ฉากแรก คือประมาณปลายปี 2540 ณ กลางซอยทองหล่อ คลาคล่ำไปด้วยผู้ซื้อผู้ขายที่นำรถยนต์ของตัวเองมาเปิดท้ายขายของดีๆ
ที่ขนมาจากบ้าน เพื่อต้องการลดภาระผ่อนบ้านผ่อนรถและนำเงินสดไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะตัวเองเพิ่งจะตกงานทั้งผัวทั้งเมีย
ใช่แล้ว “ตลาดนัดคนเคยรวย”
สื่อมวลชนทั่วโลกพากันมาทำข่าวและสัมภาษณ์ผู้ขายเหล่านั้นซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็น “มนุษย์ทองคำ” อยู่ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เงินเดือนสูงและโบนัสมากกว่า 24 เดือนต่อเนื่องกันหลายปี
การสั่งปิด 56 ไฟแนนซ์ ตามคำแนะนำของ IMF เจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาลขณะนั้น ทำให้พวกเขาตกงานแบบฉับพลัน
มูลเหตุสำคัญคือวิกฤติหนี้ต่างประเทศ (ภาคเอกชนก่อหนี้ต่างประเทศมาก) และการเก็งกำไรทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจมาเป็นเวลายาวนาน
ทว่า ไม้ขีดไฟก้านแรกที่จุดชนวนระเบิด เกิดจากการที่แบงก์ชาตินำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปปกป้องค่าเงินบาทแต่ขาดทุนเกือบหมดหน้าตัก
จนรัฐบาลต้องลอยค่าเงินบาทเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม และเข้าพึ่งพิง IMF ส่งผลให้หนี้สินต่างประเทศของภาคเอกชนซึ่งมีจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจ สูงขึ้นกว่าเท่าตัว
แล้วทุกอย่างก็เหมือนถูกเบรก ราคาสินทรัพย์ตกลงฮวบฮาบ ดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างมหาโหด เงินหายไปจากระบบ ภาคเอกชนทยอยเจ๊ง ติดต่อกันไปในแทบทุกอุตสาหกรรม
เหมือนกับปาร์ตี้ที่กำลังเฮฮาอู้ฟู้ อาหารเครื่องดื่มหรูหราไม่อั้น ทุกคนสนุกสนานมัวเมา จู่ๆ ก็ถูกถอดปลั๊ก สะดุดหยุดลงดื้อๆ
ลูกโป่งที่ประดับประดาสวยงาม พากันแตกโป้ง ต่อหน้าต่อตา เหลือไว้แต่ขยะกับหนี้สิน ที่ต้องช่วยกันเก็บกวาด
อีกนานกว่าชีวิตจะกลับมาเหมือนเดิม
ขณะที่คนไทยทั้งประเทศกำลังช็อกอยู่นั้น วิกฤติที่รุนแรงแบบเดียวกันก็ได้ลุกลานไปยัง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย แล้วต่อไปยังรัสเซีย บลาซิล อาร์เจนตินา ฯลฯ
เกิดความโกลาหลไปทั่วทั้งโลก มากบ้างน้อยบ้างตามแต่จำนวนหนี้ที่ตนก่อไว้
ฉากต่อมา คือวันที่ 15 กันยายน 2551 ที่ผู้คนเป็นร้อย พากันเดินออกจากอาคารพร้อมกับกล่องใส่ของใช้ส่วนตัว ลงไปที่ถนน William Street ในแมนฮัตตัน
พวกเขาคืออดีตพนักงานของวานิชธนกิจเก่าแก่และมีชื่อเสียง Lehman Brother ที่ยื่นขอเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย
พนักงานกว่า 25,000 คนทั่วโลก ต้องตกงานพร้อมกัน เพราะความโลภของ Lehman ที่เข้าไปเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ที่เรียกกันว่า “Sup Prime”
วิกฤติ Lehman ได้จุดชนวนให้วิกฤติเศรษฐกิจลุกลามอย่างรวดเร็ว จนรัฐบาลต้องเข้าอุ้มสถาบันการเงินทั้งระบบและกิจการขนาดใหญ่ ด้วยแพ็คเกจช่วยเหลือจำนวนมหาศาล และต้องออกนโยบาย QE และกดดอกเบี้ยให้ต่ำจนผิดปกติไว้ต่อมาอีกนานมาก
“วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” ครั้งนั้น ไม่ได้จำกัดตัวอยู่เฉพาะอเมริกา แต่ได้ติดต่อไปยังญี่ปุ่น จีน และยุโรป
ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่โลกเศร้าหมอง และต้องมารับกรรมกับสิ่งที่พวก Wall Street ก่อไว้ โดยหาตัวคนรับผิดชอบมาลงโทษไม่ได้เลย
ทั้ง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” และ “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” พิสูจน์ให้เราเห็นกับตามาแล้วว่า เมื่อเกิดวิกฤติทำนองนี้ขึ้น ความเสียหายมันจะไม่จำกัดขอบเขตอยู่เป็นเอกเทศ
มันมักจะลุกลามเป็นวงกว้าง
ฉากสุดท้าย ที่กำลังดำเนินอยู่ ณ ขณะนี้ เกิดขึ้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
ทุกคนล้วนทราบดีว่า Evergrande บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่ก่อหนี้จำนวนมากที่สุดในโลก (มูลหนี้ประมาณ 330,000 ล้านเหรียญฯ) ถูกทางการเข้าสอบสวนมาได้สักพักใหญ่ และเจ้าของซึ่งมีฐานะระดับอภิมหาเศรษฐีเพิ่งถูกรัฐบาลจับตัวไป
ที่สำคัญ Evergrande ได้ยื่นศาลในสหรัฐฯ ขอคุ้มครองในกระบวนการล้มละลาย ภายใต้มาตรา 15 หรือ Chapter 15 เมื่อเดือนที่ผ่านมา และตำรวจสหรัฐฯ ก็ได้เข้าจับกุมพนักงานของ Evergrande Wealth Management จำนวนหนึ่ง
Evergrande นั้นเป็นกิจการอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ที่ทำโครงการกว่า 1,300 โครงการใน 280 เมือง และมีหนี้สินถึง 330,000 เหรียญฯ เท่ากับประมาณ 2% ของ GDP จีน
ตั้งแต่ปี 2564 Evergrande เริ่มผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ และต่อมาก็ทยอยเบี้ยวหนี้ที่ถึงกำหนดแทบทุกก้อน
ความใหญ่และเครื่อข่ายที่กว้างขวางของ Evergrande ส่งผลให้เกิดโรคติดต่อขึ้นในแวดวงอสังหาฯ คือตั้งแต่ 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ประมาณ 40% ของกิจการอสังหาฯ ในจีนก็ผิดนัดชำระหนี้บ้าง มากบ้างน้อยบ้าง
ที่ทุกคนเป็นห่วงมากคือ Country Garden ซึ่งปุบปับก็ผิดนัดชำระหนี้ด้วย มันไม่เหมือน Evergrande ซึ่งถูกสอบสวนมานานแล้ว แต่กรณี Country Garden นั้นมันค่อนข้าง Surprise
แม้เจ้าหนี้จะร่วมกันแก้ปัญหาผ่อนผันเตะถ่วงไปให้ แต่ในระยะยาวก็ยังคงน่าเป็นห่วง
ว่ากันว่า Country Garden นั้นมีโครงการก่อสร้างในมือมากกว่า Evergrande ถึง 4 เท่า และเป็นกิจการอสังหาฯ ที่ทำรายได้มากที่สุดในจีน แม้มูลหนี้จะน้อยกว่า เพียง 190,000 ล้านเหรียญฯ
ข้อมูลที่เปิดเผย บอกว่า Country Garden มีอพาร์ทเม้นต์ที่กำลังก่อสร้างในมือถึง 1 ล้านยูนิต
มันควรจะเป็นกิจการที่มีเงินสดตุนไว้มาก และสุขภาพดี แต่การที่มันผิดนัดชำระหนี้เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา ย่อมสร้างความกังวลให้รัฐบาลและทุกคนที่จับตาดูจีนอยู่
Country Garden ประเมินตอนต้นปีว่าจะสามารถส่งมอบยูนิตสร้างเสร็จในปีนี้ 7 แสนยูนิต แต่ถึงขณะนี้ บริษัทเพิ่งส่งมอบจริงได้เพียงครึ่งเดียว
ราคาหุ้นของบริษัทลดลงจากตอนต้นปีกว่า 70% แล้ว
ความเสี่ยงที่ Country Garden จะผิดนัดชำระหนี้และถูกฟ้องล้มละลายนั้นยังไม่หมดไป
ด้วยฐานะของมัน ถ้ามันไปอีกราย อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน พังทลายลงในรอบนี้ก็ได้
และแน่นอน ผลกระทบย่อมลุกลามไปสู่สถาบันการเงินและบรรดาเจ้าหนี้ของกิจการเหล่านั้นทั่วโลก (การที่ Evergrande ยื่นศาลสหรัฐฯ คุ้มครองภายใต้ Chapter 15 แสดงว่าเจ้าหนี้ของกิจการจำนวนพอสมควรอยู่ในสหรัฐฯ)
นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมวิกฤติเศรษฐกิจจีนรอบนี้ จะไม่ใช่ปัญหาของจีนแต่เพียงลำพัง
แจ๊ก หม่า หายไปไหน?
ราวพฤศจิกายน ปี 2563 คำถามนี้ต่างผุดขึ้นในใจของทุกคนที่สนใจเมืองจีนและนักลงทุนทั่วโลก
เพราะจู่ๆ อภิมหาเศรษฐีนักธุรกิจจีนที่ชอบออกมาให้ความเห็นและปรากฎตัวต่อสาธารณะตลอดเวลาอย่างคุณหม่า ก็หายไปจากซีนเฉยๆ
แน่นอน คุณหม่าคือผู้ก่อตั้ง Alibaba กิจการยักษ์ใหญ่ของโลกที่ได้ชื่อว่า “Amazon of China” เมื่อ 26 ปีมาแล้ว
การประสบความสำเร็จของ Alibaba ในขณะที่เขาอายุยังน้อย ส่งผลให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก กลายเป็นไอดอลของผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ และอาจเป็นคนจีนร่วมสมัยที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุด รองลงมาจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง
แต่เมื่อกิจการของเขาเติบใหญ่ขึ้นครอบคลุมกว้างขวางไปสู่บริการทางการเงินและฟินเทคภายใต้ Ant Group เขาก็เริ่มอึดอัดขัดข้องกับสภาพที่เป็นอยู่ในระบบการเงินของจีน
เขาตัดสินใจระบายความในใจ ให้สาธารณชนได้ร่วมรับรู้ ที่งานสัมนาหนึ่งในเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อนหน้านั้น
เขาวิจารณ์ว่าระบบการเงินของจีนนั้นขาดการสร้างระบบนิเวศน์ที่แข้มแข็ง สถาบันการเงินทำตัวราวกับโรงรับจำนำ ที่เน้นแต่หลักทรัพย์ค้ำประกัน การเติบโตขึ้นอยู่กับจำนวนและคุณภาพของหลักทรัพย์ค้ำประกันและความสำพันธ์ส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในวงการนี้มีน้อยและไม่ถูกเน้นย้ำ ทำให้ระบบการเงินจีนนั้นเปราะบาง หากต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจขาลงจะลำบาก
แน่นอน เสียงวิจารณ์ของเขาย่อมไปเข้าหูบรรดาผู้คุมกฏในพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาล
หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน เขาก็ถูกสอบสวน แล้วก็เริ่มหายตัวไปอย่างเงียบๆ
ราคาที่เขาและผู้ถือหุ้น Alibaba ตลอดจนนักลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีของจีนต้องจ่ายคือ การล่มสลายของมูลค่าหุ้น Alibaba อีกทั้งรัฐบาลยังได้สั่งเบรกกะทันหัน ไม่ให้เขานำหุ้น Ant Group เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกเลิกการขายหุ้น IPO ซึ่งเทียบมูลค่า ณ ขณะนั้น นักวิเคราะห์ต่างลงความเห็นว่าจะเป็น IPO ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ถึง 3.4 หมึ่นล้านเหรียญฯ
นับแต่นั้นมาจนบัดนี้ มูลค่ากิจการของ Alibaba ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (BABA) ลดลงกว่า 70%
เช้าวันที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่ ณ ขณะนี้ หุ้น BABA เพิ่งปิดการซื้อขายไปที่ 84.11 เหรียญฯ ไหลตกลงมาเรื่อยๆ จากประมาณ 310 เหรียญฯ เมื่อคราวเกิดเรื่อง
และแล้ว สองปีผ่านไป ก็เริ่มมีข่าวว่าคุณหม่าไปปรากฏตัวที่นั่นที่นี่ในย่านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้ และเมื่อมกราคม 2566 เขาก็ได้มาปรากฎตัวเป็นๆ ที่สนามมวยราชดำเนินและไปกินผัดไทยเจ๊ไฝกับลูกชายคนโตของเจ้าสัวธนินท์และภรรยา
ปัจจุบัน เขาเป็นศาสตราจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยโตเกียว ที่ญี่ปุ่น และยังไม่มีใครรู้แน่ชัด ถึงชะตากรรมของอาณาจักรธุรกิจของเขา ว่าจะถูกยึดครองจากรัฐบาลให้กลายเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือบังคับให้แตกเป็นหลายๆ ธุรกิจ เพื่อไม่ให้ใหญ่เกินไปหรือไม่ และอย่างไร
เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนทั่วไปที่คิดจะไปลงทุนหรือค้าขายในเมืองจีน หรือคิดจะลงทุนในเงินหยวน ยิ่งนักลงทุนไทยเราส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน ย่อมห้ามไม่ได้ที่จะมีจิตใจเอนเอียงไปทางจีน อีกทั้งกระแสแอนตี้ฝรั่งในช่วงหลังมานี้ก็แรงขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในเทรนด์สำคัญที่ MBA เอง ก็แนะนำอย่างแข็งแรงยิ่งยวด นั่นคือ AI
เด๋วนี้มีกองทุน ETF จำนวนมากทั่วโลก ที่เน้นลงทุนในกิจการ AI และที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของ AI
ขณะเดียวกันก็มีกองทุนจำนวนมากที่ระดมทุนเพื่อไปลงทุนในจีน ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องหา AI Exposure อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กิจการ AI ของจีนนั้น หลักๆ คงหนีไม่พ้น “สี่ใหญ่” อย่าง Alibaba, Baidu, Tencent, และ Huawai
แต่ประเด็นหลักและความเสี่ยงอยู่ที่กฎระเบียบของรัฐบาล
มีข่าวออกมาจากจีนว่ารัฐบาลจีนกำลังสร้างกฎระเบียบฉบับสมบูรณ์ที่จะควบคุม AI โดยยึดหลักการคอมมิวนิสต์เป็นหัวใจสำคัญ เช่นเดียวกับกฎเกณฑ์อื่นๆ ในสังคมจีน
AI ก็คงจะเหมือนกับเทคโนโลยีทุกชนิดหรือซอฟท์แวร์ทุกตัวในจีนที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐอย่างเข้มงวด
หน่วยงาน CAC หรือ Cyberspace Administration of China ถือว่า AI เป็น “ยุทธปัจจัย” หรือ Strategic Technology สำคัญของอนาคต (วงเล็บ “ที่จะต้องมีไว้เพื่อฟาดฟันกับศัตรูให้จีนได้เปรียบในสงครามเย็นที่กำลังเกิดขึ้น และสงครามร้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต”)
นั่นหมายความว่า กิจการด้าน AI ทั้งปวง จะต้องไม่สร้าง หรือสนับสนุน เนื้อหาหรือคอนเทนต์ ที่ขัดต่อนโยบายของรัฐและความเห็นของผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์
อันหนึ่งที่เพิ่งออกมาเมื่อ ก.ค. ปีนี้ คือกิจการ AI ต้องขออนุญาตเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตจาก CAC จึงจะดำเนินธุรกิจด้านนี้ในประเทศจีนได้
กิจการหรือผู้ประกอบการที่ยื่นขออนุญาต จะต้องส่งรายละเอียดการทำงานทั้งหมดของอัลกอริทึ่มที่อยู่เบื้องหลังการทำงานและให้บริการของ AI และถ้า CAC เห็นว่าต้องแก้ไข ก็ต้องแก้ไปตามนั้นแล้วยื่นเข้ามาใหม่
โดย CAC ใช้หลักพิจารณาว่า ทุกอย่างต้องสอดคล้องกับ “คุณค่าหลักยึดของระบอบสังคมนิยม” (Core values of socialism)
ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI มองว่า การแทรกแซงในลักษณะนี้ อาจส่งผลให้ระบบ AI เกิดความผิดพลาดได้ง่าย
พวกเขาเรียกข้อผิดพลาดทำนองนี้ว่า AI Hallucinations ซึ่งแม้แต่ ChatGPT หรือ Bard (ของกูเกิ้ล) ก็เกิดแบบนี้บ่อย จนกว่าจะแก้ไขกันไปได้ทีละเล็กทีละน้อย คือต้อง “ทำไปแก้ไป” และ AI ก็จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ
บนแชตบอร์ด “ถงยี่” ของ Alibaba เองก็เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เมื่อมีคนถามว่าจะปรุงอาหารที่เรียกว่า “คอนกรีตผัด” อย่างไรดี และบ็อตก็ตอบและให้ข้อมูลเป็นวรรคเป็นเวร
ดังนั้น หากในอนาคต กิจการ AI ของจีนที่ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการได้แล้ว เกิดมีข้อความแฝงหรือคอนเทนต์ที่เจ้าหน้าที่รัฐตีความว่าไม่เหมาะสม ก็อาจต้องมารื้อสร้างกันใหม่ และต้องมายื่นขออนุญาตกันใหม่หรือไม่
นั่นเป็นความไม่แน่นอน ที่ยังไม่มีคำตอบในตอนนี้ (ในเชิงการลงทุนถือเป็น “ความเสี่ยง” อย่างหนึ่งที่สำคัญ)
อีกอย่าง แม้ตอนนี้กระแสแอนตี้ฝรั่งจะแรงขึ้นเรื่อยๆ ในเอเซีย แต่ขณะเดียวกันกระแสแอนตี้จีน ก็เริ่มเกิดขึ้นในโลกเช่นกัน
ถ้าวิเคราะห์กันจริงจังแล้ว กิจการเทคโนโลยี “สี่ใหญ่” ของจีนนั้น สร้างรายได้นอกประเทศน้อยมาก
แพล็ทฟอร์มและแอ็พต่างๆ ของพวกเขา ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนอกจีน
และฮาร์ดแวร์ต่างๆ ก็เริ่มขายได้น้อยลง เพราะความไว้วางใจต่อการเก็บข้อมูลส่วนตัวไปไว้ในมือรัฐบาลจีนนั้นลดลง
ถ้ายืมคำของคุณหม่า ก็ต้องพูดว่า กิจการยักษ์ใหญ่เหล่านี้ แม้จะสร้างรายได้มหาศาลในจีน แต่ก็พึ่งพิงตลาดจีนมาก เพราะการขยายธุรกิจในต่างประเทศยังไม่เป็นผล ดังนั้น พวกเขายังมีความเปราะบาง
หากเศรษฐกิจจีนเริ่มเป็นขาลง หรือทรุด พวกเขาจะลำบากกว่ากิจการที่มีฐานรายได้กระจายไปทั่วโลก
บทความ : ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว / Editor in Chief _MBA magazine
29/09/2566
ครั้งแรกกับโครงการใหญ่ “Alipay+-in-China” (A+China) ที่ช่วยให้ผู้ใช้โมบายวอลเล็ท 10 แบรนด์ชั้นนำจากไทย มาเลเซีย มองโกเลีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และเขตบริหารพิเศษมาเก๊า สามารถใช้อีวอลเล็ทของประเทศตนเองในจีนแผ่นดินใหญ่ได้แล้ว สร้างการเข้าถึงให้กับประชากรกว่า 175 ล้านคน ถือเป็นการขยายอีโคซิสเต็มการชำระเงินผ่านมือถือ หรือโมบายเพย์เมนต์ระหว่างประเทศครั้งใหญ่ของ Alipay+ สู่เครือข่ายผู้ค้าจำนวนมากของจีน
โครงการ A+China เป็นความคิดริเริ่มของแอนท์กรุ๊ปที่จะช่วยแนะนำบริการชำระเงินผ่านมือถือระหว่างประเทศในจีน โดยร่วมมือกับพันธมิตรอีวอลเล็ท และองค์กรบัตรระหว่างประเทศ ก่อนที่จะมีการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ที่หางโจว
ภายใต้โครงการนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถเลือกที่จะผูกบัตรธนาคารระหว่างประเทศของตนกับ Alipay เวอร์ชั่นสากลที่อัปเดตแล้ว เพื่อเพลิดเพลินกับการชำระเงินผ่านมือถือและบริการดิจิทัลไลฟ์ขณะที่ท่องเที่ยวในประเทศจีน
การเพิ่มของอีวอลเล็ทดังกล่าวจะส่งผลให้จำนวนอีวอลเล็ทต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับในจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 10 ราย โดย AlipayHK (เขตปกครองพิเศษฮ่องกงของจีน), Touch ’n Go eWallet (มาเลเซีย) และ Kakao Pay (เกาหลีใต้) เป็นบริการนำร่องภายใต้โครงการนี้ตั้งแต่ปลายปี 2565 โดยรวมแล้ววิธีการชำระเงินเหล่านี้สามารถเข้าถึงประชากรกว่า 175 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก
ผู้ใช้อีวอลเล็ทเหล่านี้สามารถใช้แอปชำระเงินของตนเองได้ทุกที่ที่มีการให้บริการของ Alipay เพื่อเพลิดเพลินกับการชำระเงินแบบไร้เงินสดที่ราบรื่นและปลอดภัย รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่โปร่งใสและแข่งขันได้ นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิประโยชน์มากมายจากโปรโมชั่นต่างๆ ผ่าน Alipay+ Rewards ซึ่งเป็นฮับการตลาดดิจิทัลระหว่างประเทศที่อยู่ในวอลเล็ท โดยทีมงานของวอลเล็ทต่างๆ ยังคงให้บริการสนับสนุนลูกค้าที่ใช้โรมมิ่ง โดยอาศัยความสามารถด้านเทคโนโลยีการชำระเงินแบบอัจฉริยะของ Alipay+
ภายใต้โครงการ A+China ทาง Alipay+ ยังได้ต้อนรับพันธมิตรการชำระเงินผ่านมือถือรายใหม่อย่างเป็นทางการอีก 5 ราย ซึ่งได้แก่ Hipay, Changi Pay, OCBC, Naver Pay และ Toss Pay เข้าสู่เครือข่ายผู้ค้าทั่วโลกของ Alipay+
Alipay+ ซึ่งเป็นชุดโซลูชั่นการชำระเงินผ่านมือถือระหว่างประเทศ รวมถึงโซลูชั่นการตลาดและดิจิทัลที่พัฒนาโดยกลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศของแอนท์กรุ๊ป ช่วยให้พันธมิตรด้านการชำระเงินสามารถเชื่อมผู้ค้าทั่วโลกและผู้ค้าในระดับท้องถิ่นเข้ากับผู้บริโภคดิจิทัลจากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี
นอกจากประเทศจีน Alipay+ ยังเข้าถึงผู้ค้า 5 ล้านรายใน 56 ตลาด และทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านการชำระเงินผ่านมือถือกว่า 20 รายทั่วเอเชีย ซึ่งรวมกันแล้วสามารถให้บริการกับผู้บริโภคได้มากกว่า 1.4 พันล้านบัญชี ตอนนี้โครงการ A+China ได้ขยายบริการ Alipay+ เข้าสู่เครือข่ายผู้ค้าขนาดใหญ่ของจีนที่มีจุดขายสินค้าและบริการ (POS) หลายสิบล้านแห่ง
โครงการ A+China จัดตั้งขึ้นภายใต้การแนะนำของธนาคารประชาชนจีน และได้รับการสนับสนุนจาก NetsUnion Clearing Corporation รวมถึงพันธมิตรด้านอีวอลเล็ท องค์กรบัตรระหว่างประเทศ ตลอดจนสถาบันการเงินอื่นๆ ในจีน นักท่องเที่ยวยังสามารถเลือกที่จะผูกบัตรธนาคารระหว่างประเทศของตนกับ Alipay เวอร์ชั่นสากลที่อัปเดตแล้ว เพื่อเพลิดเพลินกับการชำระเงินผ่านมือถือและบริการดิจิทัลไลฟ์ขณะที่พำนักอยู่ในประเทศจีน
พร้อมกันนี้ แอนท์กรุ๊ปยังได้เปิดตัวแคมเปญด้านการตลาดและให้ความรู้แก่ผู้ค้าทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองท่องเที่ยวชั้นนำ เพื่อต้อนรับเหล่านักกีฬา แฟนๆ และนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย
ดักลาส ฟีกิน รองประธานอาวุโสของแอนท์กรุ๊ป และหัวหน้าฝ่ายบริการการชำระเงินผ่านมือถือระหว่างประเทศของ Alipay+ กล่าวว่า การขยายจำนวนพันธมิตรและเครือข่ายร้านค้า และการยกระดับขีดความสามารถการดำเนินงานด้านดิจิทัลของเอสเอ็มอี ถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับกลยุทธ์ในอนาคตของ Alipay+ “ผู้ให้บริการชำระเงินผ่านมือถือจำนวนมากเข้าร่วมอีโคซิสเต็มของการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศมากขึ้น ตั้งแต่โมบายวอลเล็ท ไปจนถึงแอปธนาคาร แอปของผู้ค้าอิสระ และซูเปอร์แอป เรามีแผนที่จะลงทุนเจาะลึกให้รวดเร็วมากขึ้นสำหรับเทคโนโลยีการชำระเงินและดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง เพื่อช่วยให้พันธมิตรและผู้ค้าของเราเติบโตอย่างแข็งแกร่งในทุกช่องทาง” ฟีกินกล่าว
“ในฐานะสถาบันผู้ให้บริการเคลียร์ริ่งที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารประชาชนจีน NetsUnion Clearing Corporation ให้บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำธุรกรรมที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพและบริการหักบัญชีกองทุนสำหรับการชำระเงินมือถือระหว่างประเทศของแอนท์กรุ๊ป และดิจิทัลวอลเล็ทในต่างประเทศ เรามุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนที่แข็งแกร่งสำหรับการชำระเงินผ่านมือถือระหว่างประเทศในเหตุการณ์ต่างๆที่สำคัญ เช่น หางโจวเอเชียนเกมส์ เพื่อช่วยบ่มเพาะการบริโภคระหว่างประเทศที่เปิดกว้างและครอบคลุมในประเทศจีน รวมถึงส่งเสริมการหมุนเวียนคุณภาพสูงของวัฏจักรเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ” NetsUnion Clearing Corporation of China กล่าว
เอริก จิง ประธานและซีอีโอของแอนท์กรุ๊ป กล่าวว่า “ในฐานะพันธมิตรด้านการชำระเงินอย่างเป็นทางการของเอเชียนเกมส์ เรารู้สึกขอบคุณอย่างมากสำหรับคำแนะนำของธนาคารประชาชนจีน การสนับสนุนของ NetsUnion Clearing Corporation และความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินและองค์กรบัตรระหว่างประเทศรายใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยให้เราสามารถดึงดูดผู้ใช้โมบายวอลเล็ททั่วโลกและผู้ใช้บัตรธนาคารในต่างประเทศมายังจีน นับเป็นการสร้างแรงบันดาลใจอย่างดีเยี่ยมที่เราได้เห็นความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในระดับภูมิภาค เพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวเพลิดเพลินกับทางเลือกและความสะดวกสบายมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กก็ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศด้วยนวัตกรรมที่แปลกใหม่ เรามุ่งหวังที่จะสร้างความร่วมมือที่กว้างและเจาะลึกมากขึ้น เพื่อสานต่อภารกิจร่วมกันของเราในการทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้นโดยอาศัยพลังของเทคโนโลยีดิจิทัล”
จำนวนธุรกรรมการชำระเงินทั้งหมดในประเทศจีนผ่านวอลเล็ทนำร่องของ A+China ซึ่งได้แก่ Kakao Pay, Touch ’n Go eWallet และ AlipayHK เพิ่มขึ้น 47 เท่าในช่วงหกเดือน ระหว่างเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม 2566 ทั้งนี้ เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้นเป็นเมืองยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้ มาเลเซีย และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าปลีก และการคมนาคมขนส่งเป็นสามหมวดหมู่ที่มีการทำธุรกรรมเหล่านี้มากที่สุด
จากข้อมูลของ PricewaterhouseCoopers1 ภายในปี 2573 จำนวนธุรกรรมไร้เงินสดจะเพิ่มขึ้นประมาณสองเท่าหรือสามเท่า ขณะที่จีนเป็นผู้นำในภูมิภาคสำหรับการใช้ดิจิทัลวอลเล็ท ส่วนพื้นที่อื่นๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กลายเป็นตลาดการชำระเงินผ่านมือถือที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ผลการศึกษาของ FIS2 ชี้ว่า ระหว่างปี 2561 ถึง 2566 ดิจิทัลวอลเล็ทในภูมิภาคนี้ (ไม่รวมจีน) มีส่วนแบ่งมูลค่าธุรกรรมอี-คอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า และส่วนแบ่งมูลค่าธุรกรรมการชำระเงิน ณ จุดขายเพิ่มขึ้นหกเท่า
"บลจ.อเบอร์ดีน" เปิดตัว "กองทุนเปิด อเบอร์ดีน ไชน่า A Share ซัสเทนเนเบิล เอคควิตี้ ฟันด์ (ABCA)" เน้นลงทุนอย่างยั่งยืนในหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ ชูจุดเด่นที่แตกต่าง กองทุนหลักเฟ้นหุ้นคุณภาพ วิเคราะห์เชิงลึก ผนึก ESG ในกระบวนการลงทุน หนุนผลงานติดชาร์ตแถวหน้า โฟกัสลงทุน 5 ธีมหลัก เน้นการบริโภคในประเทศ เทคโนโลยี พลังงานสะอาด การบริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่ง และเฮลท์แคร์ที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตเศรษฐกิจจีน และนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ เปิดขาย IPO ระหว่าง 6-16 มิ.ย.2566
นายโรเบิร์ต เพนนาโลซา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน จำกัด (ประเทศไทย) หรือ บลจ.อเบอร์ดีน เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นจีนถือเป็นอีกตลาดที่นักลงทุนให้ความสนใจ ท่ามกลางความกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในฝั่งตลาดพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป ยิ่งทำให้ตลาดจีนโดดเด่น ด้วยเศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตได้ดี ในขณะที่ภาครัฐเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย อีกทั้งนโยบายการคลังก็ยังเอื้อต่อการขับเคลื่อนการเติบโต และช่วยให้การฟื้นตัวของจีนยั่งยืนมากขึ้น
"บลจ.อเบอร์ดีน มองว่าตลาดหุ้น A-Shares น่าสนใจจากปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน โดยเฉพาะภาคการบริโภคในประเทศจีนเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยคาดว่าครึ่งปีหลังนี้ การบริโภคจะเป็นแรงส่งหลักหนุนเศรษฐกิจจีนให้เติบโต และที่สำคัญ Valuation หุ้นจีน A-Share ยังคงอยู่ในระดับต่ำ สวนทางกับผลประกอบการของบริษัทต่าง ๆ ในตลาด A-Shares ที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น จึงมองเป็นโอกาสให้นักลงทุนระยะยาวเข้าลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพที่ราคาน่าดึงดูดใจและเป็นทางเลือกสำหรับการจัดสรรพอร์ตการลงทุน" นายโรเบิร์ต กล่าว
บลจ.อเบอร์ดีนเตรียมเปิดขายกองทุนเปิด อเบอร์ดีน ไชน่า A Share ซัสเทนเนเบิล เอคควิตี้ ฟันด์ (ABCA) ลงทุนแตกต่างอย่างยั่งยืนในหุ้นจีน A Share ซึ่งเป็นกองทุนรวมตราสารทุน Feeder Fund ความเสี่ยงระดับ 6 มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนเป็นหลักโดยเฉลี่ยในรอบปีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV โดยลงทุนผ่านหน่วยลงทุนของกองทุน Aberdeen Standard
SICAV I China A Share Sustainable Equity Fund (กองทุนหลัก) ที่ได้รับการจัดอันดับกองทุน overall rating 5 ดาวจาก Morningstar (ที่มา: Morningstar Direct, มีนาคม 2566)
จุดเด่นที่แตกต่างของกองทุนหลัก ประกอบด้วย 1.ESG embedded วิเคราะห์เชิงลึกในทุกกระบวนการลงทุน ตั้งแต่การคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ต ประเมินและให้คะแนน โดยใช้เกณฑ์ ESG ของอเบอร์ดีน รวมกับเกณฑ์มาตรฐานจากแหล่งที่มาอื่น ที่สำคัญอเบอร์ดีนยังเข้าไปมีส่วนร่วม (engage) สนับสนุนให้บริษัทที่ลงทุนมีการพัฒนาด้าน ESG ให้ดียิ่งขึ้น 2. High quality คัดเฉพาะหุ้นคุณภาพเข้าพอร์ต 30-40 ตัว ด้วยทีมงานที่มีประสบการณ์ในหุ้นจีนมากว่า 30 ปี 3. Diversified portfolio กระจายลงทุน 5 ธีมหลัก เน้นการบริโภคในประเทศ เทคโนโลยี พลังงานสะอาด การบริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่ง และเฮลท์แคร์ 4. Strong track record: ผลการดำเนินงานโดดเด่นจากการจัดอันดับของ Morningstar อยู่ในอันดับต้นของกลุ่ม (Top-quartile) นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน (ที่มา: Morningstar, abrdn, ธันวาคม 2565, จัดตั้งกองทุน 16 มีนาคม 2558)
ทั้งนี้ ด้วยจุดเด่นที่แตกต่างของกองทุนหลัก ส่งผลบวกต่อพอร์ตการลงทุน ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2566 มีอัตราตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ติดลบ 22% แสดงให้เห็นกลยุทธ์การเลือกหุ้นของกองทุนหลักที่เน้นหลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทที่มีหนี้ ขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ในระดับสูงกว่าดัชนีชี้วัด สะท้อนหุ้นในพอร์ตที่เติบโตสูง แต่มีหนี้สินอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับดัชนีชี้วัด (ที่มา: abrdn, Factset ข้อมูล ณ มีนาคม 2566)
สำหรับธีมการลงทุนจะเน้นใน 5 ธีมหลักที่จะได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจจีน และนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ได้แก่ ธีม Aspiration กลุ่มการบริโภคในประเทศ จากความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของคนจีนนำไปสู่การเติบโตอย่างรวดเร็วของการบริโภคทั้งสินค้าและบริการในระดับพรีเมียม เช่น ภาคการท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล โดยมีน้ำหนักการลงทุนในธีมนี้ 36.6% ธีม Digital ปัจจุบันการเชื่อมต่อดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางการยอมรับด้านเทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย สะท้อนอนาคตที่สดใสของธุรกิจความปลอดภัยทางไซเบอร์ ธุรกิจคลาวด์ ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ และบ้านอัจฉริยะ โดยมีน้ำหนักการลงทุนในธีมนี้ 16.3%
ธีม Green พลังงานสะอาด ซึ่งจีนเป็นหนึ่งในผู้นำขับเคลื่อนทั้งการใช้พลังงานหมุนเวียน การผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคต โดยมีน้ำหนักการลงทุนในธีมนี้ 11.4% ธีม Health เฮลท์แคร์ ด้วยแนวโน้มรายได้คนจีนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนมีกำลังซื้อและหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่อ
ธุรกิจโรงพยาบาลชั้นนำ ผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อดูแลสุขภาพต่าง ๆ โดยมีน้ำหนักการลงทุนในธีมนี้ 12.2% และธีม Wealth อุตสาหกรรมบริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่งในจีนเติบโตขึ้น ทั้งการเติบโตเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่สำคัญ ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภค ธุรกิจบริการด้านการลงทุน และธุรกิจประกัน โดยมีน้ำหนักการลงทุนในธีมนี้ 15% (ที่มา: abrdn ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 2023 ทั้งนี้ ธีมการลงทุนดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมในอนาคต)
สำหรับตัวอย่างหุ้นที่กองทุนหลักลงทุน ได้แก่ China Tourism Group Duty Free ผู้ให้บริการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีชั้นนำในจีน ได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาลจีน ที่ต้องการดึงให้คนจีนที่เดินทางต่างประเทศ กลับมาใช้จ่ายภายในประเทศ , Nari Technology บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการที่ล้ำสมัย ซึ่งรวมถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติของหุ่นยนต์ และบริการคลาวด์
หุ้น CATL บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีนที่มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับต้นๆ ของโลก , หุ้น Shenzhen Mindray ผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์รายใหญ่ที่สุดของจีน ด้วยผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่หลากหลาย มีมาร์เก็ตแชร์สูงทั้งในอเมริกาและยุโรป , หุ้น China Merchants Bank ผู้ให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย โดยมีความแข็งแกร่งด้านธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อย อีกทั้งธุรกิจบริหารความมั่งคั่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วอีกด้วย (ที่มา: abrdn, มีนาคม 2566 ทั้งนี้การลงทุนในหุ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมในอนาคต)
เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสการลงทุนที่แตกต่างเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดหุ้นจีน กองทุน ABCA เสนอขายชนิดสะสมมูลค่า (ABCA-A) ลงทุนเพื่อโอกาสในการรับผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าหน่วยลงทุนในระยะยาวครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 6-16 มิถุนายน 2566
พิเศษ! นักลงทุนสามารถเปิดบัญชีเพื่อลงทุนผ่าน abrdn mobile application ได้แล้ววันนี้ เพียงค้นหา abrdn บน App Store หรือ Play Store สำหรับนักลงทุนที่เปิดบัญชีสำเร็จภายในวันนี้ - 30 มิถุนายน 2566 จะได้รับ Starbucks E-voucher มูลค่า 200 บาท (เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด)