January 22, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

YN II-TECH (Thailand) นักธุรกิจรุ่นใหม่ผู้มองโลกบวก สู่ความสำเร็จของการทำธุรกิจในไทย

July 14, 2017 40380

พบกับบทสัมภาษณ์ในแง่มุมการ ขับเคลื่อนธุรกิจ และศึกษาข้อคิดดีๆ ของ เรียวตะ นาคามูระ  นักธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่น วัย 35 ปี ที่เข้ามาตั้งรกรากดำเนินธุรกิจ Service Manufacturing ในประเทศไทย

 

“Never Give Up” “ทำทุกอย่าง ไม่มีการปฏิเสธ” มอตโตที่เป็นสิ่งตอกย้ำตัวตนของเรียวตะ และยังเป็นนโยบายที่ตั้งไว้สำหรับการสร้างแบรนด์บริษัท โดยเฉพาะการถ่ายทอดแนวคิดนี้ เพื่อสร้างความรู้สึกให้พนักงานภาคภูมิใจในองค์กร รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้พนักงานทุกคนรู้สึกดีที่ได้เข้ามาทำงาน

 

ความสำเร็จภายใต้นโยบายนี้ วัดผลได้จากอัตราการเติบโตของธุรกิจที่มีการตอบรับอย่างดี หลังจากเข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย เพียงระยะเวลา 4 ปี เรียวตะ กล่าวกับ นิตยสาร MBA ว่า ปีที่ 1 บริษัท วายเอ็น ทู-เทค (ประเทศไทย) จำกัด มีลูกค้ามากแต่ความสัมพันธ์ไม่มี ไม่แน่นแฟ้น ทำครั้งเดียวสองครั้ง จบแล้วจบเลย ทั้งปีมียอดขายประมาณ 4.5 ล้านบาท 

 

ทว่าเมื่อก้าวขึ้นปีที่ 2 ลูกค้าลดจำนวนลงกว่าปีแรก แต่มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้น ยอดขายเติบโตสูงขึ้นเป็น 60 ล้านบาทจนเมื่อมาถึงปีที่ 3 พบว่ายอดขายพุ่งเป็น 90 ล้านบาท โดยเรายังคงเน้นไปที่ลูกค้าเดิม และมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน กระทั่งเมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 คือปี 2560 ยอดขายเพียง 6 เดือนแรกของเรานั้นสูงถึง 120 ล้านบาท และสินค้าเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ

 

การเติบโตแบบก้าวกระโดด มาจากแง่มุมการทำธุรกิจโดยส่วนตัวของ เรียวตะ ที่ไม่ได้เน้นเพิ่มการจำนวนลูกค้าให้มากขึ้น แต่เพราะการมีบริการที่ครอบคลุม และตอบสนองลูกค้าได้มากขึ้น

 

โดยเฉพาะในปีที่ 2-3 ที่เราเปิดบริษัท เคเอส ดีไซน์ จำกัด (KS Design Co., Ltd.) เข้ามาเสริมจุดแข็ง ในธุรกิจด้านการออกแบบงานผลิตภัณฑ์ มีการวิจัย และการตลาด ที่ทำให้งานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและแปลกใหม่ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการบริการ และการควบคุมคุณภาพ (QC) 

 

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น ถือเป็นการต่อยอดจากในอดีต ที่เราเน้นงานเฉพาะในภาคของการผลิต เป็นลักษณะงาน ที่บริษัทของเราเป็นผู้นำความคิดและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพจากญี่ปุ่น เข้ามาลดต้นทุน ให้กับลูกค้าในประเทศไทย ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ อะไหล่ ตลอดจนเทคโนโลยีในเชิงวิศวกรรมเครื่องจักรของเรา

 

 

 

เสริมแกร่งด้วย 2 ขาธุรกิจ

ปัจจุบันธุรกิจของเรียวตะในไทยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ บริษัท วายเอ็น ทู-เทค (ประเทศไทย) จำกัด เป็นขาที่แข็งแรง และนำร่องเข้ามาในธุรกิจ Service Manufacturing ที่เมืองไทย เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา เน้นสนับสนุนในสิ่งที่ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมโรงงานต้องการ ตั้งแต่กระบวนการผลิต สรรหาวัตถุดิบ (Material) หา Tooling หรือเครื่องมือ เครื่องจักร เมื่อรับออร์เดอร์มาจากลูกค้า ก็มาทำให้ตอบสนองสิ่งที่ต้องการ

 

สำหรับอีกส่วนคือบริษัท เคเอส ดีไซน์ เป็นส่วนของการต่อยอด ที่เน้นการดีไซน์เป็นเรื่องของธุรกิจในอนาคต เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยลักษณะการทำธุรกิจคนละรูปแบบกับ วายเอ็น ทู-เทค ที่เน้นการผลิต (Production) ขณะที่ เคเอส ดีไซน์ เน้นการสร้างพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ งานวิจัยและพัฒนา และการสร้างตลาด (R&D, Marketing)

 

อย่างไรก็ตามนับว่าทั้งสองส่วน เป็นการผสมผสานให้โครงสร้างธุรกิจของเรียวตะ ครบวงจรทั้ง Full Services & Full Solutions ซึ่งบริการที่ลูกค้าจะได้รับ คือเป็นผู้ช่วยให้ระบบการทำงานในโรงงานง่าย และมีประสิทธิผลมากขึ้น โดยจะมีการทำอาร์แอนด์ดี เพื่อหาโซลูชั่นที่จะทำให้การทำงานในโรงงานง่ายขึ้น ประหยัดเวลามากขึ้น และเป็นการคิดค้นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

 

เรียวตะ เล่าให้ฟังถึง ไอเดียแรกที่ตั้งใจเข้ามาทำธุรกิจในไทย คือ จะเข้ามาขายเครื่องจักร ทว่าความคิดได้เปลี่ยนไป กลายเป็นไอเดียเกี่ยวกับการดีไซน์ และเป็นคนกลางหรือ Co-Ordinator สำหรับทุกอย่าง เพราะเห็นว่าแต่ละบริษัทมีความสามารถและความถนัดเฉพาะทาง แต่ยังขาดคนที่จะช่วยในการรวบรวม และประสานให้การทำงานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมีความราบรื่นอย่างสมบูรณ์แบบ 

 

ในด้านจุดแข็งที่ทำให้บริษัทของเรียวตะ มีความแตกต่างจากบริการที่อื่น คือการมีหลายคาแรคเตอร์และหน้าที่ สามารถปรับได้ตามสถานการณ์ การมีคาแรคเตอร์ที่ต่างกัน แต่ประสานงานสนับสนุนกันได้ ทำให้มีบริการที่เหนือจากบริษัทอื่นในวงการเดียวกัน ที่เน้นไปทางใดทางหนึ่งเท่านั้น

 

เรียวตะมองว่า สถานะในปัจจุบันของบริษัท วายเอ็น ทู-เทค ถือว่าไปได้ดี ในขณะที่ เคเอส ดีไซน์ นั้น เป็นความเติบโตของอนาคต ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย แต่แนวโน้มจะเป็นแต้มต่อสำหรับการแข่งขัน จะเป็นอาวุธที่ใช้ในอนาคตได้อย่างแน่นอน

 

เป้าหมายของเรียวตะกับการทำธุรกิจนี้ คือการสร้างคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจฝั่งดีไซน์ เขาหวังว่าในอนาคต หากมีบริษัทที่ญี่ปุ่นต้องการสรรหาบุคลากร จะสามารถซัพพอร์ตแลกเปลี่ยนบุคคลากรกัน หรือ แม้แต่บริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยหากอยากได้บุคลากรที่เป็นญี่ปุ่น เราก็จะสามารถเข้าไปซัพพอร์ตตรงนี้ได้ ซึ่งองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของบุคลากรทั้งสองประเทศจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาสิ่งใหม่ทำให้เกิดขึ้น เรียวตะต้องการทำให้ได้เหมือนตลาดแรงงานที่เราสามารถสร้างและเลือกสรรได้ตามที่ต้องการ

 

ปัจจัยสำคัญคือสร้างโอกาส

ยิ่งไปกว่านั้น เรียวตะยังกล่าวถึงปัจจัยที่สร้างโอกาสทางธุรกิจว่า “อันดับแรกคือเพื่อน และคอนเนคชั่น ที่เขากล่าวว่าต้องสร้างขึ้นมาพร้อมกับ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” อันดับที่สอง คือ พลังในตัวเอง (Energy) ที่ต้องมีเพื่อเป็นแรงผลักดันอันดับที่ 3 ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ คือพนักงาน เพราะเมื่อเข้ามาทำธุรกิจในไทยครั้งแรก หากไม่มีพนักงานที่ดี บริษัทก็อยู่ไม่ได้มาถึงทุกวันนี้ “ถ้าเริ่มต้นไม่ดีก็มาถึงวันนี้ไมได้ แม้จะเป็นคนเก่ง ตั้งใจมากแค่ไหน แต่ถ้าได้สต๊าฟไม่ดี ไม่มีคนช่วยก็ทำให้สำเร็จไม่ได้”

 

การมาอยู่เมืองไทย 4 ปี เรียวตะกล่าวอย่างมั่นใจว่ารู้สึกรักเมืองไทย และตนเองโชคดีที่มีพนักงานที่ดี เป็นเจเนอเรชั่นใหม่ ที่มีพลังในตัว ต่อให้ทำผิดก็ไม่ท้อถอย และพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เรียวตะมองว่าคนไทยมีข้อดี คือ ใจดี และไม่ยอมแพ้ มีความพยายาม เขาไม่สามารถพูดได้ว่าคนไทยทั้งหมดเป็นอย่างไร แต่คนไทยที่บริษัทเขาเป็นอย่างนั้น และปัจจัยในการสร้างโอกาสอีกส่วนที่สำคัญ และขาดไม่ได้คือหรือแนวความคิดใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่จุดประกายและต้องมีอย่างต่อเนื่องอย่างไม่สิ้นสุด

 

  

 

ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ

“ผมจะทำโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาให้คุณ ผมเป็นนักแก้ปัญหา”

 

นี่คือปรัชญาของเรียวตะ คือ ทำทุกอย่าง ถ้าต้องการทำอะไรให้บอกเรียวตะ เขาจะทำให้ได้ทุกอย่าง ซึ่งเขาอธิบายว่า ธุรกิจหลักๆ เป็นงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหา เมื่อได้โจทย์มาต้องใช้แรงบันดาลใจ คิดค้นโซลูชั่นแก้ปัญหา ให้ลูกค้า ซึ่งทำให้ ในพจนานุกรมของเขา ไม่มีคำว่า No เพราะเรียวตะคิดเสมอว่าต่อให้ทำไม่ได้ ต้องมีใครสักคนที่ทำได้ เพียงแต่เราหาคนที่ทำได้ ไปช่วยแก้ปัญหา 

 

ตัวอย่างเช่น มีลูกค้ารายหนึ่งบอกว่า ระบบอินเทอร์เน็ตมีปัญหา ซึ่งเรียวตะไม่ได้ปฏิเสธที่จะทำให้ แต่บอกว่าถ้าจะให้ไปทำอินเทอร์เน็ตให้ ผมทำไม่ได้ แต่ผมรู้จักคนที่จะแก้ปัญหาให้คุณ จะไปเอาเขามาช่วยคุณ เหมือนกับที่เรียวตะพูดคือ เขาสามารถทำอะไรก็ได้ เขาสามารถแก้ปัญหาให้ได้

 

เมื่อมีคำถามว่า ในโลกนี้มีอะไรบ้างที่คิดว่าทำไม่ได้ เรียวตะตอบว่าคิดว่ามีที่ทำไม่ได้ แต่ทำไม่ได้เลยนั้น เป็นไปไม่ได้ เชื่อว่ามีทางออกที่ทำได้ อาจจะไม่ใช่โดยตัวเรา หรืออาจจะไม่ได้ในวันนี้ แต่สุดท้ายต้องทำได้ ถือว่าเป็นคนที่ไม่เคยยอมแพ้กับปัญหา ใดๆ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า “เพราะผมเป็นคนที่มองโลกบวกมาก เรียกว่า Super Positive Thinking ก็ได้”

 

 จากความคิดมุ่งมั่นลักษณะนี้ จึงต่อยอดมาเป็นความสำเร็จทางธุรกิจ เพราะเรียวตะเป็นคนชอบเอาใจ ช่างช่วยเหลือ ไม่มีคำว่า NO ซึ่งเป็นลักษณะนิสัย และบุคลิกส่วนตัว ธุรกิจเกิดขึ้นมาจากการที่ชอบช่วยเหลือ เมื่อแก้ปัญหาได้ จึงนำไปสู่การแตกธุรกิจใหม่ สามารถพูดได้ว่าเป็นสิ่งที่สร้างมาจากตัวตนของเรียวตะ 

 

เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการ 

Last modified on Tuesday, 02 February 2021 07:32
X

Right Click

No right click