November 08, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 810

   ทีเอ็มบี หรือธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย แจ้งผลประกอบการปี 2560 ซึ่งยังคงเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ 19,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% ทั้งนี้ ธนาคารยังคงเน้นความรอบคอบในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการตั้งสำรองฯ จำนวน 8,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน ขณะที่สัดส่วนหนี้เสียลดลงมาอยู่ที่ 2.35% จาก 2.53% ส่งผลให้สัดส่วนสำรองต่อ NPL (Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 143% ซึ่งหลังจากตั้งสำรองฯ และภาษี ธนาคารรายงานกำไรสุทธิที่ 8,687 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6%

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)  กล่าวว่า “ธนาคารยังคงเน้นการขยายธุรกิจผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการ (Need Base) และไม่ยุ่งยากซับซ้อน (Simple & Easy) ให้กับลูกค้า ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบ โดยในปี 2560 ธนาคารสามารถขยายฐานสินเชื่อเพิ่มขึ้น 8% จากปีที่แล้ว ซึ่งหลักๆ มาจากสินเชื่อลูกค้าบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นผลจากการที่ธนาคารปรับปรุงกระบวนการนำเสนอสินเชื่อให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ พบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงเติบโตได้ดี ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอี แม้ภาพรวมทั้งปียังชะลอตัว แต่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในไตรมาส 4”

“ทางด้านเงินฝาก ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการขยายฐานเงินฝากลูกค้าบุคคลเป็นหลัก ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝาก All Free ที่ให้ประโยชน์ด้านการทำธุรกรรม และเงินฝาก No Fixed ที่ให้ประโยชน์ด้านการออม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สะท้อนให้เห็นได้จากเงินฝาก “ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี” (TMB All Free) ที่เพิ่มขึ้นกว่า 51% หรือ 1.8 หมื่นล้านบาท จากปีที่แล้ว และเงินฝาก “ทีเอ็มบี โน-ฟิกซ์” (TMB No-Fixed) ที่ขยายตัว 16% หรือ 3.3 หมื่นล้านบาท โดยภาพรวมเงินฝากเติบโต 2% จากปีก่อนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับการบริหารสภาพคล่องของธนาคาร”

อย่างไรก็ดี ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (Net Interest Margin) ลดลงเล็กน้อยจาก 3.17% มาอยู่ที่ 3.13% เนื่องจากสินเชื่อเอสเอ็มอีซึ่งให้อัตราผลตอบแทนสูง ในภาพรวมทั้งปียังคงชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 24,734 ล้านบาท คงที่จากปีก่อน สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย มีจำนวน 12,705 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% ปัจจัยหนุนหลักคือรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่ขยายตัว 32% โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมกลุ่มลูกค้าบุคคลจากค่าธรรมเนียมจากการขายกองทุนรวมและแบงก์แอสชัวรันส์ซึ่งเติบโตได้ 76% และ 71% ตามลำดับ

ปิติ กล่าวเสริมว่า “การเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้ค่าธรรมเนียมลูกค้าบุคคล สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และการพัฒนาบริการในทุกๆ ช่องทางของทีเอ็มบี อย่างเช่นในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ยกระดับการให้บริการด้านกองทุนรวมให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น โดยนอกเหนือจาก TMB Open Architecture ที่คัดสรรกองทุนเด่นจาก บลจ.ชั้นนำ 8 แห่ง มานำเสนอให้กับลูกค้าแล้ว ธนาคารยังได้เพิ่มบริการที่ปรึกษาด้านการลงทุน (TMB Advisory) ผ่านระบบ VDO Conference รวมทั้งเพิ่มช่องทางการซื้อขายกองทุนผ่านแอพพลิเคชั่น TMB TOUCH เพื่อเพิ่มความสะดวกและตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกค้าในยุคดิจิทัล”  

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) TMB

โดยรวม ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 37,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปี 2559 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 17,792 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวทางธุรกิจเป็นหลัก ทำให้ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ อยู่ที่ 19,736 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 6% ซึ่งเอื้อให้ธนาคารสามารถเพิ่มระดับการรองรับความเสี่ยง ด้วยการตั้งสำรองฯ สูงขึ้น แม้ NPL จะลดลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ในปี 2560 ธนาคารตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 8,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า ทำให้อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 143% ขณะที่ NPL หรือสินเชื่อด้อยคุณภาพจะลดลงเป็นจำนวน 84 ล้านบาท มาอยู่ที่ 17,521 ล้านบาท ทำให้สัดส่วน NPL หรือ NPL ratio ลดลงจาก 2.53% มาอยู่ที่ 2.35% ซึ่งหลังหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิเป็นจำนวน 8,687 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ ทีเอ็มบียังคงสถานะเงินกองทุนในระดับสูง สะท้อนได้จากอัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) ภายใต้เกณฑ์ Basel III ที่อยู่ที่ 17.3% และ 13.2% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งกำหนดไว้ที่ 9.75% และ 7.25% ตามลำดับ

ปิติสรุปว่า “ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในปี 2560 สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริงภายใต้แนวทาง “Need-Based Bank” กับ “Simple & Easy” และสำหรับปี 2561 ทีเอ็มบีก็ยังคงเน้นการขยายฐานเงินฝากเพื่อการทำธุรกรรม (Transactional Banking) ทั้งจากลูกค้าบุคคลและเอสเอ็มอีขนาดเล็ก รวมทั้งพัฒนาช่องทางดิจิทัลเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของลูกค้า Digital Banking และแน่นอนว่าธนาคารก็จะยังคงรักษาระดับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับสูง พร้อมกับบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว”

 

 

 

 

รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ประธานกรรมการ TMB เปิดเผยว่า เนื่องจากบุญทักษ์ หวังเจริญ แจ้งความประสงค์ที่จะดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ศกนี้     คณะกรรมการธนาคารจึงได้พิจารณาสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทน และได้มีมติแต่งตั้ง ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน เป็นผู้สานต่อภารกิจในการนำธนาคารก้าวไปข้างหน้า ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

รังสรรค์กล่าวว่า “การแต่งตั้งคุณปิติ นี้ นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านที่มีความต่อเนื่องและราบรื่น โดยคุณบุญทักษ์ได้ปฏิบัติภารกิจหลักสำคัญสองประการหลังจากที่มีการต่อสัญญาให้ทำหน้าที่ต่ออีก 2 ปีเมื่อปลายปี 2559  คือการวางรากฐาน Digital Transformation ให้กับธนาคารและการร่วมสรรหาผู้ที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งทำให้ TMB พร้อมแล้วสำหรับผู้นำคนใหม่ที่จะมาทำหน้าที่นี้ต่อไปเพื่อดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ของธนาคาร ทั้งนี้คณะกรรมการธนาคารเล็งเห็นว่าคุณปิติเป็นนักการธนาคารที่มีวิสัยทัศน์และความรู้ความสามารถ และได้ร่วมงานกับธนาคารมาตั้งแต่ช่วงที่คุณบุญทักษ์เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมวางกลยุทธ์และดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายของธนาคาร ยิ่งไปกว่านั้นคุณปิติยังมีความเข้าใจในวัฒนธรรมของTMBเป็นอย่างดี คณะกรรมการธนาคารจึงเชื่อมั่นว่า คุณปิติจะสามารถนำTMBให้รุดหน้าต่อไปในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแผนที่ได้วางไว้”

ประวัติของ ปิติ อายุ 47 ปี เป็นนักการธนาคารที่มีประสบการณ์ เข้าร่วมงานกับTMBในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน       นายปิติจบการศึกษาปริญญาเอก สาขาการบริหารกลยุทธ์ ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) และ ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอุตสาหการ ก่อนจะดำรงตำแหน่งปัจจุบัน ปิติมีประสบการณ์ในวงการธนาคารมากว่า 25 ปี ครอบคลุมทั้งด้านลูกค้าธุรกิจ, ด้านลูกค้า SME, ด้านลูกค้ารายย่อย และธุรกิจตลาดทุน นอกจากนั้นยังมีประสบการณ์การเป็นกรรมการอิสระของรัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน 

รังสรรค์กล่าวด้วยว่า “ในนามของคณะกรรมการธนาคาร ผมขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณคุณบุญทักษ์ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอุทิศตน และได้ใช้ความรู้ความสามารถในการดำเนินงานอย่างมีกลยุทธ์เพื่อปฏิรูปและพลิกโฉมธนาคารให้เป็นTMBในวันนี้ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่ได้รับมอบหมายภารกิจที่มีความท้าทายอย่างยิ่งในการตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย คุณบุญทักษ์ได้ริเริ่มและนำการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญมาสู่TMB ด้วยการปรับองค์กรให้เป็นองค์กรที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้องค์กรมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ สร้างแบรนด์TMBตามปรัชญา Make THE Difference ของธนาคาร อีกทั้งยังได้มีการพัฒนาบุคลากรอย่างเข้มข้น บริหารจัดการด้านการเงินและบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับธนาคาร ซึ่งทำให้TMBมีความมั่นคงและมีศักยภาพที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดีด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นผู้นำและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการธนาคารไทย รวมทั้งยกระดับให้TMBเป็นธนาคารชั้นนำที่สามารถตอบโจทย์ของผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน ทั้งลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน และสังคมโดยรวม”

ในโอกาสนี้ บุญทักษ์ ได้กล่าวว่า “ผมขอขอบคุณลูกค้า คณะกรรมการธนาคาร และเพื่อนพนักงาน ที่ได้เคียงข้างกันมาบนเส้นทางการ ‘Make THE Difference เปลี่ยน...เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น’  ด้วยรากฐานที่มั่นคงในทุกด้าน ตลอดจนการมีแผนกลยุทธ์ธุรกิจระยะยาวที่ชัดเจนในการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า การเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพและคล่องตัวสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล        มีธรรมาภิบาลในการกำกับดูแลกิจการ ประกอบไปด้วยทรัพยากรบุคคลคุณภาพ ผมเชื่อมั่นว่า TMBจะทะยานก้าวหน้าไปได้เร็วยิ่งกว่าเดิมในยุคดิจิทัล เป็นธนาคารที่ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง (Need-based) ให้ลูกค้าใช้งานง่าย (Simple & Easy) จนทำให้ลูกค้าชื่นชอบและบอกต่อให้คนรอบข้างมาใช้บริการของTMBมากยิ่งขึ้นต่อไป”

บุญทักษ์ เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารTMB เมื่อวันที่  14 กรกฎาคม 2551 และเป็นผู้นำในการวางรากฐานทางการเงินที่ทำให้TMBพ้นจากภาวะขาดทุนสะสมกว่าหนึ่งแสนล้านบาท พลิกกลับมาเป็นธนาคารที่มีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง มีความสามารถในการทำกำไรและเติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ในงวดผลประกอบการปี 2553 นับเป็นการจ่ายเงินปันผลครั้งแรกในรอบ 14 ปี   และเป็นผู้ที่นำการสร้างแบรนด์TMB Make THE Difference เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรให้ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า เพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรโดยเป็นธนาคารไทยที่นำแนวคิด LEAN มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน นำเสนอแนวคิดใหม่ในด้านการธนาคาร เช่น แบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์เงินฝากเป็นกลุ่มบัญชีเพื่อใช้ เช่น TMB All Free และกลุ่มบัญชีเพื่อออม เช่น TMB No Fix และเป็นธนาคารแรกในไทยที่ยกเลิกการคิดค่าธรรมเนียมโอนเงินข้ามเขต ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความเข้าใจในปัญหาและความต้องการของลูกค้า พร้อมกันนี้ได้นำธนาคารก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการพัฒนาองค์กรและวิธีการทำงานให้มีความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าและคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เป็นผู้ริเริ่มการธนาคารรูปแบบใหม่สำหรับยุคดิจิทัล ME by TMB บัญชีดิจิทัลที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีทั่วไป และบุญทักษ์ยังได้ริเริ่มการให้บริการกองทุนรวมแก่ลูกค้าทุกคน ด้วยแนวคิด  TMB Open Architecture เปิดให้ลูกค้าสามารถเลือกลงทุนผ่านสาขาของTMBในกองทุนดีๆจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหลายแห่งโดยไม่ผูกติดอยู่กับบริษัทในเครือเท่านั้น เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก รวมทั้งเปิดให้บริการที่ปรึกษาและจัดพอร์ตการลงทุน TMB Advisory ทำให้ลูกค้ามีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายการลงทุนที่ลูกค้าต้องการ ทั้งนี้ลูกค้ายังสามารถรับบริการผ่านช่องทางดิจิทัลได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีผลงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ โดยได้ริเริ่มการจัดอบรม LEAN Supply Chain ฟรีให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภายใต้ซัพพลายเชนของธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อให้มีความรู้และทักษะสามารถนำ LEAN ไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการการทำงานและพัฒนากิจการของตนเองให้มีศักยภาพสูงขึ้นเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันเพื่อความสำเร็จและการเติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ทั้งนี้ TMB ยังคงดำเนินการต่อเนื่องตามแผนกลยุทธ์ 5 ปีที่วางไว้ต่อไปภายใต้การนำของคุณปิติ โดยยังคงมุ่งเป็นธนาคารที่ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการคุณภาพที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าอย่างตรงจุด (Need Based) ลูกค้าใช้งานง่ายและสะดวก (Simple & Easy) เป็นธนาคารที่ให้บริการ Transactional Banking ที่ดีที่สุดที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้ลูกค้าเลือกใช้TMBเป็นธนาคารหลักและบอกต่อ เพื่อก้าวสู่การเป็นธนาคารไทยชั้นนำที่ทันสมัยและก้าวหน้าที่สุด

X

Right Click

No right click