December 25, 2024

กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้จะไม่มากนัก เพราะมองว่าปัจจัย Trump trade ได้ทยอยหมดไปแล้ว สำหรับปี 2025 มองว่าเงินบาทอาจยังอ่อนค่าต่อในช่วงครึ่งแรกของปีเนื่องจาก เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะยังแข็งแกร่ง ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปอาจฟื้นช้าทำให้เงินยูโรอ่อน นอกจากนี้ มาตรการ Tariffs จะทำให้การค้าโลกชะลอ กระทบเศรษฐกิจในภูมิภาคทำให้ค่าเงินอ่อน อย่างไรก็ดี SCB FM มองว่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 โดยมองว่าการลดดอกเบี้ยของ Fed ราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มลดลง ราคาทองคำที่อาจสูงขึ้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจไหลกลับเข้า EM ช่วงปลายปี อาจช่วยให้เงินบาทแข็งค่าได้ โดยมองกรอบปลายปีที่ราว 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยไทย SCB FM คาดว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้ง ในการประชุมแรกเดือน ก.พ. ปีหน้า ตามสถานการณ์สินเชื่อในไทยที่ปรับแย่ลงต่อเนื่อง รวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงด้านลบมากขึ้นจากนโยบาย Trump 2.0

นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า แม้เงินบาทในเดือนที่ผ่านมาอ่อนค่าเร็วกว่าช่วงหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2016 ที่ Trump ชนะเช่นกัน แต่ SCB FM มองว่าปัจจัยเรื่อง Trump trade ล่าสุดได้จบไปแล้ว ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้จะไม่มากนัก สะท้อนจาก 1) เงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าได้บ้าง หลังเลขเศรษฐกิจไทยออกมาดีกว่าคาด เช่น GDP ไตรมาส 3 และเลขการส่งออก 2) การแต่งตั้ง Scott Bessent เป็น รมว.คลังสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนเชื่อว่านโยบายของ Trump จะไม่แข็งกร้าวมาก Treasury yields จึงปรับลดลงเร็ว และเงินดอลลาร์อ่อนค่า และ 3) ตลาดเริ่มชินกับการประกาศ Tariffs ของ Trump มากขึ้น โดยล่าสุด Trump ประกาศเตรียมขึ้น Tariffs จีน แคนาดา เม็กซิโก และกลุ่ม BRICS ทำให้เงินภูมิภาครวมถึงบาทอ่อนค่า แต่การอ่อนค่ายังน้อยกว่าการประกาศครั้งก่อน ๆ และน้อยกว่าในปี 2017 (Trump 1.0) ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่า เงินบาทจะยังผันผวนสูงแต่ไม่อ่อนค่ามาก โดยอาจอยู่ที่กรอบราว 34.00-35.00 ในช่วงที่เหลือของปีนี้

เงินบาทอาจอ่อนค่าต่อช่วงครึ่งแรกของปี 2025 แต่อาจกลับมาแข็งค่าได้ช่วงครึ่งปีหลัง โดยปัจจัยหลักที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าต่อได้คือ 1) เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่าเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ โดยเฉพาะยุโรป ทำให้เงินดอลลาร์จะยังแข็งค่า และเงินยูโรอาจยังอ่อนค่าต่อได้ 2) การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะกดดันให้เงินภูมิภาคอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงินหยวนที่อาจอ่อนค่าเร็วเพราะ Trump อาจใช้ Executive orders เพื่อขึ้น Tariffs ต่อจีนได้เร็ว และ 3) การกีดกันทางการค้าที่น่าจะมีมากขึ้นอาจทำให้การค้าโลกชะลอลง กดดันเศรษฐกิจไทยและคู่ค้าสำคัญ ทำให้เงินบาทอ่อน โดยนายแพททริกมองว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า เงินบาทอาจอ่อนค่าแตะระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงที่เหลือของปี อาจยังไหลออกต่อได้จากความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่มาก และเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่งทำให้เงินยังไหลเข้าสหรัฐฯ โดยข้อมูลล่าสุดขี้ว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายกลับไปไหลออกในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้ แม้ว่าจะเริ่มไหลเข้าตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ไทยในไตรมาสที่ 3 ก็ตาม

ในระยะยาว มองว่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้ โดยมองกรอบปลายปีที่ราว 33.50-34.50 ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นผลจาก 1) การลดดอกเบี้ยของ Fed โดยนายแพททริกมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ย 2-3 ครั้งในปี 2025 ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Treasury yields) ลดลง และดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าได้ 2) รัฐบาลสหรัฐมีแนวโน้มขาดดุลการคลังมากขึ้น จากการลดภาษีและการใช้จ่ายที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอาจอ่อนค่า 3) เงินทุนเคลื่อนย้ายอาจไหลกลับเข้า EM รวมถึงตลาดเอเชียและไทย 4) ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มลดลงในปี 2025 ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยอาจสูงขึ้น และ 5) ราคาทองคำอาจปรับสูงขึ้นจากแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโลกที่อาจลดลง ซึ่งราคาทองที่สูงขึ้นจะช่วยดันให้เงินบาทแข็งค่าได้

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในระยะข้างหน้าจะสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค เช่น เงินหยวน และเงินเยน โดยมองว่าเงินหยวนอาจอ่อนค่าต่อในปีหน้า จาก 1) เศรษฐกิจจีนน่าจะชะลอลงต่อ และมาตรการรัฐอาจมีจำกัด 2) ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยต่อ ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยจะยังกว้าง นอกจากนี้ เงินหยวนจะได้รับผลกระทบจากมาตรการ Tariffs มากที่สุด แต่คาดว่า Market reaction อาจน้อยกว่าสมัย Trump 1.0 เนื่องจากนักลงทุนเริ่มเคยชินกับภาษี ทำให้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Flight to quality flows) อาจน้อยลง 3) ทางการจีนอาจปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่า เพื่อเป็น Cushion ต่อการส่งออกที่แย่ลง สำหรับมุมมองเงินเยน นายวชิรวัฒน์มองว่า เงินเยนอาจยังเคลื่อนไหว Sideways ในปีนี้ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะยังแข็งแกร่ง ทำให้ดอลลาร์ยังแข็งเทียบกับเยน แต่ในปีหน้าคาดว่า เงินเยนจะทยอยแข็งค่าเทียบต่อดอลลาร์สหรัฐ จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่จะยังอยู่สูงตามค่าแรงญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะสามารถขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ ทั้งนี้ ยังต้องจับตาการ Unwind carry trade ที่อาจทำให้เยนแข็งค่าเร็วกว่าคาด

ความผันผวนในระยะต่อไปอาจสูงขึ้น และแนวโน้ม Trade protectionism จากทางสหรัฐฯ อาจทำให้การใช้เงินหยวนกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยเงินทุนเคลื่อนย้ายและเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จะได้รับอิทธิพลจากนโยบายของ Trump ซึ่งมักจะโพสต์ผ่าน Social media จึงมองว่าการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนผ่านการทำธุรกรรม Forward และการหันมาใช้สกุลเงินภูมิภาค เช่น เงินหยวน หรือเงินเยน จะมีความสำคัญมากขึ้น โดยล่าสุดพบว่า สัดส่วนการใช้เงินหยวนผ่านระบบ Swift ปรับเพิ่มขึ้นเร็วในปี 2023 หลังจีนหันมาเน้นการค้าขายในภูมิภาคมากขึ้น และเงินหยวนอ่อนค่าในช่วงดังกล่าวทำให้ผู้ขายได้ประโยชน์มากขึ้น

สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยไทย ตลาดมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยในการประชุมแรกของปีหน้า (เดือนกุมภาพันธ์) และตลาดมองว่าจะมีการลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในช่วงกลางปี 2025 ทำให้ Terminal rate จะลงไปที่ราว 1.75% อย่างไรก็ดี นายวชิรวัฒน์มองว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้ง ในการประชุมแรกเดือน ก.พ. ปีหน้า ตามสถานการณ์สินเชื่อที่ปรับแย่ลงต่อเนื่อง รวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงด้านลบมากขึ้นจากนโยบาย Trump 2.0

พร้อมผนึกพาร์ทเนอร์ทั่วประเทศ มอบโปรโมชันเด็ดเอาใจคนรักสัตว์เลี้ยงตลอดปี 2567

SCB WEALTH จัดกิจกรรมพิเศษสุดเอกซ์คลูซีฟ ปิดรอบพิเศษละครเวที  “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล” โดยมี นายกฤษณ์  จันทโนทก  (กลาง) กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมด้วย  ดร.ยรรยง ไทยเจริญ (ที่3ขวา) รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และรักษาการผู้บริหารสายงาน Private Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ นายศรชัย  สุเนต์ตา  (ที่3ซ้าย) , CFA  รองผู้จัดการใหญ่  ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth นางสาวรัฐยา ทองรัตน์  (ที่2ขวา) ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่  ผู้บริหารสายงาน Wealth Strategy and Enablement  และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Private Banking Strategy and Enablement ธนาคารไทยพาณิชย์  และทีมผู้บริหาร SCB WEALTH  ให้การต้อนรับกลุ่มลูกค้า SCB WEALTH   เพื่อมอบความสุขและความบันเทิงให้กับกลุ่มลูกค้าเวลล์  นอกเหนือจากความมุ่งมั่นในการบริหารความมั่งคั่งให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุดในทุกช่วงจังหวะของการลงทุน  ณ เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ ศูนย์การค้าเอสพละนาด รัชดาภิเษก เมื่อเร็วๆนี้

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ SCB WEALTH  ที่ตั้งใจมอบประสบการณ์ที่ดี และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีอย่างใกล้ชิดกับลูกค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และความไว้วางใจในการให้ธนาคารดูแลบริหารความมั่งคั่งต่อไปอย่างยาวนาน   โดย SCB WEALTH มีความใส่ใจในทุกรายละเอียดและเข้าใจทุกความต้องการของลูกค้า  จึงได้มีการจัดกิจกรรมพิเศษในครั้งนี้  รวมทั้งการให้ข้อมูลความรู้ทางด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่องเสมือนเป็น Thought Partner ที่ใส่ใจดูแลความมั่งคั่ง ด้วยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และโซลูชั่นการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในทุกๆด้านของการลงทุน และตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง

ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย จับมือ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (CSCECTH) สนับสนุนการค้ำประกันสีเขียว (Green Guarantee) มูลค่า 2,000 ล้านบาท ร่วมผลักดันการก่อสร้างงานโยธาในช่วงหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ – หนองคาย ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงกลยุทธ์ในการเชื่อมโยงภูมิภาค  ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจและเศรษฐกิจในประเทศไทย นอกจากนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงยังเป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การคมนาคมด้วยระบบรางที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากยานพาหนะและรถไฟ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนไทยตลอดเส้นทางอีกด้วย 

ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ยังสนับสนุนสินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ และสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทาน มูลค่า 840 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเชิงการค้า พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสภาพคล่องทางการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงธุรกิจที่ตั้งเป้าไว้ 

นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า โครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในช่วงครึ่งปีแรกของ 2567 มีมูลค่ารวม 325,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นยอดขอรับการส่งเสริมจากผู้ประกอบการจากจีน 72,873 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22 % ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมทั้งหมด1 สำหรับเอชเอสบีซี มูลค่าการดำเนินธุรกิจระหว่างธนาคารฯ และลูกค้าองค์กรที่เข้ามาขยายธุรกิจในอาเซียนเติบโตขึ้นประมาณ 60% ในปี 2566 โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตนี้ ด้วยบทบาทของธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการในประเทศไทยมาอย่างยาวนานถึง 136 ปี ธนาคารเอชเอสบีซีมุ่งมั่นที่จะผลักดันการลงทุนจากต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการนำเสนอนวัตกรรมโซลูชันด้านการเงินที่ครบวงจรแก่ทั้งลูกค้าธุรกิจจากจีนและทั่วโลก” 

 การค้ำประกันสีเขียว (Green Guarantee) สินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ และสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้ความร่วมมือนี้ จะช่วยสนับสนุนการก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นเส้นทางที่สำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยและจีน โดยการค้ำประกันสีเขียว (Green Guarantee) วงเงิน 2,000 ล้านบาทนี้ครอบคลุมการชำระเงินล่วงหน้าและการค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - หนองคาย (สัญญาที่ 4 – 3 ระยะทางจากนวนคร - บ้านโพ) นอกจากนี้ สินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ และสินเชื่อเพื่อห่วงโซ่อุปทาน วงเงิน 840 ล้านบาท จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการเงินทุนหมุนเวียน การบริหารจัดการสภาพคล่อง และการขยายเวลาการชำระเงิน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าผ่านความน่าเชื่อถือและความมั่นคงทางการเงินที่ดียิ่งขึ้น 

“บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (CSCEC) และบริษัทในเครือ มีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับธนาคารเอช-เอสบีซีมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปีใน 20 ประเทศจากหลายภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร และอาเซียน โดยธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับบริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเชื่อมโยงอาเซียนกับจีน ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ยังเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของธนาคารฯ ในการขยายโอกาสการลงทุนจากต่างประเทศ และสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่องค์กรธุรกิจระดับโลกมีต่อเอชเอสบีซี ในฐานะธนาคารระหว่างประเทศยอดเยี่ยมของไทย ซึ่งได้รับการยอมรับจากยูโรมันนี่ (Euromoney) และไฟแนนซ์เอเชีย (FinanceAsia) เป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน” นายกัมบา กล่าวเสริม 

นายเปง ลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เราได้ทำงานกับธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของเราประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 โดยธนาคารเอชเอสบีซีได้สนับสนุนเราตลอดการดำเนินงาน ด้วยความเข้าใจเชิงลึกของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในประเทศไทย เครือข่ายธุรกิจใน 60 ประเทศ รวมทั้งความเชี่ยวชาญด้านการเงิน ความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย  และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” 

“โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – หนองคายจะเป็นอีกพลังขับเคลื่อนสำคัญที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับจีนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โครงการนี้จะเชื่อมต่อเส้นทางจากกรุงเทพฯ สู่รถไฟเส้นทางลาว – จีน ซึ่งจะทำให้การคมนาคมเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ อีกทั้งยังส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศอีกด้วย” นายลี่ กล่าวทิ้งท้าย 

SCB WEALTH ได้คัดสรรผลิตภัณฑ์การลงทุนร่วมกับบลจ.ทิสโก้ ส่งกองทุน TTARGET8M1  โดยมีธนาคารเป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงรายเดียว นำร่องโครงการ No Gain No Pay  ที่จะไม่เก็บค่าธรรมเนียมหากกองทุนไม่ถึงเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด  TTARGET8M1 เน้นลงทุนตลาดหุ้นไทย ที่จับจังหวะการลงทุนดี หนุนกองทุนถึงเป้าหมายเร็วกว่าคาด ใช้เวลาเพียงแค่ 1 เดือน 13  วัน เท่านั้น จากระยะเวลาที่กำหนดไว้ประมาณ 8 เดือน  SCB WEALTH จะมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์ให้กับลูกค้าในแต่ละช่วงเวลาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ด้านการลงทุน พร้อมเพิ่มโอกาสสร้างความมั่งคั่งในพอร์ตลงทุนได้ในทุกภาวะตลาด  ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆของธนาคารที่ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจโดยมีสัญลักษณ์ของ No Gain No Pay จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง หากมีภาวะการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับลูกค้าของธนาคาร

นายศรชัย  สุเนต์ตา , CFA  รองผู้จัดการใหญ่  ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product  กลุ่มธุรกิจ Wealth  ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า  โครงการ No Gain No Pay  แนวคิดใหม่ของการลงทุน  ได้เริ่มในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา  ด้วยแนวคิดที่ใส่ใจผลประโยชน์ลูกค้าเป็นตัวตั้ง ด้วยการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ลงทุนที่มีคุณภาพมานำเสนอให้กับลูกค้าเพื่อต่อยอดความมั่งคั่ง โดยโครงการ No Gain No Pay  จะไม่คิดค่าธรรมเนียมการขาย (Front end fee) และค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ (Management Fee) หากมูลค่าหน่วยลงทุนไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และจะคิดค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน (Back end fee) ที่มีความยุติธรรม โดยจะเก็บก็ต่อเมื่อกองทุนมีกำไรหรือทำได้ตามเป้าหมาย  เพื่อตอกย้ำว่าธนาคารให้การดูแลลูกค้าเสมือน Thought Partner และสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนให้กับลูกค้า

ทั้งนี้  SCB WEALTH จะพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ  โดยใช้แนวทาง Open architecture  ในการสรรหาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์ และคัดเลือก  Best in class ให้กับลูกค้า โดยเราจะคัดสรรผลิตภัณฑ์การลงทุนจากภายนอกธนาคารมานำเสนอให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง  เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์การลงทุนให้มีความหลากหลาย  รวมทั้งมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และเหมาะสมในแต่ละภาวะการลงทุน ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราได้คัดสรรผลิตภัณฑ์การลงทุนร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน  ทิสโก้  จำกัด   โดยการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดทิสโก้  ทาร์เก็ต 8M1 (TTARGET8M1) ซึ่งธนาคารเป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงรายเดียว  ระหว่างวันที่  14 - 28   สิงหาคม  2567  อายุโครงการประมาณ 8 เดือน  โดยนับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งกองทุนในวันที่ 29  สิงหาคม 2567 ถึงวันที่ 11  ตุลาคม  2567 ใช้ระยะเวลาเพียง 1 เดือน 13 วัน   มูลค่าหน่วยลงทุน(NAV) ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 10.8218 บาทต่อหน่วย ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน หากราคา NAV ไม่ต่ำกว่า 10.82  ติดต่อกัน 3  วันทำการ  จะเข้าเงื่อนไขการเลิกโครงการ

กองทุนTTARGET8M1 มีนโยบายลงทุนในตราสารทุน โดยมุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นไทย โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน  ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ / หรือตลาดเอ็มเอไอ รวมถึงตลาดหลักทรัพย์อื่นๆที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี  มีความมั่นคง และมีแนวโน้มการเจริญเติบโตทางธุรกิจที่ดี  คัดเลือกลงทุนในหุ้นไทยที่มีระดับราคาน่าสนใจ ได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล  โดยช่วงเวลาที่ SCB WEALTH ได้พิจารณาการออกกองทุนร่วมกับบลจ.ทิสโก้ นับเป็นช่วงจังหวะที่ดีของการลงทุนในตลาดหุ้นไทย   

SCB CIO มองว่า ตลาดหุ้นไทยจะได้รับแรงหนุนการจากลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น และการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2568 ที่มีความต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการแจกเงิน  1หมื่นบาทที่จะช่วยภาคการบริโภค และภาคการท่องเที่ยวเข้าสู่ช่วง  High Season  นอกจากนี้ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย ที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้นจากภาครวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว   รวมทั้งเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยผ่านกองทุนรวมวายุภักษ์  ส่งผลให้กองทุน TTARGET8M1 ถึงเป้าหมายเร็วกว่าที่กำหนดไว้

นายศรชัย กล่าวต่อไปว่า SCB WEALTH  ยึดมั่นในการสรรหาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละช่วงเวลาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าได้รับผลประโยชน์ด้านการลงทุน สามารถเพิ่มโอกาสสร้างความมั่งคั่งในพอร์ตลงทุนได้ในทุกภาวะตลาด  และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆของธนาคาร ที่ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ โดยมีสัญลักษณ์ของ No Gain No Pay จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีภาวะการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับลูกค้าของธนาคาร

อย่างไรก็ตาม  ข้อมูลกองทุนทริกเกอร์ ฟันด์ ภายใต้การบริหารของ บลจ.ทิสโก้   ณ วันที่  11  ตุลาคม  2567  มีกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ที่ถึงเป้าหมายภายในกำหนดเวลาลงทุน  86 กองทุน ถึงเป้าหมายเกินกำหนดเวลาลงทุน 32 กองทุน  ยังไม่ถึงเป้าหมายอยู่ในระยะเวลาที่กำหนด 1  กองทุน และยังไม่ถึงเป้าหมายเกินกำหนดเวลาลงทุน  31  กองทุน  รวมทั้งหมด 150  กองทุน


คำเตือน

  • กองทุนเปิด ทิสโก้ ทาร์เก็ต 8M1 (TTARGET8M1) ความเสี่ยงกองทุนระดับ 6 ความเสี่ยงสูง
  • มูลค่าหน่วยลงทุนเป้าหมายไม่ใช่การรับประกันผลตอบแทนจากการลงทุน และผู้ลงทุนไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนนี้ในช่วงระยะเวลา 8 เดือนได้ ดังนั้น หากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก
  • ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
  • การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้าเงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนกองทุนเปิด ทิสโก้ ทาร์เก็ต 8M1 (TTARGET8M1) 
  • ศึกษาข้อมูลกองทุนหลักและหนังสือชี้ชวนกองทุนที่ร่วมรายการเพิ่มเติมได้จาก Website ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม tisco.co.th และสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมผ่าน SCB Easy App หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่  SCB Call  Center  โทร 02-777-7777
Page 1 of 32
X

Right Click

No right click