการผสมผสานกันระหว่าง “งานศิลปะ (Art) กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Technology)” เห็นได้จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ที่งานทางด้านออกแบบเข้ามามีบทบาทกับงานทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น และต้องตอบโจทย์อย่างเป็นรูปธรรม

“เทคโนโลยี” ต้องใช้งานได้จริง และจูงใจคนใช้งาน สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่ THAILAND 4.0 แต่ยังขาดนักพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สามารถนำไอเดียมาสร้างสรรค์ใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งในเชิงองค์กร การศึกษา และสังคม จึงทำให้ ANT เข้ามาตอบโจทย์นี้ ด้วยหลักสูตรสาขาวิชาที่เน้นย้ำให้เกิดการผสมผสานระหว่างการพัฒนาไอเดียและคอนเทนท์

รู้ลึกและรู้จริงทั้งศิลป์และเทคโนโลยี
หากเจาะลึกไปในการเรียนการสอนแต่ละสาขา สำหรับ สาขาการออกแบบเชิงโต้ตอบและพัฒนาเกมส์ (GT) จะเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะและเทคโนโลยี ส่งเสริมความชอบและความหลงใหลของเด็กไปในเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาขีดความสามารถเฉพาะด้าน จนกลายเป็นอาชีพได้จริง

ต่อมา คือ สาขาที่พัฒนามาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสบการณ์มากว่า 10 ปี คือ สาขาการออกแบบดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ (DA) เพื่อเป็นการตอบโจทย์ตลาดแรงงานในปัจจุบัน ที่ต้องการคนทำคอนเทนท์ดิจิทัล ซึ่งเป็นการออกแบบทั้งเนื้อหา และกราฟฟิค “คนที่เรียนจบสาขานี้มา ต้องมีความโดดเด่น รู้จริงในด้านอนิเมชั่น คอนเทนท์ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ต้องเข้าใจการเล่าเรื่อง การใช้เสียง ใช้เพลงประกอบรอบด้าน”

ขณะที่หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิศวกรรมเว็บและการพัฒนาแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์พกพา จะเป็นการเรียนการสอนที่สร้างนักพัฒนาแอปฯ ให้มีความสามารถพัฒนาออกมาในรูปแบบทั้งเว็บและแอปพลิเคชันอุปกรณ์พกพา โดยสามารถทำได้ทั้งสองแพลตฟอร์มยอดนิยม คือแอนดรอยด์ และไอโอเอส

ผศ.ดร.วรสิทธิ์ ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ทำให้การเรียนการสอนที่นี่ มีความแตกต่างกับหลักสูตรในสถาบันอื่นคือ เน้นพัฒนา Developer หรือผู้สร้าง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริง รูปแบบของการเรียนการสอนจะได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่นบริษัทการีนา ผู้ให้บริการเกมออนไลน์ และสถานีโทรทัศน์ PPTV เป็นต้น หน่วยงานต่างๆ จากแวดวงธุรกิจ จะเข้ามาแลกเปลี่ยนปัญหา ประสบการณ์ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกฝนจากคนในอุตสาหกรรม เติมเต็มทักษะอื่นๆ เช่น การคิดวิเคราะห์ และการแก้ไขปัญหา ในส่วนของเว็บและแอปพลิเคชั่น ทางสถาบันก็มีคณาจารย์ที่ได้รับการรับรองจากทั้ง 2 แพลตฟอร์ม ได้ผู้มีประสบการณ์ทำงานในอุตสาหกรรม นำปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมาเป็นโจทย์ในห้องเรียน นักศึกษาจึงมีโอกาสได้พัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง เพื่อความพร้อมกับการทำงานในองค์กร

 

Last modified on Wednesday, 04 December 2019 05:58
X

Right Click

No right click