เคทีซีจับมือสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เปิดเวทีเสวนา เตือนภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ “อนาคตภัยไซเบอร์ กับอนาคตการป้องปราบ” สร้างการตระหนักรู้-รับมือ-ไม่ตกเป็นเหยื่อ ติดอาวุธทางความคิดให้คนไทยตั้งสติ รับมือกับความเสี่ยงก่อนทำธุรกรรมการเงินบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในผู้สูงอายุ เผยกลโกงมิจฉาชีพรูปแบบใหม่เป็นกรณีศึกษา พร้อมแนะวิธีสังเกต เทคนิคป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อและการแก้ไข
นายไรวินทร์ วรวงษ์สถิตย์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานควบคุมงานปฏิบัติการและปฏิบัติการร้านค้า “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า “เคทีซีให้ความสำคัญกับการศึกษาและพัฒนาระบบบริหารการป้องกันภัยทุจริตให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นสถาบันการเงินรายแรกในเอเชีย แปซิฟิก ที่ได้รับมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยของข้อมูลบัตรเครดิต (PCI DSS) จากสถาบันรับรองมาตรฐานแห่งชาติของประเทศอังกฤษ BSI (British Standards Institution) และพร้อมจะสนับสนุนให้สมาชิกและผู้บริโภคได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อร่วมป้องกันภัยไซเบอร์ในเบื้องต้นไปด้วยกัน เราจึงได้ร่วมมือกับองค์กรหน่วยงานต่างๆ จัดเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้ได้ร่วมกับสกมช. เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และอัพเดทภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ๆ ให้กับคนไทย นอกเหนือจากการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเคทีซีครอบคลุมทั้งระบบ”
“โดยปัจจุบันแนวโน้มการทุจริตจากธุรกรรมที่ไม่ใช้บัตร (card not present) หรือใช้โปรแกรมสุ่มเลขบัตรไปทำธุรกรรมการเงิน (Bin Attack) และการที่ข้อมูลรั่วไหล (Data Compromise) ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เคทีซีจึงได้ออกผลิตภัณฑ์ “บัตรเครดิต เคทีซี ดิจิทัล” (KTC Digital Credit Card) เพื่อยกระดับความปลอดภัยขั้นกว่าในการใช้บัตรเครดิตให้กับสมาชิกเคทีซี ซึ่งเป็นการป้องกันการทุจริตประเภท card not present หรือ Data Compromise”
“ภัยไซเบอร์เป็นภัยใกล้ตัวและลุกลามเข้าถึงกลุ่มเปราะบางมากขึ้น โดยใช้ความหวาดกลัวในการล่อลวง การเตรียมตัวและการป้องกันภัยด้านไซเบอร์ในวันนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนทุกกลุ่มต้องเรียนรู้อย่างเท่าทัน เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อตนเองและคนรอบข้าง โดยรูปแบบของภัยไซเบอร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบันคือ Social Engineering รูปแบบต่างๆ และ Remote Control ซึ่งปัจจุบันสามารถเข้าถึงระบบไอโอเอส (iOS) ได้เช่นเดียวกับแอนดรอยด์ (Android) และแนวโน้มในการหลอกโอนเงินมีความเสียหายที่สูงกว่าเคส Remote Control โดยมิจฉาชีพจะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงอายุ”
“ภัยจาก Social Engineering มีหลายรูปแบบ เป็นวิธีการโจมตีทางไซเบอร์ที่มุ่งหวังให้เหยื่อทำตามคำสั่งของผู้โจมตี โดยใช้เทคนิคการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างของเทคนิค Social Engineering ที่พบมากที่สุดในปัจจุบันคือ 1) Phishing คือการส่งอีเมลปลอมเพื่อหลอกให้ผู้รับกดลิงค์ ใช้เทคนิคหลอกลวงเหยื่อเพื่อขอข้อมูลส่วนตัว เช่น รหัสผ่าน เลขบัตรเครดิต หรือข้อมูลสำคัญอื่นๆ ซึ่งเป้าหมายของการโจมตีด้วย Phishing คือให้กรอกข้อมูลสำคัญ เช่น ข้อมูลหมายเลขบัตรเครดิต หรือข้อมูลทางการเงินอื่นๆ โดยเราสามารถป้องกันได้ง่ายๆ คือ ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัวผ่านทางอีเมลหรือเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบ URL หรือที่มาของข้อความนั้นๆ อยู่เสมอ 2) Vishing คือหนึ่งในเทคนิคการโจมตีทางไซเบอร์ที่ใช้เสียงในการสื่อสาร โดยมักจะติดต่อผ่านโทรศัพท์เพื่อหลอกลวงผู้ใช้ให้ข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลบัญชีที่สำคัญ เช่น หมายเลขบัตรเครดิต รหัส OTP หรือข้อมูลอื่นๆ เป็นต้น ที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีคือแก๊งค์คอลเซนเตอร์ ซึ่งนำไปสู่การถูก Remote Access เป็นต้น 3) Smishing คือการใช้ข้อความที่ถูกส่งผ่าน SMS (Short Message Service) เพื่อหลอกลวงเหยื่อให้ข้อมูลส่วนตัว หรือคลิกลิงก์ที่อาจสร้างความเสี่ยงด้านความปลอดภัย
ควรระวังไม่คลิกลิงค์ที่ดูไม่น่าเชื่อถือ ปัจจุบันธนาคารไม่มีนโยบายแนบลิงค์ผ่าน SMS หรือส่ง SMS ที่มีเนื้อหาให้กดแลกคะแนนด่วนเพื่อแลกของรางวัล เป็นต้น”
นายนพรัตน์ สุริยา ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายป้องกันทุจริตบัตรเครดิตและร้านค้า “เคทีซี” กล่าวว่า “ปัจจุบันภัยไซเบอร์ที่เกิดจากการรีโมท คอนโทรล (Remote Control) ที่มิจฉาชีพหลอกให้กดลิงค์ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เริ่มมีแนวโน้มลดลง แต่การถูกแก๊งค์คอลเซ็นต์เตอร์หลอกให้โอนเงินโดยตรง กลับมีแนวโน้มที่สูงขึ้นและความเสียหายก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเปราะบางและถูกหลอกได้ง่าย ใช้วิธีการล่อลวงเจ้าของบัญชีให้เกิดความหวาดกลัวว่ามีส่วนในการฟอกเงินโดยแอบอ้างมา
จากสถานีตำรวจภูธร (สภอ.) ต่างๆ หรือติดต่อจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และมีพัสดุต้องสงสัยหรือถูกนำชื่อไปเปิดเบอร์โทรศัพท์มือถือที่พัวพันกับขบวนการฟอกเงิน เป็นต้น”
“กรณีรีโมท คอนโทรล ที่ผ่านมา มิจฉาชีพมักจะหลอกผู้เสียหายให้คลิกลิงค์และดาวน์โหลดแอปฯ ในระบบแอนดรอยด์ (Android) เป็นหลัก เพื่อจะเข้าควบคุมมือถือ (Remote Control) ในการเข้าถึงแอปพลิเคชันธนาคารต่างๆ แต่ปัจจุบันมิจฉาชีพสามารถหลอกลวงเหยื่อในระบบ iOS ผ่านโทรศัพท์มือถือ iPhone ได้เช่นกัน”
“การป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ยังคงต้องย้ำว่า ควรเริ่มต้นที่ตัวเราทุกคนและสามารถป้องกันได้ง่ายๆ ดังนี้ 1) หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันของบริษัทหรือหน่วยงานใดๆ ให้ติดตั้งเองผ่าน Official Store เท่านั้น ห้ามกดผ่านลิงค์เด็ดขาด เพราะแอปฯ ปลอมเหมือนจริงมาก 2) หากมีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาให้กดลิงค์ดาวน์โหลดหรือติดตั้งแอปฯ และแจ้งว่าต้องทำตามขั้นตอน หรือแจ้งว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการฟอกเงินใดๆ ให้สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพ รวมถึงให้ติดต่อกลับไปยังหน่วยงานต้นสังกัดที่ติดต่อมาจากเบอร์โทรศัพท์หน้าเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อตรวจสอบและยืนยัน 3) หากผิดสังเกตว่าถูกรีโมท (Remote) หรือมีการลงแอปฯ ที่ต้องสงสัย ให้ตัดการเชื่อมต่อ พยายามปิดแอปฯ (Force Shutdown) และดำเนินการล้างเครื่องทันที (Factory Reset) เนื่องจากมีมัลแวร์ (Malware) แฝงอยู่ในเครื่อง ซึ่งผู้ทุจริตจะยังสามารถรีโมทต่อเมื่อไหร่ก็ได้ 4) การตั้งรหัสแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ ควรตั้งค่าให้แตกต่างกัน และแยกจากแอปฯ ประเภทอื่น”
“สำหรับสมาชิกเคทีซี เราให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า เพื่อให้สมาชิกทำธุรกรรมการเงินได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย และแน่นอนว่าการป้องกันภัยจากการทุจริตต่างๆ จะเกิดประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ถ้าสมาชิกสร้างภูมิคุ้มกันร่วมกับเคทีซี แนะนำให้สมาชิกเพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล ด้วยการดาวน์โหลดและใช้แอปฯ “KTC Mobile” ซึ่งมีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ความสะดวกในการใช้งานและฟังก์ชันป้องกันความปลอดภัย อาทิ ระบบตั้งเตือนการใช้จ่ายผ่านบัตรทุกรายการ กำหนดยอดใช้จ่ายที่ต้องการ ตั้งเตือนก่อนวันชำระ รวมทั้งบริการที่ลูกค้าสามารถตั้งค่าทำรายการได้ด้วยตนเอง เช่น การอายัดบัตรชั่วคราว การกำหนดวงเงินและการขอวงเงินชั่วคราว นอกจากนี้ ยังอยากย้ำเตือนให้สมาชิกระมัดระวังการแจ้งรหัสให้กับบุคคลอื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการทุจริตเข้าถึงบัญชี”
พลอากาศตรี จเด็ด คูหะก้องกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เผยว่า “สกมช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภาพรวมให้กับประเทศไทย ได้มีการติดตามสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศ โดยแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ รวมถึงหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ และกลุ่มที่ 2 ได้แก่ คนไทยที่มีการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวัน”
“โดยในกลุ่มที่ 1 พบว่าพ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มีการโจมตีทางไซเบอร์ต่อข้อมูลและระบบสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐ รวมถึงหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,808 เหตุการณ์ โดยอันดับ 1 ได้แก่ การแฮ็คเข้าเว็บไซต์ (Hacked Websites) คิดเป็น 59 เปอร์เซ็นต์ อันดับ 2 ได้แก่ เว็บไซต์ปลอม (Fake Websites) คิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ และอันดับ 3 ได้แก่ การหลอกลวงการเงิน (Finance-related gambling) คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการขาดความเข้าใจในการออกแบบระบบสารสนเทศอย่างมั่นคงปลอดภัย (Secure software development) รวมถึงการขาดการป้องกันและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Protection and incident response) อย่างถูกต้อง”
“ในกลุ่มที่ 2 พบว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มิจฉาชีพมีการปรับเปลี่ยนวิธีการหลอกลวงคนไทยอย่างต่อเนี่อง โดย สกมช. ได้มีการติดตามกลุ่มมิจฉาชีพที่มีการใช้โซเชียล มีเดีย เป็นสื่อกลางในการหลอกลวงคนไทย ได้แก่ การหลอกให้ลงทุน หลอกให้แจ้งความออนไลน์ การชักจูงให้เล่นการพนันออนไลน์ รวมถึงการหลอกลวงโดยอ้างว่าเป็นหน่วยงานหรือสถาบันการเงินด้วย ทั้งนี้ สกมช. ได้มีการทำงานเชิงรุกร่วมกับแพลทฟอร์มโซเชียล มีเดียหลายราย รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้ให้บริการโทรคมนาคมมาโดยตลอด ทำให้สามารถปิดกั้นกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ”
“ในส่วนของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและสถาบันการเงินนั้น ตลอดปีที่ผ่านมา สกมช. ได้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถาบันการเงินหลายแห่ง โดยได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับการใช้เว็บไซต์ปลอมเป็นสถาบันการเงินเพื่อหลอกลวงคนไทย ควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้ให้บริการโดเมนเนม เพื่อจัดการกับเว็บไซต์ปลอมดังกล่าว มิให้สามารถใช้หลอกลวงคนไทยได้อีกต่อไป ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ทำให้สามารถดำเนินการกับเว็บไซต์ปลอมได้มากกว่า 749 รายการ เนื่องจากมิจฉาชีพสามารถสร้างเว็บไซต์ปลอมขึ้นมาใหม่ได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นงานที่เราจะต้องติดตามและจัดการกับเว็บไซต์ปลอมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ควบคู่ไปกับการยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์ตาม พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ให้กับสถาบันการเงิน โดยทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สมาคมธนาคารไทย Thailand Banking Sector CERT และ Thailand Telecommunication Sector CERT โดย สกมช. จะเป็นหน่วยงานกลางที่จัดทำข้อกำหนดขั้นต่ำด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (National Cybersecurity Baseline) และหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล (Regulator) จะกำกับดูแลให้หน่วยงานภายใต้การกำกับดำเนินการตามข้อกำหนดขั้นต่ำดังกล่าว รวมถึงมีการฝึกซ้อมและตรวจประเมินทุกปี ให้กับหน่วยงานเหล่านั้นด้วย”
“สุดท้ายนี้อยากฝากถึงคนไทยทุกคนในการป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพและภัยไซเบอร์ ด้วยหลัก 3 ไม่ คือ ไม่เชื่อ ไม่ทำ ไม่โดน โดยเฉพาะในส่วนแรกคือ ต้องไม่เชื่อใครง่ายๆ เช่น ไม่เชื่อเรื่องการซื้อขายออนไลน์ที่ดีเกินจริงหรือถูกกว่าราคาตลาด ไม่เชื่อว่าจะมีบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนด้านการลงทุนที่สูงเกินจริง และไม่เชื่อว่าจะมีหน่วยงานใดติดต่อไปหาทางโทรศัพท์หรือแอดไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ หากตกเป็นเหยื่อแล้ว ขอให้รีบติดต่อธนาคารเพื่ออายัดเงินเป็นลำดับแรก ก่อนจะติดต่อไปที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) หรือ ศูนย์ AOC สายด่วน 1441 รวมทั้งหากพบการหลอกลวงออนไลน์ดังที่กล่าวมาแล้ว สามารถติดต่อ สกมช. ผ่านช่องทางต่างๆ ในเว็บไซต์ ncsa.or.th เพื่อร่วมกันจัดการกับมิจฉาชีพต่อไป”
สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) โดย พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) โดย นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และยกระดับทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งในรูปแบบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และการเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์ e-learning รวมถึงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ตลอดจนการดำเนินการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ร่วมกัน เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ณ ห้อง Confidential สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า “หนึ่งในภารกิจหลักของ สกมช.คือการมุ่งมั่นลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์เพื่อยกระดับประเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งประเด็นเรื่องข้อมูลรั่วไหลและการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีจำนวนครั้งที่เกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ และมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านองค์ความรู้และทักษะ ทางดิจิทัลเริ่มส่งผลกระทบกับองค์กรต่าง ๆ อย่างรุนแรงยิ่งกว่าเดิม ดังนั้น สกมช. จึงเพิ่มความเข้มข้นของการทำงานโดยบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในการทำงานเพื่อวางรากฐานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ โดยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ของประเทศให้แก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้สามารถป้องกันและสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้และทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้เข้าถึงประชาชนทุกระดับทุกช่วงวัย ผ่านเครือข่ายของ สกมช. ในรูปแบบของการทำงานเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นการจัดโครงการหรือการจัดอบรมต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านไซเบอร์ โดยท่านสามารถติดตามรายละเอียดโครงการดีๆ จาก สกมช. ได้ที่ Facebook NCSA Thailand
สุดท้ายนี้ สกมช. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับ สพร. โดยหวังว่าความร่วมมือกันของทั้ง 2 หน่วยงาน จะนำพาไปสู่การเดินหน้ายกระดับทักษะและองค์ความรู้แก่ภาครัฐในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์และก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัย”
นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกล่าวว่า การรู้เท่าทันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในเชิงลึกของบุคลากรภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งในยุคที่ต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนที่คาดหวังว่าจะสามารถใช้บริการภาครัฐได้ตลอดเวลาแม้ไม่ใช่เวลาราชการ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานราชการก็มีการปรับตัวสามารถให้ประชาชนหลากหลายช่องทางมากขึ้นทั้งแบบออนไลน์และให้บริการผ่านศูนย์บริการร่วมภาครัฐในวันเสาร์และอาทิตย์ การให้บริการภายในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ดังนั้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่สถาบัน TDGA ได้ร่วมจัดฝึกอบรมหลักสูตรสำคัญด้านความมั่นคงปลอดภัย อาทิ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงภาครัฐในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย หรือ Chief Information Security Officer: CISO หลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการที่เกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์ หรือ Cyber war game และหลักสูตรทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ หลักสูตร CISO สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการผลักดันขับเคลื่อนให้ทุกหน่วยงานเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะของบุคลากรภาครัฐด้านความมั่นคงปลอดภัยไซบอร์ ผ่านการสำรวจระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย
นอกจากนี้ สถาบัน TDGA มีความยินดีที่จะแลกเปลี่ยนสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ในหลักสูตรที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และหลักสูตรด้านดิจิทัลอื่น ๆ ร่วมกับ สกมช. เพื่อการยกระดับทักษะด้านการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล Digital Literacy ไปสู่ Cyber Security Literacy ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจและตระหลักถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้หลักสูตรดังกล่าวผ่านระบบ Digital Government Learning Platform ซึ่งเป็นระบบการเรียนรู้ออนไลน์ผ่านสื่อ e-Learning ที่ผู้เรียนสามารถเข้าเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ปัจจุบันแพลตฟอร์มนี้เปิดให้บริการหลักสูตรด้านดิจิทัลแบบออนไลน์ ให้แก่บุคลากรภาครัฐ ตลอดจนประชาชนที่ ต้องการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยหน่วยงานที่เป็นเครือข่ายความร่วมมือ ก็สามารถใช้ประโยชน์จากศูนย์กลางการเรียนรู้นี้เพื่อการยกระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่กลุ่มเป้าหมายของหน่วยงานได้ด้วย ปัจจุบันมีผู้เข้าอบรมหลักสูตร e-Learning และได้รับใบประกาศนียบัตรดิจิทัลจากสถาบัน TDGA รวมแล้วมากกว่า 1.9 ล้านครั้ง สำหรับผู้ที่ต้องการ Upskill และ Reskill สามารถเข้าเรียนหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลตามความสนใจได้ที่เว็บไซต์ tdga.dga.or.th
ภูมิทัศน์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั่วโลกได้ส่งผลกระทบต่อแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กรต่าง ๆ รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในทุกมิติ ในปัจจุบัน หลายองค์กรได้บูรณาการความปลอดภัยทางไซเบอร์เข้าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ซึ่งหมายความว่าหลายภาคอุตสาหกรรมจะต้องการผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเติมเต็มความต้องการที่กำลังเติบโตในสายงานด้านนี้ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ยังขาดแคลนความแตกต่างหลากหลายของผู้มีความรู้ความสามารถ ความไม่สมดุลของจำนวนเพศชายและหญิงยังคงปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนในสายงานด้านนี้ โดยพบว่า ในปี 2565 มีผู้หญิงจำนวนคิดเป็นสัดส่วนแค่ 25%[1] ที่ทำงานในด้านนี้ ทั้งนี้ ในยุคที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ต่างพยายามอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมผู้มีความรู้ความสามารถเพื่อให้รองรับกับความท้าทายที่เกิดจากอาชญากรไซเบอร์ในปัจจุบัน หนึ่งในความพยายามดังกล่าวคือความร่วมมือระหว่างหัวเว่ย และ สกมช. ในการจัดการแข่งขัน 'Women Thailand Cyber Top Talent 2023' โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมความรู้ความสามารถให้แก่แรงงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างภูมิทัศน์ดิจิทัลที่แข็งแกร่งและสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ได้กล่าวถึงโครงการจัดการแข่งขันครั้งนี้ว่า “ในประเทศไทยมีจำนวนผู้หญิงที่ทํางานในสายไซเบอร์ซีเคียวริตี้คิดเป็น 3% ของแรงงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 10% เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับหัวเว่ยในการเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์หญิงในประเทศและส่งเสริมความหลากหลายทางเพศให้กับอุตสาหกรรมไอทีด้วยการจัดการแข่งขัน ‘Women Thailand Cyber Top Talent 2023’ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เรียนรู้ เพิ่มทักษะ และพัฒนาประสบการณ์ ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นอกจากนี้ หัวเว่ย และ สกมช. ไม่เพียงแต่มองเห็นการเสริมศักยภาพของผู้หญิงในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เท่านั้น แต่ทั้งสององค์กรมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตซึ่งให้ความสำคัญกับความหลากหลายซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของนวัตกรรมและความเป็นเลิศในโลกดิจิทัลที่พัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว”
การแข่งขัน ‘Women Thailand Cyber Top Talent 2023’ ประกอบไปด้วยการแข่งขันในรอบคัดเลือกผ่านระบบออนไลน์ มีทีมเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 218 ทีมจากสามระดับ ได้แก่ ระดับนักเรียน (Junior) ระดับนักศึกษา (Senior) และระดับประชาชนทั่วไป (Open) รวมผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 ระดับ กว่า 407 คน และมีการจัดการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศแบบออนไซต์ เพื่อเฟ้นหาทีมชนะเลิศในแต่ละระดับจากทีมที่ได้รับคัดเลือกจํานวน 30 ทีม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้าน ICT ให้แก่ผู้หญิงและผู้มีเพศสภาพหญิง ซึ่งจะปูทางไปสู่การสร้างผู้มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลที่หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้ การแข่งขันยังเป็นการยกระดับความรู้ ทักษะ ให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงศักยภาพด้านต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและความท้าทายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้ และยังช่วยให้ประเทศไทยมีแรงงานความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพียงพอกับความต้องการในปัจจุบันและในอนาคต
น.ส. พิมพ์ชนก อุตตะมี ตัวแทนผู้ชนะจากทีม 'NR01' ในระดับนักเรียน (Junior) กล่าวว่า "การได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน ‘Women Thailand Cyber Top Talent 2023’ ถือเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเข้าร่วมการแข่งขันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นครั้งแรก ประสบการณ์ที่ได้รับค่อนข้างเป็นสิ่งใหม่ซึ่งช่วยเปิดโอกาสอันมากมายให้ได้เรียนรู้และแสดงความสามารถ และทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้น ในฐานะผู้หญิงยุคใหม่ซึ่งมีความสนใจในสายงานด้านนี้ บทบาทสำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ การเผยแพร่ความรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่ผู้อื่นเท่าที่จะทำได้ และเราทุกคนล้วนแล้วแต่สามารถส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกของเยาวชนไทยในการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ ด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีสติหรือการรู้เท่าทันถึงภัยคุกคามไซเบอร์”
“เทคโนโลยีจากหัวเว่ยและองค์กรเอกชนอื่น ๆ จะมีบทบาทอย่างมากในการช่วยยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับและป้องกันกิจกรรมที่ละเมิดกฎหมายไซเบอร์ เช่น การใช้ประโยชน์จาก AI ในการตรวจจับและคาดการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ นอกจากนี้ การสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการทำงานร่วมกันและการแลกเปลี่ยนความรู้ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในการเสริมสร้างความเข้าใจอันแข็งแกร่งเกี่ยวกับความรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับคนไทย” น.ส. พิมพ์ชนก กล่าวเสริม
ร.ท.หญิง รติรส แผ่นทอง ร.น. และ จ.ส.ต.หญิง ณัฐธยาน์ เรื่อศรีจันทร์ จากทีม ‘hacKEr4nDtHECA7-1’ ในระดับประชาชนทั่วไป (Open) กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนศูนย์ไซเบอร์ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งปฏิบัติงานด้านไซเบอร์ของกองทัพไทยโดยตรง เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลชนะเลิศครั้งนี้ เพราะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพหน่วยงานของเราในการปกป้องความปลอดภัยระบบนิเวศทางไซเบอร์ของประเทศไทย อีกทั้งเป็นการวัดระดับขีดความสามารถของพวกเราเมื่อเทียบกับบุคคลภายนอก พร้อมเป็นการส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาและการพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริงในกับหน่วยงานได้”
“เราอยากจะสนับสนุนให้ผู้หญิง หรือผู้ที่มีเพศสภาพเป็นหญิง รวมไปถึงเพศสภาพอื่นๆ (LGBTIQA+) ให้ลองออกมาทำในสิ่งที่ท้าทายตัวเองมากขึ้น เช่น การเพิ่มความรู้ด้านเทคโนโลยี ด้วยการยกระดับทักษะและการเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมศักยภาพแรงงานดิจิทัลของทั้งอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การสร้างสรรค์ให้เกิดความหลากหลายภายในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้วยการเพิ่มจำนวนผู้หญิงและผู้ที่มีเพศสภาพเป็นหญิง (LGBTIQA+) จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มจำนวนผู้มีความรู้ความสามารถและส่งเสริมไอเดียนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งนี้ ความก้าวหน้าด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพยายามของหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ภาคเอกชนก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน ดังเช่นหัวเว่ยซึ่งให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ และบุคลากรมาโดยตลอด ความร่วมมือนี้จะมีส่วนช่วยในการสร้างภูมิทัศน์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่งสำหรับประเทศต่อไป” ร.ท.หญิง รติรส กล่าวเสริมในตอนท้าย
ทั้งนี้ หัวเว่ยดำเนินงานในประเทศไทยมาเป็นเวลา 24 ปี และบริษัทได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างรวดเร็วของประเทศ เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะบ่มเพาะผู้มีความสามารถด้านดิจิทัลและเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับเหล่าพาร์ทเนอร์รายสำคัญ สร้างสรรค์มาเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะ ช่วยให้ประเทศเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ตามพันธกิจ ‘เติบโตในประเทศไทย เพื่อประเทศไทย’ (In Thailand, For Thailand) และ ‘ก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง’ (Leading Everyone Forward and Leaving No One Behind) ของหัวเว่ย บริษัทจะยังคงลงทุนในประเทศไทยต่อไปเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับสถานะของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาค
[1] https://cybersecurityventures.com/women-in-cybersecurity-report-2023/
ปัจจุบันองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปต่างเป็นส่วนหนึ่งของโลกไซเบอร์ เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนช่วยให้เราสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและใช้งานได้อย่างสะดวกสบายขึ้นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ ที่ทำให้เราไม่ต้องเดินทางไปที่ธนาคารเอง หรือการส่งเอกสารผ่านอีเมล ทำให้ข้อมูลสำคัญจำนวนมากถูกส่งถึงกันได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที อย่างไรก็ตาม ความสะดวกสบายเกินไปก็อาจกลายเป็นดาบสองคม เพราะมันทำให้บางครั้งหลายฝ่ายอาจไม่ได้นึกถึงประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัย จนเกิดเป็นปัญหาลุกลามด้านการฉ้อโกง การขโมยข้อมูลสำคัญ หรือแม้แต่การเรียกค่าไถ่ทางไซเบอร์กับองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลก ประเด็นเรื่อง “ความปลอดภัยทางไซเบอร์” จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องหันมาร่วมมือกันพัฒนาความปลอดภัยของระบบ รวมถึงเร่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านดิจิทัลที่ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ของระบบโดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามที่เสี่ยงจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างทันท่วงที และพร้อมรับกับทั้งโอกาสและความท้าทายที่กำลังจะมาถึง
หน่วยงานภาครัฐอย่างสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรบุคคลด้านดิจิทัลและด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่จะต้องถูกป้อนเข้าตลาดแรงงานไทยให้เพียงพอ จึงได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในภาคเอกชนอย่าง บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จัดการแข่งขัน Thailand Cyber Top Talent 2023 ขึ้น โดยมุ่งหวังพัฒนาทักษะให้กลุ่มคนรุ่นใหม่มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลที่เหมาะสม จนสามารถเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์โดยเฉพาะ และเป็นผลงานคุณภาพจากภาคการศึกษาไทยที่จะเดินทางเข้าสู่หน่วยงานหรือองค์กรไทยทุกแห่งในอนาคต
การแข่งขัน Thailand Cyber Top Talent 2023 แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา และระดับประชาชนทั่วไป โดยล่าสุดทีม Rebooster แชมป์เก่าตัวแทนจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ คว้ารางวัลชนะเลิศกลายเป็นแชมป์สมัยที่ 2 ติดต่อกัน หลังเอาชนะทีมจำนวน 354 ทีมจากทั่วประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน ถือเป็นครั้งแรกที่สถาบันในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยสามารถทำได้ ส่งให้สมาชิกของทีมประกอบด้วย นรต.วรรณกร นุ่นประดิษฐ์ นรต.ทัศไนย มานิตย์ และ นรต.สุดฤทธิ์ วงษ์สุวรรณ จะได้รับสิทธิเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในรายการ Cyber SEA Game 2023 ที่มีผู้ชนะจากทั่วภูมิภาคมาร่วมประชันฝีมือ
นรต.สุดฤทธิ์ วงษ์สุวรรณ ตัวแทนจากทีม Rebooster ผู้ชนะการแข่งขันได้กล่าวถึงประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากการแข่งขัน Thailand Cyber Top Talent 2023 ว่า “การเข้าร่วมการแข่งขันทำให้ผมได้เจอกับเพื่อน ๆ หลายคน และยังได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนคนอื่น ๆ ในวงการ Cyber Security ของประเทศไทย ระหว่างการแข่งผมได้เรียนรู้เทคนิคในการเจาะระบบเพิ่มขึ้นมาก ทีมงานจะให้เรามาแข่งแฮกระบบและเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยมีโจทย์มาให้เราทำ ฝั่งหนึ่งเป็นคนเจาะระบบและอีกฝั่งเป็นคนป้องกัน ซึ่งทีมผมก็ทำทั้งสองฝั่งและมีการวิเคราะห์ไฟล์ต่าง ๆ ซึ่งทีมเรามีคะแนนรวมสูงที่สุดจากผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 831 ทีม จึงได้รางวัลชนะเลิศ ก่อนการแข่งขันผมได้เรียนรู้เรื่องไซเบอร์จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่ได้ทำ MOU กับหัวเว่ย ให้ใช้เทคโนโลยีหัวเว่ย คลาวด์ จึงได้เรียนรู้ค่อนข้างมาก ซึ่งในอนาคตผมสนใจไปทำงานที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่มักจะรับคนที่มีความรู้ทักษะเกี่ยวกับด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มาทำงาน ไปเป็นตำรวจที่ทำหน้าที่จับผู้ร้ายที่เปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมาย เช่น เว็บพนัน หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ต้องตามหาต้นตอให้เจอ บางคนในทีมของเราอาจจะไปทำงานด้านพิสูจน์หลักฐาน เช่น การจัดการกับหลักฐานที่ถูกทำลายอย่างฮาร์ดดิสก์ ทุกครั้งที่มีการจัดการแข่งขันเกี่ยวกับด้านไซเบอร์ ผมรู้สึกดีใจมากที่คนไทยให้ความสนใจอยากรู้ว่ามันเกี่ยวกับอะไร ตัวผมเองก็ได้มีโอกาสไปหาความรู้ในด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเชื่อว่าคนไทยหลายคนทั้งที่ร่วมแข่งและไม่ได้เข้าร่วมก็อยากรู้เกี่ยวกับเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน”
เขายังมองว่าการจะทำให้ประเทศไทยมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจจะเริ่มจากการให้องค์กรต่าง ๆ ในไทยให้ข้อมูลที่สอดแทรกความรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์แก่คนไทยมากขึ้น เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การเจาะระบบในรูปแบบฟิชชิง (Phishing) หรือการสร้างเว็บไซต์อย่างไรให้ว่าไม่มีช่องโหว่หรือมีช่องให้แฮกน้อย ซึ่งข้อมูลจากหลายปีที่ผ่านมาทำให้รู้ว่าเว็บไซต์ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยมีช่องโหว่ที่ตรวจพบได้เยอะมาก เนื่องจากเจ้าของเว็บไซต์เขียนโค้ดได้ไม่ปลอดภัย หรืออาจจะใช้บริการที่มีช่องโหว่ ทำให้แฮกเกอร์สามารถเจาะระบบเข้าไปได้ง่าย ๆ
ด้านนรต.วรรณกร นุ่นประดิษฐ์ ยังให้ข้อมูลเสริมว่าเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยป้องกันภัยคุกคามได้ แต่ก็ยังมีความแม่นยำต่ำและสามารถช่วยได้ในระดับพื้นฐานเท่านั้น จึงต้องรอการพัฒนาต่อยอดต่อไปในอนาคต ซึ่งปัจจุบันระบบ Cyber Security ของหัวเว่ยและผู้พัฒนาอีกหลายราย ๆ ก็ได้รับการออกแบบมาป้องกันภัยคุกคาม ได้ดี โดยผลิตภัณฑ์จะมีการอัปเดตอยู่เสมอเพื่อป้องกันช่องโหว่ใหม่ ๆ เพราะทุกระบบจะมีช่องโหว่อยู่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะถูกตรวจพบเมื่อไหร่ ซึ่งเทคโนโลยีของหัวเว่ยมีคุณภาพที่ดีเยี่ยม เพราะมีระบบการตรวจสอบสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน และทำได้ง่าย
ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในความคืบหน้าสำคัญของโครงการฝึกอบรมบุคลากรด้านดิจิทัลในประเทศไทยของทาง สวทช. ที่มุ่งสร้างบุคลากรดิจิทัลในหน่วยงานรัฐของประเทศไทยที่ปัจจุบันมีเพียง 0.5% จากบุคลากรทั้งหมด 460,000 คน โดยการแข่งขัน Thailand Cyber Top Talent เป็นการร่วมมือกับ บริษัท
หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี เพื่อพัฒนาบุคลากรไทยในด้านดิจิทัล ผ่านการจัดกิจกรรม การแข่งขัน การฝึกอบรม การเขียนโค้ดให้มีความรัดกุมปลอดภัย และยังสนับสนุนไปถึงเรื่องการสอบใบรับรองด้านวิศวกรเครือข่ายในรูปแบบต่าง ๆ อีกด้วย
ทั้งนี้บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด มีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เช่นเดียวกับทาง สกมช. โดยได้นำเทคโนโลยีชั้นนำเข้ามาช่วยสนับสนุนทางด้านการศึกษาให้กับหลาย ภาคส่วนของประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้ร่วมสนับสนุนโครงการแข่งขันทักษะทางไซเบอร์กับ สกมช. และหน่วยงานอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลของประเทศไทยผ่านการบ่มเพาะบุคลากร ตามพันธกิจของหัวเว่ยที่ว่า 'เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย และร่วมสนับสนุนประเทศไทย' เพื่อการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคต่อไปในอนาคต