January 22, 2025

อัคคีภัยและการระเบิดเป็นความกังวลอันดับหนึ่งของธุรกิจในประเทศไทยในปี 2568 ขึ้นจากอันดับ 4 มาอยู่ที่อันดับ 1 ตามรายงาน Allianz Risk Barometer ภัยธรรมชาติอยู่ในอันดับ 2 จากการคาดการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง เช่น น้ำท่วม ซึ่งจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ในขณะที่การหยุดชะงักทางธุรกิจยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญในอันดับ 3

ในขณะที่ความเสี่ยงทางธุรกิจที่สูงที่สุดของโลกและเอเชีย ได้แก่ การหยุดชะงักทางธุรกิจ เหตุการณ์ทางไซเบอร์ และภัยธรรมชาติ จากรายงาน Allianz Risk Barometer ประจำปีนี้ ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลเชิงลึกของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยงกว่า 3,700 คนจากกว่า 100 ประเทศ

วาเนสสา แม็กเวล Allianz Commercial Chief Underwriting Officer กล่าวว่า "ปี 2567 เป็นปีที่ไม่ปกติในแง่ของการบริหารความเสี่ยง และรายงาน Allianz Risk Barometer ประจำปีสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่  ปีนี้แตกต่างจากปีอื่นๆ ตรงที่ ความเสี่ยงในอันดับสูงๆ สัมพันธ์กัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีใหม่ กฎระเบียบ และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์มีความสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น ทำให้สาเหตุและผลที่ตามมาซับซ้อนมากขึ้น ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องใช้แนวทางแบบองค์รวมในการบริหารความเสี่ยงและพยายามพัฒนาความสามารถในการฟื้นตัวอย่างสม่ำเสมอ

 

คริสเตียน แซนดริก Regional Managing Director of Allianz Commercial Asia กล่าวว่า "การหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับบริษัทในภูมิภาคนี้ ซึ่งไม่น่าแปลกใจเนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียมีส่วนในการค้าโลกและในระดับภูมิภาคมากขึ้น การหยุดชะงักทางธุรกิจยังมักเกิดจากเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์ทางไซเบอร์หรือภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงสูงสุดในภูมิภาค ท่ามกลางความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นและมีความผันผวน ธุรกิจต้องใช้แนวทางแบบองค์รวมในการบริหารความเสี่ยงและสร้างความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทานและมาตรการรับมือมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการต่างๆ เช่น การป้องกันความสูญเสีย การใช้ซัพพลายเออร์หลายราย การโอนความเสี่ยงทางเลือก และนโยบายประกันภัยระดับนานาชาติ"

ลาร์ส ไฮบุทสกี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า "อัคคีภัยและความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง เป็นความกังวลหลักของบริษัทในประเทศไทย เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของการหยุดชะงักทางธุรกิจและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ธุรกิจต้องประเมินและปรับปรุงแนวทางการบรรเทาความเสี่ยงจากอัคคีภัยอย่างรอบคอบและสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสียจากเหตุการณ์ใดๆ เมื่อเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ภัยธรรมชาติและการหยุดชะงักทางธุรกิจจึงกลายเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ในประเทศไทย สิ่งนี้ตอกย้ำความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น รวมถึงมาตรการโอนความเสี่ยงเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการหยุดชะงักทางธุรกิจที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้"

อัคคีภัยและการระเบิดเป็นความเสี่ยงอันดับ 1

อัคคีภัยและการระเบิดเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจอันดับหนึ่งในประเทศไทย โดยขึ้นจากอันดับ 4 มาเป็นอันดับ 1 ความรุนแรงของภัยนี้ทำให้เกิดการหยุดชะงักอย่างมากและส่งผลให้การฟื้นตัวใช้เวลานานมากขึ้นเมื่อเทียบกับภัยด้านอื่นๆ โรงงานที่เสียหายอาจใช้เวลาหลายปีในการสร้างใหม่และกลับมาดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มกำลัง

ในปี 2567 มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอัคคีภัยและการระเบิดหลายเหตุการณ์ในประเทศไทยที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ทรัพย์สินเสียหาย และธุรกิจหยุดชะงัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บสารเคมีที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกของไทย ระเบิดที่โรงงานเหล็กในจังหวัดระยอง เพลิงไหม้โรงงานสารตั้งต้นพลาสติกในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และระเบิดคลังดอกไม้ไฟในภาคกลาง

อลิอันซ์ คอมเมอร์เชียล วิเคราะห์การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนประกันภัยการหยุดชะงักทางธุรกิจมากกว่า 1,000 รายในช่วงห้าปีซึ่งสิ้นสุดลงในปี 2566 (มูลค่าเกิน 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และพบว่าอัคคีภัยเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเรียกร้องค่าสินไหมเหล่านี้ และคิดเป็นมูลค่ามากกว่าหนึ่งในสามของมูลค่าการเรียกร้องค่าสินไหมทั้งหมด (36%)

ภัยธรรมชาติยังคงเป็นความกังวลหลัก

ภัยธรรมชาติจัดอยู่ในอันดับความเสี่ยงที่สำคัญเป็นอันดับสองในประเทศไทย ซึ่งเเป็นหนึ่งในสี่ประเทศที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมสูงที่สุดในโลก เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนมากกว่า 180,000 ครัวเรือนและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรม โดยมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 4.34 หมื่นล้านบาท (1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติที่มีหน้าที่ประสานงานการดำเนินงานเพื่อการบรรเทาทุกข์และป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ในเอเชีย ภัยธรรมชาติยังคงเป็นความเสี่ยงในอันดับ 3 โดยมีผู้ตอบข้อนี้ 27% อุณหภูมิของภูมิภาคเอเชียสูงขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตและความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากขึ้นจากน้ำท่วม พายุ และคลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้น ภัยธรรมชาติเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น ซึ่งเผชิญกับแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูดในคาบสมุทรโนโตะ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียที่มีประกันภัยมูลค่าสามพันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงในฮ่องกง ซึ่งประสบกับฝนตกหนักที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกเมื่อ 140 ปีที่แล้วจากไต้ฝุ่นไห่ขุย

ภัยพิบัติทางธรรมชาติยังคงเป็นความเสี่ยงในอันดับที่ 3 ของโลกโดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 29% ปี 2567 นับเป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันที่ความสูญเสียที่มีประกันภัยมีมูลค่าสูงเกินหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2567 ซึ่งคาดว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ เป็นปีแห่งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง มีพายุเฮอริเคนและพายุรุนแรงในอเมริกาเหนือ น้ำท่วมรุนแรงในยุโรป และภัยแล้งในแอฟริกาและอเมริกาใต้

การหยุดชะงักทางธุรกิจสัมพันธ์กับความเสี่ยงด้านอื่นอย่างมาก

การหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นความเสี่ยงอันดับ 3 ในประเทศไทย โดยธุรกิจต่างๆ เผชิญความเสี่ยงจากหลายด้าน การหยุดชะงักทางธุรกิจสัมพันธ์อย่างมากกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น น้ำท่วมในเดือนสิงหาคมและกันยายนปี 2567 ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 491 ล้านบาท (14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และส่งผลให้ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดของโลกมีปริมาณการผลิตยางพาราลดลง 30% ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

ธุรกิจในประเทศไทยยังเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในระดับโลก เช่น การเข้ามาของสินค้านำเข้าราคาถูกซึ่งส่งผลให้โรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้น 40% ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ถึงมิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับ 12 เดือนก่อนหน้า ผู้ผลิตรายเล็กประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นและค่าแรงที่สูง

การหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งในเอเชีย อยู่ในสามอันดับแรกในทุกประเทศและเขตการปกครอง และเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งในจีน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ สะท้อนให้เห็นถึงการหยุดชะงักอย่างรุนแรงของห่วงโซ่อุปทานในช่วงระหว่างและหลังการระบาดของโควิด 19

ในระดับโลก การหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นความเสี่ยงในอันดับ 1 หรือ 2 ในการจัดอันดับความเสี่ยงของอลิอันซ์ทุกปีตลอดทศวรรษที่ผ่านมา และยังคงรักษาตำแหน่งอันดับ 2 ในปี 2568 โดยมีผู้ตอบข้อนี้ 31% โดยทั่วไปแล้วการหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นผลมาจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การโจมตีทางไซเบอร์หรือระบบล่ม การล้มละลาย หรือความเสี่ยงทางการเมือง เช่น ความขัดแย้งหรือความไม่สงบในประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดำเนินธุรกิจตามปกติ หลายเหตุการณ์ในปี 2567 ชี้ให้เห็นว่าทำไมบริษัทต่างๆ ยังคงมองว่าการหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นภัยคุกคามหลักต่อโมเดลธุรกิจของพวกเขา การโจมตีของกลุ่มฮูธิในทะเลแดงทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักจากการเปลี่ยนเส้นทางของเรือขนส่งสินค้า นอกจากนี้ เหตุการณ์เช่นการพังทลายของสะพาน Francis Scott Key ในบัลติมอร์ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งในระดับโลกและท้องถิ่น การวิเคราะห์ของ Circular Republic ร่วมกับอลิอันซ์และองค์กรอื่นๆ พบว่าการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลกระทบในระดับโลก จะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุก 1.4 ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้น การหยุดชะงักเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ตั้งแต่ 5% ถึง 10% ของต้นทุนผลิตภัณฑ์ และทำให้เกิดการหยุดทำงานในด้านต่างๆ เพิ่มเติม

10 อันดับความเสี่ยงในประเทศไทย

แหล่งที่มา: Allianz Commercial. ตัวเลขแสดงความถี่ที่ความเสี่ยงนั้นถูกเลือกเป็นเปอร์เซ็นต์จากคำตอบทั้งหมดของประเทศนั้น

ผู้ตอบแบบสอบถาม: 33 คน ตัวเลขรวมไม่ได้เป็น 100% เนื่องจากสามารถเลือกความเสี่ยงได้สูงสุด 3 รายการ

อลิอันซ์ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นบริษัทประกันภัยอันดับหนึ่งของโลกในการจัดอันดับแบรนด์ระดับโลกที่ดีที่สุดประจำปี 2567 โดย บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ Interbrand ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ด้วยอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 13% จาก 20.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 23.56 พันล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ  และเติบโตเพิ่มขึ้นในกลุ่มการเงิน 7% จากความสำเร็จนี้ทำให้อลิอันซ์ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในสามแบรนด์ด้านบริการการเงินที่ดีที่สุดในโลก

ด้วยรายได้ที่สูงขึ้นและกำไรที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง รากฐานที่สำคัญของแบรนด์ จากความไว้วางใจของลูกค้ากว่า 124 ล้านคนในตลาด 70 ประเทศทั่วโลก รวมถึงพนักงานกว่า 157,000 คน และตัวแทนและโบรกเกอร์กว่า 120,000 คน ทั่วโลก ทำให้อลิอันซ์ไม่เพียงมีการเติบโตที่เหนือคู่แข่ง แต่ยังเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมประกันโดยรวมอีกด้วย

ในปีนี้ อลิอันซ์ ได้ร่วมสนับสนุนงานระดับโลกอย่างโอลิมปิกเกมส์ 2024 และพาราลิมปิกเกมส์ 2024 กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แสดงถึงความสามารถในการสนับสนุนนักกีฬา พร้อมทุกความท้าทายและความพยายามของนักกีฬาจากกว่า 200 ประเทศ และถ่ายทอดให้ผู้ชมทั่วโลกได้เห็น นอกจากนี้ ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งใน Fortune Top 100 บริษัทที่ดีที่สุดในการทำงานในยุโรป ประจำปี 2024 อีกด้วย

การจัดอันดับครั้งนี้ จัดทำขึ้นโดยองค์กร Interbrands ผู้นำด้านการประเมินมูลค่าแบรนด์ตั้งแต่ปี 2531 โดยเป็นบริษัทแรกที่ได้รับการรับรอง ISO10668 สำหรับวิธีการประเมินมูลค่าแบรนด์ (กฎระเบียบสำหรับการประเมินมูลค่าแบรนด์เป็นตัวเงิน) นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนามาตรฐานแบรนด์ ตั้งแต่ปี 2543 การจัดลำดับและรายงาน Best Global Brands ได้รับการตีพิมพ์ทุกปีและเป็นหนึ่งในการจัดลำดับที่ได้รับความไว้วางใจมากที่สุดด้านการบริหารแบรนด์

 

ปิดฉากอย่างสวยงามสำหรับมหกรรมการแข่งขันกีฬาระดับโลก อย่าง โอลิมปิกและพาราลิมปิก ปารีส 2024 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณแห่งความทุ่มเทและแข็งแกร่งของนักกีฬาทุกคนได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวไทยอย่างมากด้วยการคว้าเหรียญทั้งทอง เงิน และทองแดงมาครอบครองได้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพาราลิมปิก มหกรรมกีฬาที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนนับล้าน และเพิ่งจะรูดม่านไปสดๆร้อนๆ สามารถจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการพาราลิมปิกของไทย ด้วยการคว้ารางวัลแห่งเกียรติยศได้มากถึง 30 เหรียญเลยทีเดียว

อลิอันซ์ ผู้นำระดับโลกด้านการประกันภัยและการบริหารสินทรัพย์ ในฐานะผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปารีส 2024 ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะแสดงความยินดีและยกย่องในผลงานอันยอดเยี่ยมของนักกีฬาพาราลิมปิกทีมชาติไทย ที่แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทและความไม่ย่อท้อตลอดการแข่งขัน โดยคว้าเหรียญรางวัลได้ทั้งหมด 30 เหรียญ ประกอบด้วย 6 เหรียญทองจากการแข่งขันวีลแชร์ฟันดาบ วีลแชร์เรซซิ่ง และบอคเซีย ตามด้วย 11 เหรียญเงิน และ 13 เหรียญทองแดง จากกีฬาประเภทต่างๆ เช่น กรีฑา เทเบิลเทนนิส และแบดมินตัน

สำหรับบทบาทการเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปารีส 2024 ที่ผ่านมานั้น อลิอันซ์ยังได้ใช้ความเชี่ยวชาญในการสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยให้กับงานสำคัญระดับโลก ตั้งแต่การจัดการความเสี่ยงจากสภาพอากาศสุดขั้ว รวมถึงการป้องกันภัยทางไซเบอร์ พร้อมร่วมขับเคลื่อนแรงบันดาลใจให้กับนักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลก จนทำให้งานแข่งขันดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และยังชี้ให้เห็นความสามารถในการจัดการกับความซับซ้อนและความท้าทายในระดับสูงสุดของอลิอันซ์ได้เป็นอย่างดี

โดยอลิอันซ์จะยังคงเดินหน้าสานต่อการเป็นผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกต่อไป ทั้งมิลาโน คอร์ติน่า 2026 และลอสแองเจลิส 2028  เพื่อย้ำชัดอุดมการณ์สร้าง “ฮีโร่แห่งอนาคต” ผ่านการสนับสนุนวงการกีฬาและมหกรรมกีฬาทั่วโลก

นอกจากนั้นการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องนี้ยังช่วยตอกย้ำบทบาทสำคัญของอลิอันซ์ในฐานะผู้นำระดับโลก ซึ่งไม่เพียงแค่มีศักยภาพเต็มเปี่ยมในด้านประกันภัยเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงความมุ่งมั่นที่จะผลักดันและส่งเสริมความเท่าเทียม การมีส่วนร่วม และความเป็นเลิศในวงการกีฬา และยังแสดงให้เห็นถึงพันธกิจของอลิอันซ์ในการสร้างแรงบันดาลใจผ่านกีฬาและการสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนในระดับโลกอีกด้วย

อลิอันซ์ ผู้นำด้านการประกันภัยและการบริหารสินทรัพย์ระดับโลก ประกาศความภาคภูมิใจในการเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปารีส 2024 ในฐานะพันธมิตรประกันภัยระดับโลก โดยมีบทบาทสำคัญในการสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่ปลอดภัยและเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ การมีส่วนร่วมของอลิอันซ์ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับทั้งบริษัทและงานกีฬาระดับโลก โดยได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนความทุ่มเทและพยายามของนักกีฬาจากกว่า 200 ประเทศ และถ่ายทอดให้ผู้ชมทั่วโลกได้เห็น

การจัดงานกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกปารีส 2024 สร้างความตื่นเต้นและรวมใจผู้คนหลายพันล้านทั่วโลก แต่สำหรับผู้จัดงาน การจัดงานที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากสภาพอากาศสุดขั้วหรือเหตุการณ์ไซเบอร์ ด้วยประสบการณ์หลายปี การเรียนรู้ และการวางแผนจัดการความเสี่ยง ทำให้การแข่งขันดำเนินไปได้อย่างราบรื่น โดยการสนับสนุนจากประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้งานกีฬาน่าทึ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้

อลิอันซ์ได้นำเสนอความคุ้มครองประกันภัยที่ครอบคลุมหลากหลายด้าน ประกอบด้วยความคุ้มครองเชิงพาณิชย์ เช่น ประกันความรับผิด ประกันภัยไซเบอร์ และประกันความเสียหายต่อทรัพย์สินสำหรับสถานที่จัดการแข่งขันโอลิมปิกหลายแห่ง นอกจากนี้ อลิอันซ์ยังจัดหาประกันการยกเลิกตั๋ว เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับแฟนๆ มีการจัดโปรแกรมความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่ครอบคลุมนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครกว่า 155,000 คน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการเสนอประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล เพื่อคุ้มครองความเป็นอยู่ที่ดีของทีมชาติต่างๆ

มร.โทมัส วิลสัน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต กล่าวว่า "ในฐานะพันธมิตรโอลิมปิกอย่างเป็นทางการ เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับนักกีฬาจากประเทศไทยที่คว้าเหรียญรางวัลในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ ความมุ่งมั่น ทุ่มเท และความพยายามที่ไม่ย่อท้อของทุกคนได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ ความสำเร็จครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการยืนยันถึงความสามารถและความแข็งแกร่งของนักกีฬาไทย แต่ยังเป็นเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่สำหรับประเทศไทยอีกด้วย"

อลิอันซ์ อยุธยา ขอแสดงความยินดีอีกครั้งกับนักกีฬาไทยที่สร้างผลงานยอดเยี่ยมด้วยการคว้า 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง โดยฮีโร่ทัพนักกีฬาไทย ได้แก่ นักกีฬาเหรียญทอง พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เทควันโด หญิง รุ่น 49 กิโลกรัม นักกีฬาเหรียญเงิน กุลวุฒิ วิทิตศานต์ แบดมินตัน ชายเดี่ยว ธีรพงศ์ ศิลาชัย ยกน้ำหนัก ชาย รุ่น 61 กิโลกรัม และวีรพล วิชุมา ยกน้ำหนัก ชาย รุ่น 73 กิโลกรัม นักกีฬาเหรียญทองแดง จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง มวยสากล หญิง รุ่น 66 กิโลกรัม และสุรจนา คำเบ้า ยกน้ำหนัก หญิง รุ่น 49 กิโลกรัม

การสนับสนุนนี้ไม่เพียงสร้างช่วงเวลาน่าจดจำ แต่ยังเน้นถึงบทบาทสำคัญของอลิอันซ์ในกีฬาโอลิมปิก โดยความร่วมมือจะดำเนินต่อไปถึงปี 2571 ครอบคลุมการแข่งขันโอลิมปิกมิลาโน คอร์ติน่า 2026 และลอสแองเจลิส 2028 ซึ่งช่วยเพิ่มการรับรู้แบรนด์ประกันภัยระดับโลกของอลิอันซ์และสร้างผลกระทบทางธุรกิจในตลาดสำคัญที่มีการเติบโตสูง

อลิอันซ์ เอเชียแปซิฟิก เปิดตัวโครงการ #SHEsecures เสริมสร้างศักยภาพผู้หญิงในอุตสาหกรรมประกันภัย ตอกย้ำความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของอลิอันซ์​ เอเชียแปซิฟิกในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การไม่แบ่งแยก และความหลากหลาย

Page 1 of 3
X

Right Click

No right click