November 08, 2024

17 เมษายน 2567 : ช.การช่าง เคาะผลตอบแทนหุ้นกู้ 4 ชุด อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.40% ต่อปี อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.61% ต่อปี อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.78% ต่อปี และอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.10% ต่อปี กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยจะเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปในระหว่างวันที่ 25-29 เมษายน 2567 ผ่านสาขาและช่องทางออนไลน์ของธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย เผยหุ้นกู้ฯ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A- แนวโน้ม “คงที่” จากทริสเรทติ้ง เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 สะท้อนความแข็งแกร่งของธุรกิจในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างและลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน มั่นใจการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐสนับสนุนความแข็งแกร่งของธุรกิจ ขณะที่งานในมือเกือบ 1.3 แสนล้านบาท และผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน

บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ผู้ดำเนินธุรกิจก่อสร้างที่สามารถรับบริหารโครงการขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนทุกรูปแบบ และมีความสามารถในการพัฒนา ลงทุน และบริหารโครงการสัมปทานระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ในประเทศและภูมิภาคอย่างครบวงจร กำหนดดอกเบี้ยหุ้นกู้ จำนวน 4 ชุด เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป และ/หรือ ผู้ลงทุนสถาบัน ประกอบด้วย

หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.40% ต่อปี

หุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.61% ต่อปี

หุ้นกู้ชุดที่ 3 อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.78% ต่อปี

หุ้นกู้ชุดที่ 4 อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.10% ต่อปี

กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน และจะเสนอขายช่วงวันที่ 25 - 29 เมษายน 2567 (โดยในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 27-28 เมษายน 2567 จองซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น) ผ่านสถาบันการเงิน 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย โดยหุ้นกู้ชุดที่ 2 - 4 มีเงื่อนไขให้ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้งจำนวนหรือบางส่วนก่อนครบกำหนดไถ่ถอน ตามเงื่อนไขที่ระบุในข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้

ทั้งนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวเป็นหุ้นกู้ประเภทชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ อีกทั้งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 ที่ระดับ

“A-” แนวโน้ม “คงที่” เช่นเดียวกับอันดับเครดิตองค์กร สะท้อนสถานะของบริษัทฯ ในการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำในประเทศไทย ที่มีความสามารถในการรับงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และโครงการที่มีความซับซ้อน และมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่เกิดจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ รวมถึงโอกาสในการเติบโตจากมูลค่างานในมือ (Backlog) ที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ โดย ณ สิ้นปี 2566 บริษัทฯ มีปริมาณงานในมือที่รอรับรู้รายได้ มูลค่า 128,535 ล้านบาท

นายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ช.การช่าง เปิดเผยว่า ช.การช่าง เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ใหญ่ที่สุดในหมวดธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้าง ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมีความสามารถในการด้านก่อสร้างและรับบริหารโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย ทำให้บริษัทฯ มีโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพ

ปัจจุบัน บมจ.ช.การช่าง ดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภท ได้แก่ (1) ธุรกิจการก่อสร้าง ทั้งระบบขนส่งมวลชน ท่าอากาศยาน ถนน ทางด่วน สะพาน พลังงาน ระบบน้ำและท่าเรือ และ (2) ธุรกิจการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภค ด้วยการเป็นผู้ลงทุนพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคด้านต่างๆ โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ประกอบธุรกิจก่อสร้างและบริหารทางพิเศษ รวมถึงบริหารจัดการโครงการระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า ในสัดส่วน 35.18% บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW ผู้ผลิตจำหน่ายน้ำประปาและบริหารจัดการน้ำเสีย ในสัดส่วน 19.40% และถือหุ้นในบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ผู้ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ในสัดส่วน 30.00% (ข้อมูลโครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มบริษัท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566)

บมจ. ช.การช่าง ยังได้รับคะแนนประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับ 5 ดาวหรือ “ดีเลิศ” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ในโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนประจำปี 2566 โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และได้รับการประเมิน ESG Rating ในระดับ A จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประจำปี 2566 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่มีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนภายใต้หลักธรรมาภิบาลอีกด้วย

“โครงการที่มีอยู่เดิมจะช่วยสร้างความมั่นคง ส่วนโครงการใหม่จะสร้างการเติบโต ซึ่งเรามีพร้อมทั้ง 2 ส่วน ผู้ลงทุนจึงมั่นใจได้ว่า การลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทฯ นั้นเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการลงทุน” นายณัฐวุฒิกล่าว

ทางด้านสถาบันการเงินผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ช.การช่าง กล่าวเพิ่มเติมว่า มั่นใจว่าหุ้นกู้ ช.การช่าง จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุน ด้วยจุดแข็งในหลายด้าน รวมถึงอันดับความน่าเชื่อถือระดับ A- ซึ่งระดับความเสี่ยงของหุ้นกู้ทั้ง 4 ชุด ของ ช.การช่าง อยู่ที่ระดับ 3 (จากความเสี่ยงสูงสุดที่ระดับ 8) ประกอบกับผลประกอบการของ ช.การช่าง ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีรายได้รวม 14,419 ล้านบาท ปี 2565 มี

รายได้รวม 19,660 ล้านบาท และปี 2566 รายได้รวมเติบโตขึ้นเป็น 37,956 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิปี 2564 – 2566 เท่ากับ 906 ล้านบาท, 1,105 ล้านบาท และ 1,501 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในหุ้นกู้ ช.การช่าง สามารถจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 10,000 บาท สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป

โดยติดต่อผ่าน 2 สถาบันการเงินชั้นนำ ได้แก่

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ยกเว้นสาขาไมโคร) โทร. 1333 หรือจองซื้อผ่านแอปพลิเคชั่น Bualuang mBanking สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นบุคคลธรรมดา

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 0-2111-1111 หรือจองซื้อผ่านแอปพลิเคชั่น Krungthai NEXT สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นบุคคลธรรมดา

ย้อนกลับไปเมื่อระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของกรุงเทพฯ ได้เปิดให้บริการในปลายปี 2542 หลายคนอาจคาดไม่ถึงต่อผลที่เกิดขึ้นต่อการดำรงชีวิตในเมืองของเรา แน่นอนว่าการสัญจรในเมืองสะดวกขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในขณะเดียวกันพัฒนาการของระบบขนส่งมวลชนยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมืองในทุกแห่งหน ช่วยให้เด็กๆ เดินทางไปโรงเรียนได้เร็วขึ้น เปิดประตูสู่สถานที่ใหม่ๆ ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ กระตุ้นเศรษฐกิจเล็กใหญ่ ในขณะเดียวกันยังช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการเดินทางให้กับโลกใบนี้อีกด้วย  

เมื่อการปรับเปลี่ยนสู่สังคมเมืองขยายตัว และจำนวนประชากรในเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลต่อกำลังของโครงสร้างสาธารณูปโภคในปัจจุบัน ข่าวดีก็คือเมืองของเรายังคงเดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา และไม่ได้มีเพียงเส้นทางใหม่ๆ เท่านั้นที่ได้รับการพัฒนา แต่ยังคงรวมถึงระบบการรับชำระเงินเบื้องหลังที่จัดว่าเป็นเครื่องยนต์การขับเคลื่อนประสบการณ์การเดินทางที่สำคัญ ด้วยการยกเครื่องใหม่ในครั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถใช้บัตรเครดิตที่มีอยู่แล้วเพื่อชำระค่าโดยสารที่ประตู ไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวเพื่อเติมเงิน และที่สำคัญที่สุดเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น 

ล่าสุด วีซ่า ได้ร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) (BEM) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเทคโนโลยีระดับโลกมาใช้ในรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ซึ่งหมายความว่าผู้โดยสารสามารถใช้บัตรเครดิตประเภทคอนแทคเลสของตนเอง “แตะเพื่อจ่าย” ที่ประตูทางเข้า ซึ่งนอกจากจะทำให้การชำระเงินเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยแล้ว ยังช่วยขจัดขั้นตอนในการเข้าคิวเพื่อซื้อตั๋ว หรือเติมเงินในบัตรโดยสารทุกเดือนอีกด้วย และนี่เป็นก้าวสำคัญที่ยกระดับให้กรุงเทพฯ มีความทันสมัยทัดเทียมกับมหานครของโลกอย่าง ลอนดอน นิวยอร์ก ดูไบ ซิดนีย์ และสิงคโปร์ และอีกมากกว่า 500 โปรเจกต์ในหัวเมืองชั้นนำทั่วโลกให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ 

เมื่อพูดถึงการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัล ประเด็นที่ต้องเน้นย้ำคือเรื่องความปลอดภัย ในรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินและม่วงนี้ใช้โซลูชั่นการชำระเงินแบบดิจิทัลของวีซ่าที่มีชื่อว่า Cybersource ซึ่งหนึ่งในฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยหลักคือระบบ โทเค็น ซึ่งเป็นระบบการปกก้อง และจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่ปลอดภัยตามมาตราฐานสูงสุดของวีซ่า กล่าวคือเมื่อผู้โดยสารแตะบัตรเครดิตลงบนที่อ่านบัตรบนประตู ระบบจะแปลงตัวเลข 16 หลักบนบัตรเป็นรหัสโทเค็น (เช่น จาก 4123 5678 9101 2131 เป็น 0001 1001 1100 0011) เพื่อใช้ในการชำระเงิน ซึ่งระบบโทเค็นนี้เป็นเกราะป้องกันชั้นเลิศที่ป้องกันไม่ให้ข้อมูลของผู้ถือบัตรถูกนำไปใช้ได้  ไม่เพียงเท่านั้นเพื่อเสริมความปลอดภัยอีกขั้นไม่ว่าจะเป็น รฟม. และธนาคารกรุงไทยเองก็ไม่เก็บข้อมูลบัตรเครดิตเอาไว้ได้ นับเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัยอย่างแท้จริง 

ที่สุดแล้วความร่วมมือของวีซ่า กับ รฟม. BEM และธนาคารกรุงไทย ได้ช่วยปลดล็อกสิ่งที่เรารู้จักกันในวงการอุตสาหกรรมการชำระเงินว่า “ระบบสัญจรแบบเปิด (open-loop)” อันนำมาซึ่งฝันที่เป็นจริงที่ผู้โดยสารต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณต้องใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานคร ทุกวันนี้คนกรุงฯ ต้องพกบัตรมากมายในกระเป๋าสตางค์ซึ่งแต่ละใบใช้กับระบบขนส่งแต่ละประเภท ระบบสัญจรแบบเปิดช่วยให้บัตรหนึ่งใบสามารถใช้ชำระค่าโดยสารทุกประเภท โดยไม่จำเป็นต้องพกบัตรโดยสารแต่ละประเภทในการเดินทางให้ยุ่งยากอีกต่อไป ในทางปฏิบัติหมายความว่าคุณใช้บัตรเพียงแค่ใบเดียวที่ใช้ชำระค่าโดยสารเมื่อไปทำงาน ซื้อข้าวกลางวัน ช้อปปิ้ง และเดินทางกลับบ้าน ถือเป็นโซลูชั่นที่ช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้นอย่างแท้จริง 

การใช้งานการชำระเงินแบบคอนแทคเลสยังให้ประโยชน์มากมายแก่ผู้ประกอบการ โดยค่าใช้จ่ายในการเก็บค่าโดยสารสามารถลดลงได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งยังช่วยลดค่าบริหารจัดการเงินสดได้อีกด้วย และการเดินทางแบบไร้รอยต่อจะช่วยลดการเข้าคิวที่สถานีซึ่งเป็นปัจจัยในการเพิ่มความพึงพอใจให้แก่ผู้โดยสารได้ จากการศึกษาในสหรัฐฯ พบว่า 84 เปอร์เซ็นต์ ของนักเดินทางในเมืองใหญ่ๆ หงุดหงิดจากการเข้าคิวต่อจากคนที่ใช้เวลานานในการซื้อตั๋วโดยสาร และ 67 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าพวกเขาพลาดรถไฟเที่ยวที่จะขึ้นเพราะคิวซื้อตั๋วที่ยาวเหยียด ด้วยการชำระแบบคอนแทคเลสนี้เราไม่จำเป็นต้องรอแลกเหรียญหรือเติมเงินบัตรโดยสารของเราอีกต่อไป ลองคิดดูว่าการเดินทางสัญจรทั่วกรุงเทพฯ สำหรับนักท่องเที่ยวจะง่ายเพียงใด หากเราสามารถมอบประสบการณ์การเดินทางแบบไร้รอยต่อที่แท้จริงให้กับพวกเขาได้         

                                                                                   

ถือได้ว่านี่เป็น “จิ๊กซอว์” ชิ้นสุดท้ายที่จะเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นรถประจำทาง ทางด่วน และเรือโดยสาร ให้สามารถรองรับการชำระแบบคอนแทคเลสได้ แต่ในมุมมองของเรา ประโยชน์ของการมีระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัย และเชื่อมต่อนั้นเป็นมากกว่าการช่วยให้การชำระเงินในการเดินทางนั้นรวดเร็วและปลอดภัย แต่ส่งผลโดยตรงไปยังสามแกนหลักในด้านความยั่งยืนอย่าง ประชากร เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อีกด้วย 

บางทีประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการทำให้ระบบขนส่งเชื่อมโยงได้ทั่วทั้งเมืองคือการเปิดประตูสู่สถานที่แห่งใหม่ สิ่งนี้จะเป็นเหมือนการผจญภัยครั้งสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยว รวมถึงชาวเมืองให้สามารถค้นหาคาเฟ่และร้านอาหารใหม่ๆ หรือจะเป็นการสำรวจเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่ก็เป็นได้ ทั้งยังเป็นการช่วยคลายความหนาแน่นจากย่านใจกลางเมือง ขยายพื้นที่ทำงาน และบริการ และยังช่วยสร้างงานและโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กเติบโตได้อีกด้วย และอีกสิ่งที่ลืมไม่ได้คือเมื่อมีคนสัญจรผ่านระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและมลพิษอื่นๆ 

จริงอยู่ที่ระบบการขนส่งมวลชนแบบเปิดช่วยให้คนเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้รวดเร็วและง่ายดายขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่สิ่งสำคัญที่มากกว่านั้นคือการยกระดับคุณภาพชีวิต เมื่อพื้นที่เมืองของเรากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายมากขึ้น เราต้องไม่ลืมว่าความคิดนอกกรอบ บวกกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมและพิสูจน์แล้ว จะช่วยแก้ปัญหาหรือแม้แต่สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นก็เป็นได้

 

บทความ โดย สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย

 

X

Right Click

No right click