September 19, 2024

เมื่อเร็วๆ นี้ นำทีมโดย นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เล็งเห็นถึงความสำคัญของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) จึงได้มีการจัดโครงการให้คำปรึกษาและความรู้เกี่ยวกับกองทุนประกันวินาศภัยแก่บุคลากรสำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) และบุคลากรสำนักงาน คปภ. จังหวัดขอนแก่น เชิงรุก ประจำปี 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) จังหวัดขอนแก่น

นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย และนายณภัทร สังข์แก้ว หัวหน้าส่วนกลยุทธ์และส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยพนักงานกองทุนประกันวินาศภัย ร่วมให้คำปรึกษาและความรู้เกี่ยวกับกองทุนประกันวินาศภัย พร้อมทั้งแนวทางการรับมือผู้มาติดต่อเกี่ยวกับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย รวมไปถึงขั้นตอน, วิธีการ และเอกสารประกอบการยื่นขอรับการชำระหนี้ ซึ่งเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเพื่อเป็นแนวทางให้สำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดขอนแก่น ให้แก่ประชาชนที่มาติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนประกันวินาศภัย

กองทุนประกันวินาศภัยได้รับเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในการเข้าร่วม โครงการยกระดับความคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในสังคมผู้สูงอายุ ครั้งที่ 4 และร่วมจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และภารกิจของกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ณ ห้อง opaz room ชั้น 2 อาคาร NW โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี

ภายในงานกองทุนประกันวินาศภัยได้มีการออกบูธประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และภารกิจของกองทุนประกันวินาศภัย รวมถึงสถานการณ์ในปัจจุบันในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งกองทุนประกันวินาศภัยได้เปิดให้ยื่นขอรับคำทวงหนี้ทางช่องทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2567 ถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 (เป็นระยะเวลา 60 วัน) พร้อมทั้งความคืบหน้าการชำระบัญชีของบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในปัจจุบัน ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและประโยชน์ของการประกันภัย สามารถใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินให้กับตัวเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งมีการตอบประเด็นข้อซักถามต่างๆ เพื่อให้กลุ่มประชาชนที่เข้าร่วมงาน ได้นำข้อมูลและข้อเท็จจริงของกองทุนประกันวินาศภัยไปใช้เพื่อประชาสัมพันธ์ต่อให้แก่ผู้เอาประกันภัย และยังมีกิจกรรมให้เข้าร่วมเพื่อรับของที่ระลึกมากมายภายในงาน

เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และภารกิจของกองทุนประกันวินาศภัย และสร้างความเชื่อมั่นในระบบประกันภัย ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ

กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ได้มีการจัดโครงการเชิงรุก ภายใต้ชื่อ “โครงการบรรยายความรู้เกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และภารกิจของกองทุนประกันวินาศภัย ให้แก่ตัวแทน – นายหน้าประกันภัย และเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ประจำปี 2567 ณ ห้องประชุมลำปลายมาศ โรงแรมแคนทารี โคราช จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เป็นประธานในการเปิดโครงการฯ

นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “บทบาท หน้าที่ และภารกิจของกองทุนประกันวินาศภัย” พร้อมประชาสัมพันธ์ถึงขั้นตอนการยื่นคำขอรับชำระหนี้ ในกรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และได้รับเกียรติจากนายรณภพ ช่วงชู เจ้าหน้าที่ชำนาญการ สำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา มาบรรยายในหัวข้อ “บทบาท หน้าที่ ภารกิจของสำนักงาน คปภ. เกี่ยวกับการประกันภัย พร้อมทั้งมีการเสวนาเปิดโอกาสตอบข้อซักถาม เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมโครงการฯ นำมาปรับใช้ในการดำเนินงานของกองทุนฯ และมีการมอบของที่ระลึกภายในงานอีกมากมายให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งการจัดโครงการฯ ในครั้งนี้เป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ตัวแทน – นายหน้าประกันภัย และเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ที่จะเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ความรู้และการเข้าถึงระบบประกันภัย แก่ประชาชนในทุกระดับมีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินรวมถึงปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนในฐานะผู้เอาประกันภัยได้อย่างเหมาะสม

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ร่วมกับ ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และ นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย ร่วมแถลงข่าวการดำเนินการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย กรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยมีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) สมาคมประกันวินาศภัยไทย กองทุนประกันวินาศภัย และสื่อมวลชนเข้าร่วม ณ อาคารสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ พร้อมทั้งถ่ายทอดการแถลงข่าวผ่านโซเชียลมิเดียของสำนักงาน คปภ.

เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า  ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งที่ 1364/2567 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) มีคำสั่งที่ 19/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัยจำกัด (มหาชน) ดังนั้น สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย และกองทุนประกันวินาศภัย จึงร่วมกันกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับไม่ให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้รับผลกระทบจากการที่บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยข้อมูล ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 บริษัท สินมั่นคงฯ มีสินทรัพย์รวม 4,785.08 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 38,056.34 ล้านบาท โดยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 33,271.26 ล้านบาท บริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องหลังหักภาระผูกพันคงเหลือจำนวน 2,228.28 ล้านบาท มีสินไหมทดแทนค้างจ่าย 484,204 เคลม วงเงิน 32,184.83 ล้านบาท แบ่งเป็นสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด 19 จำนวน 356,661 เคลม วงเงิน 30,124.47 ล้านบาท และสินไหมทดแทนค้างจ่ายอื่น (Non-Covid 19) จำนวน 127,543 เคลม วงเงิน 2,060.36 ล้านบาท โดยมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับ 789,477 กรมธรรม์ แบ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยประเภทรถ (Motor) จำนวน 366,458 กรมธรรม์ และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น (Non-Motor) จำนวน 423,019 กรมธรรม์

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดมาตรการเพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัยไว้โดยได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่สายด่วน คปภ. 1186 อีกทั้งมีการเพิ่มช่องทางพิเศษให้ประชาชนกดหมายเลข 8 เพื่อเข้าปรึกษากรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จากัด (มหาชน) โดยเฉพาะ รวมทั้งจัดทำระบบเสียงอัตโนมัติในส่วนของคำถามที่ประชาชนสอบถามเข้ามาบ่อย ๆ เช่น เอกสารที่ต้องใช้ในการขอรับค่าสินไหมทดแทน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารกับประชาชนผ่าน Application LINE คปภ. รอบรู้ โดยจะมีการตอบคำถามในรูปแบบของ Infographic หรือ ประชาชนประสงค์จะสอบถามข้อมูลโดยตรงจากเจ้าหน้าที่ก็สามารถทำได้เช่นกัน นอกจากนี้ มีการจัดทำข้อมูลเพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนมีการจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกในการคีย์ข้อมูลขอรับชำระหนี้ผ่านสำนักงาน คปภ. ภาค สำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ สำหรับการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายในของบริษัทจึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวมแต่อย่างใด

ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือของสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยผู้เอาประกันภัยสามารถติดต่อขอซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่กับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ โดยวันเริ่มต้นความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ให้ถือว่าเป็นวันสิ้นสุดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิม โดยบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ที่มีระยะเวลาความคุ้มครอง 1 ปี และจะคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมในส่วนที่มีสิทธิได้รับคืนตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ เช่น ต้องการชื้อประกันภัยรถยนต์กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการเบี้ยประกันภัยฉบับใหม่ 10,000 บาท หากคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมตามระยะเวลาที่มีเบี้ยประกันภัยคงเหลือ 4,000 บาท ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการเพื่อซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ 6,000 บาท

ในส่วนแนวปฏิบัติในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่ 1 รถของผู้เอาประกันภัยกับบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ เป็นฝ่ายผิด ให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถฝ่ายถูก ดำเนินการจัดซ่อมรถตนเองและไม่ฟ้องไล่เบี้ยผู้เอาประกันภัย แต่จะไปยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทุนฯ แทน หรือกรณีที่ 2 รถของผู้เอาประกันภัยกับบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ เป็นฝ่ายถูก ให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถฝ่ายผิด ดำเนินการจัดซ่อมหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ที่เป็นฝ่ายถูก

สำหรับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือมีจำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เออร์โกประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ด้านนายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า ภายหลังจากมีการแต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามคำสั่งที่ 19/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ทางกองทุนฯ ได้ดำเนินการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการและจดทะเบียนเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทสินมั่นคงฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยภายใน 30 วัน นับแต่แต่งตั้งเป็นผู้ชำระบัญชี กองทุนฯ จะได้มีการประกาศลงในหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ ติดต่อกัน 3 วัน และส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงบรรดาเจ้าหนี้เพื่อแจ้งบอกเลิกกรมธรรม์และแจ้งให้เจ้าหนี้ยื่นคำทวงหนี้ โดยจะบอกเลิกกรมธรรม์และสิ้นสุดความคุ้มครอง ภายในวันที่ 8 กันยายน 2567 และจะเปิดให้ยื่นคำทวงหนี้ผ่านระบบ Online ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน-วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 รวมระยะเวลายื่นคำทวงหนี้ 60 วัน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่กองทุนประกันวินาศภัย หรือสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th หรือสายด่วน คปภ. 1186 หรือผ่านช่องทาง LINE ‘คปภ.รอบรู้ @oicconect’

Page 1 of 4
X

Right Click

No right click