ตลาดทุนและตลาดเงินของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีต้องเผชิญความผันผวนที่เพิ่มขึ้นจากเงินทุนที่เคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไหลออกของเงินทุนจากต่างประเทศ จากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า และสภาพคล่องที่ลดลงจากการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมและความผันผวนของค่าเงินบาทเพิ่มสูงขึ้น นักลงทุนและผู้ประกอบการจึงควรเตรียมรับมือ
หลังจากวิกฤติการเงินปี 2008 ธนาคารกลางใหญ่ๆ ทั่วโลกเลือกใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายโดยการลดดอกเบี้ยนโยบายจนอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และอัดฉีดสภาพคล่องผ่านโปรแกรม QE ทำให้เกิดสภาวะสภาพคล่องล้นตลาด นักลงทุนจึงเลือกที่จะเอาเงินไปลงในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เกิดเป็นพฤติกรรม Search for Yields ทำให้มีเงินทุนจำนวนมากไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ ทั้งในพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน และตลาดหุ้น ทำให้ spread ของหุ้นกู้เอกชนลดลง ในขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น โดย spread ของหุ้นกู้ BBB rating ของไทยลดต่ำลง จากที่ระดับกว่า 300bps ก่อนที่จะมีมาตรการ QE ในปี 2009 ลงมาอยู่ที่ระดับ 170bps หลังเฟดยกเลิกมาตรการ QE ในปี 2014 ในขณะที่ SET Index ก็ปรับเพิ่มขึ้นจาก 500 จุด ไปเป็น 1600 จุด
ดังนั้น ตอนนี้ธนาคารกลางที่เคยเป็นคนเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบ กลายเป็นคนที่ดูดสภาพคล่องของระบบออกไป โดยการยกเลิกการทำ QE และเริ่มลดขนาดงบดุล ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ทำให้สินทรัพย์ของสหรัฐฯน่าดึงดูดมากขึ้น ทำให้ที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะประเทศที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจด้านต่างประเทศยังไม่แข็งแกร่ง เช่น เงินสำรองระหว่างประเทศต่ำ ในขณะที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อย่างเช่น อาร์เจนตินา บราซิล ตุรกี และอินโดนีเซีย ทำให้ค่าเงินอ่อนลงไปตั้งแต่6% ถึง กว่า 30% จากเงินทุนที่ไหลออกรุนแรง จนทำให้ประเทศเหล่านี้ ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความกดดันจากค่าเงินที่อ่อนค่าจากเงินทุนไหลออกและเงินเฟ้อที่ทยอยปรับขึ้น
นอกจากจะได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของเฟดแล้ว ตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ก็ยังถูกกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน แม้ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงยังไม่ชัดเจนก็ตาม โดยหลังจาก Trump เริ่มประกาศสงครามการค้ากับจีนตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2561 มีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ค่อนข้างรุนแรง จนค่าเงินในตลาดเอเชียอ่อนค่าลงโดยเฉลี่ยกว่า 5%
สำหรับประเทศไทย แม้จะมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ดี เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เงินทุนยังไม่ไหลออกรุนแรงเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่อื่นๆ แต่หากนับจากช่วงต้นปีนี้ ตลาดทุนและตลาดเงินไทยก็มีเงินไหลออกสุทธิรวมกันแล้วกว่า 8 หมื่นล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2016 และ ปี 2017 ที่มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสุทธิกว่า 2.8 แสนล้านบาทโดยเฉลี่ยต่อปี ที่ประเทศไทยมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสุทธิมาโดยตลอด ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนมาก โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงตอนนี้ เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.10 ถึง 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าจากต้นปีแล้วกว่า 2.2%
ความผันผวนในตลาดทุนและตลาดเงินจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่าที่ตลาดมอง จากตลาดแรงงานที่ร้อนแรงขึ้น เมื่อความต้องการแรงงาน 6.7 ล้านตำแหน่งสูงกว่าจำนวนคนว่างงาน 6.1 ล้านคน กดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งอาจทำให้เกิด market correction รุนแรง เงินทุนไหลออก มูลค่าสินทรัพย์ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการเงินเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก ดังนั้นทั้งนักลงทุนและผู้ประกอบการ จึงควรเตรียมป้องกันความเสี่ยงในอนาคต ไว้ด้วย