December 23, 2024

KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) ชี้ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2567 ยังเผชิญกับความ ไม่แน่นอนต่อเนื่อง ตลาดลงทุนยังอยู่กับความผันผวน ในขณะเดียวกันสินทรัพย์การลงทุนดั้งเดิมไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามที่นักลงทุนคาดหวัง

จึงเปิดกลยุทธ์สำคัญผ่านการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดที่ช่วยกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวน สร้างเสถียรภาพ เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน และโอกาสการลงทุนในธุรกิจชั้นนำแห่งอนาคต จากสถิติผลตอบแทนย้อนหลัง 3-10 ปี พบว่าหุ้นนอกตลาด (Private Equity) ให้ผลตอบแทนเหนือกว่าหุ้นในตลาด (Public Market) ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา KBank Private Banking ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์สินทรัพย์นอกตลาดไปแล้ว 10 กองทุน จากการจับมือกับพันธมิตรชั้นนำระดับโลก และในปีนี้ได้วาง 3 กลยุทธ์หลักสำหรับพอร์ตสินทรัพย์นอกตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้กับลูกค้าสินทรัพย์สูงของธนาคาร

ดร.ตรีพล ภูมิวสนะ Senior Managing Director, Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “ภาพรวมตลาดการลงทุนทั่วโลกในปี 2567 ยังคงผันผวน จากความไม่แน่นอนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก การเลือกตั้งในหลายประเทศทั่วโลก เช่น รัสเซีย อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ต่างๆ ไปจนถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในฝั่งยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิมต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น เห็นได้จากในปี 2566 ที่ผ่านมา ผลตอบแทนในเกือบทุกสินทรัพย์หลักลดลงแรง เช่น ดัชนี MSCI World ที่ปรับตัวลดลงกว่า 20% แม้หลายฝ่ายมองแนวโน้มว่าตลาดทุนมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ แต่ KBank Private Banking มองว่าความผันผวนยังคงอยู่จากปัจจัยความเสี่ยงที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นในฐานะผู้ให้บริการบริหารความมั่งคั่งและผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนมองว่านักลงทุนจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การลงทุน เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงและลดความผันผวนโดยรวม สร้างเสถียรภาพและเพิ่มความมั่นคงให้กับพอร์ต เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน และโอกาสลงทุนในบริษัทที่อาจพลิกโฉมธุรกิจและเป็น เมกะเทรนด์ในอนาคต ผ่านการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด”

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา KBank Private Banking ได้พัฒนาและนำเสนอโอกาสการลงทุนใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการที่แตกต่างของลูกค้า ตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้และระยะเวลาการลงทุนเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด โดยได้นำเสนอไปแล้ว 10 กองทุน ประกอบด้วย 6 กองทุนหุ้นนอกตลาด (Private Equity Fund) ทั่วโลก จีน และไทย 3 กองทุนอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด (Private Real Estate Fund) ทั่วโลก และไทย และ 1 กองทุนหนี้นอกตลาด (Private Credit Fund) ซึ่งผลการดำเนินงานของกองทุนที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิม เช่น กองทุนหุ้นนอกตลาดทั่วโลก (K-GPE19A-UI) ให้ผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุนที่ 58.67%1 ในขณะที่ กองทุนหุ้นนอกตลาดไทย (LH-THAIPE1UI) ที่ลงทุนกับนารา ไทย คูซีน (NARA Thai Cuisine) เครือร้านอาหารไทยชั้นนำก็สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุนได้ถึงกว่า 20% 2(ตั้งแต่จัดตั้งกองทุน) ซึ่งเมื่อเทียบกับเครือร้านอาหารไทยที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่ขาดทุนกว่า 25% 3 ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ จากสถิติ ย้อนหลัง 10 ปี 5 ปี และ 3 ปี พบว่าการลงทุนในหุ้นนอกตลาดสามารถให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นในตลาดได้ถึง +5% +7% และ +9% ตามลำดับ4 

ในปี 2567 KBank Private Banking วางแผนนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำเสนอ 3 กลยุทธ์สำคัญในการบริหารจัดการพอร์ตลงทุนในส่วนที่เป็นสินทรัพย์นอกตลาดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนให้ดีขึ้น มีตัวเลือกดีขึ้น และยังช่วยลดข้อจำกัดเรื่องสภาพคล่องจากการลงทุนในกองทุนสินทรัพย์นอกตลาดแบบดั้งเดิม ได้แก่

1) กลยุทธ์การจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite ที่จะจัดแบ่งส่วนหลักและส่วนเสริมเพื่อกระจายความเสี่ยง และลดความผันผวนผ่านการลงทุนระยะยาว ขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มโอกาสการสร้างผลตอบแทนจากการจับจังหวะลงทุนตามธีมและเมกะเทรนด์ที่กำลังเติบโตขึ้น โดยสัดส่วนหลักหรือ Core จะคิดเป็น 60-80% ของพอร์ตสินทรัพย์นอกตลาดจะเป็นกองทุนสินทรัพย์นอกตลาดกึ่งสภาพคล่อง ที่ลงทุนเพิ่มได้ทุกเดือน ขายหน่วยลงทุนได้เป็นรายไตรมาส และมีล็อกเงินลงทุนเพียง 12-18 เดือน ซึ่งการได้พาร์ทเนอร์กับผู้จัดการกองทุนระดับโลก อย่าง EQT และ Apollo5 เป็นอีกพัฒนาการสำคัญที่เราได้นำเสนอให้กับลูกค้าส่วนบุคคลลงทุนได้ และผลิตภัณฑ์อย่างกองทุนสินทรัพย์นอกตลาดกึ่งสภาพคล่องก็ถือเป็นวิวัฒนาการสำคัญที่ช่วยให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่สัดส่วนเสริมหรือ Satellite คิดเป็น 20-40% ของพอร์ตสินทรัพย์นอกตลาด จะเป็นกองทุนหุ้นนอกตลาดตามธีมต่างๆ เช่น หุ้นนอกตลาดทั่วโลก หุ้นนอกตลาดจีน หุ้นนอกตลาดไทย หุ้นเทคนอกตลาด หุ้นอสังหาฯ นอกตลาดทั่วโลก หุ้นอสังหานอกตลาดไทย รวมถึงหนี้นอกตลาด เป็นต้น

2) ออกแบบพอร์ตการลงทุนที่สร้างให้เฉพาะคุณ (Tailor-made Portfolio Management) โดยสามารถบริหารสัดส่วนพอร์ตลงทุนตามเป้าหมายของแต่ละบุคคลได้อย่างยืดหยุ่น เช่น เมื่อนักลงทุนต้องการสภาพคล่องสูง สามารถเลือกลงทุนในกองทุนสินทรัพย์นอกตลาดกึ่งสภาพคล่องได้ทั้ง 100%

3) การเดินหน้าผนึกกำลังกับพันธมิตรระดับโลกที่ดีที่สุดอย่างไม่หยุดยั้ง (Partner with the Best) เพื่อพัฒนาการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการมาตรฐานระดับโลกให้แก่นักลงทุนไทย ล่าสุดได้ร่วมมือกับบริษัทบริหารสินทรัพย์นอกตลาด ชั้นนำอย่าง EQT ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สามารถระดมทุนการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด ได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก จากยอดระดมทุนมูลค่าหนึ่งแสนสองพันล้านเหรียญสหรัฐฯ6 ในขณะที่ Apollo ที่เป็นบริษัทชั้นนำด้านการจัดการสินทรัพย์ทางเลือกที่มียอดการปล่อยสินเชื่อนอกตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งมีมูลค่ารวมสี่แสนหกหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ7 นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะร่วมมือกับ Goldman Sachs เพื่อร่วมสร้าง Ecosystem การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

“ท่ามกลางความผันผวนสูงที่เกิดขึ้นในตลาดทุนทั่วโลก ทำให้โอกาสการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก อย่าง สินทรัพย์นอกตลาดน่าสนใจยิ่งขึ้น เพราะไม่ว่าจะกองทุนหุ้นนอกตลาด กองทุนอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด และกองทุนอื่นๆ KBank Private Banking ได้ร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกในการคัดสรรบริษัทที่มีศักยภาพ และธุรกิจมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน และช่วยให้นักลงทุนสามารถจัดพอร์ตการลงทุนที่เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนได้ในทุกภาวะเศรษฐกิจ” ดร.ตรีพล กล่าวปิดท้าย

ชู ‘สินทรัพย์นอกตลาด’ ปลดล็อกทางเลือกลงทุน พร้อมโอกาสสร้างผลตอบแทนระยะยาว

จากการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ตลอดจนการประชุม World Economic Forum 2024 หรือ WEF ที่เพิ่งเกิดขึ้น ตอกย้ำให้เห็นว่าทั่วโลกให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหารือแนวทางในการจัดการปัญหานี้ จากรายงานความคืบหน้าในการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake Synthesis Report) ของสหประชาติที่เผยแพร่ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นความจริงอันน่าตกใจว่า นโยบายการบริหารของภาครัฐทั่วโลกในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่เป็นผลดีนัก ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 2.6 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบกับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ตลอดจนการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงปารีสนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้

ท่ามกลางสถานการณ์โลกเดือด แม้นโยบายภาครัฐต่างๆ จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง แต่แท้จริงแล้วการปรับตัวของภาคเอกชนไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีควบคู่ไปกับสร้างโลกที่ยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยเม็ดเงินมหาศาล อีกทั้งยังต้องอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจแห่งอนาคตควบคู่กันไป เช่น การลงทุนในทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานไฟฟ้า และสำหรับนักลงทุนเองนั้นก็จำเป็นต้องวางแผนรับมือกับยุคของการเปลี่ยนผ่านนี้เช่นกัน ด้วยการปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่ให้สอดคล้องและทันกับการเปลี่ยนแปลง เพราะธุรกิจที่เคยดีหรือทำกำไรในอดีต อาจจะไม่สามารถทำแบบเดิมได้อีกต่อไป และหากนักลงทุนไม่สามารถปรับตัวได้ทันก็จะพลาดโอกาสในการลงทุนเช่นกัน

ทำความรู้จักแนวคิด Rethink Sustainability

“Rethink Sustainability” คือแนวคิดจากลอมบาร์ด โอเดียร์ Lombard Odier ไพรเวทแบงก์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกจากสวิสเซอร์แลนด์ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2339 ผ่านวิกฤตทางการเงินกว่า 40 ครั้ง  ปัจจุบันมีทรัพย์สินภายใต้การจัดการ (Asset Under Management: AUM) มูลค่ารวมกว่า 345 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลอมบาร์ด โอเดียร์ เน้นกลยุทธ์ในการสร้างผลตอบที่ยั่งยืนแก่ลูกค้าผ่านโซลูชั่นการลงทุน โดยใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต  โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีการประเมินความเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจ วิกฤตทางการเงิน ตลอดจนภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่วิเคราะห์ถึงปัจจัยรอบด้านอย่างครบถ้วน เพื่อมุ่งออกแบบแผนการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนควบคู่กับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และโลกในอนาคต

ลอมบาร์ด โอเดียร์ เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืนเป็นแนวคิดที่จะส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมในอนาคต  โดยจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ คือ CLIC® Economy ที่มีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน (Circular) ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า (Lean)  ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (Inclusive) และเป็นธุรกิจที่ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่สะอาด (Clean)  ซึ่งนักลงทุนควรที่จะได้เรียนรู้และเข้าใจแนวคิดนี้ เพื่อสร้างโอกาสในการวางแผนการลงทุน พร้อมลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกที่ยั่งยืน

แนวคิดเพื่อความยั่งยืนวิถีใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจ

การเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ถือเป็นความท้าทาย เพราะทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้งานอย่างสิ้นเปลืองจนเกินขอบเขต ทำให้ทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจและประชาชนจะต้องปรับตัวอย่างจริงจัง เพื่อให้แต่ละประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสในการลดภาวะโลกร้อน เพื่อลดอุณหภูมิโลกให้ไม่เพิ่มเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ. 2593 ด้วยความมุ่งมั่นตามข้อตกลงนี้ชี้ให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รูปแบบเศรษฐกิจทั่วโลกควรจะเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจรูปแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน และ CLIC® Economy 

จากการวิจัยที่ผ่านมาของลอมบาร์ด โอเดียร์ เชื่อว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดิน ระบบพลังงาน และภาคการผลิต  จะมีการสร้างแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้การกำหนดราคาคาร์บอนจะเป็นปัจจัยหลักในการจัดสรรเงินทุนเพื่อปรับแผนการบริหารให้เหมาะสม รวมถึงการหาแนวทางในการจัดการคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Emissions) จะเป็นพันธกิจหลักที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ

ปัจจุบันทั่วโลกต่างปรับตัวตามกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อหาแนวทางลดอุณหภูมิโลก รวมทั้งรัฐบาลทั่วโลกต่างก็เพิ่มการสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นผ่านหลากหลายโครงการ เช่น การออกนโยบาย EU Green Deal, การออกกฎหมายลดเงินเฟ้อของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงนโยบายการพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนของประเทศจีนที่มุ่งพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงใน 5 ปี ข้างหน้า

ด้วยเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ลอมบาร์ด โอเดียร์ คาดการณ์ว่าจะเกิดเม็ดเงินลงทุนมูลค่า 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือกว่า 1.2 พันล้านล้านบาท) ภายในปีพ.ศ. 2573 ซึ่งอุตสาหกรรมที่ปรับตัวได้ทันสอดรับกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมนี้จะสามารถสร้างโอกาสการลงทุนมหาศาลและสร้างผลตอบแทนที่มีมูลค่าสูงในอนาคต

ด้วยแนวคิดที่อ้างอิงได้ตามหลักการวิทยาศาสตร์ และวิสัยทัศน์ที่ก้าวหน้า  ลอมบาร์ด โอเดียร์ ได้มีการวางแผนการบริหารพอร์ตการลงทุนตามสภาวะเศรษฐกิจ และเน้นกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเป็นสำคัญ เพื่อขานรับแนวคิดเศรษฐกิจใหม่แห่งอนาคต

ส่งผ่านแนวคิดเพื่อความยั่งยืน จากดูไบสู่ดาวอส  

ธรรมชาติ คือหัวใจสำคัญที่สามารถลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ภายในปีพ.ศ. 2573 ได้ถึงหนึ่งในสาม ลอมบาร์ด โอเดียร์ ในฐานะผู้นำในการขับเคลื่อนการสร้างความยั่งยืน ได้จัดบรรยายในหัวข้อ re-NATURE Hub  เพื่อเผยแพร่ทิศทางการลงทุนที่สำคัญ เพื่อตอกย้ำบทบาทของภาคการเงิน ภาคเอกชน และภาครัฐ ซึ่งแรงขับเคลื่อนหลักที่จะต้องวางแผนร่วมกันเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสในอนาคต  โดยสอดรับกับสาระสำคัญในการจัดประชุมสุดยอดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ครั้งที่ 28 (COP28) ณ ดูไบ ซึ่งเป็นการประชุมที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนระบบการจัดการอาหาร การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน

 มร. ฮูแบร์ เคลเลอร์  Senior Managing Partner, Lombard Odier  กล่าวว่า “ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยใช้แนวทางการฟื้นฟูธรรมชาติจะสามารถช่วยให้เราก้าวข้ามระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันได้ ผ่านการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ไปสู่โลกของ Net Zero ซึ่งเป็นโอกาสการลงทุนที่สำคัญที่สุดของยุคนี้” โดยยังตอกย้ำความสำคัญของแนวคิดด้านความยั่งยืนจากงานประชุม World Economic Forum 2024  ที่เมืองดาวอสเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้นำและผู้บริหารจากทั่วโลกต่างลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ทุกองค์กรต้องปรับการบริหารไปสู่การบริหารบนแนวทางแห่งความยั่งยืนว่า “ธรรมชาติคือสินทรัพย์การลงทุนที่มีมูลค่ามหาศาล (Nature As A New Asset Class) เมื่อพูดถึงการจัดการความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ โลกได้มุ่งความสนใจไปที่การจัดการคาร์บอนมานานกว่า 20 ปี ซึ่งตอนนี้เราทุกคนกำลังหันกลับไปให้ความสำคัญที่ธรรมชาติ จากในอดีตที่ทรัพยากรถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาต่ำที่สุดแต่กลับมีมูลค่ามากที่สุดในยุคปัจจุบัน”

คิดใหม่และเริ่มลงมือทำ เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนในไทย

นอกจากเวทีระดับโลกแล้ว  การหารือแนวทางต่างๆ ภายในประเทศก็มีความสำคัญ เพื่อตอกย้ำความสำคัญของการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคต การสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย เพื่อมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจไทยไปสู่การสร้างโลกที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง KBank Private Banking ร่วมกับพันธมิตร ลอมบาร์ด โอเดียร์ เชื่อมั่นในพลังของการลงทุน จึงตอกย้ำบทบาทของไพรเวทแบงก์ ซึ่งเป็นตัวแทนของนักลงทุนที่มีศักยภาพในการช่วยผลักดันเศรษฐกิจของไทยไปสู่ความยั่งยืนได้ อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้นักลงทุนเองสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคตด้วยโอกาสการลงทุนใหม่ๆ

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “นักลงทุนถือเป็นหนึ่งในผู้นำในการขับเคลื่อนโลก และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมผ่านการกำหนดกลยทุธ์การลงทุนที่เหมาะสม ฉะนั้นนักลงทุนจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาลในการลงทุนในอนาคต และจะเป็นทางรอดสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้มุ่งไปสู่ยั่งยืนได้”

KBank Private Banking ผู้เชี่ยวชาญการลงทุน มองว่าแนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยด้วยการลงมือทำ

นายจิรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า “เราเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยเพื่อเปลี่ยนไปสู่สังคมแห่งความยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการจัดงาน “Rethink Sustainability: A Call to Action for Thailand" ขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 โดยร่วมมือกับพันธมิตรรวบรวมผู้เชี่ยวชาญแนวหน้าระดับโลกและประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมและการวางแผนการลงทุนเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของความยั่งยืนในเชิงความคิดเท่านั้น แต่เป็นงานสัมมนาที่ต้องการจุดประกายให้เกิดการลงมือทำเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง”

ท่านที่สนใจสามารถติดตามข่าวสาร และประเด็นสำคัญในด้านความยั่งยืน (Sustainability) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับปรับใช้กับการบริหารธุรกิจของท่านจากสัมมนาแห่งปี “Rethink Sustainability: A Call to Action for Thailand” อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของงานได้ที่ : https://www.kasikornbank.com/en/News/Pages/rethink-sustainability-forum.aspx 

KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง) แนะผู้ถือครองที่ดินตื่นตัวในการวางแผนจัดการทรัพย์สินที่ดิน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงด้านภาระภาษีที่จะมากยิ่งขึ้นในอนาคต พร้อมสรุป 5 เทรนด์อสังหาริมทรัพย์มาแรงสำหรับเป็นแนวทางให้ผู้ถือครองที่ดินนำที่ดินมาใช้ประโยชน์เพื่อลดภาระภาษี ท่ามกลางกระแสด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลังจากภาครัฐเดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตรา

นางกรกช อรรถสกุลชัย Chief Non-Capital Market Solution, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า “การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทำให้ความต้องการในการซื้อที่ดินเก็บเพื่อส่งต่อเป็นทรัพย์สินให้ลูกหลานมีแนวโน้มลดลง และเกิดความตื่นตัวอย่างมากในการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพย์สินประเภทที่ดินในแต่ละครอบครัว และสำหรับผู้ที่ถือครองที่ดินอยู่แล้วการจัดเก็บภาษีที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ ปี ยังสร้างความสับสนให้กับผู้ถือครองที่ดินอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ สิ่งที่กระทบต่อการคำนวณภาษีก็คือการเปลี่ยนแปลงของราคาประเมินที่ดินโดยกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นฐานที่ใช้ในการคำนวณภาษีที่ดินระหว่างปี 2566 – 2569 จากที่ดินในฐานข้อมูลของ KBank Private Banking พบว่า 50% ของที่ดินราคาประเมินไม่เปลี่ยนแปลง 39% ของที่ดินราคาปรับเพิ่มขึ้น และ 11% ของที่ดินราคาประเมินปรับลดลง ซึ่งราคาประเมินที่ดินที่มีการปรับตัวสูงขึ้นมากคือที่ดินในบริเวณที่ราคาประเมินฯ กับราคาตลาดมีความแตกต่างกันมาก เช่น ที่ดินในต่างจังหวัดโดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว ที่มีการปรับตัวขึ้นสูงในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นราคาประเมินที่สูงขึ้นก็ส่งผลให้อัตราภาษีสูงขึ้น นอกจากนี้ ในปี 2566 ยังเป็นปีแรกที่มีการปรับอัตราภาษีสำหรับที่ดินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อีก 0.3%ทำให้ผู้ครองที่ดินต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น KBank Private Banking ในฐานะที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์แบบองค์รวมแนะนำให้ผู้ถือครองที่ดินพิจารณาใช้ประโยชน์ที่ดินแทนการปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า”

KBank Private Banking จึงได้สรุป 5 เทรนด์ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังมาแรงเพื่อเป็นแนวทางให้กับนักลงทุนที่ดินหรือผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์ในการวางแผนการใช้ประโยชน์จากที่ดิน

1. ตลาดของผู้ซื้อ จากมาตรการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่งผลให้มีที่ดินเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ผู้ถือครองที่ดินบางกลุ่ม ทั้งบุคคลธรรมดา หรือแม้แต่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีที่ดินแต่ขาดสภาพคล่อง มีภาระภาษีเข้ามากดดัน จำเป็นต้องปล่อยที่ดินออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับความต้องการของผู้ซื้อที่ซื้อที่ดินเพื่อเก็บเป็นทรัพย์สินลดลงเพราะมีภาระด้านภาษีในการถือครอง สภาพตลาดที่ดินในปัจจุบันจึงเป็นตลาดของผู้ซื้อเพราะมีตัวเลือกในตลาดมาก สามารถต่อรองราคาได้ และในหลายพื้นที่ก็มีการลดราคาเพื่อเร่งการขาย ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ สำหรับผู้ถือครองที่ดินที่มีกำลังทรัพย์

2. เจ้าของที่ดินตื่นตัว หาทางใช้ประโยชน์จากที่ดิน นักลงทุนหรือผู้ถือครองที่ดินที่มีความสามารถในการชำระภาษีมีความตระหนักรู้ และให้ความสนใจในการบริหารจัดการพอร์ตที่ดินของตัวเองมากขึ้น หลายคนเริ่มนำที่ดินไปใช้ประโยชน์เพื่อลดภาระภาษี เช่น ไปทำเกษตรกรรม จึงทำให้เกิดโอกาสต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บริการเจ้าของที่ดินที่ต้องการทำเกษตรกรรมแต่ขาดองค์ความรู้เป็นจำนวนมาก

3. กำลังซื้อในประเทศลดลง ในขณะที่กำลังซื้อจากต่างชาติขยายตัว จากสภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยรวมถึงภาระหนี้สินในครัวเรือน ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และยังส่งผลกระทบกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ในกลุ่มของผู้บริโภคเอง แม้กลุ่มที่ต้องการซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจะมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่กลุ่มที่ต้องการซื้อเพื่อการลงทุน ยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวจากสภาวะที่ตึงตัวมากขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ย และสถาบันการเงินเองก็มีความเข้มงวดมากขึ้นในการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งมีผลกระทบมาจากหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นยังส่งผลกระทบกับภาคการผลิต นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก็ได้รับผลกระทบกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการระแวดระวังในการพัฒนาโครงการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรายเล็ก หรือรายใหม่ ซึ่งจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า อย่างไรก็ดี ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อย่างโรงแรม มีแนวโน้มการเติบโตสูง ซึ่งจากข้อมูลสถิติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สรุปไว้ว่าใน 6 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศถึง 12 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นมากหากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 2 ล้านคน นอกจากนี้ ผลกระทบเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้มีการย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น กระตุ้นยอดอสังหาริมทรัพย์ สำหรับชาวต่างชาติในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน รวมถึงความสนใจย้ายเข้ามาตั้งฐานการผลิตของทุนต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทุนจากประเทศจีน จะเห็นว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับอานิสงค์จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจากต่างชาติ ทั้งนี้เมื่อความต้องการซื้อของตลาดต่างชาติมีมากขึ้น ผู้ประกอบการหลายรายก็เร่งพัฒนา และขยายกิจการ เพื่อตอบรับความต้องการมากขึ้น อย่างไรก็ดี นักพัฒนาก็ควรตั้งอยู่บนความระมัดระวังเพราะกระแสเหล่านี้มักจะมาเร็วไปเร็ว

4. การเติบโตของ Outer Urban Area เมื่อความเจริญไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองอีกต่อไป การสร้างถนนและระบบขนส่งมวลชนเข้าถึงพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมืองมีการเติบโต ทำให้หลายๆ โครงการอสังหาริมรัพย์ขยายตัวออกไปนอกเมืองตามแนวถนนและรถไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ตัวเลือกในการพัฒนาของผู้ประกอบการ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เองก็มีหลายพื้นที่ให้เล่นมากขึ้น แม้ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อการเติบโตของราคาที่ดินชานเมือง อันเนื่องมาจากกการขยายตัวของเมืองเข้ามาในพื้นที่ และฐานราคาที่ดินเดิมที่ต่ำ ทำให้มีอัตราการเติบโตของราคาที่เพิ่มขึ้นสูง อย่างไรก็ดี ราคาก็ถูกกดดันโดยตัวเลือกในบริเวณอื่นๆ ที่มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

5. เมืองรองชะลอการเติบโต การย้ายถิ่นฐานและการเกิดของประชากรที่ลดลง เป็นปัจจัยที่ทำให้กำลังซื้อของเมืองรองมีไม่เพียงพอ และในภาคอสังหาริมทรัพย์เอง เมืองรองในหลายจังหวัดมีการเก็งกำไรในที่ดินกันเป็นจำนวนมาก มีราคาที่ดินที่ราคาเติบโตเกินศักยภาพ สวนทางกับอุปสงค์และกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในเมืองรองชะลอการเติบโต อาจต้องรอให้มีการขยายตัวของเมืองมากขึ้น ราคาที่ดินสอดคล้องกับกำลังซื้อ ตลาดเกิดดุลยภาพ หรือมีการกระตุ้นโดยโครงการขนาดใหญ่ที่ดึงดูดการลงทุน และมีการเพิ่มขึ้นของแหล่งงาน อย่างมีนัยสำคัญ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเมืองรองก็จะฟื้นตัวและมีทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้น

 

“เทรนด์เหล่านี้จะช่วยให้มองภาพการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้กว้างมากขึ้น นอกจากนี้ ภาระภาษียังเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ถือครองที่ดินต้องตระหนักถึง เนื่องจากภาษีที่ดินที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากฐานภาษีและอัตราภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นแทนที่จะปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าเพราะในกรณีที่ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ในทุก 3 ปี ผู้ถือครองที่ดินจะถูกเก็บภาษีเพิ่มอีก 0.3% KBank Private Banking แนะนำให้ผู้ถือครองที่ดินพิจารณาใช้ประโยชน์ที่ดิน 1) เชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ 2) ใช้ประโยชน์เชิงเกษตรเพื่อลดอัตราภาษี 3) ใช้ประโยชน์สาธารณะโดยการร่วมกับภาครัฐเพื่อยกเว้นภาษี เป็นต้น สำหรับลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงที่เป็นเจ้าของที่ดิน KBank Private Banking มีทีมผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษาและคำแนะนำในการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้คำแนะนำในการใช้ประโยชน์อสังหาริมทรัพย์เพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างผลตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำเบื้องต้นในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย” นางกรกช ปิดท้าย

KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง) แนะผู้ถือครองที่ดินตื่นตัวในการวางแผนจัดการทรัพย์สินที่ดิน

Page 1 of 2
X

Right Click

No right click