ความจริงทุกวันนี้ทุกคนต่างเกี่ยวพันกับโรคของผู้บริหาร เพราะทั้งผู้บริหารระดับสูงจนกระทั่งถึงพนักงานระดับปฏิบัติการ ต่างก็เผชิญสถานการณ์ร่วมกัน คือปัญหาสุขภาพเสื่อมถอยจากการทำงานซึ่งแพทย์ดุลยภาพบำบัด อธิบายถึงสาเหตุของทุกข์นี้ว่า เพราะ ไม่รู้จักเรา ไม่รู้จักเขา และทางแก้ง่ายๆ ใกล้ตัว
เพราะไม่เช่นนั้น อาจเป็นเช่นนี้ ..
ผู้บริหารคนหนึ่งมาด้วยอาการปวดแขนซ้ายและกล้ามเนื้อด้านซ้ายทั้งแถบ แก้มซ้ายจะรู้สึกชาๆ และมักมีน้ำตาไหลจากตาด้านซ้ายต้องคอยเช็ดบ่อยๆ แพทย์บอกว่า สาเหตุจากกระดูกคอทับเส้นประสาท หลังกายภาพและยืดต้นคออยู่นาน 3 เดือน ก็ยังไม่หาย อาการเจ็บ ชา และไม่มีแรงยังคงมีอยู่
เจ้าของบริษัทธุรกิจอาหาร..ประสบปัญหากับต้นคอ กล้ามเนื้อที่คอตึง กระดูกคอเสื่อม จนเริ่มจะมีอาการผิดปกติคือจะหันคอมากไม่ได้ เคยไปรักษาแบบไคโรแพรกติกแต่ก็ไม่หายขาด ก่อนหน้านี้เคยรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันทั้งกินยา และฉีดด้วยสเตรียรอยด์มาแล้ว หากรักษาต่อก็ต้องผ่าตัด ซึ่งเขาเห็นว่ามีความเสี่ยงมากเกินไป
ความรู้สึกตึงเครียด วิตกกังวลและความทุกข์จากปัญหาสุขภาพที่ผู้บริหารและคนทำงานประสบอยู่ สามารถจัดการได้ มีทางออก เมื่อได้มาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เปิดมุมมองใหม่ของสาเหตุการเจ็บป่วย และแนวทางการบำบัด ตลอดจนฟื้นฟูตัวเอง โดยเริ่มต้นจากเคล็ดไม่ลับที่ว่า “ต้อง รู้เรา รู้เขา” ก่อน
ถอดรหัสทุกข์ผู้บริหาร
รศ.พญ.ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ ผู้บุกเบิกการดูแลสุขภาพและบำบัดแบบดุลยภาพบำบัด กล่าวถึง ปัญหาสุขภาพจากการประกอบการงานอาชีพต่างๆ ของคนที่ทำงานส่วนใหญ่กำลังเผชิญอยู่ว่า มีสาเหตุมาจากสองส่วนหลัก คือ พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และสอง ความเครียด
การพูดถึงโรคของผู้บริหาร หรือปัญหาสุขภาพของผู้บริหารซึ่งที่จริง ไม่ใช่จำกัดแค่ผู้บริหารองค์กรเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทำงานทุกคน เพราะผู้บริหารในทัศนะของ พญ.ลดาวัลย์ หมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่บริหารคนอื่นในสายงานหรือองค์กร และมีผู้บริหารสำหรับดุลยภาพบำบัด มีความหมายกว้าง คือรวมถึงผู้คนทั่วไปทำงานในอาชีพต่างๆ ก็เป็นผู้บริหารพฤติกรรมตัวเอง สามารถเรียนรู้และจัดการให้ตนเองมีสุขภาพที่ดีหรือมีสุขภาพเสื่อมโทรมจากการทำงาน
ทั้งนี้เพราะ อาชีพการงาน และพฤติกรรมประจำวัน ทั้งสองส่วน จะบ่งบอกว่า โครงสร้างร่างกายของเราเสียสมดุลจากสาเหตุอะไร กล่าวได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นคำตอบถึงสาเหตุของทุกข์จากสุขภาพไม่ดีในตัวเอง
เนื่องจากดุลยภาพบำบัด จะมองร่างกายมนุษย์แบบองค์รวม ดังนั้น โครงสร้างจึงไม่ใช่แค่ กล้ามเนื้อ กระดูก แขนขาเท่านั้น แต่รวมถึงเส้นประสาท หลอดเลือดนับล้านเส้น ที่ร้อยเรียงอยู่ในร่างกายมนุษย์ทุกคน กายภาพเหล่านี้มีกระดูกสันหลังและกระดูกต้นคอต่อกับก้านสมองเชื่อมต่อกับสมองซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการ และจะสัมพันธ์กับการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายที่จะทำงานได้ตามหน้าที่ปกติ หากโครงสร้างร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลหรือผิดปกติหากเสียสมดุล
พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน
ในกรณีของผู้บริหาร ตลอดจนบุคลากรในองค์กรต่างๆ ทั้งบริษัทธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ สิ่งที่ไม่ค่อยแตกต่างกันคือ พฤติกรรมการทำงานในชีวิตประจำวันซ้ำๆ เป็นเวลานานหลายปี เช่น พฤติกรรมการนั่งอยู่กับโต๊ะทำงาน การนั่งประชุม ในแต่ละวันนานๆ แถมบางคนก็นั่งตัวเอียง นั่งตัวพับนานๆ พฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ การวางมือ เกร็งมือ ระยะเวลาของการใช้คอมพิวเตอร์นานๆ
หรือผู้บริหารที่ ต้องเดินทางบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นในรถยนต์ หรือในเครื่องบิน สภาพร่างกายที่ถูกจำกัดให้ต้องนั่งนอนนิ่งๆ ในที่แคบๆ นานๆ โครงสร้างร่างกายก็ต้องถูกจำกัดไปตามพื้นที่ของที่นั่ง (ส่งผล อาทิ หายใจได้ไม่ทั่วท้อง โลหิตไหลเวียนไม่ดี อวัยวะที่ถูกเบียดทำงานไม่ดี เช่น อวัยวะภายในช่องท้อง) บวกกับพฤติกรรมการกินอาหาร การนอน
อาชีพการงานกับพฤติกรรมและโครงสร้างร่างกายสัมพันธ์กันอย่างไรนั้น พญ.ลดาวัลย์อธิบายว่า “จากมุมมองของดุลยภาพบำบัดที่มองโครงสร้างร่างกาย ไม่ใช่แค่กล้ามเนื้อ กระดูก แต่รวมถึงหลอดเลือด เส้นประสาท อวัยวะภายใน เชื่อมโยงกับศีรษะ แขนขา อย่างเช่น เวลาที่เรานั่งโต๊ะ และคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ ลองนึกถึงว่าเขาจะนั่งเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือผู้บริหารที่ต้องเดินทางไปประชุมเป็นประจำ ผู้บริหารบางคนต้องนอนบนเครื่องบิน ในช่องสี่เหลี่ยมแคบ หรือผู้ที่อยู่บนรถนั่งตลอดเวลา ทำให้เราไม่สามารถพลิกตัว หรือเดินได้ตลอดเวลา
ในมุมมองคนทั่วไป โต๊ะก็เหมือนๆ กัน สูงเท่ากัน แต่ความจริง คนที่ใช้สูง ต่ำ ความสูงไม่เท่ากัน โครงสร้างแต่ละคนเหมือนกันไหม วิธีนั่งเหมือนกันไหม กล้ามเนื้อแต่ละคนเหมือนกันไหม แต่ต้องใช้โต๊ะเก้าอี้เหมือนๆ กัน ใช้คอมพิวเตอร์ยกมือระดับไหนเท่ากันไหม และใช้คอมพิวเตอร์ไปเอี้ยวคอคุยโทรศัพท์อีก การหมุนคอ หมุนตัว เกร็ง รั้งเกิดขึ้นตลอดเวลา”
แน่นอนว่าชีวิตเช้าจรดเย็นกระทั่งค่ำมืดเป็นกิจวัตรซ้ำๆ ตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ ในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปี และกระทั่งหลายปี เป็นพฤติกรรมที่นั่งอยู่กับที่นานจนชิน จะส่งผลต่อบุคคลแต่ละคนในอาการและระดับต่างๆ กันไป ตามแต่ เงื่อนไข เวลา -อายุ-จุดอ่อนของโครงสร้างร่างกายแต่ละคน ñสภาวะอารมณ์ของคนแต่ละคน
กล้ามเนื้อที่เกร็งต่อเนื่อง ในระยะสั้นจะทำให้การไหลเวียนทั้งระบบไม่ดี ทั้งเลือด เส้นประสาท ระบบน้ำเหลือง ส่งผลคือ การปวดเมื่อยเล็กๆ น้อยๆ ที่ร่างกายส่งสัญญาณเตือน ไปจนถึงการปวดเมื่อยที่หนักขึ้น หรือถึงขั้นเกิดอาการชาแขน ขา ปวดหลังไหล่บ่า จนถึงต้นคอ ปวดหัว จากการปวดเมื่อยในระดับที่ทนได้ เพราะการปล่อยให้สภาวะเช่นนี้คงอยู่ในระยะยาวจะส่งผลต่อโครงสร้างหลังของร่างกาย คือ กระดูกสันหลังบิดเบี้ยว กล้ามเนื้อที่ใกล้กันจะถูกดึง หรือรั้งตามไปมากขึ้นกว่าเดิม หากยังไม่สังเกตตัวเอง ปรับพฤติ-กรรม และหาทางบำบัดให้ร่างกายคลายตัว อาการเจ็บป่วยเหล่านี้ ก็จะนำไปสู่การเจ็บป่วยที่คิดไม่ถึงและไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของสุขภาพที่เสื่อมลง
ผู้บริหารหลายคน จู่ๆ ก็เกิดอาการปวดแขนด้านใดด้านหนึ่งอย่างแรง ปวดลามถึงบ่า ไหล่ จนไม่สามารถยกของ ถือของได้ หรือบางคนจะปวดต้นคอมากจนเอี้ยวตัวหันหน้าไปด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ตามปกติ เมื่อยาแก้ปวด หรือยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาแก้อักเสบที่เป็นแบบแผนเริ่มไม่ได้ผลดี หลายคนต้องมองมาการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ และบางส่วนหันมาทดลองดูแลตัวเองตามแนวดุลยภาพบำบัด
ขณะที่การรักษาของการแพทย์กระแสหลักแบบตะวันตกจะวินิจฉัยและรักษาแบบแยกส่วนแต่ละอวัยวะ และให้ยาเป็นหลักในการรักษา การใช้ยาเป็นเพียงการบำบัดอาการเท่านั้น เหตุคือการเสียสมดุลของโครงสร้างร่างกายทั้งระบบ ส่งผลให้คนไข้เกิดสภาพเจ็บป่วยเรื้อรัง และไม่สามารถทราบสาเหตุต้นตอที่ชัดเจน ปัจจุบันจึงมีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปวดหัวเรื้อรัง ภูมิแพ้
ตัวอย่างโรคฮิตของผู้บริหาร อันที่จริงโรคฮิตของคนไทยยุคทันสมัยด้วย ที่บอกสาเหตุชัดๆ ไม่ได้ และรักษาไม่หายขาด ตัวอย่างเช่น ภูมิแพ้ ปวดศีรษะเรื้อรัง โรคอ้วน พญ.ลดาวัลย์ อธิบายถึงโรคของผู้บริหารและคนออฟฟิศ จากมุมมองดุลยภาพบำบัดว่า “อย่างภูมิแพ้ที่คนเดี๋ยวนี้เป็นกันมากนั้น ความจริงแล้ว ภูมิแพ้ ปวดศีรษะ และโรคเครียด เป็นเรื่องเดียวกันหมด เริ่มต้นจากร่างกายที่สั่งสมปัญหา สภาวะความเครียด วิตกกังวล จะส่งผลให้ร่างกายของคนเราเกิดสภาวะหายใจตื้น ร่างกายได้ออกซิเจนน้อย การถ่ายเท ขับสิ่งสกปรกต่างๆ ขับของเสียจากร่างกายก็จะไม่ดี ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เมื่อเกิดน้ำมูก ร่างกายก็จะพยายามจาม ไอ เพื่อช่วยขับของเสียเหล่านี้ออกจากร่างกาย
เมื่อยังไม่ปรับร่างกาย ยังมีพฤติ-กรรมที่เป็นที่มาของความเครียด อาการเหล่านี้ก็จะไม่หายและเรื้อรัง นานเข้าต่อมาเกิดเป็นโรคภูมิแพ้ จากนั้นการขับของเสียที่ไม่ดีในระบบหายใจ ก็อาจจะลามไปเป็นการติดเชื้อในโพรงไซนัส กลายเป็นไซนัสอักเสบ และหลอดลมอักเสบ ลงไปบรอนคัส หรือกระทั่งลงไปที่ปอด กลายเป็นภาวะหอบหืดเรื้อรัง”
พญ.ลดาวัลย์ยกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเพราะเป็นการป่วยของผู้ที่คนทั่วไปเชื่อว่าน่าดูแลสุขภาพตัวเองได้ดีกว่าประชาชนทั่วไป “หมอคนหนึ่งป่วยเป็นปอดอักเสบ กินยามาแล้ว 1 ชุด แต่ไม่หาย ถ้าตามขั้นตอนตามการรักษาแผนหลัก ก็ต้องเพิ่มยา หรือเปลี่ยนยาเป็นยาปฏิชีวนะตัวใหม่ แต่ตัวคนเป็นหมอที่ป่วยก็รู้ว่าจะมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา พอดีเขามาปรึกษาหมอลดาวัลย์ เลยบอกว่า หมอลองคิดดูว่า ถ้าเป็นปอดอักเสบเพราะสาเหตุจากการติดเชื้อที่ชอบอธิบายกัน กินยาแล้วก็น่าจะหาย แล้วอีกข้อคือ ไม่สงสัยหรือว่าทำไมปอดไม่อักเสบทั้งสองข้างแต่กลับอักเสบข้างเดียว ลองดูว่า ร่างกายเราบิดเบี้ยวอะไรไหม เช็กดูจะพบว่าบรอนคัส (bron-chus) หรือ หลอดลม (ซึ่งมีสองข้างซ้าย-ขวา) เอียงไปข้างหนึ่ง” นี่อาจชี้ให้เห็นถึงผลต่อเนื่องจากการบิดของโครงสร้างร่างกายที่จะส่งผลต่ออวัยวะในช่องอก
มุมมองใหม่ของการบำบัด
“ปัญหาสุขภาพของนักบริหารมาจากสาเหตุสำคัญสองส่วน คือ พฤติกรรม และความเครียด” พญ.ลดาวัลย์ในฐานะแพทย์ผู้ศึกษาและบุกเบิกแนวทางดูแลและรักษาสุขภาพแบบดุลยภาพบำบัดสรุปและขยายความว่า
“ในมุมมองของดุลยภาพศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับไหนก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด เขาต้องเรียนรู้โครงสร้างของเขาเอง เขาต้องดูแลตนเอง ไม่ใช่มองออกนอกตัว เราต้องพึ่งตนเอง ทำยังไงก็ได้ให้พึ่งตัวเอง แต่จะพึ่งตัวเองได้ต้องรู้เรา รู้เขา รู้เราคือ ต้องรู้พฤติกรรมตนเอง อันนี้สรุปแบบง่ายๆ ส่วนรายละเอียดมากกว่านั้น มีหลักคือ 7E บางคนเข้าใจว่าดุลยภาพบำบัด คือ การนวด การฝังเข็ม การนั่งสมาธิ หลักใหญ่คือเราต้องให้คนป่วยเขารู้ตัวเองก่อนว่า ความสมดุลของตัวเราคือ อะไร และความไม่สมดุลคืออะไร ให้เข้าใจสมดุลที่ว่าคือ ความสมดุลร่างกายทั้งระบบและเป็นสมดุลอย่างต่อเนื่อง”
การจัดการกับความเจ็บป่วยต่างๆ ในมุมของดุลยภาพบำบัด ประกอบด้วยการบำบัดและการฟื้นฟู แต่หลักวิชาสำคัญที่สุดคือ เรา (ทุกคน) ต้องเรียนรู้โครงสร้างตัวเอง และใช้ดูแลตนเองก่อน
ดังที่ พญ.ลดาวัลย์เกริ่นนำไว้ว่า หากคนไทยจะพึ่งตัวเองได้ “เราต้องรู้เรา รู้เขา”
รู้เราคือ รู้ร่างกายตัวเอง เรามีอาชีพอะไร ตัวเรามีพฤติกรรมอย่างไร
รู้เขา คือ รู้จักเครื่องมือ เครื่องจักร รถยนต์ที่เรานั่ง อุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้ เราทำอะไรมาบ้าง มีพฤติกรรมอย่างไรมาก่อนหน้านี้ การซักประวัติและการสังเกตการณ์จึงมีความสำคัญมากสำหรับดุลยภาพบำบัด ทั้งก่อนเกิดอาการและหลังเกิดอาการต่างๆ เพราะจะทำให้รู้สาเหตุที่แท้จริง
การให้คนทั่วไปมีความเข้าใจ รู้จักโครงสร้างของคนเรา สังเกตพฤติกรรม สังเกตร่างกายตนเอง และสังเกตปัญหาสุขภาพของตัวเองจากมุมมองดุลยภาพบำบัด จากนั้นจะใช้หลัก 7E เป็นแนวทางในการปฏิบัติเป็นลำดับต่อไป
อาจเปรียบเทียบได้ว่า หลัก 7E เป็นการไขรหัสสู่สุขภาพที่ดีขึ้นของผู้คนซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีบางคนใช้หลักคิด และ 7E เป็นแนวปฏิบัติเพื่อฟื้นฟูสุขภาพอย่างได้ผล
รหัสหมายเลข 7
รหัสหมายเลขเจ็ดดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องลี้ลับเหมือนนวนิยายสืบสวนลึกลับแบบนวนิยายดาวินชี โค้ด ทั้งยังไม่ใช่หนวดเต่า เขากระต่ายที่ต้องไปเสาะหาจากดินแดนสุดขอบฟ้า หรือต้องฟังจากปากของกูรูไม่ว่าฝรั่งหรือไทยที่ต้องจ่ายเงินแพงๆ จึงได้วิชามา สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องเรียบง่าย เป็นสิ่งที่เหมือนไกลสุดขอบฟ้า แต่ที่จริงเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตา เป็นความรู้ใกล้ตัวเรานี่เอง เพียงแต่ให้ความสนใจเพียงพอและนำมาเชื่อมโยงกับการดูแลตนเอง
พญ.ลดาวัลย์จึงย้ำเสมอว่า “คนมักเข้าใจง่ายๆ ว่า ดุลยภาพบำบัด คือ การนวด การฝังเข็ม จริงๆ แล้วดุลยภาพครอบคลุมทั้งหมดของการดำเนินชีวิต และสามารถอธิบายอย่างละเอียดผ่านหลัก 7E”
รหัสเพื่อนำชีวิตไปสู่สุขภาพที่สมดุล 7E ที่ว่าประกอบด้วย
1. Education การรู้จักตัวเอง รู้จักโครงสร้างร่างกายของตัวเราเอง ว่าประกอบด้วยส่วนหลัก คือ แกนกลางกระดูกสันหลังซึ่งภายในมีเส้นประสาทร้อยอยู่ไปเสียบปลั๊กเข้ากับก้านสมองที่ต่อจากสมอง กระดูกสันหลังที่เป็นเสาหลักนี้มีระยางแขนขา ยื่นออกมา มีชุดกล้ามเนื้อและเอ็นห่อหุ้มยึดกับกระดูกอย่างแข็งแรงแต่ยืดหยุ่นสูง โดยมีข่ายเส้นเลือด เส้นประสาทแทรกอยู่ทั่วร่างกาย เป็นเส้นทางส่งลำเลียงออกซิเจน และสารอาหาร สารชีวเคมีต่างๆ ไปยังเซลล์และอวัยวะในร่างกายทุกส่วน
ข้อแรกนี้ คือ การรู้จักโครงสร้างร่างกายตัวเองแบบพื้นฐานของแต่ละคน จึงเป็นรหัสความรู้สำคัญสำหรับคนทุกคน
2. Equilibrium รู้จักการดำเนินชีวิตอย่างรักษาความสมดุลของร่างกาย และ ไม่สร้างพฤติกรรมเคยชินที่ทำให้เกิดภาวะเสียสมดุลของโครงสร้างร่างกาย ทั้งทางกายภาพ และทางอารมณ์จิตใจ
3. Exercise การเคลื่อนไหว และการหายใจ เป็นเรื่อง “หญ้าปากคอก” ที่สุด และเป็นเรื่องสำคัญใกล้ตัวที่คนส่วนใหญ่ละเลยไม่สนใจ เพราะคนส่วนใหญ่หายใจไม่เป็นและส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดุลยภาพบำบัดจึงกลับมาให้ความสนใจการหายใจและใส่ใจกับการฝึกการหายใจให้เป็น (Breathing Exercise) เป็นอันดับแรก และถ้ามีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การออกกำลังกายเป็นกิจวัตรก็จะช่วยให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น ทั้งการออกกำลังกายยังจะช่วยผ่อนคลายจากการทำงานตลอดสัปดาห์
พญ.ลดาวัลย์ได้ยกแนวทางปฏิบัติแบบดุลยภาพบำบัดกับธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน อย่างนี้ว่า “ลองเปรียบเทียบกับเด็กทารกที่เพิ่งเกิดมาใหม่ จริงๆ เด็กทุกคนที่เกิดมาต้องร้องก่อนกิน คือ การร้องคืออากาศเข้าไปในร่างกาย ทารกต้องหายใจก่อน ดุลยภาพบำบัดจึงให้ความสำคัญกับการหายใจ คนทั่วไปเราต้องหายใจให้เป็น ต้องหายใจอย่างไร คือหายใจลึก สม่ำเสมอ”
ขณะที่คนส่วนใหญ่หายใจตื้นๆ จนเป็นธรรมดา “ผู้บริหารทั้งหลายที่เก่งและมีความรู้หลายๆ เรื่องนี่แหละ หายใจกันไม่เป็น ทั้งที่เราหายใจตลอดเวลา ถัดจากหายใจต่อมาก็คือ เด็กต้องเคลื่อนไหว” ดังนั้นปฏิกิริยาธรรมชาติขณะทารกกำเนิด สะท้อนให้เห็นว่าการเคลื่อนไหว และหายใจ มีความสำคัญเพียงใด
4. Eating การกินที่สมดุล คือ เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละคนไม่ต้องตามคนอื่น หรือต้องกินตำราเหมือนกันหมดทุกคน สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้จักสังเกตตัวเองในการกินอาหาร และปลูกฝังพฤติกรรมการกินให้เหมาะสมกับตัวเอง (การกินอาหารที่มีประโยชน์ และเข้ากับตัวเรา ให้สมดุลกับตัวเรา)
“หลักของการกิน คือ กินอย่างไรให้สมดุล เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน วิตามิน หรือ เอนไซม์จากผักผลไม้ต่างๆ จะกินยังไงให้เหมาะกับตัวเอง ไม่ใช่ใช้สูตรสำเร็จเดียวกันทั่วโลก และไม่จำเป็นต้องเดินตามตำราเป๊ะๆ แต่สิ่งสำคัญต้องมีการสังเกตตัวเอง”
5. Excretion การขับถ่าย หมายถึง การขับถ่ายจากทวารทั้ง 5 ปาก ทวาร ที่ออกมาเป็น ขี้หู น้ำลาย น้ำตา และอุจจาระ ปัสสาวะ ทั้งหมดคือ การขับถ่ายของร่างกายที่คอยสังเกตตัวเอง
เพราะ “การขับของเสียจากร่างกายจะบ่งบอกถึงภาวะสมดุลหรือเสียสมดุล ระบบขับถ่ายมาจากไหน ตา หู จมูก ปาก ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำตา เหล่านี้ก็คือ การขับถ่าย ทำไมจมูก น้ำมูกไหล ไม่เท่ากัน ทำไมบางคน น้ำตาไหลจากตาสองข้างไม่เท่ากัน ทั้งหมดมาจากโครงสร้างร่างกายที่เสียสมดุล ทีนี้ถ้าจมูกไม่ดี ส่งผลระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ทำให้การขับถ่ายจากปอดก็ไม่ดี เป็นต้น หรือการทำงานของลำไส้ในช่องท้อง ถ้าตัวโครงสร้างกระดูก กล้ามเนื้อเราบิด พื้นที่ในช่องท้องด้านใดด้านหนึ่งแคบลง อวัยวะภายในเบียดกัน ลำไส้ก็จะขับถ่ายไม่ดี บางคนเหงื่อไม่ออก เพราะโครงสร้างเสียสมดุล บางคนก็เหงื่อออกมากไป การขับถ่ายมากไป น้อยไป ดังนั้นถ้าโครงสร้างสมดุล การขับของเสียของเหลวจากจมูก ตา ทั้งสองข้างควรเป็นปกติ”
6. Emotion ดุลยภาพบำบัด หมายถึง การมีสติ สัมปชัญญะ เพราะสติเป็นตัวคุมอารมณ์ คนเราอารมณ์จะดี หรือเลวขึ้นกับสติ การทำวิจัยพบว่า การคิดดี ทำดี ฮอร์โมนเอนโดฟินหรือสารความสุขซึ่งเป็นสารเคมีที่ดีต่อร่างกายจะผลิตและหลั่งออกมาทั่วร่างผ่านกระแสโลหิตซึ่งจะช่วยให้ระบบอวัยวะต่างๆ ทำงานได้ดี ร่างกายผ่อนคลาย นอกจากนี้การฝังเข็มแบบดุลยภาพบำบัดยังจะช่วยกระตุ้นให้ฮอร์โมนดีหลั่งออกมา
“E นี้คือ Emotion แต่ดุลยภาพบำบัดเราหมายถึง สตินะ ไม่ใช่อารมณ์เพียงแต่ยืมคำฝรั่งมาใช้เพื่อให้คำสอดคล้องกับ E อื่นๆ อารมณ์จะดีหรือจะเลวอย่างไร ขึ้นกับว่ามีสติกำกับไหม เมื่อมีสติกำกับอารมณ์แล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา จะเกิดตามมา ศีล คือวินัย ดังนั้นหลักของดุลยภาพบำบัด คือ Self-help จริงๆ ก็คือ อัตตาหิ อัตโนนาโถ คือพึ่งตนเองเป็นหลัก
“นอกจากนี้ การคิดดียังมีความสำคัญ เพราะมีงานวิจัยที่พบว่าเมื่อเราคิดดี จะทำให้ฮอร์โมนเอนโดฟิน หลั่ง ส่วนการฝังเข็มช่วยกระตุ้นให้สารที่ดีต่อร่างกายหลั่ง ซึ่งดีกว่าสารเอนโดฟิน คือสารไดโนฟีนเอและสารไดโน-ฟีนบี และเราควรรู้ว่าความจริง จะมีเอน-โดฟินหลั่งออกมาแต่ละคนไม่เหมือนกันแม้ออกกำลังกายเหมือนกัน เพราะร่างกายคนเราต่างกัน”
7. Environment สภาพแวดล้อม นอกจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดีที่เข้าใจกันทั่วไป แล้ว สภาพแวดล้อมของดุลยภาพบำบัดรวมไปถึง โครงสร้างแวดล้อมตัวเราด้วย เช่น โครงสร้างร่างกายของแม่ ที่จริงก็คือสภาพแวดล้อมของเด็กที่อยู่ในครรภ์ เมื่อแม่บิดตัว ลูกในท้องก็บิดตัวด้วย พฤติ-กรรมของแม่จึงส่งผลต่อโครงสร้างร่างกายของเด็กในท้อง ดังนั้นเด็กทารกแรกเกิดบางคนจึงเกิดมาโดยที่กระดูกสันหลังบิด เป็นต้น
หลักสภาพแวดล้อมที่ดีเกี่ยวกับสุขภาพผู้บริหารและคนทำงานอย่างไร?
“สำหรับผู้บริหาร สามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงานให้กับตัวเองและลูกน้องได้ ตัวอย่างเช่น การทำงานกับเครื่องจักรในอุตสาหกรรมที่ต้องอยู่ในอิริยาบถซ้ำๆ หรือในพื้นที่แคบเกินไป หรือคนทาสี ที่ต้องแหงนหน้านานๆ เพื่อทาสี (จะมีปัญหากระดูกคอและกล้ามเนื้อ) หรือเด็กนักเรียน ที่ครูหรือผู้บริหารโรงเรียนสั่งให้ใครสอบเสร็จก่อน ให้เด็กนั่งฟุบกับโต๊ะ ซึ่งเป็นท่าทางที่ไม่ดีต่อร่างกาย เพราะเป็นท่าที่กระดูกคอจะถูกบิดกด ตรงนั้นมีเส้นเลือดใหญ่ที่ร้อยในรูกระดูกคอขึ้นไปเลี้ยงสมอง และมีศูนย์ประสาทอยู่ ท่าทางแบบนั้นมันจะกดทั้งหลอดเลือดและศูนย์ประสาทถูกกดด้วย (การกดที่ศูนย์ประสาทจะทำให้เกิดอาการแขนขาไม่มีแรง) เลือดไหลไม่ดี ร่างกายออกอาการ สมองก็จะสั่งการให้หัวใจส่งเลือดไปเลี้ยงโดยด่วน หัวใจก็เลยเต้นแรง ผิดปกติ
สาเหตุที่แท้จริง เพราะพฤติกรรม หรือท่าทางในชีวิตประจำวันเหล่านี้ที่เราควรรู้และหลีกเลี่ยง ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งแข็ง ตึง หรือการนั่งเอียง เอาคอพิงแทนหลัง ยิ่งเวลานานๆ ส่งผลให้เกิดการเบียดหรือกดทับศูนย์ประสาทและหลอดเลือดทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี และต่อมาจะเกิดอาการแขนขา อ่อนแรง” การสังเกต ท่าทาง พฤติกรรมการนั่ง การนอนของตัวเองจึงช่วยดูแลตัวเองได้มาก
พญ.ลดาวัลย์ยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่ง “มีรายหนึ่ง ผู้บริหารระดับสูงกลับจากต่างประเทศ รู้สึกไม่ค่อยสบายตัว ทันทีที่เขากลับมา ก็ไปนอนโรงพยาบาลรักษาตัว นอนอยู่สองวันที่คิดว่าร่างกายได้พักผ่อนแล้วคงจะดีขึ้นกลับลุกไม่ไหว วันที่สามสี่ก็ยังไม่ดีขึ้น ถึงขนาดลืมตาไม่ค่อยไหว ลุกไม่ไหว เลยเปลี่ยนมาบำบัดแบบดุลยภาพบำบัด มาแก้ไขอาการ พอหมอซักถามก็พบว่า เดินทางนั่งเครื่องบินนานๆ เขาบอกว่า เมื่อย และเครียด
เราก็วิเคราะห์สิ เครียดคืออะไร สภาวะเครียด คือ เลือดที่จะไปเลี้ยง รวมทั้งเส้นประสาท ทางเดินน้ำเหลือง ทั้งระบบ เดินไม่สะดวก เพราะมันถูกบิดและกดจากกล้ามเนื้อ (ซึ่งทำงานประสานร่วมกับกระดูกกับเอ็น) ที่เกร็ง แข็งตึง และมีการกดทับศูนย์ประสาทด้วยก็เลยเกิดปัญหา กรณีนี้ สาเหตุเพราะโครงสร้างของเขาเสียสมดุลหลายส่วน ทั้งกระดูก คอ 6-7 ข้อ กระดูกสันหลังข้างล่าง และชุดกล้ามเนื้อที่เกี่ยวเนื่องอีก สรุปคือโครงสร้างร่างกายเสียสมดุลทั้งระบบมานานหลายปี ก็ต้องแก้ไข”
จับสังเกตแบบดุลยภาพบำบัด
เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักสภาพร่างกายตัวเองเพราะไม่เคยมีใครบอกให้รู้ และไม่เคยสังเกตเรื่องสำคัญของตัวเองมาก่อน เป็นต้นว่า ขณะส่องกระจก ลองสังเกตลักษณะหลัง ไหล่ บ่าของตัวเอง ว่าลาดเอียงไปข้างซ้าย ข้างขวาข้างใดข้างหนึ่งหรือเปล่า เอวสองข้างเสมอกันดี หรือมีข้างใด ข้างหนึ่งยกตัวขึ้น หรือสังเกตเมื่อยืนตรง อกผายไหล่ผึ่ง หรือ ไหล่ห่อลู่ และการยืนของตัวเองแอ่นไปด้านหน้า หรือหลังหรือเปล่า จมูกคดหรือไม่ เป็นต้น
สภาพร่างกายทางกายภาพที่เห็น ประกอบเข้ากับการรู้จักสังเกตอาการเล็กๆ น้อย เช่น ปวดหัว มึนงงบ่อยๆ ว่ามักเกิดขึ้นตอนไหน หลังจากไปทำอะไรมา หรือหลังจากก้มหน้าทำงาน อ่านหนังสือ หรืออยู่ในอากัปกิริยาท่าใดท่าหนึ่งนานๆ หรือมีการปวดเมื่อยบริเวณไหนประจำ หรือปวดต้นคอ ปวดหลัง บ่าไหล่ หรือกล้ามเนื้อลีบเล็กลงบางส่วน เป็นต้น
เมื่อไม่รู้จักจับสัญญาณเตือนเหล่านี้ จากร่างกายที่พยายามสื่อสารกับเรา คนส่วนใหญ่ก็ไม่ระวังพฤติกรรมการนั่ง การนอน ดังนั้นสำหรับบางคนที่สะสมปัญหาสุขภาพมานาน หรือคนที่อายุมากขึ้น จะมีจังหวะโอกาสที่จะเกิดอาการเด่นชัดอย่างไม่ทราบสาเหตุ หรือเกิดอาการน๊อคแบบกะทันหัน
หากประมวลจากข้อมูล ผู้ที่ตัดสินใจมารักษาตัวเองตามหลักดุลยภาพบำบัด จะพบว่า ส่วนใหญ่มักจะมาหลังจากรักษาตามแบบการรักษากระแสหลัก (ที่เน้นการใช้ยาและการผ่าตัด) มาก่อนหน้านี้แล้ว คนไข้เลือกรักษาแบบดุลยภาพบำบัดเมื่อร่างกายเกิดอาการที่เป็นปัญหาต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากบ้าง น้อยบ้าง ส่วนรายที่มีอาการรุนแรงต้องแก้ไขปรับสมดุลร่างกายใหม่ด้วยการฝังเข็มและนวดซึ่งต้องรักษาต่อเนื่อง จึงต้องอาศัยความอดทน
สำคัญที่สุดคือความเข้าใจและการมีส่วนร่วมจากคนไข้ร่วมด้วยเพื่อจะช่วยกันดูแล เพราะพบว่าหากคนไข้ขยันบริหารกายเพื่อดัดร่างกายให้ค่อยๆ ปรับคืนสภาพใกล้เคียงก็จะเห็นผลเร็ว
ส่งเสริมสุขภาพดีกว่ารักษา
ดังนั้นกล่าวได้ว่า ความจริงแล้วการป้องกัน และการส่งเสริมสุขภาพจะทำได้ง่ายกว่า ที่สำคัญเสียค่าใช้จ่ายน้อยหรือแทบไม่มีค่าใช้จ่ายเลย หากแพทย์ดุลยภาพบำบัดมีช่องทางและโอกาสให้คนทั่วไปมีโอกาสรับรู้ศาสตร์ดุลยภาพบำบัด เพราะคนก็จะรู้จักการดูแลตัวเอง ส่งเสริมสุขภาพตัวเองที่ใช้เวลามากในแต่ละวัน ที่จะช่วยไม่ให้ร่างกายเสียสมดุล ป่วยเรื้อรัง จนมีอาการหนัก
กล่าวได้ว่า “หัวใจ สำคัญของดุลย-ภาพบำบัดคือป้องกัน หมอต้องการรุก ไม่ใช่ตั้งรับ คอยแก้ปัญหาคนป่วยทีละคน”
พญ.ลดาวัลย์เน้นหลักของดุลยภาพบำบัดที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ แนวทางสุขภาพเชิงรุกไม่ใช่เชิงรับ หมายถึงเน้นที่การป้องกันมากกว่าการรักษา และต้องการส่งเสริมสุขภาพในชีวิตประจำวันของคนในสังคม เพราะความจริงแล้วทุกคนก่อนเกิดอาการจากการเสียสมดุลจนเกิดอาการร้ายแรงนั้น คนทุกคนสามารถเรียนรู้ที่จะดูแลและช่วยตัวเอง ปรับสภาพตัวเองได้ หากเข้าใจ เข้าถึงหลักดุลยภาพ มีความเข้าใจตัวเอง อาชีพและพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของตัวเอง
คนทั่วไปอาจคิด และสงสัยว่า ถ้าหากโครงสร้างร่างกายเสียสมดุลแล้ว จะบำบัดตามแนวทางดุลยภาพบำบัดอย่างไร และส่งผลดีต่อร่างกายอย่างไร
ในกรณีโครงสร้างร่างกายเสียสมดุลมาก และถูกละทิ้งมานานจนเกิดอาการรุนแรง เจ็บปวดเรื้อรังหรือไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ตามปกติ เช่น เกิดอาการชา อาการอัม-พฤกษ์ ปวดเมื่อยอย่างรุนแรง ดุลยภาพบำบัดจะมุ่งที่การคลายตัวของกล้ามเนื้อทั้งระดับตื้นและลึก ให้มีการไหลเวียนของระบบโลหิต น้ำเหลือง ของเหลวต่างๆ ในร่างกายและระบบประสาท ต่างๆ คลายการแข็งตึงของกล้ามเนื้อชุดต่างๆ ที่เป็นปัญหาเพื่อปรับโครงสร้างร่างกายทั้งระบบ คืนสู่สภาพสมดุลหรือใกล้เคียงสมดุลให้ได้มากที่สุด และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
วิธีการและขั้นตอนที่แพทย์ดุลยภาพบำบัดจะใช้การนวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อระดับตื้น การฝังเข็มใช้กับกล้ามเนื้อระดับลึกกระตุ้นด้วยไฟฟ้าอ่อนๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของกระแสโลหิต น้ำเหลือง ของเหลวต่างๆ ในระบบชีวเคมีของมนุษย์ ไปตามหลอดเลือด และเส้นประสาทต่างๆ ทั้งระบบ
ถ้าต้องสรุปแบบรวบรัดสักหน่อย พูดง่ายๆ แบบภาษาชาวบ้านเพื่อสร้างความเข้าใจคือ “การให้เลือดลมเดินดี” เกิดการหมุนเวียนได้ทั่วร่าง ทั่วตัว ทุกระบบ อวัยวะ นั่นเอง อาจจะเป็นอุปมาอุปไมยที่เหมาะสม
สำหรับหน้าที่ของคนไข้แบบดุลยภาพบำบัด หากคนไข้ช่วยเหลือตัวเองด้วยการบริหารร่างกายแบบง่ายๆ ตามคำแนะนำควบคู่ไปด้วยจะทำให้การบำบัดรักษาได้ผลดี เร็วขึ้นซึ่งความใส่ใจของคนไข้เป็นอย่างไร จะเห็นความแตกต่างชัดเจนจากส่วนนี้ จะเห็นผลดีกว่าคนไข้ที่รอคอยการรักษาจากแพทย์เพียงฝ่ายเดียว
การนวด การฝังเข็ม และสมาธิ จึงเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการบำบัดเพื่อปรับโครงสร้างร่างกาย ที่เสียสมดุลและลำพังการบริหารร่างกายของคนไข้ อาจไม่เพียงพอ หมอดุลยภาพบำบัดจะใช้การนวดควบคู่กับการฝังเข็มให้กล้ามเนื้อที่แข็ง ตึง เกร็ง คลายตัวคืนสภาพและการฝังเข็มจะกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตบริเวณกล้ามเนื้อที่มีปัญหาเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อสามารถฟื้นตัวได้เร็วและดีขึ้น
หลังร่างกายของคนไข้รับการบำบัดตามนัดหมาย อาจจะเป็นสัปดาห์ละครั้ง หรือ สองครั้ง ตามแต่กรณีและความรุนแรงของแต่ละคน ท้ายสุดเมื่อร่างกายปรับสมดุลได้ดีขึ้น จนอาการเจ็บปวด หรืออาการที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวันหายไปแล้ว คนไข้จะมีส่วนสำคัญที่จะดูแล บำรุงรักษาร่างกายตัวเองไม่ให้สะสมปัญหาจนเกิดอาการรุนแรง เหมือนกับการบำรุงรักษารถยนต์ที่หากเจ้าของดูแลอย่างดี เป็นประจำ สม่ำเสมอ คอยจับสังเกต ความผิดปกติต่างๆ ก็จะมีสภาพดีเสมอ ใช้งานได้ยาวนาน
การบริหารที่แท้ คือ การบริหารสุขภาพ
พญ.ลดาวัลย์ยกกรณีตัวอย่างของคนไข้ที่เข้าใจดุลยภาพบำบัด ดูแลตัวเองได้ดี และยินดีให้เอ่ยถึงเพื่อเป็นกรณีศึกษาและเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆ เช่น ผู้ก่อตั้งบริษัทยูโรเปี้ยนฟูดส์ หรือผู้บริหารบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ได้เข้ามาบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยที่เคยรู้สึกว่า แก้ไขไม่ได้ ไม่รู้สาเหตุว่าเกิดจากอะไร จนมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี เป็นปกติ
หลายคนเข้าถึงหลักสำคัญที่สุดของดุลยภาพวิถี คือ เปิดโอกาสให้ตัวเองเรียนรู้โครงสร้างร่างกายและการดูแลตัวเองแบบง่ายๆ ผู้บริหารหลายคนกลับไปบริหารร่างกายเป็นประจำทุกวัน เป็นพฤติกรรมใหม่ที่สร้างสมดุลใหม่ให้ร่างกายตัวเอง รู้จักบริหารยืด เหยียด กล้ามเนื้อต่างๆ ที่ใช้ในแต่ละวัน อย่างเป็นกิจวัตร เหมือนเรารับผิดชอบเก็บกวาดขยะ ระบายน้ำทิ้งที่ขังออกทุกวัน ไม่ปล่อยให้สะสมปัญหาหมักหมมไว้จนแก้ไขยาก
ดังที่ วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู ผู้บริหารบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ จบการศึกษาด้านวิศวกรรม ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ที่เขารักษาก่อนหน้านี้ว่า กระดูกคอ ทับเส้นประสาทที่ทำกายภาพบำบัดมาแล้ว และแพทย์บอกว่าหนทางสุดท้ายคือ ผ่าตัด
แน่นอนเมื่อฟังหลักการดุลยภาพบำบัด และปัญหาสุขภาพจากโครงสร้างร่างกายจนเสียสมดุล และให้ดูตัวเองผ่านเงา สังเกตร่างกายตัวเองในกระจกเงา วิศวกรอย่างเขาเข้าใจการบิดของโครงสร้างได้ดีทีเดียวเพราะมันเหมือนตึกที่โครงสร้างบิดตัวและเห็นว่ามีตรรกะ เหตุผล จึงมารักษาตัวอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่กับการกลับไปบริหารร่างกาย ยืดตัว ยืดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ
ตอนนี้เขาเป็นคนที่ขยันในการบริหารร่างกายแบบดุลยภาพบำบัด ทั้งก่อนนอนก็ยืดตัว หรือขณะที่นั่งอยู่กับโต๊ะนานๆ ก็จะบริหารนั่งยืดตัว ซึ่งเขามีและใช้สติในการใช้ร่างกาย ในอิริยาบถ การเคลื่อนไหวต่างๆ มากขึ้น ในวันที่พูดคุยเขายังสาธิตท่ากายบริหารแบบง่ายๆ เพื่อปรับสมดุลโครงสร้างร่างกาย ที่เขาเล่าว่า ได้ทำเป็นประจำ และอย่างสม่ำเสมอให้ดูด้วย
“ผมพอใจกับการบำบัด และการฟื้นฟูตัวเองที่เป็นอยู่ จากเดิมที่ปวดคอ หลังและร่างกายด้านซ้ายทั้งแถบ และแก้มซ้ายจะมีอาการชา ตาด้านซ้ายมีน้ำตาไหลเป็นระยะและต้องคอยซับ ...เราโล่ง ไม่เจ็บ ไม่ชา ไม่ปวดอีกแล้ว แค่นี้ก็ดีใจแล้ว”
ที่น่าสนใจ และสำคัญกว่านั้น คือ ผู้ที่ผ่านประสบการณ์การบำบัดรักษาดุลยภาพบำบัดหลายคนได้ช่วยเผยแพร่ ความรู้ความเข้าใจดุลยภาพบำบัด ที่เน้นว่าใครๆ ก็เป็นหมอของตัวเองได้ แม้ไม่ใช่แพทย์ ก็สามารถนำศาสตร์ของการป้องกัน และบำบัดด้วยตนเอง เริ่มต้นจากการนำไปบอกเล่า ขยายความรู้ให้กับสมาชิกในครอบครัว บางครอบครัวก็ส่งสมาชิกในบ้านมาอบรมการดูแลสุขภาพตามแนวทางดุลยภาพบำบัด จากนั้นครอบครัวก็เป็นการสื่อสารให้คนรู้จัก ตลอดจนลูกน้องและเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานที่กำลังประสบปัญหาสุขภาพจากการทำงานในระดับต่างๆ รับทราบ
บทความจากนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมกราคม 2010 : Toxic Lifestyle
เขียน : ยุทธนา วรุณปิติกุล