November 25, 2024

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ผลักดันหลักสูตรสะเต็มกำลังสอง (STEM²) “ถ้าพรุ่งนี้…ไม่มีไฟฟ้า” แก่นักเรียนชั้น ม.ต้น ในโรงเรียนหลายร้อยแห่ง หวังให้เด็กรุ่นใหม่ เข้าใจสถานการณ์ปัญหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย

ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดการประกวดผลงานนักเรียน การพูดเชิงสร้างสรรค์ ElectricTalk ในหัวข้อ “เราจะมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร” ซึ่งกิจกรรมพูดเชิงสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในหลักสูตรสะเต็มกำลังสอง ถ้าพรุ่งนี้…ไม่มีไฟฟ้า มีนักเรียนส่งผลงานทั้งหมด 18 ผลงาน คณะกรรมการได้คัดเลือกผลงาน 6 ทีมเข้ารอบตัดสิน ได้แก่ทีมจากโรงเรียนน้ำพองศึกษา จ.ขอนแก่น / โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) จ.ชลบุรี / โรงเรียนพานพิทยาคม จ.เชียงราย / โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จ.ลำพูน / โรงเรียนทุ่งเทิงยิ่งวัฒนา จ.อุบลราชธานี และโรงเรียนปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ โดยโรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่ ทีม SMTE309 จาก โรงเรียนปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ สมาชิกในทีมประกอบด้วย ด.ญ.ธนพร บุดดา,ด.ญ.นิราภรณ์ บุตรดี,ด.ญ.ปาณิศา ระยับศรี และ นางสาวภาวินี สุระ เป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมีคุณครูนงเยาว์ หงส์โสภา คุณครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ในวิชาพลังงานทดแทน เป็นที่ปรึกษาของเด็ก ๆ ซึ่งคุณครูเผยความรู้สึกว่า เด็ก ๆ ทุกคนมีความตั้งใจมาก รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ความพยายามและความทุ่มเทของเด็ก ๆ ทำให้ชนะเลิศในวันนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยา ดาสา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา มศว กล่าวว่า “หลักสูตรสะเต็มกำลังสอง เรื่อง “ถ้าพรุ่งนี้…ไม่มีไฟฟ้า” เป็นการเรียนรู้บูรณาการมาตรฐานและตัวชี้วัดของ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ในระดับชั้นมัธยมตอนต้น มุ่งส่งเสริมสมรรถนะของผู้เรียนในการบูรณาการความรู้และข้อมูลที่ได้จากการเรียนรู้มาออกแบบแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศเพื่อให้มีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคง ราคาเหมาะสม ลดการปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมและสามารถสื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์ภายใต้คำถามสำคัญ “เราจะมีพลังงานไฟฟ้าใช้ให้ยั่งยืนได้อย่างไร” โดยในปีที่ผ่านมามีโรงเรียนลงทะเบียนใช้หลักสูตรมากกว่า 200 โรงเรียน”

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นลินา ประไพรักษ์สิทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้กล่าวในการเปิดงานว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมทั้งด้านการเรียนรู้และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านการบริการวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตรศึกษาที่เป็นเลิศ ซึ่งโครงการพัฒนาหลักสูตรสะเต็มกำลังสอง เป็นหนึ่งในการนำเสนอความเชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการ สู่การเรียนรู้ที่ส่งเสริมทั้งด้านความรู้ ทักษะ ทัศนคติและเจตคติของผู้เรียน ผสานรวมกันจนเกิดเป็นสมรรถนะของผู้เรียน

นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มศว ได้เริ่มพัฒนาหลักสูตรสะเต็มกำลังสอง เรื่อง “ถ้าพรุ่งนี้...ไม่มีไฟฟ้า” ตั้งแต่ 2559 และผลักดันมาอย่างต่อเนื่องเพราะเล็งเห็นว่าการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้ด้วยตนเองอย่างสร้างสรรค์ ผู้เรียนที่ได้เรียนในหลักสูตรนี้จะมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งกิจกรรมการประกวดผลงานนักเรียนที่ดำเนินมาต่อเนื่องทุกปีนี้ สะท้อนผลลัพธ์ หลักสูตร STEM² อย่างน่าพอใจ นักเรียนสามารถตัดสินใจ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับไฟฟ้าทั้งในชีวิตประจำวันและแนวทางการจัดหาไฟฟ้าในอนาคตอย่างเพียงพอและลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่ กฟผ. ผลักดันเพื่อแก้วิกฤติพลังงานอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งเป็นมาตรการที่ความจำเป็นเร่งด่วนในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ”

นอกจากนี้ในงาน นายศิริวัฒน์ เจ็ดสี ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมโรงไฟฟ้า ได้กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า นอกจากหลักสูตรสะเต็มกำลังสองแล้ว กฟผ. ยังมีโครงการอื่นด้านการศึกษาที่ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกและการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตไฟฟ้า เช่น ห้องเรียนสีเขียว ศูนย์การเรียนรู้ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เป็น 1 ใน 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ ที่ทำบันทึกความเข้าใจในโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนด้านนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และเพิ่มโอกาสในการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒต่อไป ซึ่งเป็นมาตรการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow)  ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และบริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด จัดการแข่งขันหุ่นยนต์สำหรับเยาวชนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ FIRST® LEGO® League (FLL) ในหัวข้อ SUPERPOWEREDSM

บนเป้าหมายเพื่อฝึกการวางแผนและทำงานเป็นทีมเพื่อแก้โจทย์ที่ท้าทาย มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้พลังงานในด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ สู่การต่อยอดนวัตกรรมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยสู่การแข่งขันระดับนานาชาติที่สหรัฐอเมริกา

การแข่งขัน FIRST® LEGO® League (FLL) จัดการแข่งขันเป็นสองระดับ ได้แก่ 1) FIRST® LEGO® League Challenge แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ทำภารกิจบนสนาม (Robot Performance) การนำเสนอโครงงาน (Project) และการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ (Core Values) โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น และ 2) การแข่งขัน FIRST® LEGO® League Explore ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ การนำเสนอโครงงาน (Project) และการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ (Core Values) กลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนระดับประถมศึกษา โดยในปีนี้ มีผู้สมัครเข้าแข่งขัน FIRST® LEGO® League Challenge จำนวน 28 ทีม และผู้เข้าแข่งขัน FIRST® LEGO® League Explore จำนวน 29 ทีม ซึ่งได้จัดการแข่งขันไปเมื่อวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “เพราะเราเชื่อมั่นว่าการสนับสนุนการศึกษาด้านสะเต็ม หรือ STEM Education ซึ่งประกอบด้วย 4 สาขาวิชาหลัก คือ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) อย่างจริงจังจะช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและส่งเสริมความยั่งยืน Dow จึงได้ร่วมกับพันธมิตรทั่วโลกในการพัฒนาเยาวชนในหลายๆ โครงการ รวมทั้งการแข่งขัน FLL ในประเทศไทย ซึ่งเราได้มีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เด็กไทยได้มีโอกาสแสดงความสามารถและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ซึ่งจะกลายเป็นประสบการณ์ที่มีค่าและมีส่วนช่วยในการพัฒนาความสามารถต่อไป

ดร.นวลวรรณ ชะอุ่ม ประธานโครงการ FIRST® LEGO® League ประเทศไทย กล่าวว่า “การแข่งขัน FLL จะเป็นการกระตุ้นศักยภาพของเยาวชนไทย ในด้านการเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ รวมไปถึงการคิด วิเคราะห์ และการแก้ปัญหา อย่างเป็นระบบและเป็นขั้นตอน ซึ่งทักษะดังกล่าวนั้นสำคัญยิ่งในยุคปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแข่งขันในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่จะให้เยาวชนไทยได้พัฒนาและพิสูจน์ตัวเองในการเป็นตัวแทนทีมชาติไทย เพื่อเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไป”

ผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศ (Champion’s Award: 1st Place) รุ่น FLL Challenge ได้แก่ทีม GALARGIZE โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ได้รับถ้วยรางวัล ใบประกาศนียบัตร พร้อมของรางวัลมูลค่า 51,000 บาท และสิทธิ์ในการเป็นตัวแทนทีมชาติไทยในการแข่งขันระดับนานาชาติ ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ (Champion’s Award: 2nd Place) ได้แก่ทีม SKDWr Crispy Rice โรงเรียนสุคนธีรวิทย์ จ.นครปฐม รับถ้วยรางวัล ใบประกาศนียบัตร พร้อมของรางวัลมูลค่า 40,000 บาท

ส่วนผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศ (Champion’s Award: 1st Place) รุ่น FLL Explore ได้แก่ทีม Energy Wind Team สถาบัน Top Robot Kids จ.สงขลา ได้รับถ้วยรางวัล ใบประกาศนียบัตร พร้อมของรางวัลมูลค่า 28,000 บาท และสิทธิ์ในการเป็นตัวแทนทีมชาติไทยในการแข่งขันระดับนานาชาติ ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ (Champion’s Award: 2nd Place) ได้แก่ทีม Bot New Gen สถาบัน iBot Academy Rayong จ.ระยอง รับถ้วยรางวัล ใบประกาศนียบัตร พร้อมของรางวัลมูลค่า 14,000 บาท

ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของโครงการ FIRST® LEGO® League (FLL) ในปีนี้ Dow ได้พิจารณามอบรางวัลพิเศษ Dow Innovation Award ในระดับ FLL Challenge ให้กับทีม Junior Engineer โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ จ.นครปฐม และในระดับ FLL Explore ให้กับทีม Cheer Beat สถาบัน iBot Academy Rayong จ.ระยอง ซึ่งทีมวิศวกรของ Dow ได้คัดเลือกผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรม และรางวัล Popular View ให้กับทีม GALARGIZE โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ซึ่งคัดเลือกจากความนิยมในการรับชมคลิปวีดีโอแนะนำตัวของแต่ละทีมบน YouTube โดยได้รับป้ายเกียรติคุณรางวัลพิเศษ พร้อมเงินรางวัลทีมละ 5,000 บาท

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกทีมจะได้รับรางวัลในหัวข้อต่าง ๆ กัน และได้รับเกียรติบัตรจากการแข่งขันเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่เยาวชนทุกท่านในการพัฒนาผลงานและส่งเสริมให้เกิดความรักในวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไปในอนาคต

 

จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เผยว่า ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

สถานการณ์ของโควิด-19 ได้สร้างชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ขึ้นหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการเรียนออนไลน์ จากเดิมที่การเรียนการสอนเป็นแบบพบกันในห้องเรียน ต้องเปลี่ยนเป็นการเรียนผ่านจอบนชั้นเรียนออนไลน์แทน แน่นอนว่านักเรียนต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ และได้ส่งเสียงสะท้อนถึงความท้าทายในการเรียนออนไลน์ออกมาอย่างหลากหลายในโซเชียลมีเดีย เช่น การเข้าถึงอุปกรณ์ไอที ปัญหาสัญญาณอินเตอร์เน็ต ขณะที่ห้องเรียนมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้มากกว่า ทั้งยังได้รับคำแนะนำจากครูผู้สอนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะวิชาที่มีการฝึกปฏิบัติ จนมีกระแสเรียกร้องให้หยุดเรียนออนไลน์ 1 ปี รอให้สถานการณ์ดีขึ้นเพื่อพาเด็กกลับเข้าสู่ห้องเรียนอีกครั้ง แต่เพราะการศึกษาไม่สามารถหยุดได้ ทางออกของเรื่องนี้จึงอยู่ที่การจัดการเรียนการสอนออนไลน์อย่างไรให้สามารถส่งเสริมและกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียนให้ได้รับความรู้และทักษะทางอาชีพให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายของโครงการ STEM Career Academies ในการสร้างเยาวชนสู่การเป็นบุคลากรสายอาชีพที่มีคุณภาพภายใต้เงื่อนไขการเรียนในระบบออนไลน์ด้วยเช่นกัน

แก้โจทย์เรียนออนไลน์

โครงการ STEM Career Academies หรือโครงการพัฒนาโมเดลสะเต็มศึกษาสู่โลกอาชีพ จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเยาวชนที่ขาดโอกาสสู่การเป็นบุคลากรในสายอาชีพที่มีความรู้และทักษะสอดคล้องกับความต้องการในโลกปัจจุบัน อาทิ ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ดูแลผู้สูงอายุ นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่น เกษตรกรยุคใหม่ เพื่อสร้างอาชีพที่มั่นคง

ก้าวหน้า ให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM-ED) ภายใต้โครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’

 

                                              บรรยากาศระหว่างการสอนออนไลน์

                               บรรยากาศการเรียนแบบ On Site ก่อนสถานการณ์โควิด-19

โครงการ STEM Career Academies ได้พัฒนารูปแบบให้เข้ากับยุค New Normal ตลอดจนแก้ไขข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ นำร่องที่การฝึกอบรมอาชีพเชฟ นักพัฒนาเว็บไซต์ และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ด้วยการให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนออนไลน์แบบ Livestream และส่งเสริมทักษะอื่นๆ ไปด้วย เช่น ความพร้อมในการทำงานในยุคดิจิทัล ทักษะด้านการสื่อสาร การบริหารจัดการ การคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาต่างๆ นอกจากนี้ ผู้เรียนจะมีโอกาสได้เรียนรู้กับเมนเทอร์หรือที่ปรึกษาซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานจริง มีการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนต่างๆ เช่น มอบซิมโทรศัพท์เพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง เครื่องครัวครบชุดเพื่อการทำอาหารทุกประเภท หรือแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอทีที่จำเป็นสำหรับการเรียน เพื่อลดอุปสรรคเรื่องเครื่องมือ และปรับหลักสูตรการสอนเพื่อผู้เรียนและเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางการทำงานจริง

เสียงสะท้อนจากเยาวชน

บางคนอาจจะเริ่มขมวดคิ้วแล้วเกิดคำถามว่า การพัฒนาทักษะทางอาชีพผ่านระบบการเรียนแบบ Livestream จะสร้างความตื่นเต้นและทำให้ผู้เรียนเข้าใจ ได้ฝึกทักษะอาชีพ และมองเห็นอนาคตของตัวเองได้อย่างไร วรรธนัย ไกรเพ็ชร หรือ น้องเบส หนึ่งในผู้เรียนในสายวิชาชีพนักพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์ในโครงการ STEM Career Academies เล่าให้ฟัง

                 วรรธนัย ไกรเพ็ชร ผู้เรียนในสายวิชาชีพนักพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์

“เมื่อก่อนผมเป็นคนไม่สนใจการเรียนในห้องเพราะรู้สึกเหมือนถูกละเลยจากครูผู้สอน ไม่กล้าตั้งคำถาม และไม่เห็นภาพว่าวิชาที่เรียนจะตอบโจทย์การทำงานในอนาคตอย่างไร แต่พอผมได้มีโอกาสเรียนคอร์สระยะสั้นเพื่อพัฒนาทักษะในการทำงานด้านไอที แม้ว่าผมจะไม่ได้เรียนในห้องโดยตรง แต่ก็รู้สึกว่าการสอนในชั้นเรียนออนไลน์ทำให้ผมอยากเรียนรู้และสนุกกับการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นโครงการยังส่งอุปกรณ์การเรียนมาให้ผมครบถ้วน ระหว่างการสอนก็จะมีการฝึกให้ทำไปด้วย พอมีอะไรที่ผมทำไม่ได้หรือเริ่มมีปัญหา พี่ๆ เมนเทอร์จะคอยให้คำตอบและถ่ายทอดความรู้ตลอด แม้ว่าจะไม่ได้เจอหน้ากัน สำหรับผม ผมรู้สึกกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ทักษะในการพัฒนาเว็บไซต์ก็ถูกพัฒนามากขึ้นจนทำให้ผมมั่นใจและสามารถมองเห็นเส้นทางอาชีพด้านไอทีชัดเจนยิ่งขึ้น”

นอกเหนือจากทักษะด้านไอที วงการนักรังสรรค์อาหารถือเป็นอีกหนึ่งการปรับตัวทางด้านการสอนที่ท้าทายทั้งเชฟรอนและเมนเทอร์ ที่จะออกแบบการเรียนให้ผู้เรียนฝึกมือได้อย่างไรให้ตรงจุดที่สุด

           อิสกันดาร์ กูโน ผู้เรียนในสายวิชาชีพศิลปะการประกอบอาหารและโภชนาการเบื้องต้น

อิสกันดาร์ กูโน หรือ น้องดาร์ หนึ่งในผู้เรียนในสายวิชาชีพศิลปะการประกอบอาหารและโภชนาการเบื้องต้นในโครงการ STEM Career Academies บอกว่า “ก่อนที่ผมจะได้พัฒนาทักษะจากโครงการนี้ ผมเคยเรียนทำอาหารออนไลน์ แต่อุปสรรคการเรียนทั้งเรื่องอินเตอร์เน็ตและเครื่องครัวที่ไม่ครบถ้วน ทำให้ผมเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ ตั้งแต่เข้าโครงการ STEM Career Academies ผมได้รู้ว่าวิทยาศาสตร์และการทำอาหารเป็นของคู่กัน พี่ๆ เมนเทอร์คอยสอนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบใหม่ๆ ที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน ทางโครงการสนับสนุนทั้งเครื่องครัวทีครบถ้วน อินเตอร์เน็ตที่เร็วและแรง ทำให้ผมเข้าถึงทักษะต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว”

 น้องดาร์ยังบอกอีกว่า “แม้ว่าการเรียนในโครงการจะถูกปรับให้เป็นแบบออนไลน์ที่เชฟผู้สอนไม่ได้ใกล้ชิดเรา แต่เทคนิคการสอนก็ช่วยให้ผมรู้สึกสบายใจและได้ความรู้อย่างเต็มเปี่ยม เปิดมุมมองที่ทำให้ผมรู้ว่าวิทยาศาสตร์กับการทำอาหารก็เป็นของคู่กัน และผมคิดว่าผมจะนำทักษะเหล่านี้ไปต่อยอดเพื่อประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวในอนาคตอีกด้วยครับ”

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “สถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้การเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนสู่ระบบออนไลน์ เพื่อให้เยาวชนยังคงได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะอย่างต่อเนื่อง โครงการ STEM Career Academies จึงต้องปรับวิธีการสอนสู่ระบบออนไลน์ โดยลดข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ต่างๆ ลงให้น้อยที่สุด รวมถึงเพิ่มความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคตเข้าไปในหลักสูตร เพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด เพื่อให้โครงการบรรลุเป้าหมายในการ พัฒนาความรู้และทักษะอาชีพให้กับเด็กที่ขาดโอกาส ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้อย่างแท้จริง”

###

X

Right Click

No right click