November 24, 2024

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ชี้แนวโน้มเงินบาทในช่วงต่อไปจะมีความผันผวนมากขึ้น จากความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินบาทและราคาทองคำที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต หลังเห็นพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมลงทุนและเก็งกำไรในทองคำมากขึ้น ความผันผวนของตลาดการเงินโลกในช่วงหลังซึ่งส่งผลบวกต่อการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ตลอดจนความเปราะบางของปัจจัยพื้นฐานด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้ทองคำมีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากขึ้น แนะภาคธุรกิจเตรียมพร้อมเครื่องมือทางการเงินรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

 เข้าสู่ช่วงกลางไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ค่าเงินบาทกลับมาผันผวนสูงขึ้นจากปกติราว 6-7% เป็น 9-10% ซึ่งผันผวนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของสกุลเงินภูมิภาค ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ปรับแข็งค่าขึ้นเร็วจากช่วงต้นไตรมาส 3 ที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 36.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 34.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือ แข็งค่าขึ้น 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 (MTD) ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เงินบาทอ่อนค่าลงเพียง 0.3% (YTD)

ทั้งนี้ แม้การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามการปรับเพิ่มมุมมองการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปีนี้ แต่อีกปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อค่าเงินบาท คือ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำที่ผันผวนและกำลังเป็นขาขึ้นจนพุ่งสูงถึง 21% จากต้นปี ล่าสุดอยู่ที่ 2,492 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ (ณ วันที่ 3 กันยายน 2567) ซึ่งสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากกว่าค่าเงินสกุลอื่น ๆ โดยหากเทียบความผันผวนของราคาทองคำในช่วงก่อนโควิด-19 (ปี 2558-2562) พบว่าราคาทองคำมีความผันผวนที่ต่ำกว่าปัจจุบัน เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาทองคำส่วนใหญ่เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,000 – 1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ประกอบกับค่าเงินบาทในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่เงินบาทแข็งค่า จึงเป็นสาเหตุให้ผลตอบแทนของค่าเงินบาทถูกอธิบายด้วยผลตอบแทนราคาทองคำเพิ่มมากขึ้น โดย ttb analytics มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าเงินบาทและราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นจากช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1) พฤติกรรมการลงทุนและเก็งกำไรทองคำของคนไทย

ไทยมีปริมาณการค้าทองคำเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก และมีสัดส่วนเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลังอยู่ที่ 2.5% ของปริมาณการค้าโลก ซึ่งหากเทียบปริมาณการส่งออกทองคำกลุ่มดังกล่าวกับมูลค่า GDP ของไทยในช่วง 2 ปีหลัง จะพบว่ามีสัดส่วนเฉลี่ยที่ 1.3% สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกทองคำที่ไม่รวมเงินทุนสำรอง (Non-Monetary Gold) ของไทยที่ค่อนข้างสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าทองคำเพื่อการลงทุนและเก็งกำไรในรูปแบบต่าง ๆ มากกว่าการนำเข้ามาเพื่อใช้สำหรับแปรรูปในอุตสาหกรรมภายในประเทศ ทั้งนี้ พฤติกรรมของคนไทยที่นิยมลงทุนและเก็งกำไรในสินทรัพย์ทองคำมายาวนาน โดยตลาดในประเทศที่ยังนิยมการซื้อขายทองคำในรูปสกุลเงินบาททั้งจากร้านค้าทองคำ (ขายฝาก) และระบบซื้อขายออนไลน์ ขณะที่บางส่วนเป็นธุรกรรมซื้อขายทองคำออนไลน์ในรูปของสกุลดอลลาร์สหรัฐผ่านตลาดการเงินโดยตรง จึงทำให้ในช่วงที่ราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสูง และการซื้อขายทองคำโลกส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงเกี่ยวข้องกับธุรกรรมด้านอัตราแลกเปลี่ยน กล่าวคือ หากราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นสูง นักลงทุนไทยมีแนวโน้มที่จะขายทองคำเพื่อทำกำไร ส่งผลให้มีธุรกรรมขายเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาท ในทางกลับกัน หากราคาทองคำปรับลดลง นักลงทุนไทยมีแนวโน้มจะซื้อทองคำ และทำให้เกิดธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายทองคำโลกในช่วงเวลากลางวันของตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเวลากลางคืนของประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่จะมีปริมาณธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนน้อย ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงเวลากลางคืนของประเทศไทยยิ่งส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างมีนัย

2) มุมมองต่อการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

ในช่วงที่ตลาดการเงินโลกผันผวนมากขึ้นในช่วงหลังช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 จนถึงปัจจุบัน พบว่าสินทรัพย์ทองคำมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทมากขึ้น โดยราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับความผันผวน จากการกระจายความเสี่ยงของนักลงทุน และจากคุณสมบัติการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ท่ามกลางตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ รวมไปถึงความต้องการทองคำเพื่อรักษามูลค่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะยาวของธนาคารกลางประเทศต่างๆ

3) ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยเปราะบางมากขึ้น

นับตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจของไทยก็กลับมาแข็งแกร่งมาโดยตลอด สะท้อนจากตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในระดับสูงติดต่อกันมายาวนานเฉลี่ย 4-10% ต่อ GDP อีกทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยยังสูงเกิน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยหลังพ้นสถานการณ์โควิด-19 กลับยังคงไม่สามารถกลับมาแข็งแกร่งเช่นในอดีต เมื่อประกอบกับภาพแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะเวลาข้างหน้าที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวนสูงต่อไป จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาทองคำจะยังคงส่งผลเพิ่มเติมต่อความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะข้างหน้ามากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค

กล่าวโดยสรุป จากพฤติกรรมการลงทุนทองคำของไทย ความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการเงินของสหรัฐฯ กอปรกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มราคาทองคำยังมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางค่าเงินบาท และทำให้ค่าเงินบาทเผชิญความผันผวนอยู่ในช่วงต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเงินไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือผู้ที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังควรศึกษาและใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม เพื่อลดความผันผวนและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาต่อไป

สภาทองคำโลก (World Gold Council) ‎เผยแพร่บทวิเคราะห์แนวโน้มของทองคำตามกรอบแนวทางการประเมินมูลค่าของ ‎QaurumSM และสภาทองคำโลก‎ โดยได้วิเคราะห์ว่าหากทิศทางเศรษฐกิจโลกและอัตราดอกเบี้ยยังคงสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดในปัจจุบัน ทองคำอาจจะยังคงได้รับแรงหนุนจากการลงทุนต่อไป 

รายงานภาพรวมของทองคำช่วงกลางปีที่สภาทองคำโลกได้เผยแพร่ยังชี้ให้เห็นว่าทองคำมีผลตอบแทนดีกว่าสินทรัพย์หลักส่วนใหญ่ในครึ่งแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา ‎โดยในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ทองคำพุ่งขึ้นสูงถึง 12% และเกือบแตะ 15% ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ผลตอบแทนของทองคำในครึ่งแรกของช่วงครึ่งปีหลังนี้มีความแข็งแกร่ง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับสูงและเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ซึ่งมักจะเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อทองคำ มีสาเหตุหลายประการด้วยกันที่จะทำให้ทองคำมีผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่อง สภาทองคำโลกได้เริ่มเห็นว่านักลงทุนได้หันกลับมาสนใจในทองคำอีกครั้ง จากกระแสการลงทุนที่ไหลเข้าสู่กองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำสำหรับนักลงทุนในภูมิภาคยุโรปตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม และในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยการลดลงของอัตราดอกเบี้ยควบคู่กับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่ อาจช่วยสนับสนุนแนวโน้มนี้ต่อไป  ‎ 

คุณฮวน คาร์ลอส อาร์ทิกัส (Juan Carlos Artigas) หัวหน้าฝ่ายวิจัยระดับโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “เช่นเดียวกับในเศรษฐกิจระดับโลก ดูเหมือนว่าทองคำกำลังรอปัจจัยที่จะเข้ามากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นในรูปแบบของกระแสการลงทุนจากทางตะวันตกในขณะที่อัตราดอกเบี้ยลดลง หรือตัวชี้วัดระดับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่าแนวโน้มของทองคำในอนาคตอาจจะยังมีความท้าทายอยู่บ้าง แต่ความต้องการทองคำเพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการจัดสรรสินทรัพย์นั้นกำลังเพิ่มสูงขึ้น” 

คุณฮวน กล่าวเสริมว่า “ในขณะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน นักลงทุนจึงต้องการรู้ว่าแนวโน้มของทองคำที่ผ่านมาจะยังสามารถดำเนินต่อไปหรือจะลดความร้อนแรงลง ในอดีตตลาดมักมองเฉพาะที่อัตราดอกเบี้ยและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นในการกำหนดมุมมองเกี่ยวกับทองคำ ซึ่งหากมองจากแนวทางดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นั้นน่าจะส่งผลเชิงลบต่อทองคำ แต่ราคาทองกลับพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลายครั้ง และมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในตลอดทั้งไตรมาสที่ 2”  

สภาทองคำโลกคาดว่าความต้องการทองคำของธนาคารกลางในปีนี้จะยังคงสูงกว่าแนวโน้มที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับ Metals Focus โดยการคาดการณ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากรายงานผลการสำรวจจากธนาคารกลางของสภาทองคำโลกที่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้จัดการด้านทุนสำรองทองคำยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อทองคำต่อไป อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าธนาคารกลางบางแห่งซึ่งรวมถึงธนาคารประชาชนจีน (PBoC) นั้นได้ปรับลดปริมาณการซื้อทองคำลง  นักลงทุนชาวเอเชียยังได้มีบทบาทสำคัญต่อผลการดำเนินงานของทองคำในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้ชัดจากความต้องการในทองคำแท่งและเหรียญทองคำ รวมถึงการไหลเข้าของกระแสการลงทุนใน ETF ทองคำในไตรมาสที่ 2 ‎ของปี 2567‎ 

คุณเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ความต้องการทองคำผู้บริโภคของประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ได้เพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับจำนวน 9 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตคิดเป็น % ที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับไตรมาสที่ 2  และแม้ว่าราคาทองคำได้พุ่งสูงขึ้น ความต้องการทองคำทั่วโลกก็ยังคงเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 1,258 ตัน และถือเป็นไตรมาสที่ 2 ของปีที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เราได้เก็บรวบรวมข้อมูลมา เมื่อมองไปในอนาคต คำถามคือมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะผลักดันให้ทองคำยังคงมีความน่าสนใจเป็นอันดับต้น ๆ ในกลยุทธ์การลงทุนต่อไป  จากการคาดการณ์และรอคอยมาเป็นระยะยาวนานว่าธนาคารกลางสหรัฐ ฯ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่นานนี้  ทำให้กระแสการลงทุนได้ไหลเข้ากองทุน ETF ทองคำเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนจากตะวันตกหันกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง การฟื้นตัวของการลงทุนจากกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง อาจเปลี่ยนแนวโน้มการเคลื่อนไหวของความต้องการทองคำในช่วงครึ่งหลังของปี 2567”‎ 

ผลการดำเนินงานของทองคำในสถานการณ์เศรษฐกิจต่างๆ ถูกขับเคลื่อนด้วยความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยหลักสี่ประการ  

โดยสรุปแล้วทองคำอาจยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่จำกัด (Rangebound) หากธนาคารกลางสหรัฐใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ทองคำจะมีผลตอบแทนสูงกว่าจากจุดนี้ โดยอาจเกิดจากแรงหนุนของกระแสการลงทุนในฝั่งตะวันตก ในทางกลับกันหากความต้องการทองคำของธนาคารกลางลดลงอย่างมาก และอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนเอเชียเปลี่ยนไป นักลงทุนอาจเห็นการปรับฐานในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้การวิเคราะห์ของสภาทองคำโลกได้แสดงให้เห็นว่าทองคำมีบทบาทสำคัญในการกระจายความเสี่ยง และเป็นแหล่งสภาพคล่องทางการเงิน ควบคู่ไปกับการให้ผลตอบแทนระยะยาวในเชิงบวก 

กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วตามราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้นหลังสงครามอิสราเอลกลับมาปะทุ อีกทั้ง เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นหลัง BOJ ขึ้นดอกเบี้ยตามตลาดคาดก็เป็นปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท นอกจากนี้ ตัวเลขตลาดแรงงานและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่อ่อนแอกว่าคาดเป็นปัจจัยที่ทำให้บาทแข็งค่าขึ้นมาก่อนหน้านี้ด้วย ในระยะต่อไป ต้องจับตาผลการประชุม Fed คืนนี้ และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น กดดันให้บาทกลับมาอ่อนได้ มองกรอบเงินบาทราว 35.50-36.00 ในช่วง 1 เดือนจากนี้  

นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินบาทในเดือนที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นเร็วเป็นผลจากหลายสาเหตุ คือ 1) ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าคาด ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ที่ออกมาต่ำกว่าคาด 3 เดือนติดต่อกัน 2) เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหนุนให้เงินบาทแข็งค่าตาม โดยเงินเยนแข็งค่าจากที่ตลาดมองว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะขึ้นดอกเบี้ยได้ ขณะที่ดอกเบี้ยในสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลง ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง ซึ่งล่าสุด BOJ ก็ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไป 15 bps มาอยู่ที่ 0.25% ทำให้เงินเยนแข็งค่าต่อ และ 3) ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กลับมาปะทุขึ้น หลังอิสราเอลโจมตีเบรุต ทำให้ราคาทองคำสูงขึ้น หนุนให้บาทแข็งค่าขึ้นในช่วงข้ามคืน  

สำหรับมุมมองในระยะข้างหน้า มองว่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าได้ในระยะสั้นนี้ หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไม่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยดังที่ตลาดคาด ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Treasury yields) สูงขึ้น และกดดันให้บาทอ่อนค่าได้ นอกจากนี้ การเลือกตั้งสหรัฐฯ อาจทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ยังแข็งค่าต่อ และความไม่แน่นอนการเมืองไทยอาจส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายอาจยังไม่ไหลกลับไทยได้เร็วนัก จึงมองเงินบาทราว 35.50-36.00 ในช่วง 1 เดือนนี้ 

ในระยะกลาง-ยาว การเลือกตั้งสหรัฐฯ มีแนวโน้มทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐและ Treasury yields สูงขึ้น โดยหากโอกาสที่ Trump จะชนะการเลือกตั้งมีสูงขึ้น อาจส่งผลให้สกุลเงินภูมิภาคและเงินบาทอ่อนค่า และเป็นความเสี่ยง Tail-risk ต่อเงินบาท โดย SCB FM พบว่า เงินบาทจะได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้น Tariffs ทางอ้อม ผ่านแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่จะแย่ลง และ Correlation ระหว่างบาท-หยวนที่สูง ทำให้บาทอ่อนค่าตามเงินหยวน ทั้งนี้ ในวันที่มีการประกาศขึ้นภาษีนำเข้า (Tariffs) ต่อสินค้าจีนในปี 2019 ที่ทำให้สกุลเงิน EM และเอเชียอ่อนค่าลง พบว่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าชัดเจนนัก (Direct impact ต่ำ) นายแพททริกประเมินว่า หาก Trump ชนะการเลือกตั้งและขึ้น Tariffs ดังที่ประกาศไว้ เงินบาทจะมีความเสี่ยง (Tail-risk) ที่อาจอ่อนค่าไปสู่ระดับ 38.10 บาทได้ (โดยให้ปัจจัยอื่นคงที่ และให้เงินหยวนอ่อนค่าไปที่ 8 หยวนต่อดอลลาร์) 

สำหรับมุมมองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) ที่ผ่านมาปรับลดลงเร็วจากเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลง ทำให้ตลาดคาดการณ์ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ และให้โอกาสการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ราว 70% โดยนายวชิรวัฒน์ มองว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. และ ธ.ค. ส่วนการประชุม Fed ในคืนวันพุธนี้ คาดว่าน่าจะยังไม่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. ชัดเจนนัก จึงเป็นความเสี่ยงให้ Treasury yields อาจมี Correction และปรับสูงขึ้นได้เล็กน้อย นอกจากนี้ มองว่าการ price-in ลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 มีมากเกินไป สะท้อนจาก GDP ไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าตลาดคาด และล่าสุดมีการปรับเลข PCE เดือนก่อนขึ้น จึงมีสัญญาณว่าเงินเฟ้ออาจไม่ลดลงเร็วดังที่ตลาดบางส่วนกังวล ทำให้โอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ยเร็วและแรงมีน้อยลง ดังนั้น Yields จึงอาจปรับสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันเล็กน้อยได้ อีกประเด็นที่ต้องจับตาคือ ประกาศของกระทรวงคลังสหรัฐฯ ที่จะออกแผนการออกพันธบัตรในระยะต่อไป ซึ่งนายวชิรวัฒน์ คาดว่าจะคงการออกพันธบัตรในไตรมาส 3 เท่าเดิม แต่มีโอกาสที่จะออกพันธบัตรมากขึ้นในไตรมาสสุดท้าย 

สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยไทยนั้น ยังมองว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ย 1 ครั้งปลายปีนี้ เนื่องจากความเปราะบางในภาคครัวเรือนอาจเริ่มส่งผลมายังอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งจะทำให้ความจำเป็นในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี หากมาตรการ Digital wallet ดำเนินได้ในปีนี้ ก็อาจทำให้ กนง. เลื่อนการลดดอกเบี้ยออกไปได้ สำหรับมุมมองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาว มองว่ามีโอกาสปรับสูงขึ้นได้ จากแนวโน้มเงินทุนไหลออกตามการปรับน้ำหนัก Bond index ของ JP Morgan และความเสี่ยงที่อุปทานพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจมีออกมามากขึ้นได้ในระยะต่อไป

 

 

นายคริสชัน โกพอล นักวิเคราะห์อาวุโส ประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) ของสภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) ได้ให้ความเห็นในบทความวิเคราะห์ด้านการซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาทองในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดคำถามหลายประการ หนึ่งในนั้นคือคำถามที่ว่าธนาคารกลางต่าง ๆ ซึ่งมีความต้องการทองคำที่ผลักดันให้ราคาพุ่งสูงในช่วงที่ผ่านมา จะมีพฤติกรรมการซื้อทองคำเปลี่ยนไปตอบสนองต่อราคาที่สูงขึ้นหรือไม่

จากการที่สภาทองคำโลกมีข้อมูลเดือนมีนาคมในปัจจุบันที่สมบูรณ์ขึ้น รวมถึงได้รับข้อมูลเบื้องต้นของเดือนเมษายน ทำให้มีมุมมองต่อแนวทางของธนาคารกลางชัดเจนมากขึ้น โดยตัวเลขล่าสุดจากการรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และแหล่งข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะต่าง ๆ ได้แสดงให้เห็นว่าปริมาณทองคำสำรองสุทธิ (Net Reserves) เพิ่มขึ้น 33 ตันในเดือนเมษายน ซึ่งใกล้เคียงกับระดับที่พบในเดือนกุมภาพันธ์จำนวน 27 ตัน1 แม้ว่ายอดการซื้อรวม (Gross Purchase) ได้ลดลงมาอยู่ที่ 36 ตัน จาก 39 ตันในเดือนมีนาคม แต่ยอดขายรวม (Gross Sales) นั้นลดลงอย่างอย่างเห็นได้ชัดมากกว่าเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยลดจาก 36 ตันเหลือเพียง 3 ตันในเดือนเมษายน

การซื้อสุทธิของธนาคารกลาง ฟื้นตัวในเดือนเมษายน

ปริมาณการซื้อและการขายโดยรวมของธนาคารกลาง รายเดือน (หน่วย: ตัน)*

 

* ข้อมูลจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2024 ที่สามารถรวบรวมได้ (ที่มา: สถิติการเงินระหว่างประเทศ จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF IFS) ธนาคารกลางที่เกี่ยวข้อง และสภาทองคำโลก (WGC) )

สภาทองคำโลกรายงานว่าธนาคารกลางจำนวนแปดแห่งได้เพิ่มปริมาณสำรองทองคำอย่างน้อยหนึ่งตันในเดือนเมษายนโดยมีธนาคารกลางตุรกีเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด ซึ่งได้เพิ่มทุนสำรองอย่างเป็นทางการขึ้น 8 ตัน2 และซื้อต่อเนื่องเป็นเวลา 11 เดือนติดต่อกัน ยอดซื้อสุทธิของธนาคารกลางตุรกีในปี 2567 ขณะนี้รวมอยู่ที่ 38 ตัน รวมการถือครองทองคำอย่างเป็นทางการเพิ่มขึ้นเป็น 578 ตัน นอกจากนี้แล้วธนาคารกลางคาซัคสถานได้เพิ่มทองคำสำรองอีก 6 ตัน ธนาคารกลางอินเดียจำนวน 6 ตัน ธนาคารแห่งชาติโปแลนด์จำนวน 5 ตัน องค์การเงินตราแห่งประเทศสิงคโปร์จำนวน 4 ตัน ธนาคารกลางรัสเซียจำนวน 3 ตัน และธนาคารแห่งชาติเช็กเพิ่มขึ้นจำนวน 2 ตันในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ด้านธนาคารประชาชนจีนได้รายงานการซื้อทองคำที่ชะลอตัวลงอย่างมาก โดยแจ้งว่าปริมาณทองคำสำรองเพิ่มขึ้นไม่ถึง 2 ตันในเดือนเมษายน รวมเป็นจำนวน 2,264 ตัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ได้กลับมารายงานปริมาณถือครองทองคำในเดือนพฤศจิกายน 2565 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายเดือนก่อนเมษายนซึ่งเคยอยู่ที่ 18 ตัน

ด้านยอดขายรวมที่น่าสนใจจำกัดอยู่เพียงธนาคารกลางของประเทศอุซเบกิสถานและจอร์แดนเท่านั้น ทั้งสองประเทศรายงานว่ามีทองคำสำรองลดลง 1 ตัน ซึ่งเป็นอัตราการขายที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม

ความต้องการทองคำของธนาคารกลางยังคงแข็งแกร่งในปี 2567

ปริมาณการซื้อ/ขายสุทธิ ตั้งแต่ 1 ตันขึ้นไปของธนาคารกลาง ในปี 2567 นับจนถึงปัจจุบัน (Year to Date)*

 

* ข้อมูลจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2024 ที่สามารถรวบรวมได้  ( ที่มา: สถิติการเงินระหว่างประเทศ จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF IFS) ธนาคารกลางที่เกี่ยวข้อง และสภาทองคำโลก (WGC) )

นายคริสชัน โกพอล ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อมองย้อนกลับไปในเดือนมีนาคมภายหลังจากที่ได้รวมรายงานการขายที่ล่าช้าของธนาคารกลางของฟิลิปปินส์จำนวน 12 ตันแล้ว พบว่ายอดซื้อสุทธิได้ปรับลดลงเหลือเพียง 3 ตัน และแม้ว่ายอดซื้อรวมของเดือนมีนาคมจะค่อนข้างคงที่ในสภาวะราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยอดขายรวมก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการขายจำนวนมากของธนาคารกลาง 4 แห่ง (รายงาน ณ ปัจจุบัน) สิ่งนี้แสดงให้เห็นโดยนัยว่าราคาอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมของธนาคารกลางบางแห่งได้ในบางส่วน

นายคริสชันยังกล่าวด้วยว่า แม้ว่าการซื้อสุทธิได้ชะลอตัวลงในเดือนมีนาคม แต่การเพิ่มขึ้นของปริมาณในเดือนเมษายนเบื้องต้นอาจส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางได้มองข้ามราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้น และดำเนินตามแผนการซื้อเชิงกลยุทธ์ต่อไป แน่นอนว่าเมื่อข้อมูลของเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมรายงานออกมาเพิ่มเติมจะช่วยให้แนวทางสำหรับการประเมิณว่าการซื้อทองคำของธนาคารกลางจะพัฒนาไปในทิศทางใดได้ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายนทางสภาทองคำโลกจะเผยแพร่ผลการสำรวจด้านทองคำของธนาคารกลางประจำปี 2567 (Central Bank Gold Survey 2024) ซึ่งจะให้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวคิดของธนาคารกลางทั่วโลกต่อทองคำ และสิ่งที่จะส่งอิทธิพลต่อการซื้อทองคำในอนาคต

บทความ :   คริสซัน โกลพอล  /  นักวิเคราะห์ประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา ( EMEA)  สภาทองคำโลก

 

SCB CIO จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง ที่อาจกระทบการลงทุนหากเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทั้งสงครามจริง และสงครามทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ราคาพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานของโลก และความเชื่อมั่นต่อการลงทุน โดย ณ ปัจจุบันความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน คาดว่าความรุนแรงจะอยู่ในวงจำกัด แม้ราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้น อยู่ในช่วง 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประเทศต่างๆ ยังพอจะรับมือกับความเสี่ยงของเงินเฟ้อได้ ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช้าลงกว่าเดิม ด้านตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระยะสั้นเท่านั้น จึงแนะนำให้ทยอยลงทุนในตลาดหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เช่น ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ตลาดหุ้นเวียดนาม และกองทุนผสม (multi asset) ที่มีความยืดหยุ่น ผู้จัดการกองทุนปรับตามสถานการณ์ของตลาดได้ดี แนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทองคำ จับจังหวะช่วงราคาปรับตัวลง แนะนำมีในพอร์ต 5-10% ตามความเสี่ยงที่รับได้ เพื่อกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนของพอร์ตลงทุน หากเกิดภาวะไม่ปกติขึ้นอีกในอนาคต

นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมเหตุการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความถี่ของเหตุการณ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ -จีน และ สงครามที่เกิดความรุนแรง ได้แก่ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ,อิสราเอล-ฮามาส (ปาเลสไตน์) และล่าสุดอิสราเอล-อิหร่าน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยลบ ที่ทำให้นักลงทุนมีความกังวลเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ SCB CIO แนะนำให้ผู้ลงทุนจับตาว่า ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk ) จะมีผลกระทบต่อการลงทุนมากน้อยเพียงใด ผ่านปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา 3 ด้าน ได้แก่ 1) ผลกระทบจากราคาพลังงาน โดยเฉพาะความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซหลักของโลก 2) ผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานของโลกหยุดชะงัก ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจ และ 3) ผลกระทบต่อ Sentiment การลงทุนในตลาด โดยอาจพิจารณาได้จาก ความขัดแย้งจะรุนแรงและขยายวงหรือไม่ เนื่องจากสงครามทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจ หากมีความรุนแรง และยืดเยื้อ ก็จะสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจประเทศต่างๆ รวมถึงเศรษฐกิจโลกได้ แต่ในกรณีที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ 3 ด้านนี้ ผลกระทบต่อตลาดการลงทุนก็อาจจะมีไม่มาก

ตัวอย่างเช่น กรณีศึกษาในอดีตจาก สงครามคูเวต ที่อิรักมีการบุกเข้ายึดครองคูเวตที่มีน้ำมันมหาศาล และมีการต่อสู้กับกองกำลังประเทศพันธมิตรตะวันตก ซึ่งอิรักตอบโต้กลับด้วยการระเบิดบ่อน้ำมันในคูเวต พร้อมเทน้ำมันจำนวนมหาศาลลงในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ราคาน้ำมันมีการปรับขึ้นไปถึง 50%

ส่งผลต่อ Sentiment ของตลาด จึงทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 3 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์ ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า โดยดัชนี MSCI World ตัวแทนดัชนีตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะตลาดพัฒนาแล้ว ปรับลดลง 9.69% ส่วนดัชนี MSCI EM ตัวแทนดัชนีตลาดหุ้นเกิดใหม่ ปรับลดลง 26.27% หรือกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบราคาอาหาร เมล็ดพันธุ์พืช และพลังงานอย่างมาก เนื่องจากชาติตะวันตกคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่ รัสเซียตอบโต้กลับโดยการปิดท่อส่งก๊าซ นอร์ต สตรีม 1 ไปยังสหภาพยุโรป โดยราคาน้ำมันปรับขึ้นไป 15% ซึ่งเหตุการณ์นี้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นโลกค่อนข้างสูง โดยพบว่า ดัชนี MSCI World ปรับลดลง 7.08% ส่วนดัชนี MSCI EM ปรับลดลง 11.71%

ขณะที่ สงครามรัสเซีย-ไครเมีย ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ตลาดหุ้นก็ยังทำผลงานได้ตามปกติ หรือช่วงอิสราเอลโจมตีปาเลสไตน์ในเขตกาซา และไม่ขยายวงไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันมากนัก ตลาดหุ้นยังสามารถเป็นบวกได้

สำหรับ สถานการณ์สงครามอิสราเอล-อิหร่าน ที่เกิดขึ้นล่าสุด ช่วงกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เรามองว่า ความขัดแย้ง ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานับตั้งแต่ปี 2522 แล้ว เพียงแต่ในอดีตเป็นการทำสงครามตัวแทน (Proxy war) ผ่านกลุ่มต่างๆ ที่อิหร่านสนับสนุน เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (เลบานอน) กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ฮามาส (ฉนวนกาซา) และกลุ่มฮูตี (เยเมน) แต่ขณะนี้เริ่มกลายเป็นสงครามระหว่างกันโดยตรง (Direct war) ที่ความรุนแรงเริ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่า ความเสียหายยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้เล็งเป้าหมายสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก เพราะทราบดีว่า หากลุกลามบานปลายจะทำให้เกิดผลเสียทั้งคู่ อีกทั้งสหรัฐฯ ก็ไม่ได้สนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามกับอิหร่าน

ทั้งนี้ เราประเมินผลกระทบจากสงครามอิสราเอล-อิหร่าน เป็น 3 กรณี คือ 1) Baseline กรณีสงครามอยู่ในวงจำกัด ซึ่งปัจจุบันเรามองว่ายังอยู่ในกรณีนี้ จะทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นบ้าง แต่ไม่ทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่อาจยืนอยู่ในระดับ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่ประเทศต่างๆ ยังรับมือกับเงินเฟ้อได้และทำให้ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช้าลงกว่าเดิม ตลาดหุ้นทั่วโลกอาจได้รับผลกระทบเชิง Sentiment ระยะสั้น ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เมื่อตลาดเริ่มคลายกังวล ปรับตัวได้ ก็จะกลับมาพิจารณาปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก จึงแนะนำให้ทยอยลงทุนในตลาดหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เช่น ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ตลาดหุ้นเวียดนาม และกองทุนผสม (multi asset) ที่มีความยืดหยุ่น ผู้จัดการกองทุนปรับตามสถานการณ์ของตลาดได้ดี

2) Challenging กรณีสงครามยืดเยื้อ การสู้รบเป็นแบบเอาจริงเอาจังมากขึ้น มีการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานการผลิตพลังงานของแต่ละประเทศ โจมตีจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่มีประชากรอาศัยอยู่มาก จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 100-120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอื่นๆ อาจจะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งกรณีนี้จะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลก ไม่สามารถยืนอยู่ในระดับปัจจุบันได้ อาจปรับฐานมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนยังรับรู้ผลกระทบเป็นเพียงแค่กรณี Baseline จึงแนะนำให้หยุดลงทุนในหุ้นเพิ่มเติม พร้อมเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทองคำ แต่เรามองว่า โอกาสเกิดกรณีนี้ยังมีไม่มากนัก

3) Extreme กรณีสงครามเกิดขึ้นจริง และ ขยายวงเป็นสงครามภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่มีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างมาก เนื่องจากในภูมิภาคตะวันออกกลางมีผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกรวมตัวกันอยู่ หากห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักมากยิ่งขึ้นก็จะยิ่งน่ากังวล โดยเฉพาะ หากอิหร่านปิดช่องแคบเฮอร์มุซ ซึ่งมีปริมาณน้ำมันไหลเวียนถึง 20% ของตลาดน้ำมันโลก ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันที่อยู่รอบช่องแคบนี้ ส่งออกน้ำมันไม่ได้ หรือการผลิตทำได้น้อยลง ราคาน้ำมันอาจปรับขึ้นไปไกลมากกว่า 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมธนาคารกลางหลักๆ ของโลกอาจจะมีนโยบายลดดอกเบี้ย ก็อาจต้องเปลี่ยนมาเป็นปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ เนื่องจากเกิดผลกระทบต้นทุนราคาน้ำมันที่ส่งผลผ่านไปยังเงินเฟ้อนานกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งสถานการณ์นี้จะส่งผลกระทบการลงทุนมาก หากนักลงทุนมีกำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้น แนะนำให้ขายเพื่อทำกำไร แล้วซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ และทองคำ เนื่องจาก เงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นสกุลเงินที่อยู่ในทุนสำรองทั่วโลก ดังนั้นค่าเงินก็อาจจะแข็งค่าขึ้นได้

ขณะที่ ทองคำ มีความน่าสนใจ เนื่องจาก เป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนมองว่าปลอดภัย (Safe Haven) เพราะสู้เงินเฟ้อได้ และสู้กับความเสี่ยงภาวะสงครามได้ ในช่วงที่สงครามรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับ คนเริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ อีกทั้ง ประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง ลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรอง แล้วหันไปถือทองคำมากขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อทองคำเพิ่มขึ้น ดังนั้น ราคาทองคำจึงยังมีโอกาสปรับตัวได้อีกมาก ในระยะกลาง 1-2 ปีขึ้นไป เพียงแต่ในระยะสั้นราคาอาจปรับฐานได้ เพราะปรับขึ้นมารวดเร็ว จากความกังวลของสงคราม

นายศรชัย กล่าวว่า นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น มากกว่าการเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียว โดยอาจจะลงทุนผ่านกองทุนรวมผสม ที่มีผู้จัดการกองทุนดูแลปรับพอร์ตลงทุนตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน หากยังมีสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ ในพอร์ตลงทุนอยู่น้อย อาจพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในทองคำ ในช่วงที่ราคาทองคำปรับลดลง โดยควรมีประมาณ 5-10% ของพอร์ตโดยรวม ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละคนที่ยอมรับได้ การมีทองคำในพอร์ตลงทุน จะช่วยผ่อนคลายความผันผวนของพอร์ตลงทุนในช่วงที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติได้ นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนอย่างต่อเนื่อง (Stay Invested) สำหรับเป้าหมายการลงทุนระยะยาว มากกว่าการถือเงินสดเพื่อรอจับจังหวะเวลาเข้าลงทุนในตลาด (Market Timing) ซึ่งมีโอกาสพลาดได้มาก และการถือเงินสด ไม่สามารถสู้เงินเฟ้อได้

Page 1 of 4
X

Right Click

No right click